ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

2475 กับระบอบกษัตริย์โดยจำกัด

23
มิถุนายน
2563

ในวิชาประวัติศาสตร์ หลักฐานเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด ถึงกับต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของหลักฐานว่า เป็นชั้นต้น (Primary Source) ชั้นรอง (Secondary Source) ฯลฯ โดยปกตินักประวัติศาสตร์จะให้น้ำหนักหลักฐานชั้นต้นเป็นอย่างมาก เพราะถือได้ว่าใกล้ชิดกับเหตุการณ์หรือใช้ศัพท์กันว่า “ร่วมสมัย” (Contemporary)

อย่างไรในความน่าเชื่อถือของหลักฐานชั้นต้น ก็หาจะได้รับรองโดยไม่ผ่านการประเมินคุณค่าของหลักฐานนั้น ๆ ไม่ นักประวัติศาสตร์จะต้องใช้วิจารณญาณประเมินในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อที่จะทราบว่าหลักฐานนั้นเขียนขึ้นหรือทำขึ้นเมื่อไร ที่ไหน โดยใคร มีจุดมุ่งหมายอย่างไร  บ่อยครั้งเลย เราจะพบว่า ในหลักฐานชั้นต้นด้วยกันเองก็มีความขัดแย้งกัน

ว่าไปแล้วเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ว่าจะเรียกกลาง ๆ ในภาษาไทยว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน” หรืออย่าง “ก้าวหน้า” ในสมัยหนึ่งว่า “ปฏิวัติ” (แต่เมื่อคำว่าปฏิวัติถูกใช้กันจนเกร่อกลายเป็น “รัฐประหาร” ธรรมดา ๆ ก็เลยมีคำว่า “อภิวัฒน์” ขึ้นมาแทน) หรือในภาษาอังกฤษซึ่งมักจะใช้อยู่เพียง 2 คำคือ coup d’etat และ revolution ก็ตาม  “2475” จึงกลายเป็นเหรียญ 2 ด้าน มองได้ในบางครั้งถึงขนาดขาวกับดำ นั่นคือ ด้านหนึ่งว่า เป็นเรื่องของการนำมาซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตย” “รัฐธรรมนูญ” เป็นก้าวใหม่และก้าวแรกที่สำคัญของการเมืองไทยสมัยใหม่

 


ที่มาภาพ: ภาพปก จุลสารปรีดี ฉบับ 24 มิถุนายน 2554

 

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นเสมือน “อุบัติเหตุ” มาสะดุดหยุดยั้งกระบวนการทางการเมืองที่กำลังดำเนินมาด้วยดีในสมัยของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นเรื่องของการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ทั้ง ๆ ที่ “รัชกาลที่ 7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว” ดังนั้น (เห็นไหม) “ประชาธิปไตยที่ไม่พร้อม จึงล้มลุกคลุกคลานมาจนกระทั่งทุกวันนี้” (แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ ก็ยังหาคนเข้าใจไม่ได้ คิดว่าเป็นบุตรของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้า “คณะราษฎร” ด้วยซ้ำไป) ฯลฯ

ไม่ว่าจะถกเถียงกันว่า “2475” คืออะไรดังกล่าวข้างต้นก็ตาม ในที่นี้เราน่าจะมาดูกันว่าสิ่งที่เรียกว่า “สปิริต” หรือ “วิญญาณ” ของ 24 มิถุนายน 2475 นั้น คืออะไรกันแน่ แน่นอนถ้าหากจะดูอย่างเผิน ๆ และจากการตีความทางประวัติศาสตร์โดยทั่วไปแล้ว 24 มิถุนาฯ ก็คือ การจัด “ให้มีรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” หรือ กล่าวอย่างในสมัยปัจจุบันก็คือ “ประชาธิปไตย” นั่นเอง

อย่างไรก็ตามหากจะกล่าวให้ตรงประเด็นแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า สิ่งที่ชัดเจนที่สุดและเป็น “รูปธรรม” ที่สุดของ 24 มิถุนายน 2475 ก็คือ การเปลี่ยน “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบกษัตริย์ (ที่มีพระราชอำนาจ) จำกัด” หรือหากจะใช้ภาษาอังกฤษเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ก็คือ จาก absolute monarchy มาเป็น limited monarchy ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับ constitutional monarchy หรือระบอบกษัตริย์รัฐธรรมนูญนั่นเอง

เอกสารชั้นต้นที่ดูจะยืนยันการตีความข้างต้น ก็คือ “ประกาศของคณะราษฎร” (ที่กล่าวกันว่าเขียนขึ้นโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์) ที่พระยาพหลฯ หัวหน้าฯ อ่านต่อหน้าบรรดาทหารที่มาร่วมชุมนุมกัน ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันของการยึดอำนาจ  และก็เป็น “ใบปลิว” ทีแจกจ่ายทั่วไป รวมทั้งได้มีการนำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางฉบับของสมัยนั้นด้วย ประกาศดังกล่าวพุ่งเป้าของการโจมตีอย่างรุนแรงไปยังองค์พระมหากษัตริย์และพระญาติพระวงศ์ที่

“ทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย” 

“ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง … หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน … ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่เห็นได้ในการตกต่ำในการเศรษฐกิจ … รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ … การที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว  ส่วนประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ … “ 

หนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ซึ่งออกมาหลังเหตุการณ์นั้นเพียงไม่กี่วัน ก็พาดหัวข่าวตัวโตในความหมายของ limited monarchy เช่นกันว่า “เกร็ดเหตุการณ์เปลี่ยนการปกครองให้กษัตริย์สยามอยู่ใต้กฎหมายไทย” 

และนี่ก็เป็นที่มาของการที่ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475” (ฉบับแรก 27 มิถุนายน) มีข้อความอารัมภบทอย่างน่าสนใจว่า “พระบาทสมเด็จฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองฯ” และใน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับที่สอง 10 ธันวาคม 2475) ถึงกับมีมาตรา 11 ระบุว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง”

ผู้เขียนเชื่อว่า สิ่งที่เราเรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” หรือ absolute monarchy นั้น หาใช่ระบอบที่เก่าแก่มีมาแต่ครั้งก่อนกรุงสุโขทัย แล้วมีเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ ไม่  แม้ไทยจะมีระบอบกษัตริย์มาเป็นเวลาเนิ่นน่านก็ตาม  แต่กษัตริย์ไม่ว่าจะในสมัยอาณาจักรสุโขทัย ล้านนา อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ก็เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ monarchy ที่ไม่ absolute

กล่าวคือ จากสภาพภูมิศาสตร์ เทคโนโลยี และสภาพความเป็นจริงทำให้ในทางปฏิบัติพระราชอำนาจของกษัตริย์หาได้มีเป็น “ล้นพ้น” ไม่  จะต้อง “แบ่ง” กันใช้อำนาจกับทั้งพระญาติพระวงศ์และขุนนางในส่วนกลางที่เมืองหลวง กับทั้งขุนนางในหัวเมือง หรือเจ้าราชวงศ์ตระกูลที่ควบคุมการปกครองหัวเมือง หรือเจ้าราชวงศ์ตระกูลที่ควบคุมและปกครองหัวเมืองหรือประเทศราช  โดยทางปฏิบัติแล้วสิ่งที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง ที่มาพร้อมกับการปฏิรูปการปกครองภายใน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการปกครอง มณฑลเทศาภาบาล ที่ตัดอำนาจของขุนนางและเจ้าท้องถิ่น (จนบุคคลเหล่านั้น หรือบุตรหลานกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบข้าราชการใหม่ที่เกิดขึ้น) และมาพร้อม ๆ กับการคืบคลานเข้ามาของลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษและฝรั่งเศส ที่เข้ามาแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์ของตนกับผู้นำสยามทำให้ “ประเทศสยาม” กลายเป็น “รัฐ” ที่มีอาณาเขตหรือ “แผ่นที่” ที่ “จำกัด” และค่อนข้าง “แน่นอน” ในรูปของ “ขวานทอง” อย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้

ผู้เขียนเชื่อว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามนั้น ปรากฏตัวให้เห็นชัดเป็นรูปธรรม ก็เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงสามารถแต่งตั้งผู้ที่จะสืบราชสมบัติได้ด้วยพระองค์เอง นั่นคือ การตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อ 2429/1886 (ในทำนองเดียวกันกับบรรดาราชวงศ์ชั้นนำของยุโรป) แทนตำแหน่ง “อุปราช” (หรือ “วังหน้า” หรือ “กรมพระราชวังบวรฯ” ที่ถูกมองว่าล้าสมัยเป็นอุปสรรค) ซึ่งแต่เดิมแม้จะเป็นตำแหน่งที่ดูมีอำนาจมากเป็นที่สองในแผ่นดิน และบางครั้งก็สามารถสืบราชสมบัติได้ แต่ก็หาได้มีหลักประกันใดไม่ว่า นี่คือ ตำแหน่งสืบราชสมบัติ และในบางครั้งตำแหน่งนี้ก็หาได้รับตำแหน่งโดยตรงโดยพระมหากษัตริย์ไม่

กล่าวโดยย่อ รัชกาลที่ 5 น่าจะทรงเป็น “ราชะ” ที่ทรงพระราชอำนาจที่เป็น “สมบูรณาญาสิทธิ์” อย่างแท้จริงพระองค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย หากเราจะยึดปี 2429 เป็นที่ตั้ง ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยืนยาวอยู่เพียง 3 รัชสมัย เป็นเวลาเพียง 46 ปี และมาสิ้นสุด “อย่างเป็นทางการ” ในปี 2475 นั่นเอง

กำเนิดและวิวัฒนาการของ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม” ดูจะเป็นปรากฏการณ์พิเศษและสวนกระแสกับบริบทของระบอบดังกล่าวในระดับสากล กล่าวคือ ในช่วงที่ตรงกับรัชกาลที่ 5 นั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งหลายในประเทศชั้นนำของโลกถ้าหากไม่สลายตัวไป อย่างเช่นกรณีของฝรั่งเศส ก็ได้ปรับตัวให้เป็น limited monarchy แล้วเป็นส่วนใหญ่

ดังจะเห็นได้ชัดในกรณีของ สหราชอาณาจักร “เกรตบริเทน” หรือที่เรามักจะเรียกติดปากว่าอังกฤษ (ที่ความจริงเป็นเพียงแค่แคว้นเล็ก ๆ ในราชอาณาจักรอันใหญ่โตมโหฬารที่เป็นเจ้าโลกอยู่)  สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ที่เสวยราชสมบัติในมหาอาณาจักรที่ “พระอาทิตย์ไม่ตกดิน” ก็ทรงเป็น limited monarch คือ หาได้มีบทบาทในการ “บริหาร” แต่อย่างใดไม่  ในทำนองเดียวกันระบอบจักรพรรดิของญี่ปุ่น จักรพรรดิเมจิ (ที่ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ของเราเอง) ก็ทรงเป็น limited monarch เช่นกัน และญี่ปุ่นก็มีการปกครองโดยรัฐธรรมนูญแล้ว

ดังนั้น ในการเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้งของรัชกาลที่ 5 (2440/1897 และ 2450/1907) ประมุขของรัฐในยุโรปทั้งหลาย ถ้าไม่เป็นประธานาธิบดีในระบอบสาธารณรัฐ ก็เป็น limited monarch แทบทั้งสิ้น (อาจจะยกเว้นในกรณีพะเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ในปี 2440 เกือบจะพระองค์เดียว ในการเสด็จครั้งหลัง 2450 มิได้เสด็จรัสเซีย)

ครั้นถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ในระดับสากล “รัฐกษัตริย์” หรือ “ราชอาณาจักร” สำคัญ ๆ ก็สลายตัวเพิ่มขึ้นอีกอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดา “จักรวรรดิ” หรือ “รัฐราชวงศ์” ระดับโลก เช่น จีนราชวงศ์ชิง (1991/2454) รัสเซียราชวงศ์โรมานอฟ (1917/2460) อ๊อตโตมัน และ ออสเตรีย-ฮังการี (ราชวงศ์ฮับสเบิร์ก) รวมทั้งระบอบไกเซอร์เยอรมัน (1918/2461)

ดังนั้น เมื่อถึงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6 หรือทศวรรษ 2460 จนต้นรัชกาลที่ 7 ในต้นทศวรรษ 2470 สยามจึงน่าจะเป็นประเทศ (เอกราช) เดียวที่ยังคงเป็น absolute monarchy อยู่ และนี่ก็เป็นที่มาของความขัดแย้งของ “ผู้นำใหม่” ที่มาพร้อมกับการปฏิรูปและการก่อตัวของระบอบ absolute monarchy เอง ที่มาพร้อมกับการศึกษาแบบใหม่ (พบเห็นโลกใบใหม่) และเกิดจิตสำนึกแบบใหม่ของ “ลัทธิชาตินิยม” ที่จะขัดและแย้งกับ “ผู้นำเก่า” ในระบอบเก่าของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในบริบทดังกล่าวจึงไม่น่าสงสัยเลยที่จะมีประนามพจน์อย่างรุนแรง เช่น “ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ที่ชนชาตินั้นได้โค่นราชบัลลังก์เสียแล้ว”

ถ้าหากจะถามว่า ความพยายามที่จะนำมาซึ่ง limited monarchy ประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไรในสยาม/ไทย คำถามนี้คงต้องการการศึกษาและคำอธิบายอีกไม่น้อย

กล่าวโดยย่อความขัดแย้งระหว่างผู้นำเก่าและผู้นำใหม่ในช่วง 2-3 ปี ภายหลัง 2475 นั้น นำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 อย่างรวดเร็วในปี 2477 (ถ้านับแบบใหม่ก็ 2478) การได้มาซึ่งยุวกษัตริย์ดังเช่นในกรณีของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งนอกจากจะทรงพระเยาว์แล้ว ยังประทับอยู่ต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น “คณะราษฎร” ก็สามารถตั้ง “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ที่สามารถจะประนีประนอมกับการบริหารของตนได้ไม่ยากนัก ทำให้ในช่วงระยะเวลาจากการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งการสวรรคต (อย่างมืดมน) ของรัชกาลที่ 8 ในปี 2489 เป็นระยะ เวลาถึง 10 ปีกว่านั้น แนวความคิดว่าด้วย limited monarchy ก็หาได้รับการทดลองหรือทดสอบอย่างจริงจังไม่

ในสมัยปัจจุบัน โดยนับย้อนหลังไปถึงการแตกสลายของ “คณะราษฎร” นับตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกและใช้ไทยเป็นฐานทัพในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และนับตั้งแต่การสลายตัวของพลังทางการเมืองฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ต้องสูญเสียอำนาจให้กับฝ่ายอำนาจนิยมกับฝ่ายอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 (ที่ใช้ข้ออ้างกรณีสวรรคต 2489) เป็นต้นมาเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคของความตีบตันทางการเมืองภายใต้ระบอบอำนาจนิยม ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรวมทั้งนักวิชาการ พยายามหาทางออกด้วยแนวความคิด เช่น “ราชประชาสมาศัย” หรือ “อเนกนิกรสโมสรสมมุติ” 

เกิดปรากฏการณ์ที่ศาสตราจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน เรียกว่า “กระบวนการทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Palladiumization) ต่อพระมหากษัตริย์ โดยขยายความว่าบรรลุระดับไคลแมกซ์ในปี 2514 เมื่อจอมพล ถนอม กิตติขจร ปรากฏในจอโทรทัศน์ภายหลังทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลของตนเอง และทำพิธีเปิดหนังสือพระบรมราชโองการต่อหน้าผู้ดู เป็นหนังสือพระบรมราชโองการที่แสดงว่าเขาได้รับความเห็นชอบจาก Palladium (ดูบทความ Withdrawal Symptoms : Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของ การรัฐประหาร 6 ตุลาคม” ตีพิมพ์ในหนังสือ จาก 14 ตุลาถึง 6 ตุลา. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2541/42)

หรืออย่างที่วารสาร ลานโพธิ์ (3 :2 มีนาคม-มิถุนายน 2543) ให้คำอธิบายใหม่ในทำนองเดียวกันว่า “วิวัฒนาการของสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจเรียกได้ว่าขึ้นมาถึงจุดสุดยอด ซึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่าขึ้นมาถึงจุดสุดยอด ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็น “Pedestalization” Pedestal นี่หมายถึง แท่นบูชา สิ่งบูชาเกิดกระบวนการที่ทำให้สถาบันนี้เป็นที่เคารพ บูชาอย่างสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน กรณีนี้เป็นกรณีพิเศษ และเป็นกรณีใหม่ในสังคมไทย” 

 

ที่มา: จารุวรรณ ธรรมวัตร (บรรณาธิการ), คือผู้อภิวัฒน์...ถึงรัฐมนตรีอีสาน ถึงกวีพื้นบ้าน คืออุดมการณ์ประชาธิปไตย (มหาสารคาม: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2543), น. 27-30.