ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จากปรีดีถึง 14 ตุลาฯ

13
ตุลาคม
2563

เนื่องในโอกาสครบรอบศตวรรษชาตกาล ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และใกล้วาระ 27 ปีของขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จะเวียนมาบรรจบ อาจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีและต้นตํารับแห่งประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้แนะให้ผมลองกลับไปอ่านบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ซึ่งอาจารย์ปรีดีได้เรียบเรียงขึ้นตามคําขอของคณะกรรมการจัดงานสังสรรค์ชาวธรรมศาสตร์ในอังกฤษประจําปี 2516 และตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อมธ. ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม ศกนั้น

ผมอ่านแล้วได้ข้อคิดข้อสังเกตน่าสนใจหลายประการขอถือ โอกาสเก็บมาเล่าต่อสู่กันฟังในที่นี้

นิยาม ประเด็น และวิธีมองปัญหา

อาจารย์ปรีดีนิยามขบวนการ 14 ตุลาฯ ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของราษฎรทุกชนชั้นวรรณะและทุกชนชาติที่รักชาติและมีสัญชาติ ไทย ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมคําสอนและพึงได้รับการเคารพสักการะและสดุดีจากสาธุชนทุกศาสนา กล่าวอีกอย่างคือมันมีลักษณะเป็นแนวร่วมประชาชน (popular front) ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเฉพาะของชนชั้นหนึ่งชนชั้นใด (class movement)

เจตนารมณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ คือต้องการ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางทัศนะอันเป็นคติธรรม” แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วย “ระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์” ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายที่ต้องการพิทักษ์เจตนารมณ์นั้นไว้จะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

ก็แล้ว “ระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์” นั้นคืออะไร และมีคุณลักษณะอย่างไรหรือ ?

คําตอบของปรีดีอิงการวิเคราะห์แบบวิทยาศาสตร์ทางสังคมในแนวปรัชญาสสารธรรมวิวรรตการ (historical materialism ดูงานเขียนของปรีดีเรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังคม, พ.ศ. 2500) คือ ยึดโยงรัฐธรรมนูญ อันเป็นโครงร่างเบื้องบนทางการเมือง เข้ากับรากฐานทางเศรษฐกิจ หากรัฐธรรมนูญสอดคล้องกับความต้องการ ทางเศรษฐกิจ สังคมก็วิวัฒน์ไป ตรงกันข้าม หากขัดแย้งกัน สังคมก็เกิดวิกฤต ดังกรณี 14 ตุลาฯ ก็เกิดจากราษฎรอัตคัดขัดสนแสนสาหัส แต่ระบบการเมืองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือมีแต่ชื่อ กลับขัดแย้งกับความต้องการทางเศรษฐกิจของราษฎรนั้นเอง

ดังนั้น สรุปว่า “ระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์” จึงพึง “สมานกับความต้องการทางเศรษฐกิจของมวลราษฎร” หรือนัยหนึ่งเริ่มจากการวิเคราะห์อิงฐานเศรษฐกิจ (economic-based analysis) ข้อสรุปว่าพึงมีรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องขานรับและรับใช้เศรษฐกิจ (economic-oriented constitution) อันแฝงไว้ด้วยตรรกะตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบถึงที่สุด (radical democracy) ที่มุ่งแผ่ขยายประชาธิปไตยจากปริมณฑลการเมือง กฎหมายไปสู่ปริมณฑลสังคมเศรษฐกิจ (democratization of the economy) จึงจะนับว่าเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันเป็นการก้าวล่วงกรอบจํากัดของแนวคิดเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยมทางการเมืองทันที

น่าสังเกตด้วยว่า ตลอดเนื้อหาช่วงนี้ ไม่ว่าจะพินิจพิเคราะห์ประเด็นใดทางการเมือง ปรีดีจะคิดในกรอบรัฐชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยราษฎรทุกชนชั้นวรรณะ ทุกชนชาติและทุกศาสนาที่มีสัญชาติไทยและเป็นเอกภาพอย่างสม่ำเสมอคงเส้นคงวา กล่าวได้ว่า กรอบดังกล่าวเป็นขอบฟ้าทางทัศนะการเมืองของปรีดีเอง

ต่อรากประวัติศาสตร์ สรุปบทเรียน

สิ่งที่เราอาจเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เองในข้อเขียนนี้มีเพียงเท่านี้ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่เหลือของบทความซึ่งให้ทั้งข้อมูลน่าสนใจและแนวทัศนะที่แหลมคมแยบคายเป็นเรื่องหลังเกี่ยวกับการอภิวัฒน์ 2475 และความเปลี่ยนแปลงพลิกผันทางการเมืองในรอบ 40 ปีหลังจากนั้นที่อาจารย์ปรีดีมีบทบาทเกี่ยวข้อง โดยตรงอย่างเข้มข้นแนบแน่น

จากนี้จึงเห็นได้ว่า เป้าหมายของบทความชิ้นนี้ คือ ความพยายามของปรีดีที่จะ “นับญาติ” หรือนัยหนึ่งต่อรากประวัติศาสตร์ ให้ความสืบทอดต่อเนื่อง และมอบหมายถ่ายทอดเอกลักษณ์ (history-continuity-idenity) ระหว่าง 24 มิถุนาฯ 2475 กับ 14 ตุลาฯ 2516 โดยผ่าน “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ และเอกลักษณ์ร่วมระหว่างสองขบวนการหรืออย่างน้อยก็ร่วมกัน ระหว่าง “ฝ่ายก้าวหน้า” ของการอภิวัฒน์ 2475 กับ “ศูนย์ที่เป็นกองหน้าของมวลราษฎร” 14 ตุลาฯ

และมรดกชิ้นสําคัญล้ำค่าที่สุดที่ปรีดีมีมอบให้แก่นักประชาธิปไตยรุ่นหลาน ก็คือ การช่วยสรุปบทเรียน และวิจารณ์ตนเองให้ฟังอย่างเปิดอก ทั้งในแง่จุดอ่อนภายในของคณะราษฎรและอุปสรรคจากพลังโต้ประชาธิปไตยภายนอก เพื่อที่นักประชาธิปไตยรุ่น 14 ตุลาฯ จะได้เก็บรับนําไปปรับประยุกต์ใช้ในการต่อสู้เพื่อบรรลุ “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ของตนบ้างสืบไป

จุดอ่อนภายในหลักของคณะราษฎร คือ ความแตกแยกทางทัศนคติหรืออุดมการณ์ระหว่างฝ่ายทัศนะคงที่ (พอใจแค่ล้มระบบสมบูรณาฯ) ฝ่ายก้าวหน้า (ต้องการพัฒนาเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์) และฝ่ายถอยหลัง (ต้องการระบบเผด็จการ)

ปรีดีชี้ว่า ความแตกแยกทํานองนี้เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในคณะพรรคต่าง ๆ เมื่อเจอเข้าไม่ควรท้อแท้ แต่ต้องระวังจัดการแก้ไขหรือลดความขัดแย้งภายในให้ถูกต้อง โดยรักษาส่วนรวมทั้งหมดหรืออย่างน้อยก็ส่วนที่มั่นคงในอุดมคติของพรรคหรือศูนย์ฯ นั้นไว้ ปมเงื่อนสําคัญในการเผชิญความขัดแย้งภายใน คือ “ยึดมั่นในทัศนคติ ประชาธิปไตยสมบูรณ์” เพื่อเป็นหลักนําสู่การบรรลุเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และหมั่นสํารวจแก้ไขความผิดพลาดและหลงผิดของตนเองและเพื่อน

ในแง่อุปสรรคภายนอก ซึ่งเมื่อผสานบรรจบเข้ากับจุดอ่อนความขัดแย้งภายในคณะราษฎรก็ทําให้การอภิวัฒน์มีอันเป็นไปไม่ถึงที่สุดนั้น ปรีดีมองไม่เห็นและปฏิเสธว่า สถาบันกลไกรัฐใดจะกลายเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้โดยตัวตรรกะและผลประโยชน์ของสถาบันนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรือระบบราชการ พูดอีกอย่าง คือ แนวคิดรัฐราชการหรือ bureaucratic polity ของ Fred W. Riggs และนักรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์ไทยจํานวนมากไม่มีที่ทางในกรอบความคิดปรีดี

กับบทบาทและฐานะของกองทัพในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ของราษฎร ปรีดีจึงไม่ปฏิเสธ แต่ชี้แนะว่าต้องจัดตั้งใหม่ให้เป็นกองทัพของราษฎร กล่าวคือ “จัดตั้งราษฎรให้เป็นทหารของฝ่ายราษฎร.....ที่มาจากราษฎร โดยราษฎรได้รับการฝึกฝนอบรมให้ปฏิบัติการเพื่อราษฎร”

สําหรับพลังโต้ประชาธิปไตยภายนอกที่เป็นอุปสรรคจริง ๆ ในประวัติศาสตร์ตามประสบการณ์ของท่านนั้น ปรีดีชี้ไปที่บุคคล กลุ่มบุคคล และซากทัศนะโดยเรียกหาด้วยภาษาศัพท์แสงซ้าย-สังคมนิยม ซึ่งพอจะจัดแบ่งจําแนกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน โดยขอหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยนามบุคคลไว้ในที่นี้ คือ

1) นายทหารจํานวนน้อยไม่กี่คน ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นคณะรัฐประหาร 2490 และคณะปฏิวัติ 2501 ไม่ใช่ทั้งกองทัพ

2) ขุนนางเก่า-บุคคลผู้มีซากทัศนะตกค้างจากระบบเก่าที่โต้ประชาธิปไตย-พลังเก่า ซึ่งอาจเรียกรวมได้ว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม-นิยมเจ้า หรือ “ผู้นิยมราชาธิบดียิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี” (ultra royaliste) ที่รวมศูนย์อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์สมัยนั้น

3) บุคคลผู้มีซากทัศนะทาส ที่ยอมตนสวามิภักดิ์รับใช้และยกยอปอปั้นจนผู้นําทหารเหลิงอํานาจลืมตัว ทะเยอทะยานขึ้นเป็นจอมเผด็จการโดยตรงทั้งกรณีจอมพล ป. และจอมพล สฤษดิ์

จากพระปกเกล้าฯ ถึง 14 ตุลาฯ

สิ่งที่ปรีดีทําในลําดับต่อไป คือ ขยายฐานพล็อตประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์จากคณะราษฎร 2475 ถึงขบวนการ 14 ตุลาฯ 2516 ข้างต้นให้ต่อรากแตกกิ่งก้านสาขาออกไปครอบคลุมสถาบันกษัตริย์ด้วย อันเป็นการยึดโยงความชอบธรรมตามจารีตประเพณีแห่งสถาบันกษัตริย์มาเสริมเติมแก่ภารกิจประชาธิปไตยสมบูรณ์หลัง 14 ตุลาฯ

เริ่มต้นด้วยการระบุว่าเจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของฝ่ายก้าวหน้าแห่งคณะราษฎรและวีรชน 14 ตุลาฯ ตรงกับพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ซึ่งได้แก่ “การโอนพระราชอํานาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ตามที่แสดงออกในพระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งทรงร่างขึ้นโดยพระองค์เองและอาจารย์ปรีดี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นต่างเห็นพ้องว่าต้องกับความมุ่งหมายของปวงชนและพระราชปณิธาน โดยมิได้แก้ไขความเดิมแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังปรากฏความว่า

“จึงมีพระบรมราชโองการดํารัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม สั่งให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ประสิทธิ์ประสาทประกาศพระราชทานแก่ประชากรของพระองค์ให้ดํารงอิสราธิปไตยโดยบริบูรณ์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” (ข้อความที่ขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน)

ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนหลักการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลักอํานาจอธิปไตยของปวงชน และระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (absolute monarchy popular sovereignty & democratic constitutionalism)

ปรีดียังผลักข้อถกเถียงคืบไปอีกว่า มิเพียงแต่ประชาธิปไตยสมบูรณ์จะเป็นพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ เท่านั้น หากพระองค์ยังทรงเห็นว่า “พระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ด้วย ทั้งนี้แม้มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในตัวรัฐธรรมนูญก็ตาม เพราะ “เมื่อพระองค์พระราชทาน (รัฐธรรมนูญ) แล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน” (หมายถึง “การตั้งความจริงใจเป็นหลักอ้าง”) 

ยิ่งกว่านั้น หน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญยังผูกพันพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ ไป ด้วยในฐานะพระบรมวงศานุวงศ์ตามความในพระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (ที่ว่า “ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์.....รักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม.....”) และความในพระราชสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล โดยทรงสาธกพระราชสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกของพระองค์เองมาประกอบว่า “ทรงตั้งสัตยาธิษฐานตั้งพระราชหฤทัยดํารงทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรจรรยา และอื่น ๆ ตามพระบรมราชประสงค์”

พระปกเกล้าฯ ทรงอธิบายแก่พระยาพหลพลพยุหเสนาและอาจารย์ปรีดีว่า “พระบรมราชประสงค์” ตอนท้ายนี้หมายความชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์องค์ต่อไปต้องรักษารัฐธรรมนูญ”

พระองค์ยังรับสั่งตอบคําถามพระยาพหลฯ เกี่ยวกับมาตรการพิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ว่า

- ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้

- ถ้ามีนายทหารที่ถูกปลดกองหนุนคิดล้มล้างรัฐบาลและทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญใหม่ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นกบฏ และในฐานะจอมทัพ พระองค์จะถือว่าพวกนั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ

- ถ้าพวกกบฏนั้นจะบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้

อาจารย์ปรีดีได้เปรียบเทียบพระราชประสงค์และพันธะหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ในพระราชวินิจฉัยของพระปกเกล้าฯ ดังกล่าวกับพฤติกรรมของผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ที่ยอมลงพระนามแทนพระองค์ในรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มครั้งรัฐประหาร 2490 เพื่อชี้ความแตกต่าง ระหว่างแนวทางแรกซึ่งให้ประวัติศาสตร์ความต่อเนื่องและความชอบธรรมแก่เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ และแนวทางหลังซึ่งแตกหักเบี่ยงเบนจากกําเนิดจารีตธรรมเนียมและความชอบธรรมนั้น ๆ

พึงสังเกตว่า การอ่านพระราชปณิธานทางการเมืองของรัชกาลที่ 7 ผ่านพระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 โดยอาจารย์ปรีดีข้างต้นแตกต่างมากกับวิธีการอ่านรัชกาลที่ 7 ผ่านลายพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระองค์โดยกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญนําโดยธีรยุทธ บุญมี เมื่อ 14 ตุลาฯ (ดูสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ร. 7 สละราชย์ : ราชสํานัก, การแอนตี้คอมมิวนิสต์ และ 14 ตุลา, เนชั่นสุดสัปดาห์, 9 : 424 (17 - 23 ก.ค. 2543), น. 24) และวิธีการอ่านของปรีดีเป็นชนิดปิดช่องมิให้ตีความไปได้ว่าจะมีการ “ถวายพระราชอํานาจคืน” ดังที่นักนิติศาสตร์บางคนเสนอกันในช่วงกระแสปฏิรูปการเมือง เพราะ “เมื่อพระองค์พระราชทานแล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน” ย่อมมีมีการถ่ายถอน

ช่องว่างและความเงียบ

มีประเด็นน่าสนใจอื่นอีกมากในบทความนี้ ทว่าเนื่องจากเนื้อที่จํากัด ผู้เขียนขอสรุปโดยชี้ให้เห็นบางสิ่งที่ขาดหายไปจากบทความ

1) อาจารย์ปรีดีเลือกจํารัชกาลที่ 7 โดยไม่เอ่ยอ้างพาดพิงถึงกรณีสละราชสมบัติ 2477 และความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นแตกหักระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้าฯ อันเป็นมูลเหตุเลย (ดู ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย, บทที่ 3)

การเพิ่มชิ้นส่วนนี้เข้าไปจะทําให้ภาพและพล็อตประวัติการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ฉบับ (คณะราษฎร + สถาบันกษัตริย์-วีรชน 14 ตุลาฯ) ที่ท่านวาดนั้นสันคลอน สับสน และต้องประเมินค่าตีความข้อมูล หลักฐานหลายชิ้นในภาพใหม่

2) โดยที่ท่านลี้ภัยจากสยามไปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490 อาจารย์ปรีดีจึงไม่ได้ประสบพบเห็น และดังนั้นจึงไม่เอ่ยเลยถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมเป็นแบบทุนนิยมอย่างขนานใหญ่ และลึกซึ้ง รวมทั้งการก่อตัวและขยายตัวอย่างรวดเร็วของบรรดาชั้นชนกระฎมพี (นายทุนเจ้าที่ดินชนบท, คนชั้นกลาง นายทุนน้อย และกรรมาชีพจรจัดในเมือง) ในช่วง 15 ปีภายใต้รัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส อันเกิดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติบวกการบุกทะลวงเข้าครอบงําของเงินทุน ฐานทัพและทหารอเมริกันจํานวนมหาศาล

เชื้อมูลองค์ประกอบและพลวัตของขบวนการ 14 ตุลาฯ ที่มีลักษณะทุนนิยมและชนชั้นกลางเด่นชัด ตามข้อวิเคราะห์ของเสน่ห์ จามริก และเบเนดิก แอนเดอร์สัน จึงพลาดหายไปจากบทความอย่างสิ้นเชิง (ดู ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กับ ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, บก., จาก 14 ถึง 6 ตุลา, 2541)

3) ในขณะที่ท่านเล็งเห็นลักษณะสัมบูรณาญาสิทธิ์แบบโชกุนของระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่มีอํานาจยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ในระบบสมบูรณาฯ และมิหนําซ้ำยังตัดพระราชอํานาจหลายประการ และหยังรู้ภัยร้ายของการที่อํานาจเผด็จการสถาปนาประมุขรัฐเพียงเสมือนเป็นรูปเทพารักษ์ (palladiumization ทั้ง 2 ประเด็นตรงกับข้อสังเกตตีความของเบเนดิก แอนเดอร์สัน) แต่ช่องว่างทั้ง 1 และ 2 ข้างต้นก็ส่งผลให้อาจารย์ปรีดีคาดไม่ถึงว่า คนชั้นกลางและสถาบันหลักต่าง ๆ ในบ้านเมืองของเราจะเกิดอาการลงแดงจนกลายเป็นเหตุนองเลือดฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาฯ เพียงชั่ว 3 ปีหลังจากนั้นได้

จะเป็นด้วยเหตุผลนี้หรือไรจึงไม่ปรากฏข้อเขียนบทความใด ๆ ของอาจารย์ปรีดีต่อกรณี 6 ตุลาฯ 2519 โดยตรงเลย ทั้งที่เหตุการณ์นี้ถีบถ่วงประชาธิปไตยทางการเมืองสมบูรณ์ให้ถอยหลังล่าช้าไปอีกกว่า 2 ทศวรรษ ? 

 

ที่มา: บทนำของหนังสือ จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ของปรีดี พนมยงค์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์สายธาร พ.ศ. 2543