เวลา 6 ปีเศษ ที่เหวียนอ๋ายก๊วกใช้ชีวิตอยู่ในสหภาพโซเวียต ถือว่าเป็นช่วงแห่งการรอคอยเพื่อคืนกลับสู่ปิตุภูมิ
การเคลื่อนไหวของท่านในกรุงมอสโกส่วนใหญ่เป็นการศึกษาติดตามสถานการณ์ต่างๆ ของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การศึกษาเพิ่มเติมทฤษฎีการเมืองที่สถาบันเลนิน การสรุปบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต การร่วมศึกษาและให้คำแนะนำแก่สหายชาวเวียดนามที่กำลังศึกษาในโซเวียต ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้เยาว์วัยกว่า อีกทั้งให้กำลังใจและสร้างสามัคคีแก่สหายเหล่านั้น
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การรักษาตัวให้รอดพ้นจากถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โน้มเอียงไปในแนวทางทรอตสกี้ ทั้งๆ ที่ท่านปฏิเสธและไม่ยอมรับกับแนวคิดทรอตสกี้เลยแม้แต่น้อย ทั้งนี้เพราะการกวาดล้างกลุ่มทรอตสกี้ของสตาลินทำให้ผู้ที่ไม่ใช่พวกทรอตสกี้ต้องถูกหางเลขไปจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามสำหรับท่านเองในฐานะที่ทำงานเป็นตัวแทนของโคมินเติร์นทางภาคพื้นตะวันออกมาแล้ว จึงมีผลงานที่รับประกันได้
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าตลอดระยะเวลาที่อยู่ ณ กรุงมอสโก ในช่วงนั้น การเคลื่อนไหวของท่านที่เป็นรูปธรรมคงไม่มีอะไรปรากฏชัด และก็ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าท่านเองก็คงมีความอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย
เมื่อสถานการณ์ในปี ค.ศ. 1938 เอื้ออำนวย ท่านจึงเดินทางจากกรุงมอสโกผ่านมองโกเลียนอก (ประเทศสาธารณรัฐมองโกเลียภายใต้การอุ้มชูของสหภาพโซเวียต) และจีน ทั้งนี้เพราะกองกำลังก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คและกองกำลังกองทัพแดงของประธานเหมาเจ๋อตุงกลับมาร่วมมือกันทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
กองทัพแดงทางภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ได้จัดตั้งขึ้นในชื่อว่า กองทัพที่ 4 ใหม่ ภายใต้การบัญชาการของเย่ห์ถิ่งเละเย่ห์เจี้ยนอิง เส้นทางเข้าสู่เวียดนามตอนเหนือเหวียนอ๋ายก๊วกได้อาศัยกองกำลังแห่งกองทัพที่ 4 ใหม่ เป็นผู้ช่วยเหลือให้ความสะดวกในการนำทาง
ขณะเดินทางในประเทศจีน ท่านต้องแสดงตัวเป็นคนจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้กระทั่งการสนทนากับชาวเวียดนามที่คอยรับอยู่ในจีนก็ไม่สามารถใช้ภาษาเวียดนามสื่อสารกันได้ ด้วยวัยต้น 50 ปี นักอภิวัฒน์เหวียนอ๋ายก๊วกจึงสามารถวางมาดพ่อค้าจีนวัยกลางคน เดินทางไปเยี่ยมญาติทางจีนตอนใต้อย่างไม่น่าสงสัย
การเดินทางครั้งนี้ผ่านฐานที่มั่นเยนอานของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในมณฑลส่านซี ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ผ่านมณฑลกุ้ยหยาง หูหนาน และกวางสี ผ่านเมืองกุ้ยหลินและหนานหนิง นับเป็นการเดินทางที่ทุลักทุเลมากและกินเวลาหลายเดือน แม้การเดินทางครั้งนี้จะได้รับการช่วยเหลือคุ้มกันจากหน่วยกองกำลังคอมมิวนิสต์จีนก็ตาม แต่ยังต้องหลีกเลี่ยงกับกองทัพของกลุ่มก๊กมินตั๋งที่เป็นพันธมิตรอย่างไม่สนิทใจนัก รวมทั้งกองทัพส่วนหน้าของทหารญี่ปุ่นจากมณฑลทางชายฝั่งทะเลตอนใต้ของจีนที่บีบล้อมเข้ามา
สำหรับชายวัย 50 ปีที่เดินทางอย่างยากลำบาก ทั้งการเดินเท้า ขึ้นเขาลงห้วย ล่องเรือ ล่องแพ เพื่อให้ถึงที่หมายปลายทางอย่างตั้งใจ ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไป ด้วยวัยขณะนี้ร่างกายย่อมต้องอ่อนล้าโรยแรง แต่ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นเข้มแข็งและการรอคอยของคนเวียดนามทั้งประเทศในการกลับมาสู่ปิตุภูมิ หรือแม้แต่อุดมการณ์ที่สู้อุตสาหะบากบั่นอดทน ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ยังดินแดนต่างๆ มาค่อนชีวิต เพื่อนำประสบการณ์มากอบกู้ชาติบ้านเมืองของตน ซึ่งไม่รู้ว่าอนาคตจะมีผลออกมาเช่นไร จะประสบความสำเร็จหรือต้องตายหากพ่ายแพ้ แต่ด้วยความใฝ่ฝันเห็นชาติบ้านเมืองของตนเองพ้นจากแอกอาณานิคม จึงทำให้นักอภิวัฒน์เยี่ยงท่านมีกำลังใจฟันฝ่าอุปสรรค เต็มไปด้วยความคิดเบิกบานมองไปเห็นแต่อนาคตงดงามสำหรับลูกหลานชาวเวียดนาม
เมื่อเดินทางลงถึงทางใต้มณฑลกวางสี ใกล้ชายแดนบ้านเกิดเมืองนอนเข้าไปทุกที ท่านได้ชักชวนสหายผู้ร่วมทางเร่งฝีเท้าเข้าไปอีก เพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางให้เร็วขึ้น ทั้งๆ ที่ภูมิประเทศช่วงนั้นมีความยากลำบากที่สุด ต้องขึ้นภูเขาสูงชันที่เป็นรอยต่อของสองประเทศลูกแล้วลูกเล่า แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้คณะเดินทางหมดสิ้นกำลังใจหรือท้อแท้แม้แต่น้อย ยิ่งกลับเป็นแรงบันดาลใจให้เร่งรุดเดินทางไปสู่แผ่นดินถิ่นเกิด พร้อมกับอุดมการณ์แน่วแน่ที่จะพลิกฟื้นผืนแผ่นดินให้รอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก สหายชาวเวียดนามที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วก็คือสหายเวียดนามที่อยู่ในจีน และบางคนก็อยู่ในกองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่โดยเลือดเนื้อและจิตใจเป็นเวียดนามเต็มเปี่ยม
เมืองกาวบั่ง ชายแดนติดกับตอนใต้ของมณฑลกวางสี หน่วยงานจัดตั้งของพรรคฯ สร้างพื้นฐานไว้อย่างมั่นคงขึ้นทุกที ภายหลังที่เขตโซเวียตเหงะติ๋งถูกปราบ รวมทั้งในสมัยที่พรรคแนวร่วมประชาชนในฝรั่งเศสได้รับการเลือกตั้ง และมีนโยบายผ่อนปรนในอินโดจีน ทำให้สหายแกนนำหลายคนได้รับการปล่อยตัว และส่วนหนึ่งก็เข้ามาสร้างขยายงานให้แก่ฐานที่มั่นในเมืองกาวบั่ง ซึ่งพลเมืองในท้องที่นี้เป็นชนชาติหมู่น้อยเผ่านุง หรือบางทีเราเรียกว่าไทนุง เพราะมีภาษาขนบธรรมเนียมประเพณีทำนองเดียวกับเผ่าไททั้งหลายทางใต้ของจีน ลาว เวียดนาม และคนไทในประเทศไทย
คนเผ่านุงสามารถกลมกลืนเข้ากันได้กับชาวเวียดนามส่วนใหญ่ที่มาจากที่ราบ ทั้งนี้เพราะนโยบายการจัดตั้งของพรรคฯ สามารถเข้าถึงจิตใจของพวกเขา ตัวอย่างที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสกดขี่ทำทารุณกรรมต่อชนเผ่าทั้งหลาย ย่อมทำให้เกิดความเคียดแค้น ชิงชัง พวกเขาจึงเต็มใจเข้าร่วมขบวนการกู้เอกราช เพื่อสถาปนาสังคมใหม่ให้ได้รับความเป็นธรรม จะเห็นได้จากในปัจจุบันผู้นำสูงสุดของประเทศเวียดนามท่านหนึ่งมีเชื้อสายชนเผ่านุง
ณ บริเวณชายแดนจีน-เวียดนาม เมื่อเหวียนอ๋ายก๊วกเดินทางมาถึง ผู้ให้การต้อนรับล้วนเป็นสหายหนุ่มซึ่งอ่อนวัยกว่าท่านทั้งนั้น สหายเหล่านี้ต่อมามีบทบาทสำคัญและร่วมในสงครามกอบกู้เอกราชของชาติอาทิ ฟ่ามวันด่ง, เจรื่องจิง, หวอเหงียนย้าป, ฮว่างก๊วกเหวียด เป็นต้น
บัดนี้ เหวียนอ๋ายก๊วกผู้มีบทบาทสำคัญตั้งแต่ปี ค.ศ. 1918 ทั้งในฝรั่งเศส โซเวียต สยาม จีน และฮ่องกง ผู้รวบรวมจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นขวัญกำลังใจในการต่อสู้ของชาวเวียดนาม ท่านก็ได้มาพบกับกลุ่มสหายแกนนำดังกล่าวเพื่อร่วมเดินทางข้ามพรมแดนเข้าสู่ปิตุภูมิพร้อมกัน
นับเป็นเวลาร่วม 30 ปี ที่ท่านจากเมืองไซ่ง่อนทางใต้ของเวียดนามในนาม ‘เหวียนวันบา’ เมื่อปี ค.ศ. 1911 และกลับคืนสู่เวียดนามที่เมืองกาวบั่ง ทางเหนือของประเทศต้นปี ค.ศ. 1941 ระยะทางจากเหนือจรดใต้ห่างกันร่วม 3,000 กิโลเมตร การกลับมาครั้งนี้ในนามเหวียนอ๋ายก๊วกที่ชาวเวียดนามผู้รักชาติรู้จักดี
ขณะผู้ปกครองฝรั่งเศสในอินโดจีน ใช้วิธีเกณฑ์คนเวียดนามเข้าเป็นทหาร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่ยากจนข้นแค้น ทหารเหล่านั้นมิได้เต็มใจนักที่จะฆ่าฟันชาวเวียดนามด้วยกันเอง ยศสูงสุดของพวกเขาก็เป็นได้แค่ทหารลูกแถวชั้นประทวน มีหน้าที่ทำตามคำบัญชาของนายทหารฝรั่งเศสเท่านั้น
จากการเกณฑ์ผู้คนครั้งนี้ แม้ทำให้ฝรั่งเศสได้ทหารจำนวนมิใช่น้อย และก็ไม่สิ้นเปลืองใช้คนฝรั่งเศสมาบาดเจ็บล้มตายในสงคราม แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม เพราะทหารเหล่านี้ได้พบเห็นการปกครองของเจ้าอาณานิคม ที่กระทำการอันทารุณโหดร้ายต่อญาติพี่น้องของตนเอง หรือแม้แต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็มิได้รับการยกเว้นแต่อย่างใด ด้วยความเจ็บแค้นที่สะสมอยู่จึงมิได้มีใจสวามิภักดิ์ คิดเตรียมการร่วมกับประชาชนจับอาวุธลุกขึ้นสู้เสมอมา ดังเช่นกรณี ของเอียนบ๋าย-เหงะติ๋ง แต่เนื่องด้วยความไม่พร้อมในหลายด้านของสถานการณ์ จึงไม่ประสบความสำเร็จ ดังคำพังเพยของไทยว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ แต่ฉันใดด้วยความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากการปกครองอันโหดร้ายของเจ้าอาณานิคม ประชาชนเกือบทั้งประเทศที่มีใจรักชาติย่อมช่วยกันหาทุกหนทาง ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเอกราช-อิสรภาพอย่างเด็ดเดี่ยว
การกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนของเหวียนอ๋ายก๊วกครั้งนี้ ทำให้ชาวเวียดนามทั้งปวงรวมทั้งทหารเวียดนามในกองทัพฝรั่งเศส มีกำลังใจและฮึกเหิมเหมือนหนึ่งได้รับน้ำทิพย์ชโลมใจ แม้ท้อแท้จากความพ่ายแพ้มาแล้วก็พร้อมใจกันจับอาวุธลุกขึ้นสู้อีกครั้ง แต่ท่านและแกนนำได้ยับยั้งไว้ทันท่วงที โดยชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ว่ายังไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งฝรั่งเศสยอมแพ้แก่ เยอรมนี แต่ก็มีรัฐบาลหุ่นซึ่งนายปิแอร์ ลาวาล เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งอยู่ที่เมืองวิชี ภาคกลางของฝรั่งเศส และได้เอาจอมพลเปแตง อดีตวีรบุรุษในสมรภูมิแวร์ดังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 มาเป็นประธานาธิบดี ส่วนนายพลเดอโกล ผู้นำฝรั่งเศสเสรีต่อต้านเยอรมนี ตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
เมื่อเป็นเช่นนี้ทางฝ่ายปกครองฝรั่งเศสในอินโดจีนได้เลือกขึ้นต่อรัฐบาลวิชี เพราะยังเชื่อว่าฝ่ายอักษะเยอรมันจะมีชัยชนะในสงคราม ขณะเดียวกันกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นได้อาศัยประโยชน์บีบฝรั่งเศสในอินโดจีน จนสามารถเปิดทางให้ยาตราทัพเข้าอินโดจีน โดยให้ฝรั่งเศสดูแลการบริหารการปกครองต่อไป กองทหารญี่ปุ่นที่เข้าสู่อินโดจีนก็เพื่อเตรียมเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการเข้ายึดครองไทยและโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฟิลิปปินส์ ชวา มลายู สิงคโปร์ และพม่าต่อไป รวมทั้งบรรจบกับการรุกใหญ่ของทหารญี่ปุ่นทางฝั่งทะเลตอนใต้ของจีน
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ถือว่าเวียดนามได้เกิดศัตรูสองตัว ศัตรูตัวหนึ่งคือฝรั่งเศสผู้อ่อนแรงลงไป แต่ศัตรูตัวใหม่คือญี่ปุ่นที่กำลังมีพลังวังชาแข็งแรง ซึ่งกำลังของฝ่ายเวียดนามเองก็ไม่อยู่ในฐานะได้เปรียบอะไร มีเพียงจิตใจรักชาติ อันเข้มแข็งสูงสุด และด้วยความเคียดแค้นต่อศัตรูเท่านั้น ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ติดตามรอคอยสถานการณ์ จัดตั้งขบวนการตามนโยบายและมติที่ประชุมคณะกรรมการพรรคฯ ต้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งมีมติภายหลังเหวียนอ๋ายก๊วกกลับสู่ฐานที่มั่นปั๊กบ๋อ จังหวัดกาวบั่ง ได้ไม่นาน
สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งจากการประชุมในครั้งนี้คือ มีมติให้จัดตั้งแนวร่วมพันธมิตรเพื่อเอกราชของเวียดนาม หรือรู้จักกันทั่วไปในชื่อ เวียดมินห์ อันเป็นคำย่อจาก “Viet Nam Doc Lap Dong Minh” ซึ่งบางคนยังเข้าใจว่าเวียดมินห์คือ พวก คอมมิวนิสต์เวียดนาม แต่แท้ที่จริงแล้วได้แก่องค์กรแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมในขบวนการนี้มิได้เป็นชาวคอมมิวนิสต์ทั้งหมด เพราะแนวทางนโยบายของพรรคฯ ยึดถือสภาพความเป็นจริงที่เผชิญหน้า คือการกอบกู้เอกราช ปัญหาแนวนโยบายตามทฤษฎีแห่งการต่อสู้ทางชนชั้นก็ดี การปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ก็ดี ไม่ได้มีการเสนอหยิบยกขึ้นมาให้เกิดความสับสน
เวียดมินห์จัดตั้งขึ้นก็เท่ากับเป็นก้าวแรกแห่งปัจจัยของความสำเร็จที่จะติดตามมาในอนาคต
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, กลับสู่ปิตุภูมิ, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 81 - 86
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - “ลุงโฮ”
- ตอนที่ 2 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 3 - เหวียนอ๋ายก๊วก (NGUYEN AI QUOC)
- ตอนที่ 4 - สหภาพโซเวียต
- ตอนที่ 5 - การเคลื่อนไหวในสยาม
- ตอนที่ 6 - ในดินแดงฮ่องกง
- ตอนที่ 7 - เตรียมการ
- ศุขปรีดาเล่าเรื่อง
- โฮจิมินห์
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- เหวียนอ๋ายก๊วก
- สหภาพโซเวียต
- ทรอตสกี้
- โคมินเติร์น
- ก๊กมินตั๋ง
- เจียงไคเช็ค
- เหมาเจ๋อตุง
- สงครามต่อต้านญี่ปุ่น
- เย่ห์ถิ่ง
- เย่ห์เจี้ยนอิง
- พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- ฟ่ามวันด่ง
- เจรื่องจิง
- หวอเหงียนย้าป
- ฮว่างก๊วกเหวียด
- เหวียนวันบา
- ปิแอร์ ลาวาล
- สงครามโลกครั้งที่ 1
- สมรภูมิแวร์ดัง
- สงครามโลกครั้งที่ 2