ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ปรีดีหนี!: รัฐประหาร 2490

8
พฤศจิกายน
2563

เมื่อรัฐบาลของ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ เข้ารับตําแหน่งและความรับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดินในปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 นั้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยกําลังอยู่ในความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพรรคแนวรัฐธรรมนูญกับพรรคสหชีพซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลขั้วหนึ่ง และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งทําหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอีกขั้วหนึ่ง 

ความขัดแย้งได้มีมานับตั้งแต่รัฐบาลของพันตรี ควง อภัยวงศ์ แพ้มติสภาฯ เรื่องร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชน และลาออกเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2489 โดยสมาชิกสภาฯ ได้ไปขอร้องให้ท่านรัฐบุรุษอาวุโสรับเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินสืบแทน 

การยอมรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านปรีดี พนมยงค์ ครั้งนั้นได้สร้างความผิดหวังให้แก่สมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจากนั้นเป็นต้นมา ก็ได้วางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับท่านปรีดีฯ อย่างเปิดเผย  เมื่อเกิดกรณีสวรรคตขึ้นในต้นเดือนมิถุนายนศกเดียวกัน ก็เป็นโอกาสให้สมาชิกบางคนของฝ่ายค้านทําหน้าที่ “ตรวจสอบ” ท่านปรีดีฯ อย่างเข้มข้น จนกระทั่งท่านปรีดีฯ ต้องลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี 

นอกจากนั้นก็ยังมีกรณีการเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 ที่ผู้สมัครของพรรคแนวรัฐธรรมนูญและพรรคสหชีพได้รับเลือกตั้งทั้งหมด (ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว) การพ่ายแพ้ในเชิงการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าวได้เพิ่มความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วการเมืองของประเทศไทยในขณะนั้นยิ่งขึ้น 

แม้ว่ารัฐบาลธํารงฯ จะได้บริหารราชการแผ่นดินในบรรยากาศประชาธิปไตย โดยสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศที่สําคัญ ๆ ลุล่วงไปได้หลายประการ แต่กระนั้น โดยที่ภาวะหลังสงครามด้านเศรษฐกิจ สังคม และการต่างประเทศมีความซับซ้อนยากที่จะดูแลแก้ไขให้ลุล่วงไปได้โดยรวดเร็ว รัฐบาลธํารงฯ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ 

ก่อนปิดสมัยประชุมของสภาผู้แทนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2489 พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคําปราศรัยต่อที่ประชุม มีความสําคัญตอนหนึ่งที่สะท้อนสภาพการณ์และบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้นว่า 

จริงอยู่ ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดนี้ได้เข้าบริหารราชการในเวลาที่บ้านเมืองได้ผ่านภาวะศึกสงครามแล้วก็ดี แต่พันธกรณีต่าง ๆ และความเสื่อมโทรมทั้งในด้านจิตใจและในด้านวัตถุอันเป็นผลของมหาสงครามคราวนี้ ก็ยังมีอยู่อย่างมากหลาย จึงตกเป็นภาระอันหนักของรัฐบาลและสภานี้ที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรคและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเคร่งเครียด ดังที่ได้กระทํากันอย่างได้ผลดีมาแล้ว และที่จะต้องกระทําให้ได้ผลดียิ่งขึ้นต่อไป 

การปกครองระบอบประชาธิปไตยย่อมต้องอาศัยพรรคการเมืองเป็นส่วนประกอบอันสําคัญ แม้ในขณะนี้จะยังมิได้มีพระราชบัญญัติคณะพรรคการเมืองตราไว้ก็ตาม แต่ระบบพรรคการเมืองก็ได้ปรากฏรูปขึ้นในสภานี้โดยเกือบชัดแจ้งแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่คณะพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจะต้องมีการขัดแย้งและกระทบกันบ้างตามแนวความคิดของแต่ละท่านและแต่ละฝ่าย แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างถือหลักการให้สิทธิและการต่อสู้ทางการเมืองภายในกรอบของรัฐธรรมนูญ และโดยคํานึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทยเป็นที่ตั้งแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดคุณประโยชน์ และไม่ทําอันตรายเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมืองแต่ประการใด 

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2490 ภายหลังที่ได้เปิดประชุมสภาสมัยสามัญแล้ว 9 วัน นายควง อภัยวงศ์ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องสําคัญหลายเรื่อง อาทิ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เสถียรภาพทางการคลังและเศรษฐกิจ การศึกษาของชาติ และกรณีสวรรคต 

สภาฯ ได้มีการประชุมทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน โดยรัฐบาลได้ให้ถ่ายทอดเสียงการประชุมครั้งนั้นทางวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ ซึ่งในที่สุด ในวันที่ 27 พฤษภาคม ศกเดียวกัน ที่ประชุมก็ได้ลงคะแนนลับ ปรากฏว่า สภาลงมติไว้วางใจรัฐบาลด้วยคะแนน 86 ต่อ 55 โดยมีผู้งดออกเสียง 16 คน แต่พ ล.ร.ต.ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ก็ได้นําคณะรัฐมนตรีกราบถวายบังคมลาออกจากตําแหน่ง เพื่อให้โอกาสได้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีเสียใหม่  รัฐสภาได้มีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างสมาชิกและมีมติเห็นพ้องกันว่า สมควรที่ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ จะได้ดํารงตําแหน่งหัวหน้ารัฐบาลต่อไป ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2490 ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.ร.ต. ถวัลย์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง 

ถึงแม้ว่ารัฐบาลธํารงฯ จะผ่านพ้นการถูกอภิปรายทั่วไปของพรรคฝ่ายค้านมาด้วยดีในบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตย และสามารถชี้แจงตอบโต้ทุกประเด็นที่มีการอภิปรายได้อย่างโปร่งใส หากในแง่ของความรู้สึกของประชาชนที่ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะประชาชนคนกรุงเทพฯ การได้ยินได้ฟังการอภิปรายที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างรุนแรง 7 วัน 7 คืน ก็ได้สร้างกระแสเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งเพิ่มความชัดเจนขึ้นเป็นลําดับในกลางปี พ.ศ.2490 

แม้กระทั่ง “ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475” บางคนก็รู้สึกคล้อยตามข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งรัฐมนตรีสําคัญ ๆ รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ก็เป็น “ผู้ก่อการฯ” ด้วยกัน 

ในคืนวันที่ 3 กรกฎาคม 2490 ได้มีการประชุมร่วมกันของ “ผู้ก่อการฯ” บางคน ณ ทําเนียบท่าช้างฯ ตามคําเสนอของ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมก็มี อาทิ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์  พล.ร.ต. ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี  พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ  พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ สารวัตรใหญ่ทหาร  พล.ท. เรือง เรืองวีรยุทธ ปลัดกระทรวงกลาโหม  ซึ่ง พล.ต.อ. อดุลฯ เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในขณะนั้นให้ลุล่วงไปโดยรวดเร็ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่า รัฐบาลกําลังพยายามแก้ไขอย่างเต็มที่ แต่บ้านเมืองเสียหายจากสงครามมามาก จึงต้องใช้เวลาในการนั้น ในการประชุมดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงโอกาสที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยใช้กำลังด้วย

เมื่อเข้าเดือนพฤศจิกายน 2490 พล.ร.ต. ถวัลย์ฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจะลาออกในวันที่ 7 เดือนนั้น แต่ต่อมาได้เลื่อนเป็นวันที่ 11 เพื่อรอการยกเลิก “สัญญาสมบูรณ์แบบ” ของรัฐบาลอังกฤษตามที่นายดิเรก ชัยนาม เอกอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอนได้แจ้งมาให้ทราบ  อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายที่เห็นว่าจะต้อง “ล้มรัฐบาล” ด้วยการใช้กำลัง ได้ตัดสินใจเด็ดขาดเสียแล้ว ดังนั้น การกระทำ “รัฐประหาร” จึงได้เกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

คณะรัฐประหารซึ่งประกอบด้วยนายทหารนอกราชการ เช่น พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ  พ.อ. กาจ กาจสงคราม  พ.ท. ขุนจำนงภูมิเวท ฯลฯ และนายทหารประจำการ ซึ่งมี พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นกำลังสำคัญ ได้ยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ โดยออกแถลงการณ์มีใจความสำคัญว่า ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตหลายด้าน เช่น ของแพง ศีลธรรมเสื่อมโทรม รัฐบาลไม่อาจแก้ปัญหาได้ จึงต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2489 (ซึ่งเพิ่งประกาศใช้มาเป็นเวลาเพียงปีครึ่ง) และใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะรัฐประหารได้ร่างขึ้น  

ขณะเดียวกัน คณะรัฐประหารได้เชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาร่วมงาน โดยแต่งตั้งให้เป็น “ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งมีกรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้ลงนามเพียงผู้เดียว

คณะรัฐประหารได้แสดงความมุ่งหมายที่จะจับกุมท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นสำคัญ โดยได้ส่งกำลังไปจับกุมที่ทำเนียบท่าช้าง แต่ท่านปรีดีฯ สามารถหลบหนีไปจากทำเนียบฯ เสียก่อน  

ต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน ก็ได้แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลธำรงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของคณะรัฐประหาร  

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้ยุติบทบาททางการเมืองในประเทศไทยของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ โดยสิ้นเชิง และตามมาด้วยความพยายามของฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ในทุกวิถีทางที่จะทำลายล้างท่านรัฐบุรุษอาวุโสอย่างที่ไม่เคยมีบุคคลใดเคยประสบมาแต่ก่อน  ท่านปรีดีฯ ใช้เวลาจากนั้นถึง 36 ปี ในต่างแดนจนกระทั่งถึงอสัญกรรมที่ประเทศฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2526 ก่อนมีอายุครบ 84 ปี 

ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ครั้งรัฐประหารจนถึงการที่ท่านได้ลี้ภัยการเมืองไปพํานักอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลานานถึง 21 ปีก่อนที่ จะย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส เอาไว้ค่อนข้างละเอียด (ในหนังสือ ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าฯ) ดังต่อไปนี้ 

“เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดการรัฐประหารของฝ่ายทหาร โดยการสนับสนุนของพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด และพวกคลั่งชาติ โค่นล้มรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของพลเรือตรี ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นพรรคพวกของข้าพเจ้า  พวกรัฐประหารได้บุกเข้าไปในบ้าน เพื่อจะเอาชีวิตข้าพเจ้า รวมทั้งภรรยาและบุตรเล็ก ๆ โดยกล่าวหาว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในกรณีสวรรคต 

จอมพล พิบูลสงคราม ซึ่งถูกปล่อยตัวก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน เพราะกฎหมายอาชญากรสงครามไม่มีผลใช้บังคับย้อนหลัง ได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทําให้มีอํานาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐ 

คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามิได้มาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อมอีกต่อไป แต่จะมาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการก่อนรัฐประหาร  อายุขั้นต่ำของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เดิม) กําหนดไว้ที่ 23 ปี แต่รัฐธรรมนูญฉบับคณะรัฐประหารกําหนดไว้ที่ 35 ปีซึ่งเท่ากับอายุต่ำสุดของผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ก็ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะต่อมาประเทศไทยก็ถูกปกครองโดยรัฐธรรมนูญฟาสซิสต์ กึ่งฟาสซิสต์ และฟาสซิสต์ใหม่ ๆ ฯลฯ อีกหลายฉบับ ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ก็ยังลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองหลายประการด้วย 

รัฐบาลใหม่ประกอบด้วยพวกอนุรักษนิยมขวาจัดเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาไม่กี่เดือนทหารก็ให้รัฐบาลชุดนี้ลาออก และจอมพล พิบูลฯ ก็เข้ามาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 

คืนวันเดียวกับที่เกิดรัฐประหาร ข้าพเจ้าได้หลบหนีทหารที่ล้อมรอบบ้านพักออกไปได้อย่างหวุดหวิด และข้าพเจ้าได้ไปพักอยู่กับเพื่อนทหารเรือที่ฐานทัพเรือสัตหีบอยู่ระยะเวลาหนึ่ง  เพื่อหลีกเลี่ยงการสู้รบระหว่างคนไทยด้วยกันเอง ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองไทย เพื่อลี้ภัยไปอยู่ที่สิงคโปร์ก่อน โดยรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนอย่างสันติ 

ข้าพเจ้าพร้อมด้วยมิตรสหายบางคนได้เดินทางไปพบนาวาเอก สแตรทฟอร์ด เดนิส ซึ่งเคยร่วมการต่อสู้ในระหว่างสงครามภายใต้การนําของลอร์ดเมานท์แบทเตน และในขณะนั้นดํารงตําแหน่งผู้ช่วยทูตทหารเรือ ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อขอให้ติดต่อกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะเดินทางไปสิงคโปร์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง  กัปตัน เดนิส และนาวาเอก การ์เดส ผู้ช่วยทูตทหารเรืออเมริกันได้ร่วมกันนําข้าพเจ้าออกจากท่าเรือกรุงเทพฯ จนกระทั่งออกไปยังทะเลลึก โดยเรือยนต์ของกัปตันการ์เดส ซึ่งทําหน้าที่เป็นผู้ขับเรือเอง พร้อมด้วยภรรยาและน้องภรรยา  ต่อมาเราได้ลงเรือบรรทุกน้ํามันของอังกฤษมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ กัปตันเรือบรรทุกน้ํามันและเจ้าหน้าที่ประจําเรือได้ต้อนรับเราอย่างอบอุ่นและอํานวยความสะดวกอย่างดียิ่ง 

ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษจะให้สิทธิแก่ข้าพเจ้าในการลี้ภัยทางการเมือง ข้าพเจ้าก็ทราบดีว่า สิทธิดังกล่าวนี้จะมี อยู่ตราบเท่าจนกว่าอังกฤษจะรับรองระบอบปกครองใหม่ของสยามเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงขอให้สถานเอกอัครราชทูตสยามประจํากรุงลอนดอนและนานกิง (ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่) ออกหนังสือเดินทางการทูตพร้อมด้วยวีซ่าแก่ข้าพเจ้า เพื่ออนุญาตให้ข้าพเจ้าสามารถเดินทางไปประเทศอื่นได้  เอกอัครราชทูตทั้งสองยินดีทําตามที่ข้าพเจ้าขอไป ข้าพเจ้าจึงได้รับวีซ่าทางการทูตจากสถานทูตจีน สหรัฐฯ ฝรั่งเศส ฯลฯ 

ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลา 7 เดือน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสมในการกลับสู่สยาม ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า มิตรของข้าพเจ้าจํานวนหนึ่งกําลังเตรียมก่อการต่อต้านรัฐบาลของคณะรัฐประหารอย่างลับ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงออกเดินทางจากสิงคโปร์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในระหว่างนั้น 

ปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 ข้าพเจ้าเดินทางออกจากสิงคโปร์ไปยังฮ่องกง ซึ่งบรรดามิตรชาวไทยของข้าพเจ้าและกงสุลใหญ่ของสยามเวลานั้นได้ให้การต้อนรับอย่างดี 

จากฮ่องกง เราเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเพื่อนชาวจีนที่เกิดในสยาม และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสยามประจํานานกิงบางคนได้ต้อนรับเรา 

นายสงวน ตุลารักษ์ อดีตเอกอัครราชทูตสยามประจํานานกิง และข้าพเจ้า ได้ไปพบเอกอัครราชทูตเม็กซิโก เพื่อขอวีซ่า ซึ่งเขาประทับตราให้โดยไม่มีปัญหาเลย 

เราคิดกันว่า จะเดินทางไปเม็กซิโก โดยแวะผ่านซาน ฟรานซิสโก ขณะที่เรากําลังยื่นหนังสือเดินทางแก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของจีนอยู่นั้น ได้มี ชาวอเมริกันหนุ่มคนหนึ่งชื่อ นอร์แมน ฮันนาห์ ซึ่งเป็นรองกงสุลสหรัฐอเมริกาประจําเซี่ยงไฮ้ ได้ตรงเข้ามากระชากหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าจากมือเจ้าหน้าที่จีนผู้นั้น และได้ขีดฆ่าวีซ่าอเมริกัน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่กรุงลอนดอน เป็นผู้ออกให้ข้าพเจ้า  

ข้าพเจ้าจึงประจักษ์แก่ตัวเองว่า รองกงสุลหนุ่มอเมริกันผู้นี้ ช่างมีอํานาจเหนือเจ้าหน้าที่ของจีน และแม้กระทั่งเอกอัครราชทูตอเมริกันเอง (ต่อมาข้าพเจ้าได้ทราบว่า รองกงสุลผู้นี้เป็นสายลับของ ซี.ไอ.เอ.) นอกจากนั้นข้าพเจ้าก็ยังได้เข้าใจอีกว่า อิสริยาภรณ์และคําประกาศกิตติคุณที่รัฐบาลสหรัฐฯ มอบให้แก่ข้าพเจ้า (เมดัล ออฟ ฟรีดอม ประดับใบปาล์มทองคํา) ไม่มีค่าอันใดเลย เพราะข้าพเจ้ากลับถูกมองว่าเป็นอาชญากรเสียด้วยซ้ำ อันเป็นข้อกล่าวหาที่สร้างขึ้น โดยผู้ที่เป็นศัตรูระหว่างสงครามของสหรัฐฯ เอง (ซึ่งก็คือ จอมพลป.พิบูลสงคราม) ทั้งนี้โดยการปฏิเสธไม่ให้ข้าพเจ้าแวะผ่านผืนแผ่นดินอเมริกัน แม้จะเป็นเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง 

ชาวอเมริกันที่เซี่ยงไฮ้พยายามติดต่อกับข้าพเจ้าเพื่อชี้แจงเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พบ 

วันหนึ่งเพื่อนชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเคยทํางานร่วมกับข้าพเจ้าเมื่อคราวต่อต้านญี่ปุ่น ได้เชิญข้าพเจ้าไปรับประทานอาหารกลางวันกับเขาในฐานะมิตรสหาย ข้าพเจ้าประหลาดใจที่ได้พบกงสุลใหญ่อเมริกัน ซึ่งได้เข้ามาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับวีซ่าครั้งนั้น และแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า นายพลยอร์ช มาร์แซล รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้สั่งให้ประทับวีซ่ากลับคืนในหนังสือเดินทางของข้าพเจ้า ต่อมาไม่นาน นอร์แมน ฮันนาห์ รองกงสุลอเมริกันประจําเซี่ยงไฮ้ ได้ย้ายไปประจํากรุงเทพฯ 

องค์การ ซี.ไอ.เอ. นี้เองที่เป็นผู้สนับสนุนให้ตํารวจสันติบาลไทยจับกุมภรรยาและบุตรชายคนโตของข้าพเจ้า  ภรรยาของข้าพเจ้าถูก “ควบคุมตัว” ที่สันติบาลเป็นเวลา 84 วัน  ส่วนปาล บุตรชาย ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 20 ปี ถูกตัดสินจําคุก 20 ปี โดยข้อหากบฏภายในพระราชอาณาจักร  ปาลได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมายนิรโทษกรรมเมื่อคราวครบรอบกึ่งพุทธกาล พ.ศ. 2500 

ฮันนาห์ได้ย้ายไปประจําที่อาฟกานิสถานชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แล้วก็กลับมาประจํากรุงเทพฯ ในตําแหน่งที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ  วันหนึ่ง เอกอัครราชทูตไทยประจํากรุงปารีสได้มอบสําเนารายงานซึ่งเขียนโดยฮันนาห์เกี่ยวกับเหตุการณ์เรื่องวีซ่าครั้งนั้นของข้าพเจ้า  รายงานฉบับนั้นเต็มไปด้วยคําโกหกมดเท็จมากมาย ฮันนาห์เขียนเล่าให้ตอนหนึ่งว่า หลังจากขีดวีซ่าสหรัฐฯ บนหนังสือเดินทางของข้าพเจ้าแล้ว เขาก็เดินทางมาพบข้าพเจ้าที่โรงแรม ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ต้อนรับเขาอย่างฉันมิตร และเราก็รับประทานอาหารร่วมกัน 

ข้าพเจ้าสาบานได้ว่า ไม่เคยพบหน้าฮันนาห์อีกเลยตั้งแต่วันเกิดเหตุครั้งนั้น 

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า ฮันนาห์ได้พ้นจากตําแหน่งในกรุงเทพฯ และเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาแล้ว ข้าพเจ้าไม่ได้มีความโกรธเคืองนายฮันนาห์เป็นการส่วนตัว เพียงแต่อยากให้ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันตระหนักว่า เงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของพวกสายลับ ซี.ไอ.เอ. นั้น บางทีก็สูญเสียไปกับรายงานที่บิดเบือน ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจที่เป็นผลเสียแก่ชาวอเมริกันเอง 

เมื่อเจียงไคเช็คได้รับรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้แล้ว ก็ได้แสดงความปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าพํานักอยู่ในประเทศจีน โดยยืนยันกับข้าพเจ้าว่า ไม่เคยลืมคุณูปการของข้าพเจ้าที่มีต่อสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม และเขาจะไม่ส่งข้าพเจ้าข้ามแดนกลับไป เนื่องจากเขาจําได้ดีว่า รัฐบาลจอมพล ป.ฯ ได้ปฏิบัติต่อประเทศจีนด้วยความไม่ซื่อสัตย์ และปราศจากความละอายใจ  ในการนี้ เขาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อํานวยความสะดวกแก่ข้าพเจ้าระหว่างพํานักอยู่ในประเทศจีน 

วันที่ 1 ตุลาคม 2491 ข้าพเจ้าได้ข่าวว่า รัฐบาลจอมพล ป.ฯ ได้จับกุมนายทหาร และนักการเมืองหลายคน ซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอํานาจจากรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น แต่สมาชิกของกลุ่มคนหนึ่งเกิดทรยศหักหลังพรรคพวกขึ้นมา ขบวนการต่อสู้ครั้งนี้นำโดยพลตรี เนตร เขมะโยธิน (ยศขณะนั้น) นักเรียนเก่าโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสมาชิก “ขบวนการเสรีไทย” ระหว่างสงคราม และเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งก็ได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ครั้งนี้ การพยายามก่อกบฏครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ 1 ตุลาคม 2491”

ส่วนคนที่สามารถหลบหนีการจับกุม ได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้าเพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาลปฏิกริยา เราได้ตกลงกันว่า จะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำก่อการอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับเพื่อน ๆ ทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักชาติ ประชาธิปไตย และทหาร ตำรวจผู้รักชาติ รวมทั้งบรรดาทหาร และนายพลคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตเสนาธิการทหารบกซึ่งถูกคณะรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง

เมื่อมิตรสหายทางเมืองไทยได้แจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า โอกาสอำนวยแล้ว เราจึงเช่าเรือขนาด 20 ตัน เพื่อเดินทางลับ ๆ ออกจากฝั่งทะเลจีน ไปยังฝั่งตะวันออกของอ่าวสยาม”[1]

 

ที่มา: ปรับแก้เล็กน้อยจาก วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, บางหน้าในประวัติศาสตร์ไทย อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2549), น. 417-426.


[1] ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, (กรุงเทพฯ : เทียนวรรณ, 2529) หน้า 104-113.