บทนำ
ความคิดเรื่อง "เอกราช" นับตั้งแต่สมัยคณะราษฎร ยังขาดการศึกษาพลวัตของความหมาย และการแปรปรับเป็นนโยบาย งานเขียนชิ้นนี้จึงมีหมุดหมายเพื่อนำเสนอเอกราชในความใฝ่ฝัน และวิเทโศบายของคณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์ ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ อาทิเช่น ประกาศคณะราษฎร เค้าโครงการเศรษฐกิจ รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การเดินทางเพื่อไปเจรจาเรื่องสนธิสัญญาเสมอภาคและยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับนานาประเทศ การเจรจาแปลงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลง เป็นต้น
ในเบื้องต้น ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า "เอกราชในทัศนะของคณะราษฎร" นั้น มีความหมายกว้างกว่าการปักปันอาณาเขต หรือ สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และในโลกทัศน์ของปรีดียังแสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์จากเอกราชต้องเป็นประโยชน์ต่อราษฎรอันสอดรับกับงานเขียนสมัยนั้นที่มักจะสะกด "เอกราช" เป็น "เอกราษฎร์" อย่างมีนัยยะสำคัญ[1]
ในส่วนของปรีดีนั้น มองว่าพระยาพหลฯ เป็น ‘ทหาร นักประชาธิปไตย’ และอธิบายไว้อย่างคมคายว่า “ผมเคยเขียนไว้ เคยให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เราจะไปวินิจฉัยว่าถ้าเป็นทหารแล้วจะเป็นอย่างนั้นทั้งหมดมันก็ไม่ถูก หรือว่าพลเรือนนี่ดีทั้งหมดก็ไม่ใช่ จะเห็นว่าทหารบางคนเป็นนักประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเจ้าคุณพหลฯ... ท่านเป็นนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ท่านไมได้ต้องการที่จะเอาอำนาจ เอาความเป็นใหญ่ให้แก่ทหารหรือแก่ตัวท่านเองอะไรเลย ของหลวงหรือก็ไม่มี...”[2]
เอกราชในความใฝ่ฝันของคณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์
หลักเอกราชของ คณะราษฎร และ ปรีดี พนมยงค์ เผยแพร่สู่วงกว้างครั้งแรกจากประกาศคณะราษฎรในการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งประกาศฉบับนี้เสนอหลักการปกครองของคณะราษฎร 6 ประการ โดยประการแรกเสนอเรื่องเอกราชไว้ว่า
“การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่น รัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง...”[3]
ในประกาศคณะราษฎร ระบุหลักเอกราชไว้ 3 ประการ ได้แก่ เอกราชในทางการเมือง เอกราชในทางศาล และเอกราชในทางเศรษฐกิจ
กระทั่ง 1 ปี ถัดมา ปรีดีได้ประกาศนโยบายทางเศรษฐกิจกับหลัก 6 ประการไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ สมุดปกเหลือง หมวดที่ 11 ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ ซึ่งในบทที่ 1 เรื่องเอกราช นั้น จัดแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ ก. เอกราชในทางศาล ข. เอกราชในทางเศรษฐกิจ และ ค. เอกราชในทางการเมือง เช่นในประกาศคณะราษฎร
ปรีดีเสนอเรื่องเอกราชในทางศาลว่า ให้เป็นไปตามการจัดทำประมวลกฎหมายตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้และใกล้จะจัดทำเรียบร้อยแล้ว จนมาสำเร็จในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาที่สามารถร่างประมวลกฎหมายสำคัญได้ทั้งหมด 4 ฉบับ
- ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประกาศใช้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478
- กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477
- กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477
- กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
จากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายข้างต้น ทำให้สยามได้สิทธิทางการศาลครบถ้วนใน พ.ศ. 2483[4]
ส่วนเรื่องเอกราชในทางเศรษฐกิจ ปรีดีชี้ให้เห็นว่า ประชาชนต้องได้รับประโยชน์จากสิ่งที่อุปโภคบริโภคและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต โดยเล็งเห็นว่า รัฐบาลควรจะเป็นผู้ควบคุมราคาสินค้าเพื่อลดการกดขี่ทางเศรษฐกิจจากเอกชน
และ เอกราชในทางการเมือง หมายถึงความพร้อมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ และปัจจัยทางการเมือง ในห้วงยามแห่งสงครามเวลานั้น รัฐควรมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารเพื่อป้องกันบ้านเมือง จะเห็นได้ว่า เอกราชในทางการเมืองของปรีดี มีความหมายกว้างกว่าการเมืองในแง่การปกครอง แต่หมายรวมถึงการเมืองกับชีวิตประจำวันที่ประชาชนมีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
“เมื่อบ้านเมืองเรามีสิ่งอุปโภคบริโภคปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตพร้อมบริบูรณ์ เรามีอาวุธในการป้องกันประเทศได้เพียงพอ และเราบำรุงการศึกษาได้ด้วยมีแรงงานที่จะจัดให้ครูอบรมสั่งสอน เราจัดบำรุงอนามัยของราษฎร โดยอาศัยวิธีที่รัฐบาลจัดการเศรษฐกิจเสียเอง อันเปิดช่องทางความสะดวกแก่การบำรุงอื่น ๆ แล้วจะมีประเทศใดเขามาราวี…”[5]
หากหลักเอกราชในเค้าโครงการเศรษฐกิจ ยังไม่ทันได้ดำเนินตามนโยบายก็มีการรัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ว่ามีลักษณะคอมมิวนิสม์ โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรพร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำให้ปรีดีต้องลี้ภัยครั้งแรก และถูกเชิญกลับมาสยามในสมัยรัฐบาลพระยาพหลฯ ในปีเดียวกัน
ใน พ.ศ. 2478 รัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาสนธิสัญญาไม่เท่าเทียมอย่างรวดเร็วจึงเริ่มวิธีการเจรจากับนานาประเทศเพื่อเร่งเวลาให้สยามมีเอกราชบริบูรณ์และมอบหมายให้ปรีดีเป็นผู้ดำเนินการ ดังจะกล่าวถึงรายละเอียดในหัวข้อต่อไป
วิเทโศบายของปรีดี พนมยงค์ สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา
หลักเอกราชทั้ง 3 ข้อ ดำเนินการสำเร็จซึ่งเป็นผลมาจากบทบาทของปรีดีที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และการสนับสนุนของพระยาพหลฯ ผ่านวิเทโศบายสำคัญ 2 นโยบาย ได้แก่
วิเทโศบายที่ 1 เจรจาเพื่อสนธิสัญญาเสมอภาคและยกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับ 15 ประเทศ[6]
ในคำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงของเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2480 ปรีดี กล่าวว่า การเจรจาเรื่องยกเลิกสนธิสัญญานี้ ใช้หลัก ‘ดุลยภาพทางอำนาจ’ และดำเนินนโยบายทางการทูตด้วยมิตรภาพ ซึ่งในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลฯ มีการประคับประคองบรรยากาศสันติภาพและเป็นฝ่ายกุมดุลอำนาจระหว่างประเทศไว้ได้ดี จึงสามารถบอกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับ 15 ประเทศ[7] ได้ แล้วเปิดการเจรจาทำสนธิสัญญาใหม่โดยถือหลักเสมอภาค ถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน ความเป็นธรรม เอื้อประโยชน์แก่กันและกัน นานาประเทศจึงเห็นใจและยินยอมทำสนธิสัญญา อันเป็นผลให้ปวงชนชาวสยามมีความเป็นเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งยืนยันเจตนารมณ์ของคณะราษฎรและรัฐบาลที่ยึดมั่น
ที่สำคัญคือ ปรีดี นำหลักธรรมมาบริหารราชการแผ่นดินและดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ โดยได้สรุปการปราศรัยครั้งนี้ด้วยพุทธภาษิตว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี หรือ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม[8]
กาลต่อมา ในข้อเขียนของปรีดี เรื่องสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเล่าถึงนโยบายที่เชื่อมโยงกับหลักเอกราชในทางศาลและทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม อาทิ การยกเลิกศาลต่างประเทศ และศาลกงสุลจนทำให้ศาลสยามมีอำนาจเต็มในการชำระคดีของคนต่างประเทศ และสามารถเก็บอัตราศุลกากรได้โดยไม่ถูกจำกัดเหมือนแต่ก่อน กระทั่งสามารถทำการผูกขาดวิสาหกิจ และการผลิตทุกชนิดรวมทั้งการทำซิกาแรต ซึ่งเดิมอยู่ในอำนาจผูกขาดของบริษัทอังกฤษอเมริกัน และยังมีสิทธิอธิปไตยสมบูรณ์เหนือเขตภายใน 25 กิโลเมตรจากฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งก่อนนี้ถูกจำกัดมิให้สยามเก็บศุลกากรในเขตนั้นได้
นอกจากนี้ ปรีดี ยังเคยเจรจาเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร ในระยะแรกไว้อีกด้วย
“ข้าพเจ้าได้เตรียมเจรจาเรื่องเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร เพราะตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศถือเอาสันปันน้ำเป็นเส้นปันเขตแดน แต่ตามสัญญากับฝรั่งเศสแต่ก่อนนั้น สยามจำต้องยอมตกลงยกเว้นหลักดังกล่าวไว้ คือ ให้ถือตามแผนที่ต่อท้ายสัญญา ซึ่งแสดงว่าเขาพระวิหารตกเป็นของฝรั่งเศส
ในการนี้ข้าพเจ้าเห็นว่า เราควรใช้วิธีเจรจาจะได้ผลดีกว่านำเรื่องสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะเหตุแผนที่ต่อท้ายสัญญาซึ่งฝ่ายผู้เจรจาสมัยก่อนและนายทหารที่ได้ทำการปักปันเส้นเขตแดน ได้ลงนามไว้มีสัตยาบันทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว…” [9]
เมื่อประมวลจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาทิ คำปราศรัย คำแถลง นโยบาย และข้อเขียนที่เกี่ยวเนื่องกับการต่างประเทศสยามของปรีดี พนมยงค์ อย่างรอบด้าน พบว่าหลักการสำคัญที่ทำให้การเจรจาเรื่องสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ สำเร็จลุล่วง คือ ปรีดีใช้หลักธรรม มีความประนีประนอม ความซื่อสัตย์ มีการรักษามิตรภาพ รวมทั้งชัดเจนในทางนโยบายและตรงไปตรงมาในการเจรจาผสมผสานกันอย่างน่าอัศจรรย์จึงทำให้ทั้ง 15 ประเทศลงนามสนธิสัญญาได้ในเวลาอันสั้น
วิเทโศบายที่ 2 เจรจาแปลงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงกับสหราชอาณาจักร
ช่วงกลาง พ.ศ. 2478 รัฐบาลของพระยาพหลฯ มอบหมายภารกิจให้ปรีดีเดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อเจรจาแปลงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลง เนื่องด้วยในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการกู้เงินจากธนาคารอังกฤษมาเพื่อใช้ก่อสร้างสาธารณูปโภคจนต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี โดยปรีดีสามารถเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเป็นร้อยละ 4 ต่อปีได้สำเร็จ[10] ทำให้สยามประหยัดดอกเบี้ยลงถึงปีละประมาณ 800,000 บาท
หากมีข้อสังเกตก่อนหน้าที่ปรีดีจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเจรจายกเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมและเจรจาแปลงดอกเบี้ยเงินกู้นั้น มีการขอลาการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตลอดสมัยและแจ้งเหตุผลเพียงว่าเดินทางไปราชการต่างประเทศจึงเกิดข่าวลือและกระทู้ถามเรื่องปรีดีไปต่างประเทศ เหตุเพราะว่ามีสถานะเป็นบุคคลสำคัญในคณะราษฎร ดังนั้น การจะเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานานโดยไม่ระบุภารกิจ ย่อมทำให้เกิดความสงสัยจนมีกระทู้ถามที่สรุปไว้ ดังนี้
- ข่าวลือเรื่องที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (บรรดาศักดิ์ของปรีดี พนมยงค์) จะไปต่างประเทศนั้นเป็นความจริงหรือไม่
- ถ้าเป็นจริง ไปส่วนตัว หรือในราชการ
- ระยะเวลาที่ไปเป็นจำนวนกี่เดือน
พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรว่า
- เป็นความจริง
- ไปราชการ
- มีกำหนดกลับภายใน 6 เดือน หรือแล้วแต่ภารกิจ
คำตอบของพระยาพหลฯ ก็ไม่ได้แจกแจงภารกิจของปรีดีในต่างประเทศเช่นเดียวกัน โดยแจ้งเพียงว่าเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ[11]
และอีก 5 เดือนถัดมา ก็มีการตราพระราชกำหนดแปลงเงินกู้รายดอกเบี้ยร้อยละหก พุทธศักราช 2478 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2478[12] และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแปลงเงินกู้รายดอกเบี้ยร้อยละ หก ซึ่งในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งข้อสังเกตไว้หลายประเด็น อาทิ ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้หนี้ให้หมดเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือเรื่องงบประมาณว่ารัฐบาลจะมีเงินเหลือพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลได้แจกแจงถึงความจำเป็นที่ต้องใช้เงินเพื่อการพัฒนาประเทศในวาระเร่งด่วน[13] เป็นต้น
ท้ายที่สุด เอกราชในความใฝ่ฝันของปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เห็นพ้องและสอดคล้องกันมาตั้งแต่ในหลัก 6 ประการ หากแตกต่างกันตรงที่เอกราชของปรีดี มี ราษฎร เป็นเอก สะท้อนได้ชัดเจนจากคำกล่าวนี้
“สังคมใดที่จำนวนพลเมืองส่วนข้างน้อย มีความไพบูลย์ด้วยการกดขี่เบียดเบียนพลเมืองส่วนมาก ที่ต้องตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัส พลเมืองส่วนมากที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศนั้น ก็ไม่มีสมรรถภาพพอที่จะเป็นพลัง ในการรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้ สังคมนั้นก็จะเสื่อมและสลายไป”[14]
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดแปลงเงินกู้รายดอกเบี้ยร้อยละหก พุทธศักราช 2478, วันที่ 12 มกราคม 2478, เล่มที่ 42 หน้า 1913-1916.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2478 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 11-48.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พุทธศักราช 2478 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 198-200.
หนังสือภาษาอังกฤษ :
- Santa Putra, Charivat, Thai Foreign Policy 1932-1946, (ฺBangkok: International Studies Center, 2020)
หนังสือภาษาไทย :
- เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก, (กรุงเทพฯ: สายธาร, 2552)
- ปรีดี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ แนะวิธีพิจารณาทางรอดของสังคมไทย, (กรุงเทพฯ: สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519)
- ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
- ปรีดี พนมยงค์, “วันปรีดี พนมยงค์” ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๔, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534)
- ปรีดี พนมยงค์, “สัมภาษณ์พิเศษอาจารย์ปรีดี พนมยงค์,” ใน รงค์ วงษ์สวรรค์, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ วานปีศาจตอบ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549)
- ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, เค้าโครงการเศรษฐกิจ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก, 2542)
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- พระกษิดิศ สุหชฺโช. (7 สิงหาคม 2563). การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต : จากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/371#_ref22
- ปรีดี พนมยงค์. (4 สิงหาคม 2564). นโยบายสันติภาพของรัฐบาล ซึ่งนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/08/781
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (3 มีนาคม 2563). ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (23 กันยายน 2563). ปัญหาเอกราชในทัศนะของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/430
[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (23 กันยายน 2563). ปัญหาเอกราชในทัศนะของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/430
[2] ปรีดี พนมยงค์, “สัมภาษณ์พิเศษอาจารย์ปรีดี พนมยงค์,” ใน ’รงค์ วงษ์สวรรค์, ’รงค์ วงษ์สวรรค์ วานปีศาจตอบ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2549)
[3] สถาบันปรีดี พนมยงค์. (3 มีนาคม 2563). ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/libraries/1583202126
[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (23 กันยายน 2563). ปัญหาเอกราชในทัศนะของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/430
[5] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, เค้าโครงการเศรษฐกิจ, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก, 2542), น. 38-40.
[6] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526), น. 105-122.
[7] รายชื่อ 15 ประเทศ ดังกล่าวได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินโด-ไชน่า เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี เบลเยี่ยม นอร์เวย์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ โปรดดูเพิ่มเติมใน Santaputra, Charivat, Thai Foreign Policy 1932-1946, (ฺBangkok: International Studies Center, 2020), p. 139.
[8] ปรีดี พนมยงค์, “วันปรีดี พนมยงค์” ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๓๔, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534), น. 26-31.
[9] ปรีดี พนมยงค์. “นโยบายสันติภาพของรัฐบาลซึ่งนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี” ใน, ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 47-56., พระกษิดิศ สุหชฺโช. (7 สิงหาคม 2563). การยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต: จากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถึงนายปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/08/371#_ref22
[10] ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526), น. 23.
[11] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พุทธศักราช 2478 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 198-200.
[12] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดแปลงเงินกู้รายดอกเบี้ยร้อยละหก พุทธศักราช 2478, วันที่ 12 มกราคม 2478, เล่มที่ 42 หน้า 1913-1916.
[13] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2478 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 11-48.
[14] ปรีดี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ แนะวิธีพิจารณาทางรอดของสังคมไทย, (กรุงเทพฯ: มูสถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519), น. 4.
- หลักเอกราช
- รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา
- หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
- เอกราชสมบูรณ์
- ปรีดี พนมยงค์
- คณะราษฎร
- วัลยา
- เอกราชในทางการเมือง
- เอกราชในทางศาล
- เอกราชในทางเศรษฐกิจ
- เค้าโครงการเศรษฐกิจ
- สมุดปกเหลือง
- สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- พูนศุข พนมยงค์
- เขาพระวิหาร
- เดือน บุนนาค
- พระกษิดิศ สุหชฺโช
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ