ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3
พฤศจิกายน
2564

ที่ทำการคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติ
อาชญากรสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๘
วันที่ ๑๙ เดือน ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘

เรื่อง อาชญากรสงคราม

ข้าพเจ้า ผู้ถูกสอบสวนได้ปฏิญาณตนแล้ว ขอให้การว่า
๑. ข้าพเจ้าชื่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
๒. ข้าพเจ้าเกิดปีมะโรง อายุ ๔๑ ปี
๓. ชาติ ไทย สัญชาติ ไทย
๔. ตั้งบ้านเรือนอยู่ ถนนเศรษฐศิริ เลขที่ ๙๖ อำเภอบางซื่อ
๕. หาเลี้ยงชีพ
๖. เกี่ยวข้องเป็น ผู้ให้การ

สงครามยุโรปเกิดขึ้นในเดือนกันยายน ๑๙๓๙ ระหว่างเยอรมันนีฝ่ายหนึ่ง กับโปแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษอีกฝ่ายหนึ่ง ตอนแรกๆ ของสงคราม ฝ่ายเยอรมันนีได้เปรียบมาก ฝ่ายเยอรมันนั้นชาวโลกเรียกกันว่าฝ่าย “อักษะ” และฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศสกับพวกนั้น ชาวโลกเรียกกันว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายสหประชาชาติ ในครั้งนั้นประเทศเยอรมันนีดำเนินการปกครองเผด็จการตามระบอบนาซี คณะพรรคนาซีบงการประเทศโดยมีฮิตเล่อร์เป็นผู้นำ คณะอื่นไม่ยอมให้มีเสียง

ความคับขันทางด้านตะวันออกไกลนั้นเกิดขึ้นจากการที่ ๑) ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมทำสัญญากับอักษะในสัญญาแอนตี้คอมมินทัน[1] แล้ว ๒) ญี่ปุ่นทำการรุกรานประเทศจีน ๓) ทางฝ่ายอังกฤษ - อเมริกาขอให้ญี่ปุ่นถอนทหารออกจากประเทศจีน แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมถอน ฝ่ายอังกฤษ - อเมริกา จึงได้ตั้งแนวเอ.บี.ซี.ดี. ขึ้นแนวเอ.บี.ซี.ดี. นี้ 

เอ หมายถึงอเมริกา
บี หมายถึงอังกฤษ
ซี หมายถึงจีน
ดี หมายถึงฮอลันดา 

เพื่อบีบคั้นทางเศรษฐกิจต่อญี่ปุ่น

เมื่อก่อนญี่ปุ่นรุกรานเมืองไทยนั้น นโยบายของรัฐบาลไทยตั้งตนเป็นกลาง เมื่อญี่ปุ่นรุกรานเมืองไทย ชั้นต้นมีการต่อสู้กัน ในการต่อสู้นั้นภายหลังได้ทราบว่ารัฐบาลได้ตกลงยอมให้ญี่ปุ่นผ่านไป ในระยะก่อนญี่ปุ่นรุกรานเมืองไทยก็ดี ในขณะที่ญี่ปุ่นได้มารุกรานก็ดี ข้าพเจ้าทราบว่าบรรดาข้าราชการประชาชนชาวไทยเกือบทั้งหมดนิยมชมชอบฝ่ายอังกฤษและอเมริกา และพากันเกลียดชังญี่ปุ่นเพราะญี่ปุ่นได้เข้ามาในประเทศไทยระยะเวลาก่อนรุกรานนั้นเป็นจำนวนมาก และแสดงอำนาจเกะกะต่างๆ

ภายหลังที่ญี่ปุ่นรุกรานแล้ว ไม่นานนักก็ได้ทราบข่าวว่า รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาร่วมรับร่วมรุกกับญี่ปุ่น และได้มีพิธีสัตยาบันกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับผู้สำเร็จราชการ

ในราวเดือนมกราคม ปี ๒๔๘๕ ขุนนิรันดรชัย ราชเลขานุการในพระองค์ได้มาพูดในที่ประชุมคณะผู้สำเร็จราชการว่า ในวัน ๒ วันนี้รัฐบาลจะประกาศสงครามกับอังกฤษ - อเมริกา และจะนำคำประกาศสงครามมาให้ผู้สำเร็จราชการเซ็นเพื่อประกาศต่อไป คณะผู้สำเร็จราชการได้ถามว่า มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องทำไปเช่นนั้น คณะผู้สำเร็จฯ ออกความเห็นว่า เราควรรักษาฐานะของเราไว้อย่างเดนมาร์ก ขุนนิรันดรชัยได้แจ้งให้คณะผู้สำเร็จฯ ทราบว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นการจำเป็น หากเราไม่ประกาศสงครามแล้ว ญี่ปุ่นจะปลดอาวุธทหารไทยในขั้นแรก และต่อไปเราอาจเสียเอกราช

คณะผู้สำเร็จฯ ได้สั่งขุนนิรันดรชัยให้ไปบอกนายกรัฐมนตรีว่า จะหาทางออกทางอื่นได้ไหม เหตุที่คณะผู้สำเร็จฯ เห็นเช่นนี้เพราะเห็นว่า เราเป็นประเทศเล็ก ไม่ควรจะไปยุ่งกับกิจการของมหาประเทศ การสงครามก็ไม่รู้ว่าใครจะแพ้จะชนะ แล้วเราก็จะได้รับความลำบากภายหลัง ขุนนิรันดรชัยได้กลับมาบอกว่า เป็นการจำเป็น ไม่มีทางอื่นที่จะทำได้ ฉะนั้นจะต้องนำคำประกาศสงครามมาให้เซ็น และขอให้เซ็น และในการนี้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ และขุนนิรันดรชัยได้พูดว่า นายกขอให้เซ็นครบทั้ง ๓ คน เพราะถ้าไม่เซ็นทั้ง ๓ คนอาจเกิดเข้าใจผิดกันขึ้นในระหว่างญี่ปุ่นกับรัฐบาล หรือในระหว่างญี่ปุ่นกับผู้สำเร็จราชการ ในวันที่ขุนนิรันดรฯ มาพูดกันนี้ มิได้นำคำประกาศสงครามมาให้เซ็น ในขณะนั้นข้าพเจ้าเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน และ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการ

ต่อมาสัก ๒ - ๓ วัน ขุนนิรันดรชัยได้นำคำประกาศสงครามมาให้ข้าพเจ้าเซ็นที่พระที่นั่งอัมพรสถาน เวลาจวนเที่ยง แล้วบอกว่าจะเอาไปให้เจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธินเซ็น ส่วนนายปรีดี พนมยงค์นั้น ในวันนั้นไม่อยู่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าไปอยู่อยุธยา ขุนนิรันดรฯ บอกว่า ได้ติดต่อไปยังนายปรีดีฯ ทางโทรศัพท์แล้วให้รีบกลับมา เมื่อท่านกลับมาแล้วจะให้ท่านเซ็น จนกระทั่งบัดนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่านายปรีดี พนมยงค์จะได้ลงนามในคำประกาศสงครามนั้นหรือไม่

คำประกาศสงครามนี้ ทางรัฐบาลได้ประกาศเปิดเผยในเวลาเที่ยงวันของวันที่ข้าพเจ้าลงนามนั้นเองพร้อมด้วยคำแถลงการณ์ ในคำประกาศของรัฐบาลนั้นมีชื่อผู้สำเร็จราชการครบคณะทั้ง ๓ คน คือมีชื่อนายปรีดี พนมยงค์อยู่ด้วย ต้นฉะบับคำประกาศสงครามนั้น ตั้งแต่ข้าพเจ้าลงนามไปแล้วจนกระทั่งบัดนี้ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นเลย ที่ขุนนิรันดรฯ มาบอกว่า ถ้าไม่ประกาศสงคราม ญี่ปุ่นจะปลดอาวุธและอาจเสียเอกราชนั้น ไม่มีหลักฐานอะไรมาแสดง

ตอนรับมอบดินแดน ๔ รัฐมาลัยกับรัฐเชียงตุงและรัฐเมืองพานนั้น ข้าพเจ้าได้ทราบแต่ทางหนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียง เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ตั้งแต่ญี่ปุ่นรุกรานเมืองไทยมาจนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เคยมีวี่แววหรือบอกให้ข้าพเจ้าทราบว่า จะทำการกำจัดญี่ปุ่นหรือต่อต้านญี่ปุ่น มีแต่ข่าวว่าจะยอมทำตามญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อรักษาเอกราชของประเทศ ตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มรุกรานประเทศไทยเป็นต้นมา ข้าพเจ้าทราบว่านายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ที่แสดงท่วงทีไม่ชอบญี่ปุ่น และเคยพูดบ่อยๆ ว่าญี่ปุ่นจะต้องเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ส่วนการที่จะคิดกำจัดญี่ปุ่นนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบแน่ชัด ในระหว่างนายปรีดี พนมยงค์กับจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น ในทางปฏิบัติงานมีการขัดแย้งกันบ่อยๆ และนายปรีดีฯ เคยพูดว่า ถ้ารัฐบาลจอมพลนี้อยู่ตราบใด ราษฎรก็เดือดร้อน บ้านเมืองก็แย่

ในระหว่างที่จอมพล ป. พิบูลสงครามรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น เคยลาออกหลายครั้ง ครั้งแรกในปี ๒๔๔๒ วันที่ ๑๐ ธันวาคม แต่ไม่ได้ออกจริง หนังสือใบลาก็ไม่ได้ถอนไป เรื่องนี้ไม่ได้เปิดเผยให้คนภายนอกทราบ ครั้งที่สองได้ยื่นใบลาออกไปในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ คณะผู้สำเร็จราชการได้อนุมัติให้ลาออกได้ตามประสงค์ และได้แจ้งให้ประธานสภาทราบแล้ว เพื่อให้ไปซาวเสียงสมาชิกในสภาว่าจะเลือกใครเป็นนายกต่อไป

ในตอนกลางคืนวันนั้นวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศการลาออกของจอมพล ป. พิบูลสงครามเวลาประมาณ ๔ - ๕ ทุ่ม ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จาก พลตรีไชย ประทีปเสน แต่ข้าพเจ้าไม่ได้พูดเอง ให้ นายเมืองเริง วสันต์สิงห์ ไปรับ ได้ความว่าพลตรีไชยฯ ต้องการจะพูดกับข้าพเจ้าโดยฉะเพาะ ข้าพเจ้าจึงให้ หม่อมกอบแก้ว ไปพูดแทน โดยอ้างว่าข้าพเจ้าป่วย เมื่อหม่อมพูดโทรศัพท์กับพลตรีไชยฯ แล้วกลับมาบอกว่า พลตรีไชยฯ ให้ทูลว่า เรื่องนายกลาออกนั้น ทางฝ่ายทหารญี่ปุ่น นายพล ยามาดา ต้องการทราบว่า เมื่อให้นายกลาออกแล้ว จะตั้งใครเป็นนายกแทน

ข้าพเจ้าให้หม่อมกอบแก้วไปพูดกับพลตรีไชยฯ ว่า การที่ใครจะเป็นนายกนั้น ต้องแล้วแต่สภา ต่อมาหม่อมกอบแก้วได้กลับมาบอกว่า พลตรีไชยฯ บอกว่า การตั้งนายกนี้เป็นการสำคัญ ถ้าผิดตัวก็จะเกิดการยุ่งกันใหญ่ และพูดข้อความอื่นๆ เป็นทำนองว่า การตั้งคนอื่นนอกจากจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้วจะเกิดการยุ่งกันใหญ่ ญี่ปุ่นอาจเอาเรื่องถึงบ้านเมืองฉิบหาย ต่อมาสักครู่ใหญ่ๆ คนเฝ้าโทรศัพท์มาบอกว่า ขุนปลดปรปักษ์ ต้องการจะพูดโทรศัพท์กับข้าพเจ้าให้จงได้

ข้าพเจ้าจึงสั่ง นายเมืองเริงฯ ไปบอกว่าข้าพเจ้าไม่สบาย พูดด้วยไม่ได้ แล้วนายเมืองเริงฯ กลับมาบอกว่า ขุนปลดฯ บอกว่าจะต้องพบข้าพเจ้าในคืนนี้ให้ได้ เพื่อจะได้ทราบว่าเสียงทหารว่าอย่างไร เพราะการตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องสำคัญ ข้าพเจ้าก็สั่งให้นายเมืองเริงฯ วางหูโทรศัพท์เสีย แล้วข้าพเจ้าก็โทรศัพท์เรียนเรื่องที่พลตรีไชยฯ และขุนปลดฯ โทรศัพท์มานั้นให้ท่านปรีดีทราบ แล้วยังได้ส่งคนไปเรียนให้ท่านปรีดีฯ ทราบ แล้วข้าพเจ้าได้พูดโทรศัพท์ไปยังท่านปรีดีฯ เรียนว่าข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะอยู่ที่นี่ไม่ปลอดภัย โดยรู้วิธีการของพวกนี้อยู่แล้ว เกรงว่าจะนำทหารมารังแกหรือบังคับ และได้เรียนท่านไปว่า เพื่อประโยชน์ เห็นควรว่าผู้สำเร็จราชการควรจะอยู่รวมกัน และประสงค์จะไปพักอยู่ด้วย ท่านปรีดีฯ ตอบว่าไม่ขัดข้อง ข้าพเจ้าก็เลยพักอยู่ที่ทำเนียบท่านปรีดีฯ จนเสร็จเรื่องพลตรีไชยฯ และขุนปลดฯ เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่และเป็นผู้สนิทชิดชอบกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม

วันรุ่งขึ้นจากวันที่ข้าพเจ้าไปนอนค้างที่ทำเนียบท่านปรีดีฯ ตอนเช้าข้าพเจ้าได้ถูกตามให้ไปพบนายกรัฐมนตรี (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ที่หอประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ข้าพเจ้าไม่ไป เพราะรู้สึกว่านายกไม่มีสิทธิที่จะเรียกผู้สำเร็จฯ ไปหา ถ้าอยากมาพบ ก็ต้องมาหาผู้สำเร็จฯ ต่อนั้นมา ดูเหมือนจะเป็นขุนนิรันดรชัยมาแจ้งต่อคณะผู้สำเร็จฯ ว่านายกไม่ประสงค์จะลาออก คณะผู้สำเร็จฯ ได้ตอบต่อขุนนิรันดรชัยว่าถ้าหากไม่ประสงค์จะลาออก ก็ทำหนังสือถอนใบลามา เพราะเรื่องได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขุนนิรันดรชัยยังพูดจาต่อตามเพื่อให้คณะผู้สำเร็จฯ ระงับเรื่องโดยมิต้องให้ทำหนังสือถอนใบลา แต่คณะผู้สำเร็จฯ ไม่ยอม ขุนนิรันดรฯ ก็กลับไป

ใบลาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคราวนี้ เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการได้อนุมัติแล้ว ได้มอบให้ขุนนิรันดรชัยไปเก็บไว้ในหน้าที่ราชเลขานุการในพระองค์ต่อหน้าท่านปรีดีฯ และพระยามานวราชเสวี และคนอื่นๆ อีก แต่จำไม่ได้ แต่ก่อนที่คณะผู้สำเร็จราชการจะได้อนุมัติให้จอมพล ป. พิบูลสงครามลาออกตามใบลา เมื่อคณะผู้สำเร็จฯ ได้รับใบลา ก็ได้เรียกขุนนิรันดรชัยในฐานะเป็นราชเลขานุการ และนายทวี บุณยเกตุในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาที่พระที่นั่งอัมพร ได้สอบถามบุคคลทั้งสองว่ามีเรื่องราวอะไรกัน นายกรัฐมนตรีถึงได้ลาออก ทั้งสองคนตอบว่าไม่ทราบเรื่อง จึงได้สั่งให้บุคคลทั้ง ๒ ไปติดต่อสอบถามนายกรัฐมนตรีเพื่อจะทราบเหตุใดจึงลาออก

ต่อมาก็ได้เชิญ หลวงอดุลเดชจรัส  นายควง อภัยวงศ์  หลวงพรหมโยธี มา และสอบถามว่าเรื่องอะไร นายกรัฐมนตรีจึงได้ลาออก ทั้ง ๓ ท่านตอบว่าไม่ทราบเรื่องทั้งนั้น ระหว่างนั้นเอง นายทวีฯ และขุนนิรันดรฯ ได้กลับมาหาข้าพเจ้า นายทวีฯ แจ้งว่า ตัวเขาเองท่านนายกไม่ให้พบ แต่ให้ขุนนิรันดรฯ เข้าไปพบ ข้าพเจ้าได้ถามขุนนิรันดรฯ ว่าได้ความอย่างไร ขุนนิรันดรฯ บอกว่านายกบอกว่าเหตุผลการลาออกมีอยู่ในใบลานั้นแล้ว ไม่มีอะไรจะต้องพูดกันอีก ข้าพเจ้าจึงหันไปขอร้องให้หลวงอดุลฯ ไปติดต่อสอบถามดูอีกครั้งหนึ่ง หลวงอดุลฯ รับว่าค่ำๆ จะไป ต่อจากนั้นมาบุคคลเหล่านี้นั้นก็ลากลับไปจากคณะผู้สำเร็จราชการ

วันรุ่งขึ้นตอนเช้า คณะผู้สำเร็จฯ ได้สั่งให้นายทวี บุณยเกตุไปติดต่อขอให้จอมพล ป. พิบูลสงครามมาพบคณะผู้สำเร็จราชการ เพื่อจะได้เจรจากันในเรื่องราวนั้น นายทวีฯ กลับมารายงานว่า ท่านนายกไม่ยอมพบคณะผู้สำเร็จราชการ มีใบลาแล้วผู้สำเร็จฯ ก็ดำเนินการไปซิ คณะผู้สำเร็จฯ จึงเรียกหลวงอดุลฯ มาพบ หลวงอดุลฯ รายงานว่าได้พบนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่จับไม่ได้ว่าลาออกเพราะเหตุผลอะไร แต่คงออกแน่ คณะผู้สำเร็จฯ ได้ขอร้องหลวงอดุลฯ ให้ไปฟังให้แน่อีกครั้งหนึ่ง หลวงอดุลฯ ตอบว่าไม่ต้องไป เพราะได้ทราบว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามได้สั่งให้คนขนของออกไปจากทำเนียบสามัคคีไชยแล้ว และว่าผู้สำเร็จฯ ก็ได้ทำการทุกอย่างแล้ว ต่อไปนี้ก็ควรดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ คณะผู้สำเร็จราชการจึงได้เชิญพระยามานวราชเสวี มาแจ้งให้ดำเนินการตามที่ได้ให้การไว้แล้วตอนต้น เรื่องก็ดำเนินไปตามที่ปรากฏในรายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องนั้นแล้ว โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามยังถือว่าเป็นนายกฯ และดำรงตำแหน่งต่อมา

ต่อจากการที่นายกลาออกแล้วไม่ออกนี้มาประมาณไม่ช้านัก รัฐบาลได้เสนอพระราชกฤษฎีกา เรื่องมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฯ คณะผู้สำเร็จฯ ได้พิจารณาพระราชกฤษฎีกานั้นแล้ว เห็นว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่มีอำนาจที่จะมอบหมายให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำการตามพระราชกฤษฎีกานั้นได้ จึงได้บันทึกไปในเรื่องว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่มีอำนาจที่จะมอบให้ได้ ต้องไปทางสภา แล้วก็คืนกฤษฎีกานั้นไป

ต่อมา ๒ - ๓ วันก็มีคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดบรรจุข้าพเจ้ากับท่านปรีดี พนมยงค์เข้าไปประจำในกองบัญชาการทหารสูงสุด ข้าพเจ้าเองถูกบรรจุในตำแหน่งที่ปรึกษา ส่วนท่านปรีดีฯ จะเป็นตำแหน่งใดข้าพเจ้าจำไม่ได้แน่ การที่ข้าพเจ้าและท่านปรีดี พนมยงค์ถูกบรรจุไปประจำในกองบัญชาการทหารสูงสุดนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเนื่องจากเหตุการลาออกแล้วไม่ออกอย่างหนึ่ง กับเรื่องคัดค้านพระราชกฤษฎีกามอบอำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าและท่านปรีดีฯ ต้องเข้าประจำตำแหน่งดังกล่าวนั้น

การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. พิบูลสงครามครั้งหลังสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๗ เมื่อคณะผู้สำเร็จฯ ได้รับใบลาออกจากตำแหน่งนายกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะผู้สำเร็จฯ ก็ได้แจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบเพื่อจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ และในตอนเย็นวันนั้น ข้าพเจ้าไปเล่นกอล์ฟที่สวนจิตร์ละดา ข้าพเจ้าได้พบกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ข้าพเจ้าจึงได้ถามว่าคราวนี้ลาออกกันจริงๆ ไม่ตุกติกเหมือนคราวก่อนนะ จอมพล ป. พิบูลสงครามตอบว่าสำหรับตัวเขาเองนั้นเขายินดีลาออก ข้าพเจ้าก็ถามว่าฝ่ายทหารจะว่าอย่างไร ท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามตอบว่าเรื่องทหารนั้นไม่รู้เขาจะเอาอย่างไรก็ไม่ทราบ และว่าเป็นหน้าที่ของผู้สำเร็จฯ ที่จะให้เรียบร้อย แล้วต่างก็กลับ ไม่มีการพูดอะไรกันอีก

ต่อมาวันรุ่งขึ้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรรายงานว่า ได้ซาวเสียงในสภาแล้วสมาชิกเห็นควรที่จะให้ พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป คณะผู้สำเร็จฯ พิจารณาเห็นชอบ จึงได้เชิญพระยาพหลฯ มาพบพร้อมด้วยประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อมาพบแล้ว เจ้าคุณพหลฯ ปฏิเสธ โดยอ้างว่าสุขภาพไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นความจริง จึงได้แจ้งให้ประธานสภาทราบเพื่อประชุมสมาชิกสภาฟังเสียงดูใหม่

เมื่อประธานสภาได้ไปดำเนินการตามนั้นแล้ว ก็มาพบและรายงานว่าสภาเห็นควรจะให้นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี คณะผู้สำเร็จฯ จึงได้เชิญนายควงฯ มาพบ เมื่อนายควงฯ มาแล้ว ข้าพเจ้าจึงถามนายควงฯ ว่าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไหม นายควงฯ ตอบว่ารับ จึงได้ซักนายควงฯ ต่อไปว่า คุณควงฯ ไม่ใช่ผู้มีอาวุโสมาก่อน ถ้าทหารเกิดยุ่งขึ้น คุณควงฯ จะเอาไว้อยู่ไหม

นายควงฯ ตอบว่า ถ้ายุ่งมาก็ปราบกัน ข้าพเจ้าได้ซักต่อไปว่า การยุ่งระหว่างกันเองไม่สำคัญ แต่ว่าเมื่อยุ่งกันขึ้นแล้วญี่ปุ่นเข้ามายุ่งด้วยจะว่าอย่างไรคุณควงฯ ตอบว่า เรื่องนั้นไม่เป็นไร พอจะจัดการกันได้ ข้าพเจ้าจึงซักนายควงฯ ต่อไปว่า ขอโทษและไม่ใช่ดูถูกคุณควงฯ แต่โดยที่คุณควงฯ ไม่เคยบังคับบัญชาทหารมาก่อน ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งคุณควงฯ ไม่ใช่ผู้ก่อการชั้นผู้ใหญ่ ก็เกรงว่าจะเกิดการยุ่งขึ้น

ฉะนั้น คุณควงฯ จะให้รายนามคณะรัฐมนตรีชุดคุณควงฯ ให้ทราบได้ไหม ทั้งนี้ก็เพื่อประสงค์ว่าจะได้ทราบชื่อว่ามีผู้ใหญ่ที่จะเป็นที่เชื่อถือที่จะควบคุมได้บ้างไหม นายควงฯ ตอบว่า ขอให้ได้รับการแต่งตั้งเสียก่อนจึงจะให้รายชื่อให้ทราบได้ ข้าพเจ้าจึงบอกคุณควงฯ ว่าจะตรึกตรองสัก ๒ ชั่วโมง แล้วจะบอกให้มาพบ นายควงฯ กับพระยามานวราชเสวี และท่านปรีดี ฯ ก็กลับไป แล้วข้าพเจ้าจึงให้ขุนนิรันดรฯ ติดต่อว่าจอมพล ป.ฯ เวลานี้อยู่ที่ไหน เพื่อจะไปพบ ขุนนิรันดรฯ บอกว่าจอมพล ป.ฯ เล่นกอล์ฟอยู่ที่สวนจิตร์ละดา

ต่อนั้นมาข้าพเจ้าจึงไปที่สวนจิตร์ละดา พบและพูดกับจอมพล ป.ฯ ซึ่งขณะที่พูดนั้น มีผู้อยู่ร่วม คือ ๑) ขุนศรีศรากร ๒) นายดิเรก ชัยนามและภรรยา ข้าพเจ้าจึงพูดกับจอมพล ป.ฯ ว่า เวลานี้สภาลงมติเอานายควงฯ เป็นนายก นายควงฯ ก็รับแล้ว แต่ผมวิตกว่าในแง่ทหาร เมื่อนายควงฯ เป็นนายกจะเรียบร้อยไหม จอมพล ป.ฯ ตอบว่า สภานี่บ้า ตั้งนายควงฯ คนบ้า บ้าตั้งนายควงฯ ไป ทางฝ่ายทหารรับรองไม่ได้ว่าจะไม่ยุ่ง กองทัพพายัพและกองทัพที่ ๒ คงจะเคลื่อนลงมาเป็นแน่ ซึ่งจอมพล ป.ฯ ไม่สามารถจะห้ามได้ ข้าพเจ้าจึงว่าถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะยุ่งกันใหญ่ ถ้าญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาอาจถึงเสียเอกราชก็ได้ และสงครามก็ปลายหางไม่ควรจะมาเสียเอกราชเสียก่อน

จอมพล ป.ฯ ว่า เมื่อสภาอยากบ้าอย่างนี้ ก็ช่วยไม่ได้ และเมื่อข้าพเจ้าเซ็นแต่งตั้งนายควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการนองเลือดและอาจจะถึงเสียเอกราชซึ่งจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ขายชาติ และยิ่งดูถูกทหารจัดการอย่างไรก็ไม่รู้ เมื่อเจรจากันแล้ว ข้าพเจ้าก็กลับจากสวนจิตร์ละดา และได้เล่าเรื่องให้ขุนนิรันดรฯ ฟัง และขอให้ขุนนิรันดรฯ ไปเรียนให้ท่านปรีดีฯ ทราบว่าเรื่องมันจะยุ่งกันอย่างนี้ ขอให้ท่านปรีดีฯ ไปพบและพูดกันเอง เพราะเป็นเรื่องในระหว่างผู้ก่อการเสียแล้ว ต่อมาได้ทราบว่ายืนยันจะตั้งคุณควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรีกัน ส่วนทางจอมพล ป.ฯ ก็ว่า เรื่องมันจะไม่เรียบร้อย คงจะยังใช้อำนาจทหารอยู่ ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจลาออกเพราะข้าพเจ้าได้ถูกกดขี่ข่มเหงมาทำนองนี้หลายครั้งแล้ว ข้าพเจ้าสารภาพว่าข้าพเจ้ากลัว เพราะข้าพเจ้าตัวคนเดียวไม่มีพวกพ้อง

ข้าพเจ้าได้เอาใจใส่ในข่าวการสงครามตลอดมา คือ ฟังวิทยุซึ่งรับจากนิวเดลลี บี.บี.ซี. ออสเตรเลีย ซานฟรานซิสโก

เมื่อตอนที่รัฐบาลจอมพล ป.ฯ ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกานั้น เป็นเวลาที่ฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะได้เปรียบ เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ ยื่นใบลาออกแล้วเกิดเอะอะกันว่าไม่ได้ลา แล้วใบลาหายไปนั้น ข่าวสงครามทั้งสองฝ่ายกำลังก้ำกึ่งกันผลัดกันรุกผลัดกันรับ เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ คิดจะย้ายเมืองหลวงไปไว้เพ็ชรบูรณ์นั้น ข่าวสงครามปรากฏว่า ฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายถอยเสียเปรียบมาก ยิ่งเมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ ลาออกในครั้งสุดท้ายนี้นั้น เป็นที่เห็นกันได้ชัดแล้วว่า ฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะต้องเป็นฝ่ายแพ้สงครามแน่

ในคราวที่ส่งกองทัพไทยไปยึดเชียงตุงและเมืองพานเมื่อตอนประกาศสงครามใหม่ๆ นั้น จอมพล ป.ฯ ได้สร้างเหรียญชัยสมรภูมิและแจกกันไปแล้วจึงส่งบันทึกเพื่อรับอนุมัติ มีทั้งสายสพายและเหรียญตราด้วย ก็ได้แจกไปก่อนแล้วจึงขออนุมัติ

เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อให้เป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ ตอนที่ตั้งจอมพล ป.ฯ เป็นจอมพลนั้น นายประยูร ภมรมนตรีมาหาถามว่าเมื่อนายกมีความชอบมากมายเช่นนี้จะตั้งเป็นอะไร ข้าพเจ้าบอกว่าเมื่อเป็นพลตรีอยู่ก็ตั้งเป็นพลโท นายประยูรฯ บอกว่าไม่ได้ ทางกองทัพไม่ยอม ต้องตั้งเป็นจอมพล และต้องให้สายสพายนพรัตน์ด้วย

ข้าพเจ้าจึงว่าเมื่อกองทัพต้องการอย่างนั้นก็ตามใจ ผลสุดท้ายก็จึงแต่งตั้งให้จอมพล ป.ฯ เป็นจอมพล ให้สายสพายนพรัตน์ตามที่กองทัพต้องการ การใช้อำนาจกองทัพมาขู่ข้าพเจ้านี้ใช้บ่อยเหลือเกิน เช่น เมื่อคราวจะให้พระยาพหลฯ ออกจากนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนั้น ก็มีหลวงพรหมโยธี ขุนนิรันดรชัย ขุนปลดปรปักษ์ หลวงสังวรยุทธกิจ หลวงกาจสงคราม นายอุทัย แสงมณี ไปหาข้าพเจ้าในเวลาค่ำคืน หลวงพรหมฯ เป็นคนพูดว่า ถ้าไม่เอาพระยาพหลฯ ออกเพื่อตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นนายกแล้ว จะเกิดยุ่งกันใหญ่อาจถึงกูเดตา[2] คนอื่นๆ ไม่มีใครพูดอะไร นอกจากหลวงกาจฯ พยักหน้าและว่า ถ้าจะเกิดเรื่องใหญ่

เมื่อตอนที่ฝ่ายสหประชาชาติได้รุกเข้าไปในประเทศอิตาลีแล้วมีบาโดกลิโอเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกทำการต่อต้านและกำจัดเยอรมัน และได้ทำการจับกุมมุสโสลินีไปขังในป้อม ข่าวนี้เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย

ข้าพเจ้าได้ทราบว่าท่านปรีดี พนมยงค์ได้ถูกจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งกรรมการไปไต่สวน โดยกล่าวหาว่าจะเป็น จอมพลบาโดกลิโอแห่งเมืองไทย และข้าพเจ้าได้ทราบด้วยว่า ได้อ้างนามข้าพเจ้าเป็นผู้ที่กล่าวโทษท่านปรีดีฯ ความจริงข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้กล่าวหาท่านปรีดีฯ เหตุเนื่องด้วยจอมพล ป.ฯ ไปพบข้าพเจ้าหลังจากข้าพเจ้าได้กลับจากหัวหิน และได้ทูลถามข้าพเจ้าถึงเรื่องที่ท่านปรีดีฯ ไปพบข้าพเจ้าที่หัวหิน ข้าพเจ้าเล่าให้ฟังว่าได้ถามท่านปรีดีฯ ถึงเรื่องข่าวท่านปรีดีฯ เล่าเรื่องจอมพลบาโดกลิโอให้ข้าพเจ้าฟัง ถูกยันเท่านี้จอมพล ป.ฯ ก็ไปประชุมผู้ก่อการบอกว่า ข้าพเจ้าพูดหาท่านปรีดีฯ จะเป็นบาโดกลิโอเมืองไทย ข้าพเจ้าได้พยายามคัดค้านว่าไม่เป็นความจริงทุกวิถีทาง ที่สุดจอมพล ป.ฯ ก็ได้มาขอโทษข้าพเจ้าว่าฟังผิดไป

ตอนที่จอมพล ป.ฯ นำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้น ขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้มีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยผู้ที่มีสายสพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งมี จอมพล ป.ฯ คนเดียวที่ได้สายสพายนั้น เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้วเมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสพายผู้ชาย และให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้คล้องสายสพายให้นั้นเป็นลมหน้ามืดไป

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจอมพล ป.ฯ นั้นกระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป.ฯ ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกับตราครุฑ หรือตราพระบรมนามาภิธัยย่อ และได้สร้างเก้าอี้โทรนขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนครุฑเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอมที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรฯ ไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ

ข้าพเจ้าเคยถูกฟ้องคดีแพ่ง เรียกค่านายหน้าเรื่องค่าเช่าเรือที่ศาลแพ่ง เมื่อศาลตัดสินยกฟ้องโจทก์ไปแล้ว เรื่องนี้ความจริงเป็นดังนี้ คือ ข้าพเจ้ามีเรือเร็วอยู่หนึ่งลำชื่อทินกรล่องสินธ์ุ เดิมฝากไว้ที่โรงเรือของสำนักพระราชวัง ครั้นข้าพเจ้าลาออกจากผู้สำเร็จฯ แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ร้องขอให้ข้าพเจ้านำเรือนี้ไปเสียข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องนำเรือนี้ออกไป แต่ไม่มีที่จะเก็บ จึงได้ไปฝากเจ้าคุณอนิรุทธเทวาไว้ เรือนี้เครื่องชำรุดใช้การไม่ได้ ถ้าจะใช้ต้องซ่อมแซมมาก ต่อมาหม่อมเจ้าหญิงสุวรรณา ภานุพันธุ์ได้มาถามข้าพเจ้าว่า จะขายเรือลำนี้ให้เอาไหม ข้าพเจ้าตอบว่าไม่ขัดข้อง แต่อย่าขายคนต่างด้าว มันผิด เขาห้าม ต่อมาท่านหญิงสุวรรณาฯ มาบอกว่า บริษัทญี่ปุ่นชื่อนัวโปหรืออะไรจำไม่ได้แน่ต้องการจะขอเช่า จะให้เช่าไหม ข้าพเจ้าจึงให้ท่านหญิงไปสอบถามกรรมการก่อนว่า การจะให้ญี่ปุ่นเช่าเช่นนั้นจะผิดไหม ท่านหญิงกลับมาบอกว่ากรรมการเขาตอบว่าให้เช่าได้ ไม่เป็นไร จึงได้ตกลงให้เช่าไป แต่ผู้เช่าเมื่อได้ตกลงเช่าแล้วก็ไม่ได้นำเรือไป เพราะเรือเสียใช้ไม่ได้ จนบัดนี้เรือลำนี้ก็ยังจอดอยู่ที่บ้านเจ้าคุณอนิรุทธฯ

คนในคณะรัฐมนตรีหรือบุคคลที่สนิทชิดชอบกับจอมพล ป.ฯ มีหลายคนที่นิยมชมชอบฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะ และมีการพูดในเชิงโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นดีเห็นงามกับฝ่ายอักษะ เท่าที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังด้วยตนเอง มีฝ่ายที่นิยมอักษะและพูดว่า ฝ่ายอักษะจะต้องชนะสงครามแน่นอน และฝ่ายอังกฤษและอเมริกาจะต้องเป็นฝ่ายแพ้แน่ มี ๑) นายประยูร ภมรมนตรี ๒) หลวงพรหมโยธี ๓) หลวงสินธุสงครามชัย ๔) หลวงวิจิตรวาทการ ๕) ขุนนิรันดรชัย ๖) พลตรีไชย ประทีปเสน ผู้ที่นิยมญี่ปุ่นออกหน้าออกตาก็มี หลวงวิจิตรวาทการ นายวณิช ปานะนนท์ หลวงสินธุสงครามชัย ฉะเพาะหลวงสินธุ์ฯ เคยถกเถียงกับข้าพเจ้าถึงกำลังกองทัพเรือ หลวงสินธุ์ฯ เห็นว่ากองทัพเรือญี่ปุ่นเก่งกว่า ข้าพเจ้าว่ากองทัพเรืออังกฤษเก่งกว่า ส่วนขุนนิรันดรชัยนั้นต้องการให้สงครามยืดเยื้อไปอีกนานๆ จะได้ทำการค้าขายได้ต่อไปอีก ที่พูดกันนี้เป็นการพูดกันหลายครั้งหลายหน และตามที่ต่างๆ หลายแห่งด้วย แต่เมื่อพบปะก็สนทนาเรื่องสงครามกัน เสียงพวกนี้ชักอ่อนลงเมื่อตอนที่ฝ่ายเยอรมันและญี่ปุ่นต้องถอยทัพมากมายจวนจะแพ้อยู่แล้ว

ข้าพเจ้าเพิ่งทราบแน่นอนว่าท่านปรีดีฯ เป็นหัวหน้าจัดการต่อต้านหรือคิดกำจัดญี่ปุ่น ต่อเมื่อวงการได้ประกาศโจ่งแจ้งแล้ว ก่อนนั้นก็เป็นแต่ทราบเป็นลางๆ

ในตอนที่นายสงวน ตุลารักษ์เดินทางเพื่อไปซื้อใบยาแล้วหายสาปศูนย์ไปนั้น จอมพล ป.ฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าว่า บัดนี้ปรากฏว่านายสงวนฯ ไปติดต่อกับจีนที่จุงกิง และจอมพล ป.ฯ พูดว่าจะไปทำอะไรได้ ไม่มีประโยชน์อะไร ในขณะที่นายสงวน ตุลารักษ์หายหน้าไปนั้น การสงครามยังก้ำกึ่งกันอยู่

 

อ่านแล้วรับว่าถูกต้อง

ลงชื่อ อาทิตย์ ทิพอาภา     ผู้ให้การ
ลงชื่อ ส. ตุลารักษ์             ประธานกรรมการ
ลงชื่อ บรรณกรโกวิท        กรรมการ
ลงชื่อ อรรถไกวัลวที        กรรมการ
ลงชื่อ ร.ต.อ.วิชัย พันธ์โอรส      บันทึก

 

ที่มา: ทศสิริ พูลนวล (บรรณาธิการ). คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ใน, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์, (กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2545), น. 113-125

หมายเหตุ: คำสะกดคงไว้ตามเอกสารชั้นต้น