ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ทำไมวุฒิสภาต้องเคารพเสียงประชาชน

24
พฤษภาคม
2566

Focus

  • การเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 14 พ.ค. 2566 สะท้อนถึงการตื่นตัวของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ถึง 39 ล้านคน โดยผลคะแนนเลือกตั้งสูงสุดสองอันดับแรกคือ พรรคก้าวไกล ได้จำนวนว่าที่ ส.ส. 152 คน และพรรคเพื่อไทยได้จำนวนว่าที่ ส.ส. 141 คน ซึ่งนำไปสู่การประกาศจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกลในขณะนี้
  • กระนั้นก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้และการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจจะต้องใช้เสียง สว. อย่างน้อย 64 เสียงขึ้นไปสนับสนุนเพื่อให้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 375 เสียง จากที่ประชุมร่วมทั้งสองสภา
  • ในอดีต รัฐธรรมนูญ 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้มี “พฤฒสภา” ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “วุฒิสภา” เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรากฎหมายที่จำเป็นจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ แต่พฤฒสภาสมัยนั้นถูกกำหนดให้เป็นสภาอาวุโสที่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตัวแทนของตนเองมาทำการเลือกตั้ง แสดงถึงการยึดโยงกับประชาชนของสมาชิกพฤฒสภาต่างจากวุฒิสมาชิกปัจจุบันที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะเปิดโอกาสให้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้คืนเกียรติยศให้แก่ระบบรัฐสภาไทยด้วยการเคารพเจตจำนงของประชาชน

 

“ผมเป็นคนเขียนในรัฐธรรมนูญ ปกติ สว. มันไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไหร่ ไม่มีสิทธิไปโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ... ผมเป็นเด็กวัดไตรมิตรฯ เป็นคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนเริ่มต้นคำถามพ่วง และมีผู้โหวตเห็นด้วย 15 ล้านเสียง ปรบมือให้ผมหน่อยครับ”[1]

วันชัย สอนศิริ
สมาชิกวุฒิสภา

แม้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566 จะผ่านไปด้วยความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางการตื่นตัวของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ถึง 39 ล้านคน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากเป็นอันดับ 2 คือ ร้อยละ 72 จากจำนวนการเลือกตั้งทั่วไปทั้งหมด 28 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา

 

เจตจำนงของประชาชนสวนทางโครงสร้างเดิม

รายงานขององค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เช่น We Watch แสดงให้เห็นว่า ประชาชนไทยมีความกระตือรือร้นและตื่นตัวต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งสูง มากกว่านั้นยังมีการปกป้องสิทธิของตนเองในหลากหลายรูปแบบ เช่น การติดตามบัตรลงคะแนนของตนเอง การทักท้วงประกาศปิดหน้าหน่วยเลือกตั้ง การทักท้วงให้มีการนับคะแนนใหม่ในหลายหน่วยเลือกตั้งที่มีจำนวนบัตรเกินหรือบัตรเสีย ไปจนถึงบางหน่วยที่มีประชาชนเฝ้าหีบบัตรและเรียกร้องให้มีการประกาศผลคะแนนหน้าหน่วยเลือกตั้ง อันมาจากความกังวลต่อการทุจริตการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยการเลือกตั้งในปี 2562

ที่สุดแล้ว เมื่อถึงช่วงเวลาหลังการนับคะแนน ผลการเลือกตั้งก็ปรากฏออกมา โดยสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนมากในการปฏิเสธพรรคการเมืองจากกลุ่มรัฐบาลเดิม อาทิ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ฯลฯ โดยคะแนนเลือกตั้งสูงสุด 2 อันดับแรก คือ อันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล ได้จำนวนว่าที่ ส.ส. 152 คน (แบ่งเป็น ส.ส. เขต 113 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 39 คน) อันดับสอง พรรคเพื่อไทย ได้จำนวนว่าที่ ส.ส. 141 คน (แบ่งเป็น ส.ส. เขต 112 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 29 คน)[2] ก่อนที่ในเวลาต่อมา พรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยประกอบไปด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคเพื่อไทรวมพลัง

The Economists[3] วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งของไทยว่าจะกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งอีกหลายประเทศในเอเชีย โดยไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเพียงแห่งเดียวของโลกที่อยู่ใต้อำนาจกองทัพโดยพฤตินัย

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลอยู่ว่าพรรคการเมืองที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนจนสามารถสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ ส.ส. จำนวน 313 คนนี้ อาจจะเผชิญอุปสรรคอีกหลายด่านที่กำลังก่อตัวอยู่ข้างหน้า

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 250 คน ปฏิบัติหน้าที่อยู่ และมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยกำหนดการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากผู้ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตตามที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ จะต้องมาจากที่ประชุมร่วมทั้งสองสภา และมติของรัฐสภาที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยการลงคะแนนอย่างเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

นั่นหมายความว่า จะต้องมีวุฒิสมาชิกเห็นชอบในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยมีการประเมินกันว่าอาจจะต้องใช้เสียง สว. อย่างน้อย 64 เสียงขึ้นไป เพื่อให้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 375 เสียง จากที่ประชุมร่วมทั้งสองสภา

ในแง่นี้ การเลือกตั้งในยุคสมัย “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” จึงยังมิอาจเรียกได้ว่าเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเป็นประชาธิปไตยอย่างเสรีและเปิดกว้างอย่างแท้จริง เพราะหลายองค์กรทางการเมืองยังไม่ได้มาจากการเชื่อมโยงกับประชาชน ในทางตรงกันข้ามมรดกของการรัฐประหารยังคงฉุดรั้งประชาธิปไตยอยู่ อาทิ วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา เป็นต้น

คำถามคือ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ วุฒิสภาควรมีหน้าที่อย่างไรในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อที่จะตอบคำถามนี้เราต้องเริ่มเข้าใจหลักการพื้นฐานของระบบรัฐสภาเสียก่อน

 

การตั้งรัฐบาลภายใต้ระบบรัฐสภา

โดยทั่วไประบบรัฐสภาที่เป็นแม่แบบของโลก เช่น รัฐสภาอังกฤษกำหนดจนเป็นประเพณีอันยาวนานว่า พรรคการเมืองที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจะมีสิทธิในการตั้งรัฐบาล และหากสามารถรวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากที่สุดจะทำหน้าที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ซึ่งภายใต้ระบอบการเมืองสองพรรคใหญ่ (A two-party system) มีไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสม

แต่ในกรณีของไทยซึ่งเป็นระบบการเมืองหลายพรรค การตั้งรัฐบาลแบบผสมเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยกรณียกเว้นเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวคือการเลือกตั้งในปี 2548 ซึ่งพรรคไทยรักไทยสามารถเอาชนะอย่างถล่มทลาย และสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

ถึงกระนั้นก็ไม่เคยมีครั้งใดที่วุฒิสภาจะเข้ามามีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เฉกเช่นที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งวุฒิสมาชิกบางคนอ้างว่าบทบัญญัติเป็นผลมาจากการลงประชามติ แต่ในความเป็นจริงการทำประชามติครั้งนั้น มิได้เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศที่เสรีและเป็นธรรม ดังที่มีการจับกุมคุมขังประชาชนที่ออกมารณรงค์ประชามติ บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้คำสั่งของคณะรัฐประหาร ผนวกด้วยข้อห้ามนับไม่ถ้วนที่ทำให้การรณรงค์ประชามติเป็นไปตามหลักการเสรีและโปร่งใส

และเมื่อรัฐธรรมนูญบังค้บใช้ในเวลาต่อมา นายกรัฐมนตรีที่ได้มาหลังการเลือกตั้งในปี 2562 จึงเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่วุฒิสมาชิกเกือบ 100% ลงคะแนนให้ และแม้จะเป็นเสียงข้างมากของรัฐสภาคือ มาจากการประชุมร่วมกันของส.ส.และส.ว. แต่ก็มิใช่ได้มาจาก ส.ส. เลือกนายกฯ ตามระบบรัฐสภาประชาธิปไตยปกติแต่อย่างใด

 

กลับไปยังหลักกฎหมายตั้งต้นของวุฒิสภา

วุฒิสภาซึ่งปรากฏขึ้นในสังคมไทยครั้งแรกจากรัฐธรรมนูญ 2489 ที่ นายปรีดี พนมยงค์ มีส่วนร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เรียกกันว่า “พฤฒสภา” วัตถุประสงค์ในช่วงเวลาดังกล่าวคือ การสร้างระบบรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยสองสภาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรากฎหมายที่ต้องมีความละเอียดรอบคอบ หลักการนี้สอดรับกับระบบสองสภาที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก

โดยพฤฒสภากำหนดให้เป็นสภาอาวุโสประกอบด้วย สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตัวแทนของตนเองมาทำการเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี (ต่อมากำหนดเป็น 40 ปี) และมีคุณวุฒิหรือความชำนาญในราชการ

กระนั้น รัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และสภาอาวุโสจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้[4]

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมวุฒิสภานอกจากจะต้องมีวัยวุฒิที่มากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังต้องเป็นอิสระจากระบบราชการ และมีความเชื่อมโยงกับประชาชน แม้ว่าจะโดยทางอ้อม นั่นคือภายใต้ระบอบรัฐสภาที่มีอำนาจสูงสุด ผู้แทนของประชาชนไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ สว. จะต้องไปทำหน้าที่ตรากฎหมาย และที่สำคัญมีอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

สิ่งที่น่าเศร้าใจคือ นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา วุฒิสภาไทยได้กลายเป็นที่นั่งข้าราชการเกษียณหรือไม่ก็ถูกใช้เป็นฐานทางอำนาจของรัฐบาลระบอบเผด็จการทหารที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารอีกถึง 11 ครั้ง สลับกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว

ในปัจจุบัน แม้ว่าหลายประเทศ เช่น สวีเดน จะมีการยุบวุฒิสภาจากหลายสาเหตุ เนื่องจากความต้องการในการลดขั้นตอนการตรากฎหมายที่ล่าช้าจากระบบสองสภา แต่ประเทศที่ยังคงระบบสองสภาไว้จวบจนถึงปัจจุบัน ต่างไม่มีประเทศใดที่วุฒิสภามีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และยิ่งในกรณีที่วุฒิสภาไม่ได้มีความเชื่อมโยงใดๆ กับประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยแล้ว การแสดงออกถึงการเคารพเจตจำนงของประชาชนจึงเป็นหน้าที่อันพึงกระทำของวุฒิสภา

 

บทส่งท้าย : อนาคตรัฐบาลประชาธิปไตยกับเกียรติยศของวุฒิสมาชิก

ในความเป็นธรรมสำหรับวุฒิสภาแล้ว เรื่องนี้ใช่ว่าวุฒิสมาชิกไทยหลายท่านในปัจจุบันจะไม่มีความรู้ความเข้าใจ ดังเช่น มีสมาชิกวุฒิสภาไม่ต่ำกว่า 10 ราย เริ่มแสดงตนยอมรับมติประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 โดยประกาศว่าจะลงมติให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ประชาชนเลือกมากว่า 14 ล้านเสียง ทำให้วาระการดำรงตำแหน่งวุฒิสภา 5 ปี ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ในปีสุดท้ายของเหล่าวุฒิสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ดูมีความหมายยิ่งขึ้น

ไม่มีช่วงเวลาใดที่ดีที่สุด ที่จะเปิดโอกาสให้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ได้คืนเกียรติยศให้แก่ระบบรัฐสภาไทย ด้วยการเคารพเจตจำนงของประชาชน มากเท่ากับช่วงเวลานี้

 

บรรณานุกรม

สื่อออนไลน์ภาษาไทย

สื่อออนไลน์ภาษาอังกฤษ

หนังสือภาษาไทย

  • ไพโรจน์ ชัยนาม. รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารในทางการเมืองของประเทศไทย เล่ม 1. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519.

 


[2] จำนวนนี้มาจากการรายงานผลคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 18 พ.ค. 2566 หลังจากที่มีการนับคะแนนเสร็จสิ้นถึงร้อยละ 99

[4] ไพโรจน์ ชัยนาม, รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารในทางการเมืองของประเทศไทย เล่ม 1 (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519), น. 123-124.