ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

เราต้องต่อสู้และเรียกร้อง เพื่อความเป็นธรรมของพลเมืองทุกคน

1
กรกฎาคม
2564
 

 

 
 
 
 

 

ปฏิวัติ: การหมุนกลับ
อภิวัฒน์: การเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ผมคิดว่าประเด็นที่เราต้องไม่ลืม  คือสิ่งที่ท่านอาจารย์ปรีดีเรียก “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” นั้นเป็นคำวิสามัญ และที่เราเรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็กลายเป็นอะไรที่ถูกทอนให้ไม่มีความรู้สึกอะไร ซึ่งจริงๆ แล้ว เรามี 2 คำที่ใช้อยู่คือ “การปฏิวัติสยาม” อาจารย์ปรีดีได้เคยกล่าวไว้วว่า คำว่า “ปฏิวัติ” ไม่มีความหมายอะไร รูปคำนั้นแปลได้ว่า “การหมุนกลับ” หรือ “การเปลี่ยนกลับ”

เพราะฉะนั้นถ้าจะให้มันมีความหมายตรงตามความตั้งใจของคณะราษฎรนั้น ก็ควรจะใช้คำว่า “การอภิวัฒน์” หรือ “การอภิวัฒน์สยาม” เพราะคำว่าการอภิวัฒน์นั้นแปลว่า การเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

ทีนี้คำถามก็คือว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงจากอะไรไปสู่อะไร แล้วมันดีกว่าอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้สำคัญ ในทัศนะของอาจารย์ปรีดีและคณะราษฎรพยายามทำนั้น มี 2 อย่างประกอบกัน ก็คือความพยามในการแก้ปัญหาในปัจจุบันขณะนั้น กับการหาทิศทางที่จะมุ่งไปสู่อนาคตที่ดี

 

ความพ่ายแพ้ของสมุดปกเหลืองต่อระบอบศักดินา

ถ้าเราดู “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” ภาพสะท้อนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ “การทำนุบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” เห็นได้ชัดว่ามีความพยายามที่จะแก้ไข 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก ก็คือ “เรื่องประสิทธิภาพของการผลิต” คือจะทำอย่างไรให้การผลิต ซึ่งตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นสังคมชาวนา การผลิตที่สำคัญก็คือสังคมเกษตร

เรื่องที่สอง คือ เราไม่ต้องการให้เศรษฐกิจขึ้นแต่เฉพาะแต่กับการเกษตร เราต้องการให้ไปในทางอุตสาหกรรมด้วย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน การมีชีวิตที่มั่นคง เพราะถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอในการยกระดับของเกษตรนั้น ก็คือ “การปฏิรูปที่ดิน”

เหตุผลก็คือต้องการที่จะใช้เทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปช่วยในเรื่องของการทำนา อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการทำอุตสาหกรรม การทำการค้า ซึ่งในเวลานั้นปัญหาที่เกิดขึ้นคือการที่ทุนทั้งหลายถูกครอบงำ ถ้าไม่ได้ถูกครอบงำโดยคนต่างชาติ ก็ถูกครอบงำโดยเจ้านายขุนนาง ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือเรื่องของทุนใหญ่ อย่างเช่นปูนซีเมนต์สยาม เป็นต้น

นี้คือเส้นทางที่การอภิวัฒน์มุ่งที่จะไป การที่พยายามแก้ไขปัญหานี้ ทำไมถึงบอกว่ามันสะท้อนปรากฏการณ์ สะท้อนบริบทของสังคมตอนนั้น ก็คงต้องบอกว่า จริงๆแล้วก่อนหน้าที่จะเกิดการอภิวัฒน์ 2475 ซึ่งถ้านับจะเป็น ร.ศ. 150 มีการพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาก่อน ก็คือ “กรณีกบฏ ร.ศ. 130” หรือที่เราเรียกว่า “กบฏยังเติร์ก” หรือว่า “กบฏเก็กเหม็ง” ซึ่งหัวหน้าขบถอย่าง ‘ร้อยเอกเหล็ง ศรีจันทร์’ บันทึกไว้ชัดเจนว่า ชีวิตของคนส่วนใหญ่ คือชาวนานั้น ไม่มีความมั่นคงเพราะว่าขึ้นอยู่กับน้ำ หรือฝนตก ถ้าพอมันก็ดีไป แต่ถ้ามันไม่พอก็ลำบาก ฝนแล้งก็ไม่ดี น้ำท่วมก็ไม่ดี ปัญหาก็คือจะแก้ความมั่นคงของชีวิตอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องโจร สำหรับคนไทย ภัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือโจรปล้น นี่ก็กลายเป็นโจทย์อย่างหนึ่งของคณะราษฎรว่าอย่างหนึ่งว่า “จะต้องทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดี และมีความปลอดภัยในชีวิต”

เรื่องของการทำนุบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ตามที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้นถึง 2 ข้อหลักเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ “ทำอย่างไรให้การผลิตมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น” และ “จะทำอย่างไรให้การแบ่งปันผลผลิตยุติธรรมที่สุดโดยเฉพาะในสังคมเกษตร” การแบ่งปันผลได้จากการเกษตรที่สำคัญก็คือการแบ่งปันระหว่างเจ้าของที่ดินกับชาวนา เรื่องนี้มีข้อถกเถียงกันมานานว่าที่ดินดีๆ นั้นเป็นของใคร โดยสรุปก็คือว่าพวกเจ้านายขุนนางเป็นเจ้าของที่ดีๆ

ยังมีการเถียงกันว่างานของ ‘คาร์ล ซี ซิมเมอร์แมน’ ที่มาสำรวจนั้นสะท้อนว่าชาวนาที่ไม่มีที่ดินมีมากมายขนาดไหน เพราะฉะนั้นเรื่องพยายามที่จะแบ่งปันให้ยุติธรรมจึงถูกโยงเข้ากับเรื่องของการเมือง และนั่นก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ชาวนาได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งในเค้าโครงการเศรษฐกิจบอกไว้ว่า รัฐบาลจะซื้อที่ดินด้วยการจ่ายพันธบัตร จ่ายให้ชาวนา เพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำให้ผลผลิตมันดีขึ้น

แต่ว่ากระบวนการที่จะโยกย้ายกรรมสิทธิ์จากเจ้าของที่ดินรายใหญ่หรือว่าขุนนางไปสู่รัฐบาล และเพื่อที่จะไปสู่ชาวนาเพื่อความมั่นคงของชาวนา ได้กลายเป็นการเมืองใหญ่ที่สุด แล้วทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเรื่องนี้ก็ชัดเจนที่ว่าเจ้านายอย่างพระปกเกล้าฯ นั้น ท่านก็ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือที่เราเรียกกันว่า “สมุดปกขาว” ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือหาว่าสมุดปกเหลืองหรือเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นแท้ที่จริงแล้วก็ลอกออกมาจากพรรคบอลเชวิค ที่รัสเซีย

ผลที่เกิดขึ้นก็คือความขัดแย้ง ที่ทำให้ในที่สุดนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของคณะราษฎร ในประเด็นเรื่องของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ความเชื่อที่อาจารย์อนุสรณ์พูดว่า เป็น “ลัทธิโซลิดาลิสม์ซึ่ม” หรือว่า “สังคมนิยมแบบเสรี” นั้น จึงถูกทำลายไป

ผมคิดว่าเมื่อมันเกิดการล้มแนวความคิดสังคมนิยมเสรีนี้ไปแล้ว คำถามก็คือว่าทำอย่างไรให้ฐานะของประชาชนดีขึ้น ในเมื่อนโยบายปฏิรูปที่ดินล้มเหลว มันพ่ายแพ้ แปลว่ามองในแง่การเมืองก็ถือว่ากระบวนการคณะราษฎรไม่สามารถที่จะหาแนวร่วมจากชนชั้นชาวนาได้ ถ้าจะสู้กับระบอบเดิมจะต้องทำอย่างไร'

 

แนวคิดจอมพลป. กับสังคมนิยมของคณะราษฎร

ในที่สุดก็ไปสู่แนวคิดของจอมพล ป. ในเรื่องของความพยายามที่จะอาศัยการสนับสนุนจากชาวนา เมื่อไม่ประสบผลสำเร็จจึงเข้าไปใช้กลไกอำนาจรัฐ ก็คือระบบราชการ ทหารมาสนับสนุน ผลที่เกิดขึ้นก็คือการก่อตัวของลัทธิขวาจัดร่วมกับในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของการเมืองระดับโลก นั่นคือการเกิดขึ้นของแนวความคิด “ฟาสซิสต์”

เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้ประเทศเป็นประเทศของประชาชนจึงมีการสร้าง Concept เรื่องชาติขึ้น และความมั่นคงของชาติก็คือความมั่นคงของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไร่ชาวนา มีการนำเอาเรื่องชาตินิยม นำเอาเรื่องสหกรณ์มาใช้

ในตอนนั้นเองที่ทำให้จอมพล ป . พิบูลสงครามเติบโตขึ้นมา และมองไปยังประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว คือประเทศที่เป็นเผด็จการขวาจัดอย่าง เยอรมันนี ญี่ปุ่น จอมพล ป. ใช้คำอาจารย์สุลักษณ์ว่า “สมาทานลัทธิชาตินิยม ฟาสซิสต์” เข้ามา มันก็จะเป็นเศรษฐกิจชาตินิยมนะครับ เกิดรัฐวิสาหกิจในทางอุตสาหกรรมการค้า เกิดสหกรณ์ที่จัดตั้งโดยภาครัฐขึ้นมา นี่คือความพยายามแก้ปัญหาให้ประชาชนด้วยการนำคอนเซปต์เรื่องชาติเข้ามาใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้

อย่างไรก็ตาม การสิ้นสุดของระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ไปพร้อมๆ กับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลที่เกิดขึ้นก็คือการที่ระบบทุนนิยมเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาด้วยอาการอาศัยกลไกระดับโลกของธนาคารโลกเข้ามา ใช้วิธีการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ตรงข้ามกับสังคมนิยมของคณะราษฎร ตรงข้ามกับแนวความคิดชาตินิยมของจอมพล ป. นั่นก็คือการสร้างระบบทุนนิยมเสรีขึ้น

เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำลายกลไกการปกป้องตัวเอง ทำลายเครื่องมือสร้างความมั่นคงของบรรดาคนงานต่างๆ แต่สังเกตได้ว่าเมื่อจอมพล สฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจ สิ่งที่จอมพล สฤษดิ์ทำก็คือการยกเลิกกฎหมายแรงงาน 2499 ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นเป็นคนสนับสนุนให้ออก เมื่อล้มกฎหมายแรงงานก็หมายถึงว่าล้มสหภาพแรงงานไปด้วย

เพราะสหภาพแรงงานงานเป็นกลไกการปกป้องสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของคนงาน เมื่อถามว่าทำไมต้องล้ม? ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ของจอมพล สฤษดิ์ บอกชัดว่า ต้องเลิกกฎหมายแรงงานและสหภาพแรงงาน เพื่อที่จะไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการสร้างเศรษฐกิจ

พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ให้กฎหมายที่ประกันความมั่นคงและรายได้ของคนงานนั้นเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้แรงงานไร้เครื่องมือในการปกป้อง ทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้าราคาถูก ซึ่งตอนนั้นก็ใช้เป็นเครื่องมือในการดึงดูดการลงทุน

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการพยายามสร้างรัฐสมัยใหม่ที่นำโดยคณะราษฎร ให้พ้นไปจากรัฐแบบจารีต เริ่มจากระบบสังคมนิยมในช่วงอาจารย์ปรีดี จะบอกว่าเป็นทางซ้ายแล้วก็ย้ายมาทางขวาเป็นชาตินิยมจอมพล ป. แต่พอมาถึงสิ้นสุดสงครามจริงๆ ก็กลายมาเป็นทุนนิยมเสรี พอมาทุนนิยมเสรีจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เป็นเศรษฐกิจที่ทำให้แรงงานนั้นไร้เครื่องมือในการปกป้องตัวเอง ในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับตัวเอง

ทีนี้การพยายามจะทำให้แรงงานนั้นอ่อนแอ หรือไร้เครื่องมือในการปกป้อง เราเห็นได้บ่อยๆ คนที่เติบโตมาพร้อมๆ กับขบวนการแรงงาน

 

กฎหมายแรงงาน กฎหมายประกันสังคม คือ กฎหมายที่ได้มาด้วยการเรียกร้อง ?

ในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาอุตสาหกรรม ตอนที่ผมเป็นนักเรียน ทุกเช้าริมคลองสาทรซึ่งปัจจุบันเรียกว่าสะพานตากสิน จะมีกรรมกรถือม้านั่งตัวเล็กๆ เหมือนสมัยก่อนที่เราไปกินอาหารตามหาบเร่ เอาผ้าข้าวม้าพาดไหล่ ใครเข้ามาแล้วก็มานั่งรอสายๆ จะมีคนมาบอกเอา 10 คน เอา 20 คน เขาเรียกว่า “ระบบเอี่ยวเท่าล้อ”  เหมือนกับคุณไปเกณฑ์คนมา 10 คน แต่ไปชาร์จคนที่เป็นคนจ้างเท่ากับ 12 แรง เป็นระบบนายหน้าแรงงาน พวกนี้จะไปขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือเล็ก สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอก็คือ แรงงานเหล่านี้เมื่อขนของขึ้นเรือแล้วเหนื่อยตกน้ำตาย หาเจ้าภาพไม่ได้นะครับ หานายจ้างไม่ได้ เพราะคนที่ติดต่อไปก็จะบอกว่าตัวไม่ใช่เป็นนายจ้าง เป็นนายหน้าหาคนเข้าไป ไปหาเจ้าของเรือก็จะบอกว่า ผมไม่ได้เป็นนายจ้าง เพราะแรงงานพวกนี้มาจากการจ้างของพวกนายหน้า นี่คือปัญหาใหญ่อันเป็นที่มาของ “กฎหมายคุ้มครองแรงงาน” ที่จะทำให้บอกว่าต้องบอกว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบชีวิตของลูกจ้าง

หลังวิกฤตปี 40 เราจะมีปัญหาที่เราเรียกว่า “แรงงานเหมาช่วง” ไปทำงานในสถานประกอบการแห่งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ลูกจ้างของสถานประกอบการแห่งนั้น  ได้ผลประโยชน์ไม่เท่ากัน เจ็บป่วย ล้มตายก็บอกว่าไม่ใช่ จนต้องมีการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ในการแก้ไขกฎหมาย และเมื่อมันเกิดปัญหากันอย่างนี้มากขึ้นจึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีกฎหมายมาคุ้มครองรับผิดชอบ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรกก็คือ การเกิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานในราว ๆ ปี 2515 กฎหมายพวกนี้ก็จะคุ้มครองเรื่องค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน วันหยุด วันลาว่าจำเป็นจะต้องจำกัดชั่วโมงทำงาน หากทำเลยจากนี้แล้วจะต้องได้ค่าโอทีและทำงานวันหยุดต้องได้ค่าจ้างทำงานในวันหยุด ต้องลาคลอดได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี ใครตั้งท้องก็ต้องลาออกไป

ลูกจ้างขสมก. กฎหมายบอกว่าถ้าคุณทำงานแล้วเกิดตั้งท้องขึ้นมา ต้องลงจากรถ ก็คือต้องลาออกไปช่วงหนึ่ง พูดง่าย ๆ ก็คือคุณต้องออกงานเพราะท้อง หลังๆ เรียกร้องกัน จนในที่สุดเลยบอกว่า “ห้ามเลิกจ้างเพราะมีครรภ์”

สิ่งที่สำคัญที่สุดเห็นกันชัดเจน ก็คือการใช้แรงงานแบบไม่มีการคุ้มครอง เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจึงมีการเรียกร้องของคนงาน และในที่สุดก็เกิดการเคลื่อนไหวทั้งคนงาน ทั้ง NGO ด้านแรงงาน ทั้งนิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไป เรียกร้องให้เกิดกฎประกันสังคม เพราะอะไร เพราะกฎหมายมันคุ้มครองการเจ็บป่วยการล้มตายอันเนื่องมาจากการทำงาน แต่ปัญหาใหญ่ก็คือว่าถ้าคนงานโดยสารรถรถบริษัทแล้วรถคว่ำ มันเกิดกรณีที่รถคว่ำแล้วคนตาย ไม่มีคนรับผิดชอบในส่วนนี้ ตายนอกการทำงานไม่มีการรับผิดชอบจึงมีการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองคนงานที่เจ็บป่วยล้มตายนอกเวลางาน จึงเป็นที่มาของ “กฎหมายประกันสังคม”

แต่พอมาถึงวันนี้ มันมีปัญหา ในเวลาพูดถึงเรื่องคนงานและผู้ใช้แรงงาน ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ลูกจ้างอย่างเดียว เพราะว่ากฎหมายประกันสังคม จริงๆแล้วไม่ได้ประกันสังคม มันประกันคนที่เป็นลูกจ้างที่มีนายจ้างเป็นหลัก การมาขยายเป็นคนงานซึ่งเคยทำงาน มีลูกยากแล้วลาออกจากงาน หรือคนที่เป็นลูกจ้างไม่มีนายจ้างที่เรียกว่ามาตรา 39 40 เพิ่งมาขยายทีหลัง

ผมคิดว่าประเด็นที่สำคัญก็คือ ถ้าจะพูดกันถึงเรื่องของการ “ประกันสังคม” หรือ “รัฐสวัสดิการ” เราอาจจะมองไม่เห็นคนอื่น แต่ว่าผมเข้าใจว่าเราสามารถศึกษาได้จากพัฒนาการของกฎหมายประกันสังคม ว่ามันผ่านการริเริ่มอย่างไร ต่อสู้อย่างไร มีอุปสรรคอย่างไร

ในแง่ของความคิด คนไม่เห็นด้วย เขาว่ากันว่าอย่างไร คนไม่เห็นด้วยเขาก็จะบอกลักษณะประกันสังคมทำให้คนไม่ไม่ยอมทำงาน กลายเป็นคนที่ขี้เกียจนอนกระดิกเท้ารอเบี้ยต่างๆ ซึ่งมันก็ต้องมีการต่อสู้เพื่อจะล้มล้างหรือลบล้างความเชื่อตรงนี้

เพราะฉะนั้น กระบวนการต่อสู้เพื่อให้เกิด “รัฐสวัสดิการ” จะต้องใช้ทั้งการต่อสู้เชิงความคิด และพลังของคนที่จะได้ประโยชน์จากส่วนนี้ ทีนี้สิ่งหนึ่งซึ่งจะอยากจะบอกก็คือว่า ทำไมเราจะต้องมีการเคลื่อนไหวการต่อสู้เรื่องนี้ ผมบอกได้เลยจากประสบการณ์ 40 กว่าปีในเรื่องของด้านแรงงาน ไม่เคยมีกฎหมายใดใดที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงานและได้ออกมาด้วยการหยิบยื่นของรัฐเลย แม้แต่กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำทุกวันนี้ไม่เคยเป็นคนริเริ่มหรือให้ความคิดว่าปีนี้ค่าจ้างขั้นต่ำควรจะขึ้นเท่าไหร่

เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดจากการเรียกร้องของลูกจ้าง ข้อเสนอของลูกจ้าง การต่อรองการกดดันของลูกจ้าง และสิ่งที่ต้องประกอบกันเพื่อให้ได้มาคือการต่อสู้ทางความคิด และการต่อสู้ด้วยการรวมพลังกัน รวมพลังเรียกร้องโดยตรงอย่างที่ทำกันมาหรือ การกดดันนักการเมือง

ผมคิดว่าโจทย์ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดรัฐสวัสดิการ คือการต่อยอดขยายกฎหมายประกันสังคมให้พ้นจากการประกันลูกจ้างกลายมาเป็นการประกันคนในสังคมทั้งหมด เพราะชื่อกฎหมายคือกฎหมายประกันสังคม ไม่ใช่กฎหมายประกันลูกจ้าง แต่ทุกวันนี้กฎหมายประกันสังคม ไม่ได้ประกันทั้งสังคม

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าต้องทำอย่างไร คนทุกชนชั้น ชนชั้นบน ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางที่เขาจะได้ประโยชน์จากความมั่นคงเพื่อให้มีสวัสดิการเกิดขึ้น จำเป็นจะต้องรวมตัวกัน และหลักการของเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะว่าในระบบทุนนิยมปัจจุบันกำลังพยายามที่จะสร้างความไม่มั่นคงในชีวิตขึ้น และจะทำอย่างไร เราถึงจะสร้างหลักประกันตัวนี้ขึ้นมาได้ โดยการขยายกฎหมายประกันสังคมให้มันมีความหมายและตามตัวพยัญชนะของมันให้ถึงที่

เรื่องรัฐสวัสดิการ เราพูดมาเมื่อ 89 ปีที่แล้ว แล้วเราก็ยังไม่ได้อะไรเลย แล้วดูเหมือนกับว่าเรื่องนี้เป็นแค่ความฝัน แต่ว่าผมอยากจะบอกว่า ที่จริงแล้วการเรียกร้องอะไรแบบนี้ ก็เหมือนกับการเดินตามหาดวงดาว เราอาจจะเดินไปตามทาง อาจจะยังไม่ถึงมัน แต่ว่าถ้าเรามองย้อนหลังกลับไปจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 89 ปีที่แล้ว เราจะพบว่าเราเดินมาได้ไกลพอสมควร เรามาอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเราเดินเร็วพอไหมกับความเปลี่ยนแปลง

ปี 2475 ประเด็นสำคัญอยู่ที่บริบทของสังคมไทยที่เป็นสังคมเกษตร สังคมศักดินาแต่โจทย์ในวันนี้อาจจะต่างออกไปคือ สมัยก่อนจะพูดถึงเรื่องของการแก้ปัญหาชาวนา แต่วันนี้เราคงไม่เน้นหนักเรื่องปัญหาชาวนา การปฏิรูปที่ดิน เพราะโจทย์ใหม่ๆ มันมี อย่างเช่น เรื่องของคนชราและคนสูงอายุ เรื่องของผู้หญิง เรื่องของอะไรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ ในบริบท

ผมคิดว่าสำคัญที่สุด คือ เราต้องเดินต่อไปข้างหน้า แล้วเดินให้เร็วทันความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่อาจารย์ปรีดีมอบไว้ให้ไม่ใช่รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่ให้ก็คือต้องเปลี่ยนแปลงอะไรให้สอดคล้องกับบริบทในช่วงนั้น สมัยอาจารย์ปรีดีจะเป็นสังคมเกษตรที่เป็นชาวนา แต่ว่าสมัยนี้บริบทมันเปลี่ยนไป เราก็ตอบโจทย์ร่วมสมัยให้ได้ นั่นคือสิ่งที่อาจารย์ปรีดี และคณะราษฎรได้ทิ้งให้กับเราในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ ในฐานะที่เป็นหลักการ ไม่ใช่วิธีการ

ที่มา: ศาตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์. PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ห้องประชุมพูนศุข

หมายเหตุ: เรียบเรียงและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ