ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ความคิดว่าด้วย “บรรดาศักดิ์” กับ “การเลือกตั้ง” ของนายปรีดี ในระยะแรกของการเปลี่ยนระบอบ

30
ธันวาคม
2565

คำอธิบายโดยทั่วไปถึงความแตกต่างของรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ระหว่างฉบับที่หนึ่ง (24 มิถุนายน 2475) หรือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ชั่วคราว) พ.ศ. 2475 และฉบับที่สอง (10 ธันวาคม 2475) หรือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 มักจะชี้ให้เห็นถึงการประนีประนอมระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายตัวแทนของระบอบเก่า จนกระทั่งได้ข้อสรุปในเรื่องสำคัญคือ การยอมรับอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ และทรงใช้อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกหลายประการ เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 อาทิ คำปรารภรัฐธรรมนูญซึ่งในฉบับแรก เขียนไว้อย่างกระชับว่า

“โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม เพื่อบ้านเมืองจะเจริญขึ้น และโดยที่ได้ทรงยอมรับตามคำขอร้องของคณะราษฎร”[1]

คำปรารภเช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีการเพิ่มสถานะของพระมหากษัตริย์มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยทั้งย่อหน้าที่สองเป็นการให้พื้นที่ตัวอักษรกับพระนามเต็มของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อหน้าที่สามและย่อหน้าที่สี่ เป็นการบรรยายบริบทแวดล้อมเพื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ขณะที่ย่อหน้าที่ห้า บรรยายถึงพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี อาทิ

“...ทรงทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบ 150 ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว…” ซึ่งนำไปสู่ผลของการกระทำ คือ “จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการชั่วคราว”[2]

นอกจากคำปรารภแล้ว เนื้อหาสำคัญหลายส่วนได้มีการเพิ่มพระราชอำนาจให้แก่พระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎร และให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี รวมไปถึงกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น[3]

อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญที่มักถูกมองข้ามในการศึกษาประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ คือความสืบเนื่องของการเลือกตั้งที่หลังการเปลี่ยนระบอบจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้น หลักใหญ่ใจความของการเลือกตั้งยังคงอยู่ และสะท้อนถึงปณิธานของตัวแทนคณะราษฎรหนึ่งเดียวในคณะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ได้แก่ นายปรีดี พนมยงค์

โดยนอกจากการยอมรับสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนโดยไม่แบ่งแยกชายหรือหญิง ราษฎรที่บรรลุนิติภาวะจะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ อีกส่วนหนึ่งคือข้อกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ไม่ว่าจะทรงอิสริยยศโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

ต่อเรื่องนี้นายปรีดีได้แสดงความเห็นไว้ถึงการยกสถาบันกษัตริย์ให้อยู่เหนือการเมือง เพื่อรักษาไว้ซึ่งพระราชอำนาจภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ดังเราจะเห็นจากรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 1 ครั้งที่ 36/2475 ดังนี้

“ผู้เริ่มก่อการทั้งหมดเห็นว่า การที่ทำให้เกิดต่างชั้น คือ บรรดาศักดิ์ในครั้งรัฐบาลเก่า จำได้ว่า เมื่ออยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เคยปรึกษาระหว่างเพื่อนฝูงว่า ในชั้นต้นจะขอเวนคืนบรรดาศักดิ์ แต่เมื่อมาเสนอท่านประธานคณะกรรมการราษฎร ท่านว่า อย่าทำเลย จะกะทบถึงพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ สู้ค่อยทำค่อยไปโดยไม่ตั้งบรรดาศักดิ์ใหม่ดีกว่า และเพาะความนิยมว่า บรรดาศักดิ์ไม่วิเศษกว่าคนสามัญ ถือเสียว่า บรรดาศักดิ์เป็นคำนำนามชะนิดหนึ่ง ต่อจากนั้นมา ได้พยายามที่จะทำให้กิจการนี้สำเร็จ”

แม้ว่าสมาชิกสภาทั้งหมด จะเห็นชอบลงมติไม่ให้เจ้าเกี่ยวข้องกับการเมือง และให้ถือตามร่างที่คณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอมา แต่ระหว่างการอภิปรายก็มีผู้เห็นคัดค้าน อาทิ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระศรีวิสารวาจา เป็นต้น โดยในการอภิปรายครั้งหนึ่ง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา กล่าวว่า “...หลวงประดิษฐ์และคนอื่นๆ เคยพูดว่า เราเลิกเสียไม่ได้หรือ ใต้เท้าเวนคืนบรรดาศักดิ์ คนอื่นจะได้เอาอย่าง ถ้าเราทำเช่นนั้นเป็นการกักขลัก ได้ไม่เท่าเสีย นอกจากบังเกิดความรู้สึกแล้วท่านจะหาว่าหยิ่งก็ได้…”

ส่วนพระยาศรีวิสารวาจาก็ได้กล่าวต่อไปว่า “...การที่เจ้าอยู่เหนือการเมือง ก็เพราะเป็นญาติของกษัตริย์ อยู่ในฐานะเคารพ ส่วนข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ไม่เป็นญาติของกษัตริย์เหมือนเจ้า”[4]

จะเห็นว่าแม้นายปรีดีจะมีความประสงค์ให้เลิกร้างบรรดาศักดิ์อันเป็นลักษณะเดิมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างบุคคลตามระบอบประชาธิปไตย แต่นายปรีดีก็ได้ยินยอมตามที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเสนอคือ ไม่ยกเลิกบรรดาศักดิ์โดยทันที ดังปรากฏในมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 กำหนดว่า

“ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้บุคคลยอมเสมอกันในกฎหมายฐานันดรศักดิ์โดยกําเนิดก็ดีโดยแต่งตั้งก็ดีหรือโดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทําใหเกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย”

ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเลือกตั้งยังดำรงอยู่ตามปณิธานตั้งต้นของคณะราษฎร อาทิ กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีสมาชิก 2 ประเภท ประกอบด้วย สมาชิกประเภทที่หนึ่ง มาจากการเลือกตั้ง 2 ชั้น โดยราษฎรชายและหญิงที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ และมีสัญชาติไทยตามกฎหมาย และภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2475 โดยจัดการเลือกผู้แทนตำบล แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกชั้นหนึ่ง

ในส่วน สมาชิกประเภทที่สอง ได้รับแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี และจะยกเลิกโดยกำหนดระยะเวลาไว้ว่า หากมีจำนวนราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรจบการศึกษาขั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หรือในระยะเวลา 10 ปี

แต่ถึงที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ถูกใช้อย่างยาวนานจนกระทั่งปี 2489 โดยถูกแก้ไขในหมวดว่าด้วยการเลือกตั้งอยู่บ้าง แต่ก็ดำเนินไปตามแผนการให้การศึกษาแก่ราษฎรของคณะราษฎร สิ่งที่น่าเสียดายคือ ในแง่บริบททางการเมืองสังคมไทยในเวลานั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการทางการเมืองใหม่ในเวลานั้น จำเป็นต้องถูกแช่แข็งอีกหลายปี

 


[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิช และขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมืองการปกครองไทย (พ.ศ. 2417-2477). กรุงเทพฯ : สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2532, หน้า 223.

[2] ผู้อ่านสามารถดูการเปลี่ยนแปลงของคำปรารภในฉบับต่างๆ ได้ที่ ย้อนดู “คำปรารภ” รัฐธรรมนูญไทย บอกเล่าอะไรบ้าง?

[3] วิภาลัย ธีรชัย, การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญไทยฉบับต่างๆ.วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2522, หน้า 131-132.

[4] ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล, ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ: สถาบันสันติประชาธรรม, 2531, หน้า 192.