ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

ลมใต้ปีกของคุณป้าวาณี

31
ตุลาคม
2566

Focus

  • บ้านศรีบูรพา ในซอยพระนาง หรือซอยราชวิถี สมัยที่คุณวาณี สายประดิษย์ ยังมีชีวิตอยู่ เป็นบ้านแห่งความรักและความอบอุ่นที่ผู้เป็นเจ้าของบ้านให้แก่ทุกคน รวมทั้งลมใต้ปีกของเธอ ผู้เป็นแม่บ้านและผู้ช่วยดูแลผู้สูงอายุในบ้าน
  • คุณวาณีเป็นผู้ที่นึกถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ชอบบ่นว่าใคร และแม้ว่าคุณวาณีจะเจ็บป่วย ผ่านการผ่าตัดใหญ่มาหลายครั้ง แต่ก็อดทน ต่อสู้กับการเจ็บป่วย อย่างเข้มแข็ง
  • หลังมรณกรรมของคุณชนิด (จูเลียต) สายประดิษฐ์ (แม่สามี) และคุณสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ (สามี) คุณวาณีในฐานะลูกสะใภ้ของศรีบูรพาเป็นผู้จัดเก็บและรวบรวมเอกสารต้นฉบับงานของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ อย่างเป็นระบบ รวมถึงการจัดนิทรรศการศรีบูรพา

 

ณ บ้านศรีบูรพา ในซอยพระนาง หรือซอยราชวิถี 4 ในช่วงสามทศวรรษ ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2531-2561) นอกจากสมาชิกในครอบครัวสายประดิษฐ์ 3 ชีวิตคือ คุณชนิด คุณสุรพันธ์ และคุณวาณี ลูกสะใภ้ ที่เดินทางกลับคืนสู่แผ่นดินเกิดมาอาศัยอยู่ที่บ้านศรีบูรพา และญาติมิตรแขกเหรื่อที่แวะเวียนมาหาแล้ว ลมหายใจของบ้านศรีบูรพายังประกอบไปด้วยคนอีกหลายคน เป็นลมใต้ปีกพยุงให้บ้านหลังนี้กลับมีชีวิต

ป้าแก้ว สุคนธ์ น้อยเงิน ต้นตำรับรสชาติอาหารบ้านศรีบูรพา เป็นคนเชียงใหม่ ช่วยดูแลบ้านศรีบูรพาระหว่างปี 2531-2546 หลังจากคุณสุรพันธ์และคุณวาณีเดินทางกลับจากฝรั่งเศสมาอยู่ที่บ้านศรีบูรพาในปี 2531 และคุณชนิดเดินทางกลับในปีถัดมา ป้าแก้วเป็นคนทำกับข้าวและช่วยดูแลบ้านมานับแต่นั้น

 

คุณป้าวาณี พนมยงค์ กับ ป้าแก้ว สุคนธ์ น้อย
คุณป้าวาณี พนมยงค์ กับ ป้าแก้ว สุคนธ์ น้อย

 

ป้าแก้วหวนรำลึกด้วยรอยยิ้มว่าเวลาคุณป้าวาณีจะวานให้ทำงาน จะมี คำว่า “จ๊ะ” ด้วยเสมอ และแม้ป้าแก้วต้องลากลับไปดูแม่ที่ป่วยเมื่อปี 2546 คุณป้าก็ไม่ได้รั้งไว้และบอกให้เธอกลับไปทำหน้าที่ลูกกตัญญูเถิด เมื่อออกจากงานที่บ้านศรีบูรพาก็ยังคงติดต่อกันเสมอมา ครั้นสามีป้าแก้วไม่สบาย คุณป้าก็โอนเงินค่ารักษาพยาบาลไปช่วย เมื่อคุณป้าไปเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2555 ก็ยังโทรศัพท์มาหาบอกว่า “แก้วฉันมาเชียงใหม่ มาหาฉันหน่อยนะ ฉันคิดถึง อยากคุยด้วย

ป้าแก้วบอกว่า อาหารที่คุณป้าวาณีชอบทานคือ สตูว์ผัก ซุปผัก ผลไม้ ชอบมากกินทุกอย่าง เมนูสำคัญคือ “หมี่กะทิ” ซึ่งป้าแก้วได้ถ่ายทอดเคล็ดวิชานี้ให้แก่ พี่มวล ประมวล ศรีลาลัย

พี่มวล ประมวล ศรีลาลัย และพี่เถียร เสถียร พามา พี่มวล คนจังหวัดอุทัยธานี เริ่มเข้ามาทำงานที่บ้านศรีบูรพาแทนป้าแก้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2546 กระทั่งปัจจุบันพี่มวลทำงานกับคุณป้าวาณีรวม 15 ปี อีกคนคือพี่เถียร ชาวอุตรดิตถ์ เริ่มเข้ามาทำงานที่บ้านศรีบูรพาปี 2548 ในตำแหน่งพี่เลี้ยงของคุณยายชนิด ซึ่งขณะนั้นชราภาพ หลังจากคุณชนิดเสียชีวิต พี่เถียรก็ช่วยดูแลพยาบาลทั้งคุณลุงสุรพันธ์และคุณวาณีเป็นอย่างดีกระทั่งทั้งคู่เสียชีวิต รวมเวลาทำงานร่วมกับคุณป้าวาณี 13 ปี

 

คุณป้าวาณี พนมยงค์ กับ พี่เถียร เสถียร พามา และพี่มวล ประมวล ศรีลาลัย
คุณป้าวาณี พนมยงค์ กับ พี่เถียร เสถียร พามา และพี่มวล ประมวล ศรีลาลัย

 

พี่มวลเล่าว่าคุณป้า “เป็นคนเงียบๆ เรียบๆ ง่ายๆ มีหัวร่อ มียิ้ม แต่คุณป้าไม่ใช่คนพูดเล่น เป็นคนใจดี พูดจาไพเราะ” ขณะที่พี่เถียรจดจำว่าคุณป้าเป็นคนพูดเสียงเบา เหตุเพราะเมื่อ พ.ศ. 2545 ได้ผ่าตัดมะเร็งต่อมไทรอยด์และส่วนหนึ่งของกล่องเสียง คุณป้าเป็นคนละเอียด มีระเบียบ ชอบจดบันทึกทุกอย่าง เวลาว่างจะดูข่าวจากโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และอ่านหนังสือบ้าง

พี่เถียรบอกว่าคุณป้าวาณีไม่จู้จี้จุกจิกกับลูกน้อง อะไรที่ทำเองได้ก็ทำเองหมด ไม่ชอบใช้คนอื่น และยังนึกถึงคนอื่นเสมอ เช่น เวลาพี่เถียรเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด คุณป้าจะฝากเงินไปให้พ่อกับแม่ของพี่เถียรคนละ 1,000 บาททุกครั้ง เช่นเดียวกับพี่มวลที่กล่าวว่า “คุณป้าไม่เหมือนนายจ้างคนอื่น เพราะห่วงใยครอบครัวเรา รวมทั้งพ่อแม่เรา เป็นอะไรช่วยเหลือทุกอย่าง คุณป้าจะคอยถามว่าพ่อแม่หนูเป็นอย่างไร พี่น้องเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อถามว่าอยากบอกอะไรกับคุณป้าเป็นครั้งสุดท้าย พี่เถียรบอกว่า “อยากบอกว่ารักคุณป้า แล้วก็คิดถึงคุณป้า เพราะคุณป้าเป็นคนดีที่สุด รักเราเหมือนลูกหลาน

ในด้านความอดทนต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ พี่เถียรเล่าว่าคุณป้าวาณีผ่านการผ่าตัดใหญ่มานับสิบครั้ง กระทั่งคุณหมอประจำตัวแนะนำให้คุณป้าเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาครั้งต่างๆ เพื่อเป็นวิทยาทาน คุณป้าเป็นคนอดทน ยิ่งในช่วงสุดท้ายที่ต้องเผชิญอาการปวดรุนแรงก็ยังไม่ค่อยรับประทานยาแก้ปวด ต้องปวดจนทนไม่ไหวจริงๆ จึงจะขอยามาบรรเทา พี่มวลเล่าเสริมว่า ในช่วงหลังมานี้นาฬิกาชีวิตของคุณป้าจะกลับจากกลางวันเป็นกลางคืน กลางวันนอนหลับ กลางคืนตื่น และเมื่อคุณป้าตื่นกลางดึกก็ชอบเคาะหรือเกาข้างเตียง เพื่อปลุกพี่ทั้งสองคน เมื่อพี่ทั้งสองคนลุกไปหา คุณป้าก็จะเอามือลูบหน้าลูบตา และช่วงที่คุณป้าวาณีเข้าโรงพยาบาลในช่วงท้ายของชีวิต คุณป้าชอบเล่นถอดปลอกหมอนใบเล็กๆ ของโรงพยาบาลเอามาผูกไว้กับราวเตียงผู้ป่วย ต่อมาคุณป้าต้องเจาะคอ ทำให้พูดไม่ได้อีกเลย ต้องสื่อสารด้วยการเขียนข้อความแทน วันหนึ่ง คุณป้าได้เขียนข้อความสั้นๆ ส่งให้พี่มวลกับพี่เถียรว่า “มวลกับเถียรเป็นที่รักของป้า

หลังจากคุณชนิดและคุณสุรพันธ์เสียชีวิต คุณวาณีในฐานะลูกสะใภ้ของศรีบูรพา รับไม้ต่อทำหน้าที่จัดเก็บรวบรวมเอกสารต้นฉบับของคุณกุหลาบอย่างเป็นระบบ จัดนิทรรศการศรีบูรพา โดยมีคุณเกศรา แซ่แต้ เป็นผู้ช่วย ต่อมามีพาขวัญ กาญจนาคม มาช่วยอีกคน

ต่อมาพาขวัญเดินทางไปอยู่ออสเตรเลีย เมื่อทราบว่าคุณวาณีเสียชีวิต ได้เขียนคำไว้อาลัยส่งมาตอนหนึ่งว่า

นับตั้งแต่วันแรกที่ได้พบคุณป้าราว 7 ปีก่อน ขวัญยังประทับใจทุกความทรงจำ บทสนทนาระหว่างมื้อเที่ยงและแอปเปิลเชื่อมปรุงโดยพี่มวลพี่เถียร ชีวิตวัยเด็กในต่างแดนและเกร็ดประวัติต่างๆ ของครอบครัวที่ขวัญมักถามให้คุณป้าเล่า วีรกรรมเจ้าสีนิล เรื่องดอกพวงครามและนกกะปูดที่คุณป้าชอบ ขวัญฟังไม่เคยรู้เบื่อเลย คุณป้าในวัย 70 กว่ามีความจำในเรื่องต่างๆ ได้ดีมากแม้ในรายละเอียด ทั้งใช้ภาษาจีนและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว คุณป้านึกถึงคนอื่นเสมอแม้ตนเองจะมีปัญหาสุขภาพ แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่ขวัญได้ยิน คำบ่นจากคุณป้า

หลับให้สบายนะคะ
ขอบคุณคุณป้าสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง
ขอบคุณ “ศรีบูรพา” ที่ทำให้เราได้พบกัน

 

พาขวัญ กาญจนาคม (กลาง) และคุณป้าวาณี เดือนมีนาคม 2557
พาขวัญ กาญจนาคม (กลาง) และคุณป้าวาณี
เดือนมีนาคม 2557

 

ธวัชชัย ศรีคีรีวงศ์กับภรรยา
ธวัชชัย ศรีคีรีวงศ์กับภรรยา

 

หมายเหตุท้ายเรื่อง โดยดุษฎี พนมยงค์

ยังมี ธวัชชัย ศรีคีรีวงศ์ (นามสกุลที่วาณีตั้งให้) หนุ่มน้อยชาวม้งจากจังหวัดน่านที่มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ซึ่งหารายได้พิเศษด้วยการทำสวนทุกวันอาทิตย์ที่บ้านศรีบูรพา ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นเวลาสิบกว่าปี ธวัชชัย บอกว่า “คุณลุงอิ๊ดและคุณป้าวาณีมีเมตตาต่อผมมาก นอกจากจะจุนเจือค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนแล้ว ยังพูดคุยให้คติในการใช้ชีวิต อบรมสั่งสอนให้เป็นคนดี และเป็นกำลังใจให้ผมตลอดมา เมื่อผมเรียนจบก็หางานให้ทำ ผมจึงนำเงินจำนวนหนึ่งจากเงินเดือนเดือนแรกของผมมามอบให้คุณลุงคุณป้าเพื่อตอบแทนพระคุณท่าน

เมื่อทราบว่าคุณป้าอาการทรุดหนัก ผมรีบบึ่งรถมาจากต่างจังหวัด และได้อยู่กับท่านจนวาระสุดท้าย

ผมรักคุณป้าเหมือนแม่แท้ๆ ของผมครับ!

 

หมายเหตุผู้เขียน

บทความชิ้นนี้รวบรวมขึ้นจากมุมมองของผู้เขียนที่อาจมีทัศนวิสัยอันจำกัดเนื่องจากเพิ่งเข้าไปรับช่วงงานต่อจาก ‘พาขวัญ’ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสได้ช่วยงานคุณป้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่คุณป้าเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เสมอ ขอขอบคุณพี่มด นิชานันท์ นันทศิริศรณ์เป็นพิเศษ ที่สละเวลามาช่วยงานที่บ้านศรีบูรพาด้วยกัน แน่นอนว่าไม่เฉพาะบุคคลที่ได้รับการบันทึกไว้ที่เป็นลมใต้ปีกของคุณป้าวาณี แต่ข้าพเจ้าขอถือบุคคลเหล่านี้เป็นตัวแทนของผู้ที่ปรารถนาดีต่อคุณป้าทุกคนแม้มิได้เอ่ยนาม

รวบรวมและเรียบเรียงไว้ ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงคุณงามความดีของ คุณป้าวาณี ... #จนกว่าเราจะพบกันอีก

 

ที่มา : กนกวรรณ เปี่ยมสุวรรณศิริ, “ลมใต้ปีกของคุณป้าวาณี,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น.185-188.

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :