ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : “รุก” ยุทธการชายแดน

6
สิงหาคม
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ตอนที่ 6 ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์ : ถอยเพื่อรุก

 

เมื่อ “ถอยเพื่อรุก” สิ้นสุดลงก็จะเข้าสู่ “รุก” ในยุทธการชายแดนซึ่งเท่ากับการเริ่มต้นสู่ความปราชัยของฝรั่งเศสในสมรภูมิ “เดียนเบียนฟู”

ในยุทธศาสตร์ “ถอยเพื่อรุก” นั้น จุดสำคัญที่สุด คือ บริเวณทางภาคเหนือของประเทศ อันมีนครฮานอยเป็นศูนย์กลาง เพราะถอยเพื่อไปตั้งมั่นในเขตฐานที่มั่นเดิมทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ มีจังหวัดกาวบั่งเป็นเขตปลดปล่อยและฐานที่มั่นอันมั่นคงแข็งแรงทางทหาร ฝรั่งเศสไม่อาจบุกเข้าไปได้ ส่วนทางภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ กองกำลังฝ่ายเวียดนามก็ได้ถอนตัวออกจากเมืองใหญ่เช่นกัน เพื่อทำสงครามจรยุทธ์และสร้างฐานที่มั่นในเขตชนบท

ถึงแม้การถอนตัวออกจากฮานอยจะประสบความสำเร็จ แต่ความเสียหายก็ย่อมเกิดขึ้นตามสถานการณ์แห่งความยากลำบาก

สภาพภูมิประเทศบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำแดงที่ผ่านฮานอยนั้น มีแม่น้ำลำคลองหลายสายที่คดเคี้ยวไหลไปสู่แม่น้ำแดง กองทัพได้อาศัยประชาชนในท้องที่ที่มีความชำนาญและรู้จักภูมิประเทศเป็นอย่างดี ร่วมมือร่วมใจในการเคลื่อนย้ายกำลัง แต่กระนั้นก็ถูกฝรั่งเศสที่มีเรือปืนในลำน้ำทำการไล่ล่า ดักสกัดซุ่มตี จนจมไปหลายลำ

 

แผนที่แม่น้ำแดง
แผนที่แม่น้ำแดง

 

รุกข้ามแม่น้ำแดง
รุกข้ามแม่น้ำแดง

 

ฝรั่งเศสไม่ละความพยายามในการไล่ล่า โดยมุ่งใช้พลร่มจู่โจมเพื่อจับตัวโฮจิมินห์ โดยอาศัยการข่าวจากสายลับชาวเวียดนามที่ขายตัวและทรยศต่อชาติบ้านเมือง แต่ทุกครั้งพลร่มฝรั่งเศสก็ต้องคว้าน้ำเหลว บางครั้งฝ่ายเวียดนามยังสามารถสังหารพลร่มคอมมานโดได้อีกด้วย

การให้ความอารักขาปกป้องโฮจิมินห์ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดที่แม่ทัพหวอเหงียนย้าปต้องดูแลเอาใจใส่ยิ่งยวดเป็นพิเศษ เพราะถ้ามีอะไรเกิดขึ้นโดยมิได้คาดฝัน ย่อมเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อขบวนการต่อสู้กอบกู้เอกราช ดังนั้น ในวันหนึ่งอาจต้องเปลี่ยนย้ายสถานที่อยู่ของโฮจิมินห์หลายแห่งเพื่อรักษาความปลอดภัยสูงสุด

 

โฮจิมินห์เยี่ยมหน่วยผลิตอาวุธ
โฮจิมินห์เยี่ยมหน่วยผลิตอาวุธ

 

ในช่วงปี ค.ศ. 1947-1948 กองทัพภายใต้การบัญชาการของหวอเหงียนย้าปรับผิดชอบภาระหน้าที่ต้านยันการบุกโจมตีของฝรั่งเศส ทำให้โฮจิมินห์และคณะกรรมการศูนย์กลางของพรรคคอมมิวนิสต์ เคลื่อนเข้าสู่ฐานที่มั่นได้อย่างปลอดภัย พร้อมกับจัดตั้งกองกำลังประจำการ ยกระดับจากกองร้อยขึ้นเป็นกองพัน ประสบการณ์การตั้งรับสู้รบขั้นต้นก็ได้พัฒนายุทธวิธีจรยุทธ์ขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งได้รับร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นมากขึ้น

 

หวอเหงียนย้าปตรวจอาวุธที่ผลิตขึ้นเอง
หวอเหงียนย้าปตรวจอาวุธที่ผลิตขึ้นเอง

 

ทดลองประสิทธิภาพอาวุธ
ทดลองประสิทธิภาพอาวุธ

 

สภาวะอากาศประเทศเวียดนามทางภาคเหนือนั้น ในฤดูหนาว หนาวยะเยือก เพราะเป็นเขตภูเขา อุณหภูมิบางช่วงลดลงเฉียดศูนย์องศาเซลเซียส และมีความชื้นในอากาศสูง ส่วนฤดูร้อน กลางวันอากาศร้อนจัด ฤดูฝนฝนตกชุก ไข้ป่าหรือไข้จับสั่นส่งผลให้ผู้คนติดเชื้อไข้ไม่น้อย อาหารการกินอัตคัดขัดสน มีพอกินได้วันละสองมื้อก็นับว่าดีมากแล้ว แต่การกินอาหารวันละมื้อเดียวก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

เรื่องเสื้อผ้าเครื่องอุปโภคต่างๆ ก็ว่ากันไปตามมีตามเกิด อาวุธและกระสุนขาดแคลนอย่างหนัก สหายชาวเวียดนามที่รับผิดชอบการจัดหาอาวุธและกระสุนบางส่วน ต้องแบ่งสายกันออกไปสรรหาจากประเทศใกล้เคียง และที่ได้มาเป็นกอบเป็นกำที่สุดเห็นจะได้แก่อาวุธทันสมัยที่ทางอเมริกาส่งให้ ขบวนการเสรีไทย ใช้ในการต่อต้านญี่ปุ่น

เมื่อทางเจ้าหน้าที่เวียดนามได้ร้องขอมายังนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ทางนายปรีดีฯ จึงจัดส่งให้เวียดนามสำหรับประกอบส่วนให้ทหารได้สองกองพัน ภายใต้ความยากลำบากนานัปการกลับยิ่งเสริมสร้างกำลังใจความมุ่งมั่นในการทำสงครามที่เป็นธรรมของชาวเวียดนามให้ยกระดับสูงขึ้น

 

สะพานบนเส้นทางกาวบั่ง-หล่างเซิน
สะพานบนเส้นทางกาวบั่ง-หล่างเซิน

 

ดังนั้น ช่วง 2 ปีแรกแห่งการเคลื่อนย้ายถอนกำลังเข้าสู่เขตปลดปล่อยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ แม้เป็นระยะเวลาที่ยากลำบากมาก แต่ก็สามารถยันทหารฝรั่งเศสมิให้รุกคืบได้ การสร้างความมั่นคงในเขตปลดปล่อยดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ชาวเวียดนามผู้รักชาติที่ในชั้นแรกยังมิได้เห็นความเอาจริงเอาจังในการต่อสู้กู้เอกราชของขบวนการเวียดมินห์ ซึ่งในด้านการทหารก็คือ กองทัพประชาชนเวียดนาม แต่ต่อมาผู้รักชาติจำนวนมากต่างก็เข้ามาร่วมกันต่อสู้และเข้ามาเป็นทหารของกองทัพประชาชนที่ส่วนใหญ่ต่อสู้อยู่ในเขตฐานที่มั่นต่างๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของหวอเหงียนย้าปมีสำนักของโฮจิมินห์ และศูนย์กลางการบริหารดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งอยู่ด้วย

สถานการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้ง ที่สมควรนำมากล่าวด้วยความเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งก็คือ สงครามกลางเมืองหรือที่ทางฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนเรียกว่า สงครามปลดปล่อยระหว่างเจียงไคเช็คแห่งก๊กมินตั๋ง และเหมาเจ๋อตงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายหลังการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในระยะแรกก๊กมินตั๋งเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังทรัพย์ และการสนับสนุนในด้านต่างๆ มากมาย

 

สภาพทางรถไฟช่วงฮานอย-น่ามดิ่ง
สภาพทางรถไฟช่วงฮานอย-น่ามดิ่ง

 

แต่เมื่อสงครามดำเนินไปเพียง 3 ปีเศษ ระหว่างปี ค.ศ. 1948 โฉมหน้าของสงครามก็พลิกผัน ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในการสู้รบมาตลอด ทั้งนี้เพราะก๊กมินตั๋งหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ มีทั้งการกดขี่ทารุณโหดร้ายต่อประชาชน เล่นพรรคเล่นพวก ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมโหฬาร

ในขณะพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แสดงผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น กองทัพปลดแอกประชาชน ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีระบบจัดตั้งอันทรงประสิทธิภาพและมีระเบียบวินัยเคร่งครัด จึงมีผู้คนสมัครเข้าเป็นทหารร่วมรบมากขึ้น แม้กระทั่งเมื่อได้รับชัยชนะในการรบกับก๊กมินตั๋ง ด้วยนโยบายที่ให้การดูแลเชลยศึกที่ดี ทหารก๊กมินตั๋งชั้นผู้น้อยที่ถูกจับก็เปลี่ยนใจมาเป็นทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้กำลังกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเติบใหญ่ขึ้นทุกที

หลังจากปลดปล่อยภาคอีสานของจีน อันเป็นฐานอุตสาหกรรมหนักได้ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็ยาตราทัพเข้าปลดปล่อยปักกิ่ง เทียนสิน เซี่ยงไฮ้ ตามลำดับ การยกพลบุกข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงในช่วงปี ค.ศ. 1948-1949 เพื่อรุกเข้ามาปลดปล่อยภาคใต้ของจีนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้กำลังทหารก๊กมินตั๋งที่ยังเหลืออยู่นั้นไม่อาจยับยั้งได้

นักการเมืองฝ่ายขวา รวมทั้งนักการทหารฝรั่งเศส ที่ยังมีแนวคิดของนักอาณานิคม เริ่มมองเห็นมหันตภัยที่กำลังคืบคลานมาสู่อาณานิคมอินโดจีน และก็จะเป็นการเริ่มต้นแห่งอวสานของพวกตน

กลางปี ค.ศ. 1949 นั้นเอง กองทหารประชาชนจีนก็สามารถปลดแอกดินแดนทางภาคใต้ได้ ทำให้ฐานที่มั่นของเวียดนามมีเขตติดต่อกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในฐานะพรรคร่วมอุดมการณ์แห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนินนั้น มีมาเป็นเวลาช้านานแล้วนับตั้งแต่โฮจิมินห์เข้าร่วมอภิวัฒน์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นครกวางเจา และร่วมงานกับนายพลโบโรดินที่ปรึกษาชาวโซเวียตที่ถูกส่งมาช่วยงานการร่วมมือระหว่างก๊กมินตั๋งกับคอมมิวนิสต์สมัยนั้น อีกทั้งโรงเรียนนายร้อยหวังปูที่ซุนยัดเซ็นตั้งขึ้น เพื่อเตรียมกำลังด้านทหารในการยกทัพไปปราบพวกขุนศึก ก็มีนักอภิวัฒน์หนุ่มชาวเวียดนามเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในโรงเรียนแห่งนี้

ประกอบกับโฮจิมินห์เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนองค์การโคมินเตอร์น (องค์การคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ) แห่งภาคพื้นตะวันออก เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ในด้านรวมอีกด้านหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียต-พรรคคอมมิวนิสต์จีน-พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม

ถึงแม้ในชั้นต้นสหภาพโซเวียตสมัยสตาลินจะเห็นความสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามน้อยไปบ้าง คงมุ่งและฝากความหวังไว้ที่อินเดีย ด้วยเห็นว่าถ้าสามารถเปลี่ยนระบอบเป็นสังคมนิยมได้ โลกทั้งโลกก็จะเข้าสู่สังคมนิยมได้ง่ายและเร็วขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าชาวพรรคคอมมิวนิสต์อินเดียก็เช่นเดียวกับชาวอินเดียทั้งหลายที่พูดเก่ง มีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวคู่กรณีได้ดี ดังตัวอย่างของเอ็มเอ็นรอยชาวพรรคคอมมิวนิสต์อินเดีย อดีตผู้แทนโคมินเตอร์น ได้เคยใส่สีตีไข่นินทาให้ร้ายโฮจิมินห์มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สตาลินจะถึงอายุขัยก็ได้ซาบซึ้งสัจธรรมในความสำเร็จของจีน และของเวียดนามที่กำลังจะติดตามมา จึงเข้ามาร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่เช่นกัน

การขยายกำลังพลของหวอเหงียนย้าปได้ยกระดับขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 ด้วยการยกระดับกรมเข้ารวมกันเป็นกองพลน้อย ดังเช่นกองพลน้อย (Brigrade) ที่ 308 ซึ่งต่อมาได้เป็นกองพลวีรชนดีเด่นด้วยเกียรติประวัติการรบอย่างโชกโชน กองพลน้อย 308 จัดตั้งขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1949 ด้วยการรวมกรมทหารราบที่ 82 เข้ากับกรมทหารราบที่ 108 และในปี ค.ศ. 1950 ได้เสริมกำลังจากกรมทหารราบที่ 36 ซึ่งในวันที่กองพลได้จัดตั้งขึ้น โดยคำสั่งของผู้บัญชาการกองทัพหวอเหงียนย้าป ให้กองพลนี้มีหน้าที่เสริมกำลังกับกองทหารหลักในการทำสงคราม “บดขยี้” ข้าศึก และก็ได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าในยุทธการชายแดนที่ได้เปิดฉากขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949 เป็นต้นมา

นอกจากกองพล 308 ที่จัดตั้งขึ้น กองพล 304, 312, 314, 320 และ 325 ก็ได้รับการจัดตั้งเป็นกองพลน้อยในลักษณะเดียวกันกับกองพล 308

การเปิดยุทธการชายแดนมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด หวอเหงียนย้าปทำหน้าที่กำหนดแผนยุทธการด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ พร้อมด้วยสหายนายทหารที่ได้ร่วมรบทัพจับศึกมาเป็นเวลา 8-9 ปี ประกอบด้วยฝ่ายกำลังพล ฝ่ายเสนาธิการ และกรรมการแห่งกรมการเมืองของพรรคฯ ซึ่งมีโฮจิมินห์เป็นประธาน เขตจังหวัดที่ติดต่อกับพรมแดนจีนคือ กาวบั่ง และ หล่างเซิน

กาวบั่ง อยู่ค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย มีเขตแดนติดต่อกับมณฑลกวางสีและมณฑลยูนนาน เป็นที่มั่นสำคัญของขบวนการเวียดมินห์มาตั้งแต่เริ่มรวบรวมกำลังกอบกู้เอกราช ปี ค.ศ. 1939 เป็นฐานที่มั่นตลอดมา จวบจนกระทั่งการถอนกำลังจากฮานอยก็กลับเข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่กาวบั่ง ทำการป้องกันมิให้ทหารฝรั่งเศสตีโอบล้อมกองกำลังเวียดมินห์ โดยฝ่าเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว และฐานที่มั่นกาวบั่งก็สามารถต้านยันทหารฝรั่งเศสได้อย่างเหนียวแน่น จนไม่สามารถเข้ายึดได้

หล่างเซิน อยู่ค่อนไปทางเหนือของประเทศ มีเขตแดนติดต่อกับมณฑลกวางสี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติหมู่น้อยคือชนชาติจ้วง มีวัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียมคล้ายคลึงกับชนชาติหมู่น้อยในเวียดนาม เช่น ชนชาตินุง ไทดำ เป็นต้น นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ไทยได้ใช้คำเรียกจ้วงว่าไทจ้วงบ้าง เรียกชนชาตินุงว่าไทนุงบ้าง ข้อเท็จจริงเป็นประการใด ถูกอกถูกใจหรือต้องใจชนชาติเหล่านั้นหรือไม่ยังต้องว่ากันต่อไป

เขตฐานที่มั่นของฝ่ายอภิวัฒน์รู้จักกันในชื่อภาษาเวียดนาม “เวียดบั๊ก” แปลเป็นไทยก็คือ เขตเวียดนามเหนือ นั่นเอง

ดังนั้น ยุทธการชายแดน (15 ก.ย. 1950-14 ต.ค. 1950) เป็นยุทธการครั้งใหญ่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกองทัพประชาชนเวียดนามในการทำสงครามที่เป็นธรรมต่อต้านนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส ภายใต้การบัญชาการของแม่ทัพหวอเหงียนย้าป และนับเป็นครั้งแรกที่กองทัพประชาชนเวียดนามเปิดฉากการรุกใหญ่เข้าใส่แนวป้องกันอันแข็งแกร่งของฝรั่งเศส สามารถได้ชัยชนะต่อกองทัพฝรั่งเศสผู้ผ่านการกรำศึกมาแล้วจนสามารถปลดปล่อยพื้นที่ทางชายแดนได้ โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตจังหวัดหล่างเซิน ทำให้สถานะของกองทัพประชาชนเกิดความได้เปรียบต่อกองทัพฝรั่งเศส รูปแบบของสงครามได้เปลี่ยนจากการสู้รบจรยุทธ์มาสู่สงครามประจำการ

 

ยุทธการชายแดน
ยุทธการชายแดน

 

หวอเหงียนย้าปค้นคว้าศึกษาการทำสงครามแบบบดขยี้ เพื่อเข้าต่อกรกับกองทหารฝรั่งเศส ซึ่งในด้านการวางกำลังเพื่อบดขยี้ข้าศึกนั้นมีอยู่ว่า ณ จุดที่ตั้งของข้าศึกแห่งหนึ่งแห่งใด ฝ่ายเราสามารถปิดล้อมไว้ได้ทุกด้าน และสนธิกำลังที่นั่นให้มากกว่าข้าศึก 3 - 4 เท่าขึ้นไป เข้าโจมตีข้าศึกเมื่อโอกาสและความพร้อมเพรียงเป็นของฝ่ายเรา ให้เข้าโจมตีข้าศึกให้ราบคาบสิ้นซาก มิให้เหลือหลอหรือหลุดรอดไปได้ หากจะหนีรอดไปได้ต้องมีจำนวนน้อยมาก ทำให้ข้าศึกขาดขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไปถึงแม้มีการจัดตั้งหน่วยรบขึ้นมาใหม่

อันว่ายุทธวิธีบดขยี้นี้ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนโดยเหมาเจ๋อตงได้นำมาใช้ในสงครามปลดแอก เมื่อขนาดของกองทัพทั้งก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์มีกำลังพลมหาศาล ดังนั้น การบดขยี้โดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีน จึงสามารถบดขยี้ถึงระดับกองพล และทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว จนสามารถปลดปล่อยแผ่นดินใหญ่ของจีนได้ในปี ค.ศ. 1949 ส่วนกองทัพประชาชนเวียดนามนั้น หวอเหงียนย้าปก็ได้นำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพเวียดนาม และก็สามารถบดขยี้กองทหารฝรั่งเศสในระดับกองพันไปได้หลายครั้งหลายหน

ยุทธการชายแดนมีชื่อเรียกเป็นภาษาเวียดนามว่า ยุทธการเลห่งฟอง อันเป็นชื่อของวีรชนนักอภิวัฒน์ที่เสียสละชีวิตอย่างองอาจกล้าหาญต่อหน้าเครื่องประหารกิโยตินของฝรั่งเศส การตั้งชื่อยุทธการเลห่งฟองจึงเป็นอนุสรณ์แก่ท่านผู้นี้

ภายหลังกองทัพประชาชนเวียดนามสามารถเปิดเขตแดนติดต่อกับมณฑลกวางสีและมณฑลยูนนานได้แล้ว การส่งกำลังบำรุงจากจีนเป็นไปอย่างเต็มที่ ทหารเวียดนามถูกส่งไปฝึกอบรมในจีน และได้รับการยกระดับยุทธวิธีการสู้รบ เช่น การใช้ปืนใหญ่ ซึ่งทางจีนที่เพิ่งผ่านสงครามปลดแอกมาสดๆ ร้อนๆ สามารถให้การฝึกอบรมได้เป็นอย่างดี ทางจีนได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและหัวหน้าที่ปรึกษาซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายพลแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้สร้างมิตรสัมพันธ์สนิทสนมกับหวอเหงียนย้าป อันเป็นมิตรภาพที่เกิดจากการสู้รบ และในคติธรรมระหว่างประเทศแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน

ระหว่างปี ค.ศ. 1950 โฮจิมินห์เดินทางไปจีน และเลยไปถึงสหภาพโซเวียตก็ได้พบเหมาเจ๋อตง และ โจเซฟ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต

การปรับปรุงกองพลน้อยต่างๆ ที่ได้จัดตั้งขึ้นในช่วงนี้ สามารถขยายเป็นกองพลทหารราบเต็มรูปแบบ และสนธิกำลังระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมในการเผชิญศึกเดียนเบียนฟู ขวัญและกำลังใจทหารอยู่ในระดับสูง ระเบียบวินัยเยี่ยม จิตสำนึกความตื่นตัวในทางการเมืองได้รับการยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ผลงานที่เกิดขึ้นย่อมมาจากน้ำพักน้ำแรงของหวอเหงียนย้าปและสหายร่วมรบ ตลอดจนประชาชนเวียดนามทั้งปวง

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), “รุก” ยุทธการชายแดน, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 60 - 70.

บทความที่เกี่ยวข้อง :