ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

หลักการ นโยบาย และปฏิบัติการสันติภาพของปรีดี พนมยงค์

21
กันยายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอให้เห็นความคิดสันติภาพไทยร่วมสมัยเพื่อพิจารณาว่า สังคมไทยมีจุดตั้งต้นความคิดสันติภาพที่สอดรับกับสากลและหลักการ กฎบัตรของสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอย่างไร ผ่านหลักการ นโยบาย และปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของนายปรีดี พนมยงค์ ปรากฏชัดเจนในช่วงต้น พ.ศ. 2480 ถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยนายปรีดีได้เสนอหลักการ และแนวทางสันติภาพเชิงนโยบายผ่านเอกสารทางการ ข้อเขียน และประกาศสันติภาพ ขณะที่ปฏิบัติการสันติภาพผ่านขบวนการเสรีไทย และร่วมวางแนวทางการเจรจาสันติภาพภายหลังสงคราม
  • เอกสาร ข้อเขียน และสุนทรพจน์สำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ที่สะท้อนความคิดสันติภาพของนายปรีดีในบทความนี้เสนอไว้จำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ เอกสารภาษาฝรั่งเศสชื่อ  Le Siam Pacifiste et la Politique Etrangère du Gouvernement Siamois (ประเทศสยามผู้รักความสงบ และนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสยาม)  พ.ศ. 2480 หนังสือ King of the White Elephant และภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก พ.ศ. 2483-2484 ประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และ “สุนทรพจน์ของรู้ธ” ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 

 

 

ปรีดี​ พนม​ยงค์​ หัวหน้า​ขบวนการ​เสรีไทยในประเทศ​ รับความเคารพ​จากขบวนสวนสนามเสรีไทย​ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2488 เบื้องหลังมี ม.ร.ว.เสนีย์​ ปราโมช​ พล.ต.อ. อดุล​ อดุล​เดช​จรัส​ พล.ท.ชิต มั่น​ศิลป์​ สินาดโยธา​รักษ์​ และ พล.ร.อ.สินธุ์​ กมล​นาวิน

ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)​ .

 

 

  ภาพวันสวนสนามพลพรรคเสรีไทย บริเวณถนนราชดำเนิน-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ณ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2489

ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)​ .

 

บทความนี้เสนอให้เห็นความคิดสันติภาพไทยร่วมสมัยเพื่อพิจารณาว่า สังคมไทยมีจุดตั้งต้นความคิดสันติภาพที่สอดรับกับสากลและหลักการ กฎบัตรของสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศอย่างไร ผ่านหลักการ นโยบาย และปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของนายปรีดี พนมยงค์ ปรากฏชัดเจนในช่วงต้น พ.ศ. 2480 ถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  โดยนายปรีดีได้เสนอหลักการ และแนวทางสันติภาพเชิงนโยบายผ่านเอกสารทางการ ข้อเขียน และประกาศสันติภาพ ขณะที่ปฏิบัติการสันติภาพผ่านขบวนการเสรีไทย และร่วมวางแนวทางการเจรจาสันติภาพหลังสงครามเป็นสำคัญ

 

ผลทางการเมืองของสงครามโลก ครั้งที่ 2

ผลจากสงครามโลก ครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้ส่งผลสำคัญต่อการเมืองการปกครองไทย 2 ประการ

ประการแรก สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา มีผลต่อนโยบายและเกมการเมืองภายในของไทย ทั้งในขณะนั้นและ 10 ปีถัดมารวมทั้งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในฝ่ายต่าง ๆ และการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองแล้วแบ่งกลุ่มการเมืองใหม่

ประการที่สอง กำเนิดความคิดสันติภาพไทยที่เชื่อมโยงกับความคิดสันติภาพสากลและชาติ โดยมีนโยบาย หลักการ และปฏิบัติการสันติภาพจากนายปรีดี พนมยงค์ และขบวนการเสรีไทยเป็นหมุดหมายหลัก

 

หลักการ นโยบาย และปฏิบัติการสันติภาพของปรีดี พนมยงค์

โดยผ่านความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ ในข้อเขียนและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังนี้

1. เอกสารภาษาฝรั่งเศสชื่อ Le Siam Pacifiste et la Politique Etrangère du Gouvernement Siamois  (ประเทศสยามผู้รักความสงบ และนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสยาม)  พ.ศ. 2480

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2480 กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้พิมพ์เอกสารเล่มภาษาฝรั่งเศสชื่อ Le Siam Pacifiste et la Politique Etrangère du Gouvernement Siamois โดยมีคำอธิบายในปกด้านในว่า “ข้อความจากสุนทรพจน์และคําแถลงต่อหนังสือพิมพ์ของ ฯพณฯ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสยาม” ซึ่งในเอกสารฯ ได้สะท้อนความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ ใน พ.ศ. 2480 ที่ยังผูกโยงกับระบอบรัฐธรรมนูญในสมัยคณะราษฎร โดยแสดงให้เห็นจากในคํากล่าวบางตอนของปรีดี เรื่อง สันติภาพ ธรรมะ ศีลธรรม รัฐธรรมนูญ จากในเอกสาร  Le Siam Pacifiste et la Politique Etrangère du Gouvernement Siamois  ไว้ดังนี้

 

ทุกคนเชื่อถือเราเพราะทุกคนทราบว่า ระบอบรัฐธรรมนูญเป็นระบอบที่อาจนําสันติภาพมาให้มนุษยชาติได้ ทุกคนรู้ว่าเราฟังเสียงของประชาชนแทนที่จะกระทําในลักษณะอําเภอใจ เขารู้ว่าประชาชนปรารถนาความสุขและรู้ว่าเราเป็นผู้นํา ความสุขในรูปอุดมคติคือ สันติภาพ (สันติสุข) มาให้ประชาชน

และ

 “รัฐธรรมนูญเป็นธรรมะอันสูงสุดแห่งการที่ประชาชนชาวสยามจะดํารงคงอยู่ได้เป็นประเทศเอกราช ท่านที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ คือ ท่านที่ปฏิบัติตามธรรมะ ผลานิสงส์พึงบังเกิดแก่ท่านเอง

 

2. หนังสือ King of the White Elephant  (พระเจ้าช้างเผือก)  โดยนายปรีดี พนมยงค์ พิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2484  ซึ่งนายปรีดีเขียนขึ้นในบริบทของสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพื่อเสนอแนวคิดสันติภาพและต่อต้านสงคราม ต่อมานายปรีดีได้จัดสร้างเป็นภาพยนตร์เสียงขาว-ดำ เรื่องพระเจ้าช้างเผือกโดยนายปรีดีได้กล่าวถึงสาระสำคัญแห่งความปรารถนาในการจัดสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกไว้ในเอกสารส่วนบุคคลฯ ว่า

คือการคัดค้านสงครามและส่งเสริมสันติภาพกับการแสดงถึงวัฒนธรรมของไทยกับบทบาทของช้าง...

 


หนังสือ King of the White Elephant  (พระเจ้าช้างเผือก)  โดยนายปรีดี พนมยงค์
       พิมพ์โดยโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2484
ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)​ .

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิเคราะห์หนังสือเล่มนี้ไว้ว่า

ผมคิดว่าเป้าหมายของท่านในเวลานั้นคือ ต้องการบอกให้มหาอำนาจในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษและอเมริการับรู้ว่าไทยหรือสยามอยู่ตรงไหนในบรรยากาศของสงครามและการแบ่งค่ายในโลก ช่วงนั้นจะเป็นช่วงประมาณที่นามทางราชการของประเทศสยาม-Siam จะถูกเปลี่ยนเป็นประเทศไทย-Thailand”

สงครามกำลังคืบคลานเข้ามาในอุษาคเนย์ สงครามได้เกิดขึ้นในยุโรป กองทัพเยอรมันบุกโปแลนด์ แล้วก็เข้ายึดครองฝรั่งเศส สงครามเกิดในเมืองจีนแล้วเช่นกัน กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้าแมนจูเรีย ยึดเกาหลีและไต้หวันไว้เป็นเมืองขึ้น สงครามกำลังเข้ามาในภูมิภาคเรา ดังนั้นในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานนี้ ท่านปรีดีก็ต้องการแสดงจุดยืนว่าประเทศไทยรักสันติภาพ ฉะนั้น The King of the White Elephant หรือ พระเจ้าช้างเผือก ของท่านจึงพยายามส่ง messages ในแง่ว่า “สงครามและสันติภาพ” นั้นเราชาวไทยต้องการ “สันติภาพ”

ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายประมาณเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 และประเทศไทยถูกบุก กองทัพญี่ปุ่นบุกตลอดแนวอ่าวไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.  2484 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในเกาะฮาวายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไป แล้วก็เข้าโจมตีมลายู กับสิงคโปร์ของอังกฤษส่งผลให้ฝ่ายอักษะมุ่งตรงมาที่ประเทศไทยจเพราะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกองทัพญี่ปุ่นที่จะยาตราทัพเข้าสู่มลายูและประเทศสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการประกาศเข้าสู่สงครามและเข้ากับฝ่ายอักษะของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม และการเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะและกองทัพญี่ปุ่นจึงต้องยอมให้มีการสร้างรถไฟสายมรณะ (Death Railways) สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว  (Bridge on the River Kwai) และในอีกทางหนึ่งคือ นายปรีดีได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย (Free Siamese Movement หรือ Free Thai Movement) เพื่อปฏิบัติการสันติภาพ รักษาเอกราชอธิปไตย และต่อต้านกองืัพญี่ปุ่น

ในทางการเมืองระยะนี้นายปรีดีถูกโยกย้ายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 8 และทำให้ปฏิบัติการสันติภาพในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศได้ราบรื่นยิ่งขึ้นรวมถึงยังได้แนวร่วมการสร้างสันติภาพจากพระบรมวงศานุวงศ์อีกจำนวนหนึ่ง

 

3. ประกาศสันติภาพ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2487)

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 ได้เสนอถึงการประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ว่าเป็น โมฆสงคราม ในประกาศนี้ได้เสนอความคิดสันติภาพในทางสากล และเชื่อมโยงประชาชนไว้ว่า

เหตุการณ์อันปรากฏเป็นสักขีพยานนี้ ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้ ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติ ดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว

 

ประกาศสันติภาพ
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา

 

4. “สุนทรพจน์ของรู้ธ” คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อผู้แทนพลพรรคที่ธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2488

คำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับนี้ สะท้อนแนวคิดสันติภาพอันถาวร แนวคิดสนองคุณชาติบ้านเมืองของนายปรีดี และขบวนการเสรีไทย รวมทั้งมีความประนีประนอมอย่างสูงและเสนอว่าชัยชนะครั้งนี้อันเนื่องมาจากประชาชนชาวไทยด้วย ที่สำคัญคือได้แสดงความเสียใจอย่างลึกซึ้งต่อผู้ที่จากไปในช่วงปฏิบัติการเสรีไทยสมัยสงคราม ไว้ว่า

“วัตถุประสงค์ของเราที่ทำงานคราวนี้มีจำกัดดังกล่าวแล้ว และมีเงื่อนเวลาสุดสิ้นกล่าวคือ เมื่อสภาพการณ์เรียบร้อยลงแล้วองค์การเหล่านี้ก็จะเลิก และสิ่งซึ่งจะเหลืออยู่ในความทรงจำของเราทั้งหลาย  ก็คือมิตรภาพอันดีในทางส่วนตัวที่เราได้ร่วมรับใช้ชาติด้วยกันมา โดยปราศจากความคิดที่จะเปลี่ยนสภาพองค์การเหล่านี้ให้เป็นคณะหรือพรรคการเมือง…และเพราะเหตุที่การกระทำคราวนี้เป็นการสนองคุณชาติ ผู้ใดจะรับราชการในตำแหน่งใดหรือไม่นั้น จึงต้องเป็นไปตามความสามารถตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนเหมือนดังคนไทยอื่นทั้งหลาย เราพึงพอใจด้วยความระลึกและด้วยความภูมิใจว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดมาเป็นคนไทย”

และ

“ข้าพเจ้าจึงกล่าวได้ในนามของสหายทั้งหลายว่า ราษฎรทั้งปวงประมาณ ๑๗ ล้านคน ที่เป็นไทยทั้งโดยทางนิตินัยและพฤตินัยนั้นเอง เป็นผู้กู้ชาติไทย ฉะนั้น ผู้ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องขอขอบคุณอย่างสูงยิ่งก่อนอื่น ก็คือคนไทยทั้งปวงนี้

ในส่วนผู้ร่วมงานกับข้าพเจ้าในการรับใช้ชาติ ข้าพเจ้าขอขอบใจหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช  และขอบใจคนไทยในสหรัฐอเมริกา คนไทยในอังกฤษ คนไทยในจักรภพของอังกฤษ และคนไทยในประเทศจีน ผู้ที่ได้ช่วยเหลือกิจการอยู่ในต่างประเทศ ส่วนภายในประเทศ ข้าพเจ้าขอขอบใจหัวหน้าผู้ใหญ่ในกองบัญชาการ คือ นายทวี บุณยเกตุ  นายพลตำรวจเอก อดุล  อดุลเดชจรัล  พลเรือตรี สังวร  สุวรรณชีพ  นายดิเรก  ชัยนาม  พลโท สินาด โยธารักษ์  นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ซึ่งได้เป็นหัวหน้าบัญชาการในการต่อต้านให้ดำเนินไปด้วยดี

…ในงานปฏิบัติหน้าที่คราวนี้ ได้มีสหายของเราเสียชีวิตไปหลายคน อาทิ พระองค์เจ้า จีระศักดิ์  นายจำกัด  พลางกูร  นายสมพงศ์  ศัลยพงศ์  นายการะเวก ศรีวิจารณ์  และพลพรรคอื่นอีกหลายคน ซึ่งหัวหน้าพลพรรคกำลังสำรวจรายนาม ขอให้สหายทุกคนซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ตั้งจิตอธิษฐานให้วิญญาณของผู้ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้วในงานนี้จงอยู่โดยผาสุกในสัมปรายภพ”

 


“สุนทรพจน์ของรู้ธ” เอกสารคำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ แก่ผู้แทนพลพรรคที่ธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2488)
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.2.1/46 กล่อง 2 กรมโฆษณาการส่งคำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ แก่ผู้แทนพลพรรคที่ธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2488)

 

ในข้อเขียน เอกสารราชการ และหนังสือของนายปรีดี พนมยงค์ทั้ง 4 ฉบับ ดังกล่าวได้แสดงถึงหลักการ นโยบาย และปฏิบัติการสันติภาพของนายปรีดีในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2  ที่มีพื้นฐานมาจากหลัก 6 ประการ และรัฐธรรมนูญ ดังนี้ สันติภาพของนายปรีดีในช่วงต้นหมายความถึงต้องเคารพหลักการของรัฐธรรมนูญ ส่วนความคิดสันติภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามนั้นนายปรีดีได้เชื่อมโยงความคิดเข้ากับหลักการสันติภาพสากลและสหประชาชาติ

 

ภาคผนวก

 

บันทึกข้อบกพร่องเรื่องภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกโดยนายปรีดี พนมยงค์ 

แสดงให้เห็นสาระสำคัญและหลักการสันติภาพในการสร้างภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก

 

 

เอกสารชั้นต้น:

  • ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ กระแสพระบรมราชโองการให้ใช้สัญญาสันติภาพที่ได้เซ็นกัน ณ แวร์ไซล์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2462. ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม 2462 เล่มที่ 36, หน้า 205-206.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.2.1/46 กล่อง 2 กรมโฆษณาการส่งคำปราศรัยของนายปรีดี พนมยงค์ แก่ผู้แทนพลพรรคที่ธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2488)
  • เอกสารส่วนบุคคลนายปรีดี พนมยงค์ เรื่องบันทึกข้อบกพร่องเรื่องภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกโดยนายปรีดี พนมยงค์

 

หนังสือภาษาอังกฤษ:

  • Santaputra, Charivat, Thai Foreign Policy 1932-1946, (ฺBangkok: Suksit Siam, 2000)

 

หนังสือภาษาไทย:

  • กษิดิศ อนันทนาธร บรรณาธิการ, 76 ปี วันสันติภาพไทย: 8 ทศวรรษ “พระเจ้าช้างเผือก” สารสันติภาพเหนือกาลเวลา”, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
  • ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, 70 ปี วันสันติภาพไทย, (กรุงเทพฯ: หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558)

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์: 

  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2 เมษายน 2564). พระเจ้าช้างเผือก : ภาพยนตร์แห่งสันติภาพท่ามกลางกองเพลิงสงคราม. https://pridi.or.th/th/content/2021/04/656 , เข้าถึง 19 กันยายน 2567. 
  • โดม สุขวงศ์, พระเจ้าช้างเผือก: ช้างเผือกของหนังไทย. https://pridi.or.th/th/libraries/1584074534 , เข้าถึง 19 กันยายน 2567. 
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (16 สิงหาคม 2564). ประกาศสันติภาพ โดย ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์. https://pridi.or.th/th/content/2021/08/797 , เข้าถึง 19 กันยายน 2567. 
  • สมจิตต์ อินสิงห์. (6 สิงหาคม 2563). ความสําคัญของศีลธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. https://pridi.or.th/th/content/2020/08/370 , เข้าถึง 19 กันยายน 2567. 
  • อนุสรณ์ ธรรมใจ. (7 พฤษภาคม 2563). ภารกิจเพื่อสันติภาพและเอกราชของขบวนการเสรีไทย. https://pridi.or.th/th/content/2020/05/243 , เข้าถึง 19 กันยายน 2567. 
  • W. B[allantine], J[oseph].  Memorandum by the Director of the Office of Far Eastern Affairs ( Ballantine ) to the Assistant Secretary of State (Dunn). Retrieved September 20, 2024, from https://history.state.gov/historicaldocuments/frus1945v06/d952