ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

วีรชนแห่งระบอบประชาธิปไตย

12
กันยายน
2563

กรณีอสัญกรรมของ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ได้ก่อความงุนงงและสงสัยต่อบทนิยามแห่งจริยธรรมทางการเมืองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่อคนรุ่นใหม่ที่มีน้ำใจอันใสสะอาดทางการเมืองและต่อประวัติศาสตร์อันเต็มไปด้วยการบิดเบือนของประเทศ

คําถามมากมายได้เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่แคลงใจต่อธรรมะที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” เท่านั้น แม้แต่หลักพื้นฐานที่ว่า “ทำดีได้ดี” ก็ยิ่งจะกลายเป็นปริศนามาก 

นี่เท่ากับสําแดงความยิ่งใหญ่ของนายปรีดี พนมยงค์ 

ลูกชาวนาแห่งพระนครศรีอยุธยาผู้นี้มิได้ก่อบทบาททั้งทางความคิดและทางการเมืองในยามที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น แม้เมื่อหมดลมหายใจ และสังขารกลายเป็นเถ้าธุลีไปแล้ว เรื่องราวของเขาก็ยังเป็นข้อถกเถียงอย่างสําคัญ 

“อย่านําอัฐิกลับประเทศ จนกว่าสัจจะจะเป็นที่รับรู้ของราษฎรอย่างทั่วถึง” นี่เป็นเสมือนพินัยกรรมที่ไม่ต่างไปจากลูกระเบิดทางความคิดที่โยนมาจากชานกรุงปารีส โดยมือของชายชราที่วัยใกล้จะครบ 83 ปี 

และนี่เป็นสัจวาจาอันสะท้อนถึงความเข้าใจต่อความเป็นจริงของสังคมไทยอย่างยิ่งของรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในห้วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา!

มองย้อนกลับสู่ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ 

ใครก็ตามที่เกิดความสงสัยว่า ทําไมรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มีท่าทีค่อนข้างเย็นชาต่ออสัญกรรมของอดีตผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และ “รัฐบุรุษอาวุโส” ที่มีนามว่า ปรีดี พนมยงค์ ขอให้มองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ยุคใกล้ 

ทําไม “เทียนวรรณ” และ “กศร.กุหลาบ” จึงต้องกลายเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ ในสายตาของนักเขียนและนักบันทึกประวัติศาสตร์ยุคหนึ่ง? 

ทั้ง ๆ ที่ “เทียนวรรณ” กล่าวในแง่สายตายาวไกล เขามองประเทศด้วยความเป็นห่วง มองเห็นว่า มีแต่เทคนิควิทยาการจากตะวันตกเท่านั้นจะช่วยให้สยามก้าวรุดไปสู่ความสมัย ใหม่ และมีแต่การปกครองในรูปของ “สภาปาเลียเมนต์” เท่านั้นที่จะทําให้คนมีความเต็มคนมากยิ่งขึ้น 

บําเหน็จของ “เทียนวรรณ” คืออะไร? 

คือ การถูกจําขัง ณ คุก อย่างเหี้ยมโหด เขาถูกสวมชื่อคอเยี่ยงเดียวกับโจรพาลสันดานหยาบ เขาถูกนักบันทึกประวัติศาสตร์บิดเบือน และกล่าวหาว่าเป็นคนบ้าเป็นคนสติเฟืองและแทบไม่มีความหมายอะไรเลย 

“เทียนวรรณ” ต้องทัณฑ์ทรมานจากการบิดเบือนเช่นนั้นแล้ว ไฉนนายปรีดี พนมยงค์ เด็กลูกชาวนาที่ไร้สกุลรุนชาติจากพระนครศรีอยุธยาจะไม่ถูกทัณฑ์ทรมานเช่นนั้นด้วยเล่า?

นายปรีดี พนมยงค์ ‘มันสมอง’ ของคณะราษฎร

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนที่มีมันสมองเฉียบของเขาแหลมคนหนึ่งของสยามประเทศ ลูกชาวนาบ้านนอกอย่างเขา หากเรียนไม่ล้ำเลิศจริง ๆ แล้ว ไฉนจะแหวกปราการกระทั่งได้รับทุนหลวงของกระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาวิชากฎหมายยังประเทศฝรั่งเศสเล่า? 

สิ่งที่นายปรีดีได้มาจากฝรั่งเศสมิได้เป็นเพียงวิชากฎหมาย อย่างน้อยระบอบประชาธิปไตยของฝรั่งเศส อันเป็นบ้านเกิดของวอลแตร์ มองแตสกิเออ และรุสโซ ก็ย่อมจะซึมซาบในจิตใจของหนุ่มที่ชื่อ ปรีดี และเพื่อนพ้องของเขา

ระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับระบอบประชาธิปไตยในสายตาของสามัญชน เช่น นายปรีดี พนมยงค์  ร้อยโท แปลก ขิตตะสังคะ  ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี  ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น ย่อมมีความล้ําเลิศแตกต่างกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้อํานาจอธิปไตยอยู่ในมือของประชาชน 

ดังนั้น คณะราษฎรจึงได้ก่อกําเนิดขึ้นและเติบใหญ่ขยายตัว จนสามารถก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475!

เหตุการณ์ 2475 การปฏิวัติที่ล้มเหลว 

เนื้อหาทางการเมือง คณะราษฎรต้องการที่จะทําการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างน้อยที่สุดเรียกตามภาษาของกลุ่มคําสั่ง 66/23 ก็คือ การปฏิวัติประชาธิปไตย 

การปฏิวัติเช่นนี้ หากศึกษาจากต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส จีน จะเห็นว่าโดยเนื้อหาแล้ว ก็คือ การสถาปนาระบอบประชาธิปไตย แทนที่ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ กล่าวคือ โอนอำนาจมอบให้กับประชาชนแทนที่จะอยู่ในมือของคน ๆ เดียว

คณะราษฎรสามารถยึดอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จ แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า การปฏิวัติของคณะราษฎรจะสัมฤทธิผลตามเป้าหมายอย่างสิ้นเชิง

 

จากซ้ายไปขวา (นั่ง) ปรีดี พนมยงค์, วิจิตร วิจิตรวาทการ, ชม จารุรัตน์ (ยืน) ควง อภัยวงศ์ แถบ อภัยวงศ์ ควง รักตะประจิต
จากซ้ายไปขวา (นั่ง) ปรีดี พนมยงค์, วิจิตร วิจิตรวาทการ, ชม จารุรัตน์
(ยืน) ควง อภัยวงศ์ แถบ อภัยวงศ์ ควง รักตะประจิต

 

ภายหลังจากการปฏิวัติไม่นาน เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พยายามจะเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ อันถือได้ว่า เป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ เขาก็ถูกต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรง 

กระทั่งถูกเนรเทศออกนอกประเทศ และแม้คณะราษฎรจะก่อรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 แย่งยึดอํานาจกลับคืนมาได้ แต่จากเงื่อนไขการเมืองนี้ ไม่เพียงแต่กระทบขวัญสู้รบของนายปรีดี พนมยงค์ ลงเท่านั้น แต่ก็เปิดโอกาสให้พันโท หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดชาตินิยมคลั่งชาติให้ผงาดขึ้นมามีอํานาจ 

ยิ่งเมื่อพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ขึ้นสู่ฐานะนายกรัฐมนตรีในปี 2481 เส้นทางของประเทศก็ยิ่งก้าวใกล้กับสีสันการปกครองในแบบฟาสซิสต์ อันเป็นกระแสที่พุ่งทะยานอย่างรุนแรงทั้งที่เยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น 

ระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงที่ในคณะราษฎรอย่างน้อยก็นายปรีดี พนมยงค์ เคยตั้งปณิธานอย่างค่อนข้างเป็นรูปเป็นร่างที่สุดก็ยิ่งถอยห่างออกไป และประชาชนก็ได้ระบอบเผด็จการภายใต้ท็อปบู๊ตทมิฬเข้ามาแทนที่ 

และแม้ภายหลังสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ จะได้อํานาจทางการเมืองอย่างค่อนข้างสมบูรณ์มากที่สุด แต่ปรปักษ์ทางการเมืองของนายปรีดีก็มิได้มีแต่เพียงกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่สูญเสียอํานาจอิทธิพลไปเนื่องจากเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เท่านั้น หากยังมีกลุ่มทหารที่ต้องลงจากเวทีเนื่องจากการดําเนินนโยบายสงครามที่ผิดพลาดอีกด้วย 

จากปี 2488 ถึงพฤศจิกายน 2490 จึงเป็น “ฤดูกาลอันแสนสั้นของประชาธิปไตย” ที่หลังจากนั้นโอกาสของนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มพลังประชาธิปไตยของเขาก็หมดสิ้น ทั้งโดยถูกเข่นฆ่าไล่ล้างและทั้งเพราะไม่มีเงื่อนไขอีกเลย

เส้นทางปรีดี พนมยงค์ เจตนารมณ์ ‘เทียนวรรณ’

หากประเมินบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ในทางประวัติศาสตร์ เขาก็มีคุณูปการต่อระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับที่วอลแตร์ มองแตสกิเออ รุสโซ มีต่อระบอบประชาธิปไตยฝรั่งเศส การิบัลดี มีต่อประชาธิปไตยอิตาลี และหมอซุนยัตเซ็น มีต่อประเทศจีนใหม่

เขาคือผู้สืบทอดเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของ ‘เทียนวรรณ’ และของ ‘ขบถ ร.ศ. 130’ คุณูปการของเขาที่ยิ่งใหญ่กว่าก็ตรงที่เขาสามารถแปรความคิดให้กลายเป็นการกระทำที่เป็นจริง

แน่นอน เมื่อเขายืนหยัดในการหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตย ในอีกด้าน เขาก็กลายเป็นปีศาจร้ายของผู้ปรารถนาที่จะรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้ดำรงคงอยู่ ยิ่งนายปรีดีต่อสู้เพื่อความคิดประชาธิปไตยมากเท่าใด เขาก้ย่อมจะถูกต่อต้านจากความคิดที่ตรงกันข้ามกับประชาธิปไตยมากเท่านั้น

นายปรีดี พนมยงค์ อาจไม่ถูกจับเข้าขัง ณ คุก พร้อมกับขื่อคาเช่นเดียวกับ ‘เทียนวรรณ’ แด่เขาก็ตกเป็นเหยื่อแห่งการป้ายสีทางการเมืองในกรณีสวรรคต จนถึงกับต้องระหกระเหินจากประเทศ

หากปรปักษ์ทางการเมืองของเขาที่ยังมีลมหายใจอยู่จะกล้ายอมรับต่อความจริงที่พวกตนได้เสกปั้นขึ้น การกู่ร้องตามโรงหนังและการซุบซิบใต้ดินกล่าวหาว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” นั้น เนื้อแท้ก็คือ การล้างแค้นอย่างอาฆาต อันเนื่องมาจากกรณีเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั่นเอง

หลักการในการประเมินขึ้นกับเนื้อหาการเมือง 

มีการถกเถียงในทางวรรณกรรมมากกว่า 2 ทศวรรษแล้วว่า ระหว่างเนื้อหากับรูปแบบ อะไรเป็นหลักอะไรเป็นรอง ระหว่างการเมืองกับศิลปะ อะไรเป็นหลักอะไรเป็นรอง 

กล่าวโดยความเป็นวิทยาศาสตร์แห่งวรรณคดีวิจารณ์ ระหว่างเนื้อหากับรูปแบบ 2 ส่วนนี้จะต้องกลมกลืนกันอย่างเป็นเอกภาพ กล่าวคือ เนื้อหาที่ดีปรากฏอยู่ในรูปแบบอันงดงาม 

แต่ในความเป็นจริงของวิทยาศาสตร์สังคม ยังมีอุปาทานคติทางการเมืองเจือระคนอยู่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงพ้น 

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้มีส่วนสําคัญในการต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตย เขายังมีคุณูปการต่อเอกราชของประเทศในห้วงที่รัฐบาลทหารได้กระโจนเข้าสู่ภัยร้ายแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงบทบาทสองบทบาทนี้ก็อาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นเยี่ยงอย่างแห่งผู้รักประชาธิปไตยและรักชาติเยี่ยงชีวิต

คุณธรรม 2 ข้อนี้ เขาควรได้เป็นวีรชนรักชาติและวีรชนแห่งระบอบประชาธิปไตย!

แต่ไฉนอสัญกรรมของเขาได้กลายเป็นอาการอ้ำอึ้งในส่วนของรัฐบาลผู้รับผิดชอบต่อประเทศ นี่จะมิหมายความว่า หลักการประเมินบุคคลของปัญญาชน นักวิชาการ และผู้รักชาติรักประชาธิปไตยไร้น้ำหนักหรอกหรือ?

นี่ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่สัมฤทธิผลเท่านั้น แต่ยิ่งเป็นตัวอย่างอันแจ่มชัดมากว่า ซากเดนทรรศนะเก่าอันเป็นปรปักษ์ต่อความก้าวหน้าแห่งระบอบประชาธิปไตยยังแผ่ร่มเงาอันมืดครึ้มอยู่เหนือสังคมประเทศไทยของเราอย่างมิอาจจะปฏิเสธได้ 

 

กระแสความตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ภายหลังการอภิวัฒน์ 2475
กระแสความตื่นตัวของประชาชนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ภายหลังการอภิวัฒน์ 2475

 

ไปล้อประวัติศาสตร์ย่อมรุดไปข้างหน้า 

ครั้งหนึ่ง นามของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นเสมือนสิ่งต้องห้าม ณ บริเวณเทวาลัยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยแรงผลักดันของนิสิตนักศึกษา และปัญญาชน แม้ว่าเขาจะถูกปฏิเสธจากทําเนียบนักเขียนอักษรศาสตร์ แต่งานวรรณกรรมอันเล่าเลิศของเขาก็เป็นที่ยกย่องในวงวิชาการอย่างสูง 

ครั้งหนึ่ง นามของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เป็นนามต้องห้าม แต่วันเวลาที่ผ่านเลย นามของเขาไม่เพียงจําหลักในดวงใจของผู้รักวรรณกรรมเท่านั้น ผู้รักประชาธิปไตย ผู้รักความเป็นธรรมก็น้อมคารวะด้วยความสํานึกในบุญคุณ 

นามของ ปรีดี พนมยงค์ ก็เช่นเดียวกัน! 

นายปรีดี พนมยงค์ กับระบอบประชาธิปไตย เป็นความ “หนึ่งเดียว” ที่มิอาจแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด 

นายปรีดี พนมยงค์ กล่าวได้ถูกต้องทีเดียวที่ว่า เมื่อใดสัจจะเป็นที่รับรู้ของประชาชน เมื่อนั้นอัฐิของตนจึงสมควรนํากลับประเทศไทย ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ประชาชนนั่นเองจะเป็นผู้แห่แหนและนําเอาอัฐิที่เหลือเพียงอังคารไปสถิต ณ สถานที่อันควรสถิต 

เกียรติภูมิของนายปรีดีในขณะนี้อาจจะดํารงอยู่จําเพาะในจิตใจของผู้รักประชาธิปไตยอย่างบริสุทธิ์จริงใจ เขาจึงเป็นมิติที่อาจจะบ่งบอกได้ว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แล้ว หรือว่ามีร่มเงาอันมืดครื้มของระบบเผด็จการครองอยู่ 

อย่างไรก็ตาม วิถีวิวัฒน์ของสังคมย่อมมีแต่จะก้าวรุดไปข้างหน้า มันมิได้ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ส่วนตัวของใครคนใดคนหนึ่งทั้งสิ้น 

การเติบใหญ่ขยายตัวของทุนไม่ว่าทุนนั้น จะเป็นทุกผูกขาดหรือทุนภายในประเทศก็ตาม แต่มันก็มีส่วนอย่างสําคัญที่จะทําให้ปัจจัยทางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ที่เศรษฐกิจสินค้าเข้าแทนที่เศรษฐกิจธรรมชาติที่การผลิตเพื่อธุรกิจเข้าแทนที่การผลิตแบบกินเอง ใช้เอง ที่อุตสาหกรรมจะชําแรกแทรก เข้าไป แม้แต่ในการผลิตด้านเกษตรกรรม 

ยิ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจขยายตัวก็ย่อมจะก่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ใครที่คิดจะฉุดกงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใครเหล่านั้นก็ย่อมจะผิดหวัง เจ็บปวด และมีโอกาสถูกกงล้อบดทับอย่างไม่ต้องสงสัย

ด้วยวิถีดำเนินทางสังคมเช่นนี้ โอกาสที่นามของปรีดี พนมยงค์ จะเพิ่มความยิ่งใหญ่ยิ่งเพิ่มทวีขึ้น ผู้ฉลาดย่อมปฏิบัติตนอย่างเข้าใจและใช้เงื่อนไขแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์!

มิใช่เป็นประโยชน์แก่นายปรีดี พนมยงค์ หากแต่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและราษฎร!

 

ที่มา: เดิมใช้ชื่อบทความว่า “รอยด่างทางประวัติศาสตร์ กับอุปทานคติการเมือง” ใน มติชน วันที่ 16 พฤษภาคม 2526  ในการเผยแพร่ครั้งนี้คัดมาจากที่พิมพ์ใน ปรีดีสาร มกราคม 2545.