สิ้นเดือนมีนาคมของทุกปีย่อมชวนให้หวนระลึกถึงนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของเมืองไทยเยี่ยง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” นั่นเพราะ 31 มีนาคมเป็นวันเกิดของเขา ซึ่งปี พ.ศ. 2566 นี้เป็นวาระครบรอบชาตกาล 118 ปีพอดี

กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา
เรื่องราวของ กุหลาบ มีความเชื่อมโยงผูกพันกับ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นอันมากเลยทีเดียว มิใช่เพียงแค่การที่ในเวลาต่อมาบุตรชายของกุหลาบ คือ สุรพันธ์ สายประดิษฐ์ ได้สมรสกับบุตรสาวของนายปรีดี คือ วาณี พนมยงค์ ซึ่งเสมือนการผนวกรวมเข้าเป็นครอบครัวเดียวกันอย่างแน่นแฟ้นเท่านั้นหรอก แท้แล้ว ทั้งสองเป็นบุคคลที่ถือกำเนิดและเติบโตมาในห้วงเวลาร่วมสมัยเดียวกัน ที่สำคัญคือเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม และต่อสู้กับระบอบเผด็จการเฉกเช่นเดียวกัน
นายปรีดี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2443 ส่วน กุหลาบ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2448 ทั้งสองเติบโตและใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยหนุ่มมาในบรรยากาศของเมืองไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พวกเขาจึงสัมผัสพบเห็นความไม่เป็นธรรมของระบอบศักดินา
นายปรีดีเรียนทางด้านกฎหมายและได้รับโอกาสไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศสหลายปี จนกลับมารับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
กุหลาบเองก็เคยไปเข้าเรียนโรงเรียนกฎหมาย แต่ต้องลาออกมาเสียก่อนเพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ เขากล้าเขียนบทความตั้งคำถามต่อระบอบศักดินาอย่างห้าวหาญ ดังเช่นชิ้นงาน “มนุษยภาพ” อันลือลั่น จนรัฐทางการอดทนไม่ไหว สั่งปิดหนังสือพิมพ์และแท่นพิมพ์ถูกล่ามโซ่
กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งนายปรีดีคือแกนนำคนสำคัญระดับมันสมองของคณะราษฎรผู้ก่อการ กุหลาบเป็นผู้รักความเป็นประชาธิปไตยย่อมเห็นพ้องกับแนวทางของคณะราษฎร ดังช่วงปลายทศวรรษ 2470 เขารับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ อันเป็นหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลคณะราษฎรอย่างแข็งขัน

ระบอบรัฐธรรมนูญ ประชาชาติ วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2479 หน้า 5 ต่อหน้า 33 (หลังพิธีฝังหมุดคณะราษฎร 5 วัน)
ที่มา : พิธีฝังหมุดคณะราษฎร กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ข้างหลังภาพ โดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์
ทว่าด้วยจิตวิญญาณนักหนังสือพิมพ์ที่จำเป็นต้องต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวง จึงมีบ่อยครั้งที่กุหลาบวิพากษ์วิจารณ์การกระทำและพฤติการณ์ที่ไม่สมควรของแกนนำและสมาชิกของรัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะแกนนำสายทหาร สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ฝักใฝ่ฝ่ายรัฐบาล แต่ก็ยึดมั่นในจรรยาบรรณ กล้าหาญวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ไม่เลือกยืนข้างฝ่ายใด แม้กระทั่งฝ่ายที่ตนเองสนับสนุนก็ตามที
ต่อมา กุหลาบและคณะเพื่อนพ้องกองบรรณาธิการจึงลาออกจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติ แล้วมาร่วมออกหนังสือพิมพ์เสียเองในช่วงต้นทศวรรษ 2480 นั่นคือ หนังสือพิมพ์ ประชามิตร และหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ต่อมาก็รวมฉบับกันเป็นหนังสือพิมพ์ ประชามิตร-สุภาพบุรุษ
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทย (พ.ศ. 2484 - 2488) รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมทั้งการบริหารประเทศท่ามกลางสมรภูมิและควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ กุหลาบจึงหมั่นเขียนบทความท้วงติง วิพากษ์วิจารณ์ และต่อสู้ขับเคี่ยวกับรัฐบาลที่สำแดงทีท่าแบบเผด็จการอยู่เนืองๆ
ในที่สุด เขาก็สุดโดนข้อหากบฏเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485 ถูกจับกุมตัวไปคุมขังอยู่ 84 วันในห้องขังสถานีตำรวจพระราชวัง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2485
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลงในปลายทศวรรษ 2480 จอมพล ป. สูญเสียอำนาจและตกเป็นอาชญากรสงคราม การก้าวขึ้นมาของรัฐบาลชุดใหม่เริ่มสร้างความหวังว่าประเทศกำลังจะอวลกลิ่นอายเสรีภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการที่นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมถึงรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนับแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2489 เรื่อยมา ก็เริ่มมีการจัดวางรูปแบบการเมืองให้เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศใช้เมื่อเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน กำหนดให้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกพฤฒสภา (ปัจจุบันคือ สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น
แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็พลันเกิดขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคตด้วยพระแสงปืนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นายปรีดีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความรับผิดชอบในวันที่ 11 มิถุนายน แต่ทางสภาผู้แทนราษฎรก็ยังสนับสนุนให้เขาดำรงนายกรัฐมนตรีต่อไป ต่อมานายปรีดีได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพฤฒสภา เพื่อไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และได้รับเลือก
แม้จะมีบทบาททางการเมืองลดน้อยถอยลง คงเหลือเพียงตำแหน่งรัฐบุรุษอาวุโส และ ส.ส. แต่ช่วงระหว่างนี้ นายปรีดีได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยี่ยมเยือน ดังที่ นายปรีดีบันทึกไว้ใน ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน ตอนหนึ่งว่า
“เมื่อเดือนกันยายน 2489 เอกอัครราชทูตจีน (ประจําประเทศไทย) ได้นําหนังสือเชิญจากประธานาธิบดีเจียงไคเช็คมาให้ข้าพเจ้า เพื่อเชิญให้ไปเยือนประเทศจีนในฐานะแขกของรัฐบาลจีน ต่อจากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้รับเชิญทํานองเดียวกันนี้จากรัฐบาลฟิลิปปินส์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และบางประเทศในยุโรป
รัฐบาลได้เสนอให้ข้าพเจ้าตอบรับคําเชิญเหล่านั้น เพื่อเป็นการถือโอกาสขอร้องให้สมาชิกถาวรที่สําคัญๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสนับสนุนประเทศสยามให้ได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การฯ และเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของเรากับประเทศที่ข้าพเจ้าจะต้องไปเยือน...”

นายปรีดี และ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ณ กรุงลอนดอน พ.ศ. 2489
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการที่นายปรีดีได้ออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในนามทูตสันถวไมตรีและผู้แทนของรัฐบาลไทยในหลายประเทศเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนเต็ม
ขณะเดียวกัน กุหลาบหมั่นคอยติดตามข่าวสารในระยะที่นายปรีดีเดินทางไปปรากฏตัวตามแต่ละประเทศ จากนั้น เขาจึงรวบรวมมาเขียนเป็นบทความชิ้นหนึ่งให้ชื่อ “รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ” เนื่องจากจะออกเผยแพร่ช่วงที่นายปรีดีกำลังจะเดินทางกลับคืนสู่เมืองไทยพอดี ซึ่งถ้อยคำเปิดฉากของกุหลาบมีดังนี้
“พณะท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งได้จากมาตุภูมิไปเยือนมิตรประเทศ ในนามทูตไมตรีของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๙ นั้น ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิแล้ว กำหนดถึงสนามบินคลองเตยบ่ายวันวาน ขณะเขียนบทความนี้ท่านปรีดียังไม่มาถึง แต่ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่า ท่านทูตไมตรีจะได้รับการต้อนรับจากมิตรสหายและประชาชนอย่างอบอุ่นมโหฬาร ในฐานที่ท่านเปนรัฐบุรุษหลักของประเทศข้อหนึ่ง และในฐานที่ท่านทูตไมตรีได้สำเร็จภารกิจของท่านอย่างเปนที่พึงพอใจยิ่ง
ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ใช้เวลาเกือบ ๓ เดือนครึ่งปฏิบัติภารกิจของท่านในต่างประเทศ ท่านทูตไมตรีได้เยือนประเทศจีนเปนแห่งแรก จากนั้นก็ไปสู่ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอรแลนด์ เดนมารต สวีเดน และนอรเวย์ รวมทั้งสิ้น ๙ ประเทศ ท่านทูตไมตรีของไทยได้รับการต้อนรับในฐานเปนแขกเมืองของประเทศเหล่านั้น ได้รับการต้อนรับจากประมุขของประเทศ จากประธานาธิบดี และจากพระมหากษัตริย์ ทุกหนแห่งที่ท่านทูตไมตรีของเราได้ผ่านไป ท่านได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและด้วยการให้เกียรติยศสูงสุดเท่าที่มิตรประเทศเหล่านั้นจะได้เคยให้แก่แขกเมืองคนสำคัญมาแล้ว...”
เมื่ออ่านที่กุหลาบเขียนข้างต้น ผมฉุกนึกขึ้นได้เกี่ยวกับวันออกเดินทางจากเมืองไทยของนายปรีดี ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนกัน โดยตามที่กุหลาบระบุไว้คือ วันที่ 29 ตุลาคม 2489 แต่ตามบันทึกของนายปรีดีเองกลับระบุว่า
“ข้าพเจ้า พร้อมด้วยภรรยา และคณะ ออกเดินทางโดยสายการบิน พี.โอ.เอ.เอส. ซึ่งให้บริการแก่เราไปเที่ยวบินทดลองระหว่างกรุงเทพฯ กับนานกิง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2489 (นานกิงเป็นเมืองหลวงของจีนอีกครั้งหนึ่งภายหลังสงคราม) เรามาถึงนานกิงในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นช่วงระยะการหยุดยิงระหว่างจีนคณะชาติกับจีนคอมมิวนิสต์...”
ส่วนรายละเอียดของการพบปะผู้นำประเทศต่างๆ นั้น ทั้งที่นายปรีดีบันทึก และกุหลาบรายงานไว้ก็สอดคล้องกัน เฉกเช่นตอนหนึ่งที่สำคัญอย่าง นายปรีดีได้รับเหรียญ “เมดัล ออฟ ฟรีดอม ประดับใบปาล์มทอง” จากประธานาธิบดีทรูแมนแห่งสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี เขียนว่า
“รัฐบาลอเมริกันได้มอบเหรียญเสรีภาพชั้นหนึ่ง (ประดับใบปาล์มทองคํา) แก่ข้าพเจ้าในฐานะที่มีคุณูปการต่อฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ต่อจากนั้นประธานาธิบดีทรูแมน ก็ได้ให้การต้อนรับข้าพเจ้า ระหว่างการสนทนา ท่านก็ได้ให้สัญญากับข้าพเจ้าว่าจะสนับสนุนให้สยามเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ”
ส่วน กุหลาบ เขียนว่า
“ที่สหรัฐอเมริกา ท่านประธานาธิบดีทรูแมนได้ให้การต้อนรับอย่างมโหฬารและรัฐบาลอเมริกันได้ให้เหรียญ “ออเดอร์ ออฟ ฟรีดอม” ประดับใบปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นอิสริยาภรณ์สูงสุดที่สหรัฐอเมริกาได้ให้แก่ชาวต่างประเทศพันธมิตรเปนคนแรก เปนการรับรองเชิดชูเกียรติยศและความสำเร็จที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้ปฏิบัติในระหว่างสงคราม ด้วยการเสี่ยงชีวิต ในฐานเปนหัวหน้าใหญ่ของขบวนต่อต้านศัตรูในประเทศไทย”

รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเหรียญ “เมดัล ออฟ ฟรีดอม ประดับใบปาล์มทอง” จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำขบวนการเสรีไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
แน่นอนว่า ในบทความ “รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ” ผู้เขียนย่อมจะต้องเน้นไปที่เรื่องราวการกลับคืนบ้านเกิดเมืองนอนของนายปรีดี ซึ่งกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 โดยสารเครื่องบินน้ำมาลงแถวๆ บริเวณท่าเรือคลองเตย ถัดต่อจากนั้นกุหลาบคงจะเป็นนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่ได้เข้าสัมภาษณ์นายปรีดี จึงสามารถเก็บข้อมูลมาเขียนรายงานได้อย่างชัดเจน เริ่มจากการแสดงให้เห็นภาพว่า
“การกลับคืนมาตุภูมิของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ได้ประสพการต้อนรับจากมิตรสหายและประชาชนอย่างอบอุ่นมโหฬารเปนประวัติการณ์ ภาพการต้อนรับที่ท่าเรือเมื่อวันที่ ๒๑ เปนภาพตรึงใจและชี้ให้เห็นถึงความเลื่อมใสศรัทธาแท้จริง ที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้มีต่อท่านรัฐบุรุษหลักของประเทศผู้นี้ เช่นเดียวที่ พิมพ์ไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “จากจำนวนคนหลายหมื่นที่ไปคอยต้อนรับท่าน ย่อมชี้ให้เห็นว่าประชาชนทั้งไทยและชาวต่างชาติต่างถือเสมือนนายปรีดีเปนขวัญของประชาชนส่วนมากทั้งในเวลานี้และในเวลาข้างหน้า” และได้กล่าวอีกตอนหนึ่งว่า “เป็นธรรมดาอยู่เองที่พรพึงได้แก่ผู้ควรรับความสรรเสริญ” หนังสือพิมพ์มากฉบับได้แสดงบทความต้อนรับจับใจและจัดทำฉบับพิเศษแทบทุกฉบับ ได้รายงานข่าวการมาถึงและการต้อนรับอย่างละเอียด และเต็มไปด้วยไมตรีจิตต์ต่อรัฐบุรุษอาวุโส”

ปรีดี พนมยงค์ ท่ามกลางผู้มาต้อนรับ ที่สนามบินน้ำ ท่าเรือคลองเตย พ.ศ. 2490
กุหลาบยังเปิดเผยให้ทราบด้วยว่า ตอนที่นายปรีดีกลับมาถึงเมืองไทย เขากำลังมีอาการป่วย แต่ก็เริ่มปฏิบัติภารกิจต่างๆ ในเมืองไทยทันทีเลย
“แม้ว่าต้องตรากตรำต่อการปฏิบัติหน้าที่และการเดินทางไกล และทั้งที่กำลังป่วยอยู่ นับแต่ชั่วโมงแรกที่มาถึง นายปรีดีก็แทบจะมิได้ประสพการพักผ่อนเลย ในค่ำวันที่มาถึง นายปรีดีได้ตรงไปกราบศพท่านเชษฐบุรุษผู้เปนหัวหน้าของท่าน และอยู่เป็นเพื่อนศพ ๒ ชั่วโมง ในวันรุ่งขึ้นก็ต้อนรับการเยี่ยมของญาติมิตร และในบ่ายวันเดียวกันนั้นก็ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เปนเวลาชั่วโมงครึ่ง
สีหน้าปรีดีแช่มชื่นและแสดงถึงจิตต์ใจผ่องแผ้วก็จริง แต่สีหน้านั้นเอง ก็แสดงความอิดโรยกำลังด้วยในขณะเดียวกัน นายปรีดีได้กล่าวให้ที่ประชุมหนังสือพิมพ์ฟังว่า การเดินทางไปจำเริญสัมพันธไมตรีกับบรรดามิตรประเทศแทบทั่วโลกนั้น ทำให้ต้องอยู่ในกำหนดการต้อนรับอันหนักอึ้ง ประกอบกับอากาศหนาวจัดทำให้สุขภาพเสื่อมลงจนกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่ทำการ จึงต้องงดการเดินทางเพื่อรับการพยาบาล และจำต้องปฏิเสธด้วยความเสียใจยิ่งต่อคำเชิญของรัฐบาลอีก ๕ ประเทศ มีรัสเซีย อินเดีย อิหร่าน อียิปต์ และพม่า”
ในส่วนของภารกิจทูตสันถวไมตรีนั้น นอกเหนือจากที่จะต้องทำบันทึกรายงานต่อรัฐบาลที่ ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นายปรีดียังตั้งใจจะกล่าวปาฐกถาแจกแจงต่อประชาชนทั้งหลาย ซึ่งเรื่องนี้กุหลาบเขียนรายงานว่า
“โดยที่ได้เปนทูตไมตรีไปในนามของประเทศและชาวไทย ฉะนั้นท่านทูตไมตรีก็ได้ตั้งใจจะรายงานถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายไปให้ประชาชนทราบ การให้สัมภาษณ์ทางหนังสือพิมพ์จะทำโดยละเอียดก็ไม่ได้ ข้อความโดยละเอียดนั้น จะรายงานต่อประชาชนโดยทางปาฐกถาในไม่ช้า เพื่อประชาชนจะได้ทราบข้อเท็จจริงถี่ถ้วนและพิจารณาด้วยตนเอง จะพอใจเลือกปฏิบัติการอย่างใดต่อไป นายปรีดีกล่าวตอนท้ายว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างก็ย่อมแล้วแต่ประชาชนจะตัดสินเอาเอง”
เมื่อถูกถามถึงเครดิตที่จะได้รับต่างประเทศนั้น นายปรีดีกล่าวว่า เรื่องเช่นนี้เปนเรื่องที่จะต้องพูดกันโดยละเอียดและขอเอาไว้รายงานต่อประชาชนทางปาฐกถา และเมื่อถูกรุกเร้าให้ตอบว่าได้รับผลเพียงใด นายปรีดีก็ขอตัวด้วยวาจาอันสงบเสงี่ยม “อย่าให้กล่าวถึงผลเลย จะดูเปนอวดงานของตัวไป ผมอยากจะกล่าวแต่ข้อเท็จจริง ส่วนผลนั้นก็จะละไว้ให้ผู้อื่นพิจารณา จะตอบคุณแต่สั้นๆ สักคำสองคำว่า เรื่องเครดิตนั้นเรามีหวังอยู่มาก แต่ก็ประกอบด้วยเงื่อนไขหลายประการ ความสำเร็จในการเจรจาต่างประเทศนั้นต้องประกอบด้วยกำลังสองทาง คือกำลังความไมตรีกับกำลังความมั่นคงภายในประเทศของเราเอง ถ้าในประเทศมีความปั่นป่วนระส่ำระสายจนถึงเสียความมั่นคงแล้ว เราจะหวังให้ต่างประเทศเขาเชื่อถือเราได้อย่างไร ฉะนั้นขอพวกเราจงช่วยกันสร้างกำลังความมั่นคงขึ้นภายในประเทศเถิด”
กุหลาบยังยกเอาถ้อยคำของนายปรีดีที่ได้ฝากข้อเตือนใจถึงประชาชนมาลงพิมพ์ไว้ ความว่า
“เวลานี้นานาประเทศเขาลงมือก่อร่างสร้างตัวกันเปนการใหญ่แล้ว ส่วนประเทศของเราอยู่ข้างจะช้าไปหน่อยในการลงมือ แต่ก็ยังไม่สายเกินไป ถ้าได้รีบเร่งลงมือเสียในเวลานี้ ซึ่งกล่าวได้ว่าเปน ‘โอกาสทอง’ ของเรา และถ้าเราไม่รับเอาโอกาสนี้ ประเทศก็จะหลีกเลี่ยงความมืดมนในอนาคตไปไม่ได้ ขอเราจงรับ ‘โอกาสทอง’ ลงมือปฏิสังขรณ์ประเทศชาติทุกวิถีทาง”
ช่วงระหว่างนายปรีดีเดินทางอยู่ในต่างประเทศ ที่เมืองไทย พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศ ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “เชษฐบุรุษ” (แปลว่า บุรุษผู้อยู่ในฐานะเสมือนพี่ผู้ใหญ่) ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ก่อนหน้านายปรีดีจะกลับมาถึงเพียงหนึ่งสัปดาห์ ความผูกพันที่นายปรีดีมีต่อพระยาพหลฯ นั้นช่างลึกซึ้ง ถึงตนเองจะมีอาการป่วยไข้เยี่ยงไรนายปรีดีก็ย่อมจะต้องมากราบศพให้จงได้
ตัวอยู่ไกลในต่างประเทศนานหลายเดือน แต่ก็มีผู้อยากทราบว่านายปรีดีได้รับรู้ความเป็นไปในเมืองไทยบ้างหรือไม่ เรื่องนี้กุหลาบยกเอาถ้อยคำสัมภาษณ์ของนายปรีดีมาอธิบายให้กระจ่าง
“เมื่อมีผู้ถามถึงว่า ขณะอยู่ในต่างประเทศได้รับรายงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในอยู่เสมอหรือไม่ นายปรีดีตอบว่าท่านต้องเดินทางอยู่เสมอ ฉะนั้นก็นับว่าไม่ได้รับรายงานอะไรนอกจากในเรื่องสำคัญๆ เช่น มรณกรรมของ ม.ล.กรี และท่านเชษฐบุรุษ และเมื่อถูกถามถึงข้อปัญหาการเมืองภายใน เช่นการเปลี่ยนรัฐบาล การใส่ความร้ายต่อกัน และเรื่องอื่นๆ อีก ท่านรัฐบุรุษอาวุโสก็ได้แต่โบกมือ และขอร้องว่า “ขออย่าให้ผมล่วงล้ำเข้าไปพูดถึงเรื่องการเมืองภายในเลย ผมประสงค์แต่จะรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของผมในต่างประเทศเท่านั้น” เมื่อถูกรุกเร้าอีก ๒ - ๓ ครั้ง ท่านก็ยิ้มละมัยและตอบว่า “ผมได้ผ่านเมืองของพระพุทธเจ้ามาแล้ว ก็ตั้งใจจะขอรับและให้อโหสิกรรมในทางการเมืองกันเสียที ในส่วนหนังสือพิมพ์นั้น ถ้าผมได้ทำการล่วงเกินอะไรไปบ้างก็จงอโหสิให้ผม และในส่วนที่หนังสือพิมพ์ฉบับใดคนใดล่วงเกินผม ผมก็อโหสิให้ เปนอันจบสิ้นข้อขุ่นข้องใจกันเสียที แล้วเรามาช่วยกันคิดทำนุบำรุงบ้านเมืองของเราต่อไป ท่านกล่าวลงท้ายขอความเห็นใจว่า “คุณเอ๋ย เมื่อผมเปนนายกรัฐมนตรีนั้น ผมต้องทำงานเกือบ ๒๔ ชั่วโมง ต้องแบกภาระหนักเหลือเกิน ก็อาจจะหงุดหงิดในบางคราว และในเวลาเช่นนั้นก็อาจจะทำอะไรพลาดพลั้งเกินเลยไปบ้าง ขอให้อโหสิกันเสียเถิด”
เมื่อมีผู้ปรารภให้นายปรีดีฟังว่า ได้มีผู้กล่าวถึงความเป็นไปในต่างประเทศของท่านโดยไม่ตรงกับความเปนจริงตามที่ท่านได้แถลงให้ฟังหลายอย่างนั้น นายปรีดีได้กล่าวว่า “ข้อนั้นก็ช่างเขาเถิด เมื่อคุณได้ทราบความจริงตามที่ผมแถลงก็นับว่าพอแล้ว ส่วนที่ผู้ใดได้พูดหรือจะพูดในทางที่ไม่เปนการดีต่อผมและไม่เปนความจริงนั้น เขาก็จะได้รับวินิจฉัยจากผู้ที่รู้ความจริงเองว่าเขาเปนคนอย่างไร ส่วนผมก็จะไม่เอาธุระกับเรื่องเช่นนั้นแล้ว” ท่านกล่าวคำลงท้ายว่า “ผมตั้งใจว่าจะเพ่งเล็งศึกษาและประกอบการต่างๆ ที่จะบังเกิดผลเปนคุณประโยชน์แท้จริงแก่ส่วนร่วม และประเทศชาติเท่านั้น จงปล่อยผมไว้ทำการในเรื่องเช่นนี้เถิด”
ตามความข้างต้น จะเห็นว่าภายหลังกลับจากเยือนหลายประเทศในฐานะทูตสันถวไมตรี นายปรีดีสามารถเอาชนะอารมณ์หมองมัวและสภาวะขุ่นเคืองใจต่อการที่เขาถูกคนหลายฝ่ายและหนังสือพิมพ์โจมตีตลอดในกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ทั้งยังถูกใส่ร้ายว่ามีส่วนพัวพันกับการลอบปลงพระชนม์ นายปรีดียินดีที่จะให้อภัยและอโหสิให้กับคนอื่นๆ ที่กระทำต่อเขา รวมถึงขออโหสิในส่วนที่ตนเองทำบกพร่องผิดพลาดไป
กุหลาบ ปิดท้ายบทความ “รัฐบุรุษอาวุโสกลับคืนสู่มาตุภูมิ” ว่า
“การที่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสได้จากประเทศไทยไป ๓ เดือนครึ่ง และได้ออกไปอยู่ห่างไกลจากกลิ่นไอความผันผวนทางการเมืองภายใน ครั้นเมื่อกลับเข้ามา ถึงแม้ได้รับความเสื่อมทางสุขภาพติดตัวมาก็ตาม แต่ในส่วนจิตต์ใจแล้ว เราเห็นว่าท่านรัฐบุรุษมีจิตต์ใจผ่องแผ้วจำรัสจำรูญยิ่งกว่าเมื่อตอนจากไป จิตต์ใจเช่นนี้เป็นจิตต์ใจที่แยกออกไม่ได้จากกายของรัฐบุรุษหลักของประเทศ ขอจิตต์ใจจำรัสจำรูญซึ่งทนทานต่อการพิสูจน์สัจจะและความบริสุทธิ์ จงยืนยงคงอยู่ในการบำเพ็ญกรณียกิจของท่านรัฐบุรุษอาวุโสสืบต่อไปชั่วกาลนาน”
แม้จะมีสภาพจิตใจแข็งแกร่งและได้รับกำลังใจจากนักหนังสือพิมพ์อย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ อาจเป็นเพราะแรงบีบคั้นหลายประการ อีกทั้งกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ได้ถูกหลายฝ่ายทางการเมืองฉวยนำมาใช้ทำลายนายปรีดีอย่างหนักหน่วง นั่นเป็นเหตุให้ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2490 นายปรีดีตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กุหลาบซึ่งคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาตลอด จึงเขียนบทความชื่อ “การลาออกของนายปรีดี” ออกเผยแพร่ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ (คาดว่าน่าจะลงพิมพ์ใน ประชามิตร-สุภาพบุรุษ) เพื่อแสดงความเห็นใจต่ออดีตนายกรัฐมนตรี ดังถ้อยความเปิดฉากที่ว่า
“ในระหว่างเดือนสองเดือนมานี้ กระแสร์การเมืองภายในของเราดำเนินเข้าสู่ความอลเวงหนักขึ้น ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็เต็มไปด้วยคำพูดของนักการเมืองที่พูดกระทบกันไปกระทบกันมาแทบมิเว้นแต่ละวัน เปนของประหลาดที่การเมืองของเราดำเนินไปด้วยการตั้งหน้าแต่จะระบายความรู้สึกของนักการเมือง แทนที่จะเปนการแสดงเหตุผล, สถิติ หรือแผนการ ในอันจะบูรณะสร้างเสริมความไพบูลย์ในทางเศรษฐกิจ, การเงิน และอื่นๆ ดังที่นานาประเทศเขาบากบั่นดำเนินการกันอยู่ในบัดนี้”
ก่อนที่จะกล่าวถึงบทบาทของ นายปรีดี ในตอนนั้น
“ด้วยเหตุการณ์เมืองของเราตกอยู่ในความพลุ่งพล่านดังกล่าว นักการเมืองและรัฐบุรุษบางท่านที่ประสงค์จะหลีกให้ห่างไกลจากความสับสนอลหม่านของกระแสร์การเมือง จึงได้ใช้ความสำรองอันพิเศษ ดังเช่นนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อจะตอบสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ก็ให้คำตอบเปนลายลักษณ์อักษร แทนที่จะตอบด้วยวาจา การที่ให้คำตอบเปนลายลักษณ์อักษรนั้น ท่านเจ้าของคำตอบก็ได้ชี้แจงแล้วว่า “เพื่อระมัดระวังให้ประชาชนได้ทราบคำตอบโดยถ้อยคำที่ตรงกับความประสงค์ของผู้ตอบ”
คำตอบสัมภาษณ์ของนายปรีดี ครั้งหลังที่สุดนั้น เปนการยืนยันความดำริในการลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเปนการให้เหตุผลแก่ความดําริข้อนั้น การลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรของนายปรีดี ซึ่งบัดนี้ก็ได้มีประกาศเปนทางการแล้วนั้น ย่อมจะเปนที่เสียดายกันอย่างยิ่ง ไม่แต่ในวงราษฎรชาวอยุธยา ซึ่งนายปรีดีได้เปนผู้แทนของเขาอยู่เท่านั้น หากจะแผ่คลุมไปในวงของราษฎรทั่วๆ ไปด้วย กรณียกิจของนายปรีดีที่ได้ปฏิบัติต่อประเทศชาติ นับแต่ได้เข้าร่วมในการสถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตย ได้เปนกำลังสำคัญของระบอบนั้น และได้ยึดมั่นอยู่ในอุดมคติของการปฏิวัติตลอดมา จนถึงได้ประกอบกิจเอาชีวิตเข้าฝ่าภยันตรายกอบกู้เอกราชให้แก่ประเทศเปนที่สุด เกียรติคุณของท่านผู้นั้นก็แจ่มจรัสอยู่ในสายตาของประชาราษฎร
ด้วยเหตุที่นายปรีดีมีความสนใจเปนพิเศษ ในการจำเริญเกษตรกรรมอันเปนศูนย์ความไพบูลย์แห่งเศรษฐกิจของประเทศ และมีความใส่ใจที่จะยกมาตรฐานการครองชีพของมวลชนกสิกรเปนอย่างยิ่ง การลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองของนายปรีดี จึงย่อมจะเรียกความเสียดายอาลัยจากปวงกสิกรเปนพิเศษ อย่างไรก็ดี โครงการจำเริญเกษตรกรรมที่นายปรีดีได้ริเริ่มไว้แล้ว เช่นโครงการสร้างเขื่อนชัยนาทนั้น ก็คงจะได้รับการบริหารให้ลุล่วงสำเร็จไป”
ไม่เพียงให้กำลังใจ หากกุหลาบยังเชื่อมั่นในปณิธานของนายปรีดีที่มุ่งทำประโยชน์ต่อประเทศมิเสื่อมคลาย
“ในการลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎรนั้น นายปรีดีได้กล่าวเหตุผลไว้ว่า มีความเหน็ดเหนื่อย ใคร่จะได้พักผ่อน นอกจากที่กล่าวให้ปรากฏแล้ว นายปรีดีอาจจะมีเหตุอย่างอื่นอีก แต่แม้อาศัยเหตุผลเพียงเท่าที่แสดงออก เราก็เห็นว่าพอแล้ว เมื่อคนๆ หนึ่งได้อุทิศชีวิตและความสำราญส่วนตัว รับใช้ประเทศชาติด้วยตรากตรำงานหนักและเสี่ยงภัยชีวิตมาถึง ๑๕ ปี และในที่สุดได้ร้องขอแต่เพียงการพักผ่อน เพื่อที่จะได้รับความสงบทางจิตต์ใจบ้าง เราคิดว่านั่นเปนคำร้องขอที่เพียงแต่จะขอเสรีภาพในการจะได้เลือกใช้ชีวิตตามที่ประสงค์จะใช้ โดยความเปนธรรมของเสรีชนคนหนึ่งเท่านั้น
เราเชื่อแน่ว่า นายปรีดีจะไม่ละทิ้งการของประเทศไปเลย ดังที่ท่านผู้นั้นก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า “ส่วนหน้าที่ของข้าพเจ้าต่อราษฎรและประเทศชาตินั้น ข้าพเจ้าจะไม่ละทิ้ง” เมื่อนายปรีดีได้พักผ่อนพอสมควรและเมื่อใดเปนที่ประจักษ์ชัดว่าบริการของท่านจักเปนคุณประโยชน์สาระสำคัญแก่ประเทศแล้ว นายปรีดีก็คงจะสนองบริการของท่านต่อประเทศเปนแน่”
ที่กล่าวมาทั้งหมดคือสถานการณ์ช่วงหลังเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ 8 สวรรคต และก่อนหน้าจะเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 กลุ่มทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตั้งแต่กลางดึกวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องจนเช้าวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบเผด็จการอันเลวร้ายในเมืองไทย เหตุการณ์นี้ส่งผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมืองระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศอีกยาวนาน
กุหลาบ สายประดิษฐ์ นับเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ประพฤติตนประหนึ่ง “มิตรในยามยาก” ของ นายปรีดี พนมยงค์ ครั้นเมื่อประจักษ์ชัดว่านายปรีดี กำลังเผชิญมรสุมและพิษภัยทางการเมืองเล่นงานอย่างไม่เป็นธรรมนับแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2489 เป็นต้นมาจวบจนปี พ.ศ. 2490 กุหลาบจึงอาศัยพลานุภาพแห่งถ้อยคำและตัวอักษรเขียนบทความขึ้นมาจำนวนไม่น้อยชิ้นเพื่อส่งเสริมพลังใจให้กับนายปรีดี ขณะเดียวกันก็มุ่งสื่อสารต่อผู้อ่านทั้งหลายให้เล็งเห็นและเข้าใจว่า ถึงอย่างไรนายปรีดีก็คือบุคคลสร้างประโยชน์ให้ชาติบ้านเมือง
การให้กำลังใจของกุหลาบที่พยายามส่งถึงนายปรีดี จึงเป็นวิธีแบบนักหนังสือพิมพ์ผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมโดยแท้
เอกสารอ้างอิง :
- กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการและหมายเหตุบรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์), 2548.
- คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาลกุหลาบ สายประดิษฐ์. ตรีศิลป์ บุญขจร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงานโครงการ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), 2548.
- ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en chine populaire โดย พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนง ภควรวุฒิ. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529.
- ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์, พลเอก. ๑๑๑ ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๑. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552.
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- ปรีดี พนมยงค์
- รัฐประหาร 2490
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
- สงครามโลกครั้งที่ 2
- รัฐบุรุษอาวุโส
- ศรีบูรพา
- สุรพันธ์ สายประดิษฐ์
- วาณี พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- ประธานาธิบดีทรูแมน
- องค์การสหประชาชาติ
- ขบวนการเสรีไทย
- เมดัล ออฟ ฟรีดอม
- ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- เชษฐบุรุษ
- พระยาพหลพลพยุหเสนา