เมื่อประเทศฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่เยอรมนีในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าฝรั่งเศสจะมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทนรัฐบาลเก่าเป็น ‘รัฐบาลหุ่น’ เกิดขึ้น เพื่อมาบริหารประเทศแทนชุดเก่า ส่วนฝรั่งเศสในอินโดจีนได้เลือกข้างอยู่กับฝ่ายรัฐบาลหุ่น การปกครองก็อ่อนแอจนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นถือโอกาสนี้เข้ามาตั้งมั่นในอินโดจีน ส่วนการติดตามจับกุมปราบปรามผู้รักชาติก็ไม่เกิดผลอะไรมากนักเมื่อเทียบกับก่อนที่ฝรั่งเศสจะพ่ายแพ้แก่เยอรมนี เพราะเจ้าหน้าที่ปกครองเองคงรู้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าเป็นเช่นไร จากอำนาจที่เคยมีล้นฟ้าบัดนี้กำลังจะหมดไป สันติบาลจึงไม่มีความกระตือรือร้นในการกวาดล้าง ดังนั้น สถานการณ์ในช่วงปี ค.ศ. 1941 จึงเอื้ออำนวยแก่ขบวนการเวียดมินห์ ให้สามารถขยายฐานที่มั่นออกครอบคลุมพื้นที่สำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ
สำหรับโคมินเติร์นนั้น ระยะนี้ความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนก็ค่อยๆ ลดบทบาทลงไปมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากเยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ได้เริ่มเข้าโจมตีสหภาพโซเวียตด้วยยุทธการที่เรียกว่า ‘บาโบรุสเซีย’ (รุสเซียป่าเถื่อน) สงครามปกป้องปิตุภูมิของสหภาพโซเวียตจึงเปิดฉากขึ้น ด้วยกำลังรบของฝ่ายเยอรมนีบุกเข้ามาทั้งสามด้าน คือทางเหนือบุกเข้าล้อมกรุงเลนินกราด แต่ก็ไม่สามารถยึดครองได้ ทางด้านภาคกลางรุกเข้ามาได้ถึงชานกรุงมอสโก แต่ก็ถูกต้านตีกลับไป ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้สหายคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ยังคงอยู่ในกรุงมอสโกบางนายเสียสละชีวิตในการเข้าร่วมต่อสู้ด้วย เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของพี่น้องชาวคอมมิวนิสต์ที่ยึดมั่นในคติธรรมระหว่างประเทศ ส่วนทางด้านใต้นั้นฝ่ายเยอรมนีต้องประสบกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินที่สตาลินกราด อันเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความปราชัยของจอมเผด็จการฮิตเลอร์
แม้ว่าขบวนการของโคมินเติร์นจะลดบทบาทในเวียดนาม แต่ก็ต้องถือว่าเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่เหวียนอ๋ายก๊วกและชาวเวียดนามทั้งประเทศ นับตั้งแต่ท่านได้ยึดหลักแนวความคิดของลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการกอบกู้ชาติ โคมินเติร์นที่เลนินจัดตั้งขึ้นก็เข้ามาสนับสนุนภารกิจเกือบทุกด้านตั้งแต่ต้น ไม่ว่าด้านให้การศึกษาอบรมทางแนวคิดหรือทฤษฎีต่างๆ ให้แก่ท่านและสหายชาวเวียดนามผู้รักชาติเพื่อกลับไปขยายงาน สนับสนุนในด้านวัตถุสิ่งของและเศรษฐกิจที่จำเป็นให้แก่การปฏิบัติงาน ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการเริ่มต้นดำเนินภารกิจไปสู่ความสำเร็จ
แน่นอนว่าบางครั้งอาจมีบ้างที่แนวความคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งนั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะแกนนำผู้บริหารโคมินเติร์นส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม และสิ่งนี้เองเป็นหน้าที่ของท่านต้องรักษาสมดุลของสองฝ่ายไม่ให้เกิดความบาดหมางกัน ซึ่งท่านก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายอย่างไร หรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แม้ตัวท่านเองต้องอดทนและทุกข์ทรมานใจจากสถานการณ์ต่างๆ แค่ไหน เอกราชประชาชาติและอิสรภาพชาวเวียดนามย่อมต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด และบัดนี้ขบวนการเวียดมินห์ก็มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สามารถยืนบนขาของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าโคมินเติร์นได้มีคุณูปการต่อการอภิวัฒน์เวียดนาม สถานะแห่งมิตรภาพของพรรคพี่พรรคน้องยังคงธำรงอยู่ตลอดมา
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสงครามที่เป็นธรรมของฝ่ายสัมพันธมิตร อันประกอบไปด้วย อังกฤษ อเมริกา สหภาพโซเวียต จีน (เจียงไคเช็ค-เหมาเจ๋อตง) ฝรั่งเศสเสรี (นายพลเดอโกล) ที่ได้เข้าต่อสู้เพื่อปกป้องมวลมนุษยชาติ ทำสงครามกับผู้รุกรานที่เรียกว่ากลุ่มอักษะ อันมีเยอรมนี ญี่ปุ่น และอิตาลี
ส่วนการตั้งแนวรบทางจีนใต้ที่มณฑลกวางสีนั้น เมื่อสงครามเริ่มแผ่วงกว้างมายังเอเชีย การตั้งแนวรบในมณฑลกวางสีมีลักษณะสลับฟันปลา กล่าวคือ มีทั้งกองกำลังก๊กมินตั๋งตั้งรับการบุกเข้าตีรุกคืบหน้าของทหารญี่ปุ่น ขณะที่กองกำลังของคอมมิวนิสต์จีนที่ทำการรบแบบจรยุทธ์ บางครั้งก็สมานเข้ากับกองทัพก๊กมินตั๋ง บางครั้งก็แยกเป็นเอกเทศ และมีกองกำลังเวียดมินห์ ที่เข้าร่วมรบจรยุทธ์อยู่กับกองกำลังของคอมมิวนิสต์จีนและกองทัพก๊กมินตั๋ง
เหวียนอ๋ายก๊วกได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างพันธมิตรกับกองทัพก๊กมินตั๋งในการต่อสู้ศัตรูร่วมจากฐานที่มั่นปั๊กบ๋อ ในเขตกาวบั่ง ทำให้ท่านเดินทางข้ามพรมแดนไปมณฑลกวางสีของจีนหลายครั้งด้วยความชำนาญในภูมิประเทศ เพราะเป็นเขตของชนชาติหมู่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะ ‘ชาวนุง’ และ ‘ชาวจ้วง’ ในกวางสีนั้น เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่ใกล้ชิดกันที่สุด ในบางโอกาสท่านและสหายก็มุ่งขึ้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เข้ามณฑลยูนนานไปสู่เมืองคุนหมิง การเดินทางแต่ละครั้งกินเวลาหลายวันเพราะส่วนใหญ่เป็นการเดินเท้า ผู้บัญชาการทหารภาคมณฑลกวางสีตอนใต้ของกองทัพก๊กมินตั๋งเป็นผู้ที่ท่านตัดสินใจเดินทางไปพบ เพื่อเจรจาเป็นพันธมิตรในการต่อสู้กับญี่ปุ่น บุคคลผู้นี้คือ นายพลจางฟะกุ้ย
อย่างมิได้คาดฝันมาก่อน เหวียนอ๋ายก๊วกถูกจับส่งเข้าคุกทันทีเมื่อเดินทางไปถึง เรียกว่าได้ติดคุกอีกเป็นรอบที่สอง ครั้งแรกเป็นคุกอังกฤษในเกาะฮ่องกง และครั้งนี้เป็นคุกก๊กมินตั๋งในมณฑลกวางสี ข้อกล่าวหาที่ท่านได้รับครั้งนี้มีความคลุมเครือเป็นอย่างยิ่ง บ้างก็ว่าเป็นสายลับให้ฝรั่งเศส บ้างก็ว่าเป็นสายลับให้ญี่ปุ่น ว่ากันไปต่างๆ นานา ซึ่งตามที่จริงแล้วข้อหาในยามสงครามเช่นนี้ถ้าถูกจับสามารถยิงเป้าได้ทันที ไม่ต้องสอบสวนให้เสียเวลา จะผิดหรือจะถูก จะเป็นสายลับหรือไม่ได้เป็น แค่สงสัยเท่านั้นตายสถานเดียว
การที่เหวียนอ๋ายก๊วกถูกจับกุมในครั้งนี้น่าจะมาจากเหตุผล 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง คือ เวียดนามมีการก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋งเวียดนาม ภายใต้การสนับสนุนอุ้มชูของพรรคก๊กมินตั๋งจีน จึงมีแกนนำก๊กมินตั๋งเวียดนามที่สนิทชิดชอบกับเจียงไคเช็คให้ร้ายป้ายสี และให้เจียงไคเช็คออกคำสั่งจับกุมท่านไว้ชั้นหนึ่งก่อน
แต่จริงๆ แล้ว ก๊กมินตั๋งเวียดนามก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันทำให้ศักดิ์ศรีของตนลดด้อยลงมาก
ประการที่สอง เจียงไคเช็คทราบดีว่า เวียดมินห์เป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพกองกำลังหนึ่ง ถึงแม้ผู้ร่วมขบวนการยังไม่มากเท่าใดนักก็ตาม จึงต้องจับกุมท่านซึ่งเป็นแกนนำคนสำคัญไว้เพื่อบีบบังคับให้ร่วมมือกับตน กระทั่งมีความมักใหญ่ใฝ่สูงที่จะมุ่งขยายอิทธิพลเข้าไปในเวียดนามเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม อย่างไรก็ตาม เจียงไคเช็ค คงมีความระแวงว่าท่านเคยติดต่อและทำงานให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาแล้ว
เหวียนอ๋ายก๊วกติดคุกอยู่ในจีนอีกเป็นเวลาร่วมปีเศษ ถูกย้ายที่คุมขังไปยังเมืองต่างๆ หลายเมือง เวลาย้ายที่คุมขังต้องเดินเท้าพร้อมด้วยเครื่องพันธนาการขื่อคาครบครัน สภาพที่คุมขังแออัดสกปรก ต้องถูกขังรวมกับอาชญากรคดีอุกฉกรรจ์ต่างๆ ถึงยามฤดูหนาวก็ไม่มีเครื่องนุ่งห่มพอเพียง ทำให้สุขภาพของคนวัย 50 ปีเศษเช่นท่านทรุดโทรมลงมาก
แต่ด้วยภาระหน้าที่ ความมุ่งมั่นต่อการปลดปล่อยชาติให้มีเอกราชที่ยากจะหาใครเปรียบได้เท่าแล้ว ท่านจึงมิได้ท้อแท้แม้แต่น้อยต่อการเผชิญโชคชะตาที่นับว่าโหดร้ายและลำบากลำบนอยู่ตลอดเวลา ทั้งต้องประคับประคองชีวิตและร่างกายอันอ่อนล้าไม่ให้มาตายอยู่ในคุกเสียก่อนที่จะได้เห็นชาติบ้านเมืองพ้นจากภัย ในทางตรงกันข้าม ความยากลำบากกลับก่อเกิดพลังใจที่ต้องอยู่เพื่อกอบกู้ชาติให้จงได้ ซึ่งการมีกำลังใจเข้มแข็งที่จะต่อสู้เสมือนเป็นยาวิเศษรักษาโรคร้ายได้ทุกอย่าง ถ้ามีกำลังใจที่ดีแล้วย่อมต้องนำพาเรี่ยวแรงกำลังวังชาให้กลับมาทันที จนท่านเขียนบทกวีเป็นภาษาจีนบรรยายถึงความรู้สึก ความหวังในอนาคต ท่ามกลางความยากลำบากที่เผชิญอยู่ ดังบทกวีบทหนึ่งที่ว่า
“ลมหนาวจีนกระหน่ำร่างข้า
แต่ดวงใจของข้าร่วมในทุกข์ยากของชาวเวียดนาม
ถูกกุมขังในคุกด้วยข้อหาฉกรรจ์
เป็นท่านคงร่ำไห้
แต่ข้าขอขับขานลำนำเพลง”
การเล่นเอาเถิดเจ้าล่อลากตัวท่านขังคุกถึงปีเศษก็ยังหาข้อยุติไม่ได้สักที นายทหารก๊กมินตั๋งบางนายก็เริ่มมองเห็นความตั้งใจดี ความเด็ดเดี่ยวที่ต้องการร่วมกับสัมพันธมิตรของท่านอันเป็นวัตถุประสงค์เดียวกัน ในที่สุดผู้รับผิดชอบก๊กมินตั๋งได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวท่าน โดยไม่ต้องรอฟังคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด เรียกว่าปล่อยตัวไปเฉยๆ ไร้ข้อหา ทำเสมือนไม่ได้จับตัวมา แต่ก็มีข่าวออกมาอีกระลอกหนึ่งว่าท่านถึงแก่ชีวิตแล้วในคุก จากข่าวนี้ทำให้สหายแกนนำของพรรคฯ ตกใจและเศร้าเสียใจมากอีกครั้งหนึ่ง และได้เตรียมให้ฟ่ามวันดงเป็นประธานจัดพิธีไว้อาลัย แต่ในที่สุดก็ทราบว่าแท้ที่จริงท่านได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ข่าวเหวียนอ๋ายก๊วกถึงแก่ชีวิตสองครั้งสองคราว ถือว่าเป็นการต่ออายุให้กับท่าน เมื่อสหายทราบความจริงว่าท่านได้รับการปล่อยตัว จึงรีบเดินทางไปพบกันทันทีในเมืองจีน จากเหตุการณ์นี้กล่าวได้ว่า คนดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ และนับว่าเป็นการพิสูจน์ความเข้มแข็งของท่านอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น ชื่อ โฮจิมินห์ ได้ปรากฏขึ้นหลังจากท่านพ้นคุกจีนมาแล้วและเป็นชื่อที่ทั่วโลกรู้จักกันดีตราบเท่าสิ้นอายุขัยของท่านคือนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941 - ค.ศ. 1969 รวม 28 ปี
28 ปีที่ชาวโลกรู้จักท่านในนามโฮจิมินห์ และนามปากกาที่เคยใช้ในครั้งเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์อีกกว่า 200 ชื่อ โดยเฉพาะนามปากกา เหวียนอ๋ายก๊วก ที่กล้าท้าทายอำนาจของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1918 และ ‘ลุงจิ๋น’ หรือ ‘ลุงวง’ ในสยาม และ ‘ลินนอฟ’ ในสหภาพโซเวียต เป็นต้น
สุขภาพของโฮจิมินห์ค่อยฟื้นคืนมาด้วยการออกกำลังกาย คือการรำมวยจีน และเล่นกีฬาวอลเลย์บอลที่โปรดปรานร่วมกับสหาย
โฮจิมินห์กับลูกหลานช่วงประมาณ ค.ศ. 1942
โฮจิมินห์กับลูกหลานช่วงประมาณ ค.ศ. 1942
จากการเรียกขานด้วยความนับถือ เรียกพี่เรียกน้องเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันคล้ายสังคมไทย และโฮจิมินห์ในวัยกลางคนเริ่มไว้หนวดเครา อันเป็นสัญลักษณ์หรือบุคลิกชายเวียดนามผู้มีอายุ 50 ปีโดยทั่วไป จึงนับจากนั้นเป็นต้นมาสหายชาวเวียดนามต่างเรียกโฮจิมินห์ว่า ลุงโฮ่ และก็เป็นชื่อที่ลูกหลานเชื้อสายชาวเวียดนามทุกคนใช้เรียกและให้ความเคารพท่านจวบจนทุกวันนี้
ภายหลังออกจากคุกโฮจิมินห์ก็กลับมาฐานที่มั่นปั๊กบ๋อ เดินทางเข้าออกชายแดนเวียดนาม - จีนหลายครั้ง เพราะถือว่าเป็นเขตของฝ่ายสัมพันธมิตรในการสู้รบกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปเมืองคุนหมิงเพื่อประสานงานสู้รบ และได้ติดต่อกับ นายพลเชนโนลด์ นายทหารอากาศอเมริกัน หัวหน้าหน่วย ‘เสือบิน’ ที่เข้ามาช่วยจีนในช่วงสงคราม ภรรยาของนายพลเชนโนลด์ก็เป็นชาวจีน และเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งในวงในของเจียงไคเช็ค ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากพลพรรคเวียดมินห์ได้ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกบริเวณชายแดนเวียดนาม และนำตัวส่งให้นายพลเชนโนลด์ที่คุนหมิง แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือเป็นอันดีของฝ่ายเวียดนาม
แผนกงานที่รับผิดชอบด้านนี้คือ โอเอสเอส หรือองค์การบริการด้านยุทธศาสตร์ที่อเมริกาได้ตั้งขึ้นระหว่างสงคราม เพื่อสนับสนุนภารกิจของฝ่ายสัมพันธมิตร ร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านในเขตยึดครอง ด้วยการสนับสนุนด้านฝึกอบรม ส่งกำลังอาวุธ เพื่อทำลายล้างข้าศึกให้อ่อนกำลัง
ในชั้นต้นที่ทางโอเอสเอสได้ส่งคนมาติดต่อกับโฮจิมินห์ผู้เป็นหัวหน้าขบวนการเวียดมินห์ เจ้าหน้าที่บางคนรู้สึกตะขิดตะขวงใจถึงกับไม่ไว้ใจ เพราะท่านเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นบอลเชวิค เป็นโคมินเติร์น ต่อมาเมื่อเห็นผลงานของเวียดมินห์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลต่อสงคราม จึงสรุปความเห็นว่า แม้ท่านเป็นคอมมิวนิสต์แต่ก็เป็นคอมมิวนิสต์ผู้รักชาติอย่างแท้จริ
โอเอสเอสจึงให้ความช่วยเหลือขบวนการเวียดมินห์ด้วยอาวุธยุทธภัณฑ์ส่วนหนึ่งตามสมควร และฝึกอบรมการใช้อาวุธ การซุ่มโจมตีแบบจรยุทธ์ ทั้งหมดนี้กระทำไปด้วยความระมัดระวังมิให้ฝรั่งเศสคลางแคลงใจ เพราะฝรั่งเศสแสดงออกแล้วว่าจะกลับมาปกครองอินโดจีนอีก ขณะเดียวกัน ก็ต้องมิให้จีนก๊กมินตั๋งเกิดความระแวง เพราะก๊กมินตั๋งต้องการดึงเวียดมินห์มาเป็นพวกตนเพื่อบุกเข้าโจมตีญี่ปุ่นในอินโดจีน
โฮจิมินห์มอบหมายให้หวอเหงียนย้าปเป็นหัวหน้าจัดตั้งกองกำลังโฆษณาติดอาวุธ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1944 ซึ่งเท่ากับก่อตั้งกองทัพประชาชนเวียดนามขึ้น ด้วยกำลังพลเพียง 34 คนที่คัดสรรมาอย่างยอดเยี่ยม พร้อมปืนกลเบาเพียง 1 กระบอก ปืนสั้น 2 กระบอก ปืนเล็กยาว 29 กระบอก แต่เป็นปืนเล็กยาวโบราณถึง 17 กระบอก ในจำนวนพล 34 นายนี้ที่ยังคงมีชีวิตอยู่คือ พลเอกพิเศษหวอเหงียนย้าป ซึ่งจากนักศึกษากฎหมายธรรมศาสตร์และการเมืองของเวียดนาม มาเป็นนักการทหารผู้ยิ่งใหญ่ชื่อก้องโลกใน สมรภูมิเดียนเบียนฟูและการปลดปล่อยเวียดนามใต้ ส่วนกำลังพลที่เสียสละชีวิตเพื่อชาติไปแล้วล้วนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการระดับสูงแห่งกองทัพมาเกือบทุกท่าน
กองกำลังโฆษณาติดอาวุธภายใต้การบัญชาของหวอเหงียนย้าปมีความคล่องตัวสูงและรู้ภูมิประเทศเป็นอย่างดี ใช้ยุทธวิธีเริ่มแรกด้วยการรบแบบจรยุทธ์ตามตำราพิชัยสงครามซุ่นหวู่ซึ่งพัฒนาด้วยความคิดเหมาเจ๋อตง ไปถึงที่ใดก็สามารถสร้างฐานที่มั่นได้และด้วยการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน ประชาชนจึงเข้าร่วมเขตงานก็ขยายกว้างออกไป
หวอเหงียนย้าปได้ให้ข้อสรุปที่ว่า “ทหารและประชาชนประดุจปลากับน้ำ” ปลา คือ ทหาร น้ำ คือ ประชาชน เพราะในยามสงครามทหารต้องการข่าวสารการเคลื่อนไหวจากฝ่ายตรงข้าม ประชาชนชาวบ้านนี่แหละเป็นแหล่งข่าวชั้นดี ส่วนประชาชนในยามสงครามก็ต้องการความปลอดภัย เมื่อถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและกัน พลังมวลชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับฝ่ายเวียดมินห์และพร้อมสนับสนุนงาน นั่นหมายถึงว่าความสำเร็จเกิดขึ้นเกินครึ่งแล้ว
ดังนั้น ด้วยการเริ่มต้นของกองกำลังจำนวนน้อยก็ค่อยๆ เติบใหญ่เป็นกำลังประจำการ คู่ขนานทัพไปกับกองกำลังโฆษณาประกอบอาวุธ และการขยายงานของพลพรรคเวียดมินห์เป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
โฮจิมินห์และเหล่าสหายย่อมเข้าใจดีว่า วันเวลาแห่งการรอคอยใกล้เข้ามาทุกที แต่ต้องไม่ทำอะไรหุนหัน ต้องคอยคำสั่งประสานแผนงานให้รัดกุม และรอบคอบ มิให้เกิดความผิดพลาดเช่นบทเรียนที่ผ่านมา
ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, ก่อนรุ่งอรุณ, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 87 - 94.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - “ลุงโฮ”
- ตอนที่ 2 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 3 - เหวียนอ๋ายก๊วก (NGUYEN AI QUOC)
- ตอนที่ 4 - สหภาพโซเวียต
- ตอนที่ 5 - การเคลื่อนไหวในสยาม
- ตอนที่ 6 - ในดินแดงฮ่องกง
- ตอนที่ 7 - เตรียมการ
- ตอนที่ 8 - กลับสู่ปิตุภูมิ