ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

รำลึกถึงวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ ผ่านจดหมาย การทำงาน และเอกสารของ ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

16
กรกฎาคม
2565
[จากซ้าย] วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, พูนศุข และปรีดี พนมยงค์
[จากซ้าย] วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, พูนศุข และปรีดี พนมยงค์

 

ชีวประวัติย่อของวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์

 

ปรีดี พนมยงค์ กับวาณี พนมยงค์ ขณะอายุ 1 เดือน
ปรีดี พนมยงค์ กับวาณี พนมยงค์ ขณะอายุ 1 เดือน

 

[คนแรกนับจากซ้ายของแถวที่นั่ง] ภาพของวาณี พนมยงค์ และพี่น้อง
[คนแรกนับจากซ้ายของแถวที่นั่ง] ภาพของวาณี พนมยงค์ และพี่น้อง

 

วาณี พนมยงค์ เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของครอบครัวปรีดี-พูนศุข เกิดวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ปีที่ญี่ปุ่นบุกไทย ช่วงดังกล่าว หลวงประดิษฐ์มนูธรรม บิดากำลังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ราว 10 ปีให้หลัง ครอบครัวปรีดี-พูนศุข กลับต้องมีชีวิตผกผันลี้ภัยไปยังจีน ทำให้วาณีและพี่น้องบางคนต้องย้ายตามบิดากับมารดาไปยังจีนใน พ.ศ. 2496 จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมที่ปักกิ่งและกวางโจว แล้วสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ภาษาจีน) จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง

 

วาณี พนมยงค์ ช่วยชาวนาเกี่ยวข้าวในจีน
วาณี พนมยงค์ ช่วยชาวนาเกี่ยวข้าวในจีน

 

วาณี พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ภาษาจีน) จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง
วาณี พนมยงค์ สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ภาษาจีน)
จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง

 

เมื่อ พ.ศ. 2513 ปรีดีได้ย้ายไปยังปารีส วาณีก็ตามไปอยู่ ณ บ้านอองโตนี ด้วย และทำหน้าที่เป็นเลขาส่วนตัวของบิดาสลับตามความถนัดกับพี่น้องคนอื่นๆ ส่วนอาชีพหลักของวาณีที่ฝรั่งเศส คือ เป็นอาจารย์ประจำสถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออก (INALCO)

ต่อมา พ.ศ. 2531 วาณีจึงเดินทางกลับไทยและได้รับเชิญจาก ไสว สุทธิพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้มาสอนภาษาจีนจนได้เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 - 2543

 

สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ กับวาณี สายประดิษฐ์ พนมยงค์
สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ กับวาณี สายประดิษฐ์ พนมยงค์

 

ในมุมชีวิตรัก วาณีสมรสกับ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชายของ กุหลาบ และชนิด สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์และนักแปลฝีมือดี ส่วนมุมการทำงานวาณีเป็นอาจารย์ที่มีความรู้ภาษาจีน รวมถึงภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเวียดนามดีเป็นที่ประจักษ์ แต่งานด้านการจัดการความรู้ ความสนใจเอกสารประวัติศาสตร์ที่มีคุณูปการต่อสังคม ความเป็นผู้สุขุม รอบคอบ และชอบบันทึกอย่างละเอียดซึ่งคล้ายคลึงกับบิดานั้นยังมีผู้รับรู้น้อย

 

บันทึกของวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2543
บันทึกของวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2543

 

วาณีเคยทำงานจัดห้องสมุดส่วนพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. 2535  - 2539 และช่วยจัดเอกสารส่วนบุคคลของปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เพื่อมอบให้แก่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นงานจัดการความรู้ที่สำคัญในชีวิตบั้นปลายก่อนวาณีจะจากไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561[2]

 

จดหมาย 3 ฉบับถึงหลานชาย : จากวาณี ถึงปรีดิวิชญ์ พนมยงค์[3]

จดหมายฉบับแรก ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยรักความรู้ อีกทั้งยังถ่ายทอดความรู้ด้วยความเข้าใจ และความเอาใจใส่ของคุณวาณี ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อนใน คือ "จดหมายของ 'อาณี' ถึงหลานชาย"

จดหมายฉบับแรกของวาณี ซึ่งเรียกแทนตนเองว่า “อาณี” นั้น เขียนถึงหลานชายในวัย 5 ขวบ ในช่วงเวลาที่เพิ่งสูญเสียคุณพ่อ คือ ปาล พนมยงค์ พี่ชายของวาณีไป ประมาณ 1 ปี

วาณีเขียนให้กำลังใจน้องสะใภ้ และเขียนถึงหลานชายด้วยความเอาใจใส่การเรียน สุขภาพ อีกทั้งยังแนะนำวรรณกรรมคลาสสิกระดับโลก และการ์ตูนชุดคลาสสิกสำหรับเด็ก 3 เล่ม ให้แก่หลาน อันได้แก่ วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิก ของ Jules Verne, Robinson Crusoe และการ์ตูนชุด The Adventures of TINTIN ของ Georges Remi

เรื่องความสนใจวรรณกรรมเยาวชนนี้เป็นที่ทราบกันสำหรับผู้ที่ชิดใกล้ว่า วาณีชอบอ่านวรรณกรรมสำหรับเด็กจนได้เขียนชีวประวัติของตนในรูปแบบวรรณกรรมเยาวชนชื่อเรื่องว่า วันวานในโลกกว้าง ไว้ด้วย

 

จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับแรก ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525
จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับแรก ลงวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2525

 

จากจดหมายฉบับนี้ กว่าครึ่งฉบับแสดงให้เห็นวัฒนธรรมของครอบครัวปรีดี-พูนศุขที่รักการอ่านและรักในความรู้อันเป็นมรดกทางความคิดที่สืบต่อมาจากปรีดี บิดานั่นเอง

จดหมายฉบับที่สอง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

1 ปีถัดมา “อาณี” ได้เขียนถึงหลานชายในวัยราว 6 ขวบ ซึ่งน่าจะอ่านหนังสือได้คล่องขึ้น จึงทำให้วาณีเขียนจดหมายโดยไม่ระบุว่าให้คุณแม่หรือน้องสะใภ้อ่านจดหมายให้หลานฟังอีก

จากการตั้งข้อสังเกตของผู้เขียน วิธีการเขียนจดหมายของวาณีเปลี่ยนไปจากเดิมอาจเพราะเพิ่งฟื้นจากการป่วย หรืออาจจะด้วยความใส่ใจของวาณีที่จะเขียนให้หลานอ่านจดหมายฉบับนี้เอง จะสังเกตเห็นได้ว่าตัวหนังสือในจดหมายมีขนาดใหญ่ขึ้น ตั้งใจสะกดทุกตัวอักษรให้ชัดเจนแตกต่างจากจดหมายฉบับก่อน รวมถึงเว้นระยะระหว่างบรรทัดค่อนข้างห่างเพื่อให้เด็กอ่านได้ง่าย และเขียนเพียงสั้นๆ

 

จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับที่สอง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

 

จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับที่สอง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526
จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับที่สอง ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526

 

จดหมายฉบับนี้วาณีเขียนถึงหลานชายด้วยการสอนแบบแยบคายผ่านการดูการ์ตูนว่า

“...บางวันดูแม้กระทั่งรายการเด็ก มีหลายรส หลายชาติ สนุกดี และขนาดอาณีโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังได้ความรู้ไม่น้อย ไม่ได้มีการ์ตูนวิเศษ แต่เป็นคนธรรมดาๆ ที่จะสอนให้เด็ก(และผูู้ใหญ่ด้วย) รู้จักคิด รู้จักทำในทางที่จะเป็นคนเก่ง และมีประโยชน์ต่อตัวเราและคนอื่น...”

อาณีสอนหลานชายด้วยแนวทางของปรีดี และพูนศุข ที่มักจะบันทึก เขียนจดหมายถึงลูก และให้สัมภาษณ์ไว้เสมอว่า ต้องทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นด้วย

จดหมายฉบับที่สาม ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527

 

จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับที่สาม ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527

 

จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับที่สาม ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527

 

จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับที่สาม ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527
จดหมายวาณีถึงหลานชาย ฉบับที่สาม ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527

 

จดหมายฉบับที่สามของอาณีถึงหลานชาย นอกจากความใส่ใจเรื่องการเรียน จดจำความชอบเรื่องการเล่นรถไฟ T.G.V.  ของหลาน และเล่าถึงสารคดีผจญภัยเรื่องกัปตันกุสโต (cousteau) ที่ตนชอบดูแล้ว อาณีได้ขยับการเล่าเรื่องเพื่อกระตุ้นให้หลานคิด เช่น ตั้งคำถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจากที่ตนได้เดินทางไปเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เขียนถึงเรื่องคุณค่าของเงิน และวิพากษ์สังคมไม่ต่างจากที่ผู้ใหญ่คุยกัน รวมทั้งสอนหลานทางอ้อมไม่ให้ทิ้งขยะในพื้นที่สาธารณะด้วยว่า

“...เมืองเจนีวา ที่เคยขึ้นชื่อว่ามีความสวยงามตามธรรมชาตินั้นมาหนนี้ดูจะเปลี่ยนไปเยอะ พวกเศรษฐีน้ำมันชาวอาหรับเดินเพ่นพ่านเต็มไปหมด และเนื่องจากพวกเขาไม่มีวัฒนธรรมและอารยธรรม (ให้คุณแม่…อธิบายศัพท์นี้ด้วย) อยากจะทิ้งเศษกระดาษหรือเศษอาหารก็ทิ้ง ทำเอาเจนีวาจากเมืองสะอาดกลายเป็นเมืองสกปรกไปเลย…”

จดหมายของวาณีถึงหลานชายทั้ง 3 ฉบับ ไม่เพียงแค่แสดงความห่วงใย หรือไถ่ถามเรื่องทั่วไปเท่านั้นแต่ยังสอดแทรกการมอบความรู้ให้แก่หลานทั้งวรรณกรรมเด็กฉบับคลาสสิกของโลก สารคดี และการ์ตูนความรู้

วาณีมักจะเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเองพบแล้วนำสอนหลานทางอ้อมทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ และชวนให้คิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) อย่างเหมาะสมสำหรับเด็กในวัย 3-12 ขวบ ซึ่งกลวิธีการเขียนจดหมายถึงหลานแบบนี้น่าจะมาจากที่วาณีชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชนจึงรู้ว่าเด็กในวัยต่างๆ สนใจอะไร และเขียนเล่าอย่างไรให้อ่านสนุกชวนติดตาม จะเห็นได้ว่าจดหมายแต่ละฉบับของวาณีจึงมีวิธีเล่าเรื่องคล้ายกับพาหลานชายไปผจญภัยทางตัวหนังสือนับเป็นพรสวรรค์ในการเล่าเรื่องของวาณีก็ว่าได้

 

การจัดห้องสมุดส่วนพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์  (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561)
อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์  (16 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561)

 

งานจัดการความรู้ครั้งสำคัญของวาณี คือ การจัดห้องสมุดส่วนพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2539 โดยทรงเล่าถึงวาณีในอนุสรณ์งานศพอย่างสนิทสนมและทรงใส่พระทัยต่อวาณี ไว้ดังนี้

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอักษรถึงวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงพระอักษรถึงวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์

 

“อาจารย์วาณีหรือพี่วาณี มาช่วยจัดหนังสือภาษาจีนในห้องสมุดส่วนตัวของข้าพเจ้าเป็นเวลา หลายปี (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๙) ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจที่พี่วาณีเป็นคนสุขุมรอบคอบ มีความรู้ภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาเวียดนาม ถึงจะอยู่ต่างประเทศนานความรู้ภาษาไทย ลายมือภาษาไทยก็ดีมาก

พี่วาณีเป็นเพื่อนรุ่นน้องของอาจารย์หวังเย่ อาจารย์คนที่ ๕ ที่สอนภาษาจีนให้ข้าพเจ้า ในหนังสือเล่าประวัติเมื่อตอนเด็กๆ ก็กล่าวถึงอาจารย์หวังเย่ด้วยแต่ไม่ได้ใส่ชื่อจริง

เมื่อข้าพเจ้าแปลหนังสือจีนเรื่อง “ผีเสื้อ” ของหวังเหมิ่งเสร็จแล้ว พี่วาณีแนะนําให้แปลเรื่อง “เมฆเหินน้ําไหล” ของฟังฟัง เกี่ยวกับชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยยุคสี่ทันสมัยตอนต้น ทําให้ข้าพเจ้าได้ทราบ ประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมในยุคนั้นจากชีวิตตัวละครในเรื่อง และให้ข้อคิดว่าแต่ละบุคคล มีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพชีวิตได้ไม่เท่ากัน

พี่วาณียังแปลบทกวีภาษาฝรั่งเศสของข้าพเจ้าเป็นภาษาไทย ตรวจภาษาฝรั่งเศสให้ด้วย

เมื่อพี่วาณีไม่สบายแล้ว ได้มอบสมบัติที่มีคุณค่าให้ข้าพเจ้า คือดวงตราไปรษณียากรที่สะสม มาเป็นเวลา ๖๐ ปี เป็นของขวัญวันเกิดอายุครบ ๕ รอบของข้าพเจ้า ได้เขียนอธิบายว่า

“แสตมป์บางดวงมีอายุมากกว่า ๙๐ ปี มาจากมุมต่างๆ ทั่วโลก หลายๆ ดวงหายากใน ปัจจุบัน แสตมป์เหล่านี้สะท้อนชีวิตของมวลมนุษย์ที่ต่างกันในโลกนี้ แต่ทว่ามีความปรารถนาแสวงหาการอยู่ ร่วมกันอย่างสันติสุข...”

ดวงตราไปรษณียากรจีนและประเทศอื่นๆ ส่วนมากข้าพเจ้าไม่มีโอกาสเห็นมาก่อน เพราะสมัยนั้นประเทศไทยกับประเทศจีนไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ส่วนประเทศอื่นไม่ได้ค้นคว้าว่ามีความสัมพันธ์กันหรือยัง

พี่วาณีจากพวกเราไปแล้ว งานแสดงภาพถ่ายของข้าพเจ้าที่จัดเป็นประจําทุกปี มีแต่พี่ๆ สองท่าน (พี่สุดา และพี่ดุษฎี) ที่ยังมาตามเคย แทนที่จะมีสามท่าน ข้าพเจ้ายังมีความทรงจําที่ดีและถือได้ว่าพี่วาณีเป็นคนดีคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก”[4]

 

งานจัดเอกสารส่วนบุคคลปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ให้แก่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2554 ทางครอบครัวปรีดี-พูนศุขมีเจตจำนงที่จะมอบเอกสารส่วนบุคคลของปรีดี–พูนศุข พนมยงค์ ให้แก่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บรักษาเอกสารฯ ทั้งหมดที่ขนมาจากบ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2526 ของปรีดี พนมยงค์

ขณะนั้นทายาทได้นำเอกสารฯ มาเก็บรักษาไว้ที่บ้านสวนพลู เขตสาทร กรุงเทพฯ  หากด้วยเหตุที่ปรีดี เป็นผู้สถาปนาและผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2477 ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงมอบหมายให้หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ตั้งคณะจัดทำรายการบัญชีเอกสารส่วนบุคคลปรีดีฯ ขึ้น ก่อนที่จะขนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์

คณะผู้จัดทำฯ เล่าว่าในระหว่างการทำรายการเอกสารช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554  ณ บ้านสวนพลู นั้นได้รับฟังเรื่องเล่า เกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องราวในชีวิตประจำวันจากบุคคลในครอบครัวปรีดี-พูนศุข โดยเฉพาะจากวาณี ที่ลงมาช่วยเหลือ ตอบคำถามต่างๆ ให้แก่คณะจัดทำฯ แม้แต่เรื่องเล็กๆ เช่น อาหารที่ปรีดี ชอบทาน เป็นต้น

ส่วนเอกสารฯ และภาพถ่ายจำนวนมากในชุดนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย บางชิ้่นเหมือนดังจิ๊กซอว์ช่วยต่อประวัติศาสตร์ที่ขาดหาย เช่น เอกสารเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 ผลงานเขียน และเอกสารคำฟ้องของปรีดี พนมยงค์ รวมถึงหนังสือ วารสาร และจดหมายที่ปรีดี เขียนโต้ตอบกับครอบครัว หรือบุคคลสำคัญทางการเมืองไทย ดังเช่น จดหมาย 3 ฉบับที่จอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ซึ่งใช้ตัวสะกด เลขไทย และเว้นวรรคตามต้นฉบับ ดังนี้

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2482

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2482
จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2482

 

เอกสารชุดนี้อยู่ในบริบททางการเมืองช่วง 1 ปีแรกของรัฐบาลที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยจดหมาย และคอลัมน์ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ในหนังสือพิมพ์ ผดุงชาติ ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2482 บนซองจดหมายเขียนไว้ว่า “(ส่วนตัว) เรียน คุณ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” และเนื้อความของจดหมายเป็นคำตัดพ้อกลายๆ แสดงออกถึงความไม่พอใจของจอมพล ป. ต่อผู้ที่เขียนเปรียบเปรยว่าตนเป็นตัวหุ่น

 

“วังสวนกุหลาบ
พระนคร

วันที่ ๙ ธันวาคม ๘๒

เรียนอาจารย์ที่รัก

ขอให้ดูหนังสือพิมพ์ผดุงชาติ วันที่ ๘ เดือนนี้ เรื่อง รัฐธรรมนูญ เขาว่า ผมเป็นตัวหุ่น อาจารย์เปนสมอง ซึ่งเห็นว่า ก็ถูกแล้ว แต่เขาไม่ควรพูด

รักยิ่ง
พิบูล ป.”

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2482

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2482

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2482
จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2482[5]

 

ราวสองสัปดาห์ถัดมา ขณะที่ปรีดีไม่สบายและเดินทางไปพักรักษาตัวยังหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จอมพล ป. ยังได้ส่งจดหมายไปให้ปรีดีที่บ้านพักในหัวหินแต่ว่าคลาดกัน เพราะปรีดีเดินทางกลับมาพระนครเสียก่อนจึงได้อ่านจดหมายของจอมพล ป. หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ณ วังสวนกุหลาบ เอกสารชิ้นนี้ประกอบด้วยจดหมาย 1 ฉบับ มีเนื้อความที่จอมพล ป. ต้องการทำให้ปรีดีไว้วางใจตนในบางเรื่อง และแสดงเจตนาว่าตนยังต้องการทำงานการเมืองกับปรีดี และเป็นฝ่ายเดียวกันด้วยการกล่าวย้ำให้เชื่อใจด้วยคำลงท้ายว่า “รักอย่างญาติ”

 

“วังสวนกุหลาบ
พระนคร

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๘๒

เรียนอาจารย์ที่รัก

ทราบว่าป่วยลำไส้ และเส้นประสาท ผมมีความหนักใจด้วยเพราะอาจารย์ไม่ใคร่ออกกำลังกายเสียเลย นอนๆ ตลอดเวลา เราอายุมากขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อน ต้องมีการบริการร่างกายบ้าง และ ผมเชื่อว่า อาจารย์คงเป็นดั่งที่ผมได้ปฏิบัติมาแล้ว แต่บางคน อาจารย์ต้องเชื่อผมบ้าง ผมไม่มีที่จะคิดให้เราแตกกันเลย ประสงค์ให้เรารักกัน ให้ดีทั่วกันทุกคน ถ้าผมมีอะไรผิดพลาด และส่วนมากเห็นว่า ผิดแล้ว ผมยินดีปฏิบัติตามเสมอ

ที่จริงไม่ควรเขียนมากวนถึงนี่ แต่เห็นว่าโรคเกี่ยวด้วยการเมืองยุ่งด้วยๆ ขออาจารย์อย่าได้คิดมากไป ผมตั้งใจแน่วแน่แล้วว่า จะต้องทำงานร่วมกับอาจารย์ตลอดไป ตามที่พูดไว้แล้ว สิ่งใดที่ผมพูดและให้อาจารย์ทราบ ก็เพื่อให้คิดไว้บ้าง ผมกลัวจะมีไม่ดีกับอาจารย์เท่านั้น ถ้าผมไม่รักจริงๆ แล้ว ผมก็จะปล่อยอาจารย์โดยไม่เกี่ยวข้องเลย

ถ้าผมเขียนมา อาจทำให้อาจารย์สบายใจขึ้นบ้างก็ได้

ขอย้ำว่า อาจารย์จากการงานไปไม่ได้และต้องอยู่ด้วยกัน ขอให้ดูคำจารึกของผมหลังรูปมอบให้เมื่อ...อาจารย์จะจากไป นอกจาก เคราะห์นั้น เราต้องร่วมตายด้วยกัน

รักอย่างญาติ
พิบูล ป.”

 

และในจดหมายหน้าแรกทางมุมซ้าย มีลายมือของจอมพล ป. เขียนว่า

“มีอะไรพูดกันให้เข้าใจโดยไม่ต้องเกรงใจกัน ผมเห็นว่า ควรเชื่อ เปนสุภาษิตของนักการเมือง – พิบูล”

จดหมายฉบับนี้สะท้อนความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองในช่วงต้นของสมัยคณะราษฎร และเมื่อคราวที่ปรีดีต้องลี้ภัยครั้งแรกจากกรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจ ครั้งนั้นเราจึงได้ทราบจากจดหมายฉบับนี้ว่าจอมพล ป. ได้มอบภาพและเขียนถ้อยคำบางอย่างให้แก่ปรีดีไปด้วย 

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2484
 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2484

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2484

 

จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2484
จดหมายของจอมพล ป. เขียนถึงปรีดี ลงวันที่ 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2484[6]

 

เอกสารชิ้นนี้ประกอบด้วยจดหมาย 1 ฉบับ มีเนื้อความหลักเกี่ยวกับการกู้เงินของกองกำลังญี่ปุ่นต่อรัฐบาลไทยในบริบทสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าเคลื่อนพลเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จดหมายเขียนขึ้นก่อนที่ญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของไทยเพียง 4 เดือนกว่า[7] ในบริบทระหว่างสงครามญี่ปุ่นได้ขอกู้เงินจากรัฐบาลไทยในขณะที่ปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยรัฐบาลไทยจำต้องให้กู้ถึงสองครั้งภายใต้เงื่อนไขที่ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอให้เก็บทองไว้ค้ำประกัน (Earmark) ในธนาคารญี่ปุ่น แต่ฝ่ายไทยต่อรองขอให้ส่งทองคำมายังกรุงเทพฯ และเมื่อญี่ปุ่นยอมรับเงื่อนไขทางฝ่ายรัฐบาลไทยจึงปล่อยเงินให้กู้ได้ ช่วงนี้ทั้งปรีดี และจอมพล ป. ต่างหวาดระแวงและไม่ค่อยพอใจกองกำลังของญี่ปุ่นนัก

“[บนซองจดหมายมีตรายางประทับว่า ห้ามเปิดซองนอกจากผู้รับ]

 

วังสวนกุหลาบ
พระนคร

วันที่ ๓๑ กรกฏาคม ๒๔๘๔

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

วันนี้บ่าย ทูตญี่ปุ่นมาพบผมและยื่นข้อความตามที่ผมแนบมานี้ ผมได้ตอบว่าให้นายโอโนโม หารือกับอาจารย์ เพื่อหาทางปรองดองให้ดีต่อกันต่อไป ในส่วนเกี่ยวกับความเห็นของอาจารย์นั้น ผมว่าเป็นส่วนตัว และของโอโนก็เป็นส่วนตัวปล่อยให้ทั้ง 2 ท่านหารือกันจะดีกว่า ผมเองไม่ทราบ เรื่องเงินดีนักเลย

ฉะนั้นผมขอมอบให้อาจารย์

เคารพยิ่ง
พิบูล ป.”

 

ในเอกสารส่วนบุคคลของปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ พบจดหมายของจอมพล ป. ถึงปรีดี ระหว่าง พ.ศ. 2482-2484 เพียง 3 ฉบับนี้เท่านั้น ซึ่งเมื่ออ่านเนื้อความอย่างละเอียดดังข้างต้นก็พบความสัมพันธ์ค่อนข้างดีและพบร่องรอยความขุ่นข้องหมองใจของทั้งสองแต่ยังไม่แตกหัก หากจดหมายเพียง 3 ฉบับ ย่อมไม่อาจสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยและความคิดของปรีดี กับจอมพล ป. ได้อย่างรอบด้านทั้งไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้วิพากษ์หลักฐานฯ และตีความอย่างรัดกุม แต่จดหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้แสดงให้เห็นมิตรภาพและช่วยเติมเต็มหลักฐานฯ แง่มุมใหม่[8]ในช่วงก่อนญี่ปุ่นบุกไทยและนำไปสู่การแตกร้าวภายในคณะราษฎรหลังเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484

ในช่วงที่จัดเอกสารส่วนบุคคลของปรีดีฯ วาณีแสดงทัศนะต่อคณะจัดทำฯ เรื่องจดหมาย 3 ฉบับ และภาพถ่ายของครอบครัวพิบูลสงครามในช่วงลี้ภัยไปอยู่ญี่ปุ่นที่จอมพล ป. ส่งมาถึงปรีดี ไว้ว่า

“ครอบครัวพนมยงค์และพิบูลสงครามมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน”

จากความเห็นของวาณีมีทั้งความประนีประนอม ชาญฉลาด และอ่อนโยนแบบปรีดี บิดา และตอบสั้น คม กระชับแบบพูนศุข มารดา โดยครั้งหนึ่งวาณี เคยให้สัมภาษณ์ถึงบิดาเรื่องชาติ คุณธรรม และไลฟ์สไตล์ของปรีดี  ไว้ว่า

“เรื่องความคิดรักชาตินี่คิดว่าเราได้เห็นจากตัวท่านเอง และสิ่งที่ท่านบอกให้เราเขียน ทำให้เราได้เรียนรู้ได้รับรู้ เวลาพูดคุยกันนี่เราก็สังเกตเห็นได้ว่า ท่านพยายามจะถือเอาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองสำคัญกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง…

ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ คิดว่าเราได้จากการปฏิบัติของคุณพ่อเอง ท่านใช้ชีวิตสมถะมากเลย เสื้อผ้านี่ไม่เคยออกไปซื้อ ไม่เคยคิดที่จะใส่ให้สวยงามใส่ให้สบาย สุภาพเรียบร้อย การรับประทานท่านก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย มีอะไรก็ทานไม่ต้องออกไปทานนอกบ้าน…

อีกเรื่องที่พยายามสอนและพูดอยู่เสมอก็คือ เรื่องที่ว่าจะต้องเป็นคนซื่อตรง ท่านมักจะใช้คำจีนว่าต้องเหลาๆ ซิกๆ คือต้องซื่อตรงๆ ยกตัวอย่าง ลูกหลานบางคนมาเล่าให้ฟังว่า วันนี้ขึ้นรถใต้ดินโดยที่ไม่ได้ใช้ตั๋วบ้าง หรือใช้วิธีอะไรที่ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไร ท่านก็จะโมโหทันทีบอกว่าไม่ชอบให้ใช้วิธีอย่างนี้ บอกว่าไม่มีสตางค์ซื้อตั๋วรถหรือบอกมาซิ จะออกเงินให้ แต่ไม่ชอบให้เอารัดเอาเปรียบ แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยท่านก็ไม่ชอบ…”[9]

ท้ายที่สุด จากการงานของวาณีที่เกี่ยวกับความรู้ในความเป็นครู การดูแลห้องสมุดส่วนพระองค์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และช่วยเหลือในการจัดเอกสารส่วนบุคคลของปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เป็นวันวานในโลกกว้างของวาณีที่สืบทอดการทำงานเพื่อสังคมตามแบบครอบครัวปรีดี-พูนศุข และส่งเสริมการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยไว้ให้แก่สังคม

หมายเหตุ

  • ขอขอบคุณ คุณปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ สำหรับการคัดสรรจดหมาย 3 ฉบับของคุณวาณี พนมยงค์ และอนุญาตให้นำมาประกอบการเขียนบทความชิ้นนี้ ซึ่งจดหมายชุดนี้ช่วยเติมเต็มการระลึกถึงคุณวาณี ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

ที่มาของภาพ : กษิดิศ อนันทนาธร คณะจัดทำรายการบัญชีเอกสารส่วนบุคคลปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์ และอนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • เอกสารส่วนบุคคลปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เรื่อง จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2482-2484 ใน หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 16 มิถุนายน 2555-พฤษภาคม 2556, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556)
  • จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2482-2484 ใน กษิดิศ อนันทนาธร, “จดหมายกับความหมายต่อบางเรื่องในประวัติศาสตร์”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 24 (มิถุนายน 2563-พฤษภาคม 2564), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564)

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562)

หนังสือและบทความในวารสาร :

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย 2575-2500, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2538)
  • ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2513)
  • ดุษฎี พนมยงค์, เสี้ยวหนึ่งในความทรงจำ, (กรุงเทพฯ: บ้านเพลง 2541)
  • โทชิฮารุ โยชิกาวา, อาทร ฟุ้งธรรมสาร ผู้แปล, รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและสงครามแปซิฟิค, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2528)
  • ปรีดี พนมยงค์, “ความเป็นไปบางประการภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ปราโมทย์ พึ่งสุนทร และ นายเปรื่อง ศิริภัทร์ จัดพิมพ์ในโอกาส 11 พฤษภาคม 2515, (กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2515)
  • ปรียาภรณ์ กันทะลา, “บางส่วนของความทรงจำใน “จดหมายลับ” จากจอมพล ป. ถึง ปรีดี,” ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 16 มิถุนายน 2555-พฤษภาคม 2556, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), หน้า 140-151.
  • ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “น้ำใสใจจริงของญี่ปุ่น” เสี้ยวหนึ่งจากปฏิบัติการจิตวิทยา ของญี่ปุ่นต่อประเทศไทย”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 19 (มิถุนายน 2558-พฤษภาคม 2559), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)
  • สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500 เล่ม 1 พิมพฺ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2559)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (4 กันยายน 2562). วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ "คนดีคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก". สืบค้นจาก https://www.the101.world/wanee-banomyong-saipradit/
  • พูนศุข พนมยงค์. (12 พฤษภาคม 2564). จดหมายจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงหลานชาย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/05/701
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. (3 มกราคม 2563). พูนศุข พนมยงค์ สตรีผู้ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น. สืบค้นจาก https://onetonion.com/2020/01/03/พูนศุข-พนมยงค์-สตรีผู้ไ/  
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (12 พฤษภาคม 2563). ครอบครัวนายปรีดี พนมยงค์ กับความประทับใจจากแผ่นดินจีน. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/05/260
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 กรกฎาคม 2563). วาณี พนมยงค์ เล่าเรื่องพ่อปรีดี. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/07/344
 

 

[2] กษิดิศ อนันทนาธร. (4 กันยายน 2562). วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์ “คนดีคนหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รู้จัก”. สืบค้นจาก https://www.the101.world/wanee-banomyong-saipradit/

[3] โปรดดูเพิ่มเติม พูนศุข พนมยงค์. (12 พฤษภาคม 2564). จดหมายจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ถึงหลานชาย. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/05/701

[4] กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2562)

[5] จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2482-2484 ใน กษิดิศ อนันทนาธร, “จดหมายกับความหมายต่อบางเรื่องในประวัติศาสตร์”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 24 (มิถุนายน 2563 – พฤษภาคม 2564), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564), หน้า 115-116.

[6] จดหมายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงปรีดี พนมยงค์ พ.ศ. 2482-2484 ใน กษิดิศ อนันทนาธร, “จดหมายกับความหมายต่อบางเรื่องในประวัติศาสตร์”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 24 (มิถุนายน 2563 – พฤษภาคม 2564), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564), หน้า 114, 116.

[7] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, “น้ำใสใจจริงของญี่ปุ่น” เสี้ยวหนึ่งจากปฏิบัติการจิตวิทยา ของญี่ปุ่นต่อประเทศไทย”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 19 (มิถุนายน 2558-พฤษภาคม 2559), (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), หน้า 26-31.

[8]ปรียาภรณ์ กันทะลา, “บางส่วนของความทรงจำใน “จดหมายลับ” จากจอมพล ป. ถึง ปรีดี”,  ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 16 มิถุนายน 2555-พฤษภาคม 2556, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556), หน้า 140-151.

[9] สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 กรกฎาคม 2563). วาณี พนมยงค์ เล่าเรื่องพ่อปรีดี. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/07/344