เมื่อพูดถึงงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ย้อนไปเมื่อปี 2480 ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นมีการกำหนดวันสำคัญทางรัฐธรรมนูญเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 24 มิถุนายน ขณะนั้นคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้เป็นวันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ ส่วน 27 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นวันรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเดือนธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ มีการฉลอง 3 วัน ได้แก่ 9-11 ธันวาคม (หากใครสนใจสามารถลองค้นหาในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา จะมีตัวประกาศของนายกรัฐมนตรี) ซึ่งในปัจจุบันนั้นเหลือเพียงวันเดียว คือ 10 ธันวาคม ซึ่งในที่นี้ผมก็มองว่าเป็นปีที่เงียบเหงาสำหรับทางการเองที่เกี่ยวกับการจัดงานทางรัฐธรรมนูญ แต่กลับกลายเป็นว่าคึกคักในหมู่ประชาชน และมีตู้คอนเทนเนอร์ มาประกอบเป็นฉากหลังก็ถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่ ไม่เคยเห็น ซึ่งน่าสนใจอยู่เหมือนกัน
หัวข้อที่ผมได้เตรียมมาในวันนี้เกี่ยวกับเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ในช่วง 2475 ถึง 2489 และอาจจะเลยไปถึง 2490 ด้วย จริง ๆ ช่วงเวลา 15 ปีแรก ผมมองว่าเป็นช่วงที่น่าสนใจ และมีเสน่ห์มาก ๆ ในประวัติศาสตร์ตลอด 88 ที่ผ่านมา แน่นอนผมเชื่อว่า ในอนาคตหากเรามองย้อนกลับมา ปี 2563 ก็จะเป็นอีกปีหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ว่าหากมองย้อนไปไกล ๆ ช่วง 15 ปีแรกนั้นน่าสนใจมาก ๆ และเราสามารถมองได้หลายแบบ
สำหรับผมเอง ด้วยความที่เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่องผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงเวลานั้น ถ้าจะให้นึกถึง ก็จะมีหลายอย่างที่เราต้องพูดกัน เช่น ภายในเวลา 15 ปีมีรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ฉบับแรกประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน 2475 และในอีกไม่กี่เดือนต่อมาเราก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ฉบับ 10 ธันวาคม ซึ่งใช้อยู่นานทีเดียว และผมเข้าใจว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้นานที่สุด ในบรรดารัฐธรรมนูญทุกฉบับ ซึ่งน่าสนใจทีเดียว
จริง ๆ แล้วผมว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นผลิตผลของการประนีประนอมกันของคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ผมเคยเข้าใจว่า ที่เราบังคับใช้ได้นาน เป็นเพราะการประนีประนอมกัน แต่ผมจะเล่าต่อไปว่า มันอาจไม่ใช่ มันน่าจะเป็นเหตุผลอื่นมากกว่า
อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญ 2489 อาจารย์ปรีดีได้ใช้คำว่ามีการแก้ไขปรับปรุง เข้าใจว่าเป็นการแก้ แต่แก้ไปแก้มาก็กลายเป็นทำใหม่ขึ้นมาเลย กลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 และประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489
ในเวลา 15 ปี เรามีพระมหากษัตริย์ 3 รัชกาล ซึ่งสำหรับผม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ในช่วงชีวิตหนึ่ง คนเราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านรัชกาลถึง 2 ครั้งเกิดขึ้นในเวลา 15 ปี
รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นกษัตริย์ภายใต้ระบบใหม่ได้เพียง 2 ปีเศษ ๆ ก็ทรงสละราชสมบัติ และหลังจากนั้นเราก็มียุวกษัตริย์ทรงเป็นกษัตริย์ครองราชย์อยู่ โดยประทับอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และตอนที่ขึ้นครองราชสมบัติก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย มีการเสด็จนิวัตพระนคร 2 ครั้ง ในปี 2481 และ 2488 แล้วสวรรคตในปี 2489 หลังจากนั้น รัชกาลที่ 9 ก็ขึ้นครองราชสมบัติเป็นลำดับต่อมา
รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญในเวลานั้นก็ได้เขียนไว้ว่า การขึ้นครองราชย์หรือการสืบราชสมบัติจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากในปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้แล้ว
ในเวลา 15 ปี เรามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เกือบจะตลอด ตั้งแต่ปี 2476 ช่วงปลายรัชกาลที่ 7 ไปจนถึงรัชกาลที่ 9 และเรามีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถึง 8 คนด้วยกัน 1 ใน 8 นั้นฆ่าตัวตายในตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก อีกทั้ง 3 ใน 8 เสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่ง (1 ใน 3 นี้ฆ่าตัวตาย) และมีผู้ที่มีส่วนร่วมในการทำให้การฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกหรือการรัฐประหาร 2490 อีกด้วย
ผมเองอยากเสนอว่าให้เรียกยุคสมัย 2476 ถึง 2490 ว่าเป็น “Regency Era” หรือยุคสมัยแห่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
15 ปี หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ แต่สำหรับผมแล้วก็จะมีตัวละครที่โดดเด่น ก็คือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลาย ๆ ท่าน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระองค์แรก ก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (เวลานั้นเป็น “กรมพระ”) ซึ่งเข้าสู่ตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2476 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 7 ผมคิดว่า การตั้งผู้สำเร็จฯ ท่านแรกเกิดขึ้นภายใต้บริบทของความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความเข้มข้นมาก เพราะว่าก่อนที่จะมีการตั้งผู้สำเร็จฯ เราอาจจะต้องย้อนดูช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เพราะเมื่อเราพูดว่า รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม เป็นผลิตผลของการประนีประนอมกันระหว่างรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎร แต่ต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์หลังจากนั้น
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมไม่กี่เดือน ต่อมาในเดือนมีนาคม 2475 (สมัยนั้นเริ่มปีใหม่ 1 เมษายน) เมื่อปรีดีเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ 1 เมษายน 2476 วันขึ้นปีใหม่ ก็ได้มีตราพระราชกฤษฎีกาปิดสภาและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมา มีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราด้วย บางท่านได้เรียกเหตุการณ์ 1 เมษายน 2476 ว่าเป็น “รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา” หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน อีกไม่กี่เดือนต่อมา พระยาพหลพลพายุหาเสนาก็ได้ยึดอำนาจคืนกลับมาจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาและได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น ต่อมาเดือนตุลาคมก็เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซึ่งผมอยากให้ทุกคนลองจินตนาการว่า หากเราอยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นเราจะรับมือกับเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างไร ต้นปีเกิดรัฐประหาร อีกไม่กี่เดือนมีรัฐประหารยึดอำนาจกลับ และเกิดกบฏบวรเดชซึ่งหลังจากกบฏบวรเดชพ่ายแพ้ รัชกาลที่ 7 ก็ได้เสด็จประพาสยุโรปและอเมริกาในปี 2476
สิ่งที่ผมอยากจะเสนอให้กับวงเสวนาได้รับทราบนั้น นอกจากการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ท่านแรก จะเกิดขึ้นภายใต้บริบทของความเข้มข้นทางการเมืองแล้ว ผมเข้าใจว่า กรมพระนริศฯ ทรงตั้งใจวางพระองค์ให้เหมือนเป็นตัวแทนของรัชกาลที่ 7 ในราชอาณาจักร ซึ่งในความจริงแล้วนั้นมีปัญหาทางการเมืองว่า เมื่อมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ผู้สำเร็จฯ ต้องฟังคำสั่งคนแต่งตั้งไหม ซึ่งเป็นปัญหา
หากใครได้อ่านคำอธิบายรัฐธรรมนูญ 2489 ของอาจารย์หยุด แสงอุทัย อาจารย์ก็จะมองว่า ความสัมพันธ์ของผู้สำเร็จและกษัตริย์นั้นไม่ใช่ตัวการตัวแทน แต่เมื่อตั้ง ก็เหมือนว่าผูกพันต่อรัฐธรรมนูญ และยิ่งกว่าจะผูกพันต่อคนตั้ง
แต่กรมพระนริศฯ นั้น เมื่อมองจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จะพบว่า ท่านวางพระองค์เหมือนเป็นตัวแทนของรัชกาลที่ 7 กรณีที่มีการวีโต้ (Veto) ร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับในสมัยรัชที่กาลที่ 7 นั้น พระองค์มิได้เป็นคนยับยั้งร่างเอง หากแต่เป็นการวีโต้ร่างพระราชบัญญัติผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็คือ ไม่ลงนามในประกาศใช้พระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ รวมถึงการที่รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติ ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ได้ระบุไว้ว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องสิ้นสุดหน้าที่ทันที ซึ่งตอนนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ได้ไปเข้าเฝ้ากรมพระนริศฯ และบอกว่ายังสิ้นสุดหน้าที่ไม่ได้ ยังต้องทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ หรือมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมาใหม่ ถึงจะสิ้นสุดหน้าที่ได้ แต่กรมพระนริศฯ เองก็ยืนยันว่า ท่านจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีตามคำสั่งของรัชกาลที่ 7
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในปัจจุบันได้มีการถกเถียงกันถึงเรื่องการบริหารราชภาระจากต่างประเทศ ผมคิดว่า เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และอาจจะต้องย้อนกลับไปดูบริบทในช่วงที่รัชกาลที่ 7 ได้แต่งตั้งกรมยาพระนริศฯ เป็นผู้สำเร็จราชการฯ ผมเข้าใจว่า ในขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ นั้น กรมพระนริศฯ มีการติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 7 อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวีโต้ร่างพระราชบัญญัติ 3 ฉบับนี้ กรมพระนริศฯ ไม่น่าจะตัดสินใจเองทั้งหมด แต่มีการปรึกษาหารือกับรัชกาลที่ 7 ทางโทรเลข และหลังจากรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสยุโรปในเดือนมกราคม 2476 ก็ไม่ได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย จนกระทั่งสละราชสมบัติ
เป็นเวลาถึง 14 เดือนที่กรมพระนริศฯ ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งผมอยากให้ทุกคนจินตนาการว่า ถ้าเป็นในปัจจุบัน มันจะสามารถเกิดขึ้นได้ไหม? เนื่องจากรัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสยุโรปถึง 14 เดือน และมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทำหน้าที่ประมุขของรัฐตลอดระยะ 14 เดือน
หลังจากที่รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม 2477 (นับว่าปัจจุบัน คือ 2478) แล้ว ก็ได้มีการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 โดยต้องมีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมา โดยรัฐบาลตัดสินใจจะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นคณะ มากกว่าเป็นบุคคล
หากสังเกตดูจากรัฐธรรมนูญจะพบว่า สามารถตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ซึ่งรัชกาลที่ 7 ท่านทรงตัดสินใจตั้งกรมพระนริศฯ พระองค์เดียว แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ด้วยความที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ 9 พรรษา นั่นแสดงว่า เราจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ทำหน้าที่ยาวไปจนรัชกาลที่ 8 บรรลุนิติภาวะ หรือประมาณ 11 ปีเลยทีเดียว ในขณะนั้น รัฐบาลได้เสนอให้จัดตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 3 คน ซึ่งมีการเสนอกันหลายรายชื่อ ซึ่งสุดท้ายได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ และสมาชิกอีก 2 ท่านได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) การจัดตั้งตอนนั้น รัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์และไม่สามารถจัดตั้งเองได้ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นคนแต่งตั้ง
เมื่อได้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มา 3 ท่าน ก็เป็นช่วงเวลาที่ได้มีการทดลองอะไรบางอย่างเหมือนกัน เนื่องจากเป็นช่วงที่รัชกาลที่ 8 เองประทับอยู่ต่างประเทศและไม่ได้ปฏิบัติพระราชภาระด้วยพระองค์เอง แต่เรามีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าที่ประมุขของรัฐ ซึ่งทุกคนก็คงอยากทดลองว่า แล้วประมุขของรัฐแบบที่คณะราษฎรได้จินตนาการไว้นั้น ควรจะมีบทบาทอย่างไร ซึ่งพบว่า ในช่วงต้นของรัชกาลที่ 8 นั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ค่อนข้างให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการร่วมมือเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาหลังจากรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้วนั้น ได้มีความพยายามในการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และจัดการพระราชทรัพย์ของรัชกาลที่ 7 ภายหลังจากสละราชสมบัติ ซึ่งจะพบว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ความร่วมมืออย่างดี แต่น่าจะมีความกดดันอยู่พอสมควรในการทำงาน จึงมีการตั้งข้อสันนิษฐานกันว่า นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ทรงตัดสินพระทัยปลงพระชนม์พระองค์เอง ในวันที่ 22 สิงหาคม 2478
หากถามฝ่ายคณะราษฎรเอง ก็จะบอกว่าฝ่ายกษัตริย์ได้กดดันให้กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ให้ท่านกระทำในสิ่งที่อกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์ แต่หากถามฝ่ายสถาบันกษัตริย์เอง ก็คงจะกล่าวว่าเป็นฝ่ายคณะราษฎรเองที่กดดัน ซึ่งต่างฝ่ายก็ต่างกล่าวว่าโยนให้ฝั่งตรงข้ามกันไปมาว่า การปลงพระชนม์พระองค์เองของประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะอีกฝ่ายหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีการสันนิษฐานว่า สุดท้ายแล้วประเด็นที่ทำให้เกิดการปลงพระชนม์พระองค์เองนั้นก็คงจะเป็นเพราะประเด็นการจัดการทรัพย์สินที่มีความอ่อนไหว
หลังจากที่ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ฯ ได้พ้นจากตำแหน่งโดยการปลงพระชนม์พระองค์เอง ได้มีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใหม่เข้ามา เป็นการตั้งซ่อม ได้แก่ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดที่ 2 ก็มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ คือ ในช่วงนั้นมีการประกาศขายที่ดินพระคลังข้างที่ ซึ่งก็เป็นผลต่อเนื่องจากการจัดการพระราชทรัพย์ของรัชกาลที่ 7 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงถูกสมาชิสภาผู้แทนราษฎรอภิปรายในสภาว่าน่าจะมีลับลมคมในการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ เนื่องจากคนที่ได้ที่ดินไปนั้น ได้ไปในราคาค่อนข้างต่ำ จึงทำให้มีการอภิปรายพาดพิงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในเวลาต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงขอลาออกจากตำแหน่งทั้ง 3 คน แต่สุดท้ายแล้วก็มีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดเดิมเข้ามา
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญมาก ๆ ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ การจับกุมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ซึ่งเวลานั้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร) ในปี 2481 โดยหลังจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ผ่านพ้นวิกฤตการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่มาได้ ก็ได้มีการอัญเชิญรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนคร ในปี 2481 ในจังหวะนั้นการเมืองก็เปลี่ยน พระยาพหลพลพยุหเสนายุบสภา และได้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ในระหว่างที่รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตพระนครนั้น เจ้าพระยายมราช หนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถึงแก่อสัญกรรม ทำให้เหลือเพียงพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
หลังจากนั้น เมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จออกจากประเทศไทยได้ไม่กี่วัน รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้มีการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อการกบฏ และหนึ่งในนั้นคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้มีศักดิ์เป็น “ลุง” ของในหลวงรัชกาลที่ 8 และ 9 [และเป็น “ลูกเลี้ยง” ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า … บ.ก.] ถือว่าเป็นพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งหลังจากจับกุมกรมขุนชัยนาทนเรนทรแล้ว พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีศรีสังวาลย์ (ต่อมาคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ก็ประสานผ่านคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขอให้ช่วยเหลือ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าขอให้ช่วยเหลือไม่ต้องให้ถูกจองจำ แต่กักบริเวณในวัง ส่วนสมเด็จย่าก็ขอให้มีการเนรเทศไปต่างประเทศแทน แต่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็วางตัวเป็นกลาง มีการทำหนังสือไปถามรัฐบาล แต่รัฐบาลเองก็ตอบมาว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของศาล ดังนั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ไม่ได้ยื้ออะไร แต่ปฏิบัติตามนั้น ซึ่งกรมขุนชัยนาทนเรนทรนั้นจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อไปที่มีส่วนทำให้การรัฐประหาร 2490 นั้นประสบความสำเร็จด้วย
ที่มา: เรียบเรียงจากช่วงแรกของคำกล่าวของผู้เขียนในงาน PRIDI talks ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “การศึกษาในช่วง 15 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์สยาม ผ่านบทบาทของตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
- วันรัฐธรรมนูญ
- อนุชา อชิรเสนา
- ปรีดี พนมยงค์
- การอภิวัฒน์สยาม 2475
- คณะราษฎร
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- วันฉลองรัฐธรรมนูญ
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- 24 มิถุนายน 2475
- 27 มิถุนายน 2475
- ธรรมนูญชั่วคราว 2475
- ปฐมรัฐธรรมนูญ
- 10 ธันวาคม
- ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- สมุดปกเหลือง
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- กบฏบวรเดช
- หยุด แสงอุทัย
- สภาผู้แทนราษฎร
- การบริหารราชภาระจากต่างประเทศ
- พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์
- พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา
- เจ้าพระยายมราช
- เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
- ที่ดินพระคลังข้างที่
- กรมขุนชัยนาทนเรนทร
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
- สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- สมเด็จพระบรมราชชนนีศรีสังวาลย์