ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 พิมพ์เขียว ‘ข้ออ้าง’ การยึดอำนาจในไทย

10
พฤศจิกายน
2564

กรอบความคิดที่ว่าการเมืองไทย ตกอยู่ใน ‘วงจรอุบาทว์’ ดูจะเป็นภาพทรงจำที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป โดยแสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยที่หมุนวนอยู่ที่การรัฐประหาร - การร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย - การจัดการเลือกตั้ง - เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน - เกิดวิกฤติทางการเมืองอีกครั้ง - และกลับมาจบที่การรัฐประหาร อีกครั้ง 

แม้ว่าในรายละเอียดแล้ว จะทำให้เรามองข้ามข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ถูกพูดถึงกันหลายประการ เช่น การคอร์รัปชันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการคอร์รัปชันมิได้เลือกระบอบการปกครองแต่อย่างใด

ดังเราจะเห็นได้ในกรณีการทุจริตอย่างมโหฬารในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนกระทั่งเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรขึ้นสู่อำนาจก็ได้มีการสั่งยึดทรัพย์อดีต ‘จอมพลผ้าขาวม้าแดง’ หรือกรณีระบอบ ‘ถนอม ประภาส ณรงค์’ เอง ก็มีการทุจริตอย่างกว้างขวางจนนำมาสู่การขับไล่โดยขบวนการนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้น

 

การเผชิญหน้าระหว่างนักศึกษาและทหารบนถนนราชดำเนินเมื่อ 14 ต.ค. 2516 ที่มา: BBC THAI
การเผชิญหน้าระหว่างนักศึกษาและทหารบนถนนราชดำเนินเมื่อ 14 ต.ค. 2516
ที่มา: BBC THAI

 

รวมไปถึงทำให้มองข้ามประเด็นของ ความพยายามบ่อนเซาะทำลายเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยของฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ก่อนจะลงเอยด้วยการใช้กำลังในการเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม กรอบคิดดังกล่าวก็ช่วยทำให้เห็นภาพใหญ่ของวิวัฒนาการการเมืองไทย อย่างพอสังเขปได้ว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจถึง 13 ครั้งในประวัติศาสตร์ และยังมีการใช้รัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ ในรอบ 89 ปี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

รายงานชิ้นนี้จะพิจารณามรดกของการรัฐประหารบางประการที่กลายเป็นแม่แบบให้แก่การยึดอำนาจในกลุ่มคณะรัฐประหารรุ่นหลัง นั่นคือข้ออ้างในการทำรัฐประหาร

 

ลักษณะของ ‘ข้ออ้าง’ ที่ใช้ในการยึดอำนาจ

คำถามคือ ตัวแบบการรัฐประหารแบบที่เราคุ้นเคยกันอยู่นี้ เริ่มขึ้นเมื่อใด และมีรูปแบบอย่างไร คำตอบนี้น่าจะอยู่ที่ “รัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490” เมื่อกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย ‘พลโท ผิน ชุณหะวัณ’ นำกำลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปิดฉากอิทธิพลของรัฐบาลสายเสรีไทย ที่ขึ้นมามีอำนาจสั้นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

และสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างหนึ่งในการรัฐประหารของไทยทุกครั้งก็ตามมา นั่นคือหลังจากการเคลื่อนไหวเพื่อยึดอำนาจแล้ว ได้มีการให้ข้ออ้างเพื่อสร้างน้ำหนักของการก่อการล้มรัฐบาลด้วยกำลังอาวุธให้มีความสมเหตุสมผล โดยในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นั้น คณะรัฐประหารได้ให้เหตุผลในการยึดอำนาจไว้ 6 ประการ ด้วยกัน คือ

  1. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อประเทศชาติโดยส่วนรวม มิใช่เพื่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ  
  2. รัฐประหาร ที่โค่นล้มรัฐบาลหลวงธำรงฯ จะจัดตั้งรัฐบาลรัฐบาลขึ้นใหม่ โดยจะยึดมั่นในหลักการชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 
  3. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศของกองทัพบกที่ได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างไม่ยุติธรรม
  4. รัฐประหาร กระทำขึ้นเพื่อให้การปกครองของประเทศกลับมีประสิทธิภาพดังเดิม และเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
  5. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อคลี่คลายคดีวางแผนปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจับกุมบุคคลผู้มีส่วนร่วมมาลงโทษ และ 
  6. รัฐประหาร ทำขึ้นเพื่อขจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซากไปจากประเทศและทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไปชั่วกาลนาน 

หากพิจารณาเนื้อหาของข้ออ้างที่มีคำสัญญาผสมอยู่ด้วยนี้ จะพบว่าเกิดขึ้นภายใต้บริบททางสังคมการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างกว้างขวาง การต่อสู้ในระบบรัฐสภาเปิดโอกาสให้มีการโจมตีรัฐบาลที่มีเสรีไทยเป็นผู้นำ จนมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง  นับจากปี 2487-2490 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปถึง 8 ชุด กรณีที่สำคัญที่สุดการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหดิล ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 จนก่อให้เกิดการโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ในช่วงเวลานี้คณะรัฐประหารจึงอาศัยช่วงจังหวะสำคัญเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

 

การลอก ‘ข้ออ้าง’ เพื่อใช้ในการยึดอำนาจในการรัฐประหารรุ่นหลัง

หากอธิบายถึงรูปแบบการรัฐประหารอย่างกว้าง อาจจะสามารถเกิดขึ้นใน 2 รูปแบบคือ หนึ่ง เป็นการรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้ถืออำนาจเดิม ดังที่เกิดขึ้นในรัฐประหาร 2500 รัฐประหาร 2519 เป็นต้น และ สอง เป็นการรัฐประหารตัวเอง ดังที่เกิดขึ้นในกรณีรัฐประหาร 2494 รัฐประหาร 2514 เป็นต้น

ทว่า ตัวอย่างถัดจากนี้ ชี้ให้เห็นว่า ข้ออ้างที่ถูกใช้ในการรัฐประหารนั่นมีลักษณะเชื่อมโยงกลับไปที่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 อย่างน้อย 3 ประการ คือ ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ การทุจริตคอร์รัปชัน และการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยแบบแผนของการให้ความสมเหตุสมผลแก่การรัฐประหารด้วยแนวทางนี้ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเผด็จการทหารครองอำนาจยาวนาน ในทศวรรษ 2500-2520 

กรณีแรกเกิดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ หัวหน้าคณะปฏิวัติ การยึดอำนาจเกิดขึ้นโดยอาศัยข้ออ้างภัยคอมมิวนิสต์คุกคามประเทศไทยอย่างรุนแรง และภายใต้ข้ออ้าง เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ จึงได้มีการจับกุมนักคิด นักเขียน นักการเมือง เป็นจำนวนมาก และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเพียง 17 มาตรา ในการให้อำนาจที่เบ็ดเสร็จแก่ผู้นำคณะรัฐประหาร

จนเมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต การสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาถึงยุค ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานก็ทำให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2511 ขึ้นมาชั่วคราว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการร่างยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภาอันเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยของระบอบเผด็จการทหาร ก็กลายเป็นเชื้อมูลให้วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ‘จอมพล ถนอม กิตติขจร’ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ทำการรัฐประหารตัวเองด้วยการอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติและราชบัลลังก์ ด้วยข้ออ้างที่ว่า

“สถานการณ์ภายนอกประเทศเกิดการยุยงสนับสนุนให้ผู้ก่อการร้าย ก่อความยุ่งยากอยู่ ณ ที่ต่างๆ ของประเทศไทย เป็นภยันตรายต่อประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน ทั้งมุ่งจะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ข้ออ้างเช่นนี้ไม่ต่างไปจาก การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ ‘พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่’ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หลังการสังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างเหตุที่มาในการยึดอำนาจว่า มาจากการที่นิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศ

หลังการยึดอำนาจด้วยข้ออ้างว่านักศึกษาหมิ่นสถาบันตามแผนการของคอมมิวนิสต์เพียง 4 วัน ก็มีประกาศคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อเพิ่มโทษ จนกลายเป็นมรดกของกฎหมายฉบับนี้แบบที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” เขียนโดย นพพล อาชามาส บรรยายการเปลี่ยนแปลงของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงเวลานี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้สัมพันธ์กับความกลัวภัยคอมมิวนิสต์ของชนชั้นนำไทย  

คณะปฏิรูปฯ ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ทำการแก้ไขกฎหมายอาญาหลายมาตรา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ มาตรา 112 เพราะนอกจากมีการปรับเปลี่ยนตัวบทว่า 

“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ถึงสิบห้าปี”

นอกจากทำให้กฎหมายนี้ไปอยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแล้ว ในคำสั่งนี้ยังให้เหตุผลการแก้ไขว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดในคำสั่งนี้ “ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรแก้ไขอัตราโทษเหล่านั้นให้สูงขึ้น” ผลของการแก้ไขอัตราโทษเช่นนี้ ทำให้การลงโทษตามความผิดในข้อหานี้ถูกกำหนดให้มีโทษขั้นต่ำ คือ 3 ปี และอัตราโทษสูงสุดยังเพิ่มจาก 7 ปี ไปเป็น 15 ปี และแม้ในช่วงเวลาต่อมา ภายหลังสงครามในเขตป่าเขาจบสิ้นลง ภาพ “ภัยคุกคาม” ของคอมมิวนิสต์ จะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดสิ้นไป และความหมายของการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ก็ถอยห่างจากการเกี่ยวพันกับความเป็นคอมมิวนิสต์ออกไป กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีการแก้ไขกลับไปก่อนหน้านั้น (หน้า 73-74)

จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติได้ขยับจากยุคคอมมิวนิสต์มาสู่ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากขึ้น ดังที่เกิดขึ้นในการรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในชื่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) นำโดย ‘พลเอก สุนทร คงสมพงษ์’  ได้ยกข้ออ้าง 5 ประการที่มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากการรัฐประหารรุ่นก่อนๆ นั่นคือ 1. พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง 2. ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต 3. รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา 4. การทำลายสถาบันทางทหาร 5. การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

เช่นเดียวกันกับการรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่มีส่วนก่อวิกฤติการเมืองร่วมสมัยในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นั่นคือ การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ผู้นำเหล่าทัพที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.” นำโดย ‘พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน’ ผู้บัญชาการกองทัพบก โดยอ้างเหตุผลและความจำเป็นในการยึดอำนาจ 4 ประการ คือ 1. ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน 2. การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ 3. การครอบงำและแทรกแซงองค์กรอิสระ และ 4. การหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขององค์พระมหากษัตริย์

 

การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่มา: มติชนออนไลน์
การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549
ที่มา: มติชนออนไลน์

 

และสุดท้าย การรัฐประหารในปี 2557 ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ได้อ้างว่า สังคมไทยได้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต บาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน จึงทำให้คณะรัฐประหารต้องเข้ามารักษาเสถียรภาพของประเทศในที่สุด

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำการรัฐประหารในปี 2557 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำการรัฐประหารในปี 2557 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์

 

ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการก่อการรัฐประหาร ตั้งแต่รัฐประหาร 2490 จนถึง รัฐประหารในยุคปัจจุบัน และตัวอย่างข้ออ้างรัฐประหารที่กล่าวมา ช่วยให้ข้อคิดที่น่าไตร่ตรองไปถึงว่า ขณะที่บริบททางการเมืองและสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลแล้ว เหตุใดข้ออ้างในการรัฐประหารในลักษณะนี้จึงดำรงซ้ำเดิมไม่ต่างไปจากกรอบคิดวงจรอุบาทว์ ซึ่งถูกนำมาใช้ทำความเข้าใจกระบวนการทางการเมืองในประเทศไทยตลอดมา

ในตอนหน้า จะมาพิจารณากระบวนการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 และการมาถึงของ “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่มแดง”