“ผมกับภรรยาสืบมาจากเชียดเดียวกัน”
ท่านปรีดี พนมยงค์ กล่าวตอนหนึ่งในการสนทนากับนายฉัตรทิพย์ นาถสุภา เมื่อเดือนเมษายน 2525 ถึงความสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างท่านกับท่านผู้หญิงพูนศุข ผู้เป็นศรีภริยา
คําว่า “เชียด” นั้นเป็นคําโบราณที่ไม่ค่อยมีใครในปัจจุบันเรียกกัน หมายถึงพ่อของชวด (ทวด) ตามประวัติของท่านรัฐบุรุษอาวุโสนั้น เชียดของท่านมีบุตรอยู่หลายคน บุตรีคนหนึ่งชื่อปิ่นได้แต่งงานกับจีนก๊ก แซ่ตั้ง เป็นพ่อค้าเชื้อชาติจีน ทั้งสองมีบุตร หลายคนคนหนึ่งชื่อเกิด ได้แต่งงานกับนางคุ้ม มีบุตร 8 คน ชื่อ ฮวด ชุ้น แฟง ง้วย ใช้ ฮ้อ เสียง และบุญช่วย
ท่านปรีดีเป็นบุตรคนที่ 2 ของนายเสียงกับนางลูกจันทน์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวมทั้งสิ้น 6 คนคือ เก็บ ปรีดี หลุย ชื่น เนื่อง และถนอม บุพการีของท่านล้วนแต่ประกอบอาชีพค้าขาย และทํานาทั้งสิ้น
เชียดของท่านปรีดีนั้น นอกจากจะมีบุตรีที่ชื่อปิ่นแล้ว ยังมีบุตรีอีกคนหนึ่ง ชื่อบุญมา ได้แต่งงานกับพระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง) มีบุตรหลายคน คนหนึ่งชื่อพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา (นาค) เป็นบิดาของพระยาวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) ซึ่งเป็นบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข ทําให้ท่านปรีดีกับท่านผู้หญิงได้เป็นญาติเกี่ยวดองกันด้วยเหตุฉะนี้
ท่านปรีดีเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 ที่บ้านเดิมอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดพนมยงค์ ตําบลท่าวาสุกรี อําเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดนี้เดิมชื่อวัด พระนมประยงค์ เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยพระเฑียรราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเพี้ยนไปเป็นวัดพนมยงค์ ด้วยความผูกพันระหว่างตระกูลของท่านกับวัด จึงได้ตั้งชื่อสกุลตามชื่อวัดนั้นเอง
แม้วัดนี้ จึงมิได้สร้างโดยบรรพบุรุษของท่านตามที่ส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่ตระกูลพนมยงค์ก็ได้ใกล้ชิดและเกื้อกูลตลอดมา นายเสียงบิดาของท่านมักไปทําบุญที่วัดนี้เป็นประจํา ตัวท่านเองก็เคยบริจาคเงินซ่อมแซมพระอุโบสถ์เมื่อปี 247 1 แม้จะเป็นเงินเพียง 20 บาท แต่ก็มากพอสมควรสําหรับค่าของเงินในสมัยนั้น ปัจจุบันลูกหลานญาติพี่น้องของท่านก็ยังอุปถัมภ์ค้ําชูวัดนี้อยู่ไม่ขาดสาย
เมื่อท่านปรีดีอายุได้ 5 ขวบ ได้เรียนหนังสือที่บ้านนายแสง และที่บ้านหลวงปราณีประชาชน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านของท่าน แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดรวก โรงเรียนศาลาปูน จนกระทั่งปี 2454 ได้เข้ามาเรียนที่วัดเบญจมพิตร กรุงเทพฯ โดยอาศัยอยู่กับพระวัดนี้ แต่เรียนอยู่เพียงปีเดียวก็กลับมาเรียนต่อที่โรงเรียนประจําจังหวัดอยุธยาจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงได้กลับมากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยอยู่กับพระวิชิตมนตรี (สุด กุณฑลจินดา)
ต่อมาย้ายมาอยู่กับมหาอํามาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร) เรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบฯ อยู่ได้ 6 เดือน ก็ลาออกมาเข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ด้วยเวลาเพียง 2 ปีครึ่งก็สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตสยามชั้น 1 เมื่ออายุได้เพียง 19 ปี
และทันทีที่ได้เรียนจบหมาด ๆ ก็ได้ว่าความให้จําเลยคดีหนึ่ง สามารถเอาชนะ ทนายความโจทก์ซึ่งอาวุโสกว่าและจัดอยู่ในชั้นบรมครู จนเป็นที่เลื่องลือกันไปทั่ว หลังจากนั้นก็มิได้เป็นทนายความอีกเลย เพราะท่านได้เข้ามารับราชการตําแหน่งเสมียนโท กรมราชทัณฑ์ จนกระทั่งปี 2463 สอบชิงทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเมืองกัง ประเทศฝรั่งเศส แล้วต่อมหาวิทยาลัยปารีส
เมื่อจบการศึกษาได้ปริญญาเอกทางกฎหมายเป็นคนไทยคนแรก ท่านก็เดินทางกลับจากฝรั่งเศสเข้ารับราชการเป็นทั้งผู้พิพากษา ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย และอาจารย์สอนที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
ขณะอายุได้ 28 ปี ก็ได้สมรสกับนางสาวพูนศุข เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 ท่านผู้หญิงมีอายุอ่อนกว่าท่านปรีดี 11 ปี จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟ นับเป็นสตรีในจํานวนน้อยคนนักที่ในสมัยนั้นที่ได้เข้ารับการศึกษาเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
ทั้งสองมีบุตรรวมทั้งสิ้น 6 คน เป็นชาย 2 หญิง 4 บุตรคนโตชื่อนางสาวลลิตา ปัจจุบันยังเป็นโสด คนที่สองชื่อนายปาล เป็นบุตรหัวแก้วหัวแหวนของท่านผู้หญิง แต่ก็เป็นผู้ที่อาภัพที่สุดในบรรดาพี่น้องทั้งหมด มีอาชีพเป็นทนายความ เปิดสํานักงานที่ซอย สวนพลู และเปิดสํานักพิมพ์จัดพิมพ์งานเขียนของท่านปรีดี แต่เนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก จึงได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2524 ด้วยพิษของมะเร็งร้ายที่ลําไส้ใหญ่
คนที่ 3 ชื่อนางสาวสุดา ยังเป็นโสดเช่นเดียวกับพี่สาวคนโต คนที่ 4 ชื่อนายศุขปรีดา แต่งงานกับนางสาวจีรวรรณ วรดิลก น้องสาวของนายสุวัฒน์ วรดิลก นักเขียนชื่อดัง คนที่ 5 ชื่อนางดุษฎี แต่งงานกับนายชาญ บุญทัศนกุล ปัจจุบันนางดุษฎีเป็นครูสอนดนตรี และคนสุดท้องชื่อนางวาณี แต่งงานกับนายสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ลูกชายของ “ศรีบูรพา” หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนชื่อดังเช่นกัน
ชีวิตในครอบครัวของท่านปรีดีนั้นเปี่ยมไปด้วยความรักและความเข้าใจกัน ท่านผู้หญิงนั้นเป็นรักแรกและรักเดียวของท่านปรีดี ท่านไม่เคยมีเล็กมีน้อยเก็บซุกซ่อนแต่อย่างใด ส่วนท่านผู้หญิงนั้นเล่า ก็วางตนได้สมกับศรีภริยารัฐบุรุษเป็นยิ่งนัก แม้จะเกิดในชาติตระกูลสูงลูกพระยา แต่ก็มิได้เกี่ยงงอนในการช่วยการงาน
อาทิ ตอนก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สมัยที่ท่านปรีดีรับราชการ และสอนในโรงเรียนกฎหมาย ท่านได้เปิดสอนพิเศษแก่ลูกศิษย์ลูกหาที่ใฝ่ในการเรียน โดยจัดติวให้ที่บ้าน และยังได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นใช้ชื่อว่า “นิติสาส์น” พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับคําอธิบายกฎหมายต่าง ๆ ออกจําหน่ายในราคาที่ไม่แพง โดยมีท่านผู้หญิงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสําคัญในการช่วยเหลือ
“ท่านผู้หญิงท่านแม่นยําในเรื่องภาษามาก ท่านก็ช่วยตรวจปรู๊ฟ จัดห่อ ส่งสมาชิก” นายสุภา ศิริมานนท์ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านปรีดีผู้หนึ่งเปิดเผยกับ สยามใหม่ กิจการโรงพิมพ์ดําเนินเรื่อยมา โดยมิได้มีการกําไรมากนักเพราะท่านต้องการจะให้ประชาชน ได้มีความรู้มากกว่าที่จะกอบโกยเงินทอง จวบจนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านจึงหยุดกิจการลง
“ท่านเกรงจะมีเสียงครหาว่าเอาชื่อเสียงตําแหน่งหน้าที่มาเป็นประโยชน์ต่อกิจการส่วนตัว” ต่อมาเมื่อท่านได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น ท่านก็ได้มอบชื่อ “นิติสาส์น” ให้แก่มหาวิทยาลัย ได้นําไปตั้งเป็นชื่อหนังสือพิมพ์อยู่ได้ระยะหนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยก็ยุติการออกหนังสือพิมพ์
สําหรับงานภายในบ้านทั่วไปนั้น ท่านผู้หญิงก็สามารถจัดการได้เป็นที่เรียบร้อย ส่วนงานการบ้านการเมืองก็มิได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านปรีดี ก็มิได้บอกกล่าวให้รับรู้แม้แต่น้อย ในวันที่ 23 มิถุนายนก่อนการเปลี่ยนแปลง 1 วัน ท่านปรีดีบอกแก่ท่านผู้หญิงว่าจะไปอยุธยาเพื่อเตรียมการจะบวชตัวท่านเอง ในตอนบ่ายของวันนั้น ท่านผู้หญิงก็ยังได้ไปส่งท่านปรีดีที่สถานีรถไฟหัวลําโพง
เมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนมาถึงสถานีสามเสน ท่านปรีดีก็กระโดดลงจากรถไฟ เพื่อดําเนินการงานอันสําคัญที่สุดที่จะมีในวันรุ่งขึ้น นั่นคือการยึดอํานาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง โค่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จากวันนั้น เป็นเวลาร่วมเดือนได้แต่กินอยู่หลับนอนในพระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านผู้หญิงก็อุตส่าห์เอาใจใส่ ให้คนเอาข้าวน้ํามาส่งให้อยู่เนืองนิจ จวบจนวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 ท่านปรีดี ได้เขียนจดหมายฝากคนไปยังท่านผู้หญิง
ตอนหนึ่งของจดหมายกล่าวอธิบายถึงสาเหตุที่มิได้บอกกล่าวแก่ท่านผู้หญิงให้รับทราบถึงความเป็นจริงว่า “ถ้าบอกความจริง ก็เกรงว่าจะออกจากบ้านไม่ได้ และผลร้ายก็จะเกิดขึ้นเป็นแม่นมั่น คือทางเจ้าหน้าที่ได้คิดจะจับกุมฉัน ในวันรุ่งขึ้นเวลา 10 นาฬิกา เท่าที่ได้ทราบมา...” และ “...ที่ไม่บอกมาแต่ต้นก็เพราะกลัวว่าจะตกใจ และเมื่อข่าวตกใจ แพร่งพรายออกไปก็จะเสียการที่คิดไว้ทั้งหมด”
ท่านปรีดีเป็นผู้คิดคํานึงถึงชาติบ้านเมืองเสียยิ่งกว่าตนเองและครอบครัว ท่านเองก็ทราบดีว่าหากงานครั้งนี้เกิดเพลี่ยงพล้ํา นั้นย่อมหมายถึงภัยพิบัติอันใหญ่หลวงที่จะบังเกิดแก่ตัวท่านอย่างแน่นอน แต่กระนั้นก็ตาม ท่านก็มิได้หวั่นเกรงถึงภัยอันตรายที่ อาจจะเกิดขึ้น เพราะความเห็นแก่ส่วนรวมที่ซึมซาบอยู่ถ้วนทุกอณูแห่งความรู้สึกนึกคิด ดังตอนหนึ่งของจดหมายที่กล่าวมา “การที่ทําอะไรลงไป ทั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ชาติ และราษฎรเป็นส่วนมากเห็นว่าเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสทําได้ก็ควรทําไม่ควรบําเพ็ญตนให้เป็นคนหนักโลก...”
และ “...แต่จะทําอย่างไรได้เมื่อเราทําการเพื่อชาติ และในชีวิตของคนอีกหลายร้อยล้านหามีโอกาสไม่ ไม่ช้าเมื่อเรียบร้อยแล้วเราคงอยู่ด้วยกันเป็นปกติต่อไป ขอให้ถึง ชาติและราษฎรให้มาก ๆ การทั้งหลายฉันได้เริ่มมาตั้งแต่ปาริศ เมื่อมุ่งทางนี้อยู่แล้วจะสละเกียรติยศทิ้งเสียอย่างไรได้ การเมืองการเมือง ส่วนตัวก็ส่วนตัว...”
แต่ถึงอย่างไร ท่านปรีดีก็เป็นปุถุชนคนหนึ่งจึงอดไม่ได้ที่จะระลึกถึงและเป็นห่วงเป็นใยต่อครอบครัวในเวลานั้น ท่านเพิ่งมีบุตรเพียง 2 คน ท่านก็ได้ถามไถ่ทุกข์สุขทางบ้านอยู่ไม่ขาด เป็นความผูกพันที่ท่านมีต่อครอบครัวอย่างลึกซึ้งและแนบแน่น ดังตอนท้ายของจดหมายกล่าวว่า “...พวกบ้านมาทีไร หรือเมื่อมีใครไปเยี่ยมกลับมาก็ถามข่าวคราวทุกข์สุขเสมอ คิดถึงหนูและปานอยู่เป็นนิตย์เหมือนกัน ไม่ใช่นิ่งเฉย”
ในยามสุข ครอบครัวของท่านปรีดีก็มีแต่ความสุขสดชื่นกันถ้วนหน้า ส่วนในยามขมขึ้นจากการถูกมรสุมการเมืองโหมพัดกระหน่ํา มิเพียงแต่ท่านปรีดีเท่านั้น ท่านผู้หญิงพูนศุข บุตรอีก 6 คน รวมทั้งญาติพี่น้องคนอื่นๆ ก็ถูกผลแห่งพายุการเมืองซัดสาดด้วย
ตลอดเวลาที่อยู่ปารีส รายได้ที่ใช้เลี้ยงครอบครัว ก็มีเพียงแค่เงินบํานาญของ ท่านปรีดี เดือนละประมาณ 5,000 บาท ที่กว่าจะได้มาก็ต้องฟ้องร้องจากรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย บ่อยครั้งที่ท่านผู้หญิงต้องบินกลับมาเมืองไทยเพื่อขายที่ดิน อันเป็นมรดกแต่ดั้งเดิมของบิดามารดาทิ้งไว้ให้ในย่านสาธรและสีลม
อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ครั้งที่จอมพล ผิน ชุณหะวัณ นําคณะยึดอํานาจการปกครองคณะรัฐประหาร ได้นํารถถังเข้าถล่มบ้านพักท่านปรีดีที่ท่าช้าง ท่านปรีดีหลบหนีออกนอกประเทศ ท่านผู้หญิงพร้อมกับลูก ๆ ได้หลบหนีไปที่สัตหีบ
และในคราว “ขบถสันติภาพ” ปี 2495 นายปาลก็เป็นผู้หนึ่งที่ถูกจับกุมใน ในคราวนั้นด้วย
ครั้งหนึ่งของการพิจารณาคดีนายปาล ท่านผู้หญิงได้เข้าไปสวมกอดลูกชายพร้อม ทั้งพรรณาถึงชะตากรรมของครอบครัวที่ลูกต้องกลายเป็นผู้ต้องหาตั้งแต่ยังเด็ก โดยที่ไม่มีความผิดแต่ประการใด ส่วนพ่อผู้ได้ทํากรรมดีต่อบ้านเมืองไว้มากมาย กลับเป็นผู้ไม่มีแผ่นดินจะอยู่ พร้อมกับกล่าวสอนให้นายปาลจงอดทนและเอาอย่างพ่อ ทําคุณงามความดีให้กับบ้านเมือง โดยไม่คิดกอบโกยหาประโยชน์ใส่ตน ภาพความรักระหว่างสองแม่ลูก นั้นสร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ที่อยู่ ณ ที่นั้นเป็นยิ่งนัก
คัดมาจากที่พิมพ์ใน ฉบับรำลึกพระคุณท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ของ ต.ม.ธ.ก. รุ่น 2 พ.ศ. 2527, น. 117-122.
- ปรีดี พนมยงค์
- พูนศุข พนมยงค์
- คู่ชีวิต ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์
- เชียด
- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา
- ลลิตา พนมยงค์
- ปาล พนมยงค์
- สุดา พนมยงค์
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- ดุษฎี พนมยงค์
- ศรีบูรพา
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- จอมพล ผิน ชุณหะวัณ
- ยึดอำนาจการปกครอง
- รัฐประหาร 2490
- ขบถสันติภาพ
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ฉบับรำลึกพระคุณท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์
- วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์