ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

จอมพล ป. ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาทางไหน?

26
มกราคม
2564

ในหนังสือ จดหมายของนายปรีดี พนมยงค์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่อง “หนังสือจดหมายเหตุของเสรีไทย เกี่ยวกับปฏิบัติการในแคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา” ผมได้ชี้แจงเกี่ยวกับคำอ้างของผู้สอนประวัติศาสตร์บางคนที่เป็นคนไทยบ้าง ที่เป็นคนต่างประเทศและสมุนต่างประเทศบ้าง ซึ่งสอนและโฆษณาฝ่าฝืนความจริงโดยไม่ละอายแก่บาป (หิริโอตตัปปะ) อาทิ บางท่านเขียนโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่า ท่านสามารถค้น “Archives” (จดหมายเหตุ) ของสหรัฐอเมริกา (ส.ร.อ.) ได้ พบว่า เมื่อครั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. เมื่อ ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) นั้น ท่านอัครราชทูตไทย [ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช - บรรณาธิการ] ที่ยังประจำอยู่กรุงวอชิงตันได้ “พกใบประกาศสงครามไว้ในกระเป๋าโดยไม่นำไปยื่นต่อรัฐบาล ส.ร.อ.”  จึงเป็นเหตุทำให้ ส.ร.อ. ไม่ถือว่า ส.ร.อ. มีสถานะสงครามกับประเทศไทย

แต่ตามเอกสารหลักฐานแท้จริง “Archives” ของรัฐบาล ส.ร.อ. ที่ได้ลงพิมพ์เป็นทางการในหนังสือชื่อ Foreign Relations of the United States ค.ศ. 1942 เล่ม 1 หน้า 915 นั้นปรากฏชัดแจ้งว่า รัฐบาลพิบูลฯ ได้แจ้งต่อกงสุลสวิตเซอร์แลนด์ประจำกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) ว่า ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่ ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันของวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942)

นักศึกษาหลายคนได้มาสอบถามผมเพิ่มเติมจากเอกสารหลักฐานแท้จริงที่ผมอ้างถึงนั้น ผมจึงขอให้นักศึษาใช้สติประกอบด้วยปัญญาพิเคราะห์วิจารณ์ ดังต่อไปนี้

(1) รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ ได้แจ้งประกาศสงครามนั้นต่อกงสุลสวิสที่เป็นตัวแทนของ ส.ร.อ. โดยชอบตามระเบียบการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ผมจึงไม่ทราบว่า รัฐบาลนั้นมีเหตุผลประการใดที่จะทำ “ใบประกาศสงคราม” ส่งซ้ำไปยังท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ให้ยื่นต่อรัฐบาล ส.ร.อ. ซ้ำอีก

(2) ระหว่างสงครามโลกนั้น การสื่อสารทางไปรษณีย์อากาศและทางเรือกับทางบกระหว่างประเทศไทยกับยุโรป และ ส.ร.อ.นั้นต้องชะงักลง ถุงเมล์ไปรษณีย์จากกรุงเทพฯ ถึงทวีปดังกล่าวนั้น ไม่อาจส่งไปได้

(3) คนไทยสมัยนั้นก็ได้ยินวิทยุกระจายเสียง ส.ร.อ. ประกาศถึงการที่ท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันได้ตัดขาดกับรัฐบาลกรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายวัน ก่อนวันที่รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และ ส.ร.อ. แล้ว  ผมจึงสงสัยว่า รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ มีเหตุผลอย่างใดจึงโทรเลขไปขอร้องให้ท่านอัครราชทูตไทยนั้นไปแจ้งประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ.อีก เพราะรัฐบาลจอมพล พิบูลฯ รู้อยู่แล้วว่า ท่านอัครราชทูตไทยได้ตัดขาดกับรัฐบาลจอมพล พิบูลฯ

แต่เพื่อขจัดข้อสงสัยของนักศึกษา ผมจึงนึกขึ้นได้ว่า รัฐบาลจอมพล พิบูลฯ ทำเอกสารประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. และบริเตนใหญ่นั้น เป็นเอกสารฉบับเดียวกัน

 ถ้ารัฐบาลจอมพล พิบูลฯ ส่งใบประกาศสงครามหรือโทรเลขส่งไปยังท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันแล้ว ก็จะต้องส่งหรือสั่งไปยังท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนด้วย เพื่อยื่นหรือแจ้งแก่รัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะท่านอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนนั้น มิได้ประกาศตัดขาดกับรัฐบาลจอมพล พิบูลฯ  ดังนั้น ผมจึงโทรศัพท์ถามหลวงภัทรวาที (เสรีไทย ซึ่งต่อมาเป็นเอก อัครราชทูตไทยประจำหลายประเทศ) ขณะที่ประกาศสงครามฯ นั้น เป็นเลขานุการเอก สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน

หลวงภัทรวาที ได้มีจดหมายตอบผม ดังต่อไปนี้

 

54 rue Faubourg Aumnonerie
97300-CHAUVIGNY

5 เมษายน 2521

เรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพนับถืออย่างสูง

เมื่อวานนี้กระผมยินดีเป็นอันมากที่ได้รับโทรศัพท์จากท่านอาจารย์ เพราะเป็นเวลานานมาแล้วตั้งแต่กระผมได้พบกับท่านอาจารย์ในโอกาสการประชุมประจำของนักเรียนไทยในฝรังเศส ที่มหาวิทยาลัย Poitiers เมื่อสองสามปีมานี้ หลังจากนั้นก็มิได้ติดต่อกับท่านอาจารย์อีกเลย

ส่วนข้อความที่ท่านอาจารย์ถามมาเกี่ยวกับการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อประเทศอังกฤษเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น กระผมขอเรียนตอบดังต่อไปนี้

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) กระผมเป็นเลขานุการเอก ประจำสถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน (ในขณะนั้นสถานอัครราชทูตไทยยังมิได้เลื่อนฐานะเป็นสถานเอกอัครราชทูต) และคุณพระมนูเวทวิมลนาทเป็นอัครราชทูต

ทางสถานทูตลอนดอนได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่ออังกฤษ โดยได้ยินในวิทยุอังกฤษ B.BC. ส่วนเอกสารเกี่ยวกับการประกาศสงครามนั้น ตามความทรงจำของกระผม ไม่ปรากฏว่า สถานอัครราชทูตได้รับจากรัฐบาลไทย และกระผมจำไม่ได้ว่า ท่านอัครราชทูตคุณพระมนูฯ ได้นำไปมอบให้แก่รัฐบาลอังกฤษที่กระทรวงการต่างประเทศ กรุงลอนดอน

หวังว่าท่านอาจารย์ ตลอดทั้งครอบครัว คงมีความสุขความสบายดี กระผมและภรรยาขอฝากความระลึกคิดถึงมา ณ ที่นี้

ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูง
ภัทรวาที
(หลวงภัทรวาที)

 

นอกจากอุทาหรณ์นี้แล้ว ก็ขอได้โปรดพิจารณาอุทาหรณ์อีกหลายประการ ที่ผมได้กล่าวไว้ในภาคผนวกแห่งหนังสือว่าด้วยจดหมายของผมถึงพระพิศาลสุขุมวิท รวมทั้งผมได้ลงพิมพ์จดหมายของศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ ซึ่งทำหน้าที่เลขาธิการกองบัญชาการเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ได้มีไปถึงบรรณาธิการบริหารและบรรณาธิการบทความหนังสือ จตุรัส เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2518 ที่คัดค้านคำอ้างหลายประการของ พ.ค.ท. และของนายแธเดียส ฟลัต อาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เขียนเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทย ตามคำบอกเล่าของคนจีนที่อยู่ใต้อิทธิพลของคณะที่ชาวจีนเรียกว่า “แก๊งก์ 4 คน” นั้นได้โฆษณาไว้ ซึ่งผู้ที่มิได้ใช้ “สติ” ประกอบกับ “ปัญญา” พิเคราะห์วิจารณ์แล้วก็หลงเชื่อว่าเป็นความจริงตามนั้น

ผมเห็นว่า ถ้าถือเอาคำบอกเล่ามาเป็นประวัติศาสตร์แล้ว ก็จะเกิดภยันตรายอย่างยิ่งแก่ชาติไทย ดังนั้น เมื่อมีนักศึกษาขอคำขวัญของผมเพื่อนำไปพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกแล้ว ผมได้ให้คำขวัญที่เตือนให้นักศึกษา “ใช้สติประกอบด้วยปัญญา” พิจารณาคำอ้างและข้อเขียนใด ๆ ให้ถ่องแท้ เช่น ผมให้คำขวัญสำหรับบัณฑิต 23 ไว้ว่า

“ต้องใช้ปัญญาประกอบด้วยสติ พัฒนาระบบปกครองของประเทศไทยให้บรรลุถึงซึ่งระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ และป้องกันชาวไทยผู้รักชาติไทยแท้จริง มิใช่หลงเชื่อการโฆษณาที่จะดึงการปกครองของประเทศไทยให้ถอยหลังเข้าคลอง”

ทั้งนี้เพราะ “ประชาธิปไตย” เป็นสิ่งที่มนุษย์ส่วนมากปรารถนา พรรคและองค์การต่าง ๆ ก็ใช้วิธีจูงบุคคลให้เข้าร่วม โดยอ้างว่าจะต่อสู้เพื่อให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับคำชักชวนนั้น ก็ต้องใช้สติประกอบด้วยปัญญาพิจารณาว่า พรรคและองค์การนั้น ๆ ได้ปฏิบัติเพื่อประชาธิปไตยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น หรือเขาปฏิบัติให้ประชาธิปไตยคงที่ หรือให้ถอยหลังกลับไปสู่ระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

เรื่องที่ว่าประวัติศาสตร์มี 2 สำนัก (Schools) นั้น ผมขอฝากไว้ว่า อย่ามีสำนักบอกเล่า (Hearsay School) เลย เพราะมิได้เป็นประวัติศาสตร์ หากเป็นนิทานหรือนิยายอิงประวัติศาสตร์

ผมขอฝากข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติไทยและของโลก ซึ่งเป็นพื้นฐานของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมไว้พอสังเขป เพื่อประกอบการพิจารณา

 

ที่มา: ตัดตอนและแก้ไขเล็กน้อยจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นายฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2525 ดูฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มได้ที่ https://pridi.or.th/th/libraries/1583072391 (การเน้นในบทความนี้ทำโดยบรรณาธิการ)