กษิดิศ อนันทนาธร
ในห้วงบรรยากาศแห่งความร้อนแรงทางการเมืองของการ ‘รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์’ กับการ ‘ชังชาติ’ เราได้เห็นมวลอาณาราษฎรแสดงความจงรักภักดีอย่างแตกต่างกันออกไป บ้างจงรักอย่างห้อยโหน บ้างจงรักอย่างสุจริตใจ บ้างจงรักทักท้วงด้วยความปรารถนาดีที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์สถิตสถาพร ยืนยงคงอยู่คู่กับระบอบประชาธิปไตยแห่งสยามรัฐสีมาตราบเท่ากัลปาวสาน
ในห้วงบรรยากาศเช่นนี้เอง ที่มีการโจมตีกล่าวหาผู้ที่คิดต่างจากตนในรูปแบบถ้อยคำแตกต่างกัน ทำให้ผู้เขียนอนุสรณ์คำนึงถึงรัฐบุรุษอาวุโส ผู้เคยใช้ถ้อยคำเตือนสติฝ่ายตรงข้ามได้อย่างน่าสนใจ มีความหมาย และน่าจะให้ข้อคิดทางการเมืองได้มากพอสมควร
“ผู้เกินกว่าราชา” และ “สวะสังคม” เป็นคำที่นายปรีดี พนมยงค์ เคยใช้มาก่อน
นายปรีดี พนมยงค์ ที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส มกราคม 2515
บุคคลผู้ทำการโต้อภิวัฒน์ 2475
นายปรีดีเคยอธิบายถึงการกระทบกระทั่งกันของ ‘พลังเก่า’ และ ‘พลังใหม่’ ของสังคมไว้ดังนี้ “ท่านที่ศึกษามาก่อนแล้วถึงกฎธรรมชาติว่าด้วยความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในสสาร ซึ่งมีด้านบวกและด้านลบ คือ สิ่งใหม่กับสิ่งเก่าโต้กันอยู่ และเมื่อนำกฎธรรมชาตินั้นมาประยุกต์แก่สังคมมนุษย์ก็ย่อมทราบได้ว่า ภายในสังคมของมนุษย์มีพลังใหม่ซึ่งเป็นด้านบวก และมีพลังเก่าซึ่งเป็นด้านลบที่ปะทะกันอยู่”
และนำหลักดังกล่าวมาปรับบทกับการโต้การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรว่า “คณะราษฎรที่ทำการอภิวัฒน์ 24 มิถุนาฯ เปลี่ยนระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมมีด้านลบหรือมีฝ่ายปฏิกิริยา (Reactionaries) ชนิดต่าง ๆ ที่ทำการโต้”
นายปรีดีสรุปว่า บุคคลที่ทำการโต้ มี 3 ประเภทด้วยกัน คือ
- ผู้ที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่ปลงตกตามกฎแห่งอนิจจัง
- ผู้ที่สวมจิตวิญญาณของทรรศนะของพลังเก่า และผู้เกินกว่าราชา
- สวะสังคม
“ผู้เกินกว่าราชา”
นอกจากผู้ที่เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่ปลงตกตามกฎแห่งอนิจจังแล้ว นายปรีดีอธิบายถึงฝ่ายปฏิกิริยากลุ่มที่ 2 ว่า บุคคลจำพวกนี้มิได้เสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโดยตรง “แต่เอาร่างกายของตนสวมจิตวิญญาณตามทรรศนะของพลังเก่า … แม้บุคคลชนิดนี้เกิดและมีชีวิตร่างกายอยู่ในกาลสมัยใหม่ ก็มิได้มีลักษณะเป็นชนรุ่นใหม่ คือ เขาเป็นชนรุ่นใหม่แต่ทางร่างกาย ส่วนวิญญาณและทรรศนะที่เป็นหลักนำให้เขาดำเนินชีวิตนั้นเป็นทรรศนะของพลังเก่า … อาการแสดงออกแห่งการโต้อภิวัฒน์ของบุคคลจำพวกนี้มีหลายอย่าง รวมถึงการแสดงตนว่าเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี (ULTRA-ROYALIST)”
ในเวลาต่อมานายปรีดีแปลคำว่า ULTRA-ROYALIST ให้กระชับขึ้นเป็น “ผู้เกินกว่าราชา” กล่าวคือ “ปากว่าเทอดทูลพระราชาธิบดี แต่ทำแสดงว่า นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี”
นอกจากนี้ เขายังยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสว่า ระหว่าง ค.ศ. 1789-1875 ได้มี “ผู้เกินกว่าราชา” ทำการสงวนอำนาจศักดินาไว้มากกว่าที่องค์พระราชาธิบดีปรารถนา จนเป็นเหตุให้สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์บูร์บองต้องล้มไปใน ค.ศ. 1791 แม้พระราชวงศ์นั้นจะกลับมาครองราชบัลลังก์ได้อีกหลายครั้ง แต่สุดท้ายใน ค.ศ. 1875 ก็ปลาสนาการไปตราบจนปัจจุบันนี้
และขยายความต่อไปว่า “เมื่อ ค.ศ. 1870 นโปเลียนที่ 3 แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ตได้สละราชสมบัติเนื่องจากแพ้เยอรมัน ฝ่ายเจ้าสมบัติ เมื่อได้ปราบปรามขบวนการสหการปารีสสําเร็จแล้ว ก็ได้จัดให้มีระบบรัฐสภาเพื่อลงมติว่า ฝรั่งเศสจะปกครองโดยระบบสาธารณรัฐหรือระบบราชาธิปไตย โดยอัญเชิญรัชทายาทแห่งราชวงศ์บูร์บองขึ้นครองราชย์
“เสียงราษฎรส่วนมากที่พ้นจากการปราบปรามขณะนั้นปรารถนาตามวิธีหลังนี้ แต่ฝ่ายพวกที่ทําตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีนั้น ได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ และเรียกร้องเกินเลยไป แม้เรื่องธงชาติ ก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสี มาใช้ธงขาวประกอบด้วยรูปดอกไม้สามแฉก (คล้ายดอกบัวดิน) ที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ‘FLEURS DE LIS’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เฉพาะราชวงศ์บูร์บอง…
“ก่อนที่รัฐสภาฝรั่งเศสจะลงมติดังกล่าวแล้ว สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (DUC DE MAGENTA) ได้มีรับสั่งเตือนผู้ที่ทําตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี และอ้างว่ารู้พระราชหฤทัยต่าง ๆ นั้น ว่า ถ้าพวกนั้นต้องการจะเอาธงขาวมีรูปดอกไม้ชนิดนั้นมาใช้แทนธงสามสีแล้ว ทหารปืนยาวก็จะเดินแถวไปตามลําพังโดยปราศจากธงประจํากอง แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคําเตือนของสมเด็จเจ้า จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมส่วนมากปรารถนาสถาปนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกนั้นต้องลดน้อยลงไป แม้กระนั้นเมื่อถึงเวลาลงมติ ฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐชนะเพียง 1 เสียงเท่านั้น”
นายปรีดีสรุปเป็นข้อคิดให้แก่ “ผู้เกินกว่าราชา” ว่า “ถ้าหากผู้ทําตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาเด่นของตนแล้ว ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก ดังนั้น พวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีจึงมิเพียงแต่เป็นพวกที่ทําให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น หากยังทําให้ราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์บูร์บองสลายไปตั้งแต่ครั้งกระนั้นจนถึงปัจจุบันนี้”
สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (DUC DE MAGENTA) [ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Patrice_de_MacMahon]
“สวะสังคม”
ส่วนคำว่า “สวะสังคม” (Social Scum) นายปรีดีให้ความหมายไว้ว่า “เศษโสมม (Rottenmass) ซึ่งสังคมเก่าได้โยนทิ้งไป แต่ตกค้างอยู่ในสังคมใหม่ … เป็นชนชั้นอันตราย (Dangerous Class) … เห็นแก่ตัว (Egoist) เป็นสำคัญ ซึ่งแสดงด้วยอาการอวดดี ยกตัวว่าวิเศษกว่าคนอื่น”
เขาอธิบายความหมายของคำนี้ผ่านการยกตัวอย่างในหลายประเด็น แต่มุ่งหมายถึงบุคคลผู้หนึ่ง ในที่นี้จึงขอยกมาเพียงข้อเดียว คือ
“(ซ) “สวะสังคม” บางคนอ้างตนเองเป็นตัวแทนของชนรุ่นใหม่ชี้ขาดเอาว่าเอาคนนั้นไม่เอาคนนี้ โดยสายตาคับแคบตามลักษณะอวดดี และเห็นแก่ตัว ตนเองมองชนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลว่าเหมือนตนเองไปทั้งหมด ซึ่งเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามชนรุ่นใหม่ทั้งหมด นอกจากตัวเขากับเพื่อนสวะสังคมจำนวนหยิบมือเดียว ชนรุ่นใหม่จำนวนมหาศาลมิใช่สวะของสังคม แต่เป็นคนไทยที่เป็นพลังใหม่ที่กำลังพัฒนาก้าวหน้าทั้งทางกายและทางจิตใจ ปราศจากวิญญาณปฏิกิริยาและวิญญาณแห่งสวะของสังคม”
เมื่อ “สวะสังคม” ตาสว่าง
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยเขียนตอนท้ายของบทวิจารณ์หนังสือ The Devil’s Discus เมื่อ พ.ศ. 2507 ว่า “ในตอนท้าย ผู้เขียน [Rayne Kruger] สรุปว่า ‘ในบรรดาคนหนุ่มในเมืองไทยปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะผู้ที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัย ต่างก็พากันรู้สึกอัดอั้นตันใจที่ขาดโอกาสทางประชาธิปไตย สำหรับบุคคลเหล่านี้ ชื่อนายปรีดียังคงเป็นประดุจเสียงกังวาน อันเรียกร้องเสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม แม้เขาผู้นั้นจะถูกหาว่าเป็นคอมมูนิสต์ก็ตาม’ ข้าพเจ้าถือตัวว่าเป็นบุคคลในกลุ่มนี้ และก็ยอมรับว่าต้องการ ‘เสรีภาพและความยุติธรรมทางสังคม’ แต่หาต้องการนายปรีดีไม่ ในกรณีนี้ข้าพเจ้ากล่าวได้ว่า ข้าพเจ้าพูดแทนคนรุ่นข้าพเจ้าเกือบทั้งหมด”
และถ้าใครได้อ่านในข้อ (ก)-(ช) ของบทความ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2515 ก็คงจะเดาจากคุณสมบัติได้ไม่ยากว่า นายปรีดีมุ่งจะ ‘ด่า’ ส.ศิวรักษ์ นั่นเอง
ต่อมา เมื่อมิจฉาทิฐิของ ส.ศิวรักษ์ ในกรณีสวรรคต ร.8 ปลดเปลื้องไปเมื่อได้อ่านหนังสือ คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.8 (2523) ที่นายปรีดีเรียบเรียงจากคำฟ้องนายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ และพวก ก็ทำให้เขาเขียนจดหมายไปขอขมานายปรีดีด้วยความเคารพนับถือเมื่อ พ.ศ.2523 ในภายหลัง เขากล่าวถึงเรื่องราวของตนเองไว้ว่า “เป็นการเปลี่ยนทัศนะจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือจากของที่คว่ำเป็นหงาย”
ฝ่ายนายปรีดีก็มีจดหมายมาถึงนายสุลักษณ์ความตอนหนึ่งว่า “ผมก็รู้สึกตนว่ามีความผิดพลาดที่ได้ใช้วิธีไม่เหมาะสมในการโต้ตอบข้อเขียนของคุณ จึงขออภัยคุณไว้ในที่นี้ด้วย” และหลังจากนั้น นายปรีดีก็ไม่ให้พิมพ์บทความ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ฉบับเดิมที่บรรยายความถึง “สวะสังคม” อย่างละเอียดอีกเลย
นายปรีดีและนายสุลักษณ์ ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส พ.ศ. 2525 ภาพจาก สถาบันปรีดี พนมยงค์
ส่งท้าย
“สวะสังคม” ตามความหมายที่นายปรีดีเคยใช้เรียกนายสุลักษณ์นั้น น่าจะยุติลงไปแล้วเมื่อบุคคลทั้งสองปรับทัศนคติต่อกันได้ แต่น่าสงสัยว่า “ผู้เกินกว่าราชา” ในความหมายที่นายปรีดีเคยให้ไว้ว่า “แม้บุคคลชนิดนี้เกิดและมีชีวิตร่างกายอยู่ในกาลสมัยใหม่ ก็มิได้มีลักษณะเป็นชนรุ่นใหม่ คือ เขาเป็นชนรุ่นใหม่แต่ทางร่างกาย ส่วนวิญญาณและทรรศนะที่เป็นหลักนำให้เขาดำเนินชีวิตนั้นเป็นทรรศนะของพลังเก่า” ซึ่งมัก “แสดงตนว่าเป็นผู้นิยมราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี” นั้น มีลักษณะเป็นเช่นใดในปัจจุบันนี้
ที่มา
- ปรีดี พนมยงค์, “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” (2515) (https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf)
- ปรีดี พนมยงค์, “ผู้เกินกว่าราชา” (2517) (https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2517-87.pdf)
- ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2563), น. 25-26.
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เรื่องนายปรีดี พนมยงค์ ตามทัศนะ ส. ศิวรักษ์, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2562), น. 48.
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ชวนอ่านและวิจารณ์หนังสือต่าง ๆ, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2557).
เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ The101.world - https://www.the101.world/ultra-royalist-and-social-scum/ (3 กันยายน 2563)