ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทสัมภาษณ์

อภิวัฒน์สยาม 2475 ข้อเท็จจริงที่หลายคนควรต้องรู้

21
มีนาคม
2567

Focus

  • อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีบทบาทในหลายตำแหน่งที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ อย่างยิ่ง และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การยูเนสโก แต่ในหนังเรื่อง “2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” แสดงข้อมูลที่บิดเบือน โดยใช้ “ปลาหมึก” เป็นสัญลักษณ์แบบตัวร้าย
  • การตีความจากข้อมูลควรตั้งอยู่บนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ และไม่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง อันทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ และไม่ควรสร้างภาพยนตร์จากงบประมาณแผ่นดินที่สร้างความแตกแยกและไม่เป็นประโยชน์แก่สังคม แต่ควรสร้างความสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
  • การเปลี่ยนแปลงให้เกิดระบอบประชาธิปไตย 2475 มิใช่การชิงสุกก่อนห่าม เพราะก่อนหน้า 2475 ก็มีการเสนอหรือพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเจ้านายและขุนนาง ทหาร และสามัญชนให้เป็นประชาธิปไตยกันมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 (ในรศ. 103) และ รัชกาลที่ 6 (ในรศ. 130)
  • เค้าโครงการเศรษฐกิจของอาจารย์ปรีดีไม่ใช่เป็นแบบคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเสรีนิยมผสมกับสังคมนิยม การตอบโต้ของรัชกาลที่ 7 ต่อเค้าโครงการฯ ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกันจนกระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดแน่นอน และในที่สุดคณะกรรมการสอบสวนของสภาผู้แทน ก็สรุปว่า อาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์

 

หลังจากมีการเผยแพร่ของอนิเมชันเรื่อง “2475 Dawn of Revolution รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” โดยภายในเรื่อง ได้กล่าวถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส, ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงที่วางรากฐานในด้านที่สำคัญของประเทศ ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้มีการปฏิรูประบบภาษี ตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้ก่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นขึ้น ทำให้มีระบบเทศบาลที่เข้มแข็ง รวมไปถึงบทบาทสำคัญอย่างการเป็นหัวหน้าของขบวนการเสรีไทย ที่เป็นขบวนการสำคัญในการปกป้องประเทศให้รอดพ้นจากสภาวะผู้แพ้สงคราม 

 

ถึงกระนั้นข้อมูลที่กล่าวถึงอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกนำเสนอภายในเรื่องดังกล่าวด้วยข้อมูลที่บิดเบือนไป โดยใช้ “ปลาหมึก” เป็นสัญลักษณ์ภาพจำของอาจารย์ปรีดีให้เป็นไปในทางของตัวร้ายบนประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจารย์ปรีดี ได้ถูกยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสของประเทศ และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญจากองค์การยูเนสโก

 

ในส่วนของฉากที่มีการกล่าวถึงคณะราษฎร ได้มีการตัดต่อยกข้อเท็จจริงเพียงบางประการมากล่าวถึง ทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจผิดพลาดทางประวัติศาสตร์การอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475 สำหรับการตีความจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นสิ่งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นับว่าเป็นในส่วนของการตีความบนความเป็นจริงตามแต่ละมุมมองของปัจเจกบุคคลแตกต่างกันไป เช่น การมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน ย่อมมีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ถ้าหากเราตีความจากข้อมูลที่ไม่อยู่บนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ นี่แสดงให้เห็นว่าเราได้นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมือง ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์อีกต่อไป 

 

หากมองไปในอนาคตสำหรับการดำเนินการโจมตีทางข้อมูลเช่นนี้ พบว่ามีการเคลื่อนไหวเป็นระลอก เมื่อมองถึงบริษัทเอกชนที่รับการจ้างงานจากกองทัพไทย นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลก แต่สิ่งที่ผิดคือการนำภาษีของประชาชนมาใช้จ่ายในการสร้างความแตกแยก และไม่มีความจำเป็นต่อการสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้คนในสังคม จะพบว่ามีการลงข่าวจากสำนักข่าวประชาไท ถึงการจ้างงานบริษัทดังกล่าวนี้จากกองทัพไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันนี้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายทางการเมืองเริ่มเบาบางลง แล้วควรที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 

 

เมื่อมองกลับมาที่จุดประสงค์ที่ต้องการนำเสนอผ่านการ์ตูนเรื่องดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ชัดว่ามีสิ่งที่ต้องการสื่อได้แก่ 

 

1.

ความพยายามด้อยค่าคณะบุคคลที่เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงให้เกิดระบอบประชาธิปไตย เมื่อ 92 ปีที่แล้ว

 

2.

ความพยายามชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 เป็นเรื่องที่ “ชิงสุกก่อนห่าม” เป็นสภาวะที่แนวความคิดนี้เป็นกระแสหลักในช่วง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นแสดงให้เห็นว่างานวิชาการช่วงทศวรรษ 2520 จะมีลักษณะใกล้เคียงกันในรูปแบบดังกล่าว แต่เมื่อไปสืบค้นข้อมูลบนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ จะพบว่าการอภิวัฒน์สยามพ.ศ. 2475 ไม่ใช่การชิงสุกก่อนห่าม เนื่องจากในเวลาก่อนหน้านี้มีขบวนการเคลื่อนไหวที่มีความพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ไม่ใช่เพียงแค่กลุ่มนักเรียนจากต่างประเทศที่มารวมตัวกันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก ซึ่งเราต้องมองย้อนกลับไปยังสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์เป็นกษัตริย์นักปฏิรูปทำให้ประเทศมีความทันสมัย และในสมัยรัชกาลที่ 5 ขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงทางการปกครองเรียกว่า ร.ศ. 103 โดยขบวนการนี้ประกอบไปด้วยเจ้านายและขุนนางที่แกนนำของขบวนการจำนวน 11 ราย และหลายพระองค์เป็นพระญาติที่ทำงานให้กับกษัตริย์นักปฏิรูปด้วย จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่ารัชกาลที่ 5 ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีแนวคิดทันสมัยที่อยู่ท่ามกลางขุนนางที่มีความคิดแบบเก่าล้าหลัง

อ่าน การเคลื่อนไหวทางความคิดประชาธิปไตยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 - วิภาลัย ธีรชัย

 

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 เกิดขบวนการ ร.ศ. 130 มีกลุ่มทหารหนุ่มเพื่อประชาธิปไตย และมีนักเขียนอย่าง เทียนวรรณ หรือเทียน วัณณาโภ (นามปากกา “ต.ว.ส. วัณณาโภ”) และกุหลาบ สายประดิษฐ์ (นามปากกา “ศรีบูรพา”) โดยบทกลอนของเทียนวรรณได้เขียนไว้อย่างชัดเจน จนสามารถนำมาศึกษาเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนั้นได้ 

 

“ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ

ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ

แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ 

จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย

ขอให้เห็นเช่นเราผู้เฒ่าทัก

บำรุงรักษาชาติสะอาดศรี 

ทั้งเจ้านายฝ่ายพหลและมนตรี 

จะเป็นศรีวิไลซ์จริงอย่างนิ่งนาน

ให้รีบหาปาลิเมนต์ขึ้นเป็นหลัก

จะได้ชักน้อมใจไพร่สมาน 

เร่งเป็นฟรีปรีดาอย่าช้ากาล

รักษาบ้านเมืองเราช่วยเจ้านาย”

 

นี่คือเจตนาดีที่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตย รวมถึงในขณะนั้นยังมีสถานการณ์ภัยคุกคามของการล่าอาณานิคมจากภายนอก ฉะนั้นแล้วการกล่าวหาว่าการชิงสุกก่อนห่าม หรือสังคมไทยยังไม่มีความพร้อมนั้นไม่ใช่เรื่องจริง 

 

ประเด็นที่สอง การกล่าวหาว่าอาจารย์ปรีดี เป็นคอมมิวนิสต์ การกล่าวหานี้ไม่ใช่เรื่องจริง หากได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดของท่าน จะพบว่าเป็นแนวคิดไปทางเสรีนิยมผสมกับสังคมนิยม แล้วในเอกสารที่ปรากฏในอนิเมชันเรื่องนี้ได้พยายามนำเสนอประเด็นการตอบโต้กันระหว่าง รัชกาลที่ 7 (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ) และอาจารย์ปรีดี เรื่องแนวคิดทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทั้งสองฝ่ายจะมีความขัดแย้งกันในด้านแนวคิดการบริหารทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้มีความขัดแย้งจนกระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดแน่นอน จนสุดท้ายต้องมีการประนีประนอมกัน ทำให้ฝั่งอาจารย์ปรีดีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ โดยผลที่ออกมานั้นคือ อาจารย์ปรีดีไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์จริงๆ แล้วท่านได้ถูกเนรเทศให้ไปอยู่ต่างประเทศ แต่สุดท้ายท่านสามารถกลับมาได้

 

เมื่อดูในข้อกล่าวหาหลายประเด็นว่าอาจารย์ปรีดีนั้น จะพบว่าบางเรื่องเกิดจากการขัดแย้งทางผลประโยชน์ของผู้ที่เคยมีอภิสิทธิ์ไม่อยากสูญเสียผลประโยชน์ อาทิ การปฏิรูปที่ดิน ในความเป็นจริงไม่ใช่การยึดที่ดินมาเหมือนกับแนวคิดของสหภาพโซเวียต, แนวคิดของเลนิน และแนวคิดของสตาร์ลิน ทางอาจารย์ปรีดีได้เสนอให้ทางรัฐบาลได้จัดซื้อที่ดินมา แล้วมีการจัดสรรที่ดินเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ซึ่งประชาชนมีความยากลำบากมาก แม้กระทั่งทุกวันนี้ประชาชนยังคงมีสภาพชีวิตที่ลำบากอยู่เช่นเคย จะพบว่าหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นบ้างในบางเรื่อง ครั้นเวลาผ่านไป 92-93 ปี ของประชาธิปไตยไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยมีประชาธิปไตยจริงๆ เพียงแค่ 20 กว่าปีเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นประเทศไทยได้ถูกปกครองด้วยระบบเผด็จการทหาร หากจะอ้างว่าประชาชนยังคิดไม่ทันนั้นไม่เป็นความจริง แต่ในความเป็นจริงนั้นตรงข้ามกับข้อกล่าวหา จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วประชาชนเดือดร้อนจริง และอาจารย์ปรีดีพร้อมคณะราษฏรส่วนใหญ่เห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจริง การอภิวัฒน์สยาม 2475 ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีระบอบกษัตริย์เป็นประมุขเพียงเท่านั้น แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจด้วย จึงจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ประโยชน์ เมื่อมองถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสยามในอดีตและประเทศไทยในปัจจุบัน พบว่าเป็นประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก เพราะไม่มีการปฏิรูปหลายเรื่องตั้งแต่เมื่อ 90 ปีที่แล้ว เช่น ที่ดินในประเทศไทยมี 320 ล้านไร่ และมีประชากรเพียง 60 ล้านคน หากคิดเช่นนี้ประชาชนทุกคนจะสามารถมีที่ดินเป็นของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องรอคอยที่จะเป็นเจ้าของที่ดินยามใกล้เกษียณอายุ แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีสถานการณ์เช่นนี้ เพราะเมื่อ 90 ปีที่แล้วการนำเสนอเค้าโครงสมุดปกเหลือง (เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ไม่ประสบความสำเร็จและนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง นั่นเป็นผลจากการขัดขวางและหาทางโค่นล้มรัฐบาลให้ได้ของผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการปฏิรูป จากเหตุข้างต้นได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เรียบร้อย ในแง่ที่ประเทศจะสามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากรัชกาลที่ 7 ทรงไม่ให้ความสำคัญกับสันติภาพในการเปลี่ยนแปลงแบบไม่เสียเลือดเนื้อในแง่ของการมีแนวความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ผ่านการให้ความร่วมมือการเปลี่ยนผ่านให้เป็นไปได้ด้วยดี

 

สุดท้ายแล้ว เราไม่ควรบิดเบือนประวัติศาสตร์ให้มาเป็นเครื่องมือรับใช้ผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของฝ่ายตนเอง มิเช่นนั้นแล้วหากเราบิดเบือนประวัติศาสร์ ลูกหลานของพวกเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงความจริงของรากเหง้าของตนเองว่ามีความเป็นมาอย่างไร เนื่องจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมีทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลวที่นับได้ว่าเป็นบทเรียนที่คนรุ่นหลังจำเป็นต้องเรียนรู้ จะเห็นว่าไม่มีประเทศใดในโลกนี้ ที่อนุสาวรีย์จะหายไป มีการสร้างอนิเมชัน, สารคดี, หนังสือ ที่เผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ นี่นับว่าเป็นหน้าที่ของผู้คนรุ่นหลังที่จะต้องตรวจสอบว่าสิ่งใดคือความจริงหรือสิ่งใดคือความเท็จ ดังนั้นการตีความเรื่อง 2475 มีมากมายหลากหลาย บางคนมองว่าเป็นการพลิกแผ่นดิน, บางคนมองว่าเป็นการปฏิวัติ, บางคนมองว่าเป็นการก่อรัฐประหาร, บางคนมองว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ไปจนถึงบางคนบอกว่าแม้คณะราษฏรจะไม่ก่อการ ก็ยังคงมีคณะอื่นก่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ดี เพราะสถานการณ์ในตอนนั้นใกล้ถึงจุดอิ่มตัวต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว นี่นับว่าเป็นบทเรียนหนึ่งของสังคมอย่างหนึ่ง ถ้าสังคมเคลื่อนตัวมาถึงจุดหนึ่งแล้ว ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาอยู่เสมอ หากต้องการให้ก่อเกิดประโยชน์แก่ผู้คนส่วนใหญ่ รวมถึงยังรักษาโครงสร้างที่จะก่อให้เกิดเสถียรภาพได้ สังคมนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูป เพื่อนำพาสังคมไปสู่จุดที่ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ที่มา : รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์รายการย้อนอดีตสู่อนาคต FM 96.5 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567.

 

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/Thinkingradio/videos/360038847013720