พยาน: (นายปรีดี พนมยงค์) ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริง ตามที่ได้รู้เห็นมาทุกประการ
ศาล: พยานชื่อะไร ?
พยาน: นายปรีดี พนมยงค์
ศาล: อายุเท่าไร ?
พยาน: 47 ปี
ศาล: ทำงานที่ไหน
พยาน: รับบำนาญ
ศาล: บ้านอยู่ที่ไหน
พยาน: ถนนพระอาทิตย์
ศาล: พยานเป็นญาติกับจำเลยหรือเปล่า ?
พยาน: เปล่า
ทนายจำเลย (นายทองม้วน สถิรบุตร): ในการที่จะเรียนถามพยานต่อไปนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะต้องขอประทานโทษด้วย เพราะคงจะเปะปะไปบ้าง เพราะเรื่องราวของท่านเราก็คงจะได้ทราบกันแล้วประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งบางทีอาจจะต้องมีการถามนำเอาบ้าง เป็นที่เชื่อกันแล้วว่า พยานปากนี้เป็นผู้ทรงเกียรติทางฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้านประการใด
ทนายจำเลย: ขอประทานโทษ เวลานี้ท่านอาจารย์ได้รับการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ใช่หรือไม่ ?
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: รัฐบุรุษอาวุโสนี้ มีคนเดียวในประเทศไทย ใช่หรือไม่ ?
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์ได้รับบำเหน็จ หรือเงินเดือนจากการเป็นรัฐบุรุษอาวุโสนี้บ้างหรือเปล่า ?
พยาน: ไม่ได้รับ
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์เคยศึกษาและสำเร็จวิชาอะไร ?
พยาน: ศึกษาวิชากฎหมายในประเทศไทย ในประเทศฝรั่งเศสและศึกษาในทางเศรษฐศาสตร์
ทนายจำเลย: ศึกษาในทางเศรษฐศาสตร์สำเร็จหรือไม่
พยาน: สำเร็จได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงในทางเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย (Sciences Politique)
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์เคยได้รับราชการในตำแหน่งสามัญอะไรมาบ้าง
พยาน: เอาในตอนหลังเมื่อเปลี่ยนการปกครองแล้วหรือตอนก่อนด้วย
ทนายจำเลย: ตอนก่อน
พยาน: ก่อนๆ เคยเป็นเสมียนในกระทรวงนครบาล ตอนหลังเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการราษฎร เป็นรัฐมนตรีไม่ว่าการ คือ เป็นรัฐมนตรีลอย แล้วเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่างประเทศ กระทรวงการคลังแล้วเป็นผู้สำเร็จราชการ
ทนายจำเลย: ในการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย อาจารย์ได้เกี่ยวข้องอย่างไร ?
พยาน: ก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในคณะที่ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ทนายจำเลย: ในฐานะเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน ใช่ไหม ?
พยาน: ตามที่เขายกย่องกันก็เป็นเช่นนั้น
ทนายจำเลย: ในการจับกุมอาชญากรสงครามนี้ มีบุคคลสงสัยเป็นจำนวนมากว่าท่านอาจารย์เป็นผู้อำนวยการจับกุม อยากทราบว่าเป็นความจริงเพียงไร
พยาน: ข้อนี้ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงเลย ขณะนี้อำนาจในการสั่งเช่นนั้นก็ไม่มี และในทางพฤตินัยก็ ไม่เกี่ยวข้อง สุดแต่อำนาจของคณะกรรมการจะจัดการ เป็นสิทธิซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรก็จะได้จัดทำไป
ทนายจำเลย: ในการก่อตั้งคณะหนึ่ง เรียกว่าคณะต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งในภายหลังได้ชื่อว่าเป็นคณะเสรีไทยนั้นท่านอาจารย์ได้เกี่ยวข้องอย่างไร ?
พยาน: ก็ได้เกี่ยวข้องในเรื่องการต่อต้านญี่ปุ่นนี้ คือเริ่มกระทำตั้งแต่ในวันแรกที่ญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทย แล้วต่อมาได้ชักชวนเพื่อนฝูงหรือบุคคลที่สนิทสนมให้เข้าร่วมในส่วนภายในนี้เป็นจำนวนมาก และแม้แต่ในส่วนที่อยู่ในต่างประเทศก็มีบรรดาผู้ที่รู้จักหรือชอบพอกันหลายคนปฏิบัติการในต่างประเทศ มาในที่สุดเมื่อกิจการได้คลี่คลายขยายตัวออกไป หรือความเจริญในการต่อต้านได้แผ่ไพศาลมากขึ้น
ทางฝ่ายอังกฤษจึงได้ให้นายฉลวยฯ มากระโดดร่มนำสาส์นสัมพันธมิตรมาถึงข้าพเจ้าหนึ่งฉะบับ ในขณะนั้น สัมพันธมิตรได้ชี้แจงว่าเขายอมรับว่า ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าของคณะต่อต้านทั้งภายในและภายนอกประเทศ และในสาส์นฉบับเดียวกันนั้น ยังได้ชี้แจงมาเช่นเดียวกันอีกว่า เขาพร้อมที่จะรับรองความเป็นเอกราชของประเทศไทย
ทนายจำเลย: ในการตั้งคณะต่อต้านนั้นมีกลยุทธกลวิธีอย่างไรบ้าง
พยาน: ในการต่อต้านนี้ หลักสำคัญเราได้วางแนวยุทธการไว้ดังนี้คือ จะต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อมิให้ญี่ปุ่นเข้ามายึดประเทศไทย ก่อนที่จะถึงวันกำหนดว่าจะได้มีการรบเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพียงกัน
ต่อจากนั้นไปจะต้องไม่ให้เข้าประเทศไทยได้ ในการทำเช่นนี้ได้มีข้อตกลงกันว่า เราจะต้องทำด้วยอาการพรางทุกอย่าง ความจริงทางฝ่ายเราก็ไม่ต้องการจะพรางอะไรให้มากมายนัก เพราะถ้าพรางมากนักความบริสุทธิ์ในใจไม่เพียงพอ แต่ตรงกันข้ามทางฝ่ายโน้นเขาวิ่งเต้นมาเอง
และขอยกตัวอย่างให้เห็น คือ มีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อคราวเปลี่ยนรัฐบาลจากท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามมาเป็นรัฐบาลนายควงฯ แล้ว เวลานั้นการกระจายเสียงวิทยุของประเทศไทยได้หยุดชะงัก ไม่มีการบริภาษทางฝ่ายโน้น ทางฝ่ายสมพันธมิตรจึงได้ให้ ‘นายเสนาะ นิลกำแหง’ มากระโดดร่มลงที่อุทัยธานีและได้มีสาสน์ถึงข้าพเจ้าอีกว่าการที่เราได้งดไม่บริภาษ อาจจะทำให้ญี่ปุ่นสงสัย
เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เคยทำมาก่อนก็ให้ทำต่อไป นี่เป็นข้อที่ต้องให้เราทำอำพราง แต่ว่าในทางใจเราไม่อยากจะทำเลย มีบางครั้งซึ่งเป็นเหตุร้ายแรงจนถึงกับจะเกิดปะทะกัน เช่นเมื่อคราวญี่ปุ่นขอร้องจะเอาเงินจากเราเพิ่มขึ้นตามที่ตกลงกัน ฝ่ายเราเห็นว่า เราทนอยู่ไม่ไหว ถ้าญี่ปุ่นจะเอาเงินจากเรามากมายนัก เราจึงได้นัดแนะกันว่าสมควรจะเริ่มลงมือทำงานได้แล้ว จึงได้บอกกับญี่ปุ่นไปว่าเวลานี้ทางฝ่ายเรายังไม่พร้อมที่จะจัดการตามนั้นได้ ซึ่งทางฝ่ายโน้นเขาก็ได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว
เพราะฉะนั้น กลยุทธการทำงานของเราจึงมีหลักสำคัญอยู่ที่ทำพราง นี่เป็นหลักการ ครั้นเมื่อได้ถึงวันกำหนดคือ D. day แล้ว และได้มีการเปิดเผยก็คงจะเข้าหลักยุทธวิธีของการรบ เราได้ตกลงกันว่าจะต้องมีการพรางกลยุทธเป็นสำคัญ ทั้งนี้มิใช่ว่าเป็นเรื่องที่เราจะหักหลังญี่ปุ่น เราไม่ได้หักหลังใคร แต่ตัวของเราเองนั้น ได้ตั้งใจแต่ต้นมาแล้วว่า เราต้องการจะต่อสู้กับทุกชาติที่รุกรานเรา ส่วนการที่ได้ยอมผ่อนผันให้แก่ญี่ปุ่นนั้นเป็นกลวิธีที่ได้ ถูกลงกันกับสัมพันธมิตรเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่คิดขึ้นเอง
ทนายจำเลย: การพรางในที่นี้ ท่านอาจารย์หมายความถึงการพรางญี่ปุ่นใช่ไหม ?
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: การที่มีสหประชาชาติทำสงครามนั้นเขามีอุดมคติอย่างไร ท่านอาจารย์ทราบหรือไม่
พยาน: เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า ประเทศที่ทำสงครามคราวนี้ก็เพื่อประชาธิปไตย นี่เป็นอุดมคติซึ่งเขาได้แถลงอยู่เสมอ
ทนายจำเลย: ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตยตั้งแต่เมื่อไร ?
พยาน: ที่จะให้ทราบโดยแน่นอนนั้นทราบไม่ได้ แต่เรื่องมันเป็นมาพอจะสรุปได้ดังนี้ คือ ในชั้นเดิมเมื่อประเทศญี่ปุ่นได้เข้าอยู่ในภาวะที่เรียกว่าความเจริญสมัยใหม่ได้นั้นก็เพราะมีการปกครองแบบสมัยใหม่ คือ มีรัฐธรรมนูญ
ขณะนั้นประเทศญี่ปุ่นได้พยายามที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ต่อมาภายหลังได้มีพวกนิยมในลัทธิจักรพรรดินิยมเกิดขึ้น อันได้แก่พวกทหารหนุ่มๆ ของญี่ปุ่น พยายามโน้มเหนี่ยวให้ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่ระบอบเผด็จการ ซึ่งถ้าจะนับเวลาแล้ว
ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่าระบอบเผด็จการของญี่ปุ่นได้เริ่มตั้งแต่คณะนายทหารหนุ่มญี่ปุ่นได้เข้าทำการยึดอำนาจบางส่วนและได้เข้าทำร้ายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางคนในปี พ.ศ. 2478 ถึง 2479 ราวๆ เดือนกุมภาพันธ์ นับแต่นั้นมาญี่ปุ่นก็กลายเป็นจักรพรรดินิยมและเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตยอย่างเด่นชัด
ทนายจำเลย: แปลว่าก่อนหน้าที่นายทหารจะได้เข้ายิงรัฐมนตรีอย่างที่ท่านอาจารย์ว่ามานั้น ญี่ปุ่นก็เป็นประชาธิปไตย
พยาน: พยายามบำเพ็ญตัวเป็นประชาธิปไตยพอสมควร แต่ฝ่ายที่ไม่ชอบประชาธิปไตยก็มีเหมือนกัน แต่อำนาจของฝ่ายที่ไม่ชอบยังไม่เข้าปกคลุมเต็มที่เหมือนดังภายหลังที่นายทหารหนุ่มๆ ได้ฆ่ารัฐมนตรีแล้ว
ทนายจำเลย: พระสารสาสน์ ฯ จำเลยได้ไปประเทศญี่ปุ่นก่อนนายทหารทำการยิงรัฐมนตรีหรืออย่างไร
พยาน: ไปครับแรกไปก่อน
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์รู้จักพระสารสาสน์ ฯ จำเลยตั้งแต่เมื่อใด
พยาน: รู้จักมากว่า 20 ปีแล้ว
ทนายจำเลย: ความเป็นมาของพระสารสาสน์ ฯ เป็นมาอย่างไร คือ หมายถึงเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดความเห็นทางการบ้านเมือง มีอุดมคติไปทางใด
พยาน: จำได้ว่าเมื่อก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกมาจากประเทศฝรั่งเศสเพื่อกลับประเทศไทยในปี 2464 เวลานั้นพระสารสาสน์ฯ เป็นเลขานุการสถานทูต ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนจะเดินทางกลับ พระสารสาสน์ฯ ได้เชิญไปรับประทานอาหารที่ร้านขายอาหารแห่งหนึ่ง
ในครั้งนั้นพระสารสาสน์ฯ ก็ได้พยายามพูดจา เพื่อจะล้วงถึงความรู้สึกของข้าพเจ้าเมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้วว่าจะทำอะไร คือเรื่องการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น ก็ได้เริ่มทำกันที่ประเทศฝรั่งเศส พระสารสาสน์ฯ จึงอยากจะล้วงถามข้อความจากข้าพเจ้า ในครั้งนั้นข้าพเจ้าไม่กล้าบอกเพราะเห็นว่า พระสารสาสน์ฯ เป็นข้าราชการ ส่วนข้าพเจ้าเป็นนักเรียน
แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการแสดงว่าพระสารสาสน์ฯ สนใจมาก เมื่อข้าพเจ้ากลับมาประเทศไทยแล้วประมาณปีเศษหรือ 2 ปี ได้ทราบว่าพระสารสาสน์ ฯ ลาออกจากสถานทูต และกำลังเขียนหนังสือได้ชักชวนพวกนักเรียนให้ร่วมกันก่อการปฏิวัติ ในระหว่างที่ประเทศไทยเรายังไม่มีระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ทราบจากพวกนักเรียนที่กลับมาจากประเทศฝรั่งเศสเล่าให้ฟังว่า บางครั้งก็ได้เชิญพวกนักเรียนไปรับประทานอาหารและบางคนที่ได้รับการชักชวนตรงๆ ก็มี
ทนายจำเลย: คนที่ได้รับการชักชวนตรงๆ จากพระสารสาสน์ฯ มี ดร.เดือน บุนนาค ใช่ไหม ?
พยาน: มีหลายคนแต่เท่าที่ได้ยินก็มีว่า ในการชักชวนคราวนั้น มีคนนิ่งๆ กันมาก แต่มีคนหนึ่ง ดูเหมือนจะเป็นคุณเดือนที่เห็นชอบด้วย แต่นั้นต้องถามคุณเดือนดูก่อนเพื่อความแน่นอน ที่คุณพระสารสาสน์ฯ คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากที่เราขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ทนายจำเลย: เหตุผลที่ท่านอาจารย์เริ่มตั้งคณะต่อต้านญี่ปุ่นนั้นมีอย่างไร ความรู้สึกในเรื่องบ้านเมืองมีอย่างไรจึงได้ตั้งคณะต่อต้านญี่ปุ่นขึ้น
พยาน: เหตุผลสำคัญก็เกี่ยวกับอุดมคติอย่างที่กล่าวมาแล้ว ถือข้าพเจ้าและเพื่อนฝูงที่สนิทสนมเป็นอันมาก ต่างมีความเห็นร่วมกันที่จะถืออุดมคติในทางประชาธิปไตย นี่เป็นรากเหง้าแห่งอุดมคติในทางความรู้สึก
เมื่อเราได้มีความรู้สึกอย่างเดียวกันเช่นนี้ และเห็นว่าสงครามนั้น ถึงแม้ฝ่ายใดจะทำขึ้นโดยเป็นศัตรูต่อประชาธิปไตยแล้ว เราจะต้องต่อสู้เพื่ออุดมคติของเรา และอีกประการหนึ่งการที่ได้เกิดสงครามขึ้นทางมหาเอเซียบูรพา ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ชาติของเราได้รับความเดือดร้อน และถ้าหากเราไม่กระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเสียเลยแล้ว ผลแห่งการสงครามจะทำให้ประเทศของเรากลายเป็นประเทศที่แพ้สงคราม
ประเทศซึ่งแพ้สงครามนั้นก็ย่อมทราบกันอยู่ดีแล้วว่ามีฐานะเป็นอย่างไร เราจึงได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อจะช่วยสหประชาชาติ อันจะเป็นผลทำให้ประเทศของเราได้รอดพ้นจากสภาพการเป็นผู้แพ้สงคราม
ทนายจำเลย: แผนการดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นนี้ท่านอาจารย์ได้กำหนดเอาดินแดนส่วนไหนของประเทศเป็นส่วนต่อต้านในครั้งแรก
พยาน: ในครั้งแรกได้คิดไว้หลายชั้น แต่แรกทีเดียวนั้นได้กำหนดเอาดินแดนทางภาคเหนือ นับตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์เป็นต้นไป และรวมทั้งดินแดนทางภาคอิสานด้วย
ทนายจำเลย: ความคิดขั้นแรก จะส่งใครไปเป็นผู้อำนวยการต่อต้านทางดินแดนภาคเหนือ
พยาน: เดิมทีเดียว เมื่อญี่ปุ่นได้ขึ้นประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมแล้ว ได้มีเพื่อนฝูงมาหาข้าพเจ้าหลายคน ได้มาถามความเห็นของข้าพเจ้าว่า นี่เราจะปล่อยประเทศให้เป็นอยู่เช่นนี้หรือ
ข้าพเจ้าได้บอกไปว่า ความคิดของข้าพเจ้ามีอยู่แล้ว เมื่อมีใครมารับอาสาก็จะใช้ให้ไป ผู้ที่ข้าพเจ้าใช้ให้ไปเป็นคนแรกก็คือ ‘หลวงกาจสงคราม’ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
‘หลวงกาจสงคราม’ ได้เข้ามาหาเป็นคนแรก มาชวนให้ข้าพเจ้าหนีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ข้าพเจ้าบอกว่าอย่าไปเลย เพราะเราได้ยึดดินแดนตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์เป็นต้นไป ไว้สำหรับต่อต้านญี่ปุ่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงกาจฯ บอกว่า ถ้าอย่างนั้นผมขอไปด้วย และเราก็ได้ไปชวนพวกทหารที่จังหวัดนครสวรรค์เพื่อดำเนินการยึดทางรถไฟไว้พวกหนึ่ง
อีกพวกหนึ่งยึดทางโคราช ทางภาคเหนือก็มี เช่น คุณพึ่ง คุณทอง และทองเปลว ซึ่งให้ไปดำเนินการทางเขาพลึงเป็นต้นไป แต่ผลสุดท้ายทำไม่ได้ทั้งสองทาง เพราะว่าญี่ปุ่นได้ขึ้นไปถึงดินแดนที่เรายึดไว้เสียแล้ว โครงการอันนี้จึงเป็นอันล้ม
ทนายจำเลย: การคิดจะต่อต้านญี่ปุ่นนั้น ในขั้นแรกๆ ได้ติดต่อกับทูตต่างประเทศ เช่น ทูตอังกฤษบ้างหรือเปล่า
พยาน: ข้าพเจ้าได้ติดต่อ คือ เมื่อวันที่ 8 เมื่อทางรัฐบาลได้ตกลงให้ญี่ปุ่นเข้าเมืองได้แล้ว คืนนั้นข้าพเจ้าไม่ได้นอนตลอดคืน ตอนบ่ายวันรุ่งขึ้นจึงได้กลับบ้าน ที่กระทรวงได้พบกับท่านเอกอัครราชทูตอังกฤษได้สนทนากัน
ข้าพเจ้าได้ชี้แจงว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเช่นนี้เป็นคราวจำเป็น ความจริงเรามิได้มีเจตน่ามุ่งร้ายต่อสหประชาชาติแต่ประการใดเลย และทางฝ่ายคุณดิเรก ข้าพเจ้าก็ได้มอบให้ปรับความเข้าใจเมื่อพบกับทูตอังกฤษและทูตอเมริกันที่กระทรวงการต่างประเทศ
เวลานั้นคุณดิเรกปรารภว่า พวกเราซึ่งนิยมอุดมคติประชาธิปไตยประสงค์จะขอลาออก โดยไม่ขอร่วมมือกับรัฐบาลในขณะนั้น แต่ทูตอังกฤษและอเมริกันได้บอกกับคุณดิเรกว่า เพื่อประชาธิปไตยขออย่าให้ออก จะต้องอยู่ และทำเพื่อประชาธิปไตยต่อไป อันเป็นนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการพราง ดังได้กล่าวมาแล้ว
ทนายจำเลย: ระหว่างที่ญี่ปุ่นขี้นประเทศไทย ท่านอาจารย์รับตำแหน่งหน้าที่ในกระทรวงการคลังใช่ไหม
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: ต่อมาอีกนานเท่าไรจึงได้เป็นผู้สำเร็จฯ
พยาน: ราว 8 วันต่อมา จึงได้เป็นผู้สำเร็จฯ
ทนายจำเลย: เหตุผลที่ต้องรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จฯ นั้น เพราะอะไร
พยาน: เวลานั้น รัฐบาลในขณะนั้นบอกว่า ญี่ปุ่นไม่พอใจ ข้าพเจ้าหาว่าเป็นพวกสหประชาชาติ ญี่ปุ่นอยากจะให้ข้าพเจ้าออกจากรัฐบาล เพื่อให้ขาดจากอำนาจทางฝ่ายบริหาร แต่อยากจะให้อยู่ในตำแหน่งอะไรก็ได้ที่มีเกียรติยศแต่ทำอะไรไม่ได้ ก็หมายความว่า เขาบุ้ยมาให้เป็นผู้สำเร็จฯ เพราะมีตำแหน่งว่างอยู่หนึ่งตำแหน่ง
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์ยินดีที่จะรับตำแหน่งนี้หรือไม่
พยาน: ข้าพเจ้าปฏิเสธ เมื่อครั้งท่านนายกรัฐมนตรีเรียกให้ข้าพเจ้าไปพบครั้งนั้น ข้าพเจ้าบอกว่า ไม่พึงประสงค์ขอเป็นเพียงสมาชิกสภาฯ แต่เมื่อได้พบกับ หลวงอดุลฯ รองนายกรัฐมนตรีก็ได้บอกว่าขอให้ช่วยอย่าให้เป็นผู้สำเร็จฯ เลย
หลวงอดุล ฯ บอกว่า เมื่อทางรัฐบาลพึงประสงค์เช่นนั้น เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมขอให้รับ ข้าพเจ้าได้มาปรึกษาเพื่อนฝูงดูเหมือนกันว่าจะควรรับดีหรือไม่ มีความเห็นแยกออกเป็น 2 ฝ่าย บางคนเห็นว่าไม่ควรรับ บางคนเห็นว่าควรรับ
เหตุผลของฝ่ายที่ควรรับมีว่า ถ้าหากยังอยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จฯ งานต่อต้านญี่ปุ่นก็จะทำได้สดวกเพราะอย่างน้อยที่สุด ญี่ปุ่นก็นิยมนับถือพระเจ้าแผ่นดิน การที่เราเป็นผู้สำเร็จฯ เขาก็ต้องนับถือกิจการงานอะไรที่ทำก็ยังดีกว่าเป็นสมาชิกประเภท 2 อยู่ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยอมรับ
ทนายจำเลย: ในการต่อต้านญี่ปุ่นนี้ ท่านอาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่อง ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เป็นนายกรัฐมนตรี ผลที่ได้รับเป็นความสดวกหรือขัดข้องอย่างไรมีบ้างไหม
พยาน: เท่าที่ทราบก็คือราษฎรไม่พอใจ อยากให้จอมพลออก ทั้งสหประชาชาติทุกประเทศ อังกฤษ อเมริกัน จีนก็ไม่พอใจอยากจะให้ออกเสีย
ทนายจำเลย: เนื่องในการคิดที่จะก่อต้านญี่ปุ่นนี้ท่านอาจารย์ได้เคยเรียกพระสารสาสน์ฯ เลยมาจากต่างประเทศบ้างหรือไม่
พยาน: เมื่อญี่ปุ่นขึ้นเมืองแล้วประมาณสัก 15 วันข้าพเจ้าได้ให้พระสารสาสน์ฯ เข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อสอบถามลาดเลาดูว่า ญี่ปุ่นได้คิดการอย่างไร และถ้าพอดีพอร้ายพระสารสาสน์ฯ ให้ความเห็นอันสมควรก็จะได้ชวนให้เข้าร่วมงานด้วย
แต่เมื่อพระสารสาสน์ฯ ได้เข้ามาแล้วได้คุยกันถึงผลแห่งสงคราม พระสารสาสน์ฯ เวลานั้นบอกว่าญี่ปุ่นจะชนะ เมื่อพระสารสาสน์ฯ พูดขึ้นว่าญี่ปุ่นจะชนะเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้กล่าวขืนว่า นี่แหละประเทศของเรานี้ ขณะนั้นประชาชนไม่ชอบรัฐบาล น่ากลัวว่าไม่วันใดก็วันหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรอาจจะลงมติไม่ไว้วางใจได้
ในกรณีเช่นนี้ ก็ควรจะได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเสียใหม่ แต่ก็ได้เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนั้น ไม่ใช่เป็นของง่าย เพราะรัฐบาลไทยเราขณะนั้นญี่ปุ่นสนับสนุนอยู่มาก ถ้าไปเปลี่ยนเข้า พอดีพอร้าย ญี่ปุ่นอาจจะยึดประเทศไทยก็ได้ นโยบายแห่งการต่อต้านมีอยู่ว่าไม่ให้ญี่ปุ่นมายึดประเทศไทยและจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การได้เป็นไปตามความประสงค์นี้ จึงได้เกิดวิธี Underground หรือสันติบาลใต้ดินขึ้นในชั้นหลัง
ข้าพเจ้าได้ถามพระสารสาสน์ฯ ว่า ถ้าหากว่าคุณพระว่าญี่ปุ่นจะชนะ คุณพระเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองเป็นไง การพูดนี้พูดกันฐานเพื่อน คุณพระตอบว่าไม่สามารถรับได้ เพราะถ้ารับก็จะกลายเป็นควิสลิง จึงไม่ได้ชวนพระสารสาสน์ฯ ให้เข้าร่วมการต่อต้านด้วย แต่ได้บอกไปอีกอย่างหนึ่ง คือไม่ได้พูดเรื่องต่อต้าน ได้พูดถึงเรื่องกิจการภายในว่า ราษฎรไม่พอใจรัฐบาล
เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะหาทางปรับความเข้าใจกับญี่ปุ่นเสียว่า รัฐบาลที่อยู่ในขณะนั้นน่ากลัวจะต้องถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจสักวันหนึ่ง และเมื่อพระสารสาสน์ฯ ไม่ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่ากลัวจะเป็นควิสลิง ข้าพเจ้าก็ได้ถามว่า ใครเล่าเป็นบุคคลที่สมควรที่จะทำให้ญี่ปุ่นเข้าอกเข้าใจและดำเนินการพรางได้ตามนโยบาย
เวลานั้นได้พิจารณาถึง เจ้าคุณพหลฯ บ้าง คุณหลวงสินธุ์ฯ บ้าง คุณหลวงศุภฯ บ้าง และ คุณควง บ้าง แต่ผลสุดท้ายได้แก่คุณควง ข้าพเจ้าได้มานึกว่า การที่จะพรางให้สำเร็จได้นั้น จะต้องใช้บุคคลซึ่งตีหน้ากับญี่ปุ่นได้ ก็ได้พิจารณาเห็นคนๆ หนึ่ง ที่จะทำหน้าที่อยู่หน้าฉากได้ดีจึงได้พูดกับพระสารสาสน์ฯ ว่า ถ้าหากจอมพลต้องออกเพราะสภาฯ ลงมติไม่ไว้วางใจแล้ว และคุณควงขึ้นมาแทนที่แล้วญี่ปุ่นจะขัดข้องอย่างไร และถ้ามีโอกาสอย่างไรแล้วขอให้พระสารสาสน์ฯ ลองพูดกับคุณควงดูซิว่าจะเห็นอย่างไร ต่อจากนั้นคุณพระก็กลับ
ทนายจำเลย: ที่คุณพระสารสาสน์ฯ พูดว่า ญี่ปุ่นจะชนะสงครามนั้น ท่านอาจารย์สังเกตเห็นหรือไม่ว่า ได้พูดด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือมีอะไรเคลือบแฝงอยู่
พยาน: ถ้าสังเกตละก็ พูดด้วยความบริสุทธิใจ เพราะเวลานั้นเป็นเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังรบชนะ ดีได้หลายแห่ง และด้วยความเป็นธรรม แม้นออกจากคุณพระสารสาสน์ฯ ก็เคยมีคนใหญ่ๆ โตๆ หลายคนในเมืองไทยมีความเห็นว่าญี่ปุ่นจะชนะ นับเป็นความเห็นโดยบริสุทธิใจ แต่การทำนายสงครามนั้น อาจจะทายผิดบ้างถูกบ้างก็ได้ นอกสนามคนวิจารณ์เรื่องเหล่านี้มีมากหลายคน
ทนายจำเลย: บุคคลที่ว่ามีหลายคนนั้น เขาเหล่านั้นได้ถูกจับเป็นอาชญากรสงครามด้วยหรือเปล่า
พยาน: ที่ถูกจับก็มี หรือบางทีก็เป็นอย่างนี้ คือ ความเห็นของเขานั้นเป็นไปในทางไม่บริสุทธิ์ใจ ภายหลังจึงได้เข้ามาร่วมมือในการต่อต้านก็มี
ทนายจำเลย: แปลว่า ในขณะที่เริ่มการต่อต้านญี่ปุ่นนั้น เดิมทีมีความเห็นว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม แล้วต่อมาก็ได้เข้าร่วมในคณะต่อต้านด้วยก็มี ใช่ไหม แล้วท่านอาจารย์ได้รับไว้ร่วมด้วยหรือเปล่า
พยาน: รับ เพราะเราถือหลักว่าสิ่งใดจะนำเราไปสู่ความเจริญแก่ประเทศชาติแล้ว เราจะทำทุกอย่าง การต่อต้านญี่ปุ่นนี้เป็นผลดีแก่ประเทศชาติ และเมื่อเขาได้มารู้สึกในภายหลังถึงผลได้ผลเสียในการสนับสนุนญี่ปุ่น เขาได้กลับใจแล้ว เราก็รับเข้ามา
ทนายจำเลย: การสนทนากันวันนั้น เป็นการภายในอย่างกันเองหรือ
พยาน: สนทนากันอย่างเพื่อนพูดกัน
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์ก็รู้จักพระสารสาสน์ฯ มานานแล้ว (หันมาทางจำเลย) ขอประทานโทษจำเลย จำเลยเป็นคนหัวรั้นชอบเถียงใช่ไหม
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: กับท่านอาจารย์ก็เคยเถียงกันเสมอ ถ้าท่านอาจารย์ว่าอย่างนี้จำเลยก็ว่าอย่างนั้น ถ้าท่านอาจารย์ว่าแพ้ จำเลยก็ว่าชนะเป็นเนืองนิจใช่ไหม ?
พยาน: มีหลายข้อหลายประเด็น แกมักจะชอบเช่นนั้น
ทนายจำเลย: ระหว่างที่จอมพลเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรในเรื่องประชาธิปไตยของชาติ ยังมีอยู่บริบูรณ์ดีหรือเสื่อมสูญไปอย่างไร
พยาน: เห็นจะเป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปแล้ว ถ้าข้าพเจ้าจะให้การไปอย่างไรนั้น อาจจะไปกระทบกับสำนวนอื่น จึงอยากจะขอสงวนไว้ใคร่จะปล่อยให้ศาลพิจารณาเองดีกว่า
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์เคยปรึกษาหารือกับพระสารสาสน์ฯ จำเลยบ้างหรือไม่ว่า เราจะพยายามเอาประชาธิปไตยกลับคืนมาให้แก่ชาติเราให้ได้
พยาน: ข้อนี้จริง เพราะพระสารสาสน์ฯ นั้น เป็นผู้ที่บำเพ็ญตนว่าเป็น Socialist และบำเพ็ญตนว่าเป็นนักประชาธิปไตย และที่ต้องจากประเทศไทยไปนั้น ก็ด้วยเกรงว่าจะถูกขับกุมหรือถูกข่มเหง ฉะนั้น แทบทุกครั้งที่พระสารสาสน์ฯ ต้องจากประเทศไทยไป จึงแปลว่าไปเพราะกลัวผู้ที่ไม่ชอบประชาธิปไตย
เมื่อเราพบกันครั้งไร ก็มีแทบทุกครั้งที่ต่างมีความประสงค์อยากจะให้การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรได้เป็นไปในรูปของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และในการปกครองประเทศไทยก็ประสงค์จะให้ได้มีประชาธิปไตยอย่างพร้อมบริบูรณ์ และนอกจากได้พยายามคิดที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะเปลี่ยนจิตใจของรัฐบาลให้กลับมานิยมประชาธิปไตยให้ได้ เรื่องอย่างนี้เราพูดกันแทบทุกครั้งที่พบกัน
ทนายจำเลย: การที่จะต่อต้านญี่ปุ่นนั้น ได้มีแผนการที่จะเอาจอมพลออกจากนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่
พยาน: นั่นเป็นแผนการอันหนึ่งตามที่ได้ ให้การไว้แล้วว่า การที่จะต่อต้านได้สำเร็จนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลที่สามารถจะเป็นกำบัง เพื่อให้การต่อต้านนี้สำเร็จโดยเรียบร้อย และก็เป็นที่รู้กันดีแล้วว่าประชาชนไม่พอใจ ถ้าหากจอมพลยังอยู่
ทนายจำเลย: ในการเตรียมการเพื่อต่อต้านนั้น ท่านอาจารย์ได้จัดการอย่างไรในด้านสภาฯ
พยาน: ในด้านทางสภาฯ นี้ ก็ได้พิจารณาหารือวิธีอยู่หลายอย่าง เพราะการที่จะให้รัฐบาลออกนั้น ก็มีอยู่ทางเดียว คือ ออกโดยมติไม่ไว้วางใจของสภาฯ จะเป็นมติไม่ไว้วางใจทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ แต่ที่จะทำเช่นนี้ได้ก็โดยต้องอาศัย (1) ผู้ที่เป็นประธานสภาฯ (2) กำลังใจของสมาชิกที่จะกล้าคัดค้านในสิ่งซึ่งตนเองเห็นว่าไม่ถูก
ในการนี้ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับ ‘นายทองเปลว ชลภูมิ’ ซึ่งในเวลานั้นเป็นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้พยายามชี้แจงต่อสมาชิกให้เกิดกำลังใจปฏิบัติหน้าที่ของตนไปในทางที่ถูกอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็ใคร่จะให้ได้บุคคลซึ่งร่วมอยู่ในคณะต่อต้านนี้ เพื่อจะได้ปฏิบัติการไว้ถูกต้องตรงกันได้
ในครั้งนั้นจึงได้มีเรื่องตามที่ทราบกันอยู่แล้ว คือ สภาได้ลงมติให้ ‘นายทวี บุณยเกตุ’ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แล้วต่อมาภายหลังก็มีเรื่องนายทองเปลวถูกจับตัวไปคุมขังอีกด้วย เพราะมีบุคคลบางคนนำความไปไขต่อผู้ที่มีอำนาจในเวลานั้นว่า นายทองเปลวฯ เป็นตัวการทางฝ่ายสมาชิกสภาฯ
ทนายจำเลย: นายทวี บุณยเกตุ ซึ่งสภาฯ เสนอให้เป็นประธานสภาฯ นั้นเป็นบุคคลในคณะต่อต้านญี่ปุ่นด้วยหรือเปล่า
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: แล้วผลที่สุดไม่ได้เป็นประธานสภาฯ หรืออย่างไร ?
พยาน: นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงชื่อรับสนองฯ
ทนายจำเลย: ในสมัยนั้นคือจอมพล ใช่ไหม ?
พยาน: ถูกแล้ว
ทนายจำเลย: ในด้านตำรวจอยู่ในแผนการที่ท่านอาจารย์คิดต่อต้านด้วยหรือเปล่า
พยาน: ด้วย
ทนายจำเลย: ได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง
พยาน: สำหรับด้านตำรวจนั้น คืออย่างนี้....แค่อยากจะให้ทราบเสียก่อนว่า ในครั้งก่อนๆ ได้มีตำรวจติดตามสมาชิกสภาฯ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นการทำให้สมาชิกสภาฯ ไม่มีกำลังใจในการคัดค้าน หรือ ทำอะไรต่างๆ ดังที่ได้เห็นกันชัดอยู่แล้ว จึงได้มานึกว่า เราทำอย่างไรจึงจะให้สมาชิกมีกำลังใจ ได้เห็นว่าไม่มีวิธีอื่นนอกจากจะทำความเข้าใจกับอธิบดีกรมตำรวจว่าของดอย่าให้มีตำรวจสกดรอยสมาชิกเลย และขอให้บำเพ็ญตนเป็นกลางให้แก่ประโยชน์ของชาติเป็นส่วนรวม
ในการนี้ให้คุณดิเรกฯ ไปปรับความเข้าใจกับหลวงอดุลฯ หลายครั้ง แต่ผลสุดท้ายก็ตกลง สมาชิกจึงได้กล้าคัดค้านพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับจังหวัดเพ็ชรบูรณ์ และพุทธบุรีมณฑล และได้มีคนกล้าเสนอลงมติไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล เพราะไม่มีตำรวจคอยตามหลังเหมือนแต่ก่อน อันเป็นผลให้ท่านจอมพลแพ้ในครั้งนั้น
ทนายจำเลย: รัฐบาลจอมพลออกในครั้งนั้นหรือ
พยาน: ออกในครั้งนั้นเอง
ทนายจำเลย: การที่ทำนเป็นผลให้รัฐบาลจอมพลออกจากคณะรัฐบาลได้นี้เป็นของยากง่ายเพียงไร
พยาน: ความจริงไม่อยากจะบรรยายให้ยืดยาวแต่รู้สึกว่าเป็นของไม่ใช่ง่าย
ทนายจำเลย: เพื่อประโยชน์แห่งคดีนี้เกี่ยวกับเรื่องของจำเลย จึงต้องขอความกรุณารบกวน เพราะเหตุว่าจำเลยเป็นผู้ที่มีส่วนในการที่จะทำให้จอมพลออกเหมือนกัน ขอได้โปรดแสดงความลำบากในการที่จะให้จอมพลแปลกออก เป็นเหตุผลประกอบด้วยพยาน
การที่จะออกได้นั้น เนื่องจาก (1) ตัวท่านสมัครใจเองและ (2) มีมติของสภาผู้แทนราษฎรไม่ไว้วางใจทางตรงหรือทางอ้อม มีบางครั้งซึ่งท่านได้ยื่นใบลาออกเอง แต่ว่าผลก็เป็นเรื่องว่าท่านไม่ออก เรื่องที่ว่าความยุ่งยากมีประการใดนั้น ถ้าทุกคนได้หวนระลึกดูแล้ว จะเห็นว่าไม่ใช่ของง่ายที่จะให้ท่านออก และการลงมติในเวลานั้นก็ลำบากเพราะไม่ค่อยมีสมาชิกคนใดกล้า เท่าที่ทราบกันอยู่ก็มีเสียงคัดค้านในเวลานั้นเพียง 10 คน
นอกจากนั้นก็มีความเกรงกลัว ไม่กล้าพูด และหลักสำคัญที่สุดก็มีอยู่ว่า จอมพลมีพวกทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ อยู่มาก ทุกคนก็ยังคงจำได้ดีว่าเวลานั้นใครๆ ก็อยากให้ท่านออก แต่กลัว เพราะขัดด้วยวิธีการหลายอย่างที่ท่านไม่ออก
ทนายจำเลย: วิธีการหลายอย่างมีอะไรบ้าง เช่นยื่นใบลาออกแล้วก็ไม่ออก
พยาน: เป็นเรื่องที่ทราบกันอยู่แล้ว ขอโทษ ประเดี๋ยวจะไปพัวพันกับสำนวนอื่น แต่ขอรวมความว่ายากมากในการที่ท่านจอมพลจะออก เมื่อท่านออกแล้ว ก็มีคนรู้สึกว่าง่าย แต่ระหว่างที่ท่านอยู่ ขอให้เอาจิตใจพิจารณาดูก็แล้วกันว่ายากสักแค่ไหน
ทนายจำเลย: ครั้งหนึ่งจำเลยได้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐการ ท่านอาจารย์ทราบหรือไม่
พยาน: ทราบ
ทนายจำเลย: ความจริงท่านอาจารย์เป็นผู้เสนอให้จำเลยเป็นรัฐมนตรีเศรษฐการใช่ไหม
พยาน: ที่เสนอนั้น ไม่ได้เสนอโดยตรง หมายความว่าสนับสนุน
ทนายจำเลย: ในเวลานั้นมีคู่แข่งขันหรือไม่
พยาน: มี
ทนายจำเลย: ใคร
พยาน: พระยาราชวังสัน
ทนายจำเลย: โดยผู้ใดเสนอ
พยาน: เข้าใจว่าจอมพลสนับสนุนทางเจ้าคุณราชวังสัน
ทนายจำเลย: แต่ผลสุดท้ายจำเลยได้เป็นใช่ใหม
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: ที่จำเลยเข้ามาได้รับตำแหน่งหน้าที่เป็นรัฐมนตรีเศรษฐการเรื่องเดิมมีว่าท่านอาจารย์โทรเลขเรียกตัวมาเพื่อให้ทำงานช่วยชาติใช่ใหม
พยาน: ภายหลังที่ได้เสร็จการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แล้ว ได้มีความเห็นว่าจะต้องสถาปนาบ้านเมือง และโดยที่เวลานั้นจำเลยเป็นผู้ที่ได้กระทำการค้นคว้าทางเศรษฐกิจอยู่ เห็นสมควรที่จะขอให้มาช่วยบ้านเมือง จึงได้โทรเลขไป
ทนายจำเลย: ครั้งหนึ่ง เมื่ออาจารย์ไปทำงาน Convert เงิน คือเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศนั้น จำเลยได้ตามไปด้วยหรือเปล่า
พยาน: ทีแรก นึกว่าจำเลยจะไปส่งเพียงแค่นครปฐมแต่จำเลยตามไปถึงสิงคโปร์ และเมื่อถึงสิงคโปร์แล้วจำเลยจึงได้บอกว่า จำเลยอยู่ในประเทศไทยไม่ได้เพราะกลัวจะถูกข่มเหง และจำเลยเป็นภัยต่อลัทธิเผด็จการ เป็นที่น่าหวาดเสียวนัก จำเลยจึงคิดว่าจะไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น แต่จะไปตัวคนเดียว ภรรยาเอาไว้ที่กรุงเทพฯ
ทนายจำเลย: ระหว่างเดินทางจำเลยมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว กระเป๋าหรือเปล่า หรือไปแต่ตัว
พยาน: คงไม่มีอะไรมาก เพราะตามที่ทราบเข้าใจว่าจะไปส่งแค่นครปฐม
ทนายจำเลย: เมื่อเร็จจาก Convert เงินแล้วอาจารย์เดินทางรอบโลกและได้ไปญี่ปุ่น ได้พบกันจำเลยหรือเปล่า
พยาน: พบ
ทนายจำเลย: จำเลยได้แสดงความปริวิตกอย่างไรบ้างถึงเรื่องการกลัวเกรงในประเทศไทย
พยาน: ทุกครั้งที่พบกัน จำเลยได้แสดงข้อวิตกถึงเรื่องเผด็จการ
ทนายจำเลย: แล้วความวิตกของประเทศชาติมีบ้างหรือไม่
พยาน: มีพูดเหมือนกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจของจำเลยซึ่งมีแนวมุ่งไปในทาง Socialism
ทนายจำเลย: ต่อจากนั้นมาสักกี่ปีจำเลยจึงกลับจากประเทศญี่ปุ่น อาจารย์ทราบหรือไม่
พยาน: ต่อจากนั้นอีกประมาณสัก 2 ปี ภายหลังก็กลับมาอีกหนหนึ่ง
ทนายจำเลย: กลับมาคราวนี้จำเลยมีโครงการที่จะทำการค้าใช่ใหม ?
พยาน: ตอนที่มาคราวนี้ได้มาชี้แจงว่าจะวางโครงการค้าเผยแพร่ไปทั่วอาณาจักรเป็นทำนองคล้ายๆ บริษัทจังหวัด
ทนายจำเลย: จุดประสงค์ในการที่จำเลยจะทำโครงการค้านั้น จำเลยได้บอกหรือไม่ว่าเพื่อจะทำอะไร
พยาน: จำเลยบอกว่าจะเอาพวกเด็กหนุ่มๆ จากมหาวิทยาลัยมาฝึกเพื่อประโยชน์ในการค้าและการเมือง การเลือกตั้ง
ทนายจำเลย: เพื่อเป็นการเผยแพร่อิทธิพลใช่ไหม ?
พยาน: ก็ด้วย
ทนายจำเลย: ในชีวิตของจำเลย ๆ ได้แสดงตนเป็น Socialist Socialism หมายความว่าอะไร
พยาน: อันนี้เป็นตำราจะต้องอธิบายกันยืดยาวมาก
ทนายจำเลย: ว่าเพียงสั้นๆ
พยาน: ว่าเพียงสั้นๆ ก็รวมความว่าเป็นการประกอบการเศรษฐกิจอันพึงกระทำด้วยสาธารณะ คือ หมายถึงสาธารณประชาธิปไตย ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นก็มีอยู่หลายสี หลายดีกรีของ Socialism แต่รวมความแล้วก็ไปจากสาธารณะ คือ ทุกอย่างในการประกอบการเศษรฐกิจจะต้องให้สาธาณชนเป็นผู้ประกอบ
ทนายจำเลย: การคบหาของจำเลย จำเลยชอบคนชะนิดไหน
พยาน: เท่าที่ทราบ ก็คือว่าจำเลยบำเพ็นตนเป็นพวกกรรมกรบ้าง แสดงตนเป็นครูอาจารย์ของพวกกรรมกรบ้างและบางครั้งก็มีพวกเด็กหนุ่มๆ ไปมาหาสู่จำเลยบ้าง
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์รู้จักนายร้อยโท ณ. เณรหรือไม่
พยาน: รู้จัก
ทนายจำเลย: เกี่ยวข้องเป็นอะไรกับจำเลย
พยาน: ร้อยโท ณ. เณร เป็นหัวหน้ากรรมกรคนหนึ่ง เท่าที่ได้ติดต่อกับจำเลยก็รู้สึกว่ามาหาความรู้และขอความอุปการะจากจำเลยในการเลี้ยงกรรมกรบ้าง หรือการเลี้ยงชาวนาบ้าง
ทนายจำเลย: ร้อยโท ณ. เณร คนนี้เรียกจำเลยว่าอะไร
พยาน: ดูเหมือนจะเรียกว่าครูหรืออาจารย์ จำไม่ได้แน่ แต่ก็ทำนองนี้
ทนายจำเลย: เดี๋ยวนี้ร้อยโท ณ. เณร ยังอยู่หรือไม่
พยาน: ถูกประหารชีวิตไปแล้ว
ทนายจำเลย: ถูกประหารชีวิตในสมัยจอมพล เป็นนายกรัฐมนตรีใช่ไหม
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: ในการที่จำเลยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ท่านอาจารย์จำได้หรือไม่ว่า ได้เคยบอกให้จำเลยหนีไป
พยาน: ถ้าจะว่าบอก ข้าพเจ้าไม่ได้บอกตรงๆ คือว่าจำเลยได้มาปรารภขึ้นว่า จะอยู่ในประเทศไทยไม่ได้เสียแล้ว ร้อยโท ณ. เณรฯ ก็ถูกจับ ใครๆ ก็ถูกจับ ถ้าจำเลยขืนอยู่ในประเทศไทยอีกก็ถูกจับอีกจำเลยบอกว่ามีหนทางเดียว คือจะต้องไปจากประเทศไทย ข้าพเจ้าก็บอกว่าดีแล้วควรไปเมื่อมันอยู่ไม่ได้ก็ควรไป
ทนายจำเลย: ในส่วนตัวจำเลย ท่านอาจารย์ได้ตกลงกับจำเลย ให้มีหน้าที่อย่างไรบ้างในประเทศญี่ปุ่น
พยาน: ก็อย่างที่ได้ให้การมาแล้วในตอนต้น คือ ขอให้จำเลยพยายามทำความเข้าใจกับญี่ปุ่นว่า ถ้าหากจอมพลท่านต้องถูกสภาฯ ลงมติไม่ไว้วางใจแล้ว และมีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี คือให้คุณควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว อย่าให้ญี่ปุ่นเขาสงสัย ในตอนนี้เห็นจะต้องอ้างว่า เมื่อคราวที่จอมพลยื่นใบลาออกแล้วก็ไม่ออกนั้น ทางญี่ปุ่นได้เคยยื่นหนังสือผ่านมาทางกรมประสานงานว่า ไม่รับรองรัฐบาลใดๆ นอกจากรัฐบาลชุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนรัฐบาลจอมพลนั้น ไม่ใช่เป็นของที่ทำได้ง่าย นอกจากในส่วนภายในจะทำไม่สำเร็จแล้ว ยังมีเหตุการณ์ภายนอก จึงมีอยู่วิธีเดียวที่จะทำคือทำทั้งสองทาง ได้แก่ ทั้งภายในและภายนอก อย่าให้ญี่ปุ่นเขาสงสัยได้
ทนายจำเลย: ระหว่างที่จำเลยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ได้เคยมีจดหมายติดต่อกับท่านอาจารย์หรือเปล่า
พยาน: เคยมี แต่ว่าต้นฉะบับหนังสือไม่ได้อยู่ที่ข้าพเจ้า ไม่สามารถจะนำสืบได้
ทนายจำเลย: ถ้าท่านอาจารย์ได้อ่านสำเนาอีกสักครั้งจะจำเค้าความได้หรือไม่
พยาน: จะต้องขอดูก่อนว่าจะจำได้หรือไม่
(ทนายจำเลยนำจดหมายให้พยานดู พยานรับว่าใช่ แล้วให้ศาลเก็บไว้เป็นหลักฐานต่อไป)
ทนายจำเลย: คำว่า comrade ในจดหมายนั้นแปลว่าอะไร
พยาน: เป็นทำเนียมของพวก Socialist ซึ่งหมายถึงรัสเซีย รัสเซียนั้นเมื่อเปลี่ยนเป็นโซเวียตรัสเซียย่อมไม่ใช้คำว่า mister หรือ monsieur แต่ใช้ว่า comrade พระสารสาสน์ฯ ก็ชอบใช้คำว่า comrade แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นโซเวียต
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์พอจะจำได้หรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องการเป็นทูตรัสเซียในระหว่างที่สงครามยังไม่เลิก
พยาน: ก่อนที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ประมาณ 4-5 เดือน คือในครั้งหลังที่สุดที่พระสารสาสน์ ฯ มากรุงเทพ ฯ เมื่อพบกันในตอนนี้ข้าพเจ้าก็บอกว่า ไหนคุณพระว่าญี่ปุ่นจะชนะ บัดนี้กำลังจะหลุดลอยไปเสียแล้ว จะว่าอย่างไร พระสารสาสน์ฯ ไม่ว่ากระไร นอกจากว่า ผลสุดท้ายจะไม่แพ้ไม่ชะนะแต่ก็มีแปลกอยู่เหมือนกันที่พระสารสาสน์ ฯ อยากจะขอไปอยู่รัสเซียเพื่อไปปรับความเข้าใจ ทางด้านรัสเซียจะได้เป็นกำลังต้านทาน ไม่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมาเรียกร้องอะไรจากประเทศไทยให้มากเกินควรได้
ทั้งนี้แสดงว่าความจริงนั้นพระสารสาสน์ฯ ไม่ทราบเรื่องที่เราได้ดำเนินการติดต่อกับสัมพันธมิตรว่ามีอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าก็ได้แต่บอกไปว่าป่วยการไป เพราะหนทางลำบากมาก
ทนายจำเลย: เหตุผลในการที่พระสารสาสน์ฯ ขอไปเป็นทูตรัสเซียเพื่อดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พระสารสาสน์ฯ เองก็รู้อยู่แล้วว่าญี่ปุ่นจะแพ้ใช่ไหม
พยาน: ใช่ แต่ปากยังแข็งอยู่สักหน่อย คือในตอนหลังได้บอกว่าไม่แพ้ไม่ชนะ
ทนายจำเลย: ถ้าหากไม่ได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นในการสงครามนั้น ถ้าสหประชาชาติจะชนะ การที่พระสารสาสน์ ฯ ขอไปรัสเซีย จะมีประโยชน์อะไรกับประเทศเรา
พยาน: สำหรับความคิดของผู้ซึ่งไม่ได้ร่วมในการต่อต้านโดยตรงก็คงจะนึกไปว่า ประเทศไทยอยู่ในฐานะแพ้ และรัสเซียในเวลานั้นก็กำลังชะนะอะไรใหญ่โต และดูเหมือนว่าบางคนในเวลานั้นก็ทำนายว่ารัสเซียจะเป็นกำลังต้านทานของฝ่ายสัมพันธมิตร ฉะนั้นสำหรับผู้ที่ไม่รู้เรื่องว่าเราได้ติดต่อกับสัมพันธมิตอย่างไรก็จะต้องเข้าใจว่า เราต้องแพ้แน่ๆ ที่จำเลยได้ขอไปอยู่รัสเซียก็โดยมีเจตนาที่จะช่วยประเทศ แต่ไม่เข้าอยู่ในกระบวนของการต่อต้าน
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์จะบอกได้หรือไม่ว่า พระสารสาสน์ฯ ไปอยู่รัสเซียแล้ว จะป้องกันไม่ให้สหประชาชาติรุกเข้าประเทศไทยได้
พยาน: พระสารสาสน์ฯ ได้อธิบายเหตุผลหลายอย่างหลายประการ แต่เรื่องที่พูดเช่นนี้ ก็มีเหมือนกัน
ทนายจำเลย: รัสเซียอยู่ในพวกที่เรียกว่าสหประชาชาติด้วยเหมือนกันหรือ
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: ระหว่างที่ญี่ปุ่นมีอิทธิพลอยู่ในประเทศไทยนั้น การพูด การเขียน การโฆษณา ของเราได้ดำเนินไปในทางไหน คือจะต้องคล้อยตามญี่ปุ่น หรือเราเห็นว่าญี่ปุ่นไม่ดี เราก็ว่าญี่ปุ่นไม่ดีได้หรือไม่
พยาน: เดิมทีเดียวก็มีการคล้อยตาม แต่ในตอนหลังเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลคุณควงฯ แล้ว เรามักจะใช้วิธีที่เรียกว่าเทศนาตามเนื้อผ้า เขามาอย่างไร ก็ว่าไปอย่างนั้น
ทนายจำเลย: ทางราชการเคยประกาศครั้งหนึ่งว่าให้ประชาชนพลเมืองร่วมมือกับญี่ปุ่น เคยจำได้หรือไม่
พยาน: ดูเหมือนจะหลายหน
ทนายจำเลย: แม้แต่ในทางสภาฯ เอง เมื่อเวลาประชุมปรึกษาหารือกัน ก็ได้บอกให้ผู้แทนราษฎรทำความเข้าใจกับประชาชนให้ร่วมมือกับญี่ปุ่นใช่หรือไม่
พยาน: ในตอนนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วไม่ทราบเรื่องในสภาดี
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์เคยได้ยินบ้างหรือไม่ การโฆษณาของพระสารสาสน์ฯ จำเลยทางสหประชาชาติเขาบอกว่าเป็นประโยชน์แก่เขา
พยาน: อย่างนี้ จะต้องฟังเรื่องของแกทั้งหมดเสียก่อนสำหรับข้าพเจ้าเองนั้น……….
ทนายจำเลย: มิได้ กระผมหมายถึงว่า สหประชาชาติเขาว่าอย่างไร
พยาน: ทางสหประชาชาติไม่เห็นเขาว่าอย่างไร
ทนายจำเลย: สำหรับเรื่องที่มีคนมาบอกล่ะ
พยาน: สำหรับพวกนักเรียนที่กลับมาจากต่างประเทศก็มีบ้าง สุดแต่เขาจะวิจารณ์ ส่วนข้าพเจ้าเองไม่ค่อยสนใจในการฟังวิทยุของคุณพระสารสาสน์ฯ นัก
ทนายจำเลย: กระผมอยากจะขอเรียนถามเพื่อทราบว่า เขาพูดกับท่านอาจารย์ว่าอย่างไร
พยาน: ฟังๆ ดู บางเรื่องของแกด่าญี่ปุ่นก็มี แต่จะด่าตอนไหนบ้างก็ไม่ได้สนใจ มีนักเรียนนอกบางคนมาบอกบ้างเหมือนกัน
ทนายจำเลย: ลอร์ดหลุยส์ฯ เคยติดต่อกับท่านอาจารย์บ้างหรือเปล่า
พยาน: เคยติดต่อ
ทนายจำเลย: ที่เขาให้นายเสนาะ นิลกำแหง มาโดดร่มลงในเมืองไทยบอกให้ประเทศไทยทำการโฆษณาด่าเขาให้มากๆ ขึ้นมีหรือไม่
พยาน: ดังที่ให้การในตอนต้นก็มี คือเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลชุดคุณควงฯ แล้ว การโฆษณาของเราได้เปลี่ยนไปในรูปไม่บริภาษหรือด่าใคร ทางผู้บัญชาการสูงสุดฝ่าย South East Asia ได้ขอให้นายเสนาะ นิลกำแหง ถือสาสน์มาฉบับหนึ่ง มีข้อความหลายอย่างหลายประการ มีบางตอนกล่าวถึงเรื่องการพรางของเรา เขาบอกว่า สังเกตดูวิทยุของเราเปลี่ยนรูปเป็นตรงกันข้าม ข้าพเจ้าก็ได้บอกเขาไปว่า เราจะทำผืนน้ำใสใจจริงของเรานั้น เราทำไม่ได้เต็มที่ เท่าที่เฉยๆ อยู่ทุกวันนี้ก็เป็นการสมควรแก่ความบริสุทธิ์ใจของเราแล้ว
ทนายจำเลย: ก่อนหน้านั้นขึ้นไป วิทยุไทยได้เคยด่าใครบ้าง มีหรือไม่
พยาน: มี
ทนายจำเลย: ด่ากันรุนแรงถึงขนาดไหน
พยาน: ด่ากันถึงพ่อแม่และพระเจ้าแผ่นดิน การพรางนี้ต้องเป็นเรื่องที่ได้ตกลงกับเขาก่อน ไม่ใช่ว่าไม่ได้ตกลงกับเขา
ทนายจำเลย: เมื่อคราวหลังที่บอกว่าให้เราด่าเขาจริงนั้น ได้ด่าหรือเปล่า
พยาน: ไม่ได้ประสงค์จะด่ากันถึงพ่อถึงแม่ แต่หมายความว่าจะให้เราทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ให้ญี่ปุ่นสงสัยเราได้ ซึ่งในการด่านั้น ถึงแม้จะมีกระทบกระเทือนกันบ้าง แต่เขาก็เชื่อเกียรติยศว่า เราคงจะไม่ด่าเขาถึงพ่อถึงแม่แน่นอน
ทนายจำเลย: การกล่าวสุนทรพน์ของท่านอาจารย์ในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในคราวเปิดสภาผู้แทนราษฎรครั้งหนึ่ง เคยถูกสหประชาชาติต่อว่าใช่ไหม
พยาน: ไม่ถึงกับต่อว่า เขาบอกเพียงว่า เรากล้ามากเกินไป ความจริงควรจะรอจนกว่าจะถึงวัน D.DAY ดีกว่า
ทนายจำเลย: เขาว่ากล้ามากเกินไปอย่างนั้นหรือ
พยาน: กล้าพูด กล้าทำอะไร ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นไม่พอใจมากเกินไป แต่ความจริง ควรจะทำอย่างไร เพื่อหน่วงเราจนถึงวัน D.DAY ดีกว่า
ทนายจำเลย: เขาบอกหรือเปล่าว่า เขาเกรงว่าประเทศไทยจะกลายเป็นวอร์ซอ
พยาน: บอกเหมือนกันว่าจะกลายเป็นวอร์ซอ จึงควรรอกำหนดให้ทำพร้อมกันในวัน D.DAY คือทำพร้อมกันทีเดียวดีกว่า
ทนายจำเลย: วอร์ซอ เป็นอย่างไร ท่านอาจารย์จะอธิบายได้หรือไม่
พยาน: ที่เขาพูดนั้นก็หมายความว่าเวลานั้น คณะต่อต้านของโปร์แลนด์ได้กระทำการโดยปราศจากความระมัดระวังในเยอรมัน จึงเป็นเหตุให้ฝ่ายเยอรมันจับได้ พูดง่ายๆ ก็คือการยุทธของฝ่ายใต้ดินทำไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเหตุให้กรุงวอร์ซอแหลกไป ทั้งนี้เนื่องจาก underground ทำล่วงหน้าก่อนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรพร้อมที่จะมาช่วย
ทนายจำเลย: การที่เขาบอกว่าให้เราด่าเขามากๆ ขึ้นนั้น ท่านอาจารย์ได้สั่งนายป๋วยฯ ไปติดต่อลอนดอนไช่ไหม
พยาน: ในคราวหลังได้แจ้ง ไปว่าเราไม่สมัครใจ ที่จะทำเช่นนั้นให้มากเกินไป แต่ก็ได้รับปากไว้เหมือนกันว่าจะทำและสำหรับเรื่องที่เขาปรารถนามาว่าให้ทำอย่าให้ญี่ปุ่นสงสัยได้นั้น เราก็ขอบใจเขามากในตอนหลังได้ตกลงกับอธิบดีกรมตำรวจให้นายป๋วย ฯ เดินทางไปจนถึงลอนดอน เพื่อติดต่อเรื่องดังกล่าวแล้ว และตามที่ได้ทราบจากอธิบดีกรมตำรวจกลับมารายงานมีว่าทางฝ่ายโน้นได้เตือนมาอีกว่าให้ระมัดระวังให้ทำตามที่ได้ตกลงกันไว้จนถึงวัน D.DAY
ทนายจำเลย: วิธีของนักการเมืองในทางปฏิบัติงานนั้น จะพูดตรงๆ วิธีเดียวหรือจะต้องมีพราง
พยาน: สุดแล้วแต่นักการเมืองแต่ละคน สำหรับข้าพเจ้าเองตีหน้าไม่ค่อยได้สนิทเหมือนบางคน ถ้าหากผู้ใดสามารถตีหน้าได้สนิท เมื่อพูดถึงประโยชน์ของประเทศชาติได้ ก็ได้ผลดีเหมือนกัน แต่ถ้าถือตามคติซึ่งเราเป็นผู้รักประเทศชาติแล้วไม่ควรทำเช่นนั้น แต่นี่ก็สุดแล้วแต่นักการเมืองแต่ละคน
ทนายจำเลย: หมายความว่านักการเมืองจะต้องมีพรางใช่ใหม
พยาน: มีพราง แต่ถ้าหากตีหน้าตนเองไม่สนิทก็ต้องให้คนอื่นพราง
ทนายจำเลย: พระสารสาสน์ ฯ จำเลยคนนี้นับเป็นนักการเมืองด้วยหรือไม่
พยาน: จะวิเคราะห์ศัพท์ก็ยากอยู่
ทนายจำเลย: เท่าที่เขาได้ทำงานมา
พยาน: อย่างนี้ถือว่าทราบการเมือง แต่จะนับว่าเป็นนักการเมืองหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าแกชอบเล่นการเมือง
ทนายจำเลย: วิธีการต่อต้านของคณะท่านอาจารย์นี้ได้แบ่งงานออกจะเป็นหลายสายหรือสายเดียว
พยาน: แบ่งออกเป็นหลายสาย
ทนายจำเลย: เคยมีอย่างนี้หรือไม่คือในต่างสายกันนั้นเองบอกให้ตำรวจจับกันเอง
พยาน: เคยมีเหมือนกัน
ทนายจำเลย: ตามที่ท่านอาจารย์ ได้เคยศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์จบมาแล้วประกอบด้วยเหตุผลอื่นๆ ผมอยากจะทราบว่าโดยหลักทั่วๆ ไปนัก Socialist เป็นผู้นิยมการสงครามหรือ
พยาน: เดิมทีเดียวถ้าจะพูถึง Socialist แท้ๆ แล้วไม่นิยมสงคราม แต่เมื่อได้เกิดมี National Socialist ของเยอรมันเข้ามาแทรกแซงเป็นปฐมฤกษ์ Socialist ซึ่งมีคำว่า National เป็นคุณศัพท์ก็กลายเป็นชอบสงครามไป แต่ Socialist แท้ไม่ชอบสงคราม
ทนายจำเลย: ท่านอาจารย์จะรับรองได้หรือไม่ว่าผลแห่งการปฏิบัติงานของจำเลย คือ รัฐบาลจอมพลและทำให้ญี่ปุ่นไม่ชัดขวางในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมีนายควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นผลงานที่สำเร็จเพราะจำเลยเป็นผู้มีส่วนร่วม
พยาน: ในการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จไม่มีการถูกขัดขวางประการใดนั้น จำเลยมีส่วนปรับความเข้าใจกับญี่ปุ่น ไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ายืดประเทศไทยได้ นับว่าจำเลยได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศชาติด้วยผู้หนึ่ง แต่จำเลยไม่ได้เป็นสมาชิกอยู่ในคณะต่อต้าน
ทนายจำเลย: นายร้อยเอกสมหวังฯ ลูกชายจำเลยได้มีส่วนร่วมอยู่ในการนี้ด้วยหรือเปล่า
พยาน: ในตอนเปลี่ยนคณะรัฐบาลก็ได้มีส่วนร่วมอยู่ด้วยในการปรับความเข้าใจกับญี่ปุ่น
ทนายจำเลย: โดยได้รับการบัญชาจากท่านอาจารย์
พยาน: ถูกแล้ว
ทนายจำเลย: ‘นายต่วน ปติภาค’ ด้วยหรือไม่
พยาน: ในตอนที่จะเปลี่ยนคณะรัฐบาลจอมพล ก็ได้เคยให้นายต่วนฯ ไปยกย่องสรรเสริญคุณงามความดีของคุณควงฯ และปรับความเข้าใจกับญี่ปุ่นบางคน เพราะว่าญี่ปุ่นในกรุงเทพ ฯ นั้นจะพึงสังเกตได้ว่ามีญี่ปุ่นประชาธิปไตยอยู่เพียงบางคนเท่านั้น
ทนายจำเลย: นายต่วนฯ นี้เป็นพวกเดียวกับจำเลยหรือ
พยาน: เคยเป็นสานุศิษย์
ทนายจำเลย: การดำเนินการต่อต้านกับญี่ปุ่นนั้น อาจารย์ได้ทราบบ้างหรือไม่ว่าทางฝ่ายญี่ปุ่นได้ทราบเรื่องก่อนที่จะทำงานแล้ว
พยาน: ญี่ปุ่นระแวงอยู่มาก
ทนายจำเลย: จำเลยเคยมาบอกหรือเปล่าว่าญี่ปุ่นจะจับตัวท่านอาจารย์กับหลวงอดุล ฯ
พยาน: จำเลยเคยมาบอก
ทนายจำเลย: หลายครั้งหรือ
พยาน: จำไม่ได้แน่ แต่คงมีในตอนหลังสักครั้งหนึ่งที่จำเลยมาบอก ที่ว่าหลายครั้งนั้นเห็นจะไม่หลายครั้ง
ทนายจำเลย: คณะต่อต้านนี้ เราตั้งชื่อว่าเสรีไทยใช่ไหม
พยาน: เรื่องชื่อนั้นก็อย่างที่ได้แถลงไว้แล้ว ความจริงเดิมไม่ได้เรียกชื่ออะไร แต่ทางนักเรียนต่างประเทศเขาตั้งชื่อว่า “เสรีไทย” ส่วนในเมืองเรานี้ไม่มีชื่อ แต่ทางสาส์นที่ฝรั่งส่งมาให้นั้นมีชื่ออยู่ในกระบวนเสรีไทยบ้าง คณะต่อต้านบ้าง เราไม่ได้ตั้งขึ้นเอง
ทนายจำเลย: กระผมขอเรียนถามท่านอาจารย์ในฐานที่อาจารย์เป็นหัวหน้าคณะต่อต้านว่า คณะต่อต้านหรือเสรีไทยนี้ มีบุคคลมีจำนวนไม่น้อยที่อิจฉาคณะนี้มีหรือไม่
พยาน: มี
ทนายจำเลย: มีมากหรือไม่
พยาน: ถ้าพูดถึงราษฎรก็คงไม่มี พวกที่มีอาจเป็นผู้ซึ่งมีส่วนอยู่ในข่ายอาชญากรสงครามบ้าง และมีส่วนฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ในระหว่างสงครามบ้าง บางคนไม่ใช่พูดทั้งหมด บางคนเขาก็ดี แต่พวกที่อิจฉากันเป็นส่วนตัวซึ่งรวมกันอยู่เป็นคณะเดียวกันก็มี ชนิดที่เบ็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำก็มี
ทนายจำเลย: มีหรือไม่ที่คิดเห็นว่า “เราทำดีแล้วแต่ไม่ได้ดี” ก็เลยอิจฉาเขา
พยาน: มี
ทนายจำเลย: ท่านอาจาร์ย์จะบอกได้หรือไม่ว่า จำเลยผู้นี้เป็นผู้ที่ถูกคนอิจฉาริษยามากเหมือนกัน
พยาน: สำหรับจำเลยนั้น เท่าที่ได้ฟังเสียงราษฎรดูตั้งแต่ต้นมา ราษฎรไทยส่วนมากก็ยอมรับว่าเป็นคนดี แต่ในหมู่คนที่ได้รับการศึกษาครึ่งๆ กลางๆ บางคนก็อาจจะไม่ชอบพระสารสาสน์ฯ
เหตุที่ไม่ชอบนั้น อาจจะแยกออกได้เป็นหลายอย่าง คือ บางทีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะคุณพระบำเพ็ญตนเป็น Socialist เขาไม่ชอบ Socialist ก็ไม่ชอบพระสารสาสน์ฯ ไปด้วย บางคนเห็นคุณพระชอบเขียนหนังสืออะไรมากมายคล้ายๆ กับการแสดงการอวดดีเกิด ไม่ชอบก็มี บางคนเท่าที่เคยพบมา ได้เคยถามดูว่าไม่ชอบพระสารสาสน์ฯ เพราะอะไร ให้การไม่ได้ อย่างนี้ก็มีเหมือนกันคือเห็นเขาไม่ชอบก็เลยไม่ชอบไปด้วย
ทนายจำเลย: จำเลยผู้นี้เท่าที่ท่านอาจารย์รู้จักมา เคยมีความอิจฉาริษยาใครเป็นส่วนตัวบ้างหรือไม่
พยาน: เท่าที่เคยคบกันมากว่า 20 ปี ไม่มีเลย และระหว่างที่เป็นข้าราชการอยู่สถานทูต ก็ได้เคยช่วยเหลือความเดือดร้อนของนักเรียนอยู่เนืองๆ ไม่เคยมีความอิจฉาริษยาใครมีแต่ความโอบอ้อมอารี
ทนายจำเลย: ตั้งแต่ได้รู้จักกันมาจำเลยได้เคยแสดงให้เห็นว่าต้องการจะทำประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือไม่
พยาน: ชอบเป็นนักปฏิวัติ ชอบเป็นนัก Socialist อย่างที่ว่ามาแล้ว และชอบทำประโยชน์ให้แก่ราษฎรอยู่เหมือนกัน ขณะที่เป็นรัฐมนตรีเศรษฐการ ก็ได้เคยปวารณาแก่เหล่ากสิกรและกรรมกรว่าจะให้ความช่วยเหลือเงินเดือนที่ได้รับ เมื่อหักค่าภาษีเสร็จแล้ว ก็ได้ให้แก่กรรมกรกสิกร ถามดูก็ได้แกให้จริงๆ
ทนายจำเลย: ชอบทำงานมาก ชอบเสนอโครงการอะไรมากๆ ใช่ไหม
พยาน: โครงการน่ะชอบนัก
ทนายจำเลย: จนท่านอาจารย์ไม่มีเวลาจะอ่านหรือไม่อยากจะอ่าน
พยาน: ขอสารภาพว่า ถ้าเป็นโครงการเล็กๆ ละก็อ่าน แต่ถ้าเขียนยาวๆ หลายๆ เล่ม ขอรับว่าไม่ได้อ่าน
ทนายจำเลย: นี่เป็นเครื่องแสดงว่า พระสารสาสน์ฯ ต้องการทำความดีให้แก่ชาติไทยใช่ไหม
พยาน: ใช่
ทนายจำเลย: ขอประทานถามความเห็น ถ้าใครจะมาบอกกับท่านอาจารย์ว่า คนเกิดจากดวงอาทิตย์ ท่านอาจารย์จะเชื่อหรือไม่
พยาน: ไม่เชื่อ
ทนายจำเลย: ถ้าผู้ที่บอกนั้น เป็นคนมีความรู้และสติดีอยู่ ท่านอาจารย์จะนึกว่ามีเหตุผลอื่นแฝงอยู่ด้วย เป็นได้หรือไม่
พยาน: ก็อาจเป็นได้
ทนายจำเลย: เคยได้ยินจำเลยพูดวิทยุที่สถานีโตเกียวหรือไม่
พยาน: ตามธรรมดาสถานีโตเกียวนั้นไม่ค่อยจะได้ฟังเพราะได้อ่านข่าวจากโทรเลข ซึ่งกรมไปรษณีย์ฯ จดไว้แล้วแต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่หมุนไปพังวิทยุจากประเทศอื่นไปโดนคลื่นโตเกียว แต่ไม่ค่อยชอบ
ทนายจำเลย: แปลว่า บังเอิญได้ยินบ้างเหมือนกัน
พยาน: บังเอิญได้ยิน แต่ถ้าเป็นข่าวก็ไม่อยากจะฟังแต่บางวันหมุนแล้วไปพบคนกำลังอ่านร่าย สนุกดี เสียงคล้ายๆ พระสารสาสน์ฯ ก็ฟังดี แต่ไม่ฟังจนจบ และจำไม่ค่อยได้ว่าเรื่องอะไร ความจริงต้องการจะพึ่งทำนองและลูกคอมากกว่าที่จะพึ่งเรื่อง
ทนายจำเลย: เคยได้ยินตอนหนึ่ง พระสารสาสน์ฯ พูดวิทยุว่า มิกาโดเป็นลูกพระอาทิตย์ เคยได้ยินหรือเปล่า
พยาน: ตอนนั้นไม่ได้ยินเพราะไม่ได้ฟังจนจบ
(จบ ตอบคำซักถามของทนายจำเลยเท่านี้และต่อไปนี้เป็นการตอบซักค้านของทนายโจทก์)
ที่มา: สุพจน์ ด่านตระกูล (บรรณาธิการ). คำให้การของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะพยาน พ.ท. พระสารสาสน์พลขันธ์ จำเลยคดีอาชญากรสงคราม, ใน, เบื้องหลังการก่อตั้งขบวนการเสรีไทย. (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์ 2517), น.9-69
หมายเหตุ:
- จัดรูปแบบอักษรโดยบรรณาธิการ
- พยัญชนะและคำสะกดยึดตามต้นฉบับ
- สถาบันปรีดี พนมยงค์
- ปรีดี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- อาชญากรสงคราม
- การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
- เสรีไทย
- ม้วน สถิรบุตร
- เสนาะ นิลกำแหง
- พระสารสาสน์ฯ
- ดือน บุนนาค
- หลวงกาจสงคราม
- อดุล อดุลเดชจรัส
- หลวงอดุลเดชจรัส
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- หลวงสินธุสงครามชัย
- หลวงศุภชลาศัย
- ควง อภัยวงศ์
- ทวี บุณยเกตุ
- ทองเปลว กองจันทร์
- ณเณร ตาละลักษณ์
- หลุยส์ เมานท์แบทเตน