ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ พ.ศ. 2489 กำเนิด หลักการ และแนวคิดของคณะราษฎร

9
พฤษภาคม
2567

Focus

  • 9 พฤษภาคม 2489 วันสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ พ.ศ. 2489 มีพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย​
  • บทความนี้จะนำเสนอรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ พ.ศ. 2489 กำเนิด หลักการ และแนวคิดของคณะราษฎร ซึ่งเป็นอีกผลงานสำคัญในการวางหลักรัฐธรรมนูญตามแนวทางของรัฐบาลคณะราษฎรและนายปรีดี พนมยงค์เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่แนวทางการสร้างหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์และพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรม
  • การศึกษากำเนิด หลักการ และแนวคิดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการศึกษาผ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ได้แก่ 1. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 2. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ที่ประกาศใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา

 


พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

 

การสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เกิดขึ้นในรัฐบาลสมัยคณะราษฎรจากการริเริ่มของนายปรีดี พนมยงค์ โดยรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 มีรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างความเป็นธรรม และมีเจตจำนงเพื่อคืนอำนาจสู่ปวงชน ซึ่งมีหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ แยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง ระบบสองสภาฯ คือสภาผู้แทนราษฎรกับพฤฒสภาต้องมาจากการเลือกตั้งของราษฎร และในทางอุดมคติให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ ที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้ว่าจะมีถึง 96 มาตราแต่ได้ใช้ถ้อยคำกระชับ ชัดเจน และไม่ฟุ่มเฟือย แต่รัฐธรรมนูญที่ฉบับนี้กลับประกาศใช้บังคับอยู่ในระยะเวลาอันสั้นคือ ประมาณ 18 เดือนช่วงระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยถูกล้มเลิกด้วยคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลคณะราษฎรและให้กำเนิดรัฐธรรมนูญแบบอำนาจนิยมที่มีหลักการสำคัญบางประการที่เอื้ออำนาจต่ออำมาตยาธิปไตยและยังคงหลักการไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

กำเนิด หลักการ และแนวคิดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เริ่มต้นมาจากแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์  เมื่อ พ.ศ. 2488 ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่า ถึงเวลาแล้วที่จะได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ที่ใช้กันอยู่นั้นเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายควงจึงนำแนวคิดของนายปรีดีไปปรึกษาหารือกับสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองพร้อมกับสมาชิกคณะราษฎรและได้เสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 โดยขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมประการใดบ้าง อาทิ สมควรยกเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่ได้หรือยัง หรือควรมีสภาเดียวหรือสองสภา เป็นต้น

คณะกรรมธิการฯ ชุดนี้ได้ทำหน้าที่ตลอดสมัยรัฐบาลของนายควงสมัยแรก และในสมัยถัดมาของรัฐบาลทวี บุณยเกตุ กระทั่งในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงมีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมและเรียบเรียงบทบัญญัติที่เสนอไว้ขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ

 


ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอในสภาฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489

 

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 จึงมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารับหลักการในวาระแรก โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 7 นาย เช่น พระยามานวราชเสวี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  นายดิเรก ชัยนาม และ นายทองเปลว ชลภูมิ

จากรายงานของของคณะกรรมการวิสามัญฯ ในการร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ชี้ถึง

 

ความสมเหตุสมผลที่จะต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 7 ประการ ได้แก่

  1. ให้ยกเลิกสมาชิสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง
  2. ยกเลิกบทบัญญัติซึ่งกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง
  3. กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติมีสองสภา คือสภาอาวุโส และสภาผู้แทน
  4. สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งโดยตรง
  5. สภาอาวุโสประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรได้เลือกตัวแทนของตนมาทำการเลือกตั้ง
  6. คณะรัฐมนตรีนั้นพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง โดยประธานสภาผู้แทน และประธานสภาอาวุโส เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้น ไม่จำต้องเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  7. รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกสภาอาวุโส จะเป็นข้าราชการประจำมิได้

 

    การประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งนี้ได้รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระต่อไปจำนวน 15 นาย โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ เมื่อถึงการอภิปรายในวาระที่ 3 ของการประชุมสภาฯ ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2489 มีการขอปรึกษาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้นตกลงเห็นสมควรประกาศใช้ฯ ได้หรือไม่ และมีการลงมติจากสมาชิกสภาฯ จำนวน 190 นาย มีผู้เห็นชอบด้วยกันกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จำนวน 165 นาย และมีผู้ไม่เห็นชอบด้วยเพียง 1 นาย คือ หลวงกาจสงคราม ซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในผู้นำของการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

     

    สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญที่สืบต่อหลักการจากปฐมรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พ.ศ. 2475 และเป็นแม่แบบให้แก่รัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือ ฉบับปี 2517 และฉบับปี 2540 ได้แก่

    1. การแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง โดยให้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง
    2. กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และ พฤฒสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ มาจากการเลือกตั้ง
    3. นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีบทบัญญัติให้มีการตั้งคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 15 คน เพื่อทำหน้าที่ตีความว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญ ก่อนที่สังคมไทยจะมีศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ อีก 50 ปีหลังจากนั้น
    4. ให้เสรีภาพในการนับถือลัทธินิยมตามมาตรา 13 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนาหรือลัทธินิยมใด ๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน
    5. รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตยเพราะพฤฒสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา
    6. คำในรัฐธรรมนูญ กระชับ ชัดเจน และไม่ฟุ่มเฟือย

     


    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489

     


    ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
    ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489

     

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของไทยตราขึ้นเป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมของปีเดียวกัน

     


    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
    ประกาศใช้ในราชกิจจจานุเบกษา

     

    ต่อมานายปรีดีชี้ให้เห็นถึงหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ว่าสืบต่อมาจากปฐมรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 และมีลักษณะประชาธิปไตยสมบูรณ์ รวมทั้งไม่เป็นอำมาตยาธิปไตยไว้ดังต่อไปนี้

     

    “...รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ตราขึ้นโดยถูกต้องตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม ทุกประการ ดังนั้น ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่ได้สถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม 2489 จึงเป็นระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นโดยสืบต่อมาจากธรรมนูญการปกครองฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475

    “...รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ไม่ใช่อำมาตยาธิปไตยเพราะพฤฒสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา จึงไม่ใช่ 'อำมาตย์' และมาตรา 24 กับ 29 กำหนดไว้ว่าพฤฒสมาชิกและสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

     

    และนายปรีดียังได้กล่าวถึงการตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมไว้ว่า

     

    มวลราษฎรย่อมต้องการตุลาการรัฐธรรมนูญที่ทรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ปัญหาสําคัญอยู่ที่การตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญนั้น จะใช้วิธีใดจึงจะได้ตุลาการที่ให้ความเป็นธรรมในการตีความรัฐธรรมนูญได้

     

    และจากการศึกษาของหยุด แสงอุทัย มองว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเดิม ไม่ได้แก้ไขจนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ส่วนวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489 ไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักความเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะยังคงรักษารูปของรัฐแบบเดิม รักษารูปแบบการปกครองเดิมเพียงมีการกำหนดองค์กรในรัฐธรรมนูญบางองค์กรใหม่ และจัดความสัมพันธ์เชิงองค์กรใหม่ และในมุมของนักกฎหมายรุ่นใหม่มีข้อสังเกตว่า ควรพิจารณามาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ประกอบด้วย

    ข้อเด่นที่สุดซึ่งสะท้อนหลักประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปรีดี ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงทางอำนาจนิติบัญญัติ คือ มีระบบ 2 สภา ได้แก่ พฤฒสภา และสภาผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยพฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร จำนวน 80 คน ยกเว้นในวาระแรกตามบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภา ทั้งนี้จะอยู่ในวาระ คราวละ 6 ปี และเมื่อครบ 3 ปี ให้จับฉลากออกกึ่งหนึ่ง

    “พฤฒสภา” มีหน้าที่ในการยับยั้งพระราชบัญญัติและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี  ส่วนสภาผู้แทน ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎร ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

    และสาระสำคัญอื่น คือ เปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์กลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้ ห้ามข้าราชการประจำเป็น ส.ส. ให้เสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง และให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติเป็นครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วยประธานฯ หนึ่งคน และตุลาการฯ จำนวน 14 คน มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้

     


    สุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ แสดงในสภาผู้แทนราษฎร 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
    ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี และอ่านได้ที่ https://pridi.or.th/th/libraries/1587044950

     

    อุดมคติเรื่องหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ ปรากฏครั้งแรกในสุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ ณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2489  ขณะที่“แนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์” เมื่อ พ.ศ. 2489 นั้นอยู่ในบริบทที่ผ่านยุคการเมืองภายในที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลคณะราษฎร ปีกทหาร ซึ่งปกครองแบบอำนาจนิยม มีการเจรจาปรึกษาหารือน้อย และขาดการประนีประนอมกับหลายฝ่ายดังเช่นที่เคยทำในช่วงต้นของการอภิวัฒน์สยาม จึงส่งผลให้ปรีดีเสนอแนวคิดและหลักการประชาธิปไตยในบริบทดังกล่าวไว้ว่า ประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต โดยอธิบายแนวคิดประชาธิปไตยของคณะราษฎรในทศวรรษ 2480 ว่า

     

    “...หมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม”

     

    และยกตัวอย่างซึ่งสะท้อนเป็นนัยของการปกครองโดยรัฐบาลอำนาจนิยมก่อนหน้านี้ว่า

     

    “...การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชะนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย…”

     

    สุนทรพจน์ของปรีดีครั้งนี้ ชี้ให้เห็นที่มาและหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 อย่างแยบคายและมีเป้าหมายเพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลของนายปรีดี ส่งให้กรมโฆษณาการเผยแพร่สุนทรพจน์ฉบับนี้ไปยังทุกส่วนราชการ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 300 แผ่น อีกด้วย

     


    กรมโฆษณาการส่งสุนทรพจน์ของปรีดี พนมยงค์ เผยแพร่ไปยังทุกส่วนราชการ
    ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

     

    และในช่วงบั้นปลายของชีวิตนายปรีดียังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ถึงผลภายหลังการประกาศใช้บังคับไว้ดังนี้

    1) ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับนั้นแล้ว คณะราษฎรก็พ้นจากหน้าที่บริหารและหมดหน้าที่ในการมีส่วนควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน คือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามคำเสนอของรัฐบาล

    ฉะนั้น ผู้ก่อการฯ หรือ สมาชิกคณะราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกประเภทที่ 2 ในสภาฯ นั้นจึงหมดหน้าที่ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป รัฐสภาตามรัฐธรรมนูญใหม่นั้นประกอบด้วยสภาผู้แทนและพฤฒสภาซึ่งสมาชิกเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร

    ผู้ก่อการฯ หรือสมาชิกคณะราษฎร จึงแยกย้ายกันไปประกอบธุรกิจของตนคือ ส่วนหนึ่งไปประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง อีกส่วนหนึ่งสมัครใจรับใช้ชาติทางการเมือง โดยสังกัดพรรคการเมืองต่างๆ ตามทรรศนะคติของแต่ละคน อาทิ ‘นายควง อภัยวงศ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์, ‘พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคแนวรัฐธรรมนูญ, ‘นายสงวน ตุลารักษ์’ กับเพื่อนส่วนหนึ่งสังกัดพรรคสหชีพ ฯลฯ

    ส่วนผมมิได้สังกัดพรรคใด ดังนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง 9 พ.ค. 2489 จึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะราษฎร ฉะนั้น บุคคลใดในสังกัดหรือไม่สังกัดพรรคใด แต่ถ้าเป็นรัฐบาลภายหลังวันดังกล่าวนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นต่อการบริหารของตน อาทิ ผมเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 22 ส.ค. 2489 ผมก็รับผิดชอบในนามของผมเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น พล ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 29 ส.ค. 2489 ถึง 8 พ.ย. 2490 ก็รับผิดชอบในนามของตนเองและของรัฐบาลจนถึงวันนั้น

    ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคณะราษฎรที่สลายไปแล้ว ฉะนั้นจึงไม่เป็นธรรมที่จะให้นายควงฯ หรือผู้ก่อการฯ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดังกล่าวรับผิดชอบด้วย

    2) ระบอบประชาธิปไตยได้หยุดชะงักลงตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2490 โดยมีระบอบปกครองที่มิใช่ประชาธิปไตย ซึ่งบุคคลและคณะบุคคลที่สถาปนาระบอบปกครองชนิดดังกล่าวนั้น รวมทั้งผู้นิยมชมชอบด้วยต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย

    แต่ชีวิตทางการเมืองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มีระยะเวลาบังคับใช้เพียง 1 ปี 6 เดือน​เท่านั้นเพราะถูกล้มเลิกโดยคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แม้ต่อมาจะมีขบวนการประชาธิปไตย พ.ศ. 2492 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ก็ไม่อาจต้านทานระบอบอำนาจนิยมหลังทศวรรษ 2490 ได้จึงนำไปสู่การสิ้นสุดของยุครัฐบาลภายใต้หลักการของคณะราษฎร

     

    หมายเหตุ:

    • คงอักขรและวิธีการสะกดตามต้นฉบับ
    • คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ, ราชกิจจานุเบกษา, สถาบันปรีดี พนมยงค์ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

     

    บรรณานุกรม

    เอกสารชั้นต้น :

    • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2489, เล่ม 63, ตอนที่ 30, หน้า 118-168. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/030/318.PDF. เข้าถึงเมื่อ 6 พฤษภาคม 2567.
    • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 7/2489 วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2489  ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73226 เข้าถึงเมื่อ 6 พฤษภาคม 2567.
    • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 35/2489 วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489  ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73256 เข้าถึงเมื่อ 6 พฤษภาคม 2567.

    หนังสือภาษาไทย :

    • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย: 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544)
    • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2535)
    • ไพโรจน์ ชัยนาม, รัฐธรรมนูญ บทกฎหมายและเอกสารในทางการเมืองของประเทศไทย เล่ม 1, (กรุงเทพ: สํานักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2519)
    • วาณี พนมยงค์-สายประดิษฐ์ บรรณาธิการ, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535)
    • หยุด แสงอุทัย, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พร้อมด้วยคำอธิบาย, (พระนคร : สำนักงานประชานิติ, 2489)

    วิทยานิพนธ์ :

    • ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, “การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ,” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530)
    • วิเชียร เพ่งพิศ, “แนวความคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญของปรีดี พนมยงค์,” (วิทยานิพนธ์ นิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559)

    สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

    • ปรีดี พนมยงค์. (21 ตุลาคม 2563). วิธีร่างรัฐธรรมนูญแบบปรีดี พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/content/2020/10/465, เข้าถึงเมื่อ 7 พฤษภาคม 2567.