ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

‘ผู้ฟังถาม - ผู้อภิปรายตอบ’ ดุลยภาพแห่งอำนาจ : ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะได้อย่างไร?

21
พฤษภาคม
2566

 

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : ในฐานะที่อาจารย์พวงทองเป็นผู้ผลักดันเรื่อง ICC อยากให้พูดถึงความสำคัญของ ICC ต่อการเลือกตั้ง และ ICC จะช่วยให้โอกาสเกิดรัฐประหารน้อยลงอย่างไร

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ : ICC คือ International Criminal Court หรือ ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการพิจารณาอาชญากรรมขนาดใหญ่ เช่น อาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมมนุษยชาติ War of Aggression คือ การบุกรุกประเทศอื่น เป็นอาชญากรรมขนาดใหญ่

 

 

ในกรณีของประเทศไทย ก็มีการพยายามที่จะเรียกร้องตั้งแต่สมัยรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ให้ลงสัตยาบัน ยอมรับ Rome Statute หรือ ธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นธรรมนูญที่เป็นฐานอำนาจรองรับการดำรงอยู่ของ ICC ในช่วงนั้นมีความหวัง เนื่องจากคุณยิ่งลักษณ์จะลงนามใน Rome Statute แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เกิดขึ้น และได้มีแกนนำของ นปช. อาจารย์ธิดา ได้เดินทางไปที่กรุงเฮก เพื่อที่จะได้พบกับอัยการของ ICC ซึ่งทางนั้นเองก็แสดงความสนใจ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในประเทศไทยที่เกิดขึ้นหลายครั้งมาก ตั้งแต่ 14  ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2535 ผู้ที่กระทำผิด ไม่เคยต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมของตนเองเลย เพราะฉะนั้น การลอยนวลพ้นผิดกลายมาเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของการเมืองไทย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เป็นคนร่างจดหมายถึงอัยการ ICC แล้วก็ขอให้ ICC เข้ามาตรวจสอบในกรณีปี 53 เรื่องนี้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมไทย ฝ่ายคนเสื้อแดงหรือฝ่ายประชาชนที่ต้องการจะให้มีการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 ต้องถูกดำเนินคดี เพราะกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยมาถึงทางตัน

หลังจากที่อัยการสูงสุดเคยยื่นฟ้องคุณอภิสิทธิ์และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ศาลอาญาก็รับพิจารณาคดี แต่ว่าพอหลังรัฐประหารไม่ถึง 3 เดือน ศาลอาญาก็เปลี่ยนคำตัดสิน บอกว่าศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ ดิฉันว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับรัฐประหารโดยตรง ซึ่งทาง นปช. และญาติผู้เสียชีวิต ก็ไปฟ้องอุทธรณ์ ไปถึงขั้นศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกายืนยันว่าตนเองไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ เรื่องนี้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. และมองว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ที่ทำให้คนเสื้อแดงเสียชีวิตในปี 2553 เป็นแค่การกระทำผิดต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่ได้ตัดสินว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคุณอภิสิทธิ์กับคุณสุเทพ แต่ในที่สุด ป.ป.ช. ก็ไม่ฟ้อง และตัดสินว่าไม่ใช่การกระทำความผิด แต่เป็นการทำตามหน้าที่ของผู้นำรัฐบาลเท่านั้น เป็นการตัดสินโดยไม่มีการเรียกพยานหลักฐานเพิ่ม ไม่มีการเรียกฝ่ายผู้เสียหาย ไปให้การใดๆ ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น กระบวนการยุติธรรมในประเทศมาถึงทางตัน ไปต่อไม่ได้ หลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าถูกแช่แข็งไว้ แม้จะมีการเสนอ การกดดันใหม่ ซึ่งดิฉันเองก็เป็นเสียงหนึ่งที่พยายามจะเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้ง ประกาศว่า การให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม และเชิญ ICC เข้ามาพิจารณา ไต่สวน สอบสวน ในกรณีปี 2553 จะต้องเป็นนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งก็มีเพียงพรรคเดียวที่รับเรื่องนี้คือพรรคก้าวไกล ส่วนพรรคเพื่อไทยไม่ยอมที่จะเอาเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายในการหาเสียง ก็ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมต้องกลัว ซึ่งแน่นอนสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจ เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในขณะนี้ เกี่ยวข้องกับกองทัพ และมีการอ้างว่า ในธรรมนูญกรุงโรมมีการพูดถึง การรับผิดชอบของประมุขด้วย ซึ่งมองได้ว่าเรื่องนี้จะกระทบกับสถาบันกษัตริย์

นี่เป็นการตีความกฎหมายที่เกินเลยเกินไป สะท้อนถึงความกลัวที่ไม่ได้วางอยู่บนความเป็นจริง ในปี 2553 นั้น ไม่มีเอกสารหรือข้อหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย สถาบันกษัตริย์ไทย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตาม Concept ของ Constitutional Monarchy กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งกษัตริย์ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเรื่องอะไร เพราะว่าการกระทำทั้งหลายจะต้องผ่านการผู้สนองพระบรมราชโองการ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์หรือประมุข โดยเฉพาะปี 2553 ไม่มีเอกสารราชการที่ขอพระปรมาภิไธยในหลวง รัชกาลที่ 9 เลย มันเป็นคำสั่ง เป็นการลงนามโดยคุณอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และคุณสุเทพในฐานะ ผู้อำนวยการ ศอฉ. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และคงจะมีผู้นำกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนในการที่จะระดมกำลังทหาร เบิกอาวุธ เบิกกระสุน มีกระสุนจริงที่ใช้ไปกว่าแสนนัด ผู้นำกองทัพจึงต้องเกี่ยวข้องด้วย

เพราะฉะนั้น เราเรียกร้องว่าจะต้องเอาคดีปี 2553 เข้าสู่ ICC โดยถ้ากลัวว่าอำนาจ ICC จะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จริงๆ แล้ว ไม่ต้องยอมรับธรรมนูญกรุงโรมทั้งฉบับก็ได้ เพราะว่าธรรมนูญกรุงโรมเขียนขึ้นในปี 2545 เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน 2545 ICC จะไม่เกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นเราก็เรียกร้องว่า ให้ยอมรับมาตรา 12 วงเล็บ 3 ของ ICC และใส่เข้าไปว่าให้พิจารณากรณีปี 2553 เท่านั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ICC ไม่มีอำนาจ ถ้าเราไม่เชิญเข้ามา

ทำไมจึงเรียกร้องประเด็นนี้ เพราะเชื่อว่าการไต่สวนพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐที่เกินเลย เกินกว่าเหตุในการเอาชีวิตของประชาชนนั้น จะต้องถูกสอบสวนดำเนินคดี เพราะยืนยันจากข้อมูลรายงานของศูนย์ข้อมูลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม หรือ ศปช. ดิฉันยืนยันว่าประชาชนที่เสียชีวิตในเดือนเมษายนและพฤษภาคมปี 2553 ไม่มีใครมีอาวุธ เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เพราะฉะนั้นจะต้องรับผิดชอบ เราเชื่อว่าถ้ามีการไต่สวนกรณีนี้ แล้วระบุให้ชัดเจนว่ามีความรุนแรงเกินกว่าเหตุ และเอาคนผิดเข้ามารับผิดชอบด้วย จะเป็นบทเรียนที่จะทำให้ผู้มีอำนาจในอนาคตจะต้องลังเล คิดมากขึ้น ถ้าจะใช้กำลังในการปราบปรามประชาชน ถ้าเขามีปืนอยู่ในมือ แต่เขาใช้ไม่ได้ นี่คือการปลดอาวุธทางอ้อมของผู้มีอำนาจในอนาคต ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่เขามีอาวุธแต่ใช้ไม่ได้ การจะทำรัฐประหารก็ต้องคิดหนักมากขึ้นด้วย

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : นโยบายของพรรคก้าวไกลที่อยู่ในกระแสขาขึ้นขณะนี้ หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลสู่รัฐสภาอีกครั้ง จะเกิดการคัดง้างกันระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมาในปี 2562 หรือไม่

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล : ในสถานการณ์แบบนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการถูกยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่พรรคเดียว อาจจะมี 2 - 3 พรรคก็ได้ แต่ว่าการยุบพรรคการเมือง หากจะเกิดขึ้นอีกจริงๆ จะต้องชั่งใจกับอารมณ์ของประชาชนที่อยู่ข้างนอกด้วย ว่าประชาชนมีความรู้สึกต่อการเลือกตั้งครั้งนี้แรงกล้าแค่ไหน คุ้มไหมถ้าหากจะยุบพรรคการเมืองหนึ่งพรรค แล้วเกิดการลุกขึ้นมาบนท้องถนนอีกรอบหนึ่ง ถ้าถามว่าพรรคก้าวไกลเข้าไปในสภาจะโดนยุบพรรคไหม คิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ แต่ว่าต้องประเมินกับอารมณ์ของคนที่สนับสนุนฝั่งประชาธิปไตยที่ไม่ต้องการให้เกิดการยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้น เพราะเป็นการตัดอำนาจในการแข่งขัน ตัดความยุติธรรมในการแข่งขันของพรรคการเมือง เป็นการขัดกับระบอบประชาธิปไตยในตัว แต่ว่าสิ่งที่อาจจะตามมาหลังจากที่เสร็จสิ้นการเลือกตั้งไปแล้ว ถ้าหากว่าพรรคก้าวไกลได้เข้าไปอยู่ในสภาคือการอภิปรายอย่างตรงไปตรงมาเหมือนเดิม และเชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลคงไม่ทิ้งในเรื่องของการอภิปรายปัญหาในเชิงโครงสร้างให้ถึงต้นตอ 

 

 

สถานการณ์ ณ ปัจจุบันตอนนี้ ดูใกล้เคียงกับสถานการณ์ปี 2475 เพราะไม่ได้มีแค่ประชาชนที่พูดถึงโครงสร้าง ไม่ได้มีแค่ประชาชนที่พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ว่าตอนนี้มีพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประชาชน เข้าไปพูดปัญหาเชิงโครงสร้างในสภาแล้ว อย่างเช่น การอภิปรายเรื่องงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือว่าการอภิปราย เรื่อง พ.ร.บ.การควบคุมอัตรากำลังพล ซึ่งเรื่องพวกนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำ หรือผู้มีอำนาจเดิม ย่อมไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะเขาไม่อยากให้เกิดการตีแผ่ ไม่อยากให้เราตั้งคำถาม ไม่อยากให้เราสงสัย ไม่อยากให้เราขุดคุ้ยในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ว่าสิ่งเหล่านั้นดีหรือไม่ดีต่อประชาชนอย่างไร

แต่ถ้าหากพรรคก้าวไกลได้เข้าไปในสภา ก็เชื่อว่าพรรคก็ยังคงทำตามจุดประสงค์ของพรรคแบบเดิม และอาจจะเป็นจุดวัดด้วยเหมือนกันว่าประชาชนอย่างเราๆ ทุกคนที่อยู่ข้างนอกสภา เมื่อเราเลือกใครไปอยู่ในนั้นแล้ว และเขาพยายามงัดอยู่ข้างใน เราพร้อมพอที่จะงัดอยู่ข้างนอกด้วยไหม เราพร้อมพอที่จะยืนยันไหมว่าประชาชนคือ เจ้าของอำนาจจริงๆ ถ้าเกิดกระบวนการที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยอีก ประชาชนพร้อมจะมาปกป้องอำนาจตัวเองไหม อันนี้คือจุดที่อาจจะต้องเกิดขึ้น ถ้าหากว่าพรรคก้าวไกลได้เข้าไปในสภา

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : เราจะเชื่อใจในองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลกำกับการเลือกตั้ง แต่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน หมดศรัทธา และกลับกลายเป็นเหมือนตัวถ่วงดุลยภาพของการเลือกตั้งได้อย่างไร มีความเห็นอย่างไร กับ กกต.

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล : ในเรื่องของ กกต. ว่าเราไม่ไว้ใจเขา เราจะทำอย่างไรได้บ้าง สิ่งที่ทุกคนทำได้คือการวิพากษ์วิจารณ์ กกต. แต่แค่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการแก้ไขได้จริงๆ แต่เราจำเป็นต้องไปเก็บหลักฐานทุกอย่างที่ กกต. รับผิดชอบในวันเลือกตั้ง บันทึกข้อผิดพลาดเก็บไว้ แล้วรวบรวมส่งให้องค์กรภาคประชาชน ถ้าหากทำงานไม่ดี ทำงานไม่โปร่งใส ทำงานไม่เป็นธรรม เราจะนำหลักฐานเหล่านี้ไปยื่น เพื่อให้ กกต. ได้รับบทเรียนและรับผิดชอบกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ : ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เห็นกันอยู่ว่าบรรดาองค์กรที่เรียกตัวเองว่าเป็นอิสระ พวกศาล ป.ป.ช. กกต. ทั้งหลาย ซึ่งไม่มีอะไรยึดโยงกับประชาชนเลย กระทำการหลายๆ อย่าง ซึ่งขัดกับประชาธิปไตย และก็เห็นว่าในโลกของ Social Media ประชาชนก็ก่นด่าองค์กรเหล่านี้ ชนิดที่ว่าไม่มีการติดเบรกเลย เขาสูญเสียความชอบธรรมไปแล้ว แต่เขายังมีอำนาจอยู่ สิ่งที่เขาทำให้ประชาชนกลัวก็คืออำนาจที่จะลงโทษกลุ่มการเมืองและประชาชน เราจะทนกับภาวะนี้ไปอีกนานแค่ไหน เรารู้ว่าสิ่งที่เขาตัดสินไม่ยุติธรรม ทำลายสิ่งที่เรียกว่า “นิติรัฐ” โดยตรงด้วยซ้ำไป แต่เหมือนกับว่าเราทำได้แค่ก่นด่าทาง Social Media แต่เราทำอะไรไม่ได้

ทำอย่างไรเราถึงจะไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ทำอย่างไรถึงจะมีอารยะขัดขืนที่ได้ผลจริงๆ ที่จะหยุดยั้งอำนาจของเขา ที่จะประกาศว่าคำตัดสินของคุณหรือการกระทำของ กกต. ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือการที่อาจจะมีการยุบพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิ์นักการเมืองที่ประชาชนให้การสนับสนุนเกิดขึ้นอีกในระยะอันใกล้นี้ เราจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วก็ก่นด่า ทั้งๆ ที่เขาก็หัวเราะสบายใจแล้วก็มีอำนาจต่อไปงั้นหรือ

ดิฉันว่ามันมาถึงจุดที่ความโกรธของคนในสังคมฝ่ายนี้สุดจะทนแล้ว ต้องทำอย่างไรที่ความโกรธนี้จะแปรผันเป็นพลังที่ทำได้จริง ซึ่งดิฉันว่าฝ่ายประชาธิปไตยอาจจะต้องคุยประเด็นนี้อย่างจริงจัง ว่าอารยะขัดขืนแบบไหนกันที่จะส่งเสียงของประชาชนได้อย่างแท้จริง

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล : จะมีนักวิชาการอยู่สมัยหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์คณะราษฎร ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่มีฐานมวลชน เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่จะไปล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าทำแบบนี้ผิดพลาดนะ ท่านอาจารย์ก็เคยตอบไว้แล้วว่าสมัยนั้น ทำไม่ได้นะครับที่จะไปชุมนุมสนามหลวงหรือจะเอาคนมาช่วยเปลี่ยนแปลง ในปี 2475 สภาพการเป็นอย่างนั้น แต่ปี 2561 ไม่ใช่แล้วครับ เราจะพบว่าคนมีพลังเป็นประชาธิปไตย มากกว่าปี 2475 อย่างเทียบไม่ได้ และก็ขอให้คนที่มีอำนาจตระหนักถึงสิ่งนี้ อีกประเด็นหนึ่ง ตอนที่มีรัฐธรรมนูญ ผมดีใจมากเลย คิดว่าเมื่อมีศาลรัฐธรรมนูญแล้วจะไม่มีการรัฐประหาร ผมคิดอย่างนี้ แต่ก็เกิดการทำรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ ทหารล้มรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร 

 

 

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ในปี 2557 มีการทำรัฐประหาร ล้มรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ล้มศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็เฉยเป็นใบ้ แล้วศาลรัฐธรรมนูญยังทำงานต่ออีก เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นว่าการรัฐประหารในช่วงหลังมา สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่ง่ายๆ แล้ว ไม่ใช่เอารถถังมาวิ่งเฉยๆ จะต้องใช้ กปปส. จะต้องใช้มวลชน และอีกหลายๆ ปัจจัยอย่างมาก รวมทั้งใช้อำนาจศาล ใช้อำนาจที่เรียกว่าองค์การอิสระ กกต.

เมื่อก่อนผมก่อนทำงานองค์กรกลาง คิดว่าการเลือกตั้งจะต้องอิสระ หากให้กระทรวงมหาดไทยมาดูแล จะไม่ดี โกงได้ สามารถเปลี่ยนหีบ และทำอีกหลายๆ อย่างที่ไม่ดี เราควรจะมีองค์กรที่ตอนนั้นเรียกว่าอำนาจที่ 4 ซึ่งต่อมาได้มีการตั้ง กกต. ขึ้นมา แต่ผลกลับยิ่งหนักกว่าเดิม เป็นเพราะอะไร? เพราะไม่ว่าเราจะมีองค์กรประชาธิปไตย หรือหน่วยงานที่เหมือนกับเป็นประชาธิปไตย แม้กฎหมายจะดีอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าอำนาจเดิมยังอยู่ คืออำนาจที่มีอาวุธ อำนาจที่ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันบิดไปได้ บิดไปเพื่อสนองประโยชน์ต่ออำนาจ หลายองค์กรเราก็จะเห็นที่เป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น Benchmark คนที่สูงสุดเลยซึ่งต้องเคารพมากๆ คือคุณนวมทอง ไพรวัลย์ แต่เราก็ไม่ได้หวังอย่างนั้นนะครับเราไม่สามารถที่จะทำแบบคุณนวมทอง ไพรวัลย์ได้ เราจะต้องรักษาชีวิตของเราไว้แบบแบมกับตะวันครับ เพราะฉะนั้นการรัฐประหารคงจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที คงจะไม่ได้ล้มกระดานทันที เหมือนกับมวย ฝ่ายตรงข้ามก็จะต้องมีจังหวะที่จะโต้กลับ แต่โต้กลับเมื่อใดก็ต้องดูที่สถานการณ์ สิ่งนี้ไม่ได้เป็นภาระผลักให้กับคนรุ่นใหม่นะครับ แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ที่จะช่วยให้หินอิฐก้อนแรกของคณะราษฎรได้เติบโตต่อไป แล้วไม่ให้ถูกล้มกระดานอีกครับ 

 

ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ : การเลือกตั้งที่ตัดสินแพ้ชนะจากเสียงข้างมากเท่านั้น จะนำไปสู่การสร้างดุลยภาพได้อย่างไร และเสียงข้างน้อยจะได้รับการดูแลไหม

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ : ประเด็นเรื่องทำไมเสียงส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงส่วนน้อย เป็นเผด็จการรัฐสภา การเรียกตัวเองว่าเป็นเสียงส่วนน้อย คำว่าเสียงส่วนน้อยหรือคนส่วนน้อยในสังคมไทยถูกใช้แบบผิดเพี้ยนมาตลอด ใช้ให้ตัวเองดูน่าสงสาร จริงๆ คำว่าคนส่วนน้อยหมายถึงคนที่มีอำนาจในการต่อรองในสังคมน้อย เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTQ+ หรือกลุ่มคนพิการซึ่งถูกละเลยโดยผู้มีอำนาจรัฐ ไม่มีนโยบายในการที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขาสามารถเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นได้ แต่ไม่ใช่คนกลุ่มน้อยคือคนกรุงเทพฯ หรือ ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ไม่ยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่ สังคมไทยเอามาใช้แบบผิดเพี้ยน ทำเหมือนว่าตัวเองกำลังถูกรังแกโดยคนส่วนใหญ่

ปัญหาคือคนส่วนน้อยในประเทศนี้ ไปดึงเอาทหาร ไปดึงการรัฐประหารมากลั่นแกล้งมาละเมิดเสียงคนส่วนใหญ่สองครั้งสองคราแล้ว ที่ผ่านมาในสังคมนี้ คนส่วนใหญ่คือฝ่ายที่ต้องประนีประนอมกับคนส่วนน้อยที่มีอำนาจอยู่ตลอดมา เราประนีประนอม เราอดทนกันมากๆ กับการที่เราถูกละเมิดสิทธิ์โดยคนส่วนน้อยที่มีกำลังทหาร มีอาวุธ มีอำนาจที่อยู่ในโครงสร้างทั้งหลาย ที่จะละเมิดสิทธิของประชาชนตลอด ฉะนั้น ควรเลิกเรียกตัวเองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย สิ่งที่คุณต้องทำก็คือยอมรับการตัดสิน การเลือกของคนส่วนใหญ่และเคารพกติกา ขอบคุณค่ะ

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : เสียงส่วนน้อยเห็นด้วยกับอาจารย์พวงทองนะครับ แต่ปัญหาก็คือว่าเสียงส่วนน้อย โดยทฤษฎีต้องมีพื้นที่ให้ได้แสดงความคิดเห็น มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้าความคิดเห็นมีเหตุผล มีข้อเท็จจริง ถูกต้อง ฟังขึ้น เดี๋ยวจะกลับไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้ นี่คือหลักการ แต่ถ้าเสียงส่วนน้อยไม่ได้มีเหตุผลอะไร ถ้าไม่มีเหตุผลก็เปลี่ยนเกมไม่ได้ ลองจินตนาการนะครับสมมติว่าพรรครวมไทยสร้างชาติได้ 25 เสียงพอดีแล้วเป็นฝ่ายค้านนะครับ ให้เขาพูดไปเลย นี่คือการเคารพเสียงส่วนน้อย คือการที่เขามีเสรีภาพเต็มที่ในการนำเสนอว่าเขาอยากเห็นอะไร แต่ถ้าไม่มีเหตุผล ไม่มีข้อเท็จจริงรองรับเขาพูดไปก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ถ้ามันจะนำไปสู่การใช้อำนาจอื่นๆ เข้ามาอย่างที่อาจารย์พวงทองว่า สิ่งนี้ไม่ใช่การเคารพเสียงส่วนน้อยครับ

 

 

รับชมบันทึกการเสวนาย้อนหลัง : PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

 

ที่มา : การอภิปรายใน PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 – 12.35 น. ณ ชั้น 9 สถาบันไทยคดีศึกษา อาคารอเนกประสงค์ 1 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์