ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ : รัฐนาวาฝ่ามรสุม (ตอนที่ 11)

22
เมษายน
2566

ภายหลังประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 รัฐบาลเฉพาะกาลได้จัดตั้งขึ้น ถึงแม้คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ประกอบด้วยอดีตผู้ปฏิบัติงานที่เป็นสมาชิกแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนและผู้ร่วมงานใกล้ชิดกับโฮจิมินห์ แต่ยังมีบุคคลจากพรรคการเมืองอื่น อาทิ สมาชิกแห่งพรรคก๊กมินตั๋งเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพรรคก๊กมินตั๋งจีนของเจียงไคเช็ค นอกจากนี้ยังมีบุคคลอื่นที่มิได้อยู่ในขบวนการเวียดมินห์เข้าร่วมรัฐบาลเฉพาะกาลเช่นกัน เพราะท่านยึดมั่นที่จะให้ชาวเวียดนามส่วนใหญ่สามารถรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการเข้ามามีส่วนร่วมก่อร่างสร้างประเทศครั้งนี้

กระนั้นก็ตาม เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามสถาปนาขึ้นมิใช่จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่น ตรงข้ามกลับต้องเผชิญกับอุปสรรคในด้านต่างๆ กล่าวคือ ผู้คนทางเวียดนามภาคเหนือได้ล้มตายนับล้านคน เนื่องจากความอดอยากอันเกิดจากการปล้นสะดม บีบบังคับเอาข้าวของชาวนาไปเลี้ยงพวกฝรั่งเศส และเมื่อญี่ปุ่นยึดอำนาจเบ็ดเสร็จก็กระทำการด้วยวิธีการที่รุนแรงมากขึ้น มีการทำลายระบบชลประทานทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ชาวเวียดนามทางภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดกวางตริขึ้นไป ต้องอพยพข้ามขุนเขาไปทางตะวันตกจำนวนนับแสนคน มุ่งผ่านลาวเข้าสู่เมืองไทยตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1945 - ค.ศ. 1946 และ ค.ศ. 1947

ส่วนทางเวียดนามภาคใต้นั้น กองกำลังเวียดมินห์ได้เข้าไปปลดปล่อยเมืองสำคัญ รวมทั้งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง แต่ต้องตระเตรียมกำลังไว้ป้องกันเขตปลดปล่อย เพราะคาดการณ์ไว้ว่าฝรั่งเศสต้องกลับมา และจะเจาะเข้ามาทางเวียดนามภาคใต้ก่อน งานกวาดล้างมาเฟียอันธพาล รวมทั้งสมุนรับใช้ฝรั่งเศสที่มีอยู่ไม่น้อยทางเวียดนามภาคใต้ ทั้งหมดนี้เป็นภาระหน้าที่ที่ต้องใช้เวลาและความพยายามทั้งสิ้น

โฮจิมินห์และคณะได้ใช้ความตั้งใจอย่างยิ่งยวดในการรักษาสมดุลของประเทศที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในฐานะประเทศเอกราช โดยทราบดีว่าทางฝ่ายสัมพันธมิตรมีข้อตกลงในการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีน ซึ่งดูตามรูปการณ์ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะกองทัพญี่ปุ่นเคารพในโองการจักรพรรดิของเขา เมื่อยอมแพ้ก็ถือว่าแพ้ วางอาวุธ ไม่มีการแข็งข้อต่อสู้อะไรอีก ทุกอย่างดูเป็นเรื่องง่ายตามข้อตกลงของฝ่ายสัมพันธมิตร

โดยทางภาคเหนือของเวียดนามไปจนจรดเส้นขนานที่ 16 ที่ให้กองทัพก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คเป็นผู้รับผิดชอบในการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น ทหารก๊กมินตั๋งจำนวน 200,000 คน ได้เคลื่อนมาจากมณฑลยูนนานและกวางสีทางใต้ของประเทศจีน เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นแล้วทยอยส่งกลับญี่ปุ่น สำหรับแม่ทัพนายกองของเจียงไคเช็ค ส่วนหนึ่งก็เคยผ่านโรงเรียนนายร้อยหวังปูสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น จึงมีความรู้สึกชิงชังต่อระบบอาณานิคมฝรั่งเศสที่เคยสร้างบาปกรรมแก่จีนมาแล้ว แต่นโยบายแฝงของเจียงไคเช็คคือต้องการยึดครองเวียดนามไว้ให้นานเท่านาน เพื่อเอาไว้เป็นแนวหลังในการเปิดศึกสงครามกลางเมืองกับคอมมิวนิสต์จีน

โฮจิมินห์ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์และเข้าใจวิธีการแก้ปัญหานี้ โดยส่วนหนึ่งยินยอมเชื้อเชิญให้ก๊กมินตั๋งเวียดนามภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูของเจียงไคเช็คเข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะขบวนการเวียดมินห์ผ่านการจัดตั้งปักหลักอย่างมั่นคง ในขณะที่ก๊กมินตั๋งเวียดนามไม่มีผลงาน ไม่มีบทบาทในการต่อสู้กอบกู้เอกราช ท่านกับสหายแกนนำได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้ากองทัพก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คอยู่เนิ่นนานไปและไม่มีท่าทีที่จะออกไปง่ายๆ เวียดนามอาจตกอยู่ภายใต้การครอบครองของจีน ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ ฉะนั้น ต้องมีวิธีเจรจากับฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคม หาทางให้เจียงไคเช็คถอนทหารไปก่อน ส่วนการเจรจากับฝรั่งเศสก็ดำเนินต่อไปเพื่อซื้อเวลา มิใช่ยอมสยบเช่นในอดีต

อนึ่ง ในเรื่องการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ทางกองทัพเจียงไคเช็คก็ได้รับมอบหมายให้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทยเช่นเดียวกัน แต่ทางขบวนการเสรีไทยซึ่งร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ภายใต้กองบัญชาการภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ของพลเรือเอก ลอร์ด หลุยส์ ยืนยันให้กองทหารอังกฤษเข้ามาปลดอาวุธแทน ด้วยเหตุผลตามสภาพที่เป็นจริง กองทหารเจียงไคเช็คจึงมิอาจเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่นในไทยได้ ถ้าหากเข้ามาจริงๆ ป่านนี้ประเทศไทยคงสูญสิ้นอะไรต่อมิอะไรไปมากมาย ผลงานของขบวนการเสรีไทยส่วนนี้มีการบันทึกไว้น้อยมาก

ภาคใต้ของเวียดนามนับตั้งแต่เส้นขนานที่ 16 ลงไปจนจรดทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีกองทัพอังกฤษเจ้าอาณานิคมในภูมิภาคนี้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนส่งกำลังบำรุง เพราะฝรั่งเศสยังอ่อนล้าจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การกลับเข้ามาของฝรั่งเศสเป็นเรื่องแน่นอนที่ต้องการยึดเวียดนามและอีก 2 ประเทศในแหลมอินโดจีน คือ เขมร และลาว กลับคืนเป็นอาณานิคมของตนเองตามเดิม แต่ก็มองเห็นแล้วว่ามิใช่เรื่องง่ายดังที่คิดไว้ เพราะต้องเผชิญกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินห์ ที่กำลังทวงสิทธิการเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงพยายามใช้ยุทธวิธีใหม่ในการเจรจาหลอกล่อ ซึ่งโฮจิมินห์ในฐานะประธานประเทศก็ตกลงร่วมเจรจา

การเจรจากับฝรั่งเศสทำให้พวกซ้ายสุดขั้วก็ดี พวกขวาจัดผสมโรงก็ดีกล่าวหาว่าโฮจิมินห์ทรยศขายชาติ ท่านจึงแถลงอย่างหนักแน่นว่า 

 

“ข้าพเจ้าโฮจิมินห์ ได้อุทิศตนต่อสู้เพื่อเอกราชร่วมกับพี่น้องร่วมชาติตลอด ข้าพเจ้ายินดีที่จะยอมตายดีกว่าที่จะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติ”

 

ฝรั่งเศสเสนอให้เวียดนามภาคเหนือ เป็นประเทศอยู่ใน ‘สหภาพฝรั่งเศส’ ส่วนภาคใต้ที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ‘โคแชงชิน’ หรือ ‘โคชินไชน่า’ อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ในชั้นต้นสหายผู้ร่วมงานบางนายของโฮจิมินห์ไม่เห็นด้วย แต่ท่านอธิบายถึงหนทางต่อสู้อันยาวไกล สิ่งใดเป็นหลักการสำคัญก็ต้องยืนหยัดต่อสู้ถึงที่สุด เช่นเรื่อง ‘เอกราช’ ของเวียดนาม จะต้องมีการยืนยันยอมรับจากฝรั่งเศส ในที่สุดสหายของท่านก็เห็นด้วยในแนวทางเข้าสู่การเจรจาตามที่ท่านอธิบาย

ในชั้นต้น นายพลเดอโกล ผู้นำฝรั่งเศส ได้ส่ง เมอร์ซิเออร์เซนเตนีย์ ผู้แทนพิเศษฝรั่งเศสประจำอยู่กับจีนคณะชาติของเจียงไคเช็ค เดินทางจากจีนเข้ามาเวียดนามเพื่อพบปะเจรจาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับโฮจิมินห์ แต่ก็ยังมิได้ถือว่าเป็นทางการแต่อย่างใด เพียงแต่หาลู่ทางให้มีการเปิดเจรจาขึ้นเท่านั้น

ต่อมาเดอโกลได้ส่ง นายพลเลอแคลร์ วีรบุรุษของฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการบัญชาการกองพลยานเกราะที่ 2 ของฝรั่งเศส เข้าปลดปล่อยนครปารีสในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 ร่วมกับกองพลยานเกราะอเมริกาของ นายพลแพตตัน และชาวปารีสสมาชิกขบวนการใต้ดินของ พันเอก รอล ตองกี ชาวพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงกึกก้องในสงครามกลางเมืองสเปน ต่อสู้กับพวกฟาสซิสต์ฟรังโก เข้าร่วมยึดกรุงปารีส

นายพลเลอแคลร์อาจเป็นนักการทหารผู้สามารถ แต่เมื่อเข้ามานั่งโต๊ะเจรจาก็ไม่ทำให้ฝรั่งเศสได้เปรียบแต่ประการใด ทั้งยังมองเห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เวียดนามเสนอชอบด้วยเหตุผล นายพลเลอแคลร์จึงถูกส่งตัวกลับปารีส ต่อมาเครื่องบินตกเสียชีวิต และได้รับการสถาปนาให้เป็นจอมพลแห่งกองทัพฝรั่งเศส

 

โฮจิมินห์อ่านคำปราศรัยที่ศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส ค.ศ. 1946 โดยเน้นเนื้อหาว่า “ประชาชาติเวียดนามจักไม่เป็นทาสผู้ใดอีก”
โฮจิมินห์อ่านคำปราศรัยที่ศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส ค.ศ. 1946 โดยเน้นเนื้อหาว่า “ประชาชาติเวียดนามจักไม่เป็นทาสผู้ใดอีก”

 

รัฐบาลเดอโกล ผู้มีส่วนร่วมในการบริหารสาธารณรัฐที่ 4 เห็นว่าฝรั่งเศสขาดเสถียรภาพ รัฐบาลล้มแล้วล้มอีกเนื่องจากมีพรรคการเมืองทั้งซ้ายและขวาได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่กระนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นกลุ่มเป็นก้อนจำนวนมาก โดย สหายมัวริซ โทเรซ เลขาธิการพรรคฯ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก็พยายามผลักดันให้ฝรั่งเศสรับรองเอกราชเวียดนามและถอนตัวออกไปจากอินโดจีน แต่รัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อยู่ได้ไม่นานต้องล้มไป

สหายมัวริซ โทเรซ สนิทชิดเชื้อกับโฮจิมินห์ เพราะร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสมาด้วยกันในการประชุมที่เมืองตูร์

สตาลิน พี่เอื้อยใหญ่แห่งค่ายสังคมนิยมของสหภาพโซเวียต มีภาระหน้าที่ในการจัดการกับประเทศในยุโรปตะวันออกที่ได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพแดงสหภาพโซเวียต เพื่อให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศเหล่านั้นสามารถขึ้นมาบริหารประเทศด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งก็ตามแต่ มีการแบ่งนครเบอร์ลินออกเป็น 4 ส่วนภายใต้การดูแลของโซเวียต อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส จนกระทั่ง เชอร์ชิลล์ นายกอังกฤษ ได้ขนานนามประเทศในยุโรปตะวันออกว่าเป็นกลุ่มประเทศ ‘หลังม่านเหล็ก’

โซเวียตจึงไม่มีเวลาดูแลปัญหาเวียดนามมากมายอะไร หมกมุ่นแต่จะให้พรรคคอมมิวนิสต์ในฝรั่งเศส พรรคคอมมิวนิสต์ในอิตาลีชนะเลือกตั้ง ได้รับเสียงข้างมากเข้าบริหารประเทศ ฉะนั้น องค์กรโคมินเติร์นจึงสลายตัวไป เกิดองค์กร โคมินฟอร์ม ขึ้นมา ทำหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ การติดต่อระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนของโฮจิมินห์กับโคมินเติร์น และกับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต จึงแทบจะตัดขาดจากกัน นอกจากลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ที่ท่านยังถือเป็นแนวทางหลักของเวียดนาม

จีนก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค ผู้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นทางภาคเหนือ ถึงจะไม่ค่อยถูกเส้นกับฝรั่งเศสแต่ก็ไม่มีความไว้วางใจโฮจิมินห์ เพราะถือเป็นคอมมิวนิสต์และมีประวัติติดต่อสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนค่อนข้างลึกซึ้ง

เมื่อฝรั่งเศสเสร็จภารกิจเจรจาเกลี้ยกล่อมให้จีนก๊กมินตั๋งถอนทหารออกไป โดยสัญญาว่าจะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่กวางเจาวาน แหลมหลีโจวตรงข้ามเกาะไหหลำที่ฝรั่งเศสถือครองอยู่ เจียงไคเช็คตกลงถอนทหารเปิดทางให้ฝรั่งเศส แต่ไม่วายปล้นสะดมเอาทรัพย์สมบัติพืชพันธุ์ธัญญาหารของเวียดนามไปตามความเคยชิน แล้วกลับเข้าไปตั้งมั่นในสองมณฑลทางใต้ตามที่ตั้งเดิม แต่การปกครองบังคับบัญชาของทหารเจียงไคเช็คหามีเอกภาพไม่ มีการแบ่งกลุ่มขุนศึกต่างๆ เช่น ทางยูนนานก็มีขุนศึกลุงยุน ทางกวางสีก็มีขุนศึกไปจุ่งสี ผู้นับถือศาสนาอิสลาม เป็นต้น ทหารเจียงไคเช็คก็เตรียมการเข้าสู่สงครามกลางเมืองเพื่อปราบปรามจีนคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก ดังนั้น กองกำลังเวียดมินห์จึงได้รับคำสั่งให้หลีกเลี่ยงการปะทะกับทหารจีน

จีนคอมมิวนิสต์มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนมานาน และสนิทสนมกันยิ่งขึ้นในสมัยที่นายพลโบโรดินจากโซเวียตเข้ามาช่วย ดร.ซุนยัดเซ็น จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยหวังปูที่กวางเจา เยาวชนเวียดนามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนจำนวนหนึ่งได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยแห่งนี้ และบางคนก็เป็นทหารอยู่ในกองทัพคอมมิวนิสต์จีน ดังได้กล่าวมาแล้ว ลูกศิษย์โฮจิมินห์คนหนึ่ง คือ ฮวงวันฮวาน ในขณะยังเป็นเยาวชนก็สนิทและเป็นตัวเชื่อมระหว่างพรรคฯ ทั้งสอง สรุปได้ว่า คอมมิวนิสต์จีนกับคอมมิวนิสต์อินโดจีนสามารถติดต่อกันได้ตลอดมา ท่ามกลางความสับสนและหวาดระแวงภายใต้ภาวการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

น่าสังเกตว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคก๊กมินตั๋ง ได้เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อยุติปัญหา ประธานเหมาเจ๋อตงตัดสินใจเดินทางโดยเครื่องบินจากฐานที่มั่นเมืองเยนอานไปยังนครจุงกิง เพื่อเจรจายุติศึกสงครามกลางเมืองกับเจียงไคเช็ค แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ สงครามกลางเมืองในประเทศจีนเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ยังผลให้ฝ่ายก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คพ่ายแพ้ ในปลายปี ค.ศ. 1949 ซึ่งเป็นการสร้างเงื่อนไขที่ดีแก่ฝ่ายเวียดนามของโฮจิมินห์

องค์กรโอเอสเอสของอเมริกา ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับโฮจิมินห์และกองกำลังเวียดมินห์ตั้งแต่ปลายสงครามโลก จากการที่ท่านมีคำสั่งให้ขบวนการเวียดมินห์ช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ถูกยิงตกบริเวณชายแดนด้านเหนือ ทำให้นักบินเหล่านั้นสามารถกลับฐานทัพในจีนอย่างปลอดภัย ทั้งเจ้าหน้าที่โอเอสเอสส่วนใหญ่ไม่มีส่วนได้เสียกับฝรั่งเศส และยิ่งกว่านั้นยังไม่เห็นด้วยกับระบบอาณานิคมของฝรั่งเศส

ในขั้นต้น โอเอสเอสสนับสนุนโฮจิมินห์ ถึงแม้ยังตะขิดตะขวงใจอยู่ว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นตัวแทนโคมินเติร์น อเมริกาจึงให้เวียดนามกับฝรั่งเศสตกลงกันในขอบเขตที่ยอมรับกันได้ แต่ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะนโยบายอีกด้านหนึ่งของอเมริกาต้องเอาใจฝรั่งเศส ถือเอาฝรั่งเศสเป็นปราการใหญ่แห่งยุโรปตะวันตก ต้านยันการรุกของฝ่ายคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ซึ่งมีสหภาพโซเวียตสมัยสตาลินกับค่ายสังคมนิยมแห่งยุโรปตะวันออกปักหลักอยู่ด้วยความเข้มแข็ง ดังนั้น แม้เจ้าหน้าที่โอเอสเอสจะเห็นใจโฮจิมินห์เพราะเป็นหนี้บุญคุณกันอยู่ แต่ก็มิอาจกระทำการใดๆ นอกเหนือนโยบายจากทางวอชิงตัน

ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1945 ฝรั่งเศสรีบส่งกำลังเข้ามายึดภาคใต้ของเวียดนาม โดยแบ่งการปกครองอาณานิคมอินโดจีนออกเป็น 5 ส่วน อันได้แก่ แคว้นตังเกี๋ยหรือเวียดนามภาคเหนือ อานามหรือเวียดนามภาคกลาง โคชินไชน่า (โคแชงชีน) หรือเวียดนามภาคใต้ เขมร และลาว

ฝรั่งเศสจึงยึดครองเวียดนามภาคใต้ไว้ได้ แม้ระยะแรกจะถูกต้านจากขบวนการเวียดมินห์ที่เข้ายึดครองจากญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม - กันยายน ค.ศ. 1945 ก็ตาม ในที่สุดขบวนการเวียดมินห์ต้องถอนตัวออกสู่ชนบท

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1946 ภายหลังเวียดนามประกาศเอกราชได้ 6 เดือน ฝรั่งเศสขอให้มีการเปิดการเจรจาขึ้นที่เมืองดาลัด โดยผู้แทนฝรั่งเศสคือ เมอร์ซิเออร์เซนเตนีย์ ผู้เคยเข้าเจรจากับโฮจิมินห์มาแล้ว

เมืองดาลัดตั้งอยู่บนที่ราบสูงของเวียดนามภาคใต้ ระยะห่างจากไซง่อนพอประมาณ ทำให้อดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสประจำไซ่ง่อนใช้เป็นที่พักตากอากาศฤดูร้อน ฝรั่งเศสสร้างโรงเรียนมัธยมประจำชั้นดีสำหรับลูกหลานของตน ของผู้มีฐานะชาวเวียดนาม เขมร และลาว รวมไปถึงลูกหลานคนไทยซึ่งต้องการไปศึกษาต่อฝรั่งเศส เพราะข้อสอบมัธยมปลายเป็นชุดเดียวกับในฝรั่งเศส เมื่อสอบผ่านก็สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยได้เลย เท่าที่ปรากฏคนไทยไปเข้าศึกษาที่เมืองดาลัดภายหลังสงคราม ก็มี ศาสตราจารย์พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นต้น

ถึงแม้การเจรจาที่ดาลัดได้ลงนามกันก็จริงแต่ไม่มีผลบังคับอันเป็นรูปธรรม ยังต้องเปิดการเจรจาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสอีก สิ่งที่ฝรั่งเศสเสนอและต้องการนั้นโดยหลักการใหญ่ตกลงกันไม่ได้ ได้แก่ การยื้อเอาเวียดนามภาคใต้ไว้ภายใต้การปกครอง การให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยอยู่ในสหภาพฝรั่งเศส แล้วยังมีข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสปกครองอยู่เหนือหัว

เรื่องเหล่านี้ตกลงในรายละเอียดยากมาก เพราะสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามเป็นรัฐเอกราช กระนั้นก็ตาม ในการยอมรับข้อตกลงบางประการที่สหายหวอเหงียนย้าปถือว่าเป็นการซื้อเวลานั้น พวกซ้ายจัดแสดงความไม่พอใจออกมา แต่ก็ไม่มีอะไรที่มากไปกว่านั้น แต่มีสิ่งที่เป็นผลพลอยได้ในทางนามธรรมคือ ชื่อเสียงของโฮจิมินห์เป็นที่รู้จักของประชาชนชาวโลกมากขึ้น และต่างก็ให้การสนับสนุนภารกิจกอบกู้เอกราชของท่าน

 

โฮจิมินห์ ปลายฝนต้นหนาว ปี 1947
โฮจิมินห์ ปลายฝนต้นหนาว ปี 1947

 

การยอมเปิดการเจรจาแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายเวียดนามต้องการสันติภาพ เสรีภาพ อันถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ชาวโลกเห็นถึงยุคแย่งชิงดินแดนชาติอื่นได้จบสิ้นลงไปแล้ว แม้ว่าการประชุมที่ดาลัดเสร็จสิ้นไปในระดับหนึ่ง แต่ความยุ่งเหยิงภายในประเทศยังไม่มีทีท่าทีจะสงบลงง่ายๆ

เมื่อกองทัพจีนของเจียงไคเช็คถอนกำลังออกไป พวกก๊กมินตั๋งเวียดนามก็หมดบทบาท เพราะไม่เคยมีผลงานอะไร คนที่เป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาลก็หลบหลีกหนีหาย หรือกระทั่งแปรพักตร์เข้ารับใช้ฝรั่งเศส ด้วยคาดว่าโฮจิมินห์ไม่สามารถต้านทานการกลับมาของเจ้าอาณานิคมได้

จักรพรรดิเบาใด๋ ผู้สละราชสมบัติภายหลังการประกาศเอกราชของสาธารณรัฐฯ และได้เปล่งวาจาว่า “ข้าพเจ้ายินดีเป็นพลเมืองสามัญของชาติที่เป็นเอกราช มากกว่าเป็นจักรพรรดิที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติ” เบาใด๋ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฯ ฝรั่งเศสเตรียมการปัดฝุ่นเอาเบาใด๋เป็นหุ่นอีกเพื่อถ่วงอำนาจโฮจิมินห์ โดยเฉพาะทางแคว้นอานาม มีเมืองเว้อดีตเมืองหลวงในระบอบกษัตริย์ที่อิทธิพลของเบาใด๋ยังหลงเหลืออยู่ รวมทั้งฝรั่งเศสยังสนับสนุนโงดินเดียมและครอบครัวผู้เคยรับใช้ฝรั่งเศสให้เข้ามาอยู่ฝ่ายตน ทั้งที่โงดินเดียมเคยถูกฝ่ายเวียดมินห์จับตัวในฐานะเป็นสมุนฝรั่งเศส แต่โฮจิมินห์ก็มีคำสั่งให้ปล่อย

อังกฤษคู่หูฝรั่งเศสส่งกำลังเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนใหญ่ทหารอังกฤษมิใช่เป็นชาวอังกฤษผิวขาว แองโกลแซกซอน แต่เป็นทหารแขกอินเดียทั้งซิกข์และฮินดูผู้ไม่เคยมีบทบาทในการรบเลย ทหารต่างชาติของอังกฤษที่ใช้ทำการรบพุ่งคือ ทหารกูรข่าจากเนปาล สิ่งที่เป็นอาชญากรรมของอังกฤษก็คือ การส่งเครื่องบินโจมตี ‘สปิตไฟร์’ หนึ่งฝูง เข้าทำการโจมตีแหล่งที่มั่นของเวียดมินห์ทั่วประเทศ รวมทั้งการเข้าตีท่าแขกของกองทัพฝรั่งเศสต่อขบวนการกู้ชาติลาว-เวียดนาม ภายใต้การบัญชาของเสด็จเจ้าสุพานุวง และนายพลสิงกะโป

อังกฤษส่งฝูงบินสปิตไฟร์เข้าร่วมโจมตีขบวนการกู้ชาติอย่างเมามัน ชาวไทยอีกทางฟากฝั่งของแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนมเห็นการโจมตีครั้งนี้ ด้วยการเอาใจช่วยผู้กู้ชาติ เสด็จเจ้าสุพานุวงถูกกระสุนปืนบาดเจ็บสาหัส ได้รับการหามลงเรือท่ามกลางห่ากระสุนเพื่อข้ามมาพำนักรักษาตัวยังฝั่งไทยด้วยความปลอดภัย

สำหรับกองทหารญี่ปุ่นผู้ถูกปลดอาวุธ เมื่ออังกฤษ ฝรั่งเศส มีกำลังไม่เพียงพอก็ได้อาศัยพวกเขายืนยามรักษาการณ์ในบางจุด ทหารญี่ปุ่นส่วนหนึ่งในฐานะที่เป็นชาติเอเชียก็มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่ปะทะกับขบวนการเวียดมินห์หลับหูหลับตาไม่ช่วยอังกฤษ ฝรั่งเศส ถึงกับมีความเป็นไปได้ว่ามีทหารญี่ปุ่นบางนายเข้าร่วมขบวนการเวียดมินห์ แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน นอกจากเหตุผลที่พอเชื่อได้ เช่น กรณีทหารญี่ปุ่นในมลายูเข้าร่วมกับกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์มลายู ทหารญี่ปุ่นในอินโดนีเซียเข้าร่วมขบวนการอินโดนีเซียต่อสู้กับทหารดัตช์ที่พยายามกลับมายึดครอง

สภาพความยุ่งเหยิงคงดำเนินต่อไปและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การปะทะระหว่างกองกำลังเวียดมินห์กับฝรั่งเศสเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงยุติการปะทะกัน และฝรั่งเศสก็ได้เสริมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ

นายทหารฝรั่งเศสนักยุทธศาสตร์ชั้นเยี่ยมที่ส่วนใหญ่เคยพ่ายแพ้กองทัพนาซีของเยอรมนีมาแล้ว แต่เมื่อมาประจำการเวียดนามกลับมีท่าทีหยิ่งยโสดูถูกกองกำลังเวียดมินห์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะเอาชนะได้อย่างง่ายดาย

ข้อสุดท้ายในการประชุมที่ดาลัดตกลงกันว่า ทั้งสองฝ่ายต้องจัดให้มีการประชุมอีกที่พระราชวังแห่งเมืองฟองเตนบโลว ประเทศฝรั่งเศส การประชุมครั้งนี้เรียกชื่อเป็นภาษาละตินอย่างสวยหรูว่า “MODUS VIVENDI” (โมดุส วิวองดี) ซึ่งหมายถึง การประชุมหาข้อตกลงเพื่อนำไปสู่การบังคับปฏิบัติ

พระราชวังฟองเตนบโลวอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นที่ที่จักรพรรดินโปเลียน โบนาปาตร์ ถูกอังกฤษและปรัสเซียบีบบังคับให้สละราชสมบัติภายหลังแพ้ศึกที่วอเตอร์ลู อนึ่ง ในป่าเมืองฟองเตนบโลวยังเป็นที่ตั้งศูนย์การทหารปืนใหญ่ เป็นที่ฝึกอบรมทหารชั้นประทวนเพื่อเลื่อนชั้นขึ้นนายทหารสัญญาบัตร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เคยผ่านโรงเรียนทหารปืนใหญ่แห่งนี้เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี ค.ศ. 1932

โฮจิมินห์ได้ร่วมคณะผู้แทนเวียดนามเดินทางไปฝรั่งเศส แต่ไม่อยู่ในฐานะผู้ร่วมเจรจา เพราะท่านไปในฐานะประมุขรัฐและนายกรัฐมนตรี ถ้าต้องเข้าร่วมเจรจา คู่เจรจาฝรั่งเศสต้องมีศักดิ์ศรีและฐานะเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เป็นพิธีปฏิบัติทางการทูตที่ยอมรับกันทั่วไป

การเดินทางขาไปก็โดยเครื่องบินสองเครื่องยนต์ C47 ของหน่วยบัญชาการขนส่งทางอากาศสหรัฐอเมริกา (เอทีซี) โดยหน่วยโอเอสเอสในเวียดนามจัดการ ถึงแม้เดินทางโดยเครื่องบินแต่ก็ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าเครื่องบินจะแตะพื้นสนามบินเลอบูเช่ต์ที่กรุงปารีส ทั้งนี้เพราะทางฝรั่งเศสบางพวกยังไม่อยากให้โฮจิมินห์และคณะเดินทางมาในขณะพวกตนยังไม่มีความพร้อม

โฮจิมินห์เข้าพักที่โรงแรมโรยัล มองโซ โฮเต็ลชั้นยอดแห่งหนึ่งของกรุงปารีส ท่านใช้เวลาเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในสมัยทำการเคลื่อนไหวในระหว่าง ค.ศ. 1918 หนังสือพิมพ์ในกรุงปารีสลงข่าวของท่าน พร้อมกับกระจายข่าวว่าโฮจิมินห์นั้นก็คือ เหวียนอ๋ายก๊วก นั่นเอง สหายชาวพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสที่ท่านเคยร่วมประชุมที่เมืองตูร์หลายคนได้มาพบปะเยี่ยมเยียนกันอีกครั้งด้วยความยินดี

ในที่สุด การประชุมที่พระราชวังฟองเตนบโลวก็ได้เริ่มขึ้นในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1946 ภายหลังการประชุมที่เมืองดาลัดเป็นเวลาถึง 4 เดือน ขณะเหตุการณ์ในเวียดนามโดยเฉพาะทางภาคใต้ การปะทะทางอาวุธระหว่างกองกำลังเวียดมินห์กับกองทหารฝรั่งเศสดำเนินไปอย่างรุนแรงหลายจุด และการหยุดยิงเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิบัติได้

ธงชาติเวียดนามพื้นแดงตรงกลางปักดาวทองเด่นสง่าในที่ประชุมพร้อมกับธงชาติฝรั่งเศส เป็นสัญลักษณ์ที่ภาคภูมิใจในเอกราชของเวียดนาม แต่เนื้อหาการประชุมมิได้คืบหน้าเลย เพราะฝรั่งเศสต้องการซื้อเอาภาคใต้ของเวียดนามให้อยู่ภายใต้การปกครองของตน

โฮจิมินห์แถลงแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แสดงจุดยืนที่ชาวเวียดนามทั้งปวงมีความมุ่งมั่นต่อสู้ต่อไป

 

“ประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว ประชาชาติเวียดนามเป็นหนึ่งเดียว”

 

เป็นอันว่าการประชุมที่ฟองเตนบโลว แม้มีการลงนามกัน แต่เรียกได้ว่าล้มเหลว เนื่องจากฝรั่งเศสยังต้องการครอบครองอินโดจีนต่อไป คณะผู้แทนเวียดนามเดินทางกลับประเทศ ส่วนโฮจิมินห์ยังคงอยู่ในกรุงปารีสอีกระยะหนึ่ง และได้ใช้โอกาสนี้พบปะให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน ทำให้ชาวโลกรู้จักท่านและเวียดนามมากขึ้น รวมทั้งให้กำลังใจในภารกิจอันเป็นธรรม ส่งผลดีเกินคาดกว่าการประชุม

โฮจิมินห์เดินทางกลับเวียดนามในเดือนกันยายน ค.ศ. 1946 โดยขึ้นเรือประจัญบานฝรั่งเศสจากฐานทัพเรือเมืองตูลองมาทางใต้ฝรั่งเศสฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถึงแม้ท่านได้รับเกียรติในฐานะผู้นำประเทศเอกราช แต่ฝรั่งเศสก็มีแผนการข่มขู่ทางจิตวิทยาให้หวาดกลัวต่ออานุภาพของตน ด้วยการซ้อมยิงปืนซัลโวให้ท่านชมขณะอยู่กลางทะเล เมื่อได้ชมแล้วท่านมีความเห็นอย่างติดตลกว่า “เรือประจัญบานลำใหญ่ของท่านนั้น ไม่สามารถแล่นเข้าไปในแม่น้ำของประเทศข้าพเจ้าได้หรอก”

ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1946 โฮจิมินห์เดินทางกลับถึงเมืองท่าไฮฟองทางภาคเหนือของเวียดนาม และได้รับการต้อนรับจากชาวเวียดนามอย่างล้นหลาม ฝรั่งเศสให้เรือปืนของตนยิงสลุต 21 นัดต้อนรับ ในขณะทึกทักเอาว่าอินโดจีนยังเป็นของฝรั่งเศส

ฟ่ามวันด่งหัวหน้าคณะผู้แทนที่ไปเจรจากับฝรั่งเศสได้กลับมาถึงเวียดนามก่อนหน้านี้ประมาณสองสัปดาห์ ได้รายงานสถานการณ์ในประเทศที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งให้ท่านทราบ เพราะฝรั่งเศสได้ลำเลียงทหารเข้ามาในเวียดนามและมีทีท่าก้าวร้าวรุกรานมากขึ้น ความพยายามให้มีการหยุดยิงจึงไม่เกิดผล

 

บนเส้นทางสู่ยุทธการ ปี 1950
บนเส้นทางสู่ยุทธการ ปี 1950

 

โฮจิมินห์และแกนนำพรรคฯ ต่างเห็นแล้วว่า ฝรั่งเศสต้องเปิดฉากการรุกใหญ่กับกองกำลังเวียดมินห์อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น จึงมีการประเมินกำลังทั้งฝ่ายเวียดมินห์และฝรั่งเศส เพื่อวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีว่าจะต่อสู้กับฝรั่งเศสอย่างไร ในปลายปี ค.ศ. 1946 นั้นเอง ฝรั่งเศสก็เปิดฉากสงครามกับเวียดนามด้วยอาวุธานุภาพที่เหนือกว่ามุ่งหวังโค่นล้มสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม ไม่คำนึงถึงข้อตกลงใดๆ ที่ได้ทำไว้

กองกำลังเวียดมินห์ที่ได้จัดตั้งส่วนหลักขึ้นเป็นกองทัพประชาชนเวียดนาม หน่วยจรยุทธ์ และทหารบ้าน ได้ร่วมมือร่วมใจต่อต้านฝรั่งเศส และสามารถต้านยันการรุกตามเมืองต่างๆ เช่น ฮานอย ไฮฟอง ได้หลายครั้งหลายหน

เมื่อเหตุการณ์สู้รบบีบตัวเข้ามา โฮจิมินห์ได้ปรึกษากับคณะกรรมการของพรรคฯ โดยเฉพาะหวอเหงียนย้าป แม่ทัพทหาร สรุปความเห็นว่าการเผชิญหน้าทำสงครามไม่เกิดผลดี จึงมีมติทำสงครามยืดเยื้อ ถอนกำลังสู่ชนบททางภาคเหนือที่เป็นฐานที่มั่นเดิม ส่วนทางเวียดนามภาคกลางและภาคใต้นั้นก็ให้ถอนจากตัวเมืองกลับฐานที่มั่นในชนบท ทำสงครามจรยุทธ์ต่อไป

นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่โฮจิมินห์และชาวเวียดนามผู้รักชาติ ต้องตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากอย่างยิ่ง อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ก็ขาดแคลนอย่างหนัก ผิดกับกองทัพฝรั่งเศสที่เพียบพร้อมทุกอย่าง แต่ด้วยกำลังใจของชาวเวียดนามนั้นมีอยู่สูงสุดในการเข้าทำสงครามที่เป็นธรรม ต่างจากฝรั่งเศสที่ทำสงครามอธรรม เมื่อเผชิญหน้าการสู้รบทุกรูปแบบที่หฤโหดก็ถอดใจ

โฮจิมินห์เปรียบเปรยให้นักข่าวอเมริกันคนหนึ่งฟังว่า เวียดนามเป็นเสมือนเสือในป่า และฝรั่งเศสเป็นช้าง เมื่อช้างเหนื่อยหน่ายเสือก็จะเข้ากัดกินช้างในเวลาค่ำคืน ขณะที่นักการทหารฝรั่งเศสปรามาสว่า เพียงไม่กี่อาทิตย์ต้องทำลายเวียดนามได้ เหตุการณ์ต่อไปจะพิสูจน์ว่าความถูกต้องอยู่ที่ใด

ที่มา : ศุขปรีดา พนมยงค์, รัฐนาวาฝ่ามรสุม, ใน, โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 105 - 118.

บทความที่เกี่ยวข้อง :