ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปรีดี พนมยงค์ในนิทรรศการ PRIMATES and ME: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์

30
เมษายน
2566

ความที่อากาศตอนกลางวันช่างร้อนอบอ้าวและแดดแผดเผาผิวกายไหม้เกรียมเหลือเกินจนสุดจะทานทน ก่อนเที่ยงของวันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566 ผมปรารถนาเสาะหาสักแหล่งแห่งหนที่เปิดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำเพื่อพักผ่อนหย่อนอารมณ์ พอดีเดินผ่านทางไปแถวๆ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เลยตัดสินใจแวะเข้าไปเยี่ยมเยือน แล้วก็เห็นว่ากำลังมีการจัดแสดงนิทรรศการ “PRIMATES and ME: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์” อย่างไม่รอช้า ผมรีบเข้าชมนิทรรศการนี้ และพบเข้ากับสิ่งมิได้คาดหมาย นั่นคือ วิวัฒนาการของวานรหรือลิงที่เชื่อมโยงมาเกี่ยวข้องกับ นายปรีดี พนมยงค์

นิทรรศการ “PRIMATES and ME: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์” ได้จัดแสดงเนื้อหาว่าด้วยเรื่องราวของวานรหรือลิงกับมนุษย์โดยมองผ่านแง่มุมต่างๆ นานา โดยมุ่งเน้นด้านไพรเมตวิทยาผสมผสานเข้ากับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มานุษยวิทยากายภาพ และมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

 

นิทรรศการ “PRIMATES and ME: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์”

 

ไพรเมตวิทยา (Primatology) เป็นวิชาว่าด้วยการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นสูงสุดหรือสัตว์ตระกูลไพรเมต (primate family) ซึ่งก็หมายถึงลิงและคน อันมีลักษณะสายพันธุ์และบรรพบุรุษคล้ายคลึงกัน ทั้งยังอยู่ในสกุล Homo โดยเฉพาะ Homo sapiens

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เริ่มปรากฏกระแสความสนใจต่อ “มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์” ในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่าทั้งมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ต่างฝ่ายต่างเชื่อมโยงกันและมีส่วนก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การศึกษาด้านนี้ไม่ยึดติดอยู่กับการยกให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางหรือมีความเหนือกว่าสรรพสิ่งอื่นๆ แต่พิจารณาแบบแนวระนาบที่มองว่าทุกสรรพสิ่งมีสถานะเท่าเทียมเสมอกัน ดังนั้น ในการศึกษาลิงและคนที่นำเสนอผ่านนิทรรศการ “PRIMATES and ME: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์” จึงพยายามสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจชีวิตของลิงก็จะสามารถเข้าใจมนุษย์ผ่านหลากหลายบริบท นั่นเพราะทั้งลิงและคนถือเป็นพวกไพรเมตเหมือนกัน มิอาจแบ่งแยกออกจากกันได้

แรงบันดาลใจสำคัญที่ประหนึ่งจุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของนิทรรศการ “PRIMATES and ME: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์” ก็คือสองลิงอุรังอุตังแห่งสวนสัตว์จังหวัดลพบุรีซึ่งเคยมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่กล่าวขวัญในช่วงทศวรรษ 2540 หรือจะเรียกขานแบบที่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็มักเคลือบริมฝีปากกันว่า “ยุค Y2K” อย่าง ซูซู และ ไมค์

วัตถุสิ่งของที่จัดแสดงในนิทรรศการประกอบไปด้วยโครงกระดูก หัวกะโหลก กระดูกต้นขา กระดูกมือ สมุดบันทึกภาคสนาม รูปปั้นจำลอง ตุ๊กตาลิง รวมถึงหัวโขนลิงจากวรรณคดีรามเกียรติ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนบอกเล่าถึงความเป็นลิงที่ค่อยๆ วิวัฒนาการมาสู่ความเป็นมนุษย์ และเราสามารถเรียนรู้อะไรจากสายพันธุ์บรรพบุรุษผู้มาก่อนบ้างเพื่อที่จะเข้าใจตัวตนของพวกเราเอง นี่แหละคือประเด็นหลักที่ทางผู้จัดนิทรรศการจงใจสื่อสารต่อผู้มาเข้าชม

ระหว่างทอดน่องเดินวนชมวัตถุสิ่งของและองค์ความรู้ตามบอร์ดนิทรรศการ พลันสายตาสะดุดเข้าอย่างจังกับบอร์ดนิทรรศการที่โปรยชื่อหัวข้อด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่

 

“วานร ถึง มนุษย์
จากลูซี ถึง ปรีดี พนมยงค์”

 

“ลูซี” หรือที่เคยมีความทรงจำจากการดูโฆษณาในโทรทัศน์จนเรียกขานติดปาก “ป้าลูซี” นั้น ผมเองพอจะรู้จักมักคุ้นว่าเป็นสายพันธุ์บรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นแรกๆ หรือ โฮมินิดส์ (Hominids) ลักษณะรูปร่างคล้ายลิง มีกระดูกเชิงกรานและกระดูกขา สามารถยืนและเดินตัวตรง เคลื่อนไหวด้วยขาและเท้าสองข้างแบบเดียวกับมนุษย์ อีกทั้งยังมีสมองขนาดใหญ่ขึ้น “ลูซี” วิวัฒนาการมาจากลิงไม่มีหางหรือลิงชิมแปนซี และเริ่มจะกลายสภาพมาเป็นคน

หากที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งฉงนระคนอยากรู้ครามครันก็คือ แล้ว นายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎรผู้อภิวัฒน์สยาม อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยและรัฐบุรุษอาวุโสมาเกี่ยวข้องอะไรกับวานรศึกษาและ “ป้าลูซี”

ลองเพ่งอ่านเนื้อความบนบอร์ดนิทรรศการก็ได้รับทราบรายละเอียดของการขุดค้นพบซากฟอสซิลและโครงกระดูกโดยนักบรรพชีวินวิทยา นำมาสู่การศึกษารอยเชื่อมต่อของวิวัฒนาการจากลิงมาสู่คน ซึ่ง “ลูซี” คือหลักฐานที่ยืนยันค่อนข้างชัดเจน มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไพรเมต (primates) กับมนุษย์อย่างเราในปัจจุบันนี้ และนิยามว่าความเป็นมนุษย์คืออย่างไร

อยู่ๆ ผมเจอหัวข้อย่อยชื่อ “หัวกะโหลกของเรอเน เดส์การ์ต และไม้เท้าของปรีดี พนมยงค์” ก็ยิ่งบันดาลความตื่นเต้น ถ้อยเนื้อหาของนิทรรศการส่วนนี้มีว่า

 

เรอเน เดส์การ์ต (พ.ศ. 2139-2193) และปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2443-2526) ต่างเป็นสมาชิกของ มนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens sapiens) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในสกุล “Homo” ที่หลงเหลืออยู่ในโลก เพียงสปีชีส์เดียว

เรอเน เดส์การ์ต เป็นบุตรของขุนนางที่ปรึกษาสมาชิกสภาเมืองแรนส์ ถือกันว่า เดส์การ์ตเป็น นักศาสนา นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาปรัชญาสมัยใหม่ของอารยธรรมตะวันตก แนวคิดของเขาส่งอิทธิพลต่อนักคิดรุ่นต่อมาที่เรียกกันว่า “เหตุผลนิยม” (Rationalism) เดส์การ์ต เป็นผู้กล่าวประโยคสำคัญในทางปรัชญา “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (Cogito, ergo sum- I think, therefore I am) ไว้ในผลงาน Discourse on the Method (พ.ศ. 2180) ซึ่งเป็นการใคร่ครวญสงสัยและยืนยันถึง “การมีอยู่/การดำรงอยู่” ของมนุษย์

ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุตรของชาวนาจากอยุธยา ต่อมาได้เข้ารับราชการและได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อด้านกฎหมายที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ร่วมก่อตั้ง “คณะราษฎร” และเป็นผู้ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ได้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ. 2475 ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นตามหลัก 1 ใน 6 ประการของคณะราษฎร คือ “การให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” และเพื่อปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยที่มองคนเท่าเทียมกัน

หลังจากเรอเน เดส์การ์ต เสียชีวิตที่กรุงสต็อกโฮล์ม ศพถูกเคลื่อนย้ายหลายครั้งและสุดท้ายได้รับการฝังที่กรุงปารีส แต่หัวกะโหลกของเขาได้รับการเก็บรักษา ครอบครองและส่งต่อมาหลายรุ่น (ดังมีรายนามของผู้ครอบครองเขียนไว้ที่หัวกะโหลก) ปัจจุบันกะโหลกของเดส์การ์ต ในฐานะ “ผู้ใช้สติปัญญา ไตร่ตรองความมีอยู่ของมนุษย์” อยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์มนุษยชาติ (Musée de l'Homme) กรุงปารีส ส่วน ดร.ปรีดี พนมยงค์ หลังจากประสบกับปัญหาทางการเมือง ได้ลี้ภัยออกจากประเทศไทยไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและใช้ชีวิตวัยชราช่วงสุดท้ายที่ประเทศฝรั่งเศส ไม้เท้าของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ สะท้อนความพยายามของมนุษย์ที่จะพยุงให้ร่างกายตั้งฉากกับพื้น เพราะเมื่อครั้งหนึ่งในอดีตมนุษย์ได้ยืนตัวตรงแล้ว ก็ไม่อยากกลับไปเคลื่อนที่ด้วยการคลานสี่ขาอีก Homo sapiens เป็นไพรเมตประเภทเดียวที่ยืนสองขาได้อย่างสมบูรณ์ มือเป็นอิสระ สมองมีพัฒนาการ และสิ่งเหล่านี้คือวิวัฒนาการ สำคัญของความเป็น “มนุษย์”

 

การเชื่อมโยงเรื่องราวของ นายปรีดี เข้ากับเรื่องราวของ เรอเน เดส์การ์ต (René Descartes) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสก็คงเพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens sapiens) ที่วิวัฒนาการมาด้วยการมีมันสมองและระบบความคิดอันเป็นเหตุเป็นผล กลายเป็นคุณสมบัติสลักสำคัญอันทำให้มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตสกุลโฮโม (Homo) ที่ยังดำรงอยู่ได้

หัวกะโหลกของ เดส์การ์ต เสมือนหลักฐานแสดงถึงความเป็นมนุษย์ผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่อง เป็นหัวกะโหลกของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาสายพันธุ์มาอย่างมากจากสัตว์ตระกูลไพรเมตรุ่นบรรพบุรุษแบบลิง

ขณะที่การหยิบยกเอาเรื่องไม้เท้าของ นายปรีดี ขึ้นมาอธิบายความพยายามยืนหยัดจะเดินด้วยสองขาของมนุษย์แม้อยู่ในช่วงวัยชราโรยแรง นั่นเพราะไม่อยากจะกลับไปเดินสี่ขาแบบไพรเมตหรือพวกลิงอีก ก็นับว่าเป็นข้อเสนอที่ทางผู้จัดนิทรรศการจุดประกายไว้ชวนขบคิดใคร่ครวญ

เอ่ยถึงหัวกะโหลกแล้ว ควรกล่าวด้วยว่า นายปรีดีคือบุคคลหนึ่งที่เคยมุ่งมั่นศึกษาเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้เช่นกัน โดยเฉพาะตอนเขายังเป็นนักกฎหมายหนุ่มช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ดังคราวหนึ่ง นายปรีดีได้ไปแสดงปาฐกถาเรื่อง ปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาชญาผู้กระทำผิดกฎหมาย ณ สามัคยาจารย์สมาคมในอาณาบริเวณโรงเรียนสวนกุหลาบเมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ตามคำเชิญของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมายและอาจารย์โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ทางโรงพิมพ์นิติสาส์นของนายปรีดีเองได้นำถ้อยปาฐกถานี้มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือให้ชื่อว่า ปาฐะเรื่องปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาชญาผู้กระทำผิดกฎหมาย และถวายหนังสือแด่ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน

ความประสงค์หลักของนายปรีดีที่ถ่ายทอดในถ้อยปาฐกถา ก็เพื่อเสนอการพิจารณาที่จะลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายว่าควรดำเนินไปในลักษณะใดจึงเหมาะสม นายปรีดีขบคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนกฎหมายในฝรั่งเศสและได้เขียนไว้เป็นภาษาฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1926 (ตรงกับ พ.ศ. 2469) ลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คราวที่เสด็จสวรรคต ดังนายปรีดีเกริ่นเล่าว่า

 

“ท่านทั้งหลาย

การที่ข้าพเจ้า นำปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาชญาผู้กระทำผิดกฎหมายมาแสดง ณที่นี้ ก็เนื่องมาจากเสด็จเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้มีพระประสงค์จะใคร่ให้ข้าพเจ้าพูดเรื่องกฎหมายแกมการศึกษา ข้าพเจ้าจึงได้เลือกเอาเรื่องนี้แสดง เพราะเปนเรื่องหนึ่งที่จะส่อให้เห็นถึงความเกี่ยวพันระหว่างกฎหมาย กับการศึกษาซึ่งจะแยกออกจากกันให้เด็ดขาดไม่ได้

อนึ่ง ปัญหาคล้ายเรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้เคยเขียนเป็นหัวข้อไว้ครั้งหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 1926 แล้วได้พิมพ์ลงเป็นภาษาฝรั่งเศสในหนังสือซึ่งข้าราชการสถานทูตสยามกรุงปารีศ และสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นอุทิศแด่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖ แต่ข้าพเจ้ายังมิได้ทำขึ้นเป็นภาษาไทย จึ่งถือโอกาสเอาเรื่องคล้ายๆ กันเช่นนั้นมาแสดงปาฐะ ณ ที่นี้ โดยดัดแปลงหรือแก้ไขให้สมกับกาลเทศะ”

 

ตามทัศนะของนายปรีดี การลงโทษทางอาญาจะมีผลป้องกันการกระทำผิดได้มากน้อยเพียงใดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสืบสาวค้นคว้าถึงสาเหตุของการกระทำผิดซึ่งเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับทางวิทยาศาสตร์ เฉกเช่นเดียวกับการวินิจฉัยสาเหตุของอาการป่วยไข้ เขาจึงประมวลแนวความคิดของนักปราชญ์หลายคนแห่งสำนักอาชญาวิทยาต่างๆ ในการหาสาเหตุการกระทำผิดอันแบ่งได้ออกเป็น 2 ลัทธิมาอภิปราย กล่าวคือ ลัทธิที่ 1 จะค้นหาสาเหตุโดยพิจารณาถึงลักษณะอวัยวะและเหตุส่วนบุคคลของผู้กระทำผิด ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “เอโกล อองโตรโปจิก” (École Anthropologiques) ส่วนลัทธิที่ 2 จะค้นหาสาเหตุโดยพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับสถานที่ สภาพแวดล้อม ฐานะความเป็นอยู่ ความดำรงชีวิตของผู้กระทำผิด ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “เอโกล โซซิโอโลจิก” (École Sociologique)

สำหรับลัทธิที่ 1 หรือ “เอโกล อองโตรโปจิก” ผู้ที่เป็นต้นตำรับริเริ่มคิดค้นก็คือ ศาสตราจารย์ ซีซาร์ ลอมโบรโซ (Cesare Lombroso) แห่งมหาวิทยาลัยตูริน ประเทศอิตาลี (นายปรีดีน่าจะได้ศึกษาแนวคิดนี้จากงานของลอมโบรโซที่แปลมาเป็นภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งจะพิจารณาจากอวัยวะต่างๆ ของบุคคลผู้กระทำผิด โดยเฉพาะรูปร่างและน้ำหนักหัวกะโหลกเพื่อบ่งชี้ถึงความเป็นผู้ร้ายโดยกำเนิดที่กระทำความผิดด้วยสันดานดั้งเดิม

นายปรีดี กล่าวถึงเรื่องการศึกษาผู้ร้ายโดยกำเนิดด้วยการพิจารณาหัวกะโหลกและอวัยวะอื่นๆ ผ่านถ้อยปาฐกถาที่ว่า

 

จำพวกที่ ๑ ผู้ร้ายโดยกำเนิด

คือจำพวกที่เกิดมาก็นิยมแต่การกระทำผิดเป็นสันดานติดตัวมาทีเดียว ลักษณะของผู้ร้ายจำพวกนี้มีดั่งนี้ 

๑. รูปร่างมีเค้าต่างกันกับมนุษย์ตามปกติ การทดลองเปรียบเทียบของศาสตราจารย์ ปรากฏดั่งนี้

ก) กะโหลกศีรษะ ในระวางมนุษย์ที่มีกะโหลกศีรษะ

จุ ๑๑๐๑-๑๒๐๐ เซ็นติเม็ตร์ลูกบาศก์ มีคนร้ายมากกว่าดี ผู้ร้ายจำพวกนี้มักเป็นผู้ร้ายลักทรัพย์ 

จุ ๑๒๐๑-๑๒๕๐ เซ็นติเม็ตร์ลูกบาศก์ มักจะมีคนสติไม่สมประกอบ

จุ ๑๒๕๑-๑๓๐๐ เซ็นติเม็ตร์ลูกบาศก์ จำนวนคนร้ายมากกว่าคนดี มีผู้ร้ายฆ่าคนตายเป็นส่วนมาก ผู้ร้ายลักทรัพย์มีน้อย

จุ ๑๔๐๑-๑๔๕๐ เซ็นติเม็ตร์ลูกบาศก์  จำนวนคนร้ายกับคนดีเท่ากัน

จุ ๑๔๕๑-๑๕๐๐ เซ็นติเม็ตร์ลูกบาศก์  จะมีคนร้ายมากกว่าคนดีนิดหน่อย

จุ ๑๕๐๑-๑๕๕๐ เซ็นติเม็ตร์ลูกบาศก์  จำนวนคนดีมากกว่าคนร้าย

ข). อวัยวะอื่นๆ ที่ได้สังเกตคือหู หน้าผาก ขากรรไตร เช่นผู้ร้ายกรรไตรกว้างข้างล่างยื่นออกมา หูกาง จมูกหักและยกขึ้นสูง หน้าผากโคก หน้าผากเล็กและต่ำ 

 

นายปรีดี ยังนำตัวอย่างภาพหัวกะโหลกของผู้ร้ายลักษณะต่างๆ มาแสดงประกอบไว้

 

ผู้ร้ายโดยกำเนิด
ผู้ร้ายโดยกำเนิด

 

ผู้ร้ายโดยกำเนิด
ผู้ร้ายโดยกำเนิด

 

เป้าหมายของการศึกษาสาเหตุของการกระทำผิดนั้น ก็เพื่อจะได้วางแผนป้องกันการกระทำผิด นายปรีดีจึงเสนอวิธีการคือจัดการศึกษาและอบรมพลเมืองให้มีศีลธรรม รู้สำนึกผิดชอบชั่วดี มีจิตใจเมตตากรุณา นั่นย่อมสะท้อนว่าลึกๆ แล้ว นายปรีดีคงมิได้หลงเชื่อคล้อยตามความคิดเรื่องผู้ร้ายโดยกำเนิดที่จะพิจารณาจากอวัยวะหรือหัวกะโหลกในแนวทางของ “เอโกล อองโตรโปจิก” เสียทีเดียว แต่กลับมองเห็นว่า สาเหตุการกระทำความผิดอาจมาจากสภาพแวดล้อมและสถานะความเป็นอยู่ในแนวทางของ “เอโกล โซซิโอโลจิก” ด้วย ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดได้ด้วยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและยกสถานะความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น แน่ล่ะ หนทางสำคัญคือ การทำให้คนมีการศึกษาที่ดี

ว่ากันถึงเรื่องไม้เท้าของนายปรีดีนั้น ปัจจุบันนี้มีบุคคลผู้หนึ่งได้เป็นผู้ครอบครองอยู่ เขาคือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เจ้าของนามปากกา “ส. ศิวรักษ์” ถ้าสังเกตดูดีๆ เวลา สุลักษณ์ ไปปรากฏกาย ณ ที่แห่งใด เขาจะถือไม้เท้าคู่ใจอยู่เสมอๆ ก็ไม้เท้านั้นแหละคือของขวัญที่นายปรีดีเคยมอบให้แก่เขา

ใครเล่าจะคาดนึกว่า การมาเยี่ยมชมนิทรรศการ “PRIMATES and ME: เรียนรู้วานร เข้าใจมนุษย์” จะทำให้บังเอิญได้สัมผัสกับเรื่องราว “ไม้เท้าของปรีดี พนมยงค์” ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะมาเกี่ยวโยงกันได้แม้แต่น้อย ทว่า ราวกับอากาศร้อนจนต้องหลบแดดเสมือนสิ่งชักนำและเป็นใจให้ผมมีอันแวะเข้ามาเรียนรู้ต่อเนื้อหาเหล่านี้อย่างมิได้คาด นิทรรศการดังกล่าวเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.30 - 15.30 น. จะปิดทำการทุกวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ คุณผู้อ่านที่สนอกสนใจก็ลองแวะเวียนมาเยี่ยมชมกันได้จวบจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 โน้นละครับ

 

เอกสารอ้างอิง

  • ปรีดี พนมยงค์, ปาฐะเรื่องปัญหาเกี่ยวแก่การลงอาชญาผู้กระทำผิดกฎหมาย. พระนคร: โรงพิมพ์นิติสาส์น, 2471.
  • รวมปาฐกถาซึ่งแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ถึง 2474. พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2474.
  • วานรศึกษา. สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และวรวิทย์ บุญไทย, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์ จำกัด, 2564.