ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ผู้เกินกว่าราชา (ULTRA-ROYALIST)

30
เมษายน
2567

Focus

  • ในบริบทการเมืองไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2517 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์นั้นทำให้นายปรีดี พนมยงค์ที่พำนักอยู่ในปารีสแต่ได้รับรู้การเมืองไทยโดยตลอดได้วิเคราะห์ว่าบุคคลสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2517 นั้นมีลักษณะเป็น “ผู้เกินกว่าราชา” (Ultra-Royalist) จากการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกโดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายปรีดีมองว่าเป็นการกระทำของ “ผู้เกินกว่าราชา” ซึ่งไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์และเจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม
  • นายปรีดีอธิบายความหมายของผู้เกินกว่าราชาไว้ครั้งแรกในช่วงที่ลี้ภัยในจีนว่าเป็น “พวกที่ชอบทําตนนิยมราชาธิปไตย ยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีเองในกลุ่ม "ผู้เกินกว่าราชา" แห่งสยาม นี้ มีบางคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับพระบรมวงศานุวงศ์” และหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาอธิบายว่า “UItra-Royalist” นั้นนายปรีดีอธิบายความหมายของ “UItra-Royalist”ว่ามีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “UItra-Royaliste” หรือเรียกย่อว่า “UItras” และนายปรีดีเป็นผู้ถ่ายทอดศัพท์เป็นคำไทยว่า “ผู้เกินกว่าราชา” คือปากว่าเทอดทูนพระราชาธิบดี แต่ทำแสดงว่านิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ในทัศนะของนายปรีดีได้มีการถวายพระราชอำนาจเกินกว่าพระราชประสงค์และมีคำปรารภที่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติเขียนขึ้นเองโดยมิใช่พระราชปรารภของพระองค์ อีกทั้งมีบทบัญญัติอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมแก่ระบอบประชาธิปไตยอีกหลายประการ
  • ข้อสำคัญคือ นายปรีดีได้อธิบายเชื่อมโยงกับเจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลาคมซึ่งมีนิสิตนักศึกษานักเรียนและประชาชนเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นโดยเสนอให้มีระบบรัฐสภาชนิดมีสภาผู้แทนราษฎรเพียง “สภาเดียว” ซึ่งสมาชิกของสภานั้นจะต้องได้รับเลือกตั้งจากราษฎรแต่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของตนโดยเสนอสภานิติบัญญัติซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภาแบบปิดลับและไม่มีการเลือกตั้งโดยราษฎรตามมาตรา 105 และ 107 ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ซ้ำยังมีการนำแนวคิดของกบฏบวรเดชเรื่อง “การเลือกตั้งผู้แทนประเภทที่สองต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก” มาเป็นพื้นฐานและยังเปรียบเทียบว่ากบฏบวรเดชว่าคือแนวทางเดียวกับขบวนการประชาชน 14 ตุลา นี่คือแนวคิดของผู้เกินกว่าราชาเรื่องการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ยังคงเป็นปัญหาทางหลักการตราบจนปัจจุบัน

 

ผู้เกินกว่าราชา (ULTRA-ROYALIST)
ในหนังสือชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี
ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน

ในประเทศสยามมีกลุ่มคนประเภทเดียวกับที่เคยมีในประเทศฝรั่งเศสในช่วงระหว่งการอภิวัฒน์ปี พ.ศ. ๒๓๓๒ และสาธารณรัฐที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ เราเรียกคนเหล่านี้ว่า “ผู้เกินกว่าราชา” คือหมายถึง พวกที่ชอบทําตนนิยมราชาธิปไตย ยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีเองในกลุ่ม “ผู้เกินกว่าราชา” แห่งสยามนี้มีบางคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยกับพระบรมวงศานุวงศ์ และมีทั้งคนที่เรียกตัวเองว่า “ปัญญาชน” บางคนรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย เนื่องจากมีเชื้อสายต่างด้าวจึงอยากจะแสดงตนว่าเป็นชาวสยามยิ่งเสียกว่าประชาชนชาวสยามหรือพระมหากษัตริย์สยามเอง และเสแสร้งตนเป็นผู้รักษาราชบัลลังก์ โดยใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายนานาชนิด เพื่อทําให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านข้าพเจ้าโดยการกล่าวหาข้าพเจ้าหลายครั้งหลายคราว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในกรณีสวรรคตที่ลึกลับซับซ้อน และเมื่อเพื่อนคนไทยทั้งที่อยู่ในประเทศ รวมทั้งที่อยู่ในต่างประเทศส่วนใหญ่ได้เข้าใจ และแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อข้าพเจ้ามากขึ้น 

นับแต่ข้าพเจ้าเดินทางมาพักที่กรุงปารีสกลุ่ม “ผู้เกินกว่าราชา” ในเมืองไทยบางคนก็เริ่มใช้เล่ห์เพทุบายที่ชั่วร้ายใหม่โดยกล่าวร้ายข้าพเจ้าในหนังสือพิมพ์ของพวกเขา (ผู้อํานวยการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์) ว่าข้าพเจ้าหนีออกจากประเทศสยาม เพราะต้องหาคดีอาญา เป็นผู้มีส่วนร่วมในการลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ข้าพเจ้าจึงได้ดําเนินการให้ทนายนําคดียื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่งที่กรุงเทพฯ โดยฟ้องร้องเจ้าของบรรณาธิการและนักหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับ ฐานหมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียง และใส่ความข้าพเจ้า ในที่สุดผู้รับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับยอมรับผิด และยินยอมพิมพ์ข้อความรับผิดลงประกาศในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นเวลาสามวัน โดยไม่เพียงแต่ลงประกาศขอขมาต่อข้าพเจ้าฐานใส่ความให้ร้ายข้าพเจ้าเท่านั้น แต่ยังลงข้อความอันแสดงความบริสุทธิ์ของข้าพเจ้าในกรณีสวรรคตฯ ตลอดจนข้อความที่ชี้แจงว่า การหลบหนีออกจากประเทศสยามของข้าพเจ้านั้นเป็นเพราะการลี้ภัยรัฐประหาร ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลอันชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย

 

ผู้เกินกว่าราชา (ULTRA-ROYALIST)
ขัดพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗

-๑-

เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ ๒๕๑๗ โดยมิได้มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตามที่เคยทรงปฏิบัติมาในการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ อันที่จริงรัฐบาลและประธานสภานิติบัญญัติ ได้แจ้งให้หนังสือพิมพ์ทราบล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่า ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้พระองค์จะไม่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติตามที่เคย ข่าวที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้นำลงจากกระแสข่าวที่เชื่อถือได้นั้นแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสนพระทัยในการร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น

เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ตึกรัฐสภาใหม่ก่อนที่ท่านผู้นี้จะนำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านวาระ ๓ ของสภาฯ แล้วขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตั้งข้อสังเกตร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีพระราชกระแสผ่านราชเลขาธิการลงมาเมื่อเย็นวันที่ ๕ ตุลาคม ตามบันทึกพระราชกระแสดังต่อไปนี้

 

บันทึกพระราชกระแสฯ
เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. ๒๕๑๗

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติในวาระที่ ๓ ด้วยคะแนนเสียง ๒๐๘ ต่อ ๖ เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๑๗ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสืบไปนั้น

ได้ทรงพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และทรงมีพระราชดำริกับข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อความในร่างรัฐธรรมนูญนี้บางประการ เช่น

๑. คำปรารภ

๑.๑ ข้อความในคำปรารภนี้ เป็นถ้อยคำที่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำขึ้นถวาย

๑.๒ คำปรารภควรกล่าวเพียงสั้นๆ สรุปได้ว่า ทรงมีพระราชดำริ โดยที่ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปีแล้ว ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้มีการยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหลายครั้ง อันแสดงว่ารัฐธรรมนูญนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ตามความเหมาะสมแห่งสภาวการณ์ของบ้านเมืองและกาลเวลา

โดยที่ได้มีประชามติเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรโดยเร็วที่สุด จึงทรงพระราชดำริว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีข้อบัญญัติหรือหลักการพอที่จะสนองความต้องการของประชาชนและตราใช้เป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้

๒. ตามมาตรา ๑๐๗ วรรคสองแห่งร่างรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้นไม่ทรงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยตามความในมาตรา ๑๖ เป็นการขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง (ในระบอบประชาธิปไตย) ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเหมือนเป็นองค์กรการเมือง ซึ่งชัดกับมาตรา ๑๗ ด้วย

๓. ทั้งนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่จะต้องพิจารณา แต่ย่อมสุดแล้วแต่วิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาวการณ์ของบ้านเมืองและกาลสมัยได้

๕ ตุลาคม ๒๕๑๗

- ๒ -

พระราชกระแสที่ข้าพเจ้าเชิญมาพิมพ์ไว้ข้างบนนั้นแสดงให้เห็นชัดว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ ได้ถวายพระราชอำนาจเกินกว่าพระราชประสงค์และมีคำปรารภที่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติเขียนขึ้นเองโดยมิใช่พระราชปรารภของพระองค์ อีกทั้งมีบทบัญญัติอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมแก่ระบอบประชาธิปไตยอีกหลายประการ

๒.๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคมนั้น เราท่านก็ย่อมรู้อยู่แล้วว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม นั้น นิสิตนักศึกษานักเรียนและผู้รักชาติรักประชาธิปไตยได้เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้นในสยามและหลายท่านต้องถูกจับกุมคุมขัง คำเรียกร้องของท่านเหล่านั้นมิใช่เพียงร้องขอให้มีแต่เพียงสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเพียงกฎหมายว่าด้วยการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ ซึ่งผู้ใดหรือองค์การใดมีอำนาจรัฐก็เขียนรัฐธรรมนูญที่อำนวยตามความต้องการของบุคคลและคณะบุคคลที่มีอำนาจรัฐนั้น คำเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและผู้รักชาติรักประชาธิปไตย จึงต้องการรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มิใช่กึ่งประชาธิปไตย มิใช่รัฐธรรมนูญเพื่ออภิสิทธิ์ชน คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหลายคนรู้จักว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในขบวนการนักศึกษาได้ชี้แจงให้แก่ข้าพเจ้าทราบเมื่อเขาเดินทางมาปารีสหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ว่าองค์การนักศึกษาได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเสนอรัฐบาลก่อน ๑๔ ตุลาคม ประกอบกับการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยให้มีระบบรัฐสภาชนิดมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว ซึ่งสมาชิกของสภานั้นจะต้องได้รับเลือกตั้งจากราษฎร อันตรงกับความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามไว้ว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”

แม้ต่อมาเมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลซึ่งมีนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องการให้มีวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร แต่นักเรียนนิสิตนักศึกษากับผู้รักชาติรักประชาธิปไตยก็แสดงความเห็นกันว่า ถ้าจะมีสองสภาแล้ว ก็ขอให้สมาชิกของทั้งสองสภาเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมาซึ่งตรงกับความหมายของ “ประชาธิปไตย” ดังกล่าวนั้น และได้เรียกร้องดังนี้ตลอดมาในระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติในวาระที่ ๑ ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภา, ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่ ๒ กับในวาระที่ ๓ ทั้งนี้ ย่อมแสดงถึงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของวีรชน ๑๔ ตุลาคมอย่างชัดแจ้ง ซึ่งตรงกับพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แต่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของตน โดยเสนอสภานิติบัญญัติซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับวุฒิสภาดังต่อไปนี้

“มาตรา ๑๐๕ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน และมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๗ และมาตรา ๑๒๐

คณะองคมนตรีเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งมีจำนวนสามร้อยคนเป็นบัญชีลับเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้ง”

นอกจากนั้นร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล ไม่กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเป็นวุฒิสมาชิกไว้ เมื่อมีผู้ไปถามกรรมการร่างบางคน ก็ได้รับคำตอบว่าแม้คนมีอายุน้อยกว่าที่กำหนดไว้ สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรก็อาจเป็นวุฒิสมาชิกได้ และอีกประการหนึ่งร่างของฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่กำหนดคุณสมบัติสมาชิกไว้ ซึ่งอย่างน้อยก็ควรเท่าเทียมกับสมาชิกผู้แทนราษฎร ผลจึงเป็นว่าวุฒิสมาชิกเป็นอภิสิทธิ์ชน

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล ได้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ก็ได้มีสมาชิกนั้นหลาย ท่านได้อภิปรายคัดค้านร่างของฝ่ายรัฐบาลซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคมเสียงข้างมากในสภานั้นได้รับหลักการร่างรัฐธรรมนูญนั้นในวาระที่หนึ่ง แล้วตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ระหว่างนั้นได้มีผู้แสดงความเห็นคัดค้านการมีวุฒิสภา แต่เสียงข้างมากในกรรมาธิการก็ยังยืนยันตามร่างของฝ่ายรัฐบาล ในที่สุดก็ได้แก้ไขบทที่เกี่ยวกับวุฒิสภาไว้ดังต่อไปนี้

“มาตรา ๑๐๗ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้ที่ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐๗ (๑) และมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งไม่เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๑๖ และมาตรา ๑๑๘

ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา”

ร่างใหม่ของคณะกรรมาธิการของสภาฯ ดังกล่าวนั้น แม้จะขัดต่อเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม และขัดต่อพระราชประสงค์ ตามที่ปรากฏในพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าจะถวายราชอำนาจเช่นนั้น แทนวิธีการที่กล่าวอำพรางไว้ในร่างของฝ่ายรัฐบาลที่ดูประหนึ่งว่าวุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่สภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งขึ้น แต่ทว่าผู้แทนราษฎรถูกจำกัดสิทธิให้เลือกจากบัญชีรายชื่อที่คณะองคมนตรีเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อลับส่งมาให้

เมื่อคณะกรรมาธิการสภาฯ ได้แก้ไขร่างฝ่ายรัฐบาลแล้ว ได้นำเสนอสภาฯ ซึ่งมีการพิจารณาวาระที่ ๒ ในขั้นนี้ได้มีสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายท่านได้คัดค้านการมีวุฒิสภาและเสนอว่าถ้าจะต้องมีวุฒิสภา แล้วก็ขอให้วุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎร แต่เสียงข้างมากของสภาฯ ก็ยืนยันที่จะให้มีวุฒิสภาที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยตามพระราชกระแส

๒.๒ ในระหว่างพิจารณาของสภาฯ ในวาระที่ ๒ ก็ดีและเมื่อพิจารณาวาระที่ ๒ เสร็จแล้วก่อนที่จะพิจารณาวาระที่ ๓ ก็ดี นักเรียนนิสิตนักศึกษาผู้รักชาติรักประชาธิปไตยก็ได้เรียกร้องที่จะให้สภาฯ ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ ๓ ซึ่งนอกจากเหตุผลเกี่ยวกับวุฒิสภาฯ ดังกล่าวแล้ว ก็ได้เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยและเพื่อเอกราชสมบูรณ์ของชาติที่เคยแสดงไว้ก่อนอีกหลายประการ คือ ให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าการให้ทหารต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็ดี การส่งทหารไทยในรูปแบบใดๆ รวมทั้งรูปแบบของทหารอาสาไปยังดินแดนด่างด้าวก็ดี จะต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งเรียกร้องให้ผู้มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และให้ผู้มีอายุครบ ๒๓ ปีบริบูรณ์มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร นักเรียนนิสิตนักศึกษาได้เตรียมที่จะทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานพิจารณายับยั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามร่างที่สมาชิกส่วนมากของสภามีท่าทีจะลงมติในวาระที่ ๓

ในระหว่างเวลาใกล้เคียงกันนั้น บางท่านที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลท่านหนึ่ง ก็ได้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นจำหน่ายจ่ายแจกในประเทศไทยและนำมาจ่ายแจกในต่างประเทศด้วยมีความตอนหนึ่งว่าดังนี้ “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของคณะกู้บ้านกู้เมืองวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๔๗๖ จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖”

ผู้อ่านย่อมเห็นได้ว่าท่านกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้นได้ทำคำขวัญขึ้นยกย่องฐานะของอดีตกบฏตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เสมอด้วยวีรชน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่านผู้นี้ได้ตัดพ้อนักเขียนหนังสือบางเล่มว่าจงใจไม่นำข้อเรียกร้องของพวกกบฏบวรเดชมากล่าวไว้ ฉะนั้นขอให้ท่านทั้งหลายได้ค้นคว้าเอกสาร ข้อเรียกร้องของอดีตกบฏบวรเดชมาอ่านให้ครบถ้วน ท่านจะพบว่าข้อเรียกร้องข้อที่ ๕ ของอดีตกบฏบวรเดชที่ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลพระยาพหลฯ มีว่า

“๕. การเลือกตั้งผู้แทนประเภทที่สอง ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก”

ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ ที่เจริญรอยตาม ได้บัญญัติเรื่องวุฒิสภาไว้ ก็ตรงกับอดีตกบฏตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ต้องการที่จะให้พระมหากษัตริย์ปฏิบัติ ซึ่งขัดกับพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เป็นการขัดกับหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง (ระบอบประชาธิปไตย) คำเรียกร้องของอดีตกบฏบวรเดชกับของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ และฉบับ ๒๕๑๗ ที่เจริญรอยตาม จะต่างกันเพียงวิธีการปลีกย่อย คือฝ่ายอดีตกบฏต้องการให้พระกษัตริย์ลงมาสู่การเมืองโดยตรง คือให้ทรงมีพระราชอำนาจแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ โดยไม่ต้องมีผู้ใดรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ฉบับ ๒๔๙๒ และฉบับ ๒๕๑๗ ใช้วิธีให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ แต่ในสาระก็เหมือนกัน คือต้องการให้พระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันทรงมีพระปรีชาญาณ ทรงรู้แจ้ง ทรงเห็นจริงตามพระราชกระแสดังกล่าวแล้วว่าขัดต่อระบอบประชาธิปไตย

๒.๓ ได้มีผู้แทนหนังสือพิมพ์หลายฉบับ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางท่าน อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลบางท่าน, นักศึกษาบางท่าน, ได้มาถามข้าพเจ้าถึงปัญหาเกี่ยวกับคำเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษาหลายประการ ข้าพเจ้าจึงขอนำคำตอบต่อปัญหาต่างๆ บางประการนั้นมากล่าวสรุปไว้ดังต่อไปนี้

๒.๓.๑ ข้าพเจ้าเห็นว่าคำเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษาฯ ที่ให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า การที่รัฐบาลอนุญาตให้ทหารต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศก็ดีและการส่งทหารไทยในรูปทหารประจำการ หรือทหารอาสาออกไปรบในดินแดนต่างด้าวก็ดี จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภานั้นเป็นคำเรียกร้องที่ถูกต้องตามระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและถูกต้องต่อการรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ เพราะเหตุว่าในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๔ เอง ได้บัญญัติไว้ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภามติให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๓ วรรค ๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

การที่ไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษานั้น ก็เท่ากับให้รัฐบาลซึ่งประกอบด้วยบุคคลไม่กี่คนทำการผูกมัดชาติไทยทั้งชาติในการก่อสถานะสงคราม ซึ่งจะเป็นผลร้ายมาสู่ชาติและราษฎรไทยเป็นส่วนรวม เพราะการที่ให้ทหารต่างด้าวเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อรุกรานประเทศอื่น ก็เท่ากับเป็นการก่อสถานะสงครามขึ้นกับประเทศอื่น และการที่ส่งทหารไทยแม้ในรูปแบบของทหารอาสาออกไปทำการรบในประเทศอื่น ก็เท่ากับเป็นการก่อสถานะสงครามขึ้นเช่นเดียวกัน ประเทศอื่นที่ถูกรุกรานโดยทหารต่างด้าวจากฐานทัพในประเทศไทยก็ดี หรือถูกรุกรานจากทหารไทยซึ่งรัฐบาลไทยกับรัฐบาลด่างด้าวได้ส่งไปรบก็ดีนั้น เขาย่อมถือว่าเขามีสถานะสงครามเกิดขึ้นกับประเทศไทยทำนองเดียวกันกับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งรัฐบาลอันมีจอมพลพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ส่งทหารไปรบกับทหารจีนในดินแดนพม่า และส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดในดินแดนมณฑลยูนานตอนใต้นั้น ประเทศจีนสมัยนั้นก็ถือว่ามีสถานะสงครามเกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งฝ่ายเขาไม่ย่อมเลิกสถานะสงครามง่ายๆ ขบวนเสรีไทยจึงได้ใช้วิธีการหลายประการ ในการทำให้ประเทศจีนยอมเลิกสถานะสงครามกับประเทศไทย

ดังนั้นการที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ ไม่ยอมบัญญัติตามคำเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษา จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้รัฐบาลซึ่งประกอบด้วยบุคคลไม่กี่คนทำการเลี่ยงรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๔ อันเป็นการผูกมัดราษฎรไทยทั้งชาติ และผูกมัดพระมหากษัตริย์องค์พระประมุขของชาติ ซึ่งควรจะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเห็นชอบและไม่เห็นชอบด้วยในการก่อสถานะสงครามแม้โดยไม่ประกาศสงคราม อนึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าถ้ารัฐบาลเห็นว่าการให้ทหารต่างด้าวมาตั้งฐานทัพในประเทศไทยก็ดี การส่งทหารอาสาไปรบในต่างด้าวก็ดีนั้น เป็นสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติแล้ว ก็เหตุใดเล่าจึงไม่กล้าที่จะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าเป็นคุณประโยชน์แท้จริงต่อประเทศชาติแล้ว รัฐสภาก็ต้องให้ความเห็นชอบ

อนึ่ง ข้าพเจ้ายังมีความเห็นในการตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า เมื่อมาตรา ๑๙๕ บัญญัติให้การประกาศสงครามต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว การก่อสถานะสงครามโดยมีทหารด่างด้าวในประเทศไทย และการส่งทหารอาสาไปรบต่างแดนที่ยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงถือว่าเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๔ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่นั่นแหละวิธีตีความตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๕๑๗ ตามมาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐสภาตั้งขึ้น ๓ คน คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้น ๓ คน คณะกรรมการตุลาการดั้งขึ้น ๓ คน รวมเป็น ๙ คนนั้น ท่านผู้อ่านที่ใช้สามัญสำนึกก็เข้าใจได้โดยไม่ยากว่า เสียงข้างมากของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็อยู่ที่ฝ่ายรัฐบาลนั้นเองที่จะตีความรัฐธรรมนูญตามใจชอบ จึงต่างกับที่ข้าพเจ้าเสนอต่อนายกรัฐมนตรีปัจจุบันให้ผู้พิพากษาศาลฎีการวมกันเป็นที่ประชุมใหญ่ประกอบเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราหวังว่าท่านเหล่านั้นจะไม่ต้องอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลในการตีความรัฐธรรมนูญ

๒.๓.๒ ข้อเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่ให้ผู้มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและผู้มีอายุครบ ๒๓ ปีบริบูรณ์มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรได้นั้น ก็ชอบด้วยเหตุผล มิใช่แต่เพียงว่าหลายประเทศประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ได้ลดอายุของผู้มีสิทธิออกเสียงลงมาเป็น ๑๘ ปี เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, สหรัฐอเมริกา, เนเธอร์แลนด์, ลุกแซมเบอร์ก, แคนาดา, ไอร์แลนด์ ฯลฯ แต่เหตุผลอยู่ที่ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นเป็นสมัยที่เพิ่งเริ่มสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้น จึงได้กำหนดอายุผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไว้ ๒๐ ปี และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๒๓ ปี ตามเหตุผลที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวแล้วว่าเพื่อความเสมอกันที่ชายไทยส่วนมากซึ่งต้องรับราชการทหารจะต้องประจำการเป็นเวลา ๒ ปี แล้วอุปสมบท มิฉะนั้นถ้าจะให้ชายไทยอายุ ๒๐ ปี สมัครรับเลือกตั้งแล้ว ก็อาจจะต้องลาจากกรมกองทหารมาทำการเลือกตั้งซึ่งเสียเวลาของทางราชการทหาร (ดูบทความของข้าพเจ้าที่เขียนให้แก่ชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖)

แต่ในคำปรารภที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาลได้เขียนขึ้นก็ดี และที่สภานิติบัญญัติได้เขียนขึ้นก็ดีมีสาระตรงกันคือ ในคำปรารภของฝ่ายรัฐบาลเขียนว่า

“ความคิดเห็นในทางการเมืองของประชาชนชาวไทยได้วิวัฒนาการไปมาก ทั้งนี้ เพราะความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชนทำให้ประชาชนชาวไทยมีความรอบรู้ในทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ประชาชนชาวไทยมีความปรารถนาที่จะเข้ามามีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศเช่นเดียวกับประชาชนในนานาอารยะประเทศทั้งหลาย”

คำปรารภของรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ มีความว่า

“เมื่อกาลเวลาล่วงมา ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น มีความรู้และความคิดอ่านทางการเมืองดีขึ้น จึงมีความตื่นตัวและปรารถนาที่จะมีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศด้วยตนเองขึ้นเป็นลำดับ”

ท่านผู้อ่านย่อมสังเกตได้ว่า เมื่อคำปรารภกล่าวไว้ว่าประชาชนได้รับการศึกษามีความรู้ความคิดอ่านทางการเมืองดีขึ้น มีความตื่นตัว และปรารถนาจะมีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศตนเองขึ้นเป็นลำดับเช่นนี้แล้ว เหตุใดในตัวบทรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๑๕ จึงไม่ใช้ความคิดทางตรรกวิทยาบ้างคือยังคงยืนกรานเหมือนสมัย ๒๔๗๕ ที่การศึกษายังไม่กว้างขวาง คือยืนกรานกำหนดผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ และที่ขัดต่อตรรกวิทยาของคำปรารภอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น ก็คือมาตรา ๑๑๗ ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง ต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ คือมากกว่าฉบับ ๒๔๗๕ ที่กำหนดไว้เพียง ๒๓ ปีบริบูรณ์ ท่านผู้อ่านย่อมสังเกตเห็นได้ว่าคำปรารภของรัฐธรรมนูญเขียนอย่างหนึ่งแต่ปฏิบัติจริงอีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาญาณ ซึ่งได้มีพระราชกระแสไว้ว่า

“๑.๑ ข้อความในคำปรารภนี้เป็นถ้อยคำที่คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำขึ้นถวาย”

และมีพระปรีชาญาณเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ นี้มีข้อความที่ขัดแย้งกันเองมากมายหลายประการ

ข้าพเจ้าได้ถามสมาชิกสภานิติบัญญัติผู้หนึ่งที่ได้พบข้าพเจ้าว่า ท่านส่วนมากที่เห็นควรขยายอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งจาก ๒๓ ปีเป็น ๒๕ ปีนั้นมีเหตุผลอย่างไรบ้าง สมาชิกสภานิติบัญญัติผู้นั้นตอบข้าพเจ้าว่า ไม่เห็นว่าส่วนมากขั้นแสดงเหตุผลอย่างไร เพียงแต่สังเกตว่าเมื่อหลายคนพูดว่ากำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งไว้ ๒๕ ปีเถิด พวกที่ร่วมกลุ่มก็เอา ๒๕ ปีไปตามๆ กัน

๒.๓.๓ ปัญหาที่เกี่ยวกับผู้สมัครต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้น ภายหลังที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาลได้เสนอร่างต่อรัฐบาลแล้ว ได้มีกรรมการในคณะนั้น ๒ ท่านมาพบข้าพเจ้าและสนทนาถึงเรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ถามกรรมการ ๒ ท่านนั้นว่า ผู้ร่างได้อาศัยเหตุผลอย่างใดและได้พิจารณากฎหมายเทียบเคียงรัฐธรรมนูญอย่างไร กรรมการ ๒ ท่านนั้นว่านักวิชาการบางท่านแจ้งว่าการบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองนั้นมีตัวอย่างในรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ข้าพเจ้าจึงถามว่านักวิชาการนั้นได้นำรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มาให้กรรมการทุกคนพิจารณาหรือเปล่า ก็ได้รับตอบว่าเปล่า ข้าพเจ้าเองก็ไม่มีตัวบทรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ที่จะสอบดู จึงได้แจ้งแก่กรรมการฯ ที่มาพบว่า โดยหลักทั่วไปนั้นเกาหลีใต้ปกครองตามระบอบฟัสชิสต์หรือกึ่งฟัสชิสต์ซึ่งจะเอาป็นตัวอย่างแก่การปกครองประชาธิปไตยไม่ได้ ต่อมามีผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาโททางรัฐศาสตร์จากเยอรมันซึ่งเป็นผู้ทำวิทยานิพนธ์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญได้มาเยี่ยมข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้ปรารภถึงปัญหานี้และขอทราบว่าท่านมหาบัณฑิตนี้มีรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้อยู่หรือไม่ ขอยืมให้ข้าพเจ้าพิจารณาด้วย ต่อมาท่านมหาบัณฑิตนี้กลับไปเยอรมันแล้วได้ช่วยจัดการอัดสำเนาถ่ายภาพรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ทั้งฉบับส่งมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้พิจารณาอ่านดูหลายจบก็ไม่พบว่ารัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ได้กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง

-๓-

๓.๑ ในบรรดาท่านที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ นั้น จำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภทคือ

ประเภทที่ ๑ ได้แก่ท่านที่ไม่มีเจตนาขัดพระราชประสงค์และเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม เพราะท่านได้อภิปรายตรงกับพระราชประสงค์ และเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม ในขั้นและวาระต่างๆ ของการประชุมร่างรัฐธรรมนูญตลอดมา แม้ในวาระที่ ๓ จะมีบางท่านที่ลงมติให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ ได้ แต่ท่านก็ได้แถลงไว้ชัดแจ้งว่าในการลงมติเช่นนั้น ก็เพื่อที่จะมีวิถีทางแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ดีกว่าที่จะยังคงใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช ๒๕๑๕

ประเภทที่ ๒ ได้แก่ท่านที่รู้ตัวว่าเมื่อการอภิปรายของตนเป็นที่ขัดพระราชประสงค์และเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม แต่ท่านก็คิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยตามพระราชประสงค์และเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม

ประเภทที่ ๓ ได้แก่ท่านที่มีลักษณะเป็น “ผู้เกินกว่าราชา” (Ultra-Royaist) ประจำอยู่ในนิสัยตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญในขั้นต่างๆ และภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ แล้ว แม้ท่านเหล่านั้นจะทราบพระราชประสงค์ แต่ก็กล่าวบ่ายเบี่ยงไม่ยอมใช้วิถีทางที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ได้ ผลก็คือต้องการให้พระมหากษัตริย์ต้องฝืนพระทัยตั้งวุฒิสมาชิกตามวิธีการที่พระองค์รับสั่งแล้วว่าไม่ทรงเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ท่านประเภทที่ ๓ นี้จึงเข้าลักษณะเรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า “UItra-Royaliste” หรือเรียกย่อว่า “UItras” ซึ่งถ่ายทอดเป็นคำอังกฤษว่า “UItra-Royalist” ซึ่งข้าพเจ้าถ่ายทอดเป็นคำไทยสยามว่า “ผู้เกินกว่าราชา” คือปากว่าเทอดทูนพระราชาธิบดี แต่ทำแสดงว่านิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี

๓.๒ ในประเทศฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๙ ถึง ๑๘๗๕ ได้มี “ผู้เกินกว่าราชา” ที่ได้ทำการขัดแย้งพระราชประสงค์ของพระราชาธิบดีบางพระองค์ที่ได้ทรงปรารถนาจะสละพระราชอำนาจบางอย่างตามระบบศักดินาเพื่อให้ราษฎรมีสิทธิมนุษยชนมากขึ้นกว่าเดิม แต่ “ผู้เกินกว่าราชา” ได้ทำการขัดพระราชประสงค์โดยต้องการให้ราชาธิบดีคงสงวนอำนาจศักดินาไว้ให้มากที่สุด จึงเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บูร์บองต้องล้มไปใน ค.ศ. ๑๗๙๒ แม้สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์นั้น ได้ฟื้นคืนมาอีกหลายครั้งแด่ก็ต้องล้มไปอีกและในที่สุดเมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๕ สถาบันพระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสก็สลายไป จนกระทั่งปัจจุบันนี้

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ( ค.ศ. ๑๙๗๒ ) ข้าพเจ้าได้อ้างไว้ในคำปรารภของหนังสือชื่อ “บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฯ” ถึงการที่พระราชวงศ์บูร์บองมีทางฟื้นขึ้นมาอีก ภายหลังที่นโปเลียนที่ ๓ ต้องสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๘๗๐ แต่เพราะเหตุจากการกระทำของ “ผู้เกินกว่าราชา” ได้ทำให้สะเทือนถึงฐานะของพระราชวงศ์ ราชวงศ์บูร์บองที่ต้องสลายไปใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ข้าพเจ้าจึงขอคัดความตามที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในตอนนั้นมาพิมพ์ไว้ข้างท้ายนี้ดังต่อไปนี้

ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสปรากฏว่าระหว่างเวลา ๘๐ ปีนับตั้งแต่การอภิวัฒน์ใหญ่ในฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ ถึง ค.ศ.๑๘๗๐ นั้น ราชวงศ์บูร์บองได้กลับมาครองราชย์หลายครั้ง ต่อมาเมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๐ นโปเลียนที่ ๓ แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ตได้สละราชสมบัติเนื่องจากแพ้เยอรมัน ฝ่ายเจ้าสมบัติเมื่อได้ปราบปรามขบวนการสหการปารีสสำเร็จแล้ว ก็ได้จัดให้มีระบบรัฐสภา ซึ่งเสียงส่วนข้างมากเป็นผู้นิยมราชวงศ์บูร์บอง แต่ฝ่ายพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น ได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ และเรียกร้องเกินเลยไป

แม้เรื่องธงชาติก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสีมาใช้ธงขาวประกอบด้วยรูปดอกไม้สามแฉก (คล้ายดอกบัวดิน) ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า “Fleurs de lis” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะราชวงศ์บูร์บอง (ปัจจุบันนี้มีบางคนที่อ้างว่าจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์จักรีเมื่อได้ผ่านไปตามถนนราสปายล์กรุงปารีส เห็นมีการเขียนเป็นประจำตามกำแพงบริเวณนั้นด้วยรูปดอกไม้ชนิดนั้นพร้อมด้วยคำขวัญว่า “Vive le Roi” แปลว่า “ขอให้พระราชาธิบดีจงเจริญ” อันเป็นคำเรียกร้องของผู้นิยมราชวงศ์บูร์บอง ไม่ใช่ราชวงศ์โบนาปาร์ต บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่ารูปดอกไม้นั้นเป็นเครื่องหมายของระบอบราชาธิปไตยทั่วไปจึงพลอยถือเอารูปดอกไม้นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งราชาธิปไตยของไทยด้วย โดยไม่สำนึกว่าพระราชวงศ์จักรีมีเครื่องหมายเป็นรูปจักรกับตรี เรื่องจึงจะกลายเป็นว่าบางคนที่อ้างว่าจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์จักรีแต่ไปถือเครื่องหมายสำหรับสักการะบูชาราชวงศ์บูร์บอง ก่อนที่รัฐสภาฝรั่งเศสจะลงมติใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ว่าจะสถาปนาพระราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกหรือไม่นั้นดังกล่าวแล้ว สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (Duc de Magenta) ได้มีรับสั่งเดือนผู้นำที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีและอ้างว่ารู้พระราชหฤทัยต่างๆ นั้นว่าถ้าพวกนั้นต้องการจะเอาธงขาวมีรูปดอกไม้ ชนิดนั้นมาใช้แทนธงสามสีแล้ว ทหารปืนยาวก็จะเดินแถวไปตามลำพังโดยปราศจากธงประจำ แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคำเตือนของสมเด็จเจ้า จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมส่วนมากปรารถนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นอีกนั้นต้องลดน้อยลงไป แม้กระนั้นเมื่อถึงเวลาลงมติฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐชนะเพียง ๑ เสียงเท่านั้น

ถ้าหากผู้ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาเด่นของตนแล้ว ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก ดังนั้นพวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีจึงมิเพียงแต่เป็นพวกที่ทำให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น หากยังทำให้ราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์บูร์บองสลายไปตั้งแต่กระนั้นจนถึงปัจจุบันนี้

๓.๓ ถ้าเราวินิจฉัยรากฐานแห่งทรรศนะแท้จริงของ “ผู้เกินกว่าราชา” ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสโดยนำหลักจิตวิทยาทางสังคมมาประยุกต์ ทรรศนะของบุคคลดังกล่าวนั้นก็ตั้งบนรากฐานแห่งซากทรรศนะทาสและซากทรรศนะศักดินาที่เกาะแน่นอยู่ในจิตใจอันเป็นมรดกสืบทอดมาช้านานประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งรากฐานแห่งการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนที่จะอาศัยพระราชาธิบดีเป็นข้ออ้างเพื่อที่ตนจะได้ประโยชน์ส่วนตนตามทรรศนะความเห็นแก่ตัว (Egoist concept) ยิ่งกว่าที่จะคำนึงถึงผลสะท้อนออกมาสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในประวัติศาสตร์ปรากฏว่าหลายคนที่แสดงว่าเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น เมื่อราชวงศ์บูร์บองได้ล้มไปขณะหนึ่ง โดยมีราชวงค์โบนาปาร์ตขึ้นมาแทนที่แล้ว

พวกที่เป็น “ผู้เกินกว่าราชา” ก็หันไปสนับสนุนราชวงศ์โบนาปาร์ต เมื่อราชวงค์โบนาปาร์ตล้มไปก็หันไปสนับสนุนราชวงศ์บูร์บอง เมื่อราชวงศ์บูร์บองฟื้นขึ้นมาอีกก็ไปสนับสนุนราชวงศ์นั้น ดังนั้นพระราชาธิบดีแห่งพระราชวงศ์บูร์บองบางองค์จึงนำตัวคนที่กลับกลอกนั้นส่งศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต บางคนเมื่อเห็นว่าระบอบสาธารณรัฐฝรั่งเศสจะเป็นประโยชน์แก่ตน ก็สละราชวงศ์บูร์บองหรือราชวงศ์โบนาปาร์ตมาเข้าข้างสาธารณรัฐ และเมื่อสาธารณรัฐล้มลงชั่วขณะ ก็หันไปเข้าข้างราชวงศ์บูร์บองหรือราชวงศ์โบนาปาร์ตสุดแท้แต่ว่าระบอบใดราชวงศ์ใดจะช่วยให้ตนได้ประโยชน์

ข้าพเจ้าขอสรรเสริญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงพระปรีชาญาณยิ่งกว่าพระราชาธิบดีฝรั่งเศสหลายองค์ ในการที่พระองค์ได้พระราชทานกระแสเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ ดังกล่าวนั้น

๓.๔ ท่านที่ได้ติดตามข่าวการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ขั้นคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นก็จะเห็นได้ว่ามีประชาชนจำนวนมากหลายได้แสดงความเห็นที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับวุฒิสภานั้น ความเห็นของประชาชนที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์นั้นส่วนข้างมากเห็นว่า ไม่ควรมีวุฒิสภา คือให้มีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว ถ้าหากจะให้มีวุฒิสภาก็ให้วุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่ได้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรับเลือกตั้งจากราษฎร แต่ความเห็นของประชาชนที่แสดงออกดังกล่าวนี้ของฝ่ายรัฐบาลและรัฐบาลเอง ซึ่งรวมจำนวนคนไม่กี่คน ไม่เห็นชอบด้วย จึงได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยถือฉบับ ๒๔๙๒ เป็นแบบฉบับ และถ้าท่านผู้อ่านได้เทียบเคียงรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ กับฉบับ ๒๕๑๗ แล้วจะเห็นได้ว่า ส่วนมากของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ๒๕๑๗ ได้คัดลอกมาจากรัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ ทั้งดุ้นทีเดียว จะนั้นผลก็คือมีบทบัญญัติที่ขัดพระราชประสงค์ตามพระราชกระแสดังกล่าวแล้ว

ท่านที่ถือว่ารัฐธรรมนูญ ๒๔๙๒ เป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้นย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ก็สืบต่อมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งมีฉายาว่า รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม นั้นเอง

บางท่านได้โฆษณาว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ได้ร่างขึ้นโดยสิ่งที่เรียกว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” แต่ท่านที่เป็นนักวิชาการย่อมรู้อยู่ว่า สิ่งนั้นได้ตั้งขึ้นโดยรัฐสภาของรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม ซึ่งประกอบด้วยวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกได้รับแต่งตั้งโดยรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และสภาผู้แทนซึ่งสมาชิกต้องมีอายุอย่างต่ำ ๓๕ ปี และเมื่อสิ่งที่เรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นพิจารณาเสร็จแล้วก็นำเสนอรัฐสภาตามฉบับใต้ตุ่มนั่นเองเป็นผู้ลงมติ ฉะนั้นนักวิชาการรัฐธรรมนูญย่อมรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญนั่นคือ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ” ของรัฐสภาฉบับใต้ตุ่มนั่นเอง

ท่านย่อมรู้ดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ มิใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโดยพระองค์เอง แต่คณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๔๙๐ หรือฉบับใต้ตุ่ม) ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ลงนามในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อภิรัฐมนตรีที่ลงนามนี้คือ (พิมพ์ตามชื่อที่ลงนามประกาศรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒)

รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฏ
ธานีนิวัติ
พระยามานวราชเสวี
อดุลเดชจรัส

๓.๕ ท่านที่เข้าลักษณะเป็น “ผู้เกินกว่าราชา” นั้น แม้จะได้รับทราบพระราชกระแส แต่ก็ยังบ่ายเบี่ยงที่จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามพระราชประสงค์และเจตนารมณ์ของวีรชน ๑๔ ตุลาคม หลายท่านบ่ายเบี่ยงว่าจะต้องทำการแก้ไขภายหลังได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน การบ่ายเบี่ยงเช่นนี้ นอกจากเป็นการฝืนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ตั้งวุฒิสมาชิก โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ผลแห่งการบ่ายเบี่ยงเช่นนี้ ก็เป็นการยากที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามพระราชประสงค์ เพราะวุฒิสมาชิกเข้ามามีบทบาทประกอบเป็นรัฐสภาอยู่ด้วย

ถ้าคณะรัฐมนตรีจงรักภักดี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริงแล้ว ก็มีทางทำได้ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องฝืนพระราชหฤทัยตั้งวุฒิสมาชิกตามวิธีการที่พระองค์ไม่พึงประสงค์ คือคณะรัฐมนตรีมีสิทธิเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๒๘ และสภานิติบัญญัตินั้นเอง มีหน้าที่เป็นรัฐสภาตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๒๓๔ ถ้าทำได้ดังนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ต้องฝืนพระราชหฤทัยตั้งวุฒิสมาชิกตามวิธีการที่พระองค์ไม่พึงประสงค์ และพร้อมกันนั้นคณะรัฐมนตรีก็สนองข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามเจตนารมณ์ ๑๔ ตุลาคมด้วย

ชานกรุงปารีส
๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๗
ปรีดี พนมยงค์

 

บรรณานุกรม :

  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน แปลโดยจำนงค์ ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่ (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529)
  • วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ บรรณาธิการ, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535)