ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

“การเลือกตั้ง” ในประเทศไทย : เราเคยใช้อะไรแบบไหนมาบ้าง?

7
เมษายน
2566

“โดยที่มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสี่ร้อยคน ก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น”

หมายเหตุท้ายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ที่ยกเลิกระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม กลับไปใช้ระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2540 อีกครั้งหนึ่ง

 

การเลือกตั้งถือเป็นสิทธิทางการเมืองขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 21 (3)[1] เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นวิธีการอันตรงไปตรงมาที่สุดที่ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจะได้แปลงเจตจำนงของตนให้เป็นอำนาจทางการเมือง ผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนคือผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจะเป็นสมาชิกรัฐสภา (ส.ส. หรือ ส.ว.) หรือเป็นประธานาธิบดีที่ตนเองเห็นชอบจะให้ไปใช้อำนาจทางการเมืองแทนตน ดังนั้น การเลือกตั้งที่ดีที่สุดหรือเป็นการเลือกตั้งในอุดมคติ จึงต้องเป็นการแปรความนิยมของประชาชนให้ออกมาเป็นคะแนนเสียงที่ชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้อย่างใกล้เคียงกับความประสงค์และการตัดสินใจเลือกของประชาชนให้มากที่สุด

สำหรับประเทศไทยซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบรัฐสภา โดยหลักการแล้วจะมีการ “เลือกตั้งใหญ่” คือการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดทิศทางหรือการตัดสินใจในทางการเมืองระดับชาติ ได้เพียงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาซึ่งคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจะไปเลือกและให้ความเห็นชอบหัวหน้าฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลนั้นก็จะต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร หมายถึงต้องให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบการทำงานผ่านการตั้งกระทู้ถาม อภิปรายไม่ไว้วางใจ และอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญบางฉบับอาจกำหนดให้ประชาชนสามารถเลือกสมาชิกวุฒิสภาด้วยก็ได้

ประเทศไทยเคยใช้วิธีการเลือกตั้งมาแล้วหลายระบบหลายรูปแบบ ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน บางครั้งการเปลี่ยนระบบหรือรูปแบบวิธีการเลือกตั้งเป็นไปก็เพื่อให้การเลือกตั้งนั้น สามารถสะท้อนความนิยมของประชาชนให้ออกเป็นคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่จะแปรเป็นจำนวนที่นั่งของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างใกล้เคียงที่สุด

บางครั้งการเปลี่ยนระบบหรือรูปแบบวิธีการเลือกตั้งก็เป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาบางอย่างที่เคยเกิดขึ้น เช่น การซื้อสิทธิขายเสียงหรือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง หรือมีแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบวิธีการเลือกตั้งเพียงเพื่อชิงความได้เปรียบในทางการเมืองหรือเพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ อีกทั้งยังเป็นไปได้ว่าวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบวิธีการเลือกตั้งอาจจะเกิดจากหลายวัตถุประสงค์ผสมกันที่ยากต่อการชี้ชัดก็ได้

หลังจากที่ได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ประกาศแล้วว่า การเลือกตั้งดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 14 พฤษภาคม 2566 (55 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 27 ของประเทศไทย[2] ซึ่งเชื่อกันว่า จะเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

จึงอยากชวนกันมาสำรวจรูปแบบและวิธีการเลือกตั้งที่เคยมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกจนถึงการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้

 

เลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกของประเทศไทย และ (เกือบ) จะได้มีระบบเลือกตั้งสองรอบ

 

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

 

ปฐมรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีเจตจำนงไว้ว่าจะให้มีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมก่อนในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ผู้แทนราษฎรจะมาจากการแต่งตั้งโดยคณะราษฎร (โดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทน) ระยะที่สอง หลังจากนั้น 6 เดือน จะเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมร่วมกับผู้แทนราษฎรที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่เดิม และระยะสุดท้าย หลังจากนั้นเมื่อประชาชนมีการศึกษา (สอบไล่วิชาประถมศึกษาได้) เป็นจำนวนเกินกว่าครึ่ง หรือภายในไม่เกินสิบปีนับจากการอยู่ในระบอบใหม่ ก็จะมีเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งทางอ้อมทั้งหมด ซึ่งเป็นความคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) โดยปรากฏเจตนารมณ์เมื่อครั้งที่ท่านแถลงในที่ประชุมร่วมของผู้นำคณะราษฎรกับเสนาบดีและปลัดทูลฉลองของทุกกระทรวง หลังจากการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง มีความว่า

 

“สภาผู้แทนราษฎรนั้นตามปกติควรจะได้รับการเลือกตั้งตามความเห็นของราษฎร แต่จะกระทำโดยเร็ววันอย่างมิทัน จึงได้คิดไว้ว่าในชั้นต้นจะมีบุคคลที่ได้ร่วมคิดการครั้งนี้เป็นสมาชิกชั่วคราว อย่างไรก็ดี คณะก็ยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่เป็นส่วนมาก จึงปรึกษากันที่จะอัญเชิญผู้ใหญ่ในทางราชการและผู้ที่ประกอบอาชีพในทางอื่น เป็นสมาชิกร่วมในสภาด้วย

ต่อไปในสมัยที่สอง คือเมื่อบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็จะให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนของตนมาเป็นสมาชิกในสภา และคณะราษฎรจะได้ตั้งผู้แทนเข้าไปเป็นจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ก็เพื่อจะระวังให้นโยบายของรัฐบาลได้ดำเนิร[3] ไปเพื่อราษฎร

และในสมัยที่สาม คือมีราษฎรได้รับการศึกษาซึ่งจะได้กำหนดตามหลักสูตรใหม่มีจำนวนมากเกินกว่าครึ่งของจำนวนพลเมือง และก็ไม่เกินกว่า 10 ปี ราษฎรก็จะได้เลือกตั้งผู้แทนของตนฝ่ายเดียวเท่านั้นไม่ต้องมีผู้แทนคณะราษฎรกำกับ”[4]

 

การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับอภิวัฒน์นั้น ที่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่สอง ซึ่งจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกเข้ามาร่วมกับสมาชิกสภาชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะราษฎรนั้น เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมสองชั้นโดยจะให้ราษฎรในหมู่บ้านเลือกผู้แทนหมู่บ้านเพื่อออกเสียงตั้งผู้แทนตำบล และผู้แทนหมู่บ้านเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่ 3 จะให้เป็นไปตามกฎหมายซึ่งจะบัญญัติในภายหลัง โดยจะดำเนินวิธีการที่ให้สมาชิกได้เลือกตั้งผู้แทนในสภาโดยตรง

มีข้อสังเกตว่า แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกของคณะราษฎรจะกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตลอดจนคณะผู้เลือกตั้งไว้เป็นพิเศษ นอกจากการมีคุณสมบัติพื้นฐานเหมือนกับผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ที่กำหนดไว้เพียงว่าต้องมีสัญชาติไทย, มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์, ไม่เป็นคนไร้ความสามารถตามกฎหมาย และไม่เคยถูกศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาก่อนแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ตลอดจนผู้แทนตำบลและผู้แทนหมู่บ้าน ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่า ทุกคนต้องสอบผ่าน “วิชชาการเมือง” ตามหลักสูตรที่จัดทำโดยสภา

ในกรณีของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญยังบังคับให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาสมัยที่ 1 ด้วยว่าต้อง “เป็นผู้ที่ไม่ควรสงสัยว่าจะนํามาซึ่งความไม่เรียบร้อย” ซึ่งสะท้อนความพยายามของคณะราษฎรที่จะกํากับดูแลการเลือกตั้งในช่วงแรก โดยมีระบบคัดกรองบุคคลผู้มีจุดยืนทางการเมืองที่ไม่พึงประสงค์เป็นปฏิปักษ์ต่อการอภิวัฒน์ ที่อาจชนะการเลือกตั้งและเข้ามามีบทบาทในสถาบันการเมืองที่ถือเป็นเสาหลักของระบอบใหม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญดังกล่าวก็มีความเปิดกว้างที่สุดในแง่ของผู้มีสิทธิออกเสียง คือมิได้เจาะจงกีดกันประชากรกลุ่มใดด้วยการกําหนดคุณสมบัติที่เกี่ยวกับเรื่อง เพศ เชื้อชาติ คุณวุฒิทางการศึกษา สถานะนักบวช ประวัติการเสียภาษี หรือฐานะทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ในบริบท ณ ปี พ.ศ. 2475 มีไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้นที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างครอบคลุม ด้วยยังปรากฏข้อกีดกันต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกายังมิได้ให้พลเมืองที่เป็นคนผิวสีและชนกลุ่มน้อยมีสิทธิเลือกตั้ง ขณะที่ฝรั่งเศส อิตาลี โปรตุเกส กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ คิวบา และเม็กซิโก ต่างปิดกั้นไม่ให้สตรีสามารถร่วมเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ[5] (กรณีของฝรั่งเศส สตรีมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกตามกฎหมายในปี 1944 หรือ พ.ศ. 2487 และมีการเลือกตั้งจริงในปีต่อมา)

ดังนั้นในแง่นี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญของคณะราษฎรนั้นให้สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางยิ่งกว่ามาตรฐานสากลเสียอีก

หลักการแบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 3 ระยะของคณะราษฎร ยังคงปรากฏหลักการอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 แต่บัญญัติอยู่ในส่วนของบทเฉพาะกาล มาตรา 64 ถึงมาตรา 68 โดยรายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติแห่งผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งวิธีเลือกตั้ง และจำนวนสมาชิก มาตรา 17 กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในภายหลังได้มีการยกร่าง พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2475 ขึ้น (ซึ่งโดยทางทฤษฎี ถือว่าเป็น “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” ฉบับแรกของประเทศไทยด้วย) โดยนำรายละเอียดวิธีการเลือกตั้งจากปฐมรัฐธรรมนูญ (ที่กลายเป็นฉบับชั่วคราว) มาบัญญัติไว้ โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้เตรียมกฎหมายเลือกตั้งนี้ในร่างแรกและเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ

วิธีการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว กำหนดให้ใช้วิธีการเลือกตั้งทางอ้อม แต่ส่วนที่แตกต่างจากในรัฐธรรมนูญฉบับอภิวัฒน์ คือได้ตัดเรื่องการเลือกผู้แทนหมู่บ้าน และให้ผู้แทนหมู่บ้านไปเลือกผู้แทนตำบลที่จะไปเลือกผู้แทนราษฎรของจังหวัดออกไป โดยให้เริ่มที่การเลือกตั้งระดับตำบลเลย กำหนดให้ราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงในตำบลเลือกตั้งผู้แทนตำบล ตำบลละหนึ่งคน และผู้แทนตำบลในแต่ละจังหวัดเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดละหนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่าหนึ่งแสนคนให้เลือกผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนทุกๆ พลเมืองหนึ่งแสนคน ถ้าต่ำกว่าครึ่งให้ปัดเศษ

การเลือกตั้งที่ออกแบบมาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งนี้ มีข้อน่าสนใจอยู่ที่ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ออกแบบให้นำเอาระบบการเลือกตั้งสองรอบมาใช้ด้วย

ระบบการเลือกตั้งสองรอบนี้เป็นวิธีการเลือกตั้งแบบของประเทศฝรั่งเศส คือระบบการเลือกตั้งที่ผู้ชนะการเลือกตั้ง จะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัคร สามารถชนะการเลือกตั้งได้ด้วยคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง เช่นนั้นก็จะต้องมีการเลือกตั้งในรอบที่สอง โดยจะให้ผู้สมัครที่ได้อันดับหนึ่งและอันดับสองเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในรอบสองนี้ และผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในรอบสองไม่ว่าจะได้คะแนนเสียงเท่าไร ก็จะถือว่าเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในตำแหน่งนั้นไป โดยระบบนี้เหมาะสมต่อระบอบที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค ประชาชนสามารถเลือกพรรคที่ตนชอบได้อย่างเต็มที่ในรอบแรก แต่ในรอบที่สองพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกันก็จะรวมตัวกัน อย่างเช่นกรณีของประเทศฝรั่งเศสในรอบแรกประชาชนที่สนับสนุนผู้สมัครแต่ละพรรค จะเลือกกันตามใจสมัคร แต่พอถึงรอบสอง ผู้สมัครฝ่ายที่มีความคิดทางการเมืองใกล้เคียงกัน ก็จะร่วมกันและลงคะแนนให้กัน

ในทางปฏิบัติ หลังจากการเลือกตั้งในรอบแรก ผู้สมัครที่ไม่ได้ผ่านเข้าไปในการเลือกตั้งรอบที่สอง อาจจะประกาศให้ผู้ที่สนับสนุนตน ลงคะแนนเลือกตั้งให้ผู้สมัครรายใดที่เหลืออยู่ในรอบสองก็ได้ ระบบนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรายย่อยๆ หรือผู้สมัครที่อาจไม่มีหวังที่จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้นแล้ว ได้ตัดสินใจเลือกว่า ระหว่างผู้สมัครสองคนที่ตนเองไม่ได้เลือกตั้งคู่นี้ พอจะ “ยอมรับ” ให้ใครชนะการเลือกตั้งไปได้

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งสองรอบตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 วันที่ 16 ธันวาคม 2475 นี้ก็ไม่เชิงว่าเป็นการเลือกตั้งสองรอบในแบบฝรั่งเศสเสียทีเดียวนัก เนื่องจากในการเลือกตั้งรอบสองนี้ จะเป็นกรณีที่ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งในจังหวัดนั้น หรือมีแต่ยังได้จำนวนผู้แทนราษฎรในจังหวัดนั้นไม่ครบ ก็จะมีการเลือกตั้งรอบสองโดยผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนยังอยู่ครบ แต่รอบนี้จะถือว่าผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็นผู้แทนราษฎร และในกรณีที่จังหวัดนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่าหนึ่งคน ก็จะให้ผู้ที่ได้คะแนนลำดับรองลงมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปจนครบจำนวนที่จังหวัดนั้นพึงมี[6]

แต่การเลือกตั้งตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ทันได้เกิดขึ้นก็มีเหตุการณ์ปิดสภาไปก่อน การเลือกตั้งแบบสองรอบจึงไม่เคยถูกใช้จริงในประเทศไทย ต่อจากนั้นได้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งขึ้นอีกสองครั้งในปี 2476 ซึ่งแม้ว่ายังคงหลักการเลือกตั้งทางอ้อมไว้ แต่ก็เป็นการเลือกตั้งรอบเดียว และการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2476 ก็เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย เพราะหลังจากนั้น ได้มีการใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 ให้มีการเลือกตั้งทางตรง ซึ่งใช้ระบบการเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตหนึ่งคน (One man one vote)

 

ใครแก่กว่าได้เป็นผู้แทน

มีเกร็ดที่น่าสนใจว่า ในการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 นั้น หากมีกรณีที่ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้ถือว่าผู้ที่มีอายุมากกว่าจะได้เป็นผู้แทนตำบลหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่กรณี และหลักการดังกล่าวได้ตกทอดไปสู่พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้จริงในการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทยด้วย

ไม่แน่ใจว่าเหตุที่กำหนดให้กรณีที่คะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองระดับเท่ากันให้ถือว่าผู้มีอายุมากกว่าเป็นผู้แทนนั้น ถ้าพิจารณาจากคำแถลงของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในที่ประชุมร่วมระหว่างคณะราษฎรกับเสนาบดีและปลัดทูลฉลองแล้ว ก็เป็นไปได้ที่ท่านผู้ยกร่างนี้อาจจะเห็นว่าตัวท่านเองและคณะผู้ก่อการอภิวัฒน์นั้นยังเป็นคนหนุ่มอ่อนประสบการณ์ และยังมองว่า “ผู้ใหญ่” ที่มีประสบการณ์มากกว่านั้นก็ยังเป็นเสียงสำคัญอันควรต้องรับฟังหรือไม่

แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางตรงเพื่อให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ก็ได้แก้ไขให้เป็นว่าในกรณีที่ผู้สมัครได้รับเสียงเท่ากัน ให้ใช้วิธีการจับสลากว่าใครจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนราษฎร จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไประยะหนึ่งแล้ว ความรู้และประสบการณ์ของราษฎรทั้งหลายเกี่ยวกับการเมืองการปกครองนั้นเสมอหน้ากันหมดแล้ว การกำหนดให้เปรียบผู้มีอายุสูงกว่าในกรณีเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ก็เป็นอันไม่จำเป็นอีกต่อไป

ในปัจจุบันนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 125 ก็ยังกำหนดเผื่อไว้ในกรณีที่ผู้สมัครหลายคนได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน ก็กำหนดให้ใช้วิธีการจับสลากซึ่งต้องกระทำต่อหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ดังนั้น การที่ผู้สมัครได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากัน ใคร “ดวงแข็ง” กว่า จะได้เป็นผู้แทนราษฎร ก็อาจจะยุติธรรมกว่าการได้เป็นผู้แทนในกรณีเดียวกันเพียงเพราะอายุมากกว่าก็ได้

 

“พวงเล็ก – พวงใหญ่” ถึง “วันแมนวันโหวต”

หลังจากนั้น การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยจะสลับกันระหว่างรูปแบบการเลือกตั้งสองแบบ คือ แบบ “เขตเดียวคนเดียว” หรือ “หนึ่งเขตหนึ่งคน” กับแบบ “เขตใหญ่เรียงเบอร์” ที่ยังแบ่งออกไปเป็นแบบ “พวงใหญ่” (รวมเขตเรียงเบอร์) กับแบบ “พวงเล็ก” (แบ่งเขตเรียงเบอร์)

อันที่จริงแล้ว การเลือกตั้งทางตรงรูปแบบแรกที่ประเทศไทยเลือกใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 นั้นออกแบบให้เป็นการเลือกตั้งแบบ “เขตเดียวคนเดียว” “หนึ่งเขตหนึ่งคน” หรือหนึ่งคนหนึ่งเสียง (One man one vote) โดยผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกผู้ที่ตนประสงค์จะให้เป็นผู้แทนราษฎรได้เลย โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตัวแทนตำบลไปเลือกผู้แทนราษฎรอีก ซึ่งกำหนดให้จังหวัดหนึ่งเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ถ้าจังหวัดใดมีประชากรจากการสำรวจสำมะโนประชากรเกินกว่า 200,000 คน ให้มีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นได้อีก 1 เขต และเพิ่มอีก 1 เขตทุกๆ ประชากร 200,000 คน เศษของ 200,000 คนถ้ายังเกิน 100,000 คนให้ปัดขึ้น โดยประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งหนึ่งคน จะเลือกตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งได้หนึ่งคน โดยผู้ที่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดก็จะได้เป็นผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น

ประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจคือ ตามกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้ หากมีเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรทันทีโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ยังใช้ต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 3 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2481 และครั้งที่ 4 วันที่ 6 มกราคม 2489 และมิได้นำกลับมาใช้อีกเลย จนกระทั่งได้กลับมาใช้อีกครั้งหลังจากการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540

ส่วนการเลือกตั้งแบบ “รวมเขตเรียงเบอร์” และ “แบ่งเขตเรียงเบอร์” จะกำหนดให้มีเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่ โดยแต่ละเขตเลือกตั้งจะมีจำนวนสมาชิกผู้แทนราษฎรได้ไม่เท่ากันตามจำนวนประชากร และประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้งก็จะลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนราษฎรได้เท่ากับจำนวน ส.ส. ที่มีได้ในเขตเลือกตั้งนั้น เช่น เขตไหนมีสมาชิก ส.ส. ได้ 3 คน ประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นก็จะใช้สิทธิเลือกผู้สมัครได้ 3 คน (หรือพูดง่ายๆ คือ กาบัตรเลือกตั้งได้ 3 เบอร์) โดยผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงที่สุดตามลำดับจนครบจำนวน ส.ส. ในเขตเลือกตั้งนั้น เช่นกรณีตัวอย่างเดิมคือ 3 อันดับแรก ก็จะได้เป็น ส.ส. การเลือกตั้งครั้งแรกของไทยที่นำเอารูปแบบรวมเขตเรียงเบอร์มาใช้นี้ คือ การเลือกตั้งครั้งที่ 5 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2490 โดยกำหนดให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และแต่ละจังหวัดก็จะมี ส.ส. ไม่เท่ากัน

หลังจากนั้น ประเทศไทยก็มีการใช้รูปแบบการเลือกตั้งแบบรวมเขตเรียงเบอร์มาตลอด โดยเริ่มมีการแบ่งจังหวัดหนึ่งให้มีหลายเขตเลือกตั้ง เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2518 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2517 โดยแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดก็จะมี ส.ส. ได้ระหว่าง 1 – 3 คน ที่เรียกว่าเป็นระบบ “แบ่งเขตเรียงเบอร์” และใช้ระบบนี้ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539

มีเกร็ดเล็กๆ ว่า ในสมัยดังกล่าว มีชื่อเรียกการเลือกตั้งรูปแบบ “รวมเขตเรียงเบอร์” ว่าเป็นการเลือกตั้งแบบ “พวงใหญ่” และรูปแบบ “แบ่งเขตเรียงเบอร์” เป็นการเลือกตั้งแบบ “พวงเล็ก” เพราะการแบ่งเขตจังหวัดเป็นหลายเขต แต่ว่าแต่ละเขตก็อาจจะมีผู้แทนได้มากกว่า 1 คน แม้เขตเลือกตั้งจะ “เล็ก” กว่า การกำหนดให้ทั้งจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งที่ “ใหญ่” กว่า แต่ก็ยังเป็นการเลือกตั้งแบบ “เป็นพวง” คือการเลือกตั้งนั้นจะได้ตัว ส.ส. ในแต่ละเขตเรียงลำดับกันมาตั้งแต่ 1 – 3 คน

การเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตใหญ่เรียงเบอร์นั้นมีข้อเสียหลายเรื่องตามที่มีผู้รวบรวมไว้ ที่เป็นข้อเสียทั้งต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง นั่นคือการที่พรรคการเมืองหนึ่งสามารถส่งผู้สมัครได้เท่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมีได้ในเขตเลือกตั้ง ในทางที่ควรจะเป็น พรรคนั้นและผู้สมัครทุกคนก็ควรจะต้องหาเสียงให้ผู้สมัครทุกคนในพรรค ให้ผู้มีสิทธิเลือก “ยกพวง” หรือ “ยกทีม” แต่ก็เป็นไปได้ที่ผู้สมัครบางคนอาจจะหาเสียงให้เฉพาะตัวเองแบบที่เรียกว่าการ “ยิงลูกโดด” ก็ได้ หรือในทางกลับกัน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการนำเอาผู้สมัครที่เป็นนายทุนของพรรคมาไว้ในอันดับที่สอง แล้วหาเสียงให้เลือกเกลื่อนกันไปแบบยกพรรค นอกจากนี้การที่การเลือกตั้งแบบเรียงเบอร์ไม่ว่าจะรวมเขตหรือแบ่งเขต ก็จะมีเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่กว้าง ซึ่งก็จะส่งผลให้การหาเสียงต้องใช้เงินมากขึ้นและยุ่งยากมากขึ้นด้วย[7]

ข้อสำคัญที่สุดที่เป็นปัญหาของการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ คือความไม่เสมอภาคกันของสิทธิเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด ซึ่งอาจจะมีสิทธิเลือกตั้งได้ไม่เท่ากัน เช่น กรณีที่จังหวัดนั้นมี ส.ส. ได้ 5 คน ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นสองเขต เขตละ 3 คน เขตหนึ่ง และเขตละ 2 คน อีกเขตหนึ่ง ก็จะเท่ากับว่า คนในจังหวัดเดียวกันแต่อยู่คนละเขตเลือกตั้งจะใช้สิทธิเลือกผู้แทนของตนได้ไม่เท่ากัน

นอกจากนี้การเลือกตั้งในรูปแบบนี้ก็อาจจะไม่สามารถสะท้อนเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ในบางกรณีที่ในจังหวัดหรือเขตเลือกตั้งนั้นประกอบด้วยพื้นที่ที่คนในแต่ละพื้นที่มีความเชื่อหรือความต้องการทางการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น สมมติว่าจังหวัดหนึ่งเป็นเขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ได้ 3 คน โดยเขตพื้นที่ 2 ใน 3 ของจังหวัดนั้นมีประชากรมาก มีความนิยมในพรรค A แต่มีอยู่พื้นที่หนึ่งที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่นั้นนิยมพรรค B ซึ่งตามที่ควรจะเป็น พรรค B ควรได้รับเลือกเป็น ส.ส. อย่างน้อย 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่นั้น แต่ด้วยความแตกต่างของประชากร ทำให้เมื่อรวมเสียงทั้งหมดในสามเขตแล้วมาเรียงลำดับคะแนนเสียงกัน อาจจะกลายเป็นว่าผู้สมัครพรรค B นั้นแม้จะได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในพื้นที่ความนิยมของตัวเอง แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะเบียดเข้าเป็นที่ 1 ถึงที่ 3 ที่จะได้รับการเลือกตั้ง

การปฏิรูปการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงนำระบบการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวมาใช้ ซึ่งเขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งระบบนี้จะมีขนาดเล็กกว่า และ ส.ส. คนหนึ่งก็จะเป็นเหมือนผู้แทนของพื้นที่เขตเลือกตั้งนั้น อันเป็นระบบที่แก้ปัญหาของการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ได้ทุกเรื่อง แต่ถึงกระนั้น ระบบการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ก็ยังได้ถูกนำมากลับมาใช้อีกครั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแรกที่ร่างขึ้นโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก่อนที่จะถูกแก้กลับไปเป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของระบบการเลือกตั้งของไทยก่อนการปฏิรูปการเมือง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการที่ทำให้ระบบการเมืองไทยนั้นตกอยู่ในวงจรอุบาทว์แห่งการรัฐประหาร เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีการเลือกตั้งเพื่อรอรัฐประหารอีกครั้ง คือปัญหาการ “ซื้อสิทธิขายเสียง” ที่ทำให้การเข้าสู่วงการเมืองคือการ “ลงทุน” อย่างหนึ่งด้วยการใช้เงินทำให้ได้รับเลือกเข้ามา จากนั้นก็ค่อยเข้าไป “ถอนทุน” เมื่อได้เข้าไปมีอำนาจในทางการเมืองแล้ว

การนำระบบการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวมาใช้ แม้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาจุดอ่อนทั้งหลายของการเลือกตั้งดังที่กล่าวไปแล้วได้ก็ตาม แต่ข้อเสียสำคัญอย่างยิ่งที่น่าหวั่นเกรง คือการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวจะมีเขตเลือกตั้งที่เล็กลงมาก และเป็นการเลือกผู้สมัครคนเดียวจากทั้งหมด ถ้ามองในแง่ของการซื้อเสียงก็ทำให้ซื้อเสียงได้ง่ายขึ้น เพราะนอกจากจะใช้เงินน้อยลงเพราะพื้นที่เล็กลงแล้ว ยังจำเพาะเจาะจงให้เลือกผู้สมัครรายที่เป็นเจ้าของ “กระสุน” ได้ตรงตัวด้วย

นอกจากนี้ ปัญหาทางการเมืองของไทยอีกประการหนึ่งก่อนการปฏิรูปการเมือง คือความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้แทนราษฎรกับท้องถิ่นมีพื้นที่เลือกตั้งที่มากเกินไปจนอาจลืมไปว่า แม้ว่า ส.ส. จะได้รับเลือกมาจากการแบ่งเขตตามพื้นที่เพื่อให้แต่ละพื้นที่ท้องถิ่นนั้นได้มีตัวแทนของตัวเองในสภา แต่แท้จริงแล้ว ผู้แทนราษฎรทุกคนถือเป็น “ผู้แทน” ของคนไทยทั้งประเทศด้วย

ผู้แทนราษฎรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีเกินไปกับพื้นที่เลือกตั้งของตน อาจจะใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อ “พื้นที่เลือกตั้ง” ของตัวเองจนเกินไป จนในยุคสมัยนั้น ความเจริญของแต่ละจังหวัด คือการชี้วัดความสามารถของ ส.ส. ของแต่ละจังหวัด เช่นบางจังหวัด ส.ส. มีอิทธิพลมาก สามารถผันงบประมาณและโครงการอันสร้างความเจริญมาลงในท้องถิ่นได้มาก จังหวัดนั้นก็จะเจริญผิดหูผิดตา อย่างที่สมัยก่อนถ้าขับรถระหว่างจังหวัดแล้ว บางทีจะรู้ได้ทันทีว่าข้ามเข้ามาในเขตอีกจังหวัดแล้ว เพราะถนนหนทางเรียบร้อยดีงามผิดจากจังหวัดข้างๆ

และเมื่อผู้ใดได้รับเลือกเข้าไปแล้วสามารถสร้างความเจริญได้ ก็รับประกันได้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าก็มีโอกาสได้รับเลือกอีก เป็นอย่างนี้สักสามสี่สมัยก็ไม่มีใครคิดจะแข่ง

ระบบนี้ก่อให้เกิดตระกูลอิทธิพลของ ส.ส. ประจำพื้นที่หรือเขตจังหวัด หรือที่เรียกว่า “บ้านใหญ่” มาจนทุกวันนี้

 

ปาร์ตี้ลิสต์ที่มูฟออนเป็นวงกลม

จากปัญหาของการเมืองไทยก่อนหน้านั้น และข้อที่อาจจะเป็นดาบสองคมของการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว ทำให้มีกลไกอีกอย่างหนึ่งที่การเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 นำมาใช้ คือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ” หรือซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วยระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (Party-list proportional representation) ที่ถือประเทศทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะใช้สิทธิเพียงเลือกว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคใด ซึ่งเท่ากับเป็นการเลือกผู้สมัครทุกคนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตเดียวคนเดียว จำนวน 400 ที่นั่ง และ ส.ส. จากระบบสัดส่วนบัญชีรายชื่ออีก 100 ที่นั่ง รวมเป็น 500 ที่นั่ง

การเลือกตั้งแบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองนี้ มาจากข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองไทยของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ที่ตั้งขึ้นสมัยนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งข้อเสนอของ คพป. นี้ถือเป็นพิมพ์เขียว

สำหรับจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง[8]

โดยการให้มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนนี้ มีเจตนาสำคัญในการป้องกันการซื้อเสียงเนื่องจากโดยสภาพแล้วเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากถือว่าทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และยังทำให้สิทธิของผู้ออกเสียงเลือกตั้งทุกคนมีความหมาย เพราะทุกคะแนนเสียงจะถูกนำไปนับเพื่อคิดเป็นสัดส่วน ส.ส. ของพรรคการเมือง และยังเป็นการส่งเสริมสถาบันพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง โดยประชาชนจะเลือก “พรรคการเมือง” ไม่ใช่เลือกตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และยังทำให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่มีความถนัดในการลงพื้นที่หาเสียง สามารถเข้ามาเป็น ส.ส. ในสภาได้ผ่านการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อนี้

ซึ่งผู้ออกแบบระบบเลือกตั้งมองการณ์ไกลไปถึงขั้นที่ว่า การเลือกตั้งที่มีระบบบัญชีรายชื่อนี้ อาจสร้างวัฒนธรรมหรือประเพณีทางการเมืองแบบใหม่ ที่พรรคการเมืองอาจจะถือเอาบัญชีรายชื่อนี้เป็นการเสนอตัว “คณะรัฐมนตรี” ของพรรคของตัวเอง โดยนำเอาตัวบุคคลที่จะวางตัวไว้ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในตำแหน่งสำคัญมาใส่ไว้ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นๆ ด้วย[9]

ในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเพราะอีกกลไกหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 คือการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้นไม่อาจดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไปพร้อมกันได้ คือแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเลือกมาจาก ส.ส. ในสภา แต่เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เช่นเดียวกันกับการแต่งตั้งรัฐมนตรีจากผู้ที่มีตำแหน่งเป็น ส.ส. ซึ่งกลไกนี้ของรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นทำให้ถ้าจะรักษาความได้เปรียบทางการเมืองแล้ว ถ้าจะเอา ส.ส. ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ก็ควรเลือกมาจาก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อผู้นั้นพ้นตำแหน่งแล้ว ก็จะมีการเลื่อนรายชื่อต่อไปในบัญชีรายชื่อของพรรคให้เข้ามาเป็น ส.ส. แทนที่ พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่เสียที่นั่งในสภา ต่างจากการเลือก ส.ส. จากระบบแบ่งเขต ที่เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งอาจเสี่ยงที่พรรคอาจจะเสียที่นั่งในเขตเลือกตั้งนั้นไปก็ได้

การเลือกตั้งแบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 2540 อาจสรุปได้ดังนี้

ในการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อนี้ พรรคการเมืองต้องจัดทำบัญชีพรรคการเมืองละ 1 บัญชี เรียงลำดับหมายเลข ไม่เกินบัญชีละ 100 คน ซึ่งต้องประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ อย่างเป็นธรรม และผู้ที่มีรายชื่อนี้ก็ต้องไม่ซ้ำกับรายชื่อในบัญชีที่พรรคการเมืองอื่นจัดทำขึ้น และไม่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตด้วย

โดยประชาชนจะลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่ง จากนั้นเมื่อเลือกตั้งแล้ว ให้นำคะแนนเสียงเลือกตั้งในระบบนี้มารวมกันเพื่อคำนวณหาผู้ได้รับเลือกตั้ง โดยพรรคที่จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนี้จะต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของคะแนนเสียงรวม จากนั้นก็จะนำคะแนนเสียงรวม ลบออกด้วยคะแนนของพรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่าร้อยละ 5 แล้วนำไปหาร 100 เพื่อให้ได้คะแนนเฉลี่ยต่อผู้แทน 1 คน แล้วนำคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่คำนวณไว้ จะได้จำนวนผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นไป

การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ซึ่งพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุด คือพรรคไทยรักไทย ซึ่งได้ที่นั่งจาก ส.ส. เขตไป 200 ที่นั่ง และได้รับคะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อ 11,634,495 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 40.64 แต่เมื่อนำมาคำนวณสุทธิแล้ว ได้เป็นเก้าอี้ ส.ส. ระบบนี้ไป 48 ที่นั่ง รวมเป็น 248 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งครั้งที่สองในปี 2548 คราวนี้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายถึง 377 จาก 500 ที่นั่ง เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 310 ที่นั่ง และได้คะแนนเสียงที่มีผู้เลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้คะแนนไปถึง 18,993,073 คะแนนคิดเป็น 61.17% ซึ่งแปลงตามสูตรแล้วได้ ส.ส. ระบบนี้ไป 67 ที่นั่ง

ไม่ว่าด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ไม่มีใครที่จะยืนยันได้ชัดเจน แต่เมื่อมีการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ. 2549 และในภายหลังคณะรัฐประหารดังกล่าวได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ได้เปลี่ยน “ระบบการเลือกตั้ง” ตามรัฐธรรมนูญทั้งสองระบบ โดย ส.ส. เขตเปลี่ยนเป็นแบบแบ่งเขตใหญ่หลายคน (รูปแบบ “พวงเล็ก”) อีกครั้ง และเปลี่ยนจาก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ให้เป็นแบบสัดส่วนแบ่งเขตกลุ่มจังหวัด โดยแบ่งพื้นที่ประเทศออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และแต่ละเขตเลือกตั้งนั้นให้มี ส.ส. ระบบนี้ได้กลุ่มจังหวัดละ 10 คน หรือถ้าจะอธิบายให้ง่าย คือ เปลี่ยนจากปาร์ตี้ลิสต์ระดับประเทศ เป็นปาร์ตี้ลิสต์ระดับ “ภูมิภาค” นั่นเอง

มีคำอธิบายที่ว่าทำไมระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ดีกว่าการเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม กล่าวคือข้อเสียของรูปแบบเดิมนั้นเอื้อให้เกิดปัญหาธุรกิจการเมืองที่รุนแรงขึ้น และการที่ระบบเลือกตั้งดังกล่าวกำหนดให้ที่นั่งในสภาแต่เฉพาะพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 5 ขึ้นไปซึ่งส่งผลเป็นการช่วยส่งเสริมพรรคการเมืองขนาดใหญ่มีที่นั่งในสภาเกินกว่าสภาพความเป็นจริง และการนับคะแนนรวมกันทั้งประเทศจะมีผลในทางจิตวิทยา ทำให้ประชาชนมีความคิดและเชื่อว่าประชาชนได้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งเป็นทางลบต่อคุณภาพของการเมืองในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยของไทยซึ่งนายกรัฐมนตรีควรมาจากรัฐสภาและงาน โดยมีความรับผิดชอบต่อระบบรัฐสภามากกว่าจะรับผิดชอบต่อประชาชนโดยตรงเหมือนระบอบประธานาธิบดี

สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 จึงมีการปรับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนใหม่โดยการแบ่งประเทศออกเป็นเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่จำนวนหลายเขต และมีการคิดเฉลี่ยที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรให้กับทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และไม่มีการจำกัดคะแนนขั้นต่ำที่พรรคการเมืองได้จากการเลือกตั้งระบบนี้แล้ว[10]

รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดไว้ให้มี ส.ส. แบบแบ่งเขตที่เลือกแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ 400 ที่นั่ง และ ส.ส. แบบสัดส่วนภูมิภาค 80 ที่นั่ง รวมเป็น 480 ที่นั่ง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวตามรูปแบบใหม่ที่ สสร. 2550 ออกแบบไว้นี้ เกิดขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากที่พรรคไทยรักไทยถูกยุบไปโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในช่วงรัฐประหาร ก็ยังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้จะชนะไม่ขาดลอยเท่ากับการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 และปี พ.ศ. 2548 แต่ก็ได้ที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อไปจากระบบแบ่งเขต (ที่เลือกแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์) ไป 199 จาก 400 ที่นั่ง และแบบบัญชีรายชื่อ 34 จาก 80 ที่นั่ง รวมเป็น 233 ที่นั่ง ซึ่งแม้จะไม่ชนะขนาดแบบพรรคเดียวเกินครึ่งสภา แต่ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใด ในที่สุดเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้เป็นรัฐบาลในช่วงสุดท้ายของสมัยสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งไปอีกครั้ง โดยยกเลิกการเลือกตั้งแบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัดหรือภูมิภาค แล้วกลับไปใช้ระบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศที่ใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ 2540 มากขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนจากจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนี้เป็น 125 ที่นั่ง และ ส.ส. แบบแบ่งเขต (ที่ก็เปลี่ยนไปใช้การเลือกแบบเขตเดียวคนเดียวเช่นกัน) อีก 385 ที่นั่ง โดยให้เหตุผลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไว้ตามหมายเหตุท้ายรัฐธรรมนูญดังกล่าวว่า “เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปตามหลักการบนพื้นฐานของความเป็นธรรมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” เพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การคิดคะแนนพรรคการเมืองก็ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำไว้ร้อยละ 5 เช่นที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2540

ผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปในปี พ.ศ. 2551 ก็ชนะการเลือกตั้งโดยได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภา จาก ส.ส. ระบบแบ่งเขต 204 ที่นั่ง และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 61 ที่นั่ง รวมเป็น 265 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลและส่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยได้ ก่อนจะถูกรัฐประหารไปในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างที่เราทราบกัน

ตามประเพณีการปกครองแบบวงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทยนั้น เมื่อมีการรัฐประหารแล้วก็ต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งในครั้งนี้เอง ที่ได้นำเอารูปแบบการเลือกตั้งแบบใหม่เข้ามาใช้ แทนการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตแยกบัตรเลือกตั้งกันกับแบบบัญชีรายชื่อ ราวกับว่าระบบเลือกตั้งดังกล่าวเป็นสาเหตุให้พรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองที่รับสืบทอดมาจากพรรคดังกล่าวซึ่งถูกยุบไปกว่า 10 ปีที่แล้ว สามารถเอาชนะการเลือกตั้งแบบพสุธากัมปนาทหรือแลนด์สไลด์ได้ทุกครั้งไป

โดยฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้ให้เห็นปัญหาของการเลือกตั้งครั้งล่าสุดก่อนการรัฐประหารที่พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะถล่มทลายว่า เมื่อพิจารณาจากคะแนนเสียงที่มีผู้เลือกพรรคเพื่อไทยในแบบบัญชีรายชื่อแล้ว พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 15,752,470 เสียง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.41 ของคะแนนเสียงทั้งหมดทั้งประเทศ แต่พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. ไปถึง 265 ที่นั่ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53 ดังนั้นจึงเท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ไปเกินกว่าสัดส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เลือกพรรคเพื่อไทยถึงร้อยละ 5

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จึงนำเอาการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Proportional : MMP) ซึ่งอ้างว่าเป็นระบบที่สามารถปรับจำนวนสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาให้สอดคล้องกับสัดส่วนคะแนนเสียงเลือกตั้งที่แท้จริงของประชาชนมาแปรเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงที่นั่งในสภามากที่สุด

ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายว่า[11] ระบบดังกล่าวพยายามจะทำให้คะแนนทุกแขนงของประชาชน ที่เลือกพรรคการเมืองต่างๆ มีความหมาย ต้องถูกนำมาคิดจัดสรรที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร โดย ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน เป็นจำนวนที่ให้ความสำคัญกับการเป็น “ผู้แทนราษฎร” ที่ต้องเป็นผู้แทนในเขตพื้นที่ของประชาชน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน เพื่อให้คะแนนของประชาชนทุกเสียงมีความหมายไม่ถูกทิ้งเสียเปล่า โดยคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตไม่ว่าจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ ก็จะนำไปรวมเป็นคะแนนของพรรคการเมืองในการคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ ซึ่งมีที่มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคต่างๆ ทั้งประเทศชดเชยให้แต่ละพรรคมีโอกาสที่ได้ที่นั่งในสภาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แปรผันโดยตรงกับคะแนนที่พรรคได้รับ

การเลือกตั้งในระบบนี้ จะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งอ้างว่าเป็นระบบที่เรียบง่าย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สับสน และบริหารจัดการการเลือกตั้งได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งคะแนน สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และนำคะแนนจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ด้วย ซึ่งการเลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสมนี้มุ่งประสงค์จะทำให้ทุกคะแนนถูกนับ โดยระบบการเลือกตั้งนี้ให้ความสำคัญทั้งคนที่พรรคการเมืองส่งสมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองที่ส่งคนลงสมัคร และบัญชีรายชื่อผู้เสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีประกอบกัน

 

ภาพตัวอย่างบัตรเลือกตั้งใบเดียว ปี พ.ศ. 2562 ที่มา: workpoint today
ภาพตัวอย่างบัตรเลือกตั้งใบเดียว ปี พ.ศ. 2562
ที่มา: workpoint today

 

อย่างไรก็ตาม การคำนวณหาจำนวน “ส.ส. ที่พรรคการเมืองจะพึงมี” กับ “ส.ส. ที่พรรคการเมืองจะพึงได้รับ” นั้นเป็นสูตรคณิตศาสตร์ที่ดูเหมือนจะไม่ยากแต่ซับซ้อน ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวระบุไว้คร่าวๆ ว่า ให้นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคซึ่งส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหาร 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร และนำผลลัพธ์ดังกล่าวไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ และให้นำจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ที่คำนวณมาลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ พรรคการเมืองนั้นก็จะมี ส.ส. ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมา และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นก็ให้นำจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นๆ จะได้เป็น ส.ส. ตามลำดับ โดยวรรคท้ายของมาตรา 91 ดังกล่าวกำหนดให้ “...การนับคะแนน หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ การคิดอัตราส่วน และการประกาศผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...”

“วิธีการ” จึงดูเหมือนง่าย แต่ก็มีหลักเกณฑ์ที่ยุ่งยากวุ่นวายตามมา

การเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งในตอนนั้นผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและคะแนนของพรรคการเมืองทุกพรรคได้ประกาศออกมาแล้ว จนพอจะมองเห็นได้แล้วว่าใครชนะการเลือกตั้งและพรรคการเมืองแต่ละพรรคน่าจะได้เก้าอี้ที่นั่งเท่าไรในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการคำนวณหาจำนวน ส.ส. พึงมีพึงได้ และแต่ละพรรคจะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นจำนวนเท่าไรกันแน่ โดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการคำนวณแม้จะล่วงเลยเวลาการเลือกตั้งมาแล้วกว่าหนึ่งสัปดาห์

กว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ ก็ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งใช้เวลาถึง 45 วัน หลังจากการเลือกตั้ง พร้อมการเปลี่ยนสูตรไปมาจนนาทีสุดท้าย และได้สูตรคำนวณที่เกิด “ส.ส. ปัดเศษ” พรรคเล็กพรรคน้อยซึ่งเข้าไปสนับสนุน ประยุทธ์ จันทรโอชา อดีตผู้นำคณะรัฐประหาร คสช. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้

กติกาการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยในสภา และก็เป็นครั้งแรกที่พรรคที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน คือพรรคเพื่อไทย (ที่ยังไม่ถูกยุบ) ไม่สามารถเอาชนะได้แบบถล่มทลาย แต่ก็เป็นพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุดอยู่ดี คือได้ที่นั่งของ ส.ส. แบบแบ่งเขตไปถึง 136 ที่นั่ง แต่ก็ด้วยเหตุนี้ ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว

ด้วยระบบการเลือกตั้งที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ประสงค์จะสืบทอดอำนาจ แต่ก็เป็นกติกาการเลือกตั้งที่วุ่นวาย ขาดความแน่นอน และคาดเดาไม่ได้ จนไม่มีพรรคใดอยากเสี่ยงกับระบบการเลือกตั้งเช่นนี้ต่อไปในระยะยาว ในที่สุดพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลประกอบกับความร่วมมือของวุฒิสภาซึ่งตั้งโดย คสช. ก็ได้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในปี 2564 โดยปรากฏเจตนารมณ์ตามหมายเหตุท้ายรัฐธรรมนูญดังกล่าวในเรื่องนี้ว่า “...การคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น...”

เป็นการปิดฉากระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่คิดกันมาแทบตาย จนได้ผลระดับหนึ่งที่ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งขาดแล้ว แต่ก็ต้องมาแพ้ภัยเพราะความยุ่งยากวุ่นวายของระบบเอง ประกอบกับผู้ที่ต้องบริหารดูแลระบบ คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงกลายเป็นอีกครั้งที่ระบบการเลือกตั้งของไทย พยายาม move on ให้พ้นจากระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแบบถือประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ก็ยังคงวกกลับมาเป็นวงกลมกลับมาหาวิธีการตามรัฐธรรมนูญ 2540 ดังกล่าวอีกครั้ง

การเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 นี้ เราจึงได้กลับมากาบัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือกคนที่รัก อีกใบเลือกพรรคที่ชอบ กันอีกครั้งหนึ่ง

 

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566 ที่มา: workpoint today
ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2566
ที่มา: workpoint today

 

หรือนี่อาจจะเป็นการพิสูจน์แล้วก็ได้ว่า ถ้าในที่สุดแล้วถ้าการเลือกตั้งนั้นเสรีและยุติธรรมพอประมาณ การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งอาจมีผลต่อการแปรคะแนนเสียงของประชาชนให้เป็นที่นั่งในสภาซึ่งเป็นที่มาแห่งอำนาจเท่านั้น แต่ถ้าประชาชนเขาจะเลือกพรรคใดและไม่เลือกพรรคใดเสียแล้ว กติกากำหนดมาซับซ้อนพิลึกพิลั่นอย่างไรก็ไร้ผล กติกาดังกล่าวอาจเบี่ยงเบนผลแห่งการแสดงเจตจำนงนั้นไปได้บ้างบางส่วนจนทำให้ฝ่ายที่ได้รับการยอมรับมากกว่าและเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งนั้นเสียเปรียบไป แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะสามารถบิดเบือนจนฝ่ายที่ได้รับการยอมรับน้อยกว่า พลิกมาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งไปได้.

 

[1] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 21 (3) “เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นพื้นฐานแห่งอำนาจการปกครอง ทั้งนี้ เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง ซึ่งต้องเป็นการออกเสียงอย่างทั่วถึงและเสมอภาค และต้องเป็นการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระในทำนองเดียวกัน” ถือตามฉบับแปลของ Amnesty International Thailand.

[2] เชษฐา ทองยิ่ง, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, (25 กุมภาพันธ์ 2564), พิพิธภัณฑ์รัฐสภา.

[3] สะกดตามอักขระนิยมในสมัยนั้น

[4] นาวิกศาสตร์, สิงหาคม พ.ศ. 2475, 1773 – 1778 อ้างถึงใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม บ่อเกิด โครงสร้างเชิงสถาบัน และปฏิกิริยาทางสังคม, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2564), หน้า 33.

[5] นาวิกศาสตร์, เพิ่งอ้าง, หน้า 35.

[6] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักวิชาการ กลุ่มงานบริการวิชาการ 2, สรุปสาระสำคัญของกฎหมายเลือกตั้ง ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2475-2542)”, (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มปป), หน้า 5.

[7] มานิตย์ จุมปา, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) เล่ม 1, (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555), หน้า 416 – 417.

[8] มานิตย์ จุมปา, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540), (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2548), หน้า 188.

[9] มานิตย์ จุมปา, เพิ่งอ้าง, หน้า189.

[10] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ระบบการเลือกตั้ง, (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2552), หน้า 37 - 38.

[11] คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562), หน้า 139 - 146.