ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทฤษฎีอำนาจกับการสถาปนารัฐธรรมนูญ

16
ธันวาคม
2565

 

รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศจริงหรือเปล่าครับ ?

ถ้าลองมาดูพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยนับตั้งแต่ปฐมรัฐธรรมนูญฉบับแรก ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 เรามีรัฐธรรมนูญฉีกๆ เขียนๆ ทั้งหมด 20 ฉบับ หากใครลองสังเกตดูจะเห็นว่ามีทั้งตัวอักษรสีน้ำเงินและตัวอักษรสีแดง ตัวอักษรสีน้ำเงินคือรัฐธรรมนูญในกลุ่มที่ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบและริเริ่มในการก่อตั้ง ส่วนสีแดงเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากอำนาจอื่นทั้งสิ้น

ถ้าบอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดแต่เป็นกฎหมายที่ถูกฉีกอยู่เรื่อยๆ แล้วจะสูงสุดไปได้อย่างไร

ผมขอแนะนำให้รู้จักกับ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” (Le Pouvoir Constitaunt) คือ อำนาจเบื้องต้นดั้งเดิมก่อนที่จะมีองค์กรของรัฐทั้งหลาย ก่อนที่จะมีรัฐ ก่อนที่จะมีประมุขรัฐ ก่อนที่จะมีสภา ก่อนที่จะมีอะไรทั้งสิ้น รัฐธรรมนูญเป็นเหมือนกับตัวบทที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เกิดจากอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

ดังนั้นในรัฐธรรมนูญจะมีการบัญญัติไว้ว่า จะให้ประเทศนั้นชื่ออะไร มีประมุขรัฐเป็นใคร ประธานาธิบดี กษัตริย์เป็นใคร มีรัฐสภาแบบไหน เลือกตั้งอย่างไร มีกี่สภา รัฐบาลมาจากไหน ประเทศเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวม รวมถึงรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญจะมีเรื่องอื่นๆ เช่น อุดมการณ์ของรัฐ นโยบายของรัฐ หรือแม้กระทั่งการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ

การที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกบ่อยๆ คือ การแสดงการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ อย่างที่บอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ก่อตั้งรัฐขึ้นมาจากความว่างเปล่า แต่ในความเป็นจริง รัฐยุคใหม่แทบไม่มีแล้วที่รัฐจะเกิดขึ้นจากความเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจะต้องเป็นรัฐที่ประชาชนพายเรือไปเจอเกาะร้างกลางมหาสมุทร แล้วเข้าไปตั้งรัฐกันใหม่ ซึ่งถ้าจะมีใกล้เคียงบ้างคือกรณีการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 ซึ่งเป็นการก่อตั้งรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก หรือบางที่จะเป็นกรณีของการที่มีผู้ปกครองเดิมอยู่แล้ว มีกษัตริย์แต่ประชาชนลุกฮือขึ้นมาโค่นล้ม เหมือนกรณีฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ซึ่งเป็นการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ขึ้นมา 

สำหรับประเทศไทย อำนาจรัฐธรรมนูญได้ปรากฏขึ้นมาในการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ร่องรอยของกำเนิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทย มาจากประกาศของคณะราษฎรฉบับแรกที่ยืนยันว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่เป็นของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” รวมถึงในปฐมรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ดังนั้นอำนาจสถาปนาเป็นอำนาจที่ก่อตั้งองค์กรของรัฐ สถาบันทางรัฐธรรมนูญ สถาบันที่ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญทั้งหลาย

ดังนั้น ถ้ามีใครก็ตามที่ต้องการจะได้อำนาจนั้นไว้ในมือ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญได้ก่อตั้งรัฐสภา รัฐบาล ศาล ฯลฯ ถ้าเขาต้องการอำนาจไว้ทั้งหมด เขาต้องทำลายองค์กรเหล่านั้นทิ้งด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ นี่คือเรื่องที่พูดว่าการที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกนั้นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด จึงต้องฉีกทิ้งไปก่อนเพื่อจะได้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือ หลังจากนั้นจะใช้อำนาจในมือ หรือที่เรียกว่าอำนาจของ “รัฏฐาธิปัตย์” สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะรัฐประหาร เมื่อคณะรัฐประหารได้ทำรัฐประหารแล้วจะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งรัฐบาล บางทีถ้าเกิดขี้เหนียมหน่อยเขาก็จะแยกตัวไปต่างหาก แต่ถ้าไม่ค่อยขี้เหนียมนัก เขาก็จะมาเป็นรัฐบาลเสียเอง ก็มี

ในตอนที่ฉีกรัฐธรรมนูญหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญ จริงๆ องค์กรทางการเมืองทุกองค์กรถูกยกเลิกไปทั้งหมด หลังการรัฐประหารไม่มีแม้กระทั่งศาล ดังนั้นหลังจากการรัฐประหาร แน่นอนว่าประกาศคณะรัฐประหารฉบับแรกต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องมีประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ “ให้ศาลทั้งหลายพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมายต่อไป” เพราะถ้าไม่ประกาศนี้ ประเทศจะไม่มีศาล คนออกไปปล้นกันได้เลย นี่คือความสำคัญของรัฐธรรมนูญ

ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่าวงจรอุบาทว์ทางการเมือง หลังจากการรัฐประหาร 2490 วงจรอุบาทว์ทางการเมืองทำให้อยู่ในภาวะที่รู้สึกว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความสำคัญอะไรเลย พอรัฐบาลเกิดความวุ่นวายไปสักพักหนึ่ง เดี๋ยวทหารก็จะออกมารัฐประหาร คนชอบใช้คำว่า “ปฏิวัติ” แต่ผมไม่อยากใช้คำนี้ เพราะปฏิวัติเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว คือเมื่อประชาชนลุกขึ้นมาแสดงอำนาจของตัวเอง เมื่อเกิดการรัฐประหาร เดี๋ยวก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งแสดงว่าเดี๋ยวมีการเลือกตั้ง พอมีการเลือกตั้งใหม่ก็จะมีรัฐบาล พอมีรัฐบาลแล้วเกิดปัญหาอีก ในที่สุดทหารจะออกมารัฐประหารอีก เดี๋ยวก็ฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ วนไปอย่างนี้

เราเคยเกือบจะหลุดจากวงจรนี้ได้สำเร็จครั้งหนึ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ตอนนั้นเราได้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ขึ้นมา ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากความเห็นชอบร่วมกันของประชาชนที่ได้ร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย แล้วได้รัฐธรรมนูญ 2517 มา ซึ่งไม่ได้มาจากการรัฐประหารของทหาร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ได้ไม่ถึง 2 ปี อ่อนไปแค่วันเดียวเพราะมีผลบังคับใช้วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 แต่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วหลังจากนั้นก็กลับไปสู่วงจรอุบาทว์อีก

จนกระทั่งเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมในปี พ.ศ. 2534 เหตุการณ์นี้น่าจะกลับวนมาอย่างเดิมแล้ว คือประชาชนไล่ทหารออกไป เสร็จแล้วมาเขียนรัฐธรรมนูญ ความต้องการของประชาชนน้อยมาก คือ ประชาชนต้องการแค่ว่านายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แล้วประชาชนก็ได้มา แต่นายกมาจากการเลือกตั้งแล้วอย่างไร ความวุ่นวายทางการเมืองก็ยังอยู่ ประกอบกับเศรษฐกิจ IMF ที่เกิดขึ้น ยิ่งวุ่นวายเข้าไปใหญ่

ตอนนั้นเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก ความวุ่นวายมากมาย หากใครอยู่ร่วมในยุคนั้นคงจำได้ ทำให้ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าถ้าปล่อยไปอย่างนี้เดี๋ยววงจรอุบาทว์ก็กลับมาอีก ทำให้ตอนนั้นสังคมไทยเติบโตขึ้นมาระดับหนึ่ง ทำให้คิดว่าสังคมต้องไปพ้นจากวงจรอุบาทว์นี้กันเสียที จึงเกิดเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมา ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ออกไปจากวงจรอุบาทว์ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดมาจากการร่างของสถาบันสร้างสรรค์สื่อเพื่อการเรียนรู้ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนร่วมกับคณะนักวิชาการ

ในระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญมีการนำเอารัฐธรรมนูญออกมาทำ Road Show ถามความเห็นของประชาชน ให้ประชาชนได้ดูทีละร่างๆ กันอยู่เรื่อยๆ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมมากมาย หลายเรื่องเราไม่เคยรู้กัน กฎหมายข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นมาก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 เหมือนกัน แต่ก่อนข้อมูลราชการปิดลับหมด ก็มาเปลี่ยนเป็นข้อมูลราชการต้องเปิดเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น หรือว่าแต่ก่อนตำรวจออกหมายจับได้ ก็ต้องเปลี่ยนไปขอหมายจับจากศาล

นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิดสภาวะที่รัฐบาลเข้มแข็ง ประชาชนได้รู้ว่า “อ๋อ ในการเลือกตั้ง ถ้าเราสามารถที่จะเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายมาเป็นรัฐบาล แล้วเขาขับเคลื่อนนโยบายนั้นได้จริง แล้วมันจะเปลี่ยนชีวิตเราได้” รัฐธรรมนูญ 2540 ดีอย่างนี้คือทำให้ประชาชนหวงแหน ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราจะชอบพูดถึงรัฐธรรมนูญ 2540 คือเอารัฐธรรมนูญ 2540 เป็น Benchmark (เกณฑ์กำหนด) เอาไว้ ทำให้เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกลงในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารในตอนนั้นพยายามที่จะทำรัฐธรรมนูญ 2540 ซ้ำ เป็นรัฐธรรมนูญ 2550 

แต่การทำซ้ำก็ได้แค่ของเลียนแบบ เพราะว่าเขาพยายามทำให้ระบบการเมืองเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองหนึ่ง แต่ทำให้อีกกลุ่มการเมืองอ่อนแอลง ออกแบบระบบการเลือกตั้ง หรือว่าอย่างแต่ก่อน ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็ไปเปลี่ยนเป็นเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง สรรหาครึ่งหนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อประชาชนเห็นตั้งแต่ร่างแล้วว่า หน้าตาร่างแปลกๆ หมกเม็ดอีกหรือเปล่า ฝันร้ายจากพฤษภาประชาธรรม 2534 นั้นยังอยู่ ตอนนั้นคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญถึงกับออกมาบอกว่า “ช่วยรับๆ ไปก่อนได้ไหม พอรับเสร็จค่อยไปแก้ ไปตั้ง สสร. เพื่อแก้ใหม่ทั้งฉบับก็ได้” แล้วแก้ได้จริงหรือเปล่า?

ตราบใดก็ตามที่มีการเลือกตั้งแล้วอำนาจกลับไปสู่ประชาชน เมื่อต้องตัดสินกันที่การเลือกตั้งมันไม่มีใครห้ามได้ ในที่สุดปี 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเข้ามา สัญญาหนึ่งของเขาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมี สสร. ซึ่งตรงนี้ในปี 2555 ก็ทำจริง พรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อจะได้ตั้ง สสร. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นผ่านการเห็นชอบของสภาไป 2 วาระแล้ว เหลือลงมติวาระ 3 เกิดมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการร่างรัฐธรรมนูญโดยการเขียนใหม่ทั้งฉบับเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าอย่างไร?

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22-2555 ได้วางหลักสำคัญเอาไว้เรื่องหนึ่ง ธงคือว่าการเขียนรัฐธรรมนูญหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภามีเพียงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่ได้รับมาเท่านั้น คือเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแต่จะมาใช้อำนาจในการล้มล้าง ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาจากอำนาจการสถาปนาของประชาชนจากการลงประชามติ ดังนั้นถ้าอยากแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องให้ประชาชนลงมติก่อน ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ไม่สามารถแก้ด้วยวิธีของ สสร. ได้

เกิดรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อย่างที่เรารู้กันก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับนี้ ซึ่งการจัดทำยุ่งยากวุ่นวายและมีกระบวนการมากมาย ผู้ร่างชุดแรก คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กยร.) ถึงกับเปรยให้ประชาชนได้ยินว่า “เขาอยากอยู่ยาว” คือ ตอนแรกมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งโดย กยร. โดย อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ตอนนั้นร่างเสร็จแล้ว พอไปเข้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สปช. โหวตคว่ำเสียอย่างนั้นเพราะเขาอยากอยู่ยาว แล้วเราก็ได้รู้ว่าเขาอยู่ยาวจริงๆ จึงจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ไป

เหตุการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือระหว่างที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มีการออกเสียงประชามติ พร้อมคำถามพ่วง ซึ่งคำถามพ่วงถามว่าจะให้ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาสรรหานายกได้หรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามกับดักมากๆ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางรัฐธรรมนูญและสติดีประมาณหนึ่งที่จะนึกออกว่า “ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา คือ ส.ส. รวมกับ ส.ว.” เมื่อประชามติผ่านพร้อมคำถามพ่วง เขาก็ไปแก้ไขคำถามพ่วงให้มันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ให้มันสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แก้ไขไปมากว่าจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระมหาปรมาภิไธย เป็นวันที่ 11 ตุลาคม 2559 ซึ่งวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต แต่รัฐธรรมนูญจะต้องมีชื่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่ 

ทีนี้ กรธ. จะแก้ได้หรือไม่ ก็มีการร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่า “เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแล้วจะแก้ให้ตรงกับรัชสมัยตามความเป็นจริงได้หรือไม่” ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วางแนวคำวินิจฉัยเอาไว้ว่าการสถาปนารัฐธรรมนูญของไทยทุกครั้งจะต้องมีการลงพระปรมาภิไธยจากพระมหากษัตริย์จึงจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับได้ ดังนั้นตราบใดก็ตามที่รัฐธรรมนูญยังได้ถูกลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญก็จะยังไม่เป็นรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กรธ. ก็รับไปแก้ได้ ในท้ายที่สุดฉบับนี้ก็มีผลใช้บังคับจนได้ในวันที่ 6 เมษายน 2560

ผลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ จนกระทั่งมีคนพูดว่ารัฐธรรมนูญร่างขึ้นมาเพื่อเรา สุดท้ายแล้วฝ่ายการเมืองก็รู้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่มันทำให้คนอื่นเสียเปรียบแบบนี้ สุดท้ายอยู่กันไม่ได้สักคน ไม่ว่าพรรคไหนก็เดือดร้อน อีกทั้งประชาชนก็เรียกร้อง ในที่สุดมีการผลักดันจนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่จนได้ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. 200 คน เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทน ฉบับ 2560 จนได้

แต่แล้วก็มีบุคคลกลุ่มเดิมไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีการวินิจฉัยในคำวินิจฉัย 4/2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้ยืนยันว่าประชาชนมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม และประชาชนได้สถาปนารัฐธรรมนูญนั้นไว้แล้วผ่านการลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 การที่ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องไปขอประชามติจากประชาชน ว่าประชาชนอยากจะยกเลิกรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าประชาชนอยากจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ ถึงจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วให้ประชาชนลงประชามติกันใหม่ ถึงจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง แล้วก็ไปให้พระมหากษัตริย์ทรงลงปรมาภิไธยถึงจะมีผลเป็นรัฐธรรมนูญ ในที่สุดก็แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร. ไม่ได้อีกครั้งหนึ่ง

ถึงแม้ว่าสองครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้ไม่ได้สามารถตั้ง สสร. ได้ก็ตาม แต่สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ทิ้งไว้ให้คือ การยืนยันว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน” มันสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะในคำวินิจฉัยสุดท้ายคือ 4/2564 ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสถาปนาดั้งเดิม ซึ่งเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่เป็นอำนาจระดับพระเจ้า หรือบางคนจะเรียกว่าอำนาจ “ปฐมสถาปนา” หรือ อำนาจจัดตั้งประเทศ เพราะอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมสามารถที่จะก่อตั้งองค์กรใดๆ ก็ตามในรัฐได้

รัฐธรรมนูญมีอำนาจอยู่ 2 รูปแบบ ในกรณีที่ประเทศนั้นมีผู้ปกครองเดิมอยู่แล้ว หรือมีองค์กรการเมืองเดิมอยู่แล้ว อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมจะทำงานอยู่ 2 ระยะ

ระยะแรก คือระยะการทำลายองค์กรและสถาบันการเมืองเดิมลงไปก่อน ที่เรียกว่าระยะ Déconstruction เป็นการทำลายโครงสร้าง หลังจากนั้น

ระยะที่สอง เป็นการ Reconstruction สร้างขึ้นมาใหม่ เหมือนเราจะสร้างบ้านใหม่ก็ต้องรื้อบ้านเก่าออกก่อน อำนาจในการรื้อและสร้างใหม่เป็นอำนาจที่สำคัญมากๆ ของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม ดังนั้นอำนาจระดับพระเจ้ามาสามารถกำหนดได้ว่าในรัฐธรรมนูญจะมีองค์กรใด มีใครเป็นผู้ใช้อำนาจอย่างไร จะสามารถแก้ไข ลดทอน หรือแม้กระทั่งยกเลิกองค์กรบางองค์กรในรัฐธรรมนูญออกไปก็ได้

ดังนั้นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงเป็นอะไรที่เขาหวงแหนมาก อย่างไรเขาก็ไม่มีทางปล่อยมือให้ประชาชนได้ง่ายๆ 

ผมจึงอยากจะฝากไว้สำหรับใครก็ตามที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ จัดทำประชามติเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. ขอให้ระวังตรงนี้ไว้ว่า แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเคยมีการวินิจฉัยไว้แล้วว่าประชาชนสามารถออกเสียงประชามติยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วร่างใหม่ได้ แต่การออกเสียงประชามตินั้นควรจะต้องระบุในประชามติไปเลยว่าจะให้มีการตั้ง สสร. กี่คนก็ตาม มาจากไหน กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะมีกระบวนการอย่างไรควรจะต้องเขียนในลักษณะหนึ่งที่ชัดเจนพอที่จะให้ประชาชนได้รู้ว่าได้รับหลักการยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วร่างขึ้นมาใหม่แบบนี้

เพราะไม่ฉะนั้นเมื่อทำประชามติกันไป ยกเลิกรัฐธรรมนูญกันไป ร่างรัฐธรรมนูญกันขึ้นใหม่ กำลังจะให้ประชาชนลงประชามติอยู่แล้ว ปรากฏว่ามีคนอุตริไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า “ตอนนั้นประชาชนลงประชามติแค่ว่า ยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกสักหน่อยว่าจะมี สสร. 200 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ” อันนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ หากใครอยากรณรงค์จัดทำรัฐธรรมนูญต่อไป

รัฐธรรมนูญมีพลังในการสร้างใหม่ จริงๆ แล้วในทางทฤษฎี เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ ถือว่ารัฐเกิดใหม่ อย่างของฝรั่งเศสเขาเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันทีหนึ่ง เปลี่ยนทั้งฉบับ เขาจะเรียกว่าเขาเป็นสาธารณรัฐใหม่ ฝรั่งเศสเขาถือเป็นสาธารณรัฐที่ 5 ฝรั่งเศสผ่านรัฐธรรมนูญในระบอบสาธารณรัฐมา 5 ครั้ง 

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงนิยายเรื่องหนึ่งชื่อว่า “เกิดใหม่ครั้งนี้จะสร้างประเทศที่ดีได้หรือเปล่านะ” เป็นเรื่องของ “นาวิน” เป็นเลขาของนักการเมืองคนหนึ่ง นักการเมืองคนนี้โกงกิน ทำเรื่องไม่ดีต่างๆ นานา ป้ายความผิดให้นาวิน ยิงนาวินทิ้งเสียเลย นาวินได้ไปเกิดใหม่ในร่างของเด็กหนุ่มชื่อว่า “จัน” ซึ่งนาวินมีความรู้เรื่องการเมืองการปกครองและเทคโนโลยีในโลกของเรา ไปอยู่ในโลกใหม่ที่คนยังปกครองกันในระบอบศักดินา มีขุนนางที่ใช้เวทมนตร์ได้ แล้วมีไพร่ที่ใช้เวทมนตร์ไม่ได้ แล้วก็จะยอมรับว่าตนเองใช้เวทมนตร์ไม่ได้ก็จะยอมอยู่ใต้ขุนนางไป

แต่ก็มีพวกทาสที่ได้แก่คนขุนนางและไพร่ไปจับตัวมา คือ ชาวเผ่าหูแมว ซึ่งนาวินได้พยายามสร้างประเทศที่ดีในแบบของเขา เรื่องนี้สนุกมากครับแล้วยังแทรกเรื่องการเมืองการปกครองไว้อีก

เราจะได้เห็นว่า Magna Carta กำเนิดมาอย่างไร จาก Light Novel เรื่องนี้จะได้รู้ว่าอำนาจสูงสุดของประชาชนคืออะไรจากเรื่องนี้ ในที่สุดคืนอำนาจให้ประชาชน เขาบอกว่า “ใครก็ตามก็สามารถขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ทั้งนั้น เพราะว่ากษัตริย์มีอำนาจเพียงตามพิธีการ” การออกมากล่าวสุนทรพจน์หรืออะไรของกษัตริย์ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

Light Novel เรื่องนี้เขียนโดย StarlessNight ซึ่งเขาคือ หฤษฎ์ มหาทน (ปอนด์) หฤษฎ์ กับจำเลยอีก 7 คน ถูกจับในข้อหายุยงปลุกปั่น และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หฤษฎ์โดนมาตรา 112 เพราะทำเพจ “เรารักพลเอกประยุทธ์” ซึ่งเป็นเพจล้อเลียน หฤษฎ์ต้องถูกขังอยู่ 70 วัน เพราะโดน ม.112 ทำให้ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากนั้นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็มาเขียนนิยายเรื่องที่ผมเล่าให้ฟัง 

ในเรื่องจะมีตัวละครอยู่ตัวหนึ่งต่อสู้ไปกับพวกตัวเอก เขาไม่ได้จะต่อสู้เพราะว่าต้องการประชาธิปไตย แต่เขาต้องการจะล้างแค้นให้เผ่าพันธุ์ของเขาที่ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ถูกจับมาเป็นทาส ถูกทารุณ โดยเขาวางระเบิดไว้ทั้งเมือง เขากดระเบิดครั้งเดียวเมืองหายไปทั้งเมือง นาวินเลยไปพูดกับเขาว่า

“การทำลายของเธอไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ขุนนางพวกนี้ตายไป ขุนนางใหม่ก็เข้ามาแทน การกดขี่ก็ยังคงอยู่ ทาสก็ยังคงมีอยู่ ทุกสิ่งที่เธอเกลียดก็ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยที่เธอจะทำอะไรไม่ได้ ทางเดียวที่เธอจะทำสิ่งเลวร้ายไม่ใช่การทำลายสิ่งเก่าหรอก การทำลายสิ่งเก่าที่เลวร้ายมีแต่ทำให้สิ่งที่เลวร้ายกว่าเกิดขึ้นแทนที่ วิธีกำจัดสิ่งที่เลวร้าย คือ การสร้างสิ่งใหม่ต่างหาก ถ้าเธอเกลียดโลกที่ไม่เท่าเทียม ทางเดียวที่จะทำลายมันได้ก็คือการสร้างโลกที่มันเท่าเทียมและไม่ถูกกดขี่ขึ้นมา การสร้างสิ่งใหม่เป็นทางเดียวที่จะทำลายโลกใบเดิมที่เธอเกลียดชัง และการมีชีวิตอยู่เป็นทางเดียวที่จะสร้างสิ่งใหม่ได้”

ผมหวังว่าผมจะมีชีวิตอยู่ในวันที่เห็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ตอนที่ถูกขังอยู่ เพื่อนๆ ก็ไปเยี่ยมหฤษฎ์ หฤษฎ์ฝากข้อความมาถึงข้างนอก 2 ข้อว่า

“ขอ 2 ข้อ ข้อที่ 1 อย่าตาย ข้อที่ 2 อย่าทิ้งความฝัน อย่าทิ้งความฝันแม้ว่าคืนนั้นท้องฟ้าจะมองไม่เห็นดวงดาวเลยก็ตาม”

 

รับชมย้อนหลังได้ที่ YouTube : PRIDI Talks #18 x SDID : “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

 

ที่มา : กล้า สมุทวณิช “ทฤษฎีอำนาจกับการสถาปนารัฐธรรมนูญ” ใน PRIDI Talks #18 x SDID: “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 09.00 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์