ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปประเด็นเสวนา PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” : เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง

12
พฤษภาคม
2566

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมาในวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี พ.ศ. 2566 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” : เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง ขึ้น ณ ชั้น 9 อาคารอเนกประสงค์ 1 สถาบันไทยคดีศึกษา ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติจากนักวิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรเคลื่อนไหวภาคประชาชน ได้แก่ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รศ.ดร.พิภพ อุดร, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และ ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ก่อนเปิดเวทีเสวนา สีแพร เมฆาลัย ศิลปินและกวี อ่านกลอนเพื่อรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้แก่ “มหาบุรุษสุดประเสริฐ” และ “ดุลยภาพเสมอภาค”

ช่วงเปิดเวทีเสวนาได้รับเกียรติจาก รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวให้การต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านและกล่าวเปิดงาน โดย รศ.เกศินี กล่าวถึงที่มาของวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกจัดขึ้นในทุกๆ ปี และความสำคัญของวงเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” : เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่สังคมและสาธารณชนได้รับฟังมุมมองของผู้ร่วมเสวนาก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น

ในช่วงกล่าวนำ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงแนวคิดดุลยภาพทางระบบรัฐสภาของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบอบการเมืองที่ ศ.ดร.ปรีดีและคณะราษฎรได้ริเริ่มขึ้นนั้นเป็นไปตามกติกาและหลักการในระบอบประชาธิปไตย พร้อมกันนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เห็นถึงความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 และการอาศัยอำนาจตุลาการอภิวัฒน์เพื่อยุบพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ทำลายระบอบประชาธิปไตยและหลักการสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลังจากนั้น ปาลีรัตน์ บุญประคอง ผู้ชนะเลิศรองอันดับ 1 จากการประกวดบทความกองทุน “ปาล พนมยงค์” ประจำปี พ.ศ. 2566 กล่าวนำเสนอผลงานในหัวข้อ “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” โดยกล่าวถึงที่มาของปรัชญาการเมือง สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นจาก ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวใจสำคัญของปรัชญาข้างต้น คือ การเมืองการปกครองที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยหลักเหตุและผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีระเบียบแบบแผนอย่างตรงไปตรงมา

พร้อมทั้งระบุว่าแนวคิดปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นจากการบูรณาการทางความคิดของประชาธิปไตย 3 รูปแบบ คือ แนวคิดประชาธิปไตยแบบเศรษฐกิจ, แนวคิดประชาธิปไตยแบบสังคม และแนวคิดประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน ซึ่งเมื่อประสานรวมกันแล้วเน้นเสริมสร้างให้คนในสังคมมีรากฐานของสวัสดิการที่ตนพึงได้รับ เกิดโครงข่ายรองรับทางสังคม (social safety net) ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออยู่กลุ่มใดในสังคม รัฐย่อมมีหน้าที่จะสนับสนุน สวัสดิการ สิทธิ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ไขปริศนาดุลยภาพแห่งอำนาจ

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล กล่าวว่าหากจะทำความเข้าใจดุลยภาพแห่งอำนาจ จำต้องทำความเข้าใจรูปแบบการเมืองไทย เพราะอำนาจรัฐครอบคลุมไปในหลากหลายองค์กรทางการเมือง หากแต่อำนาจของกองทัพ และอำนาจตามประเพณีที่ตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยังมิได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐสภา

เมื่อมองภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันจากความเข้าใจการเมืองในสมัยของคณะราษฎรจะพบว่า อำนาจของกองทัพและอำนาจตามประเพณีเป็นพันธมิตรที่แนบชิดกับมากขึ้นหลังการสิ้นสุดสมัยของคณะราษฎรภายหลังการรัฐประหาร 2490 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา อีกทั้งผลพวงจากการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้อำนาจเหล่านี้มีอำนาจมากยิ่งขึ้น เช่น องค์กรอิสระต่างๆ ที่ไม่ขึ้นตรงต่ออำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ล้วนสืบเนื่องมาจากการรัฐประหารแทบทั้งสิ้น

ความตื่นตัวทางการเมืองในปัจจุบันทำให้ขบวนการประชาธิปไตยแข็งแรงมากยิ่งขึ้น การรัฐประหารอาจไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนเช่นที่ผ่านมา บทเรียนมีด้วยกัน 2 ประการ คือการก่อร่างสร้างประชาธิปไตยให้ประชาชน และบทเรียนที่ 2 คือไม่ว่าจะร้ายหรือดีก็เป็นสิ่งที่คนรุ่นหลังต้องถอดบทเรียนและนำไปปรับใช้

หากมองประวัติศาสตร์การเมืองฝั่งประชาธิปไตย มีทั้งแพ้ มีทั้งชนะ แต่ครั้งนี้คิดว่าองค์กรทางประชาธิปไตยล้วนแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้การรัฐประหารยิ่งเกิดขึ้นยากมากขึ้นทุกวัน ต้องอาศัยพลังมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะพลังทางทหารและกองทัพนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยพลังของมวลชน

พร้อมกันนี้ รศ.ดร.ไชยันต์ได้ฝากข้อคิดทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้ง 2566 ไว้ว่า “ขอวิญญาณและปณิธานของคณะราษฎรได้ช่วยให้เรา ฝ่ายประชาธิปไตยไม่ระย่อต่อฝ่ายที่คอยฉุดรั้งความเจริญของราษฎร ขอเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในปฐมรัฐธรรมนูญ มาตราหนึ่งที่ว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ ได้เป็นจริงขึ้นเทอญ”

ความท้าทายทางอุดมการณ์เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจ

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชวนย้อนไปในการรัฐประหาร 2549 ซึ่งจะพบว่าผู้มีอำนาจไม่ได้สร้างสมดุล หากแต่เป็นฝ่ายที่ต้องการรักษาอำนาจ ประชาชนเสียดุลและไม่สามารถมีอำนาจในสถาบันทางการเมืองใดๆ ได้เลย ด้านหนึ่งฝ่ายผู้มีอำนาจเขาได้บทเรียนจากการลุกฮือของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาพยายามสถาปนาอำนาจเพื่อให้ครอบคลุมระบอบต่างๆ มากยิ่งขึ้น 

บทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2516 เหตุการณ์พฤษภา 2535 และปรากฏการณ์คนเสื้อแดง ได้ให้บทเรียนแก่รัฐผู้ถืออำนาจด้วยเช่นกัน โดย รศ.ดร.พวงทองระบุว่ารัฐพยายามที่จะขยายอำนาจเพื่อครอบคลุมสถาบันทางการเมืองให้ขยายออกไปให้ได้มากที่สุด องค์กรอิสระกลายเป็นกลไกในการลงโทษกลุ่มการเมืองหรือประชาชนที่อยู่ตรงข้ามเช่น การตัดสิทธิ์พรรคการเมือง อำนาจในการแต่ง ส.ว. 250 อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อำนาจในการสถาปนาอำนาจให้แก่กองทัพที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาลพลเรือน

ข้อเสนอของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งชูนโยบายในการแก้ไขโครงสร้างทางการเมืองและกลไกต่างๆ จึงเป็นการท้าทายอำนาจในระบอบเก่า พรรคก้าวไกลเสนอการปฏิรูปกองทัพจึงเป็นสิ่งที่ซื้อใจประชาชนมากขึ้น ความพยายามแยกการเมืองออกจากเศรษฐกิจ เพราะประชาชนไม่สามารถมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้หากการเมืองยังไม่มั่นคง การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นความตื่นตัวของประชาชนที่มีพรรคการเมืองกล้าเสนอนโยบายดังกล่าว จึงไปกระตุ้นให้คนที่กุมอำนาจคิดหาวิธีการเพื่อจะแทรกแซงทางการเมือง

ความหวังและความฝันของคนรุ่นใหม่ : จุดเริ่มต้นดุลยภาพแห่งอำนาจและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามต่อโครงสร้างทางการเมือง จึงนำไปสู่การวิพากษ์ต้นตอของปัญหาทางการเมืองที่แท้จริง ดุลยภาพแห่งอำนาจซึ่งอำนาจควรอยู่ที่ในมือของประชาชนมากที่สุด

พร้อมทั้งระบุว่า ในมุมของตนนั้นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือดุลยภาพทางความคิด อันหมายถึงในสังคมล้วนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันและหลากหลาย วิธีการใดที่จะทำให้ความแตกต่างเหล่านั้นอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างเสมอหน้า โดยไม่มีใครถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด ประชาธิปไตยจะอยู่รอดต่อไปคือการเคารพในความแตกต่างและจุดยืนทางความคิด หาทางออกให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไรให้ทุกๆ คนสามารถดำเนินไปด้วยกันได้

การเมืองในยุคใหม่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ประชาชนในปัจจุบันวิเคราะห์ทั้งนโยบายและความเป็นไปได้ ว่าความฝันและความหวังนั้นจะเป็นจริงได้และไปสู่เส้นชัยอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้เกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว การเลือกตั้งจึงเป็นโอกาสในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายปฏิรูปกองทัพ หรือการแก้ไขมาตรา 112

สถานการณ์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 การแย่งชิงอำนาจ และการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองนั้นใกล้เคียงกัน วันนี้เรามาพูดกันอีกครั้งหนึ่งว่ามีวิธีการใดบ้างที่ประชาชนจะใช้สิทธิของตนเองในนั้น และจะเป็นไปอย่างไรเมื่อประชาชนเริ่มเข้าใจจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย บทบาทของประชาชน บทบาทของนักการเมือง บทบาทของกองทัพ หรือบทบาทขององค์กรอิสระนั้น ควรจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะเป็นบทเรียนสำคัญที่ประชาชนทุกคนสามารถนำมาอุดรอยรั่วไม่ให้การเมืองไทยกลับไปสู่วังวนเดิม

กกต. ผู้เล่นทางการเมือง กับความน่ากังวลในการเลือกตั้ง 2566 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตั้งข้อสังเกตต่อการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากการเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 ที่ผ่านมาในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่าน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่

  1. ความโกลาหลในการเตรียมงานและการดำเนินของ กกต. กล่าวคือมีการจัดการที่ไม่เหมาะสมกับมวลประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เช่น จุดลงคะแนน ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  2. การจ่าหน้าซองจดหมายที่บรรจุการลองคะแนนผิด อันเนื่องมาจากการให้ความรู้และการอบรมเจ้าหน้าที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และ
  3. การออกแบบระบบการรายงานผลคะแนนเสียงที่มีช่องโหว่

พร้อมกันนี้ ยิ่งชีพยังได้เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแคมเพญสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนี้ยังคงต้องการอาสาสมัครเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด เพราะท่ามกลางความไม่ไว้วางใจของประชาชนและความไม่เป็นอิสระของ กตต. เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนจะมาสามารถทำได้

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อดุลยภาพแห่งประชาธิปไตย

รศ.ดร.พิภพ อุดร ระบุว่าสังคมไทยมิได้มีเพียงความหลากหลายทางด้านอายุ แต่ยังมีมิติอื่นๆ โดยแต่ละกลุ่มอำนาจอยู่ในมือตัวเอง ฉะนั้นดุลยภาพแห่งอำนาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อแต่ละกลุ่มมีตำแหน่งแห่งที่เป็นของตนเองในสังคม ความปั่นป่วนในสังคมสะท้อนให้เห็นถึงการขาดดุล ทั้งนี้ รศ.ดร.พิภพได้ระบุว่า ในทางตรงกันข้ามความสงบก็สามารถวิเคราะห์ได้เช่นกัน กล่าวคือ สังคมนั้นสงบจริงๆ เพราะดุลยภาพแห่งอำนาจนั้นเกิดขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งความสงบนั้นก็อาจเกิดจากอำนาจที่ใหญ่มากๆ ครอบคลุมอำนาจอื่นๆ

การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมากระแสการวิพากษ์วิจารณ์การเลือกตั้ง 2566 ในขณะนี้จำเป็นจะต้องวิเคราะห์ไปไกลกว่านั้น เพราะในภูมิทัศน์การเมืองขณะนี้ ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าในเสียงของตนเอง เสียงจะต้องถูกปกป้องและเดินไปตามเจตนารมณ์

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องมองเพิ่มเติมให้ไกลกว่าอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจทางประเพณี อำนาจทหาร คือ อำนาจของเทคโนโลยีที่อยู่มือของประชาชน จากเมื่อก่อนประชาชนเป็นผู้รับข่าวสารฝ่ายเดียว แต่ปัจจุบันประชาชนเป็นผู้ผลิตข่าวสาร จึงนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Democracy of information เกิดเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนทางอุดมการณ์และความคิด ด้วยการสื่อสารและแสดงตัวตน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ใช่คนตัวเล็กตัวน้อยแต่เป็นการสร้างความตระหนักในพลังของประชาชนที่เขามี

นอกจากนี้ รศ.ดร.พิภพยังระบุอีกด้วยว่า หลังการเลือกตั้งสิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่าการต่อรองทางการเมือง สิ่งที่น่าสนใจคือการบังคับใช้กฎ กติกา และผู้มีอำนาจต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนการเมือง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนจุดยืนของผู้อำนาจต่างๆ 

การแสดงออกของกลุ่มอำนาจทางการเมืองและองค์กรต่างๆ ที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย ประชาชนต้องแสดงเจตจำนงของตนด้วยว่า สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมได้ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การแสดงอารยะขัดขืน การเมืองภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อแสดงบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

ช่วงตอบคำถาม

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชี้แจงต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) กับการรัฐประหาร โดยกล่าวถึงที่มาและจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานที่เริ่มต้นขึ้นในรัฐบาลสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อรื้อฟื้นคดีการสังหารหมู่ขบวนการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช. หรือ คนเสื้อแดง) เพื่อนำผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี อีกทั้งคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าหากสามารถผลักดันสาระดังกล่าวให้สำเร็จ จะส่งผลกระทบต่อการใช้อำนาจและอาวุธของทัพได้อย่างแน่นอนในอนาคต ซึ่งหมายความรวมไปถึงการรัฐประหารก็จะเกิดได้ยากขึ้นด้วย 

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตอบคำถามต่อแนวโน้มของพรรคก้าวไกลเมื่อเข้าสู่รัฐสภาที่อาจซ้ำรอยกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ว่า มีความเป็นไปได้สูงมาก ซึ่งไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกล เพราะอาจเกิดขึ้นกับพรรคใดก็ได้ แต่สำหรับการยุบพรรคการเมืองนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องประเมินกับอารมณ์และความรู้สึกของประชาชนให้มากขึ้นว่า คุ้มหรือไม่ที่จะปลุกให้ประชาชนลงถนนอีกรอบใหม่ โดยภรัสราวลีเชื่อมั่นว่า หากพรรคก้าวไกลก้าวไปสู่สภาแล้ว พรรคจะยังคงทำหน้าที่ของตัวเองเช่นเดิม คือการอภิปรายปัญหาเชิงโครงสร้าง

อีกประเด็นคือสำหรับความกังวลต่อการดำเนินงานของ กกต. ในการเลือกตั้งวันที่ 14 นี้ เราต้องไปช่วยกันเก็บหลักฐานในวันที่ 14 พ.ค. คือหลักฐานเกี่ยวกับการทำงานที่น่ากังวลต่อความโปร่งใส เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการในการตรวจสอบ

รศ.ดร.พวงทอง กล่าวเสริมว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระไม่ได้มีอะไรยึดโยงต่อประชาชน และกระทำการอะไรหลายสิ่งที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งล้วนทำลายระบบนิติรัฐ ฉะนั้นจะทำอย่างไรที่ประชาชนจะแสดงอารยะขัดขืนโดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการยุบพรรคการเมือง และยุติการทำงานที่ไม่ตรงมาของ กกต. ฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองต้องร่วมกันคุยอย่างจริงจัง เพื่อหาทางแก้ไขประเด็นดังกล่าว

อีกประเด็นที่ รศ.ดร.พวงทอง กล่าวเสริมคือการรื้อสร้างมายาคติ “เสียงส่วนน้อย” และ “เผด็จการรัฐสภา” โดยปกติคำว่า “คนส่วนน้อย” หรือ “เสียงส่วนน้อย” มักถูกพูดในมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์ LGBTQ หรือกลุ่มคนพิการที่ถูกละเลยจากการดูแลของรัฐ แต่ “เสียงส่วนน้อย” ไม่ใช่ในความหมายของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ยอมรับเสียงของคนส่วนใหญ่ สังคมไทยเอามาใช้อย่างส่วนใหญ่ ปัญหาคือคนส่วนน้อยในประเทศนี้นำทหารเข้ามากลั่นแกล้งและละเมิดเสียงของคนส่วนใหญ่ถึงสองครั้งสองคราว

ยิ่งชีพ อัชชานนท์ กล่าวเสริมต่อประเด็น “เสียงส่วนน้อย” เพิ่มเติมว่า ตามทฤษฎีเสียงส่วนน้อยยังจำเป็นจะต้องมีพื้นที่และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หากเสียงส่วนน้อยมีเหตุผลมากพอ ในอนาคตก็จะกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้ แต่หากเสียงส่วนน้อยไม่มีหลักการ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนเกมการเมืองได้ พร้อมตอบถึงการดำเนินงานของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวจับตาการเลือกตั้ง 2566 ว่า ความรวดเร็วในการทำงานของภาคประชาชนจะรวดเร็วขึ้นหากมีคนมากขึ้น ทั้งนี้จากการคาดการณ์ในความรวดเร็วของการรายงานผลคะแนน ภาคประชาชนเป้าหมายไว้ว่าจะพยายามให้เร็วที่สุดหรือหากล่าช้าไม่เกิน 1 - 2 วัน 

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ตอบคำถามต่อประนักวิชาการวิจารณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงจากเสียงส่วนน้อย ซึ่งอาจารย์ปรีดีเคยอธิบายไว้แล้วว่าการรวมมวลชนในสมัยนั้นไม่สามารถทำได้ แต่ในปัจจุบัน เราจะพบว่ามวลชนที่มีความเป็นประชาธิปไตยมีเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ รศ.ดร.ไชยันต์ ยังวิจารณ์ถึงประเด็นการรัฐประหารที่ยังคงไว้ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ ความเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยส่งผลให้การรัฐประหารมิใช่แค่เพียงการเอารถถังออกมา หากยังต้องอาศัยมวลชน อำนาจศาล และองค์กรอิสระอื่นๆ

เมื่อย้อนไปในอดีตจะพบว่า กกต. ถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและแบ่งแยกหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจากกระทรวงมหาดไทย ทว่า การทำงานของ กกต. กลับยิ่งพบว่ามีปัญหามากกว่าเดิม เพราะไม่ว่าจะมีองค์กรที่เป็นอิสระหรือเป็นประชาธิปไตยอย่างไร แต่หากอำนาจเดิมที่ถือครองอาวุธและอำนาจที่ตกค้างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังอยู่ สิ่งเหล่านี้ย่อมบิดเบือนกระบวนการประชาธิปไตยได้เสมอ

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ชี้แจงต่อประเด็นทุน (Money) โดยระบุว่า กลุ่มทุนใหญ่ประเทศไทยมีความสามารถในการปรับตัวสูง ก่อนจะเกิดพรรคอนาคตใหม่ทุนใหญ่หลายทุนบริจาคให้พรรคการเมือง ฉะนั้นจะเห็นว่าก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนเลยพูดถึงการรื้อถอนระบบผูกขาดทางเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคแรกที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ทุนใหญ่ก็อาจไม่ได้เกรงกลัว กลุ่มทุนใหญ่เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากภายใต้ยุค คสช. หากพรรคก้าวไกลมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย สิ่งสำคัญก็คือการจัดการกระจายความเท่าเทียมผ่านวิธีการต่างๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน หรืออัตราภาษีก้าวหน้า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองจำนวนมากซึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำได้

รศ.ดร.พิภพ อุดร ได้ย้ำถึงเทคโนโลยีที่อยู่มือโดยทำการตรวจสอบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เทคโนโลยีมีสองด้านอย่าเพิ่งเชื่อ fake news ควรที่จะตรวจสอบก่อน ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จึงเชิญชวนให้ใช้เทคโนโลยีอย่างรอบคอบเพื่อการเลือกตั้งในครั้งนี้

การเปิดตัวหนังสือหนังสือ ปรีดี - พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ”

กิจกรรมเปิดตัวหนังสือ ปรีดี - พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ” โดยได้รับเกียรติจาก โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบุ๊คไทม์ จำกัด, บัญชา เฉลิมชัยกิจ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์สุขภาพใจ, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ผู้เขียนบทเกริ่นนำ และดำเนินรายการโดย กษิดิศ อนันทนาธร

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ กล่าวถึงที่มาและความสำคัญในจัดทำหนังสือเล่มนี้ เนื่องในวาระ 123 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ 117 ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันปรีดี พนมยงค์ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ และการสนับสนุนเอกสารชั้นต้นโดยหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ “หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่เพียงหนังสือ แต่เป็นปรัชญาที่จะนำพาชีวิตให้คนอีกหลายๆ คน” และ “เมื่อเราเรียนรู้อดีต เราจะเข้าใจปัจจุบัน แล้วเมื่อเราเข้าใจปัจจุบันเราจะรู้ว่าอนาคตจะรู้ว่าเราจะเดินไปอย่างไรเพื่อสร้างสมดุลของตัวเราเอง สมดุลของเรากับสังคม และสมดุลระหว่างสังคมกับสังคม”

นริศ จรัศจรรยาวงศ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของระบอบประชาธิปไตย คือเรื่องของ monastery หรือ ศาสนจักร การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มิได้สะท้อนเพียงความเปลี่ยนแปลงทางโลก แต่ยังสะเทือนไปถึงฟากฝั่งของด้านศาสนา อีกทั้งสะท้อนให้เห็นการถึงการขานรับระบอบใหม่ของคณะราษฎรโดยพุทธทาสภิกขุ และความสัมพันธ์กับศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ฉะนั้นเนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้จึงรวบรวมเอกสารชั้นต้นของพุทธทาสภิกขุซึ่งขานรับหลักการประชาธิปไตย และการวิพากษ์ระบอบเก่าพร้อมทั้งชื่นชมระบอบใหม่

รับชมย้อนหลังได้ที่ : PRIDI Talks #20: “ดุลยภาพแห่งอำนาจ” : เปลี่ยนผ่านสังคมไทยด้วยการเลือกตั้ง