ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

ท่านผู้หญิงประดิษฐ์มนูธรรมกับการประกวดเคหสถานในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483

24
ธันวาคม
2565

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 งานฉลองรัฐธรรมนูญ มิแคล้วเป็นมหกรรมสำคัญยิ่ง โดยรัฐบาล “คณะราษฎร” ส่งเสริมและสนับสนุนให้ปรากฏขึ้นทุกๆ ปีประมาณช่วงวันที่ 7-14 ธันวาคม 

สำหรับปี พ.ศ. 2483 ถือว่าประเทศไทยได้ปกครองระบอบรัฐธรรมนูญจนมาบรรจบครบรอบปีที่ 9 รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาม หลวงพิบูลสงคราม จึงจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นภายใน ณ บริเวณเขาดินวนา สวนอัมพร และสนามเสือป่า มีทั้งสิ้น 7 วัน ได้แก่ วันที่ 8, 9, 10, 11, 12, 13 และ 14 ธันวาคม ขณะงานเฉลิมฉลองภายนอกจะอยู่บริเวณท้องสนามหลวง มีทั้งสิ้น 5 วัน ได้แก่ วันที่ 8,9,10,11  และ 12 ธันวาคม

ความพิเศษของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำ พ.ศ. 2483 นั่นคือ งานแสดงบางส่วนจะจัดต่อเนื่องไปจวบจนงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเพิ่งจะเปลี่ยนจากวันที่ 1 เมษายนมาเป็น 1 มกราคมในปี พ.ศ. 2484 เป็นปฐมฤกษ์ เฉกเช่น งานแสดงเศรษฐกรรมและกสิกรรม

การเข้าออกบริเวณงานนั้น ถ้าเป็นบริเวณเขาดินวนา สวนอัมพร และสนามเสือป่า มีประตูเข้าออก 4 ทาง ประกอบด้วย ประตูด้านถนนราชดำเนินตรงลานพระบรมรูป, ประตูด้านเชิงสะพานวัดเบญจมบพิตร ประตูด้านริมคลองเปรมหรือถนนพระรามที่ 5 และประตูด้านถนนอู่ทองตอนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม กำหนดอัตราค่าผ่านประตูดังนี้

วันที่ 8, 10, 12 และ 14 ธันวาคม ตั้งแต่ 13.00 น. ถึง 01.00 น. เก็บคนละ 30 สตางค์

วันที่ 9, 11 ธันวาคม มีงานตลาดนัดเช้า ตั้งแต่ 5.00 น. ถึง 10.00 น. เก็บคนละ 5 สตางค์ ตั้งแต่ 13.00 น. ถึง 03.00 น. (วันรุ่งขึ้น) เก็บคนละ 30 สตางค์ เฉพาะวันที่ 22 และ 31 ธันวาคม มีงานตลาดนัดเช้าอีก ตั้งแต่ 05.00 น. ถึง 10.00 น. เก็บคนละ 5 สตางค์  

เด็กสูงไม่เกิน 1 เมตร มากับผู้ปกครองผ่านได้โดยไม่เสียค่าผ่านประตู ผู้ผ่านเข้างานต้องแต่งกายให้สุภาพตามประเพณีนิยม และบรรดาผู้หาบขายของต่างๆ ห้ามผ่านเข้าประตูงาน

ถ้าเป็นบริเวณท้องสนามหลวง ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 12 ธันวาคม ไม่มีการเก็บค่าผ่านประตู

 

แผนผังแสดงบริเวณของงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483
แผนผังแสดงบริเวณของงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483

 

กองอำนวยการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483  อันมี นายพันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นประธานกรรมการ และ นายเชื้อ พิทักษากร เป็นเลขานุการ ได้จัดแบ่งกรรมการกองต่างๆ และทำเครื่องหมายดุมกลมรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่เหนือพื้นธงชาติ ระบุตัวอักษรว่า “๒๔๘๓” และ “ประชาธิปไตยสร้างชาติ” และโบกลมหางแซงแซวสีต่างๆ

 

สมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๘๓ (ปีที่ ๙)
สมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๘๓ (ปีที่ ๙)

 

กองหนึ่งที่น่าสนใจคือ กองศิลปากร อันมี พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) สถาปนิกผู้บุกเบิกด้านสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองรั้งตำแหน่งหัวหน้ากอง พระพรหมพิจิตร (พรหม พรหมพิจิตรมีชื่อเดิมว่า “อู๋ ลาภานนท์”) ผู้เคยออกแบบหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับพระสาโรชฯ และ ศาสตราจารย์ ซี. เฟโรจี (Professor Corrado Feroci, หรือ ศิลป์ พีระศรี) เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากอง และ นายสมบุญ โชติจิตร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อใหม่ตามระเบียบบังคับให้ตั้งชื่อบุคคลให้แบ่งแยกเพศชัดเจนยุครัฐบาลจอมพล ป. ว่า “สมบูรณ์”) เป็นเลขานุการ พร้อมกรรมการอีก 48 คน ใช้สถานที่บริเวณ สนามเสือป่า ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมจนหมดงาน เครื่องหมายประจำกองคือโบสีเหลืองอ่อนหางแซงแซวสีชมพูกับขาว และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อคือ 23059 

 

พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)
พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)

 

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปีก่อนๆ ที่ผ่านมา กองศิลปากร ได้ดำเนินการจัดให้มีมหรสพและบรรเลงดนตรีบริเวณเขาดินวนา รวมถึงจัดให้มีการแสดงละครบนเวทีประกวดนางสาวไทย ทว่างานประจำปี พ.ศ. 2483 ได้เพิ่มเติมให้มี การประกวดเคหสถาน เพื่อเป็นเครื่องแสดงวัฒนธรรมความเจริญของชาติ โดยแบ่งออกเป็นประเภทดังนี้ 

ประเภทที่ 1 สร้างเท่าของจริง ทำด้วยเครื่องไม้หรือวัตถุใดๆ ซึ่งถ้ามีผู้พอใจก็อาจซื้อและรื้อถอนไปปลูกอยู่ได้ทันทีในเมื่อเสร็จงานแล้ว แบ่งออกเป็นสี่หมวด คือ

หมวด ก. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 80-120 บาท
หมวด ข. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 200 บาท
หมวด ค. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 300 บาท
หมวด ง. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 500 บาท

ประเภทที่ 2 สร้างแบบจำลองคล้ายของจริง โดยใช้มาตราส่วน 1 ใน 20 แบ่งออกเป็นสี่หมวด คือ

หมวด ก. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 600 บาท
หมวด ข. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 1,000 บาท
หมวด ค. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท
หมวด ง. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 2,000 บาท

ประเภทที่ 3 แสดงแต่รูปเขียนและแผนผัง แบ่งออกเป็นสี่หมวด คือ

หมวด ก. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 4,000 บาท
หมวด ข. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 6,000 บาท
หมวด ค. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 8,000 บาท
หมวด ง. เคหะสถานที่มีราคาไม่เกิน 10,000 บาท

ประเภทที่ 4 แสดงแต่รูปถ่ายและแผนผังของเคหะสถานที่ปลูกสร้างเสร็จแล้ว

นอกเหนือจากการประกวดเคหสถานแล้ว กองศิลปากร ยังจัดให้มีการประกวดเครื่องเรือน เครื่องแต่งบ้านอีกด้วย ซึ่งเครื่องเรือนที่จะส่งเข้าร่วมประกวด คณะกรรมการประสงค์ให้ใช้วัตถุที่มีต้นกำเนิดในประเทศไทย

การประกวดครั้งนี้ จะตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาพิจารณาและกำหนดของรางวัล ได้แก่

  1. ประเภทสร้างเท่าของจริงมี 3 รางวัล จัดเป็นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวม 3 รางวัล
  2. ประเภทแสดงแบบจำลอง มีรางวัลตามพวกและชนิดละ 2 รางวัล จัดเป็นที่ 1 ที่ 2 รวม 24 รางวัล 
  3. ประเภทแสดงรูปเขียนและแผนผัง มีรางวัลตามพวกและชนิดละ 2 รางวัล จัดเป็นที่ 1 ที่ 2 รวม 24 รางวัล
  4. ประเภทรูปถ่ายและแผนผังเคหะสถานที่ปลูกสร้างเสร็จแล้ว มีรางวัล 3 รางวัล จัดเป็นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3  
  5. รางวัลการประกวดเครื่องเรือนมี 3 รางวัล จัดเป็นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3  

 

 

ระบุเงื่อนไขของการตัดสินว่า

  1. การตัดสินของคณะกรรมการเป็นอันเด็ดขาด
  2. คณะกรรมการมีสิทธิ์ที่จะยุบ เพิ่มเติมหรือโยกย้ายรางวัลต่างๆ ทุกประเภทและชนิด
  3. ผู้ที่รับรางวัลทางการจะประกาศให้ทราบและนัดหมายให้มารับรางวัล ณ วันและเวลาซึ่งจะกำหนดให้ภายหลัง 

คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้พิจารณาตัดสินในการประกวดเคหสถาน นั้น ผู้เป็นประธานคือ ท่านผู้หญิงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยาของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

ส่วนกรรมการรายอื่นๆ ประกอบด้วย คุณหญิงมานวราชเสวี (ศรี ณ สงขลา), นางเวชยันตรังสฤษฏ์ (ดาระกา เวชยันตรังสฤษฏ์), นายพลเรือตรี หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน), นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ), หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ, หลวงวิจิตรวาทการ, พระไวทยวิธีการ (พูลสวัสดิ์ บุศยศิริ), พระยาประกิตกลศาสตร์ (ชิต กาญจนะวณิชย์) และ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ เป็นเลขานุการ

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นับเป็นผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญหลายประการในโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ยังมิค่อยเป็นที่ทราบกันเท่าไหร่ว่า ครั้งหนึ่งเธอก็เคยเป็นกรรมการตัดสินการประกวดเคหสถานในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2483 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. กองโฆษณาการงานฉลองรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๓. สมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๔๘๓ (ปีที่ ๙). พระนคร : โรงพิมพ์พานิชศุภผล, 2483
  2. “ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล.” ราชกิจจานุเบกษา. ตอน 13 เล่มที่ 59 (24 กุมภาพันธ์ 2485). หน้า 345-352