ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

กาลเวลารำลึกแห่งความทรงจำ

5
ธันวาคม
2563

ตลอดเวลากว่า 54 ปีที่ข้าพเจ้าได้ร่วมชีวิตกับนายปรีดี พนมยงค์นั้น เราได้อยู่ด้วยความเข้าใจและเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองทำให้เราต้องแยกกันอยู่บางขณะ แต่ในที่สุดเราก็ได้มาอยู่ร่วมกันในบั้นปลายของชีวิตจนเธอได้จากไปตามกฎธรรมชาติ 

 

ภาพฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระที่นั่งอนันตสมาคม 9 พฤษภาคม 2489
ภาพฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
พระที่นั่งอนันตสมาคม 9 พฤษภาคม 2489

 

เธอเป็นคู่ชีวิตและมิตรที่ซื่อสัตย์ ไม่ว่าเราจะอยู่ใกล้หรือไกลกัน เธอเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้โดยไม่หยุดยั้ง เป็นตัวอย่างในความเป็นอยู่แบบสมถะ เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ บำเพ็ญชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับใช้ประเทศชาติด้วยความเสียสละ และมีความกตัญญูต่อผู้มีคุณ ถึงคราวมีเคราะห์กรรมก็ไม่หวั่นไหว ได้อาศัยหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้าเป็นที่พึ่ง โดยยึดถือพุทธภาษิต "ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ" คือ "ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม"

 

ปารีส พ.ศ. 2476
ปารีส พ.ศ. 2476

 

แม้อายุของเธอล่วงเข้าปัจฉิมวัย สมควรจะได้พักผ่อนเยี่ยงผู้สูงอายุทั่วไป แต่เนื่องจากเธอเป็นคนขยัน ไม่ยอมปล่อยให้เวลาและความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา รวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านพบสูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์ เธอจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการศึกษาคันคว้าหาความรู้ทุกแขนง ติดตามเหตุการณ์ของโลกอยู่เป็นประจำจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ข้อเขียนของเธอมีมากมายหลายประเภท ซึ่งได้นำไปพิมพ์เผยแพร่แล้วบางส่วน 

 

ทำเนียบท่าช้าง พ.ศ. 2485
ทำเนียบท่าช้าง พ.ศ. 2485

 

เธอเน้นหนักในการอบรมข้าพเจ้าและลูก ๆ ให้ยึดหลักสังคมที่เป็นธรรม คือ สังคมที่ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนซึ่งกันและกัน และในการศึกษาหาความรู้ทั่วไปต้องทำตนให้ปราศจากอุปาทานและกิเลส จึงจะสามารถรับเอาสิ่งที่เป็นสัจจะตามภาววิสัยและรูปธรรมที่ประจักษ์ได้

 

ทอดกฐิน จังหวัดพระตะบอง พ.ศ. 2488
ทอดกฐิน จังหวัดพระตะบอง พ.ศ. 2488

 

ที่มา: บางส่วนจากคำนำหนังสือ กาลเวลารำลึกแห่งความทรงจำ (2529)