ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : อภิวัฒน์สิงหาคม 1945 (ตอนที่ 10)

16
เมษายน
2566

นับตั้งแต่โฮจิมินห์กลับสู่ปิตุภูมิและทำการเคลื่อนไหวกู้เอกราชในฐานที่มั่นปั๊กบ๋อ สถานะของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเด่นชัดขึ้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1943 เป็นต้นมา กล่าวคือ ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ทำสงครามเพื่อความเป็นธรรมมีชัยต่อฝ่ายอธรรมของกลุ่มประเทศอักษะตลอดทุกแนวรบ

การยกพลขึ้นบกที่เมืองนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ในกลางปี ค.ศ. 1944 ของอเมริกัน-อังกฤษ นำโดยนายพลไอเซ็นฮาวร์ ก็ได้รุกไล่เยอรมนีให้ถอยร่นจากการยึดครองฝรั่งเศส กองทัพสัมพันธมิตรบุกเข้าไปในดินแดนเยอรมนีทางตะวันตก

ส่วนแนวรบด้านตะวันออกของเยอรมนีนั้น หลังจากกองทัพนาซีถูกบดขยี้ทำลายในศึกสตาลินกราดแล้ว กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตสองกองทัพภาค ภายใต้การบัญชาการของจอมพลซูคอฟ และจอมพลโคเนียฟ ได้เร่งการโจมตีเข้าไปในดินแดนเยอรมนี จนกระทั่งกองทัพแดงของจอมพลซูคอฟได้รับภารกิจเข้าเผด็จศึกกรุงเบอร์ลิน สงครามในยุโรปสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1945

สมรภูมิด้านแปซิฟิก อเมริกามีความเหนือกว่ากองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นทุกด้าน ทำให้ญี่ปุ่นต้องถอยร่นและอ่อนล้าลงทุกขณะ การรุกรานจีนของญี่ปุ่นก็ถึงคราวที่กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถต้านยันไว้ได้ และกลับเป็นฝ่ายรุกทำลายกองทหารญี่ปุ่น ด้วยการรบทั้งในรูปแบบสงครามประจำการและสงครามจรยุทธ์ ทำให้คอมมิวนิสต์จีนมีบทบาทในการสู้รบสูงเด่นกว่าก๊กมินตั๋ง

ด้านเอเชียอาคเนย์ สงครามในพม่าภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอก ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตเตน ก็สามารถขับไล่กองทหารญี่ปุ่นให้ตกที่นั่งลำบาก

คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอย่างดี จึงจัดสรรกำลัง แบ่งภาระหน้าที่ให้แก่สหายแกนนำ ผลปรากฏว่าสหายแต่ละคนบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาด้วยดี สมควรนำมากล่าวไว้คือ

สหายหวอเหงียนย้าป โฮจิมินห์ไว้วางใจและมอบหมายให้รับหน้าที่ทางด้านการทหาร จัดตั้งกองกำลังโฆษณาประกอบอาวุธ ขยายกองกำลังป้องกันตนเอง ทหารบ้าน จัดตั้งและฝึกการรบจรยุทธ์ รวมทั้งการยกระดับกองกำลังจรยุทธ์ขึ้นเป็นกองกำลังประจำการตามสภาพการณ์ที่เหมาะสม ต่อมาคือผู้พิชิตเดียนเบียนฟู และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพประชาชนเวียดนาม ได้รับการยกย่องในฐานะนักการทหารผู้มีชื่อเสียงก้องโลก

สหายเจรื่องจิง ดูแลงานของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนเป็นส่วนใหญ่ในด้านองค์กรจัดตั้งของพรรค สมาชิก การเสนอนโยบายสู่การพิจารณา ไปสู่มติของพรรคและการปฏิบัติต่อไป ต่อมาสหายท่านนี้รับผิดชอบหน้าที่ประธานรัฐสภาแห่งชาติ และเลขาธิการใหญ่ของพรรคฯ ถึง 2 สมัย

สหายฟ่ามวันด่ง ทำหน้าที่ผู้ช่วยและเลขานุการของโฮจิมินห์ในการติดต่อประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มชาวเวียดนามผู้อยู่ในการจัดตั้งของพรรคฯ กลุ่มแนวร่วมต่างๆ มีผลงานที่ได้รับความสำเร็จมาก ต่อมาสหายท่านนี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศหลายสมัย

สหายผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับท่านล้วนมีความสามารถ มีความมั่นคงในอุดมการณ์ ทั้งได้ผ่านการทดสอบด้วยการถูกเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจับกุมคุมขังมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีสหายชาวพรรคฯ อีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับมอบหมายภาระหน้าที่ตามความสันทัด โดยการพิจารณาของกรรมการกลางพรรคฯ และโฮจิมินห์ ซึ่งได้รับความสำเร็จ ขบวนการขยายออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ทางพรรคฯ ไม่เสนอนโยบายที่ประชาชนเข้าใจยาก ทำให้เกิดความสับสน เรื่องของแนวคิดตามลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ต้องนำมาปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์ อันได้แก่การต่อสู้เพื่อเอกราช-อิสรภาพ ให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม ด้วยการดำเนินการเคลื่อนไหวปลุกเร้าประชาชนอย่างเต็มที่ ในด้านนี้ทำให้ขบวนการเวียดมินห์ได้รับการสนับสนุนทั่วประเทศ

ในต้นปี ค.ศ. 1945 เขตปลดปล่อยทางภาคเหนือขยายวงกว้างออกไป ทั้งๆ ที่ขบวนการเวียดมินห์มิได้เน้นการยึดที่มั่นในตัวเมือง แต่ก็สามารถยึดครองไว้ได้โดยทางพฤตินัย

โฮจิมินห์เคลื่อนย้ายศูนย์กลางของพรรคฯ และตัวท่านเองมาจากปั๊กบ๋อมาอยู่ที่หมู่บ้านเตินจร่าว จังหวัดเตียนกวาง คืบหน้าใกล้ฮานอยเข้าไปทุกที

กองทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนที่ใช้ฝรั่งเศสเป็นเครื่องมือด้านการปกครองมาแต่ปี ค.ศ. 1941 เห็นว่าฝรั่งเศสต้องแทงข้างหลังเพราะสถานการณ์สงครามของตนกำลังเสียเปรียบ ญี่ปุ่นจึงเข้ายึดอำนาจเบ็ดเสร็จในอินโดจีน จับกุมคุมขังทหารและเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสทั้งปวง พร้อมทั้งอุปโลกน์เอาจักรพรรดิเบาใด๋ขึ้นมาเป็นหุ่น

ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ทราบดีว่าขบวนการเวียดมินห์มีความเข้มแข็งมาก ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นถึงกับมีหนังสือถึงโฮจิมินห์เพื่อเชิญให้เข้ามาร่วมในสิ่งที่เรียกว่า วงมหาเอเชียบูรพา ดังเช่นญี่ปุ่นได้สนับสนุนขบวนการผู้รักชาติในประเทศอาณานิคมแห่งเอเชียอาคเนย์ แต่ท่านมิได้หลงกล เพราะญี่ปุ่นก็คือฟาสซิสต์ตัวใหม่ที่เข้ามาแทนที่ฝรั่งเศส จึงมิได้ตอบสนองคำเชื้อเชิญชนิดน้ำตาลเคลือบยาพิษของญี่ปุ่น ในทางตรงกันข้าม ขบวนการเวียดมินห์ได้รับคำสั่งจากท่านและศูนย์กลางให้ช่วยเชลยชาวฝรั่งเศสที่ถูกญี่ปุ่นคุมขังให้หลบหนีเข้าไปในแดนจีน เพราะถึงแม้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นถูกชักชวนให้ร่วมกับเวียดมินห์ต่อสู้กับฟาสซิสต์ญี่ปุ่น ก็ขอข้ามพรมแดนเข้าไปในจีนมากกว่าเพราะยังคิดว่าพวกตนจะได้กลับมาปกครองอีก

ภายหลังอเมริกานำระเบิดปรมาณูสองลูกไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ พร้อมทั้งโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในต้นเดือนสิงหาคมและส่งกำลังบุกทะลวงอย่างรวดเร็วเข้าทำลายล้างกองทัพกวานตุงของญี่ปุ่นในแมนจูเรีย (ภาคอีสานของจีน) โซเวียตยังได้ส่งพลร่มเข้ายึดครองเกาะต่างๆ ในหมู่เกาะฮอกไกโด ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 นั่นเอง

คณะกรรมการกลางของพรรคฯ และโฮจิมินห์คาดหมายไว้แล้วว่าญี่ปุ่นต้องยอมแพ้ไม่ช้าก็เร็ว แต่เหตุการณ์นั้นมาถึงเร็วเกินคาด พรรคฯ จึงเรียกประชุมด่วนที่ฐานที่มั่นเตินจร่าว และมีมติให้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองอันเป็นที่รู้จักกันดีว่าการ ‘อภิวัฒน์สิงหาคม 1945’ ทั้งนี้เพราะตระหนักว่าฝ่ายสัมพันธมิตรต้องเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีน จากข้อตกลงที่ปอร์ตสดัมนั้นให้กองทัพจีนก๊กมินตั๋งเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นเหนือเส้นขนานที่ 16 ขึ้นไป ส่วนทางใต้เป็นหน้าที่กองทหารอังกฤษ

ด้วยเหตุนี้ โฮจิมินห์และคณะกรรมการศูนย์กลางพรรคฯ จึงต้องอภิวัฒน์ยึดอำนาจตั้งแต่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา โดยร่วมกับกำลังประชาชนทั่วไป กองกำลังเวียดมินห์เข้ายึดพื้นที่เมืองสำคัญทั่วประเทศ กองกำลังทหารเวียดมินห์หนึ่งกองพลเคลื่อนเข้ายึดฮานอย เมืองใหญ่เช่น ไซ่ง่อน ดานัง เว้ ไฮฟอง ก็ตกอยู่ในความยึดครองของฝ่ายอภิวัฒน์ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมสถาปนา สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ขึ้น มิยอมให้เวียดนามยังคงฐานะอาณานิคมของฝรั่งเศสดังอดีต ซึ่งจะทำให้การต่อสู้เรียกร้องเอกราชต้องประสบความยากลำบากมากขึ้น

 

วันประกาศเอกราชที่จัตุรัสบาดิ่ง 2 กันยายน ค.ศ. 1945
วันประกาศเอกราชที่จัตุรัสบาดิ่ง 2 กันยายน ค.ศ. 1945

 

จากผลสำเร็จในการอภิวัฒน์เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 และการเตรียมงานเพื่อสถาปนาประเทศเป็นเอกราช โฮจิมินห์ต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นพิเศษ ไหนจะสั่งงานเตรียมการ ไหนต้องเดินทางจากเตินจร่าวเข้ามายังฮานอย และเข้าพำนักยังที่พักในเมืองแบบปิดลับ ภายใต้การอารักขาอย่างแน่นหนา

2 กันยายน ค.ศ. 1945 วันแห่งการรอคอยที่ยิ่งใหญ่ก็มาถึง โฮจิมินห์ในเครื่องแต่งกายด้วยฝ้ายสีกากี เสื้อมีกระเป๋า 4 ใบ คอปกใหญ่ เป็นชุดแบบเรียบง่ายที่ท่านมักสวมใส่พบปะแขกผู้มาเยือนในเวลาต่อมา ชาวเวียดนามนับแสนมาชุมนุมกันที่จัตุรัสบาดิ่ง ใจกลางกรุงฮานอย มหาประชาชนส่วนมากต่างไม่เคยเห็นหน้าค่าตาท่านมาก่อน มีเสียงพูดคุยกันว่า “เขาละ – ท่าน คือ เหวียนอ๋ายก๊วก ผู้โด่งดังในการต่อสู้กับฝรั่งเศส ตั้งแต่ 27 ปีมาแล้ว ขนาดฝรั่งเศสในอินโดจีนได้ตัดสินประหาร และเตรียมกิโยตินไว้บั่นคอแล้ว แต่บัดนี้พวกเราปีติยินดีมากที่ท่านจะเป็นประธานาธิบดีของประเทศเรา เราติดตามท่านด้วยความชื่นชมตลอดมา”

โฮจิมินห์ก้าวขึ้นสู่แท่นปราศรัยที่ตั้งบนจัตุรัสบาดิ่งด้วยความสง่างาม ท่านประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการสู่การรับรู้ของโลกว่า...

 

“สิทธิอันเท่าเทียมกันของมนุษย์ที่ถือกำเนิดเกิดมาในโลกไม่อาจที่จะลบล้างได้ นั่นคือ สิทธิในการมีชีวิต มีเสรีภาพ และการแสวงหาความสุข คำกล่าวอันเป็นอมตะนี้ได้ปรากฏอยู่ในคำประกาศเอกราชของอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1776 ในความหมายด้านกว้างว่า มนุษย์ในโลกทุกคนเสมอภาคนับเมื่อเกิด มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะดำเนินชีวิต มีความสุข มีเสรี

ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนในการอภิวัฒน์ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1791 ก็ได้ระบุว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นอิสระและมีสิทธิเท่าเทียมกัน และจักต้องดำรงอิสระและสิทธิแห่งความเท่าเทียมนั้นตลอดไป นี่คือความจริงที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้

กระนั้นก็ตาม จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้ทำลายเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพในทางที่ผิดมามากกว่า 80 ปี ทำการประทุษร้ายปิตุภูมิของเราและกดขี่ประชาชนของเรา ฝรั่งเศสได้ปฏิบัติตัวในทางที่ตรงข้ามต่อคติแห่งมนุษยธรรม และความยุติธรรมตลอดมา

ในทางการเมือง ฝรั่งเศสได้พรากสิทธิเสรีแห่งประชาธิปไตยทุกประการไปจากประชาชนเรา ฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายอันไร้มนุษยธรรม แบ่งเขตการปกครองเวียดนามออกเป็นเหนือ กลาง ใต้ เพื่อทำลายเอกภาพแห่งชาติเรา และขัดขวางประชาชนของเราไม่ให้สามัคคีกัน ฝรั่งเศสได้ล่ามโซ่มติมหาชนของเรา ต่อต้านเรา ปิดหู ปิดตา มิให้ประชาชนของเราได้รู้ความจริง เพื่อทำให้เราอ่อนแอ ฝรั่งเศสได้มอมเมาเราด้วยฝิ่น และแอลกอฮอล์

ในทางเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสปอกลอกกระดูกสันหลังของเรา ทำให้ประชาชนของเรายากจน และทำความพินาศให้แก่แผ่นดินของเรา ฝรั่งเศสปล้นสะดมทุ่งนา แหล่งแร่ ป่าไม้ และทรัพยากรของเรา ฝรั่งเศสผูกขาดการธนาคารและการค้าต่างประเทศ ฝรั่งเศสได้สร้างระบบภาษีอันไม่ยุติธรรมมากมาย เพื่อบั่นทอนประชาชนของเรา โดยเฉพาะชาวนาให้ยากจนถึงที่สุด ฝรั่งเศสขัดขวางไม่ให้ประชาชาติของเรางอกงาม และกดขี่ขูดรีดกรรมกรของเราอย่างไร้คุณธรรม

ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1940 เมื่อฟาสซิสต์ญี่ปุ่นบุกรุกอินโดจีน เพื่อสร้างฐานทัพต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้คุกเข่าลงต่อหน้าญี่ปุ่น และส่งมอบประเทศของเราให้ญี่ปุ่นโดยดุษณีภาพ

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา ประชาชนของเราต้องแบกแอกทั้งฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ความทุกข์และความยากแค้นแสนสาหัสได้เพิ่มทวีขึ้นแก่ประชาชนของเรา ผลการสยบให้ญี่ปุ่นนับจากปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้ พี่น้องร่วมชาติของเราตั้งแต่จังหวัดกว่างตรี ถึงเวียดนามเหนือ ได้อดตายไปมากกว่า 2 ล้านคน ในวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ. 1945 ที่ญี่ปุ่นปลดอาวุธกองทหารฝรั่งเศสนั้นเล่า นักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสได้พากันหนีและยอมจำนนต่อญี่ปุ่น นี่แสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสไม่เพียงแต่ไม่สามารถป้องกันเราได้เท่านั้น แต่ภายใน 5 ปีนั้น เขาได้ส่งมอบประเทศของเราให้แก่ญี่ปุ่นถึงสองครั้งอีกด้วย

ในเวลาต่อมา ก่อนหน้าวันที่ 9 มีนาคม ศกนี้ กองทัพเวียดมินห์ที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วได้เรียกร้องให้ฝรั่งเศสต่อต้านญี่ปุ่น แต่แทนที่นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสจะเห็นด้วยกับข้อเสนอนั้น พวกเขากลับต่อต้านสมาชิกแห่งกองทัพเวียดมินห์หนักมือขึ้น ก่อนจะหนีจากไป ฝรั่งเศสยังได้ประหารพวกเราที่เป็นนักโทษการเมืองที่ถูกขังไว้ในคุกเอียนบ๋ายและกาวบั่งไปเป็นจำนวนมาก

แต่กระนั้นพี่น้องร่วมชาติของเรายังได้แสดงน้ำใจต่อชาวฝรั่งเศสอย่างอดทนและมีมนุษยธรรมตลอดมา แม้ภายหลังการยึดครองของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 กองทัพเวียดมินห์ได้ช่วยชาวฝรั่งเศสจำนวนมากให้ข้ามพรมแดน ช่วยนักโทษให้ออกจากคุกญี่ปุ่น ตลอดจนช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของชาวฝรั่งเศสอีกด้วย

โดยความเป็นจริงแล้ว เราสิ้นสุดการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ. 1940 โดยตกอยู่ในความยึดครองของญี่ปุ่น

ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตร ประชาชนของเราทั่วประเทศได้เรียกร้องอธิปไตยของชาติ และสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้น

ความจริงก็คือ เราได้ต่อสู้ช่วงชิงเอกราชของชาติมาจากญี่ปุ่น ไม่ใช่ฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสหนีไป ญี่ปุ่นยอมจำนน จักรพรรดิเบาใด๋ยอมสละราชสมบัติ ประชาชนของเราจึงทำลายโซ่ตรวนที่ล่ามตรึงเรามาเกือบหนึ่งศตวรรษ เราได้นำเอกราชมาสู่ปิตุภูมิของเรา ขณะเดียวกันประชาชนของเราก็ได้ยกเลิกการปกครองแบบราชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดมาช้านานแล้ว และได้สถาปนาการปกครองระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดอยู่กับประชาชน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราในฐานะรัฐบาลชั่วคราวซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนชาวเวียดนามทั้งปวง จึงขอประกาศล้มล้างสิทธิพิเศษทั้งหมดที่ฝรั่งเศสได้ตราขึ้นใช้บนแผ่นดินของเรา อันไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ

ปวงชนชาวเวียดนามทุกผู้ทุกนาม ต่างมีความสำนึกร่วมกันแล้วว่า พวกเขาได้ต่อสู้เพื่อจบสิ้นความขมขื่นที่บรรดานักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสได้ทำไว้ และบัดนี้เราได้ชัยชนะของชาติกลับคืนมาแล้ว

เราเชื่อว่าประเทศสัมพันธมิตรที่ยอมรับหลักการตัดสินใจด้วยตนเองและหลักความเสมอภาคแห่งชาติ ณ ที่ประชุมแห่งกรุงเตหะราน และซานฟรานซิสโก คงไม่ปฏิเสธที่จะรับรองเอกราชของเวียดนาม

ประชาชนผู้ซึ่งต่อสู้คัดค้านการครอบครองของฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญมากว่า 80 ปี ประชาชนผู้ซึ่งต่อสู้ขัดขวางฟาสซิสต์เคียงบ่าเคียงไหล่กับฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะที่ผ่านมา จะต้องเป็นประชาชนที่มีเอกราช เสรี

ด้วยประการฉะนี้ เราในฐานะของรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม จึงขอประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีเสรี มีเอกราช ซึ่งความจริงก็เป็นสิ่งที่มีอยู่เรียบร้อยแล้ว ประชาชนเวียดนามทั้งปวงมีความมุ่งมั่นทั้งกายและใจที่จะสละชีวิตและทรัพย์สินทั้งหลาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งเอกราชและเสรีภาพของตน”

 

คำประกาศเอกราชที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
คำประกาศเอกราชที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945

 

เมื่อโฮจิมินห์จบการประกาศเอกราช ฝูงชนนับแสนที่ชุมนุมอยู่ ณ จัตุรัสบาดิ่ง ต่างโห่ร้องแสดงความยินดีอย่างกึกก้อง ธงชาติเวียดนามพื้นแดงมีดาวทองอยู่ตรงกลางที่ฝูงชนถือมาโบกไสว พร้อมคำขวัญที่ก้องกระหึ่ม...

 

“สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม จงเจริญ”

“โฮจิมินห์ จงเจริญ”

 

ทั่วโลกต่างรับทราบถึงการกำเนิดเกิดมาของสาธารณรัฐใหม่นี้ ชื่อเสียงเกียรติคุณการเป็นนักต่อสู้เพื่อเอกราชของโฮจิมินห์ได้แพร่กระจายออกทั่วโลก ชาวโลกผู้รักความเป็นธรรมต่างเชื่อมั่นว่าเวียดนามจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงในอนาคต ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานะเช่นใด

 

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, อภิวัฒน์สิงหาคม 1945, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 95 - 104.

บทความที่เกี่ยวข้อง :