ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช  ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในประเทศญี่ปุ่น ภาค 2 ภารกิจหลังการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา

19
พฤษภาคม
2568

 

๕. การตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา

ความดำริที่จะจัดตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพาเป็นของนายกรัฐมนตรี พลเอกโตโจโดยแท้ มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะรวบรวมงานเกี่ยวกับบรรดาประเทศในภูมิภาคเข้าอยู่ศูนย์กลางเดียวกัน มิให้กระจัดกระจายไปตามกระทรวงต่าง ๆ เป็นทางกระชับความร่วมมือกับญี่ปุ่นให้สนิทสนมแน่นแฟ้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินสงคราม นายโตโง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยแต่เริ่มแรก เพราะเท่ากับเป็นการตัดอำนาจของกระทรวงการต่างประเทศลงไปมาก โดยจะโอนกรมกิจการเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกไปขึ้นกับกระทรวงใหม่ ซึ่งจะรวมสภากิจการจีน สภากิจการแมนจูเรีย และกระทรวงกิจการโพ้นทะเลเข้าไว้ด้วย วันที่ ๑ กันยายน ๒๔๘๕ นายโตโง รัฐมนตรี และนายนิชิ รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่ พลเอก โตโจเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเสียเอง บรรดาผู้แทนทางการทูตของประเทศในมหาเอเชียบูรพาต้องติดต่อกับกระทรวงใหม่ นอกจากในเรื่องที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “การทูตโดยแท้” หรือพิธีการทูตอันได้แก่ ปัญหาเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันทางการทูตเท่านั้น จึงจะติดต่อทางกระทรวงการต่างประเทศทำให้สถานทูตที่เกี่ยวข้องเกิดความระแวงว่า กระทรวงใหม่จะทำหน้าที่กระทรวงอาณานิคมกลาย ๆ

เมื่อท่านอัครราชทูตได้รับโอกาสให้ไปพบพลเอก โตโจ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศครั้งแรก พลเอก โตโจสาธยายให้ฟังว่า ญี่ปุ่นอยากจะถือ ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีละม้ายคล้ายคลึงกัน ต่างกับประเทศในยุโรปและอเมริกาซึ่งอาจจะต้องมีพิธีรีตองคุมอยู่ การติดต่อระหว่างญาติพี่น้องน่าจะถือเป็นกันเอง ตัดพิธีรีตองออกเสียทุกสิ่งทุกอย่างจะรวดเร็วดีขึ้น ซึ่งจำเป็นอย่างมากในยามที่เอเชียกำลังเผชิญสงคราม ใหญ่อยู่กับอังกฤษและอเมริกา โดยเป็นที่เข้าใจกันในตัวว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำของมหาเอเชียบูรพา

นอกจากด้านกระทรวงการต่างประเทศแล้ว โครงการจัดตั้งกระทรวงใหม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านในคณะองคมนตรีอย่างหนัก แต่พลเอก โตโจยืนแข็งขันจะให้ตั้งจนได้ ในที่สุดสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิได้ลงพระนามาภิไธย ประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพาในเดือนตุลาคม และกระทรวงใหม่ เปิดทำการในเดือนต่อมา โดยมีนายอาโอกิ เป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรก ส่วนทางกระทรวงต่างประเทศ พลเอก โตโจตั้งให้นายมาซายุกิ ตานี รับตำแหน่งแทน

 

๖. การทำสัญญาวัฒนธรรม

ญี่ปุ่นถือว่าในการสถาปนามหาเอเชียบูรพาให้อยู่ในวงไพบูลย์ร่วมกัน ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่ความเข้าใจและความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศทั้งหลายในภูมิภาค ญี่ปุ่นประสงค์จะให้มีการจัดทำความตกลงทางวัฒนธรรมกับประเทศไทย โดยนายโกชิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ เป็นผู้ยกเรื่องขึ้นปรารภกับนายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้สนใจในปัญหาเรื่องวัฒนธรรมอยู่แล้ว เป็นอันตกลงในหลักการว่า ท่านรัฐมนตรีจะเป็นผู้เตรียมยกร่างความตกลงขึ้นเสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณา หากฝ่ายญี่ปุ่นเกรงจะล่าช้า และคงมีร่างความตกลงอยู่แล้ว จึงเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๕ พลเอกโตโจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เชิญท่านเอกอัครราชทูตดิเรก ชัยนาม ให้ไปพบที่กระทรวงและมอบร่างสนธิสัญญาส่งเสริม วัฒนธรรมระหว่างสองประเทศให้ส่งต่อถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ฝ่ายไทยเสนอขอแก้ไขบางประการ เมื่อเป็นอันตกลงกันได้ จึงได้มอบให้ท่านเอกอัครราชทูตดิเรกเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญา โดยมิได้มีส่วนร่วมในการเจรจาแต่ประการใดเลย

สาระสำคัญของสนธิสัญญาฉบับนั้น ได้แก่การส่งเสริมความสัมพันธ์ทาง วัฒนธรรมระหว่างสองประเทศเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ซาบซึ้ง ด้วยการจัดให้มีการประชุมทางวัฒนธรรมเป็นครั้งคราว การขยายกิจการขององค์การทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม บัณฑิตยสถาน หอสมุด พิพิธภัณฑสถาน สถานการศึกษา สถานการสังคมสงเคราะห์ การแลกเปลี่ยนศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา นักประพันธ์ นักการศาสนา ศิลปิน นักนาฏศาสตร์ นักกีฬา นักท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนเอกสาร โฆษณา ฟิล์มภาพยนตร์ ภาพถ่าย แผ่นเสียง บทดนตรี ฯลฯ การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ต่อกัน การร่วมมือทางวิทยุกระจายเสียง รวมตลอดทั้งการจัดตั้งสถานวัฒนธรรมในนครหลวงของแต่ละฝ่าย

 

๗. การโอนดินแดนบางแห่งในการปกครองของอังกฤษให้แก่ประเทศไทย

อันปัญหาเรื่องการโอนดินแดนบางแห่งในการปกครองของอังกฤษให้แก่ประเทศไทย ความจริงได้เริ่มปรากฏเป็นการผูกพันฝ่ายญี่ปุ่นแล้วตั้งแต่ทำกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๘๔ ในรูปพิธีสารลับผนวกท้าย ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นให้เป็นคำมั่นว่า จะช่วยประเทศไทยให้ได้รับดินแดนที่เสียแก่ต่างชาติคืน ทั้งนี้หมายถึงดินแดนบางส่วนในพม่าและมลายู เป็นการแลกกันกับความผูกพันของไทยที่จะช่วยญี่ปุ่นในการทำสงครามกับฝ่ายตะวันตก เพื่อประโยชน์แห่งการสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก แต่ญี่ปุ่นมิได้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามคำมั่นที่ให้ไว้

เมื่อเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นมาพบนายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เย็นวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๘๖ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า พลเอก โตโจจะแถลงต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ในวันที่ ๒๕ ถึงเรื่องเอกราชของพม่า โดยมีข้อกำหนดให้มีอำนาจปกครองดินแดนที่เป็นของประเทศพม่า ยกเว้นสหรัฐไทยใหญ่และดินแดนกะเหรี่ยงที่อยู่ทางใต้ของสหรัฐไทยใหญ่ ฝั่งขวาของแม่นํ้าสาละวิน แต่จะประกาศให้เอกราชได้แน่นอนเมื่อใดขึ้นอยู่กับทางนายบามอจะพร้อมทั้งรัฐบาล ปกครองได้จริงจังเมื่อใด เอกอัครราชทูตถามความเห็นของรัฐมนตรีในเรื่องเกี่ยวกับสหรัฐไทยใหญ่

นายวิจิตรตอบว่า ชาวสหรัฐไทยใหญ่เป็นเชื้อชาติไทยโดยแท้ และกองทัพไทยที่ เข้าไปยึดครองก็ได้เสียเลือดเนื้อในการสู้รบมาก จึงน่าจะตกเป็นของไทย และมีความเห็นต่อไปด้วยว่า ดินแดนทางปะลิส ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ที่เพิ่งเสียให้แก่อังกฤษ เมื่อ ๓๒ ปีก่อนนั้น ก็ควรกลับเป็นของไทยด้วย เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครอง ของไทยมาหลายร้อยปี เมื่อรัฐมนตรีบันทึกการสนทนากับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเสนอ ให้นายกรัฐมนตรีทราบ นายกรัฐมนตรีได้แทงความเห็นลงมาว่า การจะได้ดินแดนมานั้น ไทยจะต้องส่งกำลังทหารเข้าไปรักษา ท่านจึง “ไม่คิดจะได้ดินแดนเพิ่มเติม” เพราะการได้ดินแดนโดยปราศจากอำนาจก็เท่ากับไม่ได้อะไรเลย ส่วนทางสหรัฐฯ ไทยเดิมนั้น ไทยเข้าไปยึดอยู่แล้ว ไทยก็จำต้องพยายามรักษาไว้ หากญี่ปุ่นจะเข้ามารักษา ก็จะต้องใช้กำลังหลายหมื่น เขาคงไม่เอาแน่ คงต้องการสงวนกำลังไว้ใช้ทางอื่น จึงไม่มีความจำเป็นที่ไทยจะแสดงความกระตือรือร้นอยากได้หมูในอวย ซึ่งจะเป็นทางให้ญี่ปุ่นขอร้องอะไร ๆ อีกมาก ส่วนปะลิส ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานูนั้น ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าอย่าไปคิดเอามาเลย เพราะรักษาไว้ไม่ได้ ไทยไม่มีกำลังทั้งทางเรือและทางอากาศเพียงพอ ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีเน้นว่า สิ่งที่ไทยอยากจะได้ก็คือ “ความไว้วางใจจากญี่ปุ่น” และเมื่อวางใจกันแล้ว ก็ขอให้ถอนทหารออกไปเสียให้หมด เรายินดีช่วยโดยไม่เปลี่ยนแปลง และจะทำให้คนไทยสำนึกในไมตรีของชาติญี่ปุ่นมากยิ่งกว่าทำอะไรให้

ต่อมาในเดือนเมษายน นายอาโอกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการมหาเอเชีย บูรพา มาเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังจากเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงใหม่ที่ แยกออกมาจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าเยี่ยมแสดงคารวะต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และนายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศไทย นายวิจิตรถือโอกาสถามถึงปัญหาดินแดนที่ญี่ปุ่นเคยให้ ปวารณาไว้ตามพิธีสารลับผนวกท้ายกติกาสัญญาพันธไมตรีว่า ญี่ปุ่นจะช่วยให้ ประเทศไทยได้รับดินแดนที่เคยเสียไปคืน นายอาโอกิอ้างว่า เมื่อพบนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นท่านพูดแสดงความคิดเห็นอย่างใดในเรื่องนี้ ซึ่งนายวิจิตรตอบว่า เป็นเพราะ ท่านเกรงใจ ไม่อยากพูดทวง นายอาโอกิอ้างว่ายังไม่ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับดินแดน เหล่านั้นดี นายวิจิตรรับจะทำบันทึกสรุปประวัติการที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดน ให้แก่ต่างชาติ เพื่อให้ฝ่ายญี่ปุ่นเกิดความเข้าใจถ่องแท้แน่นอน

ในเดือนพฤษภาคม มีการประชุมของคณะมนตรีจักรวรรดิญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียว พลเอก โตโจ นายกรัฐมนตรี ได้ยกปัญหาที่คั่งค้างมานี้ขึ้นปรารภในที่ประชุม มีผู้ที่ ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก แต่นายกรัฐมนตรีก็สามารถจูงใจให้ที่ประชุมอนุมัติให้ดำเนินการยกดินแดนด้านตะวันออกของรัฐฉานและรัฐในตอนเหนือของสหพันธ์ มลายูให้แก่ประเทศไทย เพื่อเป็นการเอาใจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผูกมัด ประเทศไทยให้อยู่ร่วมกับญี่ปุ่นในสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร พลเอก โตโจวางแผน จะเดินทางไปเยือนประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัย มิได้กำหนดการเดินทางเมื่อใดแน่นอน ในขั้นแรกได้สั่งให้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ แจ้งความดำริขอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปพบที่สิงคโปร์ เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตกลงรับในหลักการ ได้สั่งให้เอกอัครราชทูตดิเรกนำความไปแจ้งต่อนายอาโอกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาเอเชียบูรพา ซึ่งแสดงความพออกพอใจมาก เพราะถือเป็นการเจริญสัมพันธไมตรให้สนิทแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยนายอาโอกิได้แย้มพรายด้วยว่า จะเป็นโอกาสให้มีการ ปรึกษาหารือกันในด้านความช่วยเหลือของญี่ปุ่นเกี่ยวกับความปรารถนาของ ประเทศไทยอันมีมานานด้วย อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยของทั้งสองฝ่าย ยังต้องปกปิดกำหนดวันพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองไว้พลางก่อน

รอมาจนวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๖ เอกอัครราชทูตดิเรกจึงได้รับแจ้งเป็นหนังสือ ส่วนตัวจากนายอาโอกิว่า พลเอก โตโจตัดสินใจจะเดินทางไปพบจอมพล ป. พิบูล สงครามที่กรุงเทพฯ เพื่อการนี้นายอาโอกิจะติดต่อกับทางสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ที่กรุงเทพฯ โดยตรงในรายละเอียด

พลเอก โตโจเดินทางถึงสนามบินดอนเมืองวันรุ่งขึ้น และได้เข้าพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนเช้าวันที่ ๔ พร้อมกับเอกอัครราชทูตทสุโบกามิและนายพลโท นากามูระ และได้ตกลงในหลักการกันว่า ญี่ปุ่นจะโอนการปกครองสี่รัฐในมลายูให้ แก่ไทย เพิ่มจากสองรัฐในพม่าซึ่งไทยเข้ายึดครองอยู่แล้ว ทางการของไทยจัดให้มี การชุมนุมเดินขบวนของยุวชนเพื่อเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริก ส่วนจอมพล ป. พิบูล สงคราม เองมิได้แสดงอาการกระตือรือร้นเท่าใดนัก เพราะสถานะสงครามด้านยุโรปกำลังเลวลงสำหรับฝ่ายอักษะ ฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของประเทศ อิตาลี ทำให้เกิดความรู้สึกว่า กระแสสงครามผันแปรอย่างรวดเร็ว พลเรือเอก บาโดกลีโอ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทนมุสโสลินี แล้วหันหน้าเข้าหาเป็นญาติดีกับ ฝ่ายสัมพันธมิตร

ในตอนนั้นได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมญี่ปุ่น-ไทย ลงวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๖ มีข้อความสำคัญว่า ญี่ปุ่นได้ตกลงให้รวมดินแดนในตอนเหนือของมลายู ๔ จังหวัด ได้แก่ ปะลิส ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู และสองรัฐไทยเดิม ได้แก่ รัฐเชียงตุง และรัฐเมืองพาน เข้าเป็นอาณาจักรไทย

ในถ้อยแถลงของพลเอก โตโจต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๔๘๖ ท่านได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของท่านในการมอบดินแดนดังกล่าวแก่ ประเทศไทยว่า เพื่อให้ “จักรวรรดิญี่ปุ่นและประเทศไทยได้มีความเข้าใจกันอย่างดี ที่สุด และขอให้ช่วยขจัดข่าวอกุศลของฝ่ายข้าศึกที่พยายามก่อกวนให้ไทยกับญี่ปุ่นแตกแยกกันและให้เกิดความเข้าใจผิดในเจตจำนงอันแท้จริงของกันและกันเสีย” เสร็จแล้วพลเอก โตโจเดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมกองกำลังทหารของญี่ปุ่นในภูมิภาค ต่อไป

การไม่กระตือรือร้นหรือยินดียินร้ายของท่านจอมพลเป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด พลโท นากามูระ ได้กล่าวในบันทึกของท่าน ที่นายเออิจิ มูราชิมา แปลเป็นภาษาไทย เกี่ยวกับพฤติการณ์ตอนนี้ว่า เมื่อพลเอก โตโจพูดจะมอบดินแดนให้แก่ไทย หน้าตา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แสดงอาการดีใจเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับยิ้มจนแก้มปริ พลเอก โตโจคงมีความรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมจอมพลไม่แสดงอาการดีใจมากกว่าน

อย่างไรก็ตามคํ่าวันที่ ๔ นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงเป็น เกียรติแก่พลเอก โตโจที่ทำเนียบสามัคคีชัยอย่างมโหฬาร มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้ง ฝ่ายทหารและพลเรือน แต่งกายเต็มยศเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสอันยิ่งใหญ่ในความ สัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

พลเอก โตโจได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งไม่เคยพระราชทานให้แก่คนต่างชาติเลย นับเป็นเกียรติอันสูงสุด และได้เดินทาง ออกจากประเทศไทยไปในตอนเช้าวันที่ ๕ เพื่อตรงไปยังเกาะสิงคโปร์ที่ตั้งกอง บัญชาการทหารญี่ปุ่น

เนื่องในการมาประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีโตโจคราวนั้น พลโท นากามูระ ผู้บัญชาการกำลังทหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้เขียนบันทึกไว้ว่า นายกรัฐมนตรีขอ ให้พาไปนมัสการวัดพระแก้ว เกิดความประทับใจในความสง่างามและวิจิตรพิสดาร ของพระอุโบสถมาก ถึงกับกล่าวกับพลโท นากามูระว่า วัดนี้คือสิ่งสุดยอดของ วัฒนธรรมตะวันออก เป็นสมบัติลํ้าค่า ควรใช้ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานรักษาป้องกัน การโจมตีทางอากาศของข้าศึก พลโท นากามูระตอบโดยพลันว่า ปืนใหญ่ต่อสู้ อากาศยานในกำลังทหารญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยมีอยู่เพียงหมวดเดียว ผสมกับ ปืนใหญ่ของไทยซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อย ไม่มีทางจะสู้ข้าศึกได้ ญี่ปุ่นไม่มีเครื่องบินสักลำเดียวที่จะใช้ต่อสู้ตอบโต้เครื่องบินของศัตรูเพื่อรักษากรุงเทพมหานครไว้ให้ได้ นายกรัฐมนตรีรับทราบโดยดุษณีภาพ มิได้กล่าวแสดงออกแต่อย่างใด หลังจากกลับญี่ปุ่นอีกไม่นาน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเครื่องบินขับไล่ฮายามูซ่า ๒๑ ลำมาให้กองทัพ อากาศไทย พร้อมทั้งยังได้จัดให้ส่งนายทหารอากาศไทยไปฝึกการบินที่ชวาเป็นเวลา หลายสัปดาห์ เพื่อให้คุ้นกับการใช้เครื่องบินใหม่ที่ส่งมาให้นั้น

ในความเห็นส่วนตัวของพลโท นากามูระ ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาคงไม่ประสงค์จะทำลายสมบัติประจำชาติของไทย เช่น วัดพระแก้ว เพราะถ้ากระทำจะสร้างความเคียดแค้นอย่างมหาศาล ฉะนั้น จึงไม่สู้จะวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ของวัดพระแก้วเท่าใดนัก แต่เครื่องบินที่ญี่ปุ่นส่งมาให้นั้นเป็นประโยชน์เพิ่มพลกำลังให้แก่กองทัพอากาศไทยไม่น้อย

เมื่อตกลงในหลักการว่า ญี่ปุ่นจะมอบดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝ่ายไทยแล้ว จึงได้ พิจารณากันว่า จะพึงดำเนินการต่อไปอย่างใด โดยเฉพาะมีปัญหาในเรื่องรูปแบบว่า จะพึงทำเป็นกติกาสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างรัฐบาล หรือจะเป็นความตกลง ซึ่งจะต้องหารือกับองคมนตรีของญี่ปุ่นด้วย ฝ่ายไทยอยากจะให้ทำสัญญากันได้ใน วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ซึ่งตรงกับวันเกิดของนายกรัฐมนตรี หรืออย่างน้อยก็ให้การ ลงนามย่อกันไว้ก่อนในวันนั้น ทางฝ่ายญี่ปุ่นอ้างว่า การมอบดินแดนเป็นเรื่องเกี่ยวกับ การทหาร ซึ่งทางกองบัญชาการญี่ปุ่นที่สิงคโปร์และกองบัญชาการทหารสูงสุดของ ญี่ปุ่นที่โตเกียวจะต้องเห็นด้วย และเสนอตรงต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ มิใช่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการโดยลำพังยิ่งกว่านั้นยังมีปัญหาเรื่องการ ป้องกันดินแดนที่จะยกให้ไทยจากศัตรูด้วยกำลังทหารไทยจึงจะต้องเข้ารับช่วงแผน ป้องกันจากฝ่ายทหารญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเจรจาระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย

ด้านรัฐบาลญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีความเห็นแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นควรจัดทำเป็นรูปกติกาสัญญาระหว่างรัฐบาล แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่จำต้องทำกติกาสัญญา ส่งมอบดินแดนให้แก่กันก็เพียงพอ ฉะนั้น จึงต้องรอให้พลเอก โตโจ กลับถึงโตเกียวก่อน จึงจะวินิจฉัยชี้ขาดได้

รอมาจนวันที่ ๑ สิงหาคม ฝ่ายญี่ปุ่นจึงมีตัวสัญญาพร้อมกับหนังสือแลกเปลี่ยน มาเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอร่างเป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งจะต้องแปล เป็นภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทยที่จะใช้ในการลงนาม และเสนอให้ลงนามกันทกรุงเทพฯ ระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการ กระทรวงการต่างประเทศ กับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และตกลงกันว่า เป็นสัญญา ระหว่างรัฐบาลไม่จำต้องมีการให้สัตยาบัน ลงนามกันแล้วก็ใช้บังคับได้ทันที

โดยหนังสือลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๘๖ ฝ่ายไทยแจ้งให้ญี่ปุ่นทราบถึงความ มุ่งหมายของรัฐบาลในการรับดินแดนมาปกครองว่า รัฐบาลไทยจะส่งเสริมความ สงบเรียบร้อย สวัสดิภาพ และความผาสุกของประชากรให้ได้รับผลปฏิบัติอย่าง เที่ยงธรรม และจะเคารพนิติประเพณีอันปฏิบัติกันมาช้านานบนดินแดนเหล่านั้น รวมทั้งนิติประเพณีเจ้าพื้นเมือง

การเจรจาดำเนินที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรรณไวทยากร เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และเอกอัครราชทูตทสุโบกามิ เป็นหัวหน้าฝ่ายญี่ปุ่น ตกลงกันได้ในหลักการเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม เป็นเอกสาร ๓ ฉบับ ฉบับแรกเรียกว่า สนธิสัญญาว่าด้วยอาณาเขตของประเทศไทยในมาลัยและ ภูมิภาคฉาน ฉบับที่สองเป็นหนังสือแลกเปลี่ยนซ้อมความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติ เกี่ยวกับดินแดนที่โอน โดยเฉพาะเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของคนญี่ปุ่นที่มี อยู่ก่อนสงคราม และฉบับที่สามกำหนดยืนยันนโยบายของรัฐบาลไทยในการ ปกครองดินแดนที่โอนแล้ว มีการลงชื่อย่อในเอกสารทั้งสามฉบับในวันต่อมา โดยที่ สนธิสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญจะต้อง ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน ฉะนั้น จึงต้องรอความเห็นชอบ ของสภาผู้แทนราษฎร และฝ่ายญี่ปุ่นก็ต้องได้รับอนุมัติจากสภาองคมนตรี จึงจะทำการลงชื่อในเอกสารทั้ง ๓ ฉบับนั้นได้เป็นทางการ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่าง ประเทศไทยและญี่ปุ่นว่าด้วยอาณาเขตของประเทศไทยในมาลัยและภูมิภาคฉาน ซึ่งมีข้อความว่า ประเทศญี่ปุ่นยอมรับนับถือการรวมกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส ในภูมิภาคมลายู และบรรดาเกาะที่ขึ้นอยู่กับรัฐเหล่านั้น รวมถึงเชียงตุงและเมือง พานในภูมิภาค เข้าเป็นอาณาเขตของประเทศไทย โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะยุติการปกครอง ในดินแดนเหล่านั้นภายใน ๖๐ วัน และจะได้ตกลงกันกำหนดเขตแดนให้แน่นอน โดยฝ่ายไทยรับจะเคารพผลประโยชน์ของคนชาติญี่ปุ่นที่มีอยู่ในดินแดนก่อน สงคราม สงวนสิทธิ์ของคนญี่ปุ่นที่จะสำรวจทรัพยากรแร่ที่จำเป็นในการดำเนิน สงครามและกำหนดสถานะทรัพย์สินศัตรูในดินแดนเหล่านั้น ให้ญี่ปุ่นคงใช้อยู่ต่อไป ได้สำหรับทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ทางยุทธการ นอกจากนั้นให้โอนมาเป็นของไทย

ในวันเดียวกันนั้น ที่ทำเนียบสามัคคีชัยเพื่อฉลองการได้มาซึ่งดินแดน ทางการ ได้จัดให้มีการเดินสวนสนามของทหาร เหล่ากลุ่มยุวชนและยุวนารีที่ถนนประชาธิปัตย์ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งโทรเลขถึงพลเอก โตโจ แสดงความชื่นชมยินดีอัน อบอุ่นต่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และถือว่าสนธิสัญญานี้เป็นเครื่องหมายแห่งเจตนาดี อันจริงใจ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้แสดงต่อประเทศไทย ท่านกล่าวต่อไปด้วยว่า “ประชาชนชาวไทยรู้สึกในบุญคุณนี้อย่างลึกซึ้ง และประสงค์จะยืนยันความรู้สึกเช่น เดียวกันต่อประเทศญี่ปุ่น” และว่าท่านมีความเชื่อแน่วแน่ว่า “สนธิสัญญานี้จะทำให้มิตรสัมพันธ์อันมีอยู่อย่างน่าชื่นชมแล้วระหว่างประเทศของเราทั้งสองกระชับแน่น ยิ่งขึ้น” ท่านยืนยันในตอนท้ายถึง “เจตจำนงอันแน่วแน่ของประชาชนชาวไทย ที่จะดำเนินการยุทธร่วมกับพี่น้องญี่ปุ่นของเราไปจนกระทั่งชัยชนะสุดท้าย”

ในเรื่องนี้ นายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ทำบันทึกไว้ยืดยาวอีกฉบับหนึ่งแสดงความรู้สึก ด้วยความปรารถนาจะให้เป็น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๖ ว่า

การเจรจาเรื่องดินแดนนั้นมีความยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะเกรงกันว่าญี่ปุ่นจะนำข้อผูกพันอย่างอื่นมาให้ หรือจะเกิดภัยอย่างอื่น ๆ ในภายหน้า บางครั้งเกรงกันว่า การพูดเรื่องดินแดนนั้นจะเป็นการนำภัยร้ายแรงมาสู่ชาติทีเดียว กระทรวงมหาดไทยถึงกับออกคำสั่งข้าราชการทั่วราชอาณาจักรห้ามมิให้ใครพูดเรื่องดินแดนกับญี่ปุ่นเลยเป็นอันขาด ห้ามไม่ให้แสดงเจตจำนงใด ๆ ในเรื่องดินแดนทั้งสิ้น

แต่ตามเหตุผลของฉันนั้นเห็นว่า เราควรจะได้ดินแดนมาไว้ แม้ในเวลานี้ ข้อหวาดเกรงต่าง ๆ ในเรื่องนี้ไม่ทำให้ฉันเปลี่ยนใจ ดังจะขอบันทึกไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ คือ

๑. เกรงกันว่า ถ้าเราได้ดินแดนมาเวลานี้จะทำให้เกิดความผูกพันที่ญี่ปุ่นจะ อ้างบุญคุณ และขอสิ่งนั้นสิ่งนี้แก่เรามากขึ้น ฉันเห็นว่า เวลานี้เราก็ต้องรับ ความผูกพันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว การที่ญี่ปุ่นจะขออะไรเราหรือไม่ขอนั้น ไม่ใช่ อยู่ที่ว่า เราจะเอาดินแดนหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่า ญี่ปุ่นจะต้องการหรือไม่ ถ้าญี่ปุ่น ต้องการแล้ว เขาก็คงขอเรา ถึงเราจะไม่เอาดินแดน เขาก็ต้องขออยู่นั่นเอง และ เมื่อเขาขอ เราก็ไม่สามารถจะปฏิเสธเด็ดขาดได้ เท่าที่ทำกันมาแล้ว ก็ทำได้แต่เพียงว่า เขาขอมา ๑๐๐ เราให้ ๕๐ หรือพยายามลดลงเป็น ๔๐-๓๐ ซึ่งเป็น วิธีที่ทำให้เราทรงตัวมาได้จนบัดนี้ เราไม่มีทางจะป้องกันไม่ให้เขาขอ เราจึงต้อง ใช้วิธีตลบหลัง คือเราขอบ้างเพื่อให้เป็นผลตอบแทน การที่เราต้องให้อะไรโดย เรามีทางได้ตอบแทนบ้าง กับที่เราต้องเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียวโดยไม่มีทางได้รับ ตอบแทนเลยนั้น จะเอาข้างไหน

๒. เกรงกันว่า ถ้าเราไปเอาดินแดนที่เสียแก่อังกฤษคืนมาแล้ว อังกฤษจะทำการโจมตีเราทางอากาศมากขึ้น แต่ฉันเห็นว่า ไม่มีใครจะรับรองได้ว่า เราจะ ไม่ถูกโจมตีทางอากาศในภายหน้า ใครบ้างจะรับรองได้ว่า ถ้าเราไม่เอาดินแดน มา อังกฤษจะไม่โจมตีเราทางอากาศอีกต่อไป เราถูกโจมตีทางอากาศมาแล้ว หลายครั้งก็ไม่ใช่เพราะเราไปเอาดินแดนมา เรื่องโจมตีทางอากาศเป็นเรื่องที่ ฝ่ายปรปักษ์ต้องทำแก่กันและกัน เราถูกโจมตีทางอากาศ แต่เราได้ดินแดน ตอบแทนบ้าง กับเราถูกโจมตีทางอากาศเจ็บเปล่า ๆ โดยไม่ได้อะไรตอบแทน เลยเช่นนี้ เราจะเอาข้างไหน

๓. เกรงกันว่า อักษะประเทศจะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ เราไปเอา ดินแดนมาก็ไม่มีประโยชน์อะไร กลับจะทำให้อังกฤษ อเมริกาเกลียดชังเรามากขึ้น และจะลงโทษเราอย่างหนักในภายหลัง ฉันเห็นว่า การเอาดินแดนเสียบ้างใน เวลานี้ จะเป็นผลดีแก่เราตลอดไป อักษะจะชนะ หรืออังกฤษ อเมริกาจะชนะ ผลอันนี้ก็จะคงอยู่แก่ชาติเรา เพราะถ้าอักษะชนะ เราก็ได้ดินแดนเหล่านี้โดยแน่นอน ถ้าอักษะแพ้ ฉันเห็นว่า ผลที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยนั้น ก็มีแต่เพียง ว่าจะต้องเปลี่ยนคณะรัฐบาล หรือเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเป็นบางคน เช่นตัวฉันเอง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนเห็นชอบทางฝ่ายอักษะ ถ้าอักษะแพ้ ฉันก็อยู่ไม่ได้ แต่สำหรับประเทศชาติของไทยนั้น ฉันคิดว่าไม่มีอันตราย เพียงแต่เปลี่ยนคณะรัฐบาล เอารัฐมนตรีบางคนที่เห็นชอบทางอักษะ เช่นตัวฉันออกไปเสีย และตั้ง คณะรัฐบาลใหม่ ซึ่งประกอบล้วนแล้วไปด้วยพวกที่ได้ชื่อว่าโปรอังกฤษ อเมริกา บ้านเมืองเราก็อยู่ต่อไปได้ และฉันเชื่อต่อไปด้วยว่า อังกฤษจะไม่มาเรียกร้องเอา ดินแดนที่เราได้จากญี่ปุ่นนั้นคืนไปเลยเป็นอันขาด เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลให้ เป็นที่สนใจของอังกฤษ อเมริกาแล้ว อังกฤษ อเมริกาก็จะต้องเอาใจชาติไทย สิ่งที่เราได้จากญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกาจะเอาไปเสียนั้น เขาคงไม่ทำ เพราะไหนเลย อังกฤษ อเมริกาจะมาแสดงให้คนไทยเห็นว่า ตัวร้ายกว่าญี่ปุ่น รวมความว่า การได้ดินแดนมาไว้ในเวลานี้เป็นผลดีแก่ประเทศชาติตลอดไป อักษะจะแพ้ หรือชนะ ดินแดนที่เราได้ไว้ในเวลานี้ จะคงเป็นสมบัติของชาติไปตลอดกาล ส่วนตัวฉันเองนั้นไม่สำคัญ ฉันจะเป็นอย่างไรต่อไปภายหน้า ฉันไม่มีความวิตก ห่วงใยในส่วนตัว ฉันสนใจอย่างเดียวแต่อนาคตของชาติ ถ้าฉันสามารถสร้าง สมบัติอันยั่งยืนให้แก่ชาติได้ ถึงตัวฉันเองจะได้รับผลร้ายในภายหลังประการ ใด ฉันก็ไม่มีความวิตก แต่อยากจะบันทึกความข้อนี้ไว้ เพื่อให้เป็นหลักฐานที่ นักประวัติศาสตร์ในชั้นหลังจะได้วินิจฉัยงานที่ฉันทำโดยเที่ยงธรรม

โดยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนี้ ฉันจึงไม่ลดละในปัญหาเรื่องดินแดน ในการ เจรจาเรื่องดินแดนนั้น ฉันได้เริ่มต้นกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ มา ช้านาน และเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาเอเชียบูรพาเข้ามากรุงเทพฯ ก็ได้ เจรจากันในเรื่องนี้ ดังปรากฏในบันทึกรายงานข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาเอเชียบูรพารับว่าจะพิจารณา และให้ฉันพูดจาหารือกับสถานเอกอัครราชทูต ญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ต่อไป เมื่อที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นจะออก เดินทางไปโตเกียวตอนปลายเดือนพฤษภาคมนั้น ฉันก็ได้พูดกับนายโค อิชิอิ ซึ่งเป็นคนสำคัญที่สุดของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นอย่างยึดยาว ฉันได้ชี้แจง ให้นายโค อิชิอิ เห็นว่า การให้ดินแดนแก่เรานั้นเป็นประโยชน์แก่ญี่ปุ่นเอง

เพราะจะทำให้คนไทยเห็นอกเห็นใจ และไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น ชาวเอเชีย โดยทั่วไปก็จะเห็นใจเห็นเจตนาดีของญี่ปุ่นว่าซื่อสัตย์และอารีต่อมิตรอย่างแท้จริง และเป็นการอธิบายความหมายของวงไพบูลย์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นายโค อิชิอิ รับรองว่า จะช่วยอย่างเต็มความสามารถ ระหว่างนายโค อิชิอิ อยู่โตเกียว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็แถลงต่อสภาเป็นทำนองที่ทำให้เข้าใจว่า จะให้ดินแดนแก่ไทย เมื่อนายโค อิชิอิกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นายโค อิชิอิ บอกฉันว่า เขาเองเป็นผู้ร่างสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในส่วนที่เกี่ยวกับ ประเทศไทย ฉันเชื่อว่าเป็นความจริง เพราะตรงกับเรื่องที่เขารับปากออกไปว่า จะช่วย ในคืนวันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม คือก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะมา ถึงประเทศไทย ฉันได้เชิญนายโค อิชิอิ มารับประทานอาหารที่บ้านเพียงสอง ต่อสอง แล้วก็ได้พูดจากันสองต่อสองอย่างเห็นอกเห็นใจกันที่สุด ฉันได้แนะ แก่นายโค อิชิอิ ว่าถ้าฝ่ายญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ดินแดนแล้ว ก็ขอให้นายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นบอกให้แก่ท่านนายกรัฐมนตรีของฉัน โดยมิต้องให้ร้องขอ จะเป็นการ แสดงนํ้าใจอันกว้างขวางและจะสร้างความเคารพนับถืออย่างดียิ่ง

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้มาถึงกรุงเทพฯ ในเวลาบ่ายวันเสาร์ที่ ๓ กรกฎาคม ครั้นถึงเวลาเช้าวันอาทิตย์ที่ ๔ กรกฎาคม ก็ได้พูดจาเรื่องสำคัญที่สุดนี้กับ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งฉันได้เข้าร่วมในการพูดจาครั้งนี้ด้วย เสร็จการ พูดจาครั้งนี้แล้ว ฉันได้นัดเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นให้มาพบฉันที่บ้านอัมพวัน ในเวลาบ่าย ๑๕.๐๐ น. เพื่อปรึกษากันทำแถลงการณ์ ในโอกาสนี้ฉันได้เชิญ เสด็จท่านที่ปรึกษามาร่วมประชุมด้วย เมื่อตกลงร่างกันเสร็จแล้ว ฉันได้นำร่างคำแถลงการณ์ไปเสนอท่านนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบสามัคคีชัย ในเวลาบ่าย ๑๗.๐๐ น. และท่านนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ออกคำแถลงการณ์ได้ คำแถลงการณ์นี้ได้ออกเวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันจันทร์ที่ ๕ กรกฎาคม ซึ่งเป็น เวลาที่ทราบแน่ว่าพลเอก โตโจถึงโชนันโดยเรียบร้อยแล้ว ในคํ่าวันนั้น เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นพร้อมด้วยพลโท นากามูระมารับประทานอาหารที่บ้านฉัน ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีได้ส่งเหล้าอย่างดีมาให้ ๑ ขวด พร้อมทั้งจดหมาย เป็นข้อความดังต่อไปนี้

บ้านสามัคคีชัย ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๖ เรียน ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่รัก ทราบว่ากำลังเลี้ยงกัน และตรงกับวันดีใจของพวกเราอย่างยิ่งเป็น ประวัติกาล เฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จนี้ ท่านมีส่วนเป็นหัวแรงสำคัญที่สุด ฉันมีเหล้าอยู่ขวดหนึ่งเก็บไว้นานแล้ว จึงขอมอบมาช่วยในการเลี้ยงคืนนี้ และขอให้ท่านเอกอัครราชทูตได้ดื่มด้วย รักอย่างญาติ (ลงชื่อ) ป. พิบูลสงคราม

ฉันบันทึกข้อความทั้งนี้ไว้ ไม่ใช่เพื่อแสดงว่า การได้ดินแดนอันมีค่าที่สุด ใน ๔ จังหวัดทางมลายูนี้ได้มาเพราะฉัน อันที่จริงการได้ดินแดนเหล่านี้มา ก็ ต้องนับว่าเป็นผลแห่งงานของชาวไทยทั้งชาติเป็นส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำของชาติ อันควรจะได้รับ เกียรติประวัติเป็นอย่างสูงสุด แต่ฉันบันทึกข้อความข้างต้นนี้ไว้ เพื่อให้เป็น หลักฐานในการภายหน้าว่า ฉันได้ปฏิบัติมาอย่างใดในปัญหาเรื่องดินแดน ทั้งนี้ เพราะเป็นปัญหาสำคัญที่สุดเกี่ยวกับชีวิตของฉันในหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ที่ไม่ชอบฉันอาจจะแกล้งกล่าวว่า ฉันไม่มีส่วน อะไรเลยในการได้ดินแดนครั้งนี้ บันทึกนี้จะช่วยให้หลักฐานว่า ฉันได้มีส่วนทำงานในเรื่องนี้เพียงไร บางคนอาจจะแกล้งกล่าวหาว่า ฉันดำเนินนโยบาย ผิดไปในการที่ไปเอาดินแดนมาเวลานี้ บันทึกนี้จะช่วยชี้ให้เห็นชัดว่า ฉันมี เหตุผลอย่างไรในการเอาดินแดนมาเวลานี้

สำหรับ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของเรา ซึ่งเป็น คนตรง ซื่อสัตย์ รักความจริง และให้เกียรติยศแก่ผู้ที่ควรให้ ท่านได้แสดงอย่าง เปิดเผยว่า การได้ดินแดนทางภาคใต้ จังหวัดอันมีค่าที่สุดครั้งนี้ ได้มาโดยฉัน เป็นหัวแรงสำคัญที่สุด เมื่อเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวโทรเลขมาแสดงความมินดีแก่ท่าน ท่านได้ตอบไปโดยเขียนร่างด้วยลายมือของท่านเองว่า “ผลสำเร็จ นี้มาจากข้าราชการทุกท่านได้ร่วมกันบำเพ็ญกรณียกิจของตนอย่างเต็มที่ เฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีต่างประเทศปัจจุบัน” การตอบไปเช่นนี้แสดงให้เห็น ชัดว่า ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีคุณลักษณะอัน น่าสรรเสริญยิ่ง ถ้าคนทุกคนทราบความจริงและมีคุณลักษณะเที่ยงธรรมอย่าง ท่านนายกรัฐมนตรี บันทึกฉบับนี้จะไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ แต่การภายหน้าฉัน รู้ไม่ได้ ใจคนเราไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องมีหลักฐานทิ้งไว้เป็นประวัติศาสตร์ สำหรับให้ผู้ที่รักความจริงได้พิจารณาต่อไป

สำหรับ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ควรได้รับความขอบใจของชาติยิ่งกว่า ตัวฉันหลายเท่า เพราะการได้ดินแดนมาในครั้งนี้เป็นเพราะบุคลิกลักษณะอัน สูงของ ฯพณฯ ที่ก่อให้เกิดความนิยมเชื่อถือในหมู่นานาชาติและด้วยความ พากเพียรอย่างสามารถในการยกระดับของชาติ ๆ ให้เท่าเทียมชาติ อื่นที่เจริญ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญซึ่งใครจะลืมเสียมิได้ ฉันได้สั่งสถานทูตไทยทุกแห่งให้ โทรเลขตรงไปแสดงความยินดีต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีด้วย เพราะฉันถือหลัก ว่าต้องให้เกียรติแก่ผู้ที่ควรได้รับ

เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในสถานะสงครามขึ้น โดยฝ่ายญี่ปุ่นกำลังต้องถอยใน การก้าวหน้าของฝ่ายสัมพันธมิตร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจส่งนายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทยที่กรุงโตเกียว และต่อมาได้แต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม ให้เข้าว่าการ กระทรวงการต่างประเทศแทนเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๘๖

พึงสังเกตว่า ในช่วงนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เริ่มวางแผนหาทางเอาตัวรอด จากการที่จำต้องร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นโดยได้เปิดการติดต่ออย่างลับ ๆ กับฝ่ายจีน แล้วเหมือนกัน ทั้งยังวางแผนที่จะโยกย้ายนครหลวงไปตั้งอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์ อีกด้วย ในเดือนมีนาคม ๒๔๘๖ พลโท นากามูระตั้งปัญหาถามนายกรัฐมนตรีถึง รายงานข่าวกรองที่ญี่ปุ่นได้รับว่า มีข้าราชการไทยหลบหนีออกไปจุงกิงหลายคน

ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่อง ต้นปี ๒๔๘๗ มีการติดต่อ ระหว่างทหารไทยและทหารจีนทางชายแดนพม่า โดยฝ่ายไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ ฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ออกไปปรึกษาหารือกับฝ่ายจีน มีพลตรี พิชัย หาญสงคราม และ พันเอก เนตร เขมะโยธิน ออกไปติดต่อกับฝ่ายทหารจีน ถึงกับมีการตกลงกันใน หลักการว่า ไทยจะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงออกไปอีก ประกอบด้วยพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส พลตรี ประยูร ภมรมนตรี และพันเอก เนตร เขมะโยธิน และจะส่งพันโท เอกศักดิ์ ประพันธะโยธิน ออกไปเป็นนายทหารติดต่อประจำกับฝ่ายจีนที่จุงกิง แต่แล้วจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ไม่กี่วันภายหลังที่พลเอก โตโจต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้แก่พลเอก โกอิโซ กูนีอากิ ฉะนั้น การติดต่อกับฝ่ายจีนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเป็นอันล้มเลิกไปทางด้านพม่า

 

๘. การประชุมนานาชาติแห่งมหาเอเชียบูรพา

 

 

กองทัพของสมเด็จพระจักรพรรดิก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วดุจสายฟ้าแลบ ตั้งแต่ สงครามในมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้รับการต้านทานอย่างเข้มแข็งจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ดินแดนที่อยู่ใน ความปกครองของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาต้องเปลี่ยนมือมาขึ้นกับญี่ปุ่นเป็นลำดับตลอดปี ๒๔๘๕ ญี่ปุ่นสามารถยึดครองมลายู พม่า ฟิลิปปินส์ และกำลังบ่ายหน้า เข้าอินเดีย ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นเข้ายึดเกาะและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งตอนเหนือ ตะวันตก และตะวันออก คุมเส้นทางส่งกำลังบำรุงของสหรัฐฯ ไว้เกือบ สิ้นเชิง แต่การยึดดินแดนโพ้นทะเลยิ่งได้มาก ก็ยิ่งก่อปัญหาให้แก่ญี่ปุ่นเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทหาร ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ในการรุดหน้าต่อไป ญี่ปุ่น จำต้องคิดถึงความมั่นคงทางการเมืองในดินแดนที่เข้ายึดครอง โดยญี่ปุ่นได้จัดตั้ง รัฐบาลในดินแดนเหล่านั้นขึ้น และเมื่อปลายปี ๒๔๘๖ พลเอก โตโจมีดำริจะให้มี การประชุมที่กรุงโตเกียวระหว่างวันที่ ๕ ถึง ๑๔ พฤศจิกายน ปรากฏว่ามีผู้นำไปร่วมประชุมรวม ๖ ประเทศ ได้แก่ พลเอก ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประธานาธิบดีวังจิงไวแห่งรัฐบาลจีนนานกิง ประธานาธิบดีจังจิงฮุยแห่งแมนจูกัว ดร.โจเซ่ โลเรล ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ดร.บามอ ประธานาธิบดีพม่า ส่วนอินเดีย ญี่ปุ่นได้เชิญนายสุภาส จันทรโภส หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวของอินเดียอิสระเป็น ผู้สังเกตการณ์สำหรับประเทศไทย ญี่ปุ่นพยายามจะเชิญให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเยือนมาก่อนแล้ว โดยถือจะเป็นการตอบแทนที่พลเอก โตโจมาเยือนประเทศไทย แต่ท่านจอมพลเบี่ยงบ่ายเรื่อยมา อ้างเหตุผลนานาประการ เช่น สถานการณ์ภายใน สุขภาพส่วนตัว มีปัญหาทางประสาท กลัวการพยายามลอบสังหาร ฯลฯ

ครั้นเมื่อจะมีการประชุมมหาเอเชียบูรพาดังกล่าว เอกอัครราชทูตทสุโบกามิ ได้รับคำสั่งให้เน้นต่อนายกรัฐมนตรี เชิญให้ไปร่วมประชุมให้จงได้ โดยเหตุผลว่า

๑. นอกจากจะเป็นการตอบแทนการเยือนประเทศไทยของพลเอก โตโจแล้ว ยังจะเป็นโอกาสได้ปรึกษาหารือกับผู้นำญี่ปุ่นทั้งทหารและระดับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และจะได้เห็นความพยายามเด็ดเดี่ยวของญี่ปุ่นในการทำสงคราม ๒. ถ้ากลัวเรื่องอาหาร ก็ขอเชิญให้ภริยาติดตามไปด้วยได้ ๓. ถ้าไม่อยากบิน ก็จะจัดให้ไปโดยวิธีอื่น เช่น โดยเรือรบ หรือเรือดำนํ้า ๔. สำหรับความเกรงกลัวปัญหาภายในประเทศไทยระหว่างที่ไม่อยู่ ญี่ปุ่นรับจะ จัดไม่ให้เกิดปัญหาความยุ่งยากอย่างใด ๆ เกิดขึ้น

ทั้งได้สำทับว่า ถ้ายังไม่ยอมไป ก็จะทำให้ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นต้องกระทบ กระเทือนเสื่อมทรามลงได

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นไปพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม สนทนาอยู่ด้วย ถึง ๒ ชั่วโมง นายกรัฐมนตรียืนยันว่า สุขภาพไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไกล ถ้าญี่ปุ่น จะเคี่ยวเข็ญให้ไปให้ได้ ก็จะลาออกจากตำแหน่ง นายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แนะให้เอกอัครราชทูตรับฟังเหตุผลของนายกรัฐมนตรีบ้าง เพราะท่านได้ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ไม่พึง เคี่ยวเข็ญเกินไปนัก ทางรัฐบาลจะจัดให้ผู้อื่นที่เหมาะสมไปแทน โดยที่ประเทศไทย มีฐานะไม่เหมือนกับผู้นำประเทศอื่นที่จะไปร่วมประชุม ญี่ปุ่นจะยกย่องไทยเป็น พิเศษไม่ให้เหมือนกับผู้แทนคนอื่นได้หรือไม

ในโทรเลขรายงานถึงโตเกียว เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า สุขภาพไม่ใช่ เรื่องที่ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปฏิเสธไม่ยอมไปญี่ปุ่น แต่เนื่องจากเหตุผลอื่น หลายอย่างหลายประการ กล่าวคือ

๑. สถานะสงครามเปลี่ยนแปลงไป และอิทธิพลการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่าย สัมพันธมิตร ๒. การที่ฝ่ายสัมพันธมิตรขู่ขวัญว่าจะทำการโจมตีกรุงเทพฯ ทางอากาศ หนักหน่วงยิ่งขึ้น ๓. ความเกรงกลัวจะเกิดการปฏิวัติภายใน ถ้านายกรัฐมนตรีเดินทางไป ต่างประเทศ ๔. ความเกรงกลัวจะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า นายกรัฐมนตรีต้องยอมจำนนต่อการ ขู่บังคับของญี่ปุ่น ๕. ความเกรงกลัวจะไม่ปลอดภัย ประกอบกับการไม่ชอบบินไปทางไกล ๖. การเสียเกียรติภูมิของไทย ถ้าได้รับผลปฏิบัติอย่างเดียวกับผู้แทนระบอบการ ปกครองที่ญี่ปุ่นจัดสร้างขึ้น เช่น รัฐบาลวังจิงไวของจีน และรัฐบาลบามอของพม่า

ทางฝ่ายพลโท นากามูระก็เข้าช่วยสนับสนุนทูตเพื่อจูงใจนายกรัฐมนตรีให้ ยินยอมไปญี่ปุ่น โดยเสนอจะจัดเรือรบหรือเรือดำนํ้าให้ เมื่อจูงใจนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ญี่ปุ่นจำต้องยอม แต่เกี่ยงว่า ผู้แทนที่จะไปร่วมประชุมจะต้องไม่ใช่เอกอัครราชทูต ไทยประจำโตเกียว ในที่สุดนายกรัฐมนตรีตกลงแต่งตั้งให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า วรรณไวทยากร ที่ปรึกษาฝ่ายการต่างประเทศ เสด็จไปร่วมประชุมแทน โดยมี พลตรี ไชย ประทีปะเสน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการต่างประเทศ นายสิทธิ สิทธิสยามการ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายวิสูตร อรรถยุกติ อธิบดี กรมการเมืองตะวันออก และ ม.จ.วงศานุวัตร เทวกุล ร่วมตามเสด็จด้วย และให้ นายทวี ตะเวทิกุล อุปทูตที่กรุงโตเกียว และหลวงรัตนทิพ เลขานุการเอก เข้าร่วม ในคณะผู้แทนฝ่ายไทย คณะผู้แทนไทยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเครื่องบิน ทหารญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ใช้เวลา ๓ วัน จึงถึงกรุงโตเกียว

การประชุมเริ่มเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ณ ตึกรัฐสภาญี่ปุ่น องค์หัวหน้าคณะ ผู้แทนไทย ทรงเสนอให้พลเอก ฮิเดกิ โตโจ เป็นประธานที่ประชุม ตามประเพณีการประชุมระหว่างประเทศที่กำหนดให้หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศเจ้าของท้องถิ่นเป็น ประธาน พลเอก โตโจเริ่มกล่าวต้อนรับคณะผู้แทนต่างประเทศในเอเชียบูรพาที่ได้ ตกลงมาร่วมประชุมเพื่อสร้างระเบียบใหม่ให้แก่มหาเอเชียบูรพาภายหลังสงคราม และได้เน้นตำหนิอย่างยืดยาวถึงนโยบายขยายตัวของจักรวรรดิอังกฤษที่ได้รุกราน เข้าไปครอบงำประชาชาติต่าง ๆ ในทวีปเอเชีย ประกอบกับการแผ่อานุภาพของ สหรัฐอเมริกาเข้ามาทางมหาสมุทรแปซิฟิกอีกทางหนึ่ง ด้วยการก่อให้เกิดความ แตกแยกทำลายเสถียรภาพภายในภูมิภาคตามเล่ห์กลอันชั่วช้า เมื่อเห็นประเทศ ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าทั้งทางแสนยานุภาพและเกียรติภูมิ จึงพยายามแสวงหาทุก วิถีทางที่จะสกัดกั้นไว้ เริ่มด้วยการใช้ระบอบเจียงไคเช็คเป็นเครื่องมือสร้างความ ตึงเครียดให้เกิดขึ้นระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ขัดขวางมิให้มีการตกลงปรองดองกัน ต่อมา เมื่อเกิดสงครามในทวีปยุโรป ฝ่ายอังกฤษและอเมริกาถือเป็นโอกาสเข้าไปแทรกแซง การค้าโดยเสรี ตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น โดยอ้างเหตุความจำเป็นของ สงคราม บังคับให้ญี่ปุ่นต้องลุกขึ้นป้องกันตัวและความเป็นอยู่ของญี่ปุ่น เมื่อสงคราม ในเอเชียระเบิดขึ้นแล้ว กำลังทหารของญี่ปุ่นได้ทำการรบด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวตามแผนการที่วางไว้อย่างละเอียด ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งปีก็สามารถ ขับไล่อังกฤษและอเมริกาออกจากแคว้นเอเชียบูรพาโดยสิ้นเชิง บรรดาประชาชาติ ต่าง ๆ ในเอเชียบูรพาซึ่งเคยตกอยู่ในความบังคับกดขี่ ก็หันหน้ามาเข้ากับญี่ปุ่น ให้ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยสร้างสรรค์เสถียรภาพความมั่นคงถาวรภายในเขต

พลเอก โตโจได้วิงวอนให้บรรดาประชาชาติทั้งหลายในมหาเอเชียบูรพายืนหยัด รวมกำลังต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษและอเมริกาจนกว่าสงครามจะจบลงด้วย ชัยชนะ อันจะนำไปสู่สันติภาพและเสถียรภาพอันยั่งยืนนานในเอเชียบูรพา ขนาน ไปกับการดำเนินสงครามเพื่อคงความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ไว้ต่อไป ญี่ปุ่นได้มีดำริปรับปรุงส่งเสริมสถานการณ์ภายในของมหาเอเชียบูรพาขนานพร้อมกันไปด้วย เพื่อให้บรรลุถึงซึ่งความไพบูลย์ร่วมกันอันเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดสร้างสันติภาพ ของโลก บนมูลฐานแห่งความสามัคคีและสมานฉันท์ระหว่างประชาชาติในภูมิภาค ซึ่งจะปลูกฝังความสัมพันธ์ฉันมิตรทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับประชาชาติ ในเขตอื่น ๆ ด้วยเจตนารมณ์แห่งความยุติธรรม

องค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยทรงกล่าวสนับสนุนความพยายามของญี่ปุ่นในการดำเนินสงครามมหาเอเชียบูรพาและสถาปนาความไพบูลย์ร่วมกันว่า เป็นแนวทาง ปฏิบัติที่เหมาะสมดีแล้ว สิ่งที่พึงกระทำได้แก่การส่งเสริมมิตรภาพ ความร่วมมือ และ ความเข้าใจดีซึ่งมีอยู่แล้วโดยผาสุกให้กระชับชิดสนิทสนมยิ่งขึ้น ทรงเน้นโดยเฉพาะ ว่า เอเชียเป็นทวีปบ่อเกิดแห่งความเจริญของมนุษย์ มีความเจริญถึงขีดสูงสุด แต่โบราณกาล เป็นความเจริญในทางวัฒนธรรม ต่างกับความเจริญของยุโรป ซึ่ง เป็นความเจริญในทางอารยธรรม มุ่งส่งเสริมกำลังทางเศรษฐกิจของรัฐ นานาชาติ ยุโรปจึงแผ่อำนาจไปครอบงำดินแดนอื่น ๆ โดยเฉพาะในมหาเอเชียบูรพาด้วยการ ยึดเอาดินแดนเป็นอาณานิคมเพื่อหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บั่นทอนเอกราชและ อธิปไตยในรูปสภาพนอกอาณาเขต จักรวรรดิญี่ปุ่นและประเทศไทยสามารถปลดเปลื้อง การจำกัดสิทธิต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยความเพียรพยายาม จึงอยู่รอดมาได้ แต่ประชาชน ชาติพี่น้องชาวเอเชียอื่นมากหลายยังต้องทำการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชและอธิปไตย ให้กลับคืนมา มหาเอเชียบูรพาเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ มีทรัพยากรมากหลาย ซึ่งตามหลักการแล้วพอจะเลี้ยงตัวเองได้ จักรวรรดิญี่ปุ่นจึงดำเนินนโยบายสถาปนาวงไพบูลย์ร่วมกัน โดยยึดถืออุดมคติฮักโกอิจิว (แปดมุมโลก ภายใต้หลังคาเดียว) บนมูลฐานแห่งความยุติธรรม หลักธรรม และสันติภาพ ใช้ สันติวิธีในการดำเนินนโยบายดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากกรณีพิพาททางดินแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน ฝรั่งเศส ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นกรุณาทำการไกล่เกลี่ยให้เป็น ที่ตกลงกันได้

องค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยรับสั่งต่อไปว่า รัฐบาลไทยเข้าใจอุดมคติอันสูงส่งของ ญี่ปุ่น ได้ทำกติกาสัญญาพันธไมตรี ด้วยวัตถุประสงค์จะสถาปนาวงไพบูลย์ร่วมกัน ในมหาเอเชียบูรพา กำจัดอิทธิพลร้ายทั้งสิ้น บนมูลฐานของหลักการเคารพเอกราช และอธิปไตยต่อกันและกัน และการให้ความช่วยเหลือทางการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร ด้วยไมตรีจิตมิตรภาพและเห็นใจประเทศไทย ซึ่งมีประณิธานใคร่จะ ได้ดินแดนที่ต้องเสียไปในอดีตคืน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญายอมให้รวมดินแดน ๔ รัฐในมลายู และ ๒ รัฐในภูมิภาคฉาน เข้าคืนราชอาณาจักรไทย เป็นการแสดงให้ เห็นว่า ญี่ปุ่นไม่แต่จะเคารพเอกราชและอธิปไตยของไทยเท่านั้น หากยังประสงค์จะส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ไมตรีจิตเช่นว่านี้ ญี่ปุ่นได้ขยายให้ ถึงประเทศอื่นในมหาเอเชียบูรพาตามควรแก่กรณี เช่น ช่วยจัดการคืนอธิปไตย อันสมบูรณ์ให้แก่ประเทศจีน สถาปนาเอกราชของประเทศแมนจูกัว พม่า และฟิลิปินส์ ทั้งยังช่วยสถาปนารัฐบาลชั่วคราวของอินเดียอิสระเพื่อกอบกู้เอกราชของอินเดีย

องค์คณะหัวหน้าผู้แทนไทยรับสั่งในตอนท้ายว่า “บัดนี้มหาเอเชียบูรพามิใช่แต่ เพียงชื่อในภูมิศาสตร์ แต่เป็นวงไพบูลย์ร่วมกัน อันมีหลักฐานหนักแน่นแล้ว ภารกิจ อันยิ่งใหญ่ของบรรดาประเทศในมหาเอเชียบูรพาก็คือ จะร่วมมือกันดำเนินการ สงครามให้ถึงผลสำเร็จเด็ดขาด โดยแต่ละประเทศมีส่วนช่วยอย่างเต็มกำลังความ สามารถของตน เพื่อความวัฒนาถาวรของวงไพบูลย์ร่วมกันนี้ในส่วนรวม

“หลักการที่จะยังภูมิภาคนี้ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป ก็คือการบำรุงกำลังของแต่ละ ประเทศ ทั้งกำลังทรัพย์ กำลังใจให้ขึ้นถึงขีดสูงสุด โดยเคารพเอกราชและอธิปไตย ของกันและกัน โดยเจริญความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกันและกันบนมูลฐานแห่ง การถ้อยปฏิบัติต่อกัน และโดยร่วมมือช่วยกันอย่างสนิทสนมตามหลักธรรมและ ความยุติธรรม เพื่อจัดประกันสันติสุขและความไพบูลย์ของแต่ละประเทศและของ ภูมิภาคนี้ในส่วนรวมนานาชาติในมหาเอเชียบูรพาจะได้พัฒนาถาวร ตามวัฒนธรรม ประจำชาติของตน และในเวลาเดียวกัน ก็มีความมุ่งหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในอันที่จะจรรโลงความสุขสวัสดีและความเจริญก้าวหน้าของวงไพบูลย์ร่วมกันนี้”

จะเห็นได้ว่า องค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ทรงบรรเลงตามที่วงดุริยางค์ได้ กำหนดไว้อย่างแนบเนียน ได้ทรงเตือนให้จักรวรรดิญี่ปุ่นตระหนักในความจำเป็นจะต้องเคารพรักษาเอกราชอธิปไตยของบรรดาประเทศในภูมิภาคบนมูลฐานแห่ง การถ้อยทีถ้อยปฏิบัติให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือกันในทุกทาง

หัวหน้าผู้แทนประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้อภิปรายทำนองเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นอันลึกซึ้ง เพราะต่างมีฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มา ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาต

ในที่สุดที่ประชุมได้ตกลงให้ประกาศคำแถลงร่วมเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน มีข้อความดังนี้

หลักฐานในการสถาปนาสันติภาพของโลกมีอยู่ว่า ชาติในโลกแต่ละชาติ พึงมีฐานะที่ถูกต้องสมควรแก่ตน และพึงได้รับความไพบูลย์ร่วมกันโดยช่วยเหลือ เกื้อกูลแก่กันและกัน

ในการแสวงหาความไพบูลย์ของตนเอง สหรัฐอเมริกาและจักรวรรดิบริติช ได้เบียดเบียนชาติและประชาชาติอื่น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียบูรพา เขาได้ถือ เสรีภาพกระทำการรุกรานและการใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้จักพอ และได้หาทางทำความพอใจให้แก่ความมักใหญ่ใฝ่สูงอันเกินประมาณของเขาในอันที่จะยัง ภูมิภาคนี้ทั้งหมดให้เป็นทาส และในที่สุดเขาก็ได้คุกคามอย่างหนักต่อ เสถียรภาพของเอเชียบูรพา นี้เป็นสาเหตุแห่งสงครามปัจจุบัน

เพื่อจะมีส่วนช่วยอุดมการณ์แห่งสันติภาพของโลก บรรดาประเทศในมหา เอเชียบูรพารับรองว่าจะร่วมมือกันดำเนินการสงครามมหาเอเชียบูรพาให้เสร็จ เรียบร้อยด้วยผลสำเร็จ โดยจะปลดเปลื้องภูมิภาคนี้จากความเป็นใหญ่ของ อังกฤษ-อเมริกา และจัดประกันความเป็นอยู่ภายในของตนและป้องกันตน กับ ทั้งจัดสร้างมหาเอเชียบูรพาตามหลักดังต่อไปนี

๑. โดยความร่วมมือแก่กันและกัน บรรดาประเทศในมหาเอเชียบูรพาจะจัด ประกันเสถียรภาพแห่งภูมิภาคของตน และจัดสร้างระเบียบความไพบูลย์ และ ความสุขสวัสดิ์ร่วมกัน ตามมูลฐานแห่งความยุติธรรม ๒. บรรดาประเทศในมหาเอเชียบูรพาจะจัดประกันภราดรภาพแห่ง นานาชาติในภูมิภาคของตน โดยเคารพอธิปไตยและเอกราชของกันและกัน และอำนวยความช่วยเหลือและมิตรภาพแก่กันและกัน ๓. โดยเคารพประเพณีนิยมของกันและกัน และคลี่คลายกำลังความสามารถ ในการสร้างสรรค์ของแต่ละเชื้อชาติ บรรดาประเทศในมหาเอเชียบูรพา จะ จรรโลงวัฒนธรรมและอารยธรรมของมหาเอเชีย ๔. บรรดาประเทศในมหาเอเชียบูรพาจะเพียรพยายามเร่งการคลี่คลายทาง เศรษฐกิจของตน โดยร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตามมูลฐานแห่งการถ้อยทีถ้อย ปฏิบัติต่อกันและส่งเสริมความไพบูลย์ทั่วไปแห่งภูมิภาคของตนด้วยประการนี้

๕. บรรดาประเทศในมหาเอเชียบูรพาจะจำเริญสัมพันธไมตรีกับบรรดา ประเทศทั้งปวงในโลก และดำเนินการเพื่อให้เลิกการเลือกปฏิบัติระหว่าง เชื้อชาติ เพื่อส่งเสริมการติดต่อทางวัฒนธรรม และเพื่อให้เปิดขุมทรัพยากร ทั่วโลก และมีส่วนช่วยความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ชาติด้วยประการนี

ภายหลังการประชุมมหาเอเชียบูรพา จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นสมควรให้ ส่งสาส์นส่วนตัวทางวิทยุกระจายเสียงและทางหนังสือพิมพ์ถึงจอมพล เจียงไคเช็ค ประมุขรัฐบาลจีนคณะชาติผู้ทำการรณรงค์กับญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายปี ให้หาทาง ปรองดองกับญี่ปุ่น ต่อต้านสัมพันธมิตรเพื่อประโยชน์ร่วมกันของบรรดาประชาชาติ ในเอเชีย ทั้งนี้ยังความไม่พอใจแก่จอมพล เจียงไคเช็คยิ่งขึ้น จากการยอมรับนับถือ รัฐบาลวังจิงไวที่เป็นปรปักษ์ต่อจอมพล เจียงไคเช็ค

 

๙. การเดินทางกลับประเทศไทย

ในบรรดาผู้ที่ร่วมเดินทางออกไปประจำสถานเอกอัครราชทูตเมื่อเริ่มสงคราม คุณถนัดอยู่ได้เพียงปีเศษก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับประเทศไทยก่อนเพื่อน ต่อมาประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๖ ท่านเอกอัครราชทูตขอลาออกจากราชการ เนื่องด้วยป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตขาแข็ง แต่ครั้นกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้รับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ท่านได้เรียกอัครราชทูตที่ปรึกษา คือคุณทวีกลับ ข้าพเจ้าจึงตกค้างอยู่ที่ญี่ปุ่นผู้เดียว จนนายวิจิตร วิจิตรวาทการ ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตคนใหม่ และได้เตรียมตัว เจ้าหน้าที่ในคณะของท่านไว้พร้อมมูล เริ่มแต่นายสง่า นิลกำแหงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาแทนคุณทวี ดร.สุจิต หิรัญพฤกษ์ เป็นเลขานุการโทแทน ข้าพเจ้า ครั้นเมื่อท่านและคณะไปถึงกรุงโตเกียว ทำงานด้วยกันพักหนึ่ง ท่านกรุณาปรารภอยากจะให้ข้าพเจ้าอยู่ช่วยงาน ข้าพเจ้าเรียนท่านว่า ในทางส่วนตัว กระทรวง ให้ทำงานที่ไหนก็ได้ ข้าพเจ้าไม่เลือก แต่เมื่อท่านเอกอัครราชทูตได้รับอนุมัติจาก กระทรวงให้มีเลขานุการโทมาแทนในตำแหน่งของข้าพเจ้าแล้ว กระทรวงอาจจะไม่ยินยอมให้ข้าพเจ้าอยู่ต่อ

ระหว่างที่รอกลับ วันหนึ่งพุทธสมาคมของญี่ปุ่นจัดงานเลี้ยงอาหารกลางวันให้ เป็นเกียรติแก่ท่านเอกอัครราชทูตคนใหม่ ข้าพเจ้าติดตามไปในงานรับรองด้วย ในการรับประทานอาหาร เขาจัดให้นั่งติดกับคุณหญิงประภาพรรณ สนทนากันใน เรื่องส่วนตัว แล้วท่านปรานีถามข้าพเจ้าว่า เมื่ออยู่ในกรุงเทพฯ เหตุใดจึงไม่เคยได้พบ ใครต่อใครในกระทรวงพากันไปหาคุณหลวงทั้งนั้น แม้คุณถนัดเองก็เคยไปเล่น แบดมินตันที่บ้าน แต่ไม่เคยเห็นข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าตอบคุณหญิงไปว่า ข้าราชการ ชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงต่างมีงานในหน้าที่มากมาย เวลาท่านอยู่บ้านคงต้องการจะ อยู่เฉพาะกับสมาชิกในครอบครัว ข้าพเจ้าถือว่าไม่เป็นการสมควรที่บุคคลภายนอก จะสอดเข้าไปในครัวเรือนของท่าน ข้าพเจ้าจึงไม่เคยไปหาท่านผู้ใหญ่ผู้ใดที่บ้าน เพราะไปแล้วก็คงต้องมีเรื่องไปเล่าให้ฟัง ถ้าไม่มีเรื่องราชการก็อาจจะต้องนึกคิดนิมิต เอา ดีไม่ดีกลายเป็นการเก็บเอาเรื่องนี้เรื่องนั้นไปเล่าให้รำคาญหูรำคาญใจโดยใช่เหตุ ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงถือหลักไม่กวนผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาในทางราชการ นอกจากท่านจะมีงานเรียกไปใช้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เขียนมาถึงตอนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าย่อมจะเว้นไม่จารึกความกรุณาที่คุณหลวงวิจิตร วาทการมีต่อข้าพเจ้า ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าพูดกับท่านและคุณหญิงอย่างนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้า ไม่เคยทำงานภายใต้บังคับบัญชาของคุณหลวงวิจิตรฯ โดยตรง ตอนที่ท่านได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ข้าพเจ้าอยู่ในญี่ปุ่น ครั้นท่าน ออกไปญี่ปุ่น จะขอให้ข้าพเจ้าอยู่ต่อ ข้าพเจ้าก็ต้องเดินทางกลับตามคำสั่งกระทรวง ระหว่างที่อยู่ร่วมงานกันไม่กี่วัน เห็นว่า การทำงานของท่านผิดกับท่านเอกอัครราชทูต ดิเรก ท่านชอบทำเองเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่จะมีโทรเลขเข้ากระทรวง ท่านก็ชอบ เข้ารหัสด้วยตนเอง โดยให้เหตุผลว่า การเข้ารหัสเปิดโอกาสให้เลือกใช้ถ้อยคำที่สั้น เหมาะสมได้ดีกว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ท่านเท่าใด แต่ท่านยังคงกรุณา ปรานีข้าพเจ้าเสมอ ท่านต้องตกระกำลำบากไประยะหนึ่งหลังสงครามใหม่ ๆ เพราะ ท่านต้องหาเป็นอาชญากรสงคราม เมื่อพ้นจากการกล่าวหา ท่านได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตในต่างประเทศไกลกันคนละมุมโลก จึงไม่มีการติดต่อกันเลย เมื่อท่านกลับมามีอำนาจวาสนาอีกครั้งหนึ่ง เป็นคนโปรดผู้ใกล้ชิดของ ท่านจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ข้าพเจ้าอยู่ประจำที่ออสเตรเลีย ท่านไม่วายที่จะ เอื้อเฟื้อนึกถึงข้าพเจ้า จัดให้ข้าพเจ้าได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อข้าพเจ้า กลับจากออสเตรเลียมาประจำในกระทรวง ข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งแต่งตั้งเป็นสมาชิกในคณะกรรมการหลายต่อหลายคณะเนื่องจากคำแนะนำของท่าน

ชั่วระยะเวลาสองปีที่ข้าพเจ้ารับราชการอยู่ที่กรุงโตเกียว เป็นระยะเวลาที่ทาง ฝ่ายญี่ปุ่นมีการจำกัดจำเขี่ยในเรื่องอาหารการกินมาก โดยเหตุความขัดสนระหว่างสงคราม สำหรับคนชาวญี่ปุ่นเองแต่ละครอบครัวมีสิทธิที่จะซื้อไปรับประทานเพียง เดือนละสองฟอง อาหารเนื้อไม่ต้องคิดถึง อาหารทะเลพอมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก แม้แต่ข้าวสารก็มีส่วนปันให้พอประทังชีวิตไปได้เท่านั้น ข้าราชการทูตได้รับอนุญาต ให้ซื้ออาหารทุกชนิดได้เป็นกรณีพิเศษ เช่น ไข่ซื้อได้เป็นลัง ๆ ผลไม้ก็เหมือนกัน ทาง สถานทูตจะต้องทำคำขอยื่นไปยังกรมพิธีการทูตของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งตามปกติเขาอนุญาตให้ในปริมาณที่ไม่เกินความจำเป็นขณะนั้นข้าพเจ้ายังไม่มี ครอบครัว สิทธิพิเศษที่ได้รับในเรื่องอาหารจึงมีปริมาณเพียงพอ บ้านที่พักของ ข้าพเจ้ากลายเป็นสถานที่ที่เพื่อนญี่ปุ่นชอบมาเยี่ยมเยียน เพราะเป็นโอกาสให้ได้รับประทานอาหารที่แม้จะไม่วิจิตรพิสดารเท่าใดนัก เป็นอาหารหลักธรรมดา แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาหาซื้อไม่ได้ ข้าพเจ้าจ้างหญิงสูงอายุชาวญี่ปุ่นมาเป็นผู้รับใช้สอนให้ทำอาหารไทย กำหนดอาหารเป็นรายวันตลอดสัปดาห์เลย แกทำให้จนเกิดความชำนาญทำแกงเผ็ดแบบไทยให้รับประทานได้ไม่แพ้แม่ครัวไทย แกอยู่กับข้าพเจ้า จนกระทั่งข้าพเจ้ากลับประเทศไทย ได้อาศัยแกจัดอาหารเมื่อมีงานรับรองที่บ้านตลอดเวลา

 

หมายเหตุ :

  • กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
  • โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “สองปีในประเทศญี่ปุ่น”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 153-183.

บรรณานุกรม :

  • ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “สองปีในประเทศญี่ปุ่น”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 153-183.

บทความที่เกี่ยวข้อง :