ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ : การประกันสังคมของรัฐบาลไทย (ตอนที่ 32)

4
มกราคม
2568

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา

 


หนังสือ พิมพ์ไทย รายวัน

 

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ หนังสือ พิมพ์ไทย ได้เสนอเรื่องของสตรีผู้มีบุตรมากมาร้องทุกข์ต่อหนังสือพิมพ์ว่า ถูกกรมประชาสงเคราะห์หลอกให้เสียเงินเสียทองโดยไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร รายงานข่าวว่าสตรีเหล่านั้นเมื่อได้ทราบโฆษณาการของทางราชการว่ากรมประชาสงเคราะห์จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีบุตรมากก็พากันไปขอคัดสำมะโนครัวที่อำเภอ เสียค่าคัดไป ๑.๕๐ บาท เมื่อนำทะเบียนไปยังกรมประชาสงเคราะห์ ต้องซื้อคำร้องของกรมอีก ๒ บาท และต้องเสียค่าเขียนอีก ๖ บาท และยังต้องมีรูปถ่ายมาแสดง ซึ่งต้องเสียค่าถ่ายรูปอีก ๑๒ บาท สตรีเหล่านั้นส่วนหนึ่งต้องเดินทางมาจากทางไกล และต้องออกค่าใช้จ่ายทำกิจหลายอย่างที่กล่าวมาข้างต้น สตรีที่มาขอรับความสงเคราะห์เหล่านั้นเปนคนยากจนแน่นอน ดังนั้นเงินทองที่ต้องจับจ่ายไปในการเตรียมการเหล่านั้น จึงมิใช่เปนเงินเล็กน้อยสำหรับเขา และเมื่อรวมเวลาที่ต้องเดินทางปุเลง ๆ ไปในที่ต่าง ๆ ด้วยแล้ว การตระเตรียมการเพียงเพื่อจะไปแสดงความจำนงขอรับความสงเคราะห์จากทางราชการไทยของสตรียากจน เหล่านั้น ก็ต้องการการลงทุนเอาการอยู่ ในเรื่องนี้เลขานุการกรมประชาสงเคราะห์ชี้แจงแก่นักข่าวของ “พิมพ์ไทย” ว่าการเรียกต่าธรรมเนียมเปนรายทางกันไปเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องของกรมเลยตามกำหนดการของกรมนั้นทุกอย่างฟรีหมด ที่มีการเรียกค่าธรรมเนียมหยุมหยิมเช่นนั้น อาจเปนเรื่องของ “คนนอก” ฉวยโอกาส เรื่อง “คนนอก” หรือ “คนใน” ฉวยโอกาสนั้นยังไม่มีคำแถลงของทางกรมว่าได้เอาใจใส่สอบสวนได้ความประการใด แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานข่าวว่า ผู้ไปขอความสงเคราะห์จะต้องไปซื้อคำร้องที่กรมและได้เขียนคำร้องนั้นที่กรม และก็คงจะชำระค่าคำร้องและค่าเขียนกันที่นั่น ถ้าเปนการฉวยโอกาสล่อลวงให้เกิดความเสียหายแก่สตรีผู้ยากจนเหล่านั้น ก็ย่อมอยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่ของกรมนั้นจะรู้เห็น และป้องกันมิให้มีการล่อลวงเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก เลขานุการกรมมิได้ชี้แจงว่าเรื่องเช่นนี้เปนการพ้นวิสัยจะสอดส่องป้องกันหรือไม่ ถ้าเพียงแต่มีความประสงค์จะป้องกัน

การลงทุนทั้งเวลาและเงินทองไปเปนจำนวนมิใช่เล็กน้อยสำหรับสตรีเหล่านั้น ในที่สุดก็ปรากฏว่าเปนการลงทุนเพื่อที่จะได้ไป…[ต้นฉบับขาด]... ไม่สามารถจะช่วยเหลือทางเงินทองอะไรได้เลย นอกจากจะให้บัตรประจำตัวไว้ เพื่อได้สิทธิพิเศษในบางประการ เช่นถ้าต้องการโดยสารรถไฟก็จะเสียค่าโดยสารเพียงครึ่งราคา แต่ถ้าไม่มีธุระอะไรจะต้องโดยสารรถไฟ ก็เปนอันจนใจ

ส่วนการช่วยเหลือทางเงินทองนั้น เลขานุการกรมแถลงว่า ทางกรมมีงบประมาณในปี ๒๔๙๒ เพียง ๕ หมื่นบาทเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีผู้ยื่นความจำนงขอรับความสงเคราะห์ถึง ๓๒,๑๐๗ คน จะเฉลี่ยให้ทุกรายก็คงได้เพียงรายละไม่ถึง ๒ บาท (จะซื้อนมสักกระป๋องเดียวก็ยังซื้อไม่ได้) ดังนั้นจึงกำหนด จะช่วยผู้มีบุตรตั้งแต่ ๙ คน ขึ้นไป โดยจะช่วยรายละ ๑๐๐ บาท ดังนั้นก็แปลว่าผู้มีบุตรไม่ถึง ๙ คน ก็จะต้องคิดอ่านหาเงินไว้ครึ่งราคา สำหรับโดยสารรถไฟไปไหนต่อไหนพลาง ๆ ไปก่อน เพื่อเปนเครื่องปลอบใจว่าตนเองก็ได้รับความสงเคราะห์ในข้อที่มีบุตรมากจากทางราชการไทยเหมือนกัน

การที่กำหนดจะจ่ายเงิน ๑๐๐ บาท แก่สตรีที่มีบุตรตั้งแต่ ๙ คน ขึ้นไปโดยไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องจ่ายต่อไปอีกเท่าใด ในกำหนดเวลาเท่าใดนั้น เราเข้าใจว่าในนานาประเทศคงจะเรียกการจ่ายเงินในลักษณะเช่นนั้นว่าเปนการสงเคราะห์ผู้มีบุตรมากเลย เราออกจะเห็นว่าการจ่ายเงินเช่นนั้นมีลักษณะเปนการจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้มีลูกดกเท่านั้น มิใช่เปนการจ่ายเงินสงเคราะห์แก่ผู้บุตร ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่าเงินสงเคราะห์ประเภท Maternity endowment และเงินสงเคราะห์ประเภท Child endowment แต่อย่างใด

เมื่อได้มีเหตุการณ์ซึ่งแสดงถึงความไม่สู้มีแก่นสารและความปราศจากโครงการของแผนงสงเคราะห์ผู้มีบุตรดังรายงานข่าวของ พิมพ์ไทย ข้างต้นนั้นแล้ว ทำให้เราหวลระลึกไปถึงแผนงานประชาสงเคราะห์ที่อธิบดีกรมโฆษณาการได้แถลงแก่ที่ประชุมนักข่าวหนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันต่อมารายงานข่าวว่าอธิบดีกรมโฆษณาการได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่ารัฐบาลได้ตั้งรูปการประกันสังคมขึ้นแล้ว และได้มอบเรื่องให้คณะกรรมการชุดหนึ่งรับไปพิจารณาจัดทำกำหนดการที่เปนรายละเอียดต่อไปการประกันสังคมที่กำหนดขึ้นนั้น ได้แก่การให้ความอุดหนุนโรงเรียนคนตาบอด โรงเรียนประชาสงเคราะห์ และสงเคราะห์ผู้มีบุตรมาก สงเคราะห์ผู้… [ต้นฉบับขาด]... ต่าง ๆ และสงเคราะห์ในรูปอื่น ๆ อีก อธิบดีกรมโฆษณาการได้วาดภาพสังคมอันบรรเจิดเฉิดฉาายให้ที่ประชุมนักข่าวหนังสือพิมพ์ได้เห็นว่า “รัฐบาลกำลังหาทางให้เปนเครื่องกันว่า คนเราเกิดมาเปนคนไทยแล้วจะไม่อดตาย และจะไม่ป่วยโดยไม่มีคนรักษา”

การที่รัฐบาลกำหนดที่จะให้การประกันสังคมในรูปต่าง ๆ นั้นเปนสิ่งที่น่ายินดีและควรได้รับการส่งเสริมแน่นอน เพราะว่าในนานาอารยประเทศที่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการปกครองนั้น ถ้ารัฐบาลไม่จัดทำบริการสังคมแล้วก็จะเปนสิ่งที่นาพิศวง และก็เปนการยากที่รัฐบาลจะได้รับเลือกให้มาปกครอง ถ้าไม่ให้คำมั่นแก่ประชาชนที่จะจจัดให้มีขึ้นซึ่งบริการสังคมในรูปต่าง ๆ

ในเมืองไทย ซึ่งเปนเมืองที่สมบูรณ์ด้วยธัญญาหารและมังสาหาร ทั้งไม่ใคร่มีภัยจากธรรมชาติในขนาดร้ายแรงเช่นในต่างประเทศบางประเทศ ความไม่อดตายของราษฎรจึงได้รับประกันจากสภาพตามธรรมชาติอยู่พอสมควรแล้ว และอันที่จริงคนเราเกิดมาก็มิใช่เพียงเพื่อจะไม่อดตายเท่านั้น ส่วนข้อที่อธิบดีกรมโฆษณาการแถลงว่ารัฐบาลจะจัดการให้คนไทย “ไม่ป่วยโดยไม่มีคนรักษา” ซึ่งหมายถึงว่าคนไทยทุก ๆ คนหากเจ็บป่วยลง ก็จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างสมควรจากความสงเคราะห์ของบ้านเมืองนั้น หากรัฐบาลจัดได้จริงดังถ้อยแถลงของอธิบดีกรมโฆษณาการแล้ว ก็จะได้รับสาธุการเซ็งแซ่ทีเดียว

แต่เมื่อได้มีเหตุการณ์อื้อฉาวขึ้น ในเรื่องการทำงานฉาบหน้าของโครงการสงเคราะห์ผู้มีบุตรมาก ซึ่งสตรีที่มีบุตรมากหาได้รับการสงเคราะห์ที่เปนแก่นสารอะไรไม่เช่นนี้แล้ว ประชาชนก็คงใคร่จะย้อนถามอธิบดีกรมโฆษณาการว่า ที่ท่านอวดไว้ว่า “คนไทยจะไม่ป่วยโดยไม่มีคนรักษา” นั้นท่านหมายความจริงจังเพียงไหน ท่านหมายจะวาดภาพภาวะของชาวไทยในความฝันอีกกึ่งศตวรรษข้างหน้า หรือหมายจะวาดภาพที่รัฐบาลปัจจุบันจะบรรดาลให้สำเร็จขึ้นมาได้ภายในอายุของรัฐบาลนี้ ซึ่งยังเหลืออีก ๒ ปี ถ้าหากล้มเสียก่อน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย รายวัน
เวลา : 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492

 

หมายเหตุ:

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการหนังสือมนุษย์ไม่ได้กินแกลบฯ และคุณปรีดา ข้าวบ่อ แห่งสำนักพิมพ์ชนนิยมแล้ว
  • อักขรและวิธีสะกดคงไว้ตามต้นฉบับ
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ, “ประกันสังคมรัฐบาลไทย”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 332-339.
  • ตัวเน้นโดยผู้เขียน

บรรณานุกรม :

  • กุหลาบ สายประดิษฐ์, “ประกันสังคมรัฐบาลไทย”, มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ ข้อเขียนการเมืองของกุหลาบ สายประดิษฐ์ (กรุงเทพฯ: แอล.ที.เพลส, 2548),  น. 332-339.

บทความที่เกี่ยวข้อง :