ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ย้อนดู “คำปรารภ” รัฐธรรมนูญไทย บอกเล่าอะไรบ้าง?

11
ธันวาคม
2564

รัฐธรรมนูญหลายประเทศ มักใช้พื้นที่ของ “คำปรารภ” อันเป็นข้อความที่ปรากฏเป็นส่วนแรกของรัฐธรรมนูญ ในการบอกเล่าถึงอุดมการณ์ร่วมกันของชาติ อุดมการณ์ของประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ที่ระบุถึงหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ อันเป็นหลักการสำคัญของฝรั่งเศส ขณะที่คำปรารภของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยประชาชน ด้านคำปรารภของ รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ บอกเล่าถึงความภาคภูมิใจของชาวเกาหลีในประวัติศาสตร์ของชาติ อิสรภาพจากการปกครองญี่ปุ่น ภารกิจในการปฏิรูปประชาธิปไตย และมีความมุ่งมั่นที่จะรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เสริมสร้างระเบียบขั้นพื้นฐานด้านเสรีประชาธิปไตยบนพื้นฐานของความเป็นอิสระและความปรองดองเพื่อมอบโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ขณะที่คำปรารภรัฐธรรมนูญเยอรมนี ระบุว่าชนชาวเยอรมันทั้งมวลร่วมแรงร่วมใจเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งเอกภาพและเสรีภาพของเยอรมัน โดยการตัดสินใจของตนเองอย่างเสรี

อย่างไรก็ดี บริบททางสังคมของประเทศไทยและความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตยแตกต่างจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็นำไปสู่การประกาศ รัฐธรรมนูญชั่วคราว และค่อยจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในภายหลัง ส่งผลให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากถึง 20 ฉบับ ซึ่งแต่ละฉบับก็มีที่มาแตกต่างกัน ชวนย้อนดูคำปรารภในรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน ว่าคำปรารภรัฐธรรมนูญเหล่านั้น บอกเล่าเรื่องอะไรบ้าง และ “ประชาชน” มีพื้นที่มากแค่ไหนในคำปรารภรัฐธรรมนูญ 

 

 

บอกเล่าการจำกัดอำนาจกษัตริย์ผ่าน “ปฐมรัฐธรรมนูญ” และการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎร-กษัตริย์ ผ่านรัฐธรรมนูญ 10 ธันวา

จากสภาวะที่สยามประเทศยังไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีทีท่าว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะยินยอมให้มีองค์กรนิติบัญญัติหรือองค์กรบริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร อันประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลจากข้าราชการทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการพลเรือน ได้นำกำลังทหารมายังลานพระบรมรูปทรงม้า และอ่านประกาศคณะราษฎรเนื้อหาของประกาศดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสังคมภายใต้การปกครองของรัชกาลที่ 7 อันเป็นสาเหตุที่คณะราษฎรต้องยึดอำนาจ เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ จากความตอนหนึ่งที่ว่า  “…ความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากินซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว…” และ “…บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง…” ปัญหาการทุจริต จากถ้อยความว่า “…ปล่อยใหข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ”

ใจความสำคัญที่สุดของประกาศดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในส่วนต้นซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาของประเทศ แต่อยู่ในตอนกลางของประกาศคณะราษฎร ซึ่งระบุถึงความมุ่งหมายของคณะราษฎรว่า “ได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้แล้ว” และเห็นว่า “จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ หลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว” ในส่วนของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ จะต้องอยู่ใต้ “กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ในประกาศของคณะราษฎรได้ยื่น “ข้อเสนอ” ไปยังพระมหากษัตริย์ว่า หากปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ ก็จะต้องปกครองอย่างประชาธิปไตย ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นสาธารณรัฐ (Republic) อย่างเช่น ประเทศฝรั่งเศส

คณะราษฎร ได้ตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารที่มีนายทหารระดับนายพันเอกสามคน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ โดยมีพระยาพหลพลหยุหเสนาเป็นหัวหน้า คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารออกหนังสือและส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร โดยระบุว่า คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติ จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับพระนคร เพื่อเป็นกษัตริย์โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินต่อไป

25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับพระนคร

วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าและพระองค์ทรงลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475 กำหนดให้การกระทำของคณะราษฎร มิให้ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ความตอนหนึ่งของพระราชกำหนดดังกล่าว ระบุว่า “...ทั้งนี้แม้ว่าการจะได้เป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยของพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดใจสมาชิกในรัฐบาลเดิมบางคนก็ดี ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นในทุกประเทศ...” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของฝ่ายเจ้าและบุคคลในระบอบเดิมที่มีต่อคณะราษฎร

27 มิถุนายน 2475 ประกาศใช้ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามประเทศ ซึ่งร่างโดย ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรบางส่วน หากพิจารณาเนื้อหาจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มุ่งประสงค์จะใช้เป็นการ “ชั่วคราว” เพราะมีการแบ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเป็นสามสมัย ซึ่งจะมีที่มาแตกต่างกันตามระยะเวลาของสมัยนั้นๆ และเมื่อประชาชนสอบไล่ชั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่ง แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี ก็จะมีแค่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของราษฎรทั้งหมด อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ท้ายชื่อกฎหมาย และมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่า ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับนี้เป็นการชั่วคราว

คำปรารภ รัฐธรรมนูญฉบับแรก มีเพียงเจ็ดบรรทัดเท่านั้น โดยสาระสำคัญคือ “คณะราษฎร” ขอร้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และทรงยอมรับตามคำขอของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรารัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้น

10 ธันวาคม 2475 ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สองของประเทศ โดยความตอนหนึ่งของคำปรารถรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้บอกเล่าถึงที่มาของรัฐธรรมนูญว่า “...สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบการร่างรัฐธรรมนูญนั้น บัดนี้ อนุกรรมการได้เรียบเรียงรัฐธรรมนูญฉบับถาวรสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วยดีนำเสนอสภาผู้แทนราษฎร...” ซึ่งอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประกอบไปด้วยบุคคลจากฝ่ายคณะราษฎร อันได้แก่ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ ปรีดี พนมยงค์ เป็นเลขานุการ

ขณะที่อนุกรรมการหลายคนมาจากฝ่ายเจ้า ได้แก่ พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาล พระยาปรีดานฤเบศร์ พระยาศรีวิสารวาจา และมีอนุกรรมการอีกสองคน คือ พระยาราชวังสัน หลวงสินาดโยธารักษ์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเป็นผลผลิตของความพยายามในการประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรและฝ่ายเจ้า และในคำแถลงของประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ก็ระบุว่า อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา อาจจะกล่าวได้ว่า ได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมา

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง จะเห็นได้ว่า สถานะของพระมหากษัตริย์ถูกยกระดับขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยย่อหน้าที่สองทั้งย่อหน้าเป็นการให้พื้นที่ตัวอักษรกับพระนามเต็มของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อหน้าที่สามและย่อหน้าที่สี่ เป็นการบรรยายบริบทแวดล้อมเพื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ขณะที่ย่อหน้าที่ห้า บรรยายถึงพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี “...ทรงทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบ 150 ปีบริบูรณ์ ประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว…” ซึ่งนำไปสู่ผลของการกระทำ คือ “จึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการชั่วคราว”

ภาพของพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในคำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ พระมหากษัตริย์ได้ “พระราชทาน” รัฐธรรมนูญลงมา ขณะที่ภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 กลับไม่ถูกกล่าวถึงเลยแม้แต่น้อย และในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ได้ “จำกัด” อำนาจของพระมหากษัตริย์เท่ารัฐธรรมนูญฉบับแรก สภาผู้แทนไม่มีสิทธิวินิจฉัยการกระทำของพระมหากษัตริย์ เหมือนในมาตรา 6 รัฐธรรมนูญฉบับแรก และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็รับรองสถานะกษัตริย์ไว้ เช่น องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับแรก รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการช่วงชิงอำนาจนำจากคณะราษฎร กลับไปเป็นของฝ่ายเจ้า

บอกเล่าการยึดอำนาจ สร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร โจมตีฝ่ายตรงข้ามผ่านคำปรารภรัฐธรรมนูญ

ภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับที่สามใช้บังคับได้ราวหนึ่งเดือน 9 มิถุนายน 2489 รัชกาลที่ 8 ก็สวรรคตโดยเหตุต้องพระแสงปืน เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทย ต่อมา 8 พฤศจิกายน 2490 นายทหารกลุ่มหนึ่งนำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ นำกำลังเข้ารัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล และตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย หลังจากนั้นหนึ่งวัน ก็มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สี่ โดยคำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงสี่ย่อหน้า เล่าถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่ตกต่ำ สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง โจมตีฟากรัฐบาลว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ตรงกันข้าม การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยิ่งทำให้ประเทศแย่ลงเรื่อยๆ ดังนั้น ราษฎรไทยส่วนมากพร้อมด้วย “ทหารของชาติ” พร้อมใจกันนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โครงสร้างการเขียนคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ภาพรวมแบ่งออกเป็นสองส่วน หนึ่ง โจมตีฝ่ายที่ตนยึดอำนาจมาเพื่อทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่าย สอง สร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง โดยอ้าง “ราษฎรไทยส่วนมาก” ทั้งที่ก่อนทำรัฐประหาร ก็วางแผนกันเงียบๆ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ไม่ได้มีการถามประชาชนเป็นวงกว้าง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มาจากการรัฐประหารโดยทหาร อีกทั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจนำที่ฝั่งทหารช่วงชิงไป จากเดิมที่อำนาจนำอยู่ภายใต้การช่วงชิงระหว่างคณะราษฎร-ฝ่ายเจ้า

ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เจ็ด คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ยาวมาก แต่บอกที่มาของรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมาว่า หัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งก็คือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินสำเร็จเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 (โดยคำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3) ก็เพราะปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมและให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อยยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น

อย่างไรก็ดี ก่อนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อ 28 มกราคม 2502 ประเทศไทยก็อยู่ภายใต้การปกครองของประกาศคณะปฏิวัติมาตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2501 เป็นเวลาราวสามเดือนที่ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญใช้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

หลังจากมีรัฐธรรมนูญถาวรอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งใช้บังคับต่อจากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 แล้ว ประเทศไทยก็เข้าสู่วังวนการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับที่เก้า ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 บอกเล่าถึงที่มาของตัวเองว่า คณะปฏิวัติ ซึ่งมี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 และหัวหน้าคณะปฏิวัติได้นำความกราบบังคมทูลว่า การที่คณะปฏิวัติได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 เพราะปรารถนาจะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน ให้สงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขโดยรวดเร็ว และกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจ และจิตใจของประชาชน แต่การแก้ไขสถานการณ์ให้สงบเรียบร้อยเป็นปกติสุข รวมทั้งการกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมจะต้องใช้เวลาตามความจำเป็นแก่เหตุการณ์ และในระหว่างดำเนินการดังกล่าว สมควรให้มีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรที่เหมาะสมกับสถานการณ์และการป้องกันประเทศใช้ไปพลางก่อน

ทั้งนี้ การทำให้ “สถานการณ์สงบเรียบร้อยเป็นปกติสุข” ของคณะรัฐประหารนั้น ก็ปรากฏให้เห็นจากอำนาจเบ็ดเสร็จในมาตรา 17 ซึ่งกำหนดว่าระหว่างที่ใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ หากนายกฯ เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ให้นายกฯ โดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย

ภายหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นผลมาจากการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516 เพียงสองปี ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารอีกครั้ง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต่อมา 22 ตุลาคม 2519 ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 นับเป็น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบุว่า หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่) ได้นำความกราบบังคมทูลว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้กระทำการอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ และในที่สุดได้เกิดการจลาจลวุ่นวายอย่างร้ายแรงขึ้นในบ้านเมือง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งจะนำภัยพิบัติและความพินาศมาสู่ชาติบ้านเมืองในที่สุดคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จึงได้เข้ายึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จะเห็นได้ว่า คำปรารภของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายคณะรัฐประหารพยายามจะสร้างความชอบธรรมให้ตนเองว่าการกระทำของกลุ่มบุคคลหนึ่งนั้นเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงระดับประเทศ จึงสมควรที่จะต้องเข้ามาปฏิรูปแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็เป็นการผลักผู้ที่คิดไม่เหมือนตนไปเป็นศัตรู เป็นบ่อนทำลายชาติ และกล่าวถึงเหตุ “จลาจล” โดยไม่แจกแจงรายละเอียด ไม่บอกเล่าถึงการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐที่ตอบโต้ประชาชนซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยของความวุ่นวายในสังคม

ราวหนึ่งปี พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ ทำการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2520 คำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งฉบับที่บรรยายเนื้อหาเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร “...เนื่องด้วยมีความปรารถนาจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม ความสามัคคีของชนในชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความสงบสุขของประชาชน ตลอดจนสร้างเสริมความสัมพันธ์กับนานาประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งภายในภายนอกราชอาณาจักรในการบริหารประเทศต่อไป...” นับว่าเป็นการอ้างเหตุผลแบบใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง แต่เป็นเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งสัมพันธ์กับปากท้องของประชาชน

รัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ที่มาจากการรัฐประหาร ล้วนแต่ใช้พื้นที่ในคำปรารภสร้างความชอบธรรมให้กับคณะรัฐประหาร ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 ระบุว่า การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 การที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 เพราะปรารถนาให้มีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยราบรื่น ประกอบกับมีความมุ่งหมายที่จะขจัดภยันตรายที่มีต่อประเทศชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หมดสิ้นและบังเกิดความสงบเรียบร้อยโดยรวดเร็ว  รวมทั้งกำหนดกลไกการปกครองที่จะเอื้ออำนวยให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของชนในชาติ อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับไม่ถึงหนึ่งปีเต็ม ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

คำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เล่าถึงสาเหตุการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง ไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ อันเป็นวิกฤติการณ์ร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายจนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอันเป็นวิกฤติการณ์รุนแรงทางสังคม

คำปรารภ ยังระบุถึงเหตุผลว่า จำเป็นต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์เพื่อใช้ไปพลางก่อน โดยคำนึงถึงหลักนิติธรรมตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเห็นได้ว่า คำปรารภฉบับนี้ไม่ได้เน้นถึงประชาธิปไตยแบบประเทศอื่นๆ เพราะการรัฐประหารเข้ามา ทำให้กลไกผู้แทนประชาชนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบสากล แต่คำปรารภกำลังกล่าวถึง “ประเพณีการปกครองของประเทศไทย” โดยเฉพาะ หลักนิติธรรมและประชาธิปไตยตามคำปรารภนี้ จึงอาจไม่ใช่นิยามเดียวกับประเทศอื่นๆ

ขณะที่ในคำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารฉบับล่าสุด ได้บรรยายถึงปัญหาบ้านเมืองไทยที่ “เป็นวังวนแห่งปัญหาไม่รู้จักจบสิ้น” กระทบต่อการทำมาหากินและภาวะหนี้สินของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การป้องกันปัญหาจากภัยธรรมชาติ ความเชื่อถือในอำนาจรัฐ และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งเปิดช่องให้มีการก่ออาชญากรรมและความไม่สงบอื่นเพิ่มขึ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จากคำปรารภดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของคำปรารภพยายามยกผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาในบ้านเมืองขึ้นอ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรมในการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่การรัฐประหารครั้งนั้น กลับเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบหลายอย่างตามมา ทั้งความไม่เชื่อถือในอำนาจรัฐเพราะการใช้อำนาจตามมาตรา 44

บอกเล่าที่มา กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ และ “ความมุ่งหวัง” ที่ผู้ร่างประสงค์ให้มีในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง มีผลใช้บังคับราว 14 ปี ก็มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2589 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่สาม โดยคำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับที่สองอย่างสิ้นเชิง คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นเรียบง่าย กล่าวถึงพระมหากษัตริย์เฉพาะในบริบทที่เกี่ยวข้องอย่างสั้นๆ ไม่ได้ใช้พื้นที่ของคำปรารภบรรยายถึงพระมหากษัตริย์มากนัก เริ่มต้นโดยกล่าวถึงรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 และเล่าถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 แบบคร่าวๆ

คำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับที่สาม เล่าต่อถึงที่มาของตัวรัฐธรรมนูญ มีสาระสำคัญว่า ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น เปรยกับ ควง อภัยวงศ์ นายกฯ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่สอง ใช้มานานพอสมควร แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สมควรที่จะยกเลิกบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล ที่แบ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ออกเป็นสองประเภท คือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎร และ ส.ส. ที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และเห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง ทำงานตั้งแต่สมัยของรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ คณะนายทวี บุณยเกตุ และคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

ต่อมารัฐบาลคณะหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่งแล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากนั้นเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติรับหลักการ จึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

คำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของคณะราษฎร โดยเฉพาะปรีดี พนมยงค์ ที่ยังคงมีอำนาจนำในสังคม ขณะที่บทบาทของพระมหากษัตริย์ผ่านคำปรารภรัฐธรรมนูญลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง โดยสาเหตุส่วนหนึ่ง อาจสืบเนื่องมาจากการปราชัยของ “กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าและผู้สนับสนุนพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และการสละราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ 7 ส่งผลให้พระโอรสองค์ใหญ่จากสายสกุล “มหิดล” ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 โดยที่ยังไม่มีโอกาสได้สะสมฐานทางอำนาจมาก่อน

ภายหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่สาม เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร และประกาศใช้รัฐธรรมนูญนับเป็นฉบับที่สี่ เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 ใช้เวลาปีกว่าก็จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ประกาศใช้เป็น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ห้า

คำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เล่าถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย สสร. ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน ซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คน จากสมาชิกสภาผู้แทน 10 คน และจากบุคคลภายนอกผู้มีคุณสมบัติต่างกันสี่ประเภท ประเภทละห้าคน รวมเป็น 20 คน สสร. ได้ดำเนินการพิจารณาปรึกษาวางหลักการสำคัญที่ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐเพื่อรักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องกันโดยสม่ำเสมอในการบริหารราชการ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาบางประการ ขยายอำนาจรัฐสภาในอันที่จะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับปรุงวิธีการเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ได้ฟังความคิดเห็นของกันและกันได้ แก้ไขอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความไว้วางใจฝ่ายบริหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

สสร. ได้เลือกสมาชิกของรัฐสภาเก้าคนตั้งเป็นกรรมาธิการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วนำเสนอต่อรัฐสภา และเลือกสมาชิกอีกเก้าคนตั้งเป็นกรรมาธิการมีหน้าที่พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการได้ยกร่างขึ้นตามหลักการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้วางไว้ และได้ตรวจพิจารณาบทรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับพุทธศักราช 2475 ลงมา บทบัญญัติใดที่ยังใช้ได้ ก็นำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ แต่ก็มีบางอย่างที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ กรรมาธิการได้ค้นคว้าพิจารณารัฐธรรมนูญของนานาประเทศประกอบด้วย เมื่อได้ยกร่างขึ้นแล้ว กรรมาธิการได้เสนอร่างนั้นต่อ สสร. และ สสร. ได้พิจารณาตรวจแก้ร่างที่กรรมาธิการนำเสนอโดยถี่ถ้วน และมีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 25 ธันวาคม พุทธศักราช 2491 จากนั้นจึงได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังรัฐสภา รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แปด เป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญของฝ่ายคณะรัฐประหาร คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2502 โดยในคำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับที่แปด อธิบายจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญไทย จากรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และบรรยายมาจนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 หัวหน้าคณะปฏิวัติได้นำความกราบบังคมทูลว่า สมควรจัดให้มี สสร. และมีธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรเพื่อใช้ไปพลางก่อน โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะได้จัดร่างขึ้น

ด้าน สสร. ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดยละเอียดถี่ถ้วน ตั้งคณะกรรมาธิการฟังความคิดเห็นประชาชน มีหน้าที่รวบรวมพิจารณาความคิดเห็นของประชาชน คณะกรรมาธิการระเบียบวาระ มีหน้าที่ค้นคว้าและรวบรวมหลักสาระสำคัญอันควรพิจารณา และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญตามมติของ สสร. โดยในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ สสร. และคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดูตัวบทรัฐธรรมนูญในประเทศไทยและของนานาประเทศประกอบ แต่ความมุ่งหมายโดยเฉพาะ ก็คือ จะบัญญัติรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศชาติ

สสร. ลงมติกำหนดหลักสาระสำคัญว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐสภามีสองสภา สภาหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้ง อีกสภาหนึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง รัฐสภามีอำนาจในทางนิติบัญญัติและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้ด้วยวิธีการตั้งกระทู้ถามรัฐบาล เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ และเพื่อให้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารจะแยกจากกันให้มากยิ่งขึ้น จึงลงมติกำหนดว่า นายกฯ หรือรัฐมนตรีอื่นซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะเป็นสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญตามหลักสาระสำคัญซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ลงมติไว้ และเสนอเพื่อให้ สสร. พิจารณา หลังจาก สสร. ในฐานะรัฐสภา ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ลงมติให้นำร่างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้ต่อไป

คำปรารภของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ต่างก็บอกเล่ากระบวนการที่มาของรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 พิเศษกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ เพราะปรากฏถ้อยคำที่ผนวกระบอบการปกครองประชาธิปไตย เข้ากับการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ กลายเป็น “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อีกทั้งในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังกำหนดว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าไม่ได้เชื่อมระบอบการปกครองเข้ากับพระมหากษัตริย์ไว้ด้วยกัน ในภายหลังถ้อยคำดังกล่าวนี้ได้ถูกนำมาบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา

ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 บรรยายที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างรวบรัด และในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้กล่าวถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งถ้อยคำในทำนองเดียวกันนี้ ว่างเว้นจากในคำปรารภรัฐธรรมนูญหลายฉบับนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492

ส่วนในคำปรารภรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เล่าถึงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญว่า สสร. ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบแก่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ การออกเสียงลงประชามติปรากฏผลว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้บังคับ นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่คำปรารภพูดถึงการทำประชามติ

ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีเนื้อหาของคำปรารภค่อนข้างยาว โดยย่อหน้าที่สามสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยยกสิ่งที่ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การจัดโครงสร้างของหน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุจริต เที่ยงธรรมและ “มีส่วนในการป้องกันหรือแก้ไขวิกฤติของประเทศ” ตามความจำเป็นและความเหมาะสม การรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น การวางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาด คำปรารภในส่วนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำให้ศาล ซึ่งมีลักษณะเป็น “คนกลาง” เข้ามามีบทบาทป้องกันหรือแก้ไขวิกฤติประเทศ

บอกเล่าการต่อสู้ของประชาชน ในการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516

คำปรารภของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่การถึงการชุมนุมของประชาชนไว้ในคำปรารภรัฐธรรมนูญ  “...เมื่อกาลเวลาล่วงมาประชาชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น มีความรู้และความคิดอ่านทางการเมืองดีขึ้น จึงมีความตื่นตัวและปรารถนาที่จะมีส่วนมีเสียงในการปกครองประเทศด้วยตนเองขึ้นเป็นลำดับ ทั้งประชาชนก็มีความไม่พึงพอใจในการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ด้วย จึงในวันที่ 13 และ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2516 ได้มีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน และหนังสือพิมพ์ได้มีส่วนสำคัญในการแสดงประชามติอันแรงกล้าในเรื่องนี้ และในการแสดงประชามติครั้งนั้นได้มีผู้คนเสียชีวิตและเลือดเนื้อไปเป็นจำนวนมิใช่น้อย และนับว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญ อันเป็นผลทำให้คณะรัฐบาลในยุคนั้นจำต้องกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง และมีการแต่งตั้งคณะรัฐบาลใหม่ขึ้นแทน...”

ในคำปรารภยังระบุถึงการกระทำที่สอดรับกับการแสดงออกของประชาชนว่า ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ องค์กรของรัฐทั้งหลายต่างก็ “...ได้สดับตรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตลอดมา เพื่อที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์สมดั่งความปรารถนาของประชาชน...”

บอกเล่าความพยายาม “ลบ” ประวัติศาสตร์ 24 มิถุนา สถาปนารัฐธรรมนูญ 10 ธันวา เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก

หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ห้าใช้ไปได้ไม่นานนัก 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐประหารตัวเอง ต่อมา 6 ธันวาคม 2494 ก็มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ไม่กี่เดือนต่อมา 8 มีนาคม 2495 ก็ประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่หก

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบอกเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับที่สองมาใช้เป็นหลัก แต่ด้วยสถานการณ์ไม่เหมาะสม สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ จนได้มาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ดี คำปรารภที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการระบุรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง คือรัฐธรรมนูญฉบับแรก และพยายามข้ามเหตุการณ์ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 โดยจะเห็นได้จากประโยคที่ว่า “...พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้วนั้น...”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่แปด ก็เป็นรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งฉบับที่พยายามสถาปนารัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก อีกยังเน้นย้ำว่าการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เป็นการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยไม่กล่าวถึงการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จะเห็นได้จากประโยคว่า “...พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 นั้น เป็นการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข...”

การบรรยายในคำปรารภที่เน้นย้ำถึงการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 10 ธันวาคม 2475 ว่าเป็นการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยไม่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่รัฐธรรมนูญสองฉบับนี้เท่านั้น แต่ยังปรากฏในคำปรารภ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10

 

ที่มา : iLaw. 89 ปีอภิวัฒน์สยาม : ย้อนดู “คำปรารภ” รัฐธรรมนูญไทย บอกเล่าอะไรบ้าง?. (2564) https://www.ilaw.or.th/node/5895

หมายเหตุ:

  • บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียนแล้ว
  • จัดรูปแบบตัวอักษรโดยบรรณาธิการ