
เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยต้องการรักษาความเป็นกลางไว้ และไม่ประสงค์จะฝักใฝ่เข้าข้างฝ่ายใด รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรเรียกว่า ร่างพระราชบัญญัติกำหนดหน้าที่ของคนไทยในเวลารบ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญว่า “เพื่อรักษาความเป็นมิตรที่ดีของทุก ๆ ชาติ ชาติไทยได้ดำรงอยู่ในความเป็นกลาง และปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรม ถือมั่นในความสงบ และในการที่จะไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ชาติหนึ่งชาติใด แต่ทั้งนี้ชาติต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับชาติไทยมีความสัมพันธ์สนิทกันมานับเป็นเวลานานนั้น ก็ต้องเห็นใจชาติไทยและไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ชาติไทยด้วย แต่ดังที่ได้ทราบกันอยู่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน และถ้าจะสมมติกรณีให้ร้ายแรงที่สุด การณ์ก็อาจจะเป็นได้ว่า ชาติไทยอาจถูกชาติอื่นบีบคั้นและเข้ามารุกรานในบ้านเมืองกรณีอันร้ายแรงเช่นนี้ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับความเป็นความตายของชาติ ประชาชนชาวไทยก็ตกอยู่ในฐานะจำเป็นที่จะต้องสู้จนกว่าจะหมดลมหายใจ ถึงศัตรูจะมีอำนาจอย่างใหญ่หลวงเพียงใดก็ตาม เมื่อเกิดมาเป็นไทยแล้ว ต้องต่อสู้จนสิ้นกำลัง ชาติไทยย่อมรู้สึกว่าเป็นชาติเล็กไม่มีกำลังจำนวนมากมาย แต่ก็ยินดีจะยอมตายด้วยความเป็นไทยดีกว่าอยู่ด้วยความเป็นทาส เมื่อจำเป็นถึงชาติไทยจะต้องต่อสู้จนสิ้นชาติ ชื่อของไทยก็คงดำรงอยู่ตลอดชั่วกัลปาวสานว่าเป็นชาตินักสู้จนตัวตาย”
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๘๔ สภาฯ ได้พิจารณาอนุมัติให้ตราเป็นกฎหมายใช้บังคับได้ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๔ มีหลักการสำคัญว่า เมื่อประเทศไทยต้องทำการรบกัขประเทศหนึ่งประเทศใดก็ตามเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยที่จะต้องปฏิบัติในทุก ๆ ทางที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย และที่ขัดต่อประโยชน์ของประเทศที่ทำการรบกับประเทศไทย ทั้งนี้เห็นได้ว่า ได้กำหนดหน้าที่ของคนไทยไว้อย่างกว้างขวาง ผู้ใดจะทราบได้ว่า สิ่งใดจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และสิ่งใดขัดต่อประโยชน์ของประเทศที่ไทยต้องทำการรบด้วย และเมื่อทราบแล้วจะพึงปฏิบัติอย่างใด จริงอยู่กฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงในมาตรา ๔ ว่า คนไทยที่ล่วงรู้แผนการฐานที่ตั้งการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกำลังคน กำลังอาวุธ การเงิน หรือการอื่นใดทำนองที่กล่าวมานี้ของข้าศึกจะต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารหรือฝ่ายปกครองโดยมิชักช้า กฎสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นผู้รับรายงานดังกล่าว ได้แก่นายทหารหรือนายตำรวจประจำการชั้นสัญญาบัตร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท้องถิ่นและนายอำเภอ หรือผู้รักษาการแทน สำหรับข้อนี้ปัญหาในทางปฏิบัติมีว่าจะมีผู้อื่นที่สามารถล่วงรู้ถึงแผนการ ฯลฯ ของข้าศึกดีกว่า ที่เจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่นทราบอย่างไร หน้าที่ของผู้ล่วงรู้มีเพียงจะต้องรีบรายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามที่จะเห็นสมควร
หลักสำคัญประการที่ ๒ ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดไว้ในมาตรา ๕ ว่า คนไทยทุกคนต้องทำการต่อต้านข้าศึกทุกวิถีทางด้วยกำลังอาวุธ กำลังทรัพย์ หรือกำลังอื่นใดตามคำสั่งของราชการ ผู้ที่จะออกคำสั่งดังกล่าวตามกฎสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับเดียวกันนั้น ได้แก่นายทหารประจำการชั้นผู้บังคับกองพัน หรือผู้บังคับกองร้อยอิสระ หรือผู้บังคับการเรือ หรือผู้บังคับกองบินน้อย หรือผู้บังคับฝูงบินอิสระขึ้นไป ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท้องที่ และนายตำรวจประจำการชั้นผู้กำกับการต่างจังหวัด หรือผู้บังคับกองตำรวจจังหวัดขึ้นไป ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในท้องที่ หรือข้าหลวงประจำจังหวัด หรือนายอำเภอ และผู้รักษาการแทน ถ้าไม่สามารถทราบคำสั่งของราชการก็ต้องจัดการต่อต้านต่อไปตามวิถีทางที่ทำได้จนถึงที่สุด ถ้าไม่สามารถต่อต้านไว้ได้ ให้ทำการขัดขวางหรือก่ออุปสรรคต่าง ๆ เพื่อมิให้ข้าศึกได้รับความสะดวก และให้ทำลายเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สัตว์พาหนะ และสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของตนหรือของราชการ อันจะอำนวย ประโยชน์ให้แก่ข้าศึกนั้นเสียให้สิ้น ทั้งนี้เห็นได้ว่า เป็นการให้อำนาจแก่เอกชนคนไทยอย่างกว้างขวาง ที่ถึงแม้จะไม่ได้รับคำสั่งจากทางราชการก็ยังสามารถจะใช้ดุลยพินิจทำลายทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้อื่นและของราชการเพื่อประโยชน์ในการต่อต้านข้าศึกของประเทศไทยได้
ยิ่งกว่านั้น กฎหมายยังได้กำหนดบทลงโทษสถานหนักไว้สำหรับผู้ฝ่าฝืน หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ไว้ว่า จะต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต พร้อมทั้งให้ริบทรัพย์สมบัติส่วนตัวเสียสิ้น
การที่กฎหมายพิเศษฉบับนี้มีบทบัญญัติรุนแรงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคนไทย ทุกคนที่จะต้องต่อสู้อริราชศัตรูของประเทศชาติทุกวิถีทางก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนมิตรประเทศทั้งหลายให้ตระหนักทราบว่า ประเทศไทยต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ ประเทศไทยยึดมั่นในความเป็นกลาง หากมีประเทศใดรุกรานเข้ามาในประเทศไทยแล้ว คนไทยทุกคนจะลุกขึ้นต่อสู้อย่างเข้มแข็ง และพร้อมที่จะเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเอกราชของชาติไทย
แต่ในการต่อสู้ศัตรูภายนอกนี้ รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า จะพึ่งพาอาศัยตัวเองเท่านั้นหาเพียงพอไม่ กำลังทหารของไทยมีน้อยเมื่อเทียบกำลังทหารของญี่ปุ่นที่ค่อย ๆ ขยายตัวเข้ามาใกล้ชายแดนไทยทางอินโดจีนทุกที รัฐบาลฝรั่งเศสที่วิชีไม่สามารถจะขัดขืนคำเรียกร้องต่าง ๆ ของญี่ปุ่นได้ อาวุธยุทธภัณฑ์ของการทหารไทยก็อยู่ในระดับที่ต่างมาก ไทยจำต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งจากอังกฤษและสหรัฐฯ จึงจะอยู่ในฐานะที่จะป้องกันตนเองได้ นายกรัฐมนตรี พิบูลสงครามได้ยกเรื่องขึ้นปรารภขอความสนับสนุนจากอังกฤษผ่านทางเซอร์โจซาย ครอสบี้ ตลอดมาทางด้านสหรัฐฯ ก็ได้พยายามพูดกับนายแกร็นท์เหมือนกัน แต่ทางด้านนี้ดูนายแกร็นท์ไม่สู้จะสนใจเท่าใดนัก หากมองรัฐบาลไทยไปในทางเดียว กล่าวหาว่า ไทยมุ่งจะรุกหน้าเข้าไปในอินโดจีนโดยถือโอกาสความอ่อนแอของรัฐบาลฝรั่งเศสในตอนนั้น
ทางสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๔ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำ กรุงวอชิงตัน ได้ไปพบนายแฮมิลตัน หัวหน้ากองกิจการตะวันออกไกลของกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน แสดงความห่วงใยของประเทศไทยที่เกรงว่า ญี่ปุ่นอาจจะใช้กำลังเข้าโจมตีประเทศไทยในเร็ววัน ประเทศไทยเป็นจุดอ่อนที่สุดทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ญี่ปุ่นอาจส่งกองกำลังทหารบกเข้ามาจากเขมร จริงอยู่บริเวณชายแดนระหว่างเขมรกับไทยเป็นป่าเขา แต่มีถนนดีพอใช้หน่วยยานยนต์ของฝ่ายญี่ปุ่นอาจจะผ่านเข้ามาประเทศไทยได้โดย ง่าย และญี่ปุ่นอาจส่งกำลังทางเรือเข้ามาในอ่าวไทยด้วยก็ได้ ราชนาวีไทยมีเรือรบอยู่ไม่กี่ลําล้วนเป็นเรือขนาดเล็กทั้งนั้น ไม่มีทางที่จะต่อต้านราชนาวีของจักรพรรดิ
ญี่ปุ่นได้ กองทัพบกไทยมีกำลังพล ๒๐๐,๐๐๐ คน แต่ที่ได้รับการฝึกและมีอาวุธจำกัดอยู่เพียง ๔๐,๐๐๐ คน เท่านั้น ถ้าญี่ปุ่นเข้ายึดกรุงเทพฯ ได้สําเร็จ ไทยก็คงจะไม่มีทางต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างใดได้อีก การยึดกรุงเทพฯ เท่ากับเป็นการตัดสายลำเลียงที่จะลงไปทางมลายู ในทางกำลังทางอากาศเกือบจะกล่าวได้ว่า ไทยอ่อนมาก สนามบินในต่างจังหวัดเป็นสนามบินเล็ก หากญี่ปุ่นเข้าโจมตีไทย ไทยจะพยายามต่อสู้ทุกวิถีทางด้วยกำลังทหารทั้งหมดที่มีอยู่ จึงหวังว่า สหรัฐฯ ควรจะให้ความช่วยเหลือ ทางการทหารแก่รัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเครื่องบินรบที่จะเป็นกำลังใจแก่ทหารไทย นายแฮมิลตันตอบว่า ถ้าไทยถูกญี่ปุ่นโจมตี สหรัฐฯ จะช่วยเหลือไทยทำนองเดียวกับที่ช่วยเหลือประเทศจีน
วันที่ ๑ ธันวาคม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พา ม.ล.ขาบ กุญชร ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกไปชี้แจงให้รายละเอียดด้านการทหารเพิ่มเติมแก่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกาว่า ฝ่ายญี่ปุ่นในขณะนั้นมีกำลังทหารในอินโดจีนประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ คน แบ่งเท่า ๆ กันระหว่างตอนเหนือและตอนใต้ของอินโดจีน เป้าหมายสำคัญของญี่ปุ่นเข้าใจว่าจะมุ่งไปยังประเทศพม่า ซึ่งญี่ปุ่นจะเข้าถึงได้สะดวกโดยผ่านเข้าทางดินแดนของประเทศไทย ดีกว่าจะผ่านทางเหนือของอินโดจีน วงการทหารไทยคาดว่า ญี่ปุ่นจะเข้าโจมตีประเทศไทยทั้งทางบกและทางทะเล ทางบกอาจจะพุ่งมาจากดินแดนเขมร ส่วนทางทะเลอาจจะขึ้นทางชายฝั่งบริเวณกรุงเทพฯ และอาจใช้กำลังทางเรืออีกส่วนหนึ่งขึ้นในบริเวณคอคอดกระ เพื่อตัดทางคมนาคมระหว่างไทยกับมลายู ฉะนั้น ไทยจึงจำต้องมีทั้งปืนใหญ่ขนาดหนัก เครื่องบินทิ้งระเบิด และเครื่องบินขับไล่ โดยเร่งด่วนที่สุดหวังว่าทางสหรัฐฯ จะสนับสนุนแก่ไทยในด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของไทยในการตอบโต้การรุกรานของญี่ปุ่น ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันได้ขอรับไว้พิจารณา
ทางด้านอังกฤษ รัฐบาลพิบูลสงครามได้ขอความช่วยเหลือไปหลายครั้งหลายหน โดยใคร่จะขอให้รัฐบาลอังกฤษยืนยันรับรองว่าจะช่วยไทยเมื่อถูกญี่ปุ่นตี วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๔ นายวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษส่งสาส์นถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยผ่านทางอัครราชทูตอังกฤษ มีข้อความว่า “ญี่ปุ่นอาจจะบุกเข้าประเทศไทยของท่านในเร็ววันนี้ ถ้าท่านถูกโจมตีขอให้ป้องกันตนเอง การปกปักรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยอันสมบูรณ์ของประเทศไทยเป็นผลประโยชน์ของอังกฤษ และอังกฤษจะถือการโจมตีประเทศไทยเป็นเสมือนหนึ่งการโจมตีประเทศอังกฤษเอง” และในวันเดียวกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้โทรเลขถึงเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ให้แจ้งต่อประธานาธิบดีรุสเวลท์ว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะส่งโทรเลขให้กำลังใจแก่นายกรัฐมนตรีไทยว่า “ญี่ปุ่นอาจจะบุกเข้า ประเทศไทยในเร็ววันนี้ ถ้าหากท่านถูกโจมตี ขอให้ป้องกันตนเอง เราจะมาช่วยท่านจนสุดความสามารถของเรา และจะปกปักรักษาเอกราชของประเทศไทย หวังว่า ประธานาธิบดีคงจะไม่ขัดข้อง ขอให้เอกอัครราชทูตปรึกษาหารือกับประธานาธิบดีโดยพลัน แล้วแจ้งคำตอบให้กรุงเทพฯ ทราบด้วย”
เช้าตรู่ของวันที่ ๗ ธันวาคม เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้มีโทรเลขเลขที่ ๘๕๓ ถึง กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษรายงานว่า ได้พบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งวิงวอนขอมิให้อังกฤษส่งกำลังทหารเข้ายึดครอง ประเทศไทยแม้แต่กระเบียดนิ้วเดียว นอกจากประเทศญี่ปุ่นจะได้เข้าโจมตี ประเทศไทยก่อน ในขณะนั้นคนไทยทุกคนอยู่ข้างอังกฤษในการเผชิญหน้ากับญี่ปุ่น แต่ถ้าอังกฤษเป็นฝ่ายเริ่มละเมิดความเป็นกลางของไทยแล้ว การณ์จะกลับกลายเป็นอย่างอื่นและความเสียหายจะเกิดขึ้นอย่างแก้ไขไม่ได้ ทูตอังกฤษรายงานด้วยว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ข่าวแจ้งชัดว่า ญี่ปุ่นมีแผนเตรียมโจมตีไทย ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม แต่ต้องเลื่อนกำ หนดไปในวาระสุดท้าย อย่างไรก็ดีการโจมตีของญี่ปุ่นจะเริ่มในอนาคตอันใกล้ พันเอก โมริยะ อดีตผู้ช่วยทูตทหารบก ได้กลับมาปรากฏ ตัวในกรุงเทพฯ อีก และอยากขอพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อสอบถามถึงท่าทีของประเทศไทยต่อญี่ปุ่น ซึ่งหลวงประดิษฐ์มนูธรรมตอบไปว่า ไม่สามารถจะให้คำตอบได้ เพราะมิได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนั้น ทูตจึงขออนุมัติจากกระทรวงต่างประเทศอังกฤษให้ เสนอแผนการป้องกันร่วมสำหรับปักษ์ใต้ของประเทศไทยในกรณีที่ญี่ปุ่นเข้าโจมตีประเทศไทย
เหตุการณ์ทางประเทศไทยเดินเร็วกว่าที่จะมีการดำ เนินการตามโทรเลขติดต่อ ระหว่างทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ กับรัฐบาลอังกฤษและระหว่างรัฐบาลอังกฤษ กับรัฐบาลอเมริกา เพราะคํ่าวันที่ ๗ ธันวาคมนั้นเอง เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ นาฬิกา เซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้ไปพบนายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่บ้านพัก แจ้งให้ทราบว่า ตามรายงานของเครื่องบินตรวจการของอังกฤษ เห็นกองเรือรบญี่ปุ่นบ่ายหน้าจากแหลมญวนเข้ามาในบริเวณอ่าวไทย และถามรัฐมนตรีว่า ไทยจะกระทำการอย่างไร รัฐมนตรีตอบว่า ไทยคงต้องสู้แน่ แต่ไม่ทราบว่าจะสู้ได้นานเท่าใด ต่อมาเวลาก่อน ๒๐.๐๐ นาฬิกา นายทสุโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและคณะได้ไปขอพบนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่วังสวนกุหลาบ แต่นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ เพราะไปตรวจดูสถานการณ์ทางชายแดนด้านอรัญประเทศ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ได้ตามนายดิเรก ชัยนาม ให้ออกมารับเอกอัครราชทูต ญี่ปุ่นและคณะแทนเอกอัครราชทูตแจ้งแก่รัฐมนตรีว่า ญี่ปุ่นอยู่ในบังคับที่จะต้องต่อสู้เพื่อความเป็นความตายกับอังกฤษ และสหรัฐฯ การเจรจาหาทางออกโดยสันติกับรัฐบาลอเมริกาไม่มีทีท่าจะสำเร็จสมประสงค์ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำต้องตัดสินใจ ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษโดยเหตุผลปรากฏในพระราชโองการ ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ดังต่อไปนี้
เป็นนโยบายอันไม่เปลี่ยนแปลงของประเทศญี่ปุ่นที่จะรับรองเสถียรภาพของเอเชียตะวันออก และที่จะส่งเสริมสันติภาพแห่งโลก ส่วนหลักการอันสำคัญของนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นก็มีอยู่ว่า ได้ปฏิบัติการตามนโยบายแห่งชาติดังที่กล่าวแล้ว โดยผูกมิตรกับทุก ๆ ชาติ
แต่น่าเสียดายที่เหตุการณ์เรื่องประเทศจีนได้เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศจีนไม่เข้าใจความประสงค์อันแท้จริงของญี่ปุ่น และได้ยั่วให้เกิดการกระทบกันขึ้น แต่โดยอาศัยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ของเรา กองทหารจักรพรรดิจึงได้ ประสบชัยชนะ ไม่ว่าในที่ใด ๆ จุดที่สำคัญต่าง ๆ ทุกแห่งในประเทศจีนนั้นได ตกมาอยู่ในกำ มือของเราหมดแล้ว และผู้นำของชาวจีน ซึ่งเห็นเหตุการณ์ไกล และมีความเห็นเช่นเดียวกับเรา ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติของประเทศจีนขึ้นใหม่ ซึ่งญี่ปุ่นก็ได้ผูกความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐบาลที่อยู่ใกล้เคียงนี้ และซึ่ง ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นมิตรก็ได้ยอมรับรองแล้วถึง ๑๑ ประเทศ ในขณะนี้รัฐบาลจุงกิงซึ่งยังทรงมีชีวิตอยู่ในท้องถิ่นอันห่างไกลก็ไม่สามารถจะกระทำอะไรได้ มากกว่าดำเนินการต่อสู้อันไร้ผลต่อไป อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกาและจักรวรรดิ อังกฤษ โดยที่ไม่ยินยอมจะเปลี่ยนนโยบายอันไร้เหตุผลของตน ที่จะให้เอเชียตะวันออกตกอยู่ในฐานะเป็นทาสต่อไปชั่วนิรันดร ได้พยายามขัดขวางทุก ประการ มิให้เรื่องเมืองจีนนั้นสำเร็จลงไปได้
นอกจากนั้น ประเทศทั้งสองนี้ยังได้ยุยงเนเธอร์แลนด์อิสต์อินดิสให้คุกคาม อินโดจีนฝรั่งเศส และใช้วิธีการทุกอย่างที่จะทำได้ เพื่อให้ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยผิดใจกัน ประเทศทั้งสองนี้ยุ่งอยู่กับการทำลายความมุ่งมาดปรารถนาอันเป็นสิ่งธรรมดาของญี่ปุ่น ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์แห่งความไพบูลย์ร่วมกันกับประเทศต่าง ๆ ในแถบใต้ จนเห็นได้ว่า ประเทศทั้งสองนั้น จวนจะลงมือโจมตีเราตามที่ได้วางแผนการไว้แล้ว ในที่สุดประเทศทั้งสองนี้ได้ ดำเนินการไปไกลถึงกับได้ใช้วิธีตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ใน ระหว่างชาติที่มิได้ทำสงครามแก่กันนั้น การทำลายความสัมพันธ์ในทางเศรษฐกิจเป็นการกระทำเยี่ยงศัตรู ซึ่งเทียบได้กับการท้าทายโดยกำลังทหาร ถึงจะได้ปฏิบัติการไปเพียงนี้แล้ว ประเทศทั้งสองนั้นก็ยังไม่พอใจและได้ชักจูง ประเทศอื่น ๆ ให้ทำ ตามอย่างตน โดยเพิ่มกำลังทหารขึ้นทุก ๆ ด้านของประเทศญี่ปุ่น อันเป็นการคุกคามอย่างร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ของเรา ถึงแม้ว่าจะมีการคุกคามเช่นนั้นต่อความเป็นอยู่ของญี่ปุ่น และต่อเสถียรภาพแห่งเอเชียตะวันออกก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นโดยที่อยากจะรักษาสันติภาพของแปซิฟิก และเพื่อจะป้องกันมิให้ความยุ่งยากแห่งสงครามกระจายไปทั่วโลก จึงได้ดำเนินการเจรจาทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา โดยใช้ความเพียรและความสุขุมอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน เราได้เร่งเร้าให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ใต้อิทธิพลของมหาอำนาจทั้งสองนี้ ให้พิจารณาท่าทีของตนเสียใหม่ เราได้แสดงนํ้าใจผ่อนปรนเท่าที่ควรกับความเป็นอยู่ และเกียรติภูมิแห่งจักรวรรดิของเรา และเราได้พยายามที่จะให้มีการตกลงกันโดยสันติ เราได้พยายามทุกสิ่งทุกอย่างที่จะพยายามได้ และได้กระทำทุกสิ่งที่จะกระทำได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกาโดยที่ยึดถือหลักการทางทฤษฎี จึงไม่ยอมรับรู้ความเป็นจริงอันกระจ่างชัดของเอเชียตะวันออก โดยมัวหลงอยู่ในกำลังทางวัตถุของตน สหรัฐอเมริกาจึงมองไม่เห็นกำลังอันแท้จริงของญี่ปุ่น และโดยร่วมมือกับมหาอำนาจพวกเดียวกัน รัฐบาลอเมริกาจึงได้เพิ่มการคุกคามทางทหาร โดยเชื่อว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นการบังคับให้ญี่ปุ่นยอม เป็นอันว่าไม่มีความหวังหรือสูตรอย่าง หนึ่งอย่างใดต่อไปแล้วที่จะรักษาสันติภาพไว้ในแปซิฟิก โดยความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจพวกเดียวกัน โดยการปรับความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเหล่านั้นด้วยสันติวิธี ณ บัดนี้ เสถียรภาพของเอเชียตะวันออก และความเป็นอยู่ของญี่ปุ่นเองก็ตกอยู่ในห้วงอันตราย แม้ในวันนี้ประเทศเหล่านี้กำลังโจมตีกองทัพของเราโดยตรง เมื่อสถานการณ์เป็นอยู่ดังนี้ จึงได้มีการประกาศพระราชโองการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา และจักรวรรดิอังกฤษ รัฐบาลได้เต็มตื่นไปด้วยความเกรงพระบารมีเมื่อได้รับพระราชโองการ เป็นเวลาสำหรับพวกเราผู้เป็นพลเมืองของสมเด็จพระจักรพรรดิ อันมีจำนวนรวมด้วยกัน ๑๐๐ ล้านคน ที่จะยืนขึ้นโดยเด็ดเดี่ยวด้วยกำลังนํ้าใจอันหนึ่งอัน เดียวกันที่แข็งดุจเหล็กและพลีกำลังของชาติทั้งมวลสำหรับทำสงคราม เพื่อว่า เราจะได้ขจัดสาเหตุแห่งความชั่วร้ายในเอเชียตะวันออกไปชั่วนิรันดร และด้วยเหตุนี้จะได้ต้องด้วยพระราชประสงค์ของพระมหาจักรพรรดิของเรา

ธงอาทิตย์อุทัย
สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งสุกใสดังพระอาทิตย์และดวงดาวก็คือ พระราชโองการของพระมหาจักรพรรดิ เกี่ยวกับภารกิจของญี่ปุ่นที่จะยังให้ ประชาชาติทุก ๆ ประชาชาติได้มีที่อันเหมาะสมสำหรับตนเองในโลกนี้ และสิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ นโยบายของเราเพื่อให้บรรลุถึงซึ่งความไพบูลย์ของญี่ปุ่น จีน และแมนจูกัว ด้วยความร่วมมือของประเทศทั้งสาม และความตั้งใจของชาติเราก็คือ จะทำใจคอหนักแน่นไม่หวั่นไหว ด้วยการร่วมพันธไมตรีกับเยอรมันและอิตาลี ผู้มีความประสงค์อย่างเดียวกันกับญี่ปุ่น เราจะก่อรากฐานแห่งสันติภาพของโลก และเดินรุดไปข้างหน้าเพื่อก่อสร้างระเบียบใหม่ บัดนี้ ญี่ปุ่นมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ของภาคใต้ แต่ขอยํ้าว่าเราไม่มีความตั้งใจอันเป็นศัตรูต่อประชาชนในส่วนนั้น ๆ เราประสงค์แต่เพียงจะกำจัดการกดขี่ของอเมริกาและอังกฤษให้พ้นไป และนำเอเชียตะวันออกให้กลับคืนสู่สถานะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมและเรียบร้อย และมีส่วนด้วยในความไพบูลย์ร่วมกันทั้งหมด เราตระหนักว่า บรรดาประชาชนในภูมิภาคนี้คงจะเข้าใจความตั้งใจอันแท้จริงของญี่ปุ่น และตั้งหน้าที่จะดำเนินชีวิตใหม่ในเอเชียตะวันออกใหม่นี้
ความเจริญหรือเสื่อมของจักรวรรดิเรา และความก้าวหน้าหรือตกต่ำของเอเชียตะวันออกอยู่ที่สงครามในปัจจุบันนี้ ประชาชนของเราทั้งหมด โดยที่ระลึกถึงซึ่งมูลฐาน และภารกิจของสงครามครั้งนี้ ไม่ควรกระทำการใด ๆ โดยหุนหันหรือสะเพร่า แต่ด้วยความหมั่นขยันและอดทนของเรา เราจะพิสูจน์ให้เห็นคุณค่าอันควรคู่กับประเพณีอันดีที่สุดของบรรพบุรุษของเรา
เมื่อมองดูความสำเร็จอันดียิ่งของผู้มีชื่อในประวัติศาสตร์ ผู้ซึjงได้หมุนความผันผวนทุก ๆ ครั้งให้กลายเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมโชคชะตาของชาติ เราควรจะให้คำมั่นต่อตัวเราเองที่จะช่วยเหลือนโยบายของจักรพรรดิอันมีศักดิ์และเห็นการณ์ไกล ที่จะให้บรรลุถึงความมุ่งหมายของสงครามคราวนี้ และเพื่อให้พระหฤทัยของพระมหาจักรพรรดิของเราเป็นสุขตลอดกาล
คณะของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ทสุโบกามิ ชี้แจงต่อนายดิเรก ชัยนาม ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงใจส่งกำลังทหารเข้าโจมตีดินแดนของทั้งสองประเทศในวันที่ ๘ ธันวาคม เวลา ๐๑.๐๐ นาฬิกา ดินแดนบางแห่งที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้าจะต้องอาศัยผ่านดินแดนของประเทศไทย ฉะนั้น ญี่ปุ่นจึงใคร่ขออนุญาตรัฐบาลไทยให้ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารผ่านประเทศไทยเพื่อไปดำเนินการศึกต่อฝ่ายอังกฤษ ฝ่ายญี่ปุ่นขอให้ไทยให้คำตอบภายในเวลา ๐๒.๐๐ นาฬิกา อ้างว่ากำลังทหารเคลื่อนเข้ามาสู่ดินแดนไทยแล้ว ไม่อยากจะให้มีการสู้รบระหว่างกองกำลังของทั้งสองฝ่าย
คณะรัฐมนตรีไทยได้เรียกประชุมด่วนที่ทำเนียบรัฐบาล และมีมติมอบให้นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาราชการต่างประเทศไปพบฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อขอยืดเวลาตอบคำขาดของญี่ปุ่นจนถึง ๐๕.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๘ ธันวาคม เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ในกรุงเทพฯ จึงไม่สามารถจะให้คำตอบเด็ดขาดอย่างใดได้ รองนายกรัฐมนตรีกำลังติดต่อตามตัวนายกรัฐมนตรีอยู่ และได้ส่งเครื่องบินไปรับให้เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยด่วนที่สุดแล้ว ขอให้ฝ่ายญี่ปุ่นยับยั้งการเคลื่อนกำลังเข้าประเทศไทยไว้พลางก่อน จนกว่านายกรัฐมนตรีจะกลับถึงกรุงเทพฯ และมีการพิจารณาข้อเสนอของญี่ปุ่นในคณะรัฐมนตรี อนึ่ง อำนาจสั่งทหารให้ปฏิบัติการเป็นอำนาจของผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงต้องรอการกลับของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรีกลับถึงวังสวนกุหลาบเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ นาฬิกา และ เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีทันที เมื่อได้รับทราบรายงานด้วยวาจาของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรีได้ตั้งปัญหาถามคณะรัฐมนตรีว่าจะตกลงอย่างใดดี นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอให้พิจารณาทางได้ทางเสียว่า ถ้าเรายอมจะเสียหายอย่างใด ถ้าไม่ยอมจะเสียหาย อย่างใด นายกรัฐมนตรีตัดบทว่า เหตุการณ์คับขันกำลังรบกันอยู่ ปัญหามีเพียงว่า จะสู้ต่อไปหรือจะหยุด พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี เสนอว่า ไทยไม่มีทางสู้ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยไทยได้เลย รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านการทหารเห็นสอดคล้องกัน นายกรัฐมนตรีจึงลงความเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะต่อต้าน ไทยไม่มีกำลังพอ อังกฤษและสหรัฐฯ ก็ไม่มีทางที่จะช่วยเหลือไทย ขืนสู้ญี่ปุ่นไปประเทศไทยจะเสียหายอย่างหนัก
คณะรัฐมนตรีจึงตกลงมีมติให้สั่งหยุดยิงเพื่อเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่น แล้วนายกรัฐมนตรีและนายดิเรก ชัยนาม ออกไปพบคณะทูตญี่ปุ่น เจรจากับฝ่ายญี่ปุ่น
ประมาณ ๑ ชั่วโมง แล้วกลับมายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แจ้งให้ทราบว่า ญี่ปุ่นเสนอให้ไทยเลือกเอาระหว่าง ๔ แผน คือ แผนที่ ๑ ไทยกับญี่ปุ่นทำสัมพันธไมตรี ในทางรุกและป้องกันร่วมกัน แผนที่ ๒ ไทยเข้าเป็นภาคีกติกาสัญญาไตรภาคีฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๘๓ กล่าวคือเข้าร่วมฝ่ายอักษะกับเยอรมัน อิตาลี และญี่ปุ่น ทั้งสองแผนนี้ญี่ปุ่นจะรับประกันว่าจะเคารพเอกราชอธิปไตยและเกียรติศักดิ์ของประเทศไทย และร่วมมือกับประเทศไทยในการเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา แผนที่ ๓ ไทยให้ความร่วมมือทางทหารตามที่จำเป็นแก่ฝ่ายญี่ปุ่น รวมทั้งการอนุญาตให้ทหารญี่ปุ่นผ่านอาณาเขตไทย และให้ความสะดวกทุกอย่างที่จำเป็น พร้อมทั้งป้องกันมิให้เกิดปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น หรือแผนที่ ๔ ไทยกับญี่ปุ่นรับร่วมกันป้องกันประเทศไทย
ในคณะรัฐมนตรีมีความเห็นแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย ส่วนใหญ่ไม่ออกความเห็น แล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะเอาอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งว่า เมื่อจำเป็นต้องยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยทั้งที ก็ควรเอาผลประโยชน์ให้มากที่สุดตามแผนที่ ๑ อีกเสียงหนึ่งว่า หากจำต้องยอมแล้ว เข้าส่วนฝ่ายอักษะเสียเลยตามแผนที่ ๒ จะดีกว่า เพราะจะได้เยอรมันและอิตาลีช่วยให้หลักประกันแก่ประเทศไทยร่วมกับญี่ปุ่นด้วย ส่วนแผนที่ ๔ จะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในฐานะคล้ายอินโดจีน ความจริงประเทศไทยมีความตกลงไม่รุกรานกับประเทศอื่นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมีความผูกพันป้องกันร่วมกันกับญี่ปุ่น นายดิเรก ชัยนาม เสนอว่า โดยที่ประเทศไทยได้ ยืนยันจะรักษาความเป็นกลางตลอดมา หากจำต้องยอมให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่นอย่างมาก ก็ควรจะยอมเพียงให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านตามแผนที่ ๓ เท่านั้น ถ้ายอมมากกว่านั้น ตามแผนที่ ๑ หรือแผนที่ ๒ ก็ตาม โลกอาจจะมองไทยว่า ทั้ง ๆ ที่ประกาศจะเป็นกลาง ความจริงแล้วสมคบกับญี่ปุ่นตลอดมา มิใช่ต้องยอมเพราะสู้ไม่ไหว รองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส และนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง สนับสนุนนายดิเรก ชัยนาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึง ตกลงรับตามแผนที่ ๓ ที่ญี่ปุ่นเสนอ นายวนิช ปานะนนท์ เป็นผู้นำการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีไปแจ้งให้ฝ่ายญี่ปุ่นที่ยังนั่งรอฟังคำตอบอยู่ทราบแล้วก็มีการลงนามในข้อตกลงที่ไทยยอมให้ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารผ่านประเทศไทย และรัฐบาลออกคำแถลงการณ์ ดังต่อไปนี้

ข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น
ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ ซึ่งได้รับมอบอานาจโดยถูกต้องแล้วจากรัฐบาลของตน ตกลงกันดังต่อ ไปนี้
๑. เพื่อจะจัดการกับสถานการณ์เร่งด่วนในเอเชียตะวันออก ประเทศไทยจะอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านดินแดนของประเทศไทยไปได้ และจะให้ความสะดวกทุกอย่างเท่าที่จำเป็นเพื่อการผ่านดังกล่าว ตลอดจนดำเนินการ ต่าง ๆ โดยทันที เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันทุกอย่างอันอาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างกองกำลังทหารญี่ปุ่นกับกองกำลังทหารไทย
๒. รายละเอียดเพื่อการปฏิบัติตามวรรคแรกจะต้องตกลงกันระหว่างยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศ
๓. ประเทศญี่ปุ่นให้ประกันว่า เอกราชอธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทยจะได้รับการเคารพ
ทำ ไว้สองชุด ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๑๙๔๑
(ลงชื่อ) ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายไทย
(ลงชื่อ) ท. ทสุโบกามิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
แถลงการณ์
ด้วยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. กองทหารญี่ปุ่นได้เข้าสู่ประเทศไทยโดยทางทะเลในเขตจังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี (บ้านดอน) และบางปู ส่วนทางบกเข้ามาทางจังหวัดพระตะบองและพิบูลสงคราม เกือบทุกแห่งทหาร และตำรวจไทยได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มแข็ง
อนึ่ง ในเวลาเดียวกันก็ได้มีข่าวจากต่างประเทศว่า กองเรือญี่ปุ่นได้เข้าโจมตี เกาะฮาวาย และฟิลิปปินส์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ส่งทหารขึ้นบกที่โกตาบารูในเขตมลายูของอังกฤษ และได้เข้าโจมตีสิงคโปร์โดยเครื่องบินอย่างหนัก
ในเรื่องนี้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้มาที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๘๔ เวลา ๒๒.๓๐ น. ได้ชี้แจงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่มิได้ถือไทยเป็นศัตรู หากแต่มีความจำเป็นต้องขอทางผ่านอาณาเขตไทย
รัฐบาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พิจารณาปรึกษากันโดยรอบคอบแล้วเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งนี้เป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ แม้ประเทศไทยได้พยายามโดยสุดกำลังก็ไม่สามารถจะหนีเหตุการณ์อันนี้ได้พ้น และเนื่องจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น การที่จะต่อสู้กันไปก็จะเป็นการเสียเลือดเนื้อชาวไทยโดยไม่สำเร็จประโยชน์ จึงจำเป็นต้องพิจารณาตามข้อเสนอของรัฐบาลญี่ปุ่นและผ่อนผันให้ทางแก่กองทัพญี่ปุ่น โดยได้รับคำมั่นจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะเคารพเอกราชอธิปไตย และเกียรติศักดิ์ของไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงได้ตกลงให้ทางเดินทัพแก่ญี่ปุ่น และการต่อสู้ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ได้หยุดลง
ขอให้ประชาชนชาวไทยจงระงับความตื่นเต้นและพยายามประกอบกิจกรรมต่อไปตามเดิม รัฐบาลจะทำความพยายามอย่างสูงสุดในอันที่จะให้เหตุการณ์ทั้งหลายผ่อนหนักเป็นเบามากที่สุดจะทำได้ ขอให้ประชาชนชาวไทยจงรักษาความสงบและฟังคำสั่งและคำเตือนของรัฐบาลทุกประการ
การที่รัฐบาลเสนอให้มีกฎหมายกำหนดหน้าที่คนไทยในแนวรบ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจในการทำลายอย่างกว้างขวาง โดยมีความประสงค์จะแสดงให้โลกภายนอกตระหนักว่า ไทยจะสู้ตายหากต่างประเทศใดก็ตามรุกรานเอกราชอธิปไตยของไทย ครั้นเมื่อถึงเวลาจริงจังที่ประเทศญี่ปุ่นส่งกำลังบุกเข้ามาในประเทศไทย เรากลับสั่งให้กำลังทหารของเราหยุดยิง เพราะเห็นว่าขืนสู้ไปก็มีแต่จะทำลายบ้านเมืองทรัพย์สินของเราพินาศหมดสิ้น ผู้คนจะต้องล้มตายระเนระนาด เอกราชของชาติจะรักษาไว้ไม่ได้ ประเทศและชาติไทยจะต้องตกอยู่ในอำนาจควบคุมของญี่ปุ่นโดยเด็ดขาด กองกำลังทหารไทยทั้งบก เรือ อากาศ จะต้องถูกปลดอาวุธสิ้นเชิง แล้วเรา จะมีสิ่งใดเหลือเพื่อกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของไทยในภายหลัง ดังปรากฏในคำแถลงของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ ความสำคัญว่า
ที่เราได้ตกลงไปแล้วนั้น ผมขอยืนยันว่ารู้สึกว่าเป็นทางที่ดีที่สุด เป็นทางที่เราจะรอดพ้นไปและเป็นทางที่จะให้เราได้กู้อิสรภาพของเราคืนมาได้ ผมเห็นว่ามีทางเดียว คือทางนี้เท่านั้น แต่เหตุผลในเรื่องนี้ผมไม่สามารถจะชี้แจงได้ และมีเหตุผลอีกหลายอย่างซึ่งไม่สามารถที่จะบอกให้คนอื่นฟังได้ แต่ในหลักการนั้น คือว่าอยากจะขอให้ทุกคนยอมหวานอมขมกลืน พยายามที่จะผูกมิตรกับคนญี่ปุ่นเท่าที่สามารถจะทำได้ และถ้าเราไม่อยากจะผูกมิตรกับเขา ก็ขอว่าอย่าไปดูถูกคนญี่ปุ่น เราควรจะหลีกเลี่ยงไปเสียในทางที่เราจะทำการรบ ซึ่งเวลานี้ก็มีเสียงให้แซ่ไปว่า อยากจะรบผมขอถามว่ารบอะไร การรบนั้นไม่ใช่เป็นการเข้าไปนั่งในร้านเหล้าแล้วก็เกิดทะเลาะแย่งเหล้ากันกินตีกระบาลลงไป ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายแพ้ การรบสมัยนี้เป็นการทำลายกันทั้งชาติ และเป็นสงครามที่เคียดแค้น เพราะฉะนั้นถ้าเรารบกับญี่ปุ่นก็ไม่มีปัญหาเลย ถ้าเรารบตั้งแต่วันนั้นแล้ว ผมนึกว่าป่านนี้พวกเราก็จะไม่ได้มานั่งอยู่อย่างนี้ และเอกราชก็จะต้องเสียไป บ้านเมืองอาจจะเป็นขี้เถ้าไปก็ได้ และได้อะไร ได้เกียรติยศหรือ
ผมเคยได้พูดเมื่อก่อนนี้ว่า เรารบตายอย่างชาวบ้านบางระจันนั้นเป็นของวิเศษ มีเกียรติยศ แต่นั้นเป็นการปลุกขวัญของประชาชน เพราะว่าตามหลักการ โฆษณาของรัฐบาลในเวลาก่อนมีเรื่องกับเวลามีเรื่องแล้วนั้นเป็นคนละอย่าง เมื่อก่อนมีเรื่องนั้นเราจะต้องทำเก่งด้วยประการทั้งปวง เดี๋ยวนี้มันก็ผ่านไปแล้ว ที่ว่าเราจะต้องสู้จนคนสุดท้ายนั้น ก็ไม่มีชาติไหนเลยที่สู้จนคนสุดท้าย แต่อันนี้ก็เป็นการกันสงคราม คือแสดงให้เห็นว่าเราจะสู้ เพราะฉะนั้น การที่ใครจะมารุกรานเราก็ควรจะได้ยับยั้งชั่งใจเสียให้ดีก่อน เป็นการแสดงให้เห็นผลจากการที่เราประกาศว่าจะสู้อย่างจริงจังนั้นแล้วอย่างใด คืออาจเป็นผลในทางที่ญี่ปุ่นปฏิบัติกับเราอยู่ในเวลานี้
แต่การปฏิบัติในการที่ควรจะรบหรือไม่นั้นเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งทางทหาร หรือทางรัฐบาลจะต้องตกลงเลือกว่าจะเอาในทางใด การที่ชาติของเราจะกลับฟื้นหรือเป็นเอกราชอยู่อีกนั้นเป็นของดี ถ้าเราตกลงไปในทางรบนี่ก็แหลก และพวกเราก็จะไม่มีโอกาสที่จะมานั่งปรับความเข้าใจกัน หรือไม่มีโอกาสที่จะคิดหาทางแก้ไขได้ และเมื่อแหลกไปแล้ว บ้านเมืองที่เราวาดภาพเห็นก็จะระสํ่าระสาย ซึ่งอาจจะยิ่งกว่าเมื่อคราวที่กรุงเก่าแตกก็ได้ แล้วใครจะควบคุม ป่านนี้ ฝูงคน ๑๔ ล้านคน อาจจะวิ่งไปกระจัดกระจายที่ตายก็ตายไป ทรัพย์สมบัติก็ฉิบหายวายวอด แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เราจะต้องทิ้งประเทศไทยฝากกับธรรมชาติว่า เมื่อไรประเทศญี่ปุ่นจะถูกธรรมชาติลงโทษให้สูญไปจากโลก แล้วใครจะเป็นคนกู้ กว่าจะมีสมเด็จพระนเรศวรส่งเข้ามาสักคนหนึ่ง และการกู้ชาติในสมัยนี้ก็เป็นของที่ยาก เพราะฉะนั้นผมนึกว่าที่ได้ตกลงไปแล้วนั้นเป็นของดีที่สุด เรายังมีช่องทางอีกบ้างไม่มากก็น้อยที่เราจะได้มานั่งคิดว่าควรที่จะทำให้ชาติบ้านเมืองของเราวัฒนาถาวรอยู่ได้โดยวิธีใดบ้าง
ผมขอย้อนกล่าวไปถึงข้อเดิม ข้อแรกที่จะให้รอดพ้นไปได้นั้น ในเวลานี้ก็คือหมายความว่าเราจะต้องแสดงตนเป็นมิตรกับญี่ปุ่นทุกอย่าง จะโดยจริงใจหรือไม่ก็ตาม ปล่อยให้เขาผ่านไป เขาจะทำอะไรเราบ้างก็ตาม เราสงวนชาติของเราไว้ อย่าเพิ่งให้ตายเสีย ถ้าเราไปดื้อดึงเข้า ชาติของเราตายแล้วก็จะไม่มีวันฟื้น ถ้าหากว่าเราได้ผ่อนผันคล้าย ๆ กับว่าพายุแรงมาเราก็ผ่อนโอนไป อย่าให้ต้นไม้ถึงกับหักได้ ต้นไม้นั้นก็ยังคงอยู่ นี่ถ้าเปรียบกับต้นไม้ และต่อไปข้างหน้า ลูกมันก็อาจจะออกมา ซึ่งเราจะเก็บผลกินได้อีก เพราะฉะนั้นข้อนี้เป็นข้อสำคัญ ซึ่งไม่เฉพาะแต่คณะรัฐมนตรีเท่านั้น จะต้องให้ผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเรา ต้องหักใจผ่อนสั้นผ่อนยาวไปกับญี่ปุ่นที่ได้ตกลงไว้เท่าที่จะสามารถทำได้ ผมจะไม่ใช้ศัพท์ว่าให้ปฏิบัติ คือการหักใจปฏิบัติผ่อนปรนให้รอดไป
เมื่อรัฐบาลไทยยินยอมให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยไปปฏิบัติการใน มลายูและพม่าเช่นนั้น ทางอังกฤษได้ประกาศเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๘๔ ถือ ประเทศไทยเป็นดินแดนที่ศัตรูยึดครอง และสั่งกักกันสินทรัพย์ของไทยในอังกฤษ พร้อมทั้งยึดเรือไทยที่ทอดจอดอยู่ในเมืองท่าของอังกฤษ ต่อมาอีกหนึ่งวันอังกฤษขอให้รัฐบาลสวิสเป็นผู้ดูแลรักษาผลประโยชน์ของอังกฤษในประเทศไทย ในชั้นแรก ไทยถือว่ามิได้มีสถานะสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ จึงไม่อาจจะตกลงให้กงสุลสวิสที่ กรุงเทพฯ จัดการเกี่ยวกับกิจการของสถานทูตได้
วันที่ ๑๕ ธันวาคม ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ที่กรุงลอนดอน หารือกับกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษถึงท่าทีเกี่ยวกับประเทศไทย ฝ่ายเนเธอร์แลนด์มีดำริจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย แต่ก่อนจะดำเนินการใคร่จะฟังความคิดเห็นของรัฐบาลอังกฤษก่อน และเสนอว่าในเรื่องเกี่ยวกับไทยนี้ น่าจะได้มีการปรึกษาหารือระหว่างอังกฤษ สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ เพื่อประสานการดำเนินการให้สมานกัน
เป็นที่แน่ชัดว่า ที่ญี่ปุ่นตัดสินใจกระโจนเข้าสู่สงครามกับทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นอยู่ในลักษณะเลือดเข้าตา เขาจะต้องสู้มหาอำนาจทั้งสอง ในขณะที่การศึกบนผืนแผ่นดินใหญ่ของประเทศจีนยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ ยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นอยู่ที่จะต้องรุกหน้ายึดดินแดนในการปกครองของอังกฤษและสหรัฐฯ ให้ได้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ ประเทศไทยนั้นไม่มีความหมายเท่าใดนัก เขาจะเข้ายึดเมื่อใดก็ได้ แต่เขาก็เกรงอยู่เหมือนกัน เพราะประเทศไทยนั้นไม่เคยต้องเสียเอกราชให้แก่ใคร ฉะนั้น เขาจึงมาในลักษณะขอให้เราอนุญาตให้เขาผ่านไปพลางก่อน แต่ตราบใดที่ไทยไม่มีข้อผูกมัดแน่นอนกับเขาญี่ปุ่นก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ไทยจะกระทำอย่างใดต่อไปข้างหน้า เขาย่อมผะอืดผะอมวิตกกังวลในความปลอดภัยของกองกำลังของเขาที่ต้องทุ่มเทสุดตัวในสงครามเพื่อความเป็นความตายของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจำต้องได้หลักประกันจากไทยว่าจะไม่เป็นภัยก่อกวนเขาข้างหลัง ด้วยเหตุนี้ภายหลังที่ไทยยอมทำความตกลงอนุญาตให้กำลังทหารจักรพรรดิผ่านประเทศไทยได้เพียง ๒ วัน เขาก็เริ่มบีบบังคับขอให้รัฐบาลไทยร่วมมือทางทหารแก่ประเทศญี่ปุ่นลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความสะดวกที่เขาต้องการในการที่กำลังทหารญี่ปุ่นจะผ่านดินแดนไทย
ถ้าไทยแสดงว่าให้เขาไม่ได้ เขาก็จะขอเข้ามาทำเอง ถ้ากำลังของไทยขัดขืน เขาก็จะเข้าทำการปลดอาวุธ การกระทบกระแทกกันย่อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ คณะรัฐมนตรี ประชุมปรึกษาหารือกันอีกเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม มองไม่เห็นทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องยอมรับทำความตกลงร่วมมือทางทหารกับประเทศญี่ปุ่น ยังไม่ทันที่รัฐบาลจะเสนอความตกลงนั้นต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบ ฝ่ายญี่ปุ่นเดินแผนใหม่เสนอขอให้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรต่อกันทีเดียว และเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ได้ขอให้รัฐบาลไทยส่งกำลังทหารไปร่วมรบกับญี่ปุ่นด้านประเทศจีน การเจรจาดำเนินต่อมาจนถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม จึงได้มีการลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น มีหลักการสำคัญว่า ทั้งสองประเทศต่างเคารพเอกราช และอธิปไตยของกันและกัน ในกรณีที่ฝ่ายใดเกิดขัดกันทางอาวุธกับประเทศที่สาม อีกฝ่ายหนึ่งรับจะเข้าไปเป็นพันธมิตรช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทั้งในทางการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร โดยไม่แยกทำสัญญาสงบศึกหรือสัญญาสันติภาพกับประเทศที่สามนั้น กติกาสัญญานี้เป็นอันใช้แทนสัญญาลงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ซึ่งให้สิทธิแก่กองกำลังทหารญี่ปุ่นที่จะเดินทางผ่านประเทศไทยเท่านั้นและมีพิธีสารลับผนวกท้าย กำหนดให้ญี่ปุ่นช่วยประเทศไทยให้ได้รับดินแดนที่เสียไปคืน และไทยรับช่วยญี่ปุ่นในสงครามที่ทำกับฝ่ายตะวันตก ทั้งหลายเหล่านี้เพื่อประโยชน์แห่ง “การสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก” ดังปรากฏในคําปรารภของกติกา
เพื่อเพิ่มความขลังให้แก่พันธมิตรที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในหลักการ และเพื่อให้ญี่ปุ่นมั่นใจว่าไทยจะไม่เปลี่ยนแปรพักตร์ ฝ่ายไทยตกลงให้จัดพิธีลงนามในกติกาสัญญาพันธไมตรีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกต อันเป็นที่เคารพเทอดทูนอย่างสูงสุดของประชาชนชาวไทยทั้งมวล โดยจอมพลนายกรัฐมนตรี และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเข้าร่วมพิธี เริ่มด้วยการ จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยก่อนลงนามในเอกสารที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ฉบับนั้น แล้วมีการกล่าวคำปราศรัย จบพิธีลงด้วยพระสงฆ์ ๒๕ รูป สวดชัยมงคลคาถา หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันดื่มแชมเปญฉลอง ที่พระที่นั่งบรมพิมาน
วันที่ ๒๒ ธันวาคม เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ณ กรุงลอนดอน เสนอให้มีการ ประกาศสงครามกับไทยเสียให้เด็ดขาด เพื่อฝ่ายเนเธอร์แลนด์จะได้ทำการยึดเรือไทยในท่าเรือเนเธอร์แลนด์ได้ อังกฤษตอบว่า อังกฤษถือไทยเป็นประเทศที่ถูกศัตรูยึดครอง จึงมีสิทธิที่จะยึดเรือไทยได้อยู่แล้ว โดยไม่จำต้องมีการประกาศสงคราม และสั่งเอกอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตันให้ยกเรื่องที่จะออกแถลงการณ์กำ หนดท่าทีเกี่ยวกับประเทศไทย โดยประสานกับอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ และในวันเดียวกัน นั้น นายอีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ มีหนังสือถึงพระมนูเวทย์วิมลนาท แจ้งให้ทราบถึงการที่ได้ขอให้สวิสดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษในประเทศไทย และจะถือว่าหน้าที่ของพระมนูเวทย์วิมลนาท ในฐานะทูตไทยประจำสำนักเซนต์เจมส์ สิ้นสุดลงในทันทีที่ฝ่ายไทยตกลงเลือกประเทศที่สามเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของไทยในอังกฤษ และได้สั่งให้เซอร์โจซาย ครอสบี้ เดินทางกลับพร้อมกับคณะทูตอังกฤษทั้งหมด ในทันทีที่ได้ดำเนินการให้ความสะดวกแก่คนชาติบริติชที่จะออกจากประเทศไทย แต่โทรเลขถึงเซอร์โจซาย ฉบับลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ไม่ปรากฏว่าถึงมือผู้รับ
รุ่งขึ้นวันที่ ๒๓ ฝ่ายอังกฤษได้แจ้งต่อฝ่ายเนเธอร์แลนด์ว่า อังกฤษไม่มีดำริที่จะประกาศสงครามกับประเทศไทย เพราะถ้ากระทำเช่นนั้น จะเท่ากับช่วยให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถรวบรวมคนไทยให้เป็นปฏิปักษ์ต่ออังกฤษ ทางที่ดีนั้นควรจะพยายามแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อประชาชนชาวไทยที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของญี่ปุ่นมากกว่า ซึ่งจะเป็นทางให้ประชาชนชาติไทยเกิดเสื่อมศรัทธาในรัฐบาลยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน จุดมุ่งหมายของอังกฤษอยู่ที่การต่อต้านญี่ปุ่นมากกว่า อย่างอื่น
อังกฤษรอมาจนกระทั่งวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๕ จึงได้รับตอบจากกระทรวงการต่างประเทศอเมริกันว่า การที่จะแถลงการณ์เกี่ยวกับท่าทีของสหประชาชาติต่อประเทศไทย ใคร่จะขอให้ยับยั้งไว้จนกว่าคณะทูตอเมริกาและอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว ในการนี้สหรัฐฯ แจ้งอังกฤษด้วยว่า ฝ่ายสหรัฐฯ คงจะไม่มีทูตไทยที่จะแลกเปลี่ยนกับทูตอเมริกาประจำกรุงเทพฯ เพราะ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตัดสินใจไม่เดินทางกลับประเทศไทยพร้อมด้วยคณะข้าราชการสถานทูตทั้งหมด รัฐบาลอเมริกายังไม่มั่นใจว่าประเทศไทยรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่นรุนแรงอย่างที่อังกฤษเข้าใจ แต่ก็เห็นด้วยกับรัฐบาลอังกฤษว่า ยังไม่ควรประกาศสงครามกับไทย ควรถือประเทศไทยเป็นดินแดนที่ข้าศึกยึดครองมากกว่า สำหรับฐานะของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชนั้น สหรัฐฯ จะคงยอมรับนับถือเป็นทูตไทยอยู่ตามเดิม แต่ไม่ถึงกับเป็นผู้แทนของประชากรเสรีของประเทศไทย
การที่อังกฤษเร่งรัดให้รัฐบาลแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยในช่วงนั้น ก็เนื่องจากเซอร์จอร์ช เจฟเฟรย์ส ได้ตั้งกระทู้ถามถึงท่าทีของรัฐบาลอังกฤษต่อประเทศไทยในสภาสามัญ ภายในกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ความจริงมีเจ้าหน้าที่บางคนเสนอว่า รัฐบาลอังกฤษควรจะประกาศสงครามกับประเทศไทยได้แล้ว เมื่อปรากฏว่ามีกำลังทหารไทยล่วงลํ้าเข้าไปในดินแดนพม่า รัฐบาลยังไม่กล้าดำ เนินการโดยลำพัง จึงให้รอหยั่งเสียงทางรัฐบาลอเมริกาดูก่อน เมื่อได้รับตอบจากรัฐบาลอเมริกาดังกล่าว นายอีเดนจึงได้ตอบกระทู้ถามของเซอร์จอร์ช เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคมว่า รัฐบาลอังกฤษยังกำลังปรึกษาหารือกับรัฐบาลฝ่ายสหประชาชาติ ซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับประเทศไทยอยู่
โดยที่มีกองกำลังทหารญี่ปุ่นอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และโดยที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ใช้ประเทศเป็นทางลำเลียงกำลังทหารที่ส่งไปปฏิบัติการในดินแดนที่เคยอยู่ในการปกครองของสัมพันธมิตร ได้รับผลสำเร็จอย่างสายฟ้าแลบ รุกรานเข้าไปในดินแดนฟิลิปปินส์ สามารถยืดเกาะกวม เกาะเล็ก ฮ่องกงไว้ได้ ประกอบกับทางอังกฤษ และสหรัฐฯ ได้ส่งเครื่องบินมาทำการทิ้งระเบิดบางส่วนของราชอาณาจักรไทยที่ญี่ปุ่นมีกำลังทหารอยู่ และฝ่ายญี่ปุ่นพยายามเรียกร้องให้ประเทศไทยเพิ่มความร่วมมือกับญี่ปุ่นมากขึ้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับรายงานจากนายวิจิตร วิจิตร วาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ญี่ปุ่นแสดงความไม่พอใจ เป็นอย่างมากที่ประเทศไทยยังไม่ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ตามที่ได้เคยรับไว้พิจารณามาเป็นเวลานานแล้ว การยุทธของญี่ปุ่นรุดคืบหน้าไปเรื่อย ญี่ปุ่นห่วงใยในความปลอดภัยของเขตหลัง ตราบใดที่ไทยยังลังเลใจไม่ยอมประกาศสงครามให้แน่ชัดลงไป รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจประกาศสงครามต่ออังกฤษและ สหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ ตามความในพระบรมราชโองการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา และคำแถลงการณ์ของรัฐบาลไทยสมัยนั้น ดังต่อไปนี้
พระบรมราชโองการ
โดยที่ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้กระทำการรุกรานประเทศไทยมาเป็นลำดับ โดยส่งทหารรุกลํ้าเขตแดนเข้ามาบ้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ส่งเครื่องบินลอบเข้ามาทิ้งระเบิดบ้านเมืองของราษฎรผู้ประกอบหาเลี้ยงชีพอย่างปกติ ทั้งระดมยิงราษฎรสามัญผู้ไร้อาวุธอย่างทารุณ ผิดวิสัยของอารยชน ไม่กระทำการอย่างเปิดเผยตามประเพณีนิยมระหว่างชาติ นับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรม ประเทศไทยจึงไม่สามารถที่จะทนดูต่อไปอีก
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่และ สหรัฐอเมริกาอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เวลาเที่ยงวัน วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไป
ฉะนั้น จึงให้ประชาชนชาวไทยทุกเพศทุกวัย ร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาล ปฏิบัติกิจการเพื่อให้ประเทศไทยประสบชัยชนะถึงที่สุด และพ้นจากการรุกรานอันไม่เป็นธรรมของฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยกระทำการสนับสนุนกิจการของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียง และปฏิบัติตามคำสั่งของทางราชการอย่างเคร่งครัด ทั้งให้ประกอบอาชีพตามปกติของตนอย่างเต็มที่ให้ได้ผล เพื่อนำมาช่วยเหลือและเกื้อกูลเพื่อนร่วมชาติและพันธมิตรของชาติอย่างมากที่สุด
ส่วนผู้อาศัยอยู่ในประเทศนี้มิได้เป็นคนไทยและมิได้เป็นชนชาติศัตรูนั้น ให้ตั้งอยู่ในความสงบและดำเนินอาชีพอย่างปกติ และให้กระทำกิจการให้สมกับที่ตนได้รับยกย่องว่าเป็นมิตรของประเทศไทย
คำแถลงการณ์
ด้วยตามที่ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศทราบทั่วกันว่า ได้มีสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยฝ่ายหนึ่ง กับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา อีกฝ่ายหนึ่งแล้วนั้น รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอแถลงให้ประชาชน ทราบดังต่อไปนี้
ตั้งแต่แรกที่อังกฤษได้แผ่จักรภพมาทางตะวันออก ประเทศไทยก็ได้รับการเบียดเบียนบีบคั้นไม่ขาดสาย อังกฤษได้บั่นทอนดินแดนและแบ่งแยกเชื้อชาติไทยให้กระจัดกระจาย และกระทำการทุกอย่างให้ชาติไทยอ่อนแอ ในทางการ คลังและเศรษฐกิจ อังกฤษก็เข้าคุมเส้นชีวิตและบีบบังคับไทยทุกสถานะ รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลต้องโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของอังกฤษเสมอมา แต่ถึงกระนั้น อังกฤษก็พยายามกลั่นแกล้งในทางการที่สำคัญของไทย เช่น การ ค้าข้าว แร่ ยาง และไม้สัก ก็ได้รับการบีบบังคับจากอังกฤษอยู่เป็นเนืองนิตย์
ส่วนทางสหรัฐอเมริกานั้นเล่า ก็ดำเนินนโยบายอย่างเดียวกับอังกฤษ ชาวไทยทั้งหลายคงจะจำได้ว่า ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีนที่แล้วมา สหรัฐอเมริกาได้ขัดขวางทางดำเนินของไทยทุกประการ ตลอดจนริบเครื่องบิน และอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ไทยสั่งซื้อและชำระเงินให้เสร็จแล้วทางประวัติศาสตร์ ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เมื่อคราวพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๑๒ นั้น ไทยได้ขอให้สหรัฐอเมริการะงับกรณีพิพาทด้วยความเป็นธรรมเพื่อสันติสุขของมนุษย์ แต่สหรัฐอเมริกาก็มิได้นำพาแต่ประการใด ปล่อยให้ไทยถูกกดขี่ข่มเหงมาตั้งแต่ครั้งกระโน้น
ครั้นเมื่อสงครามได้บังเกิดขึ้นในบุรพทิศ โดยที่ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมที่แล้วนั้น ประเทศไทยได้รู้สึกถึงความผูกพันในหน้าที่ที่เป็นชาวเอเชีย จึงได้ร่วมมือทำสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น แต่ถึงกระนั้น ไทยก็ยังมิได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และมิได้ทำการประทุษร้ายรุกรานสองประเทศนี้แต่อย่างใด ตรงกันข้ามอังกฤษ อเมริกาได้ทำการประทุษร้ายรุกรานไทยอย่างร้ายแรง ในระหว่างเวลาตั้งแต่วัน ที่ ๘ ธันวาคม ถึง ๒๐ มกราคม ไทยได้ถูกโจมตีทางอากาศ ๓๐ ครั้ง และโจมตี ทางบกถึง ๓๖ ครั้ง จังหวัดที่ถูกโจมตีมีจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ พระนครและธนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สงขลา และยะลา ในบรรดานักบินที่จับได้ในประเทศไทยก็มีนักบินที่เป็นคนชาติ อเมริกาอยู่ด้วย การโจมตีทางอากาศนั้นก็มิได้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ มิได้โจมตีที่สำคัญทางทหารอย่างไร กลับทำการโจมตีบ้านเรือนราษฎร และใช้ปืนกลยิงผู้คนพลเมืองอย่างปราศจากศีลธรรม
ครั้นเมื่อวันที่ ๒๔ เดือนนี้เอง เครื่องบินอังกฤษได้มาโจมตีกรุงเทพฯ อีก ทั้ง ๆ ที่ไทยยังมิได้ประทุษร้ายอังกฤษ อเมริกาอย่างใด
พฤติการณ์ครั้งนี้ย่อมตกอยู่ในวิสัยอันไม่สามารถจะทนดูต่อไปได้ จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะสงครามระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกาในวันนี้ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันเป็นต้นไป
นับแต่วันที่ประกาศกระแสพระบรมราชโองการนี้เป็นต้นไป ประเทศไทย อยู่ในสถานะสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา และไทยจะตอบสนองการประทุษร้ายทุก ๆ อย่างที่บริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาทำกับไทย
ขอให้ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือน จงปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มความสามารถ และขอให้อาณาประชาราษฎรชาวไทยจงร่วมมือกับทางราชการปฏิบัติตามพระราชกำหนดกฎหมาย คำสั่ง และคำแนะนำของรัฐบาล อย่างเคร่งครัด ทั้งตั้งหน้าประกอบอาชีพให้เกิดผลสมความต้องการของประเทศชาติ และทำความพยายามทุกสถานที่จะนำประเทศชาติไปสู่ชัยชนะในขั้นสุดท้าย
ขอให้บรรดาประชาชนที่เป็นชาวต่างชาติ จงรักษาความสงบและความร่วมมือกับชาวไทยในอันที่จะป้องกันรักษาความเรียบร้อยภายใน รัฐบาลขอประกาศว่า บรรดาชนชาวเอเชียทั้งหลาย แม้จะถือสัญชาติหรืออยู่ในบังคับของ บริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกาก็ดี ถ้าหากสังวรระวังรักษาความสงบเรียบร้อย และร่วมมือร่วมใจกับชาวไทยเป็นอันดีแล้ว รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะไม่ถือว่าเป็นศัตรู และจะให้ได้รับผลปฏิบัติอย่างเดียวกับชาติที่เป็นมิตรตลอดไป
รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความมั่นใจในเหตุผลและความเป็นธรรม และความเชื่อมั่นในความรักชาติกล้าหาญและความเป็นนักรบของคนไทยแต่โบราณกาล ว่าจะนำชัยชนะและความรุ่งโรจน์มาสู่ชาติไทยต่อไปในอนาคต
ในตอนนั้น รัฐบาลต้องการจะออกประกาศสงครามทางวิทยุกระจายเสียงในวัน ที่ ๒๕ มกราคม เวลาเที่ยงวัน จึงได้นำประกาศพระบรมราชโองการเสนอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลงนาม หากแต่ท่านปรีดี พนมยงค์ ไม่อยู่ในกรุงเทพฯ จึงมีผู้สำเร็จราชการเพียง ๒ ท่านลงนาม คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า อาทิตย์ทิพอาภา และพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ระบุชื่อท่านปรีดี เข้าไปในประกาศพระบรมราชโองการ ด้วย ทั้ง ๆ ที่มิได้ลงนาม ในวันเดียวกัน นายวิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เน้นความเชื่อมั่นว่า “การกระทำอันนี้เป็นหลักพยานอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงความตั้งใจของรัฐบาลแห่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะดำเนินการเป็นปึกแผ่นสมบูรณ์ร่วมกับรัฐบาลแห่งสมเด็จ พระจักรพรรดิญี่ปุ่นตามความในกติกาสัญญาพันธไมตรี จนกระทั่งจะบรรลุถึง ชัยชนะในที่สุดเพื่อพฤติเหตุอันร่วมกัน” ทางสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ทันที มีความสำคัญว่า “สงครามมหาเอเชียตะวันออกเป็นสงครามปลดแอกชาวชาติเอเชีย และเป็นสงครามเพื่อยังความยุติธรรม การที่ประเทศไทยผู้เป็นพันธมิตรของเราเข้า
สู่การสงครามคราวนี้ ได้ทำให้เรามีความเห็นใจในการเป็นชาวชาติเอเชียด้วยกันเป็น อันมาก และทำให้มีความมั่นใจในชัยชนะอันเด็ดขาดของเราในสงครามคราวนี้ ในเวลาเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นและไทยทั้งสองประเทศก็ได้ตั้งใจโดยแน่วแน่ในอันที่จะปฏิบัติงานใหญ่ครั้งนี้ให้บรรลุถึงซึ่งผลสำเร็จ เพื่อการจัดระเบียบใหม่แห่งมหาเอเชียตะวันออกด้วยการฟันฝ่าอุปสรรคและขับไล่ศัตรูร่วมของเรา ทั้งนี้เป็นที่เชื่อแน่ว่า ความตกลงใจอันเด็ดขาดของไทยนั้นจะได้ทำให้ชาวชาติมหาเอเชียตะวันออกเพิ่ม การสำนึกตัว และตื่นขึ้นจากหลับโดยแท้จริง”
นายโตโง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ส่งสาส์นผ่านสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ ถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ความว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกอดนิยมชมชื่นในความกล้าหาญอย่างเด็ดขาดของท่านเสียมิได้ในการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าหวังว่า ประเทศของท่านคงจะได้ดำเนินการร่วมมือร่วมแรงฟันฝ่าอุปสรรคทั้งมวล เพื่อที่จะให้ศัตรูของเราถึงซึ่งความพินาศและพ่ายแพ้” ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งสาส์นตอบ โดยผ่านเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๔๘๕ ว่า “การที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกานั้น ก็โดยความสมัครใจของชาวไทยทั้งชาติ และโดยเชื่อมั่นว่ามีเหตุผลอันเป็นธรรมเป็นการแน่นอนว่า ชาวไทยจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ในอันที่จะต่อสู้เพื่อชัยชนะของชาวเอเชียทั้งมวล”
เป็นอันว่า ประเทศไทยที่พยายามวางตนเป็นกลางไม่อยากจะเข้ายุ่งเกี่ยวพันในข้อพิพาทบาดหมางระหว่างประเทศอื่น จำต้องถูกบังคับโดยเหตุการณ์ให้ยินยอมผ่อนปรนเสียอำนาจอธิปไตย ให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยไปปฏิบัติการศึกในประเทศเพื่อนบ้าน และต่อมาเพิ่มการร่วมมือให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่นหลายประการ ทั้งในทางการเมือง การเศรษฐกิจ และการทหาร ตลอดจนในที่สุดถึงกับประกาศสงคราม ต่อประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ ภายในเวลาไม่ครบสองเดือนเต็ม
เมื่อนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้ ฝ่ายอังกฤษและสหรัฐฯ เกิดความรู้สึกและมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง
ดังได้กล่าวมาแล้ว ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ เคยมีข้อสงสัยมาแต่ต้นแล้วว่า รัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจจะสละทิ้งนโยบายเป็นกลางไปหาญี่ปุ่นวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จำต้องทำความตกลงยินยอมให้ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารผ่านประเทศไทยได้เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ทางรัฐบาลอังกฤษเชื่อว่า ความตกลงนั้นได้กระทำขึ้นโดยรัฐบาลไทยถูกบังคับ นายแอนโทนี อีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ มีหนังสือลงวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๔ ถึงพระมนูเวทย์วิมลนาท ทูตไทยประจำกรุง ลอนดอนว่า เหตุการณ์ภายหลังแสดงให้เข้าใจได้ว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความร่วมมือ อย่างจริงจังและสมัครใจแก่ฝ่ายญี่ปุ่น จนมีการลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรต่อกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่เชื่อว่านโยบายใหม่ของไทยนี้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวไทยที่รักเสรีภาพ รัฐบาลอังกฤษก็จำต้องถือประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกศัตรูยึดครอง และรัฐบาลไทยตกอยู่ในความควบคุมของศัตรู ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอังกฤษจึงได้สั่งให้อัครราชทูตอังกฤษพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานทูตและสถานกงสุลในประเทศไทย ถอนตัวออกจากประเทศไทยในทันทีที่ได้จัดเตรียมการส่งคนชาติบริติชกลับ รัฐบาล อังกฤษได้ขอให้รัฐบาลสวิสเข้าดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษและจักรภพแทน เมื่อ เซอร์โจซาย ครอสบี้ เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว หรือก่อนหน้าเวลานั้น หาก เซอร์โจซาย ครอสบี้ ไม่สามารถปฏิบัติการเกี่ยวกับการอพยพคนชาติบริติชออกจากประเทศไทย
ในบันทึกช่วยจำลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงวอชิงตัน ได้รับคําสั่งให้ยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน มีความสําคัญว่า การที่รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงพันธมิตรกับญี่ปุ่นโดยประเทศไทยรับจะให้ความช่วยเหลือแก่ญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตร ย่อมเป็นผลเพียงพอที่ประเทศที่ทำสงครามกับญี่ปุ่นจะประกาศสงครามกับประเทศไทยได้แล้ว แต่โดยที่มีสัญญาณแสดงว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่วางตนเป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่น และพวกนี้จะยิ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อญี่ปุ่นมากขึ้นเมื่อประชาชนไทยตระหนักในความหมายของการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษเห็นสมควรที่จะหล่อเลี้ยงและส่งเสริมจิตใจนิยมพันธมิตรในประเทศไทยนี้ไว้ นโยบายของนายกรัฐมนตรีไทยซึ่งต้องถือเป็นหุ่นของญี่ปุ่นแล้วจะนำไปสู่สถานะสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่อังกฤษเกรงว่า การประกาศสงครามกับประเทศไทยจะไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และยังจะช่วยให้นายกรัฐมนตรีไทยใช้เป็นคารมในการปลุกปั่นให้คนไทยกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และผูกมัดกระชับชิดกับญี่ปุ่นยิ่งขึ้น ฉะนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงกำหนดท่าทีต่อประเทศไทยไว้ดังนี้
(๑) ฝ่ายอังกฤษจะไม่เริ่มดำเนินการทางทหารใด ๆ ต่อประเทศไทยก่อน
(๒) ถ้ากำลังทหารไทยพยายามขัดขวางการปฏิบัติงานของกำลังทหารบริติช หรือ เมื่อผู้บัญชาการบริติชส่วนท้องถิ่นเห็นว่า กำลังทหารไทยจะคุกคามความปลอดภัยของกำลังทหารบริติช ฝ่ายอังกฤษจึงจะจัดการกับทหารไทยส่วนนั้นเสมือนศัตรู
(๓) ถ้ามีการรวมกำลังทหารไทยในลักษณะที่อาจจะเป็นการคุกคามต่อประเทศพม่า รัฐบาลอังกฤษเตือนรัฐบาลไทยว่าเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์
กล่าวโดยสรุปในหลักการโดยทั่วไปรัฐบาลอังกฤษไม่ถือประเทศไทยเป็นศัตรู แต่เป็นดินแดนที่ถูกศัตรูยึดครอง
ทางรัฐบาลอเมริกาสนองตอบว่า ยังไม่ควรที่จะประกาศสงครามกับประเทศไทย สำหรับวิธีปฏิบัติต่อประเทศไทย รัฐบาลอเมริกามีความเห็นสอดคล้องกับรัฐบาลอังกฤษ
รัฐบาลไทยแจ้งการประกาศสงครามให้กงสุลสวิสที่กรุงเทพฯ ทราบเป็นทางการในฐานะเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษและสหรัฐฯ ในประเทศไทย สถานกงสุลรายงานต่อรัฐบาลสวิสซึ่งได้แจ้งต่อให้สถานทูตอังกฤษและอเมริกาที่กรุงเบอร์น ทราบเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ กว่าลอนดอนและวอชิงตันจะได้รับคำแจ้งเป็นทางการ ก็ตกเข้าวันที่ ๓ กุมภาพันธ์
เกี่ยวกับการประกาศสงครามนี้ ปรากฏต่อมาภายหลังสงคราม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้แถลงข่าวต่อนักหนังสือพิมพ์อเมริกา ซึ่งมีนักเขียนต่างชาตินำไปลงในหนังสือหลายเล่มว่า ท่านได้รับคำประกาศสงครามจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ พร้อมด้วยคำสั่งให้นำไปแจ้งต่อรัฐบาลอเมริกา ท่านได้เก็บคำประกาศสงครามไว้ในกระเป๋าเสื้อเมื่อไปพบนายคอร์เดล ฮอลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอเมริกัน แจ้งให้ทราบพร้อมกับตบกระเป๋าเสื้อของท่านว่า ท่านจะเก็บประกาศนั้นไว้ในกระเป๋า ไม่ยื่นต่อรัฐมนตรี เพราะท่านเชื่อมั่นว่ามิได้ เป็นไปตามเจตนาของประชาชนคนไทย ทั้งนี้จะเป็นไปตามข้อเท็จจริงถูกต้องเพียง ใดหรือไม่ น่าใคร่ครวญอยู่ เพราะเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๔ ท่านได้กล่าว คำปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงถึงประเทศไทยว่า ท่านจะปฏิเสธไม่ยอมฟังคำสั่งจากกรุงเทพฯ ที่ส่งมายังท่าน จากนั้นรัฐบาลทางกรุงเทพฯ ย่อมจะไม่ติดต่อกับทูตโดยตรงไม่มีหลักฐานทางกระทรวงการต่างประเทศว่าได้มีการสั่งให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นำประกาศสงครามไปแจ้งต่อฝ่ายอเมริกัน แต่มีหลักฐานว่า เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศสวิสแจ้งต่อสถานทูตไทย ณ กรุงเบอร์นว่า กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันยังไม่ได้รับการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย ทางสถานทูตสวิสที่กรุงวอชิงตันได้ติดต่อกับทูตไทยก็ไม่สามารถไขความในเรื่องนี้ให้กระจ่างแจ้งต่อมาเมื่อวันที่ ๗ กระทรวงมีโทรเลขถึงทูตไทย ณ กรุงลิสบอน สั่งให้แจ้งทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันทราบถึงการประกาศสงครามของไทยเพื่อให้แจ้งต่อรัฐบาลอเมริกา โดยยืนยันว่า ประกาศสงครามนั้น ไทยได้แจ้งให้รัฐบาลสวิสผู้ดูแล รักษาผลประโยชน์ของอเมริกาในประเทศไทยทราบแล้วแต่เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ฉะนั้น เอกสารที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อ้างถึงว่ามีอยู่ในกระเป๋า แต่ไม่ยอมส่งมอบให้นายคอร์เดล ฮอลล์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น ไม่ทราบว่าหมายถึงเอกสารฉบับใด
ทางฝ่ายอังกฤษ ปรากฏหลักฐานในแฟ้มของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม นายเวลลิงตัน คู เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงลอนดอน ได้ปรารภต่อปลัดกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า ทางฝ่ายสหประชาชาติไม่ควรจะประกาศสงครามกับไทย เพราะจีนเชื่อว่าการกระทำของไทยถูกญี่ปุ่นบังคับแน่ มิใช่เป็นเจตนาโดยเสรีของไทย ถ้าฝ่ายสหประชาชาติประกาศสงครามกับไทย ก็เท่ากับเป็นการผลักดันให้คนไทยรวมตัวเข้าข้างญี่ปุ่น แต่เมื่อได้รับทราบการประกาศ สงครามของไทยเป็นทางการจากรัฐบาลสวิสแล้ว รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศสงคราม ตอบ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ โดยให้ถือว่ามีสถานะสงครามกับไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เวลา ๕.๐๐ นาฬิกา (เวลากรีนิช) ตรงกับเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา (เวลาในประเทศไทย) และได้โทรเลขถึงข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแอฟริกาใต้ แสดงความหวังว่าประเทศจักรภพดังกล่าวจะดำเนินการอย่างเดียวกัน รัฐบาลแคนาดาไม่ประกาศสงครามต่อประเทศไทย แต่ถือประเทศไทยว่าอยู่ในภาวะสงครามทางเศรษฐกิจทำนองเดียวกับประเทศบัลแกเรียในยุโรป รัฐบาลไทยประกาศไม่รับรู้ประกาศของทั้งสามประเทศนั้น เนื่องจากไม่มีเหตุอย่างใดที่ก่อให้เกิดสถานะทางสงครามระหว่างกัน
ทางรัฐบาลอเมริกาไม่รับรู้ประกาศสงครามของไทยทำนองเดียวกันกับกรณี ฮังการี บัลแกเรีย และโรมาเนียในยุโรปซึ่งได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐฯ มิได้ประกาศตอบ สหรัฐฯ ยังคงถือประเทศไทยเป็นดินแดนที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองต่อไป เว้นเสียแต่ในกรณีที่กำลังทหารไทยจะเข้าร่วมในการปฏิบัติการทาง ทหารของญี่ปุ่นต่อกองกำลังทหารของสหรัฐฯ หรือสหประชาชาติ หรือทำการเป็นอุปสรรค หรือคุกคามความปลอดภัยของกำลังทหารสหรัฐฯ หรือสหประชาชาติ รัฐบาลอเมริกาจึงจะปฏิบัติต่อกำลังทหารไทยเสมือนหนึ่งศัตรู ความแตกต่างในด้านนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษจึงเริ่มมีขึ้นแต่บัดนั้น เป็นต้นมา
พึงสังเกตว่า ตั้งแต่วันที่ ๓ มกราคม ๒๔๘๕ ก่อนประกาศสงคราม ๓ สัปดาห์ รัฐบาลไทยได้ขอร้องให้รัฐบาลสวิสเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของประเทศไทยในดินแดนของอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งฝ่ายสวิสไม่ขัดข้อง แต่โดยที่สวิสต้องรับดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในประเทศไทยอยู่ด้วย กงสุลสวิสประจำประเทศไทยจึงได้แจ้งมายังกระทรวงการต่างประเทศไทย ขออนุญาต ในหลักการให้ใช้รหัสในการติดต่อเกี่ยวกับการดูแลผลประโยชน์ได้ ไทยได้ปรึกษาหารือกับญี่ปุ่น ซึ่งมีความเห็นว่า ในชั้นนั้นอยากให้กงสุลสวิสติดต่อด้วยคำตรงไปพลางก่อน
ฝ่ายอังกฤษตอบอนุมัติให้สวิสดูแลผลประโยชน์ของไทยในจักรวรรดิบริติชได้เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๘๔ ส่วนฝ่ายอเมริกันนั้นทราบจากหลวงอรรถกิติกำจรอุปทูตไทย ณ กรุงเบอร์น เมื่อวันที่ ๒๕ ว่า รัฐบาลอเมริกามองไม่เห็นความจำเป็นที่จะอนุญาตให้รัฐบาลอื่นดูแลผลประโยชน์ของประเทศไทยในสหรัฐฯ เพราะผู้แทนไทย มิได้ถูกจำกัดตัดสิทธิอย่างใดในสหรัฐฯ แต่ถ้าไทยต้องการติดต่อกับรัฐบาลอเมริกา โดยอาศัยความช่วยเหลือของรัฐบาลสวิส รัฐบาลก็ไม่ขัดข้องในหลักการ ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลอเมริกาได้รับรองฐานะของทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันอยู่ตลอดมา และไม่ยินยอมให้ฝ่ายสวิสเข้าดูแลผลประโยชน์ของไทย รวมตลอดทั้งไม่ยินยอมให้สถานเอกอัครราชทูตสวิสเข้ายึดถือสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน แต่ไม่ขัดข้องที่รัฐบาลไทยจะใช้สถานกงสุลสวิสที่กรุงวอชิงตันเป็นวิถีทางสื่อสารติดต่อกับรัฐบาลอเมริกา
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ หนังสือการวิเทโศบายของไทยแล้ว
- โปรดดูเพิ่มเติม หมายเหตุบรรณาธิการได้ที่ ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 76-105.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 76-105.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 1 : สงครามโลกครั้งแรก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 3 : วิเทโศบายของไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย