กึ่งพุทธกาล-การเมืองสามเส้า-พรรคการเมือง
ในวันเพ็ญเดือนหก (พฤษภาคม) พุทธศักราช 2500 ตามปีปฏิทินจันทรคติของไทยจะเวียนมาถึง “กึ่งพุทธกาล” หรือครึ่งหนึ่งของอายุพระพุทธศาสนา (5,000 ปี) ตามความเชื่อพื้นบ้าน ในปีนั้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ จะมีอายุ 60 ปี ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ (รมต. กลาโหม และ ผบ.ทบ.) มีอายุ 49 ปี ‘พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์’ (อธิบดีกรมตำรวจ) มีอายุ 47 ปี
ในขณะเดียวกันก็จะครบวาระที่จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ (กุมภาพันธ์) พุทธศักราช 2500 จึงเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเมืองไทย มีความเปลี่ยนแปลงหลายประการทั้งในระดับของการเมืองระหว่างประเทศ (การประชุมบันดุงดังที่กล่าวมาแล้ว) และการเมืองภายในของไทยเองซึ่งจะเป็นที่รู้จักกันในนามของ “การเมืองสามเส้า”
ในช่วงระยะเวลาระหว่าง 2498-2500 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับการเมืองไทยสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลของจอมพล ป . พิบูลสงครามกับคณะรัฐประหารเอง ปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การเดินทางรอบโลกและการเสนอให้มีการฟื้นฟูประชาธิปไตยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาภายในของรัฐบาลอำนาจนิยมและปัญหาความสัมพันธ์ในกลุ่มของคณะรัฐประหารเอง
ความเติบโตของทั้งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ นำมาซึ่งคำถามและการคาดคะเนว่าผู้นำไทยคนต่อไปจะเป็นใคร ดังที่กล่าวแล้วว่าในปี 2500 นั้นจอมพล ป. พิบูลสงครามมีอายุครบ 60 ปี ซึ่งเป็นปีสำคัญในแง่ความหมายของอายุขัยในวัฒนธรรมไทย (ไม่เพียงแต่เป็นปีของการเกษียณอายุราชการเท่านั้น) และดังที่กล่าวแล้วเช่นกันว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามในสมัยของคณะรัฐประหารนี้ หาได้มีฐานอำนาจอย่างแข็งขันอย่างในสมัยแรกไม่
‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างกลุ่มอำนาจสองกลุ่ม คือ ระหว่างจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ หรือเรียกว่าระหว่างค่ายกำลัง 2 ค่าย คือ กลุ่มซอยราชครู (เผ่า) และ กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (สฤษดิ์)
‘พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์’ กำลังมีบทบาทสำคัญ ได้รับการยกย่องจากสหรัฐฯ ว่าเป็น “บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย” พลตำรวจเอกเผ่านั้นเป็นนายทหารมาก่อน เคยเป็นนายทหารคนสนิทของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และที่สำคัญคือเป็นบุตรเขยของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ทำให้มีบทบาทสำคัญในการคุมกำลังตำรวจภายหลังการรัฐประหาร 2490 ได้เป็นนายพลตำรวจตั้งแต่ปี 2495 และก็มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับสหรัฐฯ มาก กรมตำรวจสมัยนี้ได้รับการสร้างเสริมให้มีสมรรถภาพเกือบจะเท่าเทียมกับกองทัพบก ความช่วยเหลือจากองค์กรซีไอเอ (CIA) ผ่าน Sea Supply Corporation ทำให้กรมตำรวจสามารถมีรถถัง ปืน เรือบิน เรือลาดตระเวน
ในปี 2497 นั้น ตำรวจมีกำลังถึง 42,835 คน เป็นจำนวนตำรวจ 1 ต่อประชากร 407 คน นับว่าเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จนถึงกับประเทศไทยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “รัฐตำรวจ” (Police State)[1]
พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ จัดได้ว่าเป็นผู้ที่สนใจการเมือง คบหาสมาคมกับผู้คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง คุ้นเคยกับหมู่ชาวต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอเมริกัน มีนโยบายในการปราบปรามคอมมิวนิสต์และศัตรูทางการเมืองอย่างรุนแรง เป็นที่ชอบพอของสหรัฐฯ มาก ทำให้กรมตำรวจได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากมายดังกล่าวข้างต้น
นอกเหนือไปจากนี้ พลตำรวจเอกเผ่าก็ยังถูกข่าวลือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่น (ซึ่งเป็นการค้าผูกขาดตามกฎหมายของรัฐบาลในสมัยนั้น และความคุ้นเคยในเรื่องนี้เป็นการสืบทอดมาจากจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งได้รับมอบหมายจากจอมพล ป.พิบูลสงครามในการซื้อฝิ่นตั้งแต่สมัยสงครามเมืองเชียงตุงในสมัยของสงครามโลกครั้งที่ 2) ทำให้มีรายได้พิเศษในการที่จะสร้างเสริมฐานะทางการเมืองของตน[2] สามารถมีสมัครพรรคพวกได้กว้างขวาง และก็มีการคาดคะเนกันว่าหากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากตำแหน่งแล้ว พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ และกลุ่มซอยราชครูก็น่าจะได้เป็นทายาททางการเมือง
ในส่วนของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทภายหลังรัฐประหาร 2490 เช่นกัน สฤษดิ์ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหมหลังรัฐประหารเงียบ 2494 ในขณะเดียวกันก็ได้สืบตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพบกต่อจากจอมพลผิน ชุณหะวัณ เมื่อ 2497 (และจะดำรงตำแหน่งนี้ไปจนกระทั่งถึงอสัญกรรม 2506) สฤษดิ์มีบทบาทค่อนข้างเงียบ เมื่อเทียบกับเผ่า ศรียานนท์ แต่ก็มีความสมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ไม่น้อยได้ไปเยือนสหรัฐฯ ในสมัยของไอเซนฮาวร์เช่นกัน ในปี 2499 สฤษดิ์ก็ได้เลื่อนเป็นจอมพล ทำให้มีฐานอำนาจอย่างแข็งแรง พร้อมทั้งมีรายได้พิเศษจากการคุมรัฐวิสาหกิจในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคุมสลากกินแบ่งของรัฐบาล[3] จึงทำให้กลายเป็นอีกเส้าหนึ่งของการเมืองไทยในระดับสูง
กล่าวโดยย่อ สภาพการเมืองดังกล่าวของช่วงก่อนการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในระดับสูงจึงเป็นการคานอำนาจกันระหว่างผู้นำทั้งสาม ดังนั้น ก็ดูเหมือนว่าการปล่อยให้มี “บรรยากาศเปิด” ทางการเมือง การเล่นเกมประชาธิปไตยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็สามารถใช้เป็นเครื่องถ่วงดุล และต่อรองกับปีกซอยราชครูและปีกสี่เสาเทเวศร์ของคณะรัฐประหารด้วยกันเอง แต่เราก็จะเห็น ในเวลาต่อมาว่าโดยเกมประชาธิปไตยครั้งใหม่นี้ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ไม่สามารถจะรักษาสถานการณ์อันจะอำนวยให้ตนคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้ แรงกดดันจากภายในของรัฐบาลเองก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะหยุดยั้งได้
ในขณะเดียวกันแรงดันจากพลังอื่นๆ เช่น นักการเมือง นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่เสริมพลังด้วยนิสิตนักศึกษา ก็จะนำมาซึ่งจุดจบของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในปี 2498 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ เป็นครั้งแรก (ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก 2481-2487 มิได้มีการเดินทางไปต่างประเทศ และในสมัยหลังนับแต่ 2491 ก็มิได้มีการเดินทางไปต่างประเทศจอมพล ป. พิบูลสงครามนับเป็นผู้นำไทยในสมัยที่อยู่ในตำแหน่งที่เดินทางไปต่างประเทศน้อยที่สุดท่านหนึ่ง)
ในการเดินทางรอบโลก (เมษายน-มิถุนายน 2498) นี้ นับเป็นครั้งแรกในการไปต่างประเทศของจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่จบการศึกษาจากฝรั่งเศสเมื่อ 28 ปีก่อน และ จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ไปเยือนเฉพาะประเทศในค่ายโลกตะวันตก (ทุนนิยม) อยู่ในสหรัฐฯ ถึง 3 สัปดาห์ โดยพบปะและเล่นกอล์ฟกับประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ ปรากฏตัวปราศรัยหลายครั้ง ได้รับการสรรเสริญจากสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้นำที่สำคัญคนหนึ่งของโลกเสรี
ในขณะเดียวกันจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ย้ำถึงภัยคอมมิวนิสต์ ถึงกับกล่าวว่าสงครามโลกครั้งที่สามมิใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ นอกเหนือจากการเยือนสหรัฐฯ ก็ยังไปเยือนประเทศในค่ายตะวันตก เช่น เสปน ยุโรปตะวันตก อียิปต์ ปากีสถาน และศรีลังกา (โดยหลีกเลี่ยงที่จะแวะอินเดียหรือพม่า)
เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมาถึงประเทศไทย ก็เริ่มรณรงค์ “ประชาธิปไตย” โดยจะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมกาพันธ์ 2500 ตามกำหนด เริ่มใช้คำขวัญประชาธิปไตยของอเมริกาว่าเป็นการปกครอง “ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การค้า การรัฐประหารเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดให้มี “เพรสคอนเฟอร์เรนซ์” พบปะกับนักหนังสือพิมพ์ ปรากฏตัวท่ามกลางมหาชน (ขับรถสปอร์ตธันเดอร์เบิร์ด หรือที่ถูก น.ส.พ. ขนานนามว่า “วิหคสายฟ้า” ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทั่วไป)
ในเดือนกันยายน 2498 ก็อนุญาตให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้อีกครั้ง หลังจากที่เป็นสิ่งต้องห้ามมา 3 ปี (2495-2498) และในขบวนการสร้าง “ประชาธิปไตย” นี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ทำให้เกิดศัพท์ใหม่ขึ้นสำหรับการปราศรัยหาเสียง นั่นคือ “ไฮด์ปาร์ค” ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามถือว่าเพื่อให้เหมือนกับในอังกฤษที่เป็นแม่แบบของประชาธิปไตย (ไฮด์ปาร์คก็กลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองฝ่ายค้านที่จะใช้โจมตีรัฐบาลในที่สุด ทั้ง เผ่า และ สฤษดิ์ เอง ก็ถูกรุกหนักในการปรากฏตัวเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากเกม “ประชาธิปไตย” ของรัฐบาล)
บรรยากาศของการเมืองก่อน “กึ่งพุทธกาล” เป็นไปอย่างคึกคักภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง เมื่อ 26 กันยายน 2498 และ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 26 กุมภาพันธ์ 2500 ก็มีพรรคการเมืองเกิดขึ้น “ราวดอกเห็ดบานในฤดูฝน”
การปิดกั้นทางการเมืองเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 2494 ทำให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมือง และส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันรับเลือกตั้งถึง 23 พรรด แน่นอนที่สุดพรรคที่เด่นก็มีเพียง พรรคเสรีมนังคศิลา อันเป็นพรรครัฐบาล มีจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นหัวหน้า มีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค พรรคนี้ดึงความสนับสนุนจากพรรคเล็กพรรคน้อย เช่น พรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีนายเมธ รัตนประสิทธิ (ส.ส. เชียงใหม่) เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายจารุบุตร เรืองสุวรรณ (ส.ส. ขอนแก่น) เป็นเลขาธิการ หรืออย่าง พรรคธรรมาธิปัตย์ ซึ่งมี ร.ต.อ.เปี่ยม บุณยโชติ เป็นหัวหน้าพรรค พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค ซึ่งมีนายเพทาย โชตินุชิต และนายชวน รัตนวรานะ เป็นผู้นำสำคัญ หรือ พรรคชาติประชาธิปไตย ซึ่งมี พ.ท. ม.ร.ว.น้ำเพ็ชร เกษมสันต์ (สนับสนุนปีกด้านจอมพลสฤษดิ์)
พรรคต่างๆ เหล่านี้ไม่สู้มีฐานอำนาจแข็งแรงนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเงินหรือความสนับสนุนในท้องถิ่นของตน มีลักษณะกระจัดกระจาย ด้านหนึ่งได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล และอีกด้านหนึ่งก็เป็นความพยายามของนักการเมืองระดับรองๆ และอยู่นอกศูนย์กลางของอำนาจที่จะใช้โอกาสของ “ประชาธิปไตย” ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมืองพรรคที่สำคัญฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ อันมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า
ดังที่ทราบมาแล้วว่าพรรคนี้มีแนวทางอนุรักษนิยมมีฐานสนับสนุนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และผู้ที่สนับสนุนจำนวนหนึ่งก็เป็นเจ้าที่ดินและผู้มีสมบัติเก่า และน่าสนใจว่าในช่วงก่อน “กึ่งพุทธกาล” นี้ พลังอนุรักษนิยมได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น ทั้งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการเสด็จกลับมาประทับในพระนครเป็นการถาวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน พร้อมๆ กันนี้ น.ส.พ.สยามรัฐ ของ ‘ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช’ ซึ่งตั้งมาแต่ 2493 ก็ลงหลักมั่นคงมีทั้งรายวันและรายสัปดาห์ มีคอลัมน์ข้อเขียนประจำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเอง (ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วในการแสดงภาพที่งดงามของสังคมจารีตประเพณีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง นั่นคือนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน” มีทั้งนักการ์ตูนการเมืองมือฉมังคือ ‘ประยูร จรรยาวงศ์’ ทำให้พลังของอนุรักษ์นิยมดูมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับสมัยหลังสงครามโลก แต่ฐานของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงจำกัดอยู่ในเขตนครหลวง
ดังกล่าวมาแล้ว และน่าสนใจว่าการเลือกตั้งสมัยนี้แม้จะต้องมีการใช้เงินทองอันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่เงินก็ยังมิใช่ปัจจัยชี้ขาดดังที่เราจะมาเห็นในสมัยทศวรรษ 2520 และ 2530 การเมืองไทยยุค 2500 ยังมีลักษณะของการที่พลังระบบราชการยังเข้มแข็งอยู่ และพรรคฝ่ายรัฐบาลก็ใช้ความได้เปรียบของตนที่คุมกลไกของราชการ (แน่นอนรวมทั้งการใช้เงินทอง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนห์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคของตนและพรรคที่สนับสนุนตน น่าสังเกตว่าในบรรดาพรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น หากไม่มีแนวทางสนับสนุนอำนาจนิยมของรัฐบาล ก็เป็นพรรคในแนวอนุรักษนิยม แนวทางการเมืองอื่นๆ เช่น เสรีนิยม หรือมากไปกว่านั้นเช่น สังคมนิยม หาได้มีโอกาสเปิดตัวออกมาไม่
การปราบปรามอย่างเด็ดขาดในช่วงหลังการรัฐประหาร 2490 ทำให้นักการเมืองที่มีแนวคิดทางการเมืองนอกค่ายอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมต้องสลายตัวไป คนเก่าถูกกวาดล้าง คนใหม่ไม่สามารถจะเติบโตขึ้นมาได้ (ยกเว้น กระจัดกระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ อยู่ภายในรั้วกำบังของอุดมศึกษา อย่างเช่นกรณีของนิสิตนักศึกษจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งก็ถูกมรสุมทางการเมืองเปลี่ยนชื่อจากมหาวิหยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2495)
แต่ก็น่าสนใจว่ายังมีพรรคการเมือง เช่น พรรคเศรษฐการ ซึ่งมีนายเทพ โชตินุชิต (ส.ส.ศรีสะเกษ) เป็นหัวหน้าพรรค และ มีนายแคล้ว นรปิติ (ส.ส.ขอนแก่น) เป็นเลขาธิการพรรค ที่เน้นแนวทางด้านเศรษฐกิจโอนเอียงไปทางสังคมนิยม มีนโยบายต่างประเทศเป็นกลางสนับสนุนทุกประเทศให้เข้าองค์การสหประชาชาติ ซึ่งก็หมายถึงว่าไม่ขัดขวางการเข้าเป็นสมาชิกของสาธารณรัฐประชาชนจีน (หรือจีนแดงอันเป็นปัญหาเรื้อรังระหว่างมหาอำนาจทั้งสองค่าย 2492-2514 ผู้นำไทยทั้งฝ่ายอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมเห็นพ้องกันในประเด็นต่อต้านจีนแดงเข้าสหประชาชาติ)
การเลือกตั้ง “สกปรก” 26 กุมภาพันธ์ 2500
ในการเลือกตั้งทั่วไป 26 กุมภาพันธ์เพื่อชิง 160 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการเลือกตั้งที่อาจกล่าวใด้ว่าอยู่ในความทรงจำของการเมืองไทยมากที่สุด มีพรรคการเมืองเข้าสมัครแข่งขันมากที่สุดถึง 23 พรรค มีผู้มาออกเสียงเลือกตั้งมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ คือ 57.50 เปอร์เซ็นต์ (จังหวัดสระบุรีมีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุดและจังหวัดสุพรรณบุรีใช้สิทธิน้อยที่สุด)
ในขณะเดียวกันก็เป็นการเลือกตั้งที่ “สกปรกที่สุด” ผลทางการเมืองของการเลือกตั้งครั้งนี้คือการสลายตัวของการเมืองสามเส้า นำมาซึ่งการยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และที่สำคัญคือเป็นการสิ้นสุดของสมัยคณะรัฐประหารและเริ่มยุคสมัยของคณะปฏิวัติ ผลของการเลือกตั้งปรากฎดังนี้[4]
1. พรรคเสรีมนังคศิลา ................. 86
2. พรรคประชาธิปัตย์ .................. 30
3. พรรคธรรมาธิปัตย์ ................... 9
4. พรรคเศรษฐการ ...................... 9
5. พรรคเสรีประซาธิปไตย ............ 11
6. พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค ......... 2
7. พรรคชาตินิยม ......................... 3
8. พรรคอิสระ .............................. 2
9. ไม่สังกัดพรรค ......................... 8
รวม ............................................ 160
จะเห็นได้ว่าชัยชนะตกเป็นของพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็ถือได้ว่าเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคเสรีมนังคศิลาในสายตาของประชาชนทั่วไป
การแข่งขันที่มีอย่างเผ็ดร้อนในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งนั้น ก็คือในจังหวัดพระนคร ทั้งนี้เพื่อช่วงชิง 8 ที่นั่ง ซึ่งพรรครัฐบาลมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นำทีมแข่งกับทีมของพรรคประชาธิปัดย์ซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้นำ
น่าสังเกตว่าอีกสองเส้าของรัฐบาลที่มีตำแหน่งในพรรคของรัฐบาลด้วย คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีกลาโหมเป็นรองหัวหน้าพรรค กับพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีมหาดไทยเป็นเลขาธิการพรรคนั้น ต่างก็มิได้ลงสมัครแข่งขัน สำหรับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พยายามเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนี้น้อยที่สุด โดยที่พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งโดยตรงในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ในการหาเสียงนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้โจมตีพรรครัฐบาลอย่างรุนแรง ทำให้สามารถเรียกความสนับสนุนและจำนวนผู้มาฟังการหาเสียงเลือกตั้งในรูปของไฮค์ปาร์คได้อย่างแน่นขนัด ดังนั้นก็เป็นที่คาดหมายกันว่าในจังหวัดพระนครนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะต้องได้รับชัยชนะ
แต่เมื่อผลปรากฏออกมาผิดความคาดหมายที่พรรคเสรีมนังคศิลาได้ถึง 6 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 2 ที่นั่ง คือ ‘นายควง อภัยวงศ์’ และ ‘นาวาโท พระประยุทธชลธิ์’ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวประท้วงการเลือกตั้งขึ้นอย่างรุนแรง ทั้งนี้เพราะในวันเลือกตั้งในจังหวัดพระนครนั้น ปรากฏว่าบางเขตก็ขาดเจ้าหน้าที่และกรรมการประจำ มีข่าวว่ามีการทุจริตที่เรียกกันว่า “พลร่ม” บ้าง “เวียนเทียน” บ้าง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนชื่อตกหาย ในขณะที่บางคนใช้อภิสิทธิ์เข้าไปออกคะแนนเสียงหลายครั้ง มีการข่มขู่ผู้ที่จะลงคะแนนให้ฝ่ายค้านมิให้ไปลงจะแนนเสียง และที่เป็นข่าวอื้อฉาวที่สุดก็คืออำเภอดุสิต (ซึ่งเป็นเขตทหาร) นั้น การนับคะแนนเป็นไปอย่างเชื่องช้าผิดสังเกต ดังนั้นในค่ำวันเลือกตั้งจึงมีประชาชนไม่พอใจเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลและขว้างปาสถานที่ราชการ
ภายหลังการเลือกตั้งหนังสือพิมพ์ได้โจมดีความ “สกปรก” นี้อย่างรุนแรง และสถานการณ์การเมืองก็ตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 12 วัน ระหว่าง 2-14 มีนาคม โดยอ้างว่ามีคณะบุคคลด้วยความสนับสนุนของชาวต่างประเทศจะก่อกวนและดำเนินการร้ายขึ้นในประเทศ มอบให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการทหาร มีอำนาจสั่งการใช้กำลังกองทัพบก-เรือ-อากาศ-และตำรวจปราบปรามโดยเด็ดขาด
น่าสนใจว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามได้หันมาเล่นเกมประชาธิปไตยเพื่อรักษาอำนาจของตนในการเมืองสามเส้านี้ แต่เกมประชาธิปไตยก็กลายเป็นทางตัน และเมื่อมีวี่แววว่าจอมพล ป. พิบูลสงครามไม่สามารถจะรักษาอำนาจของตนไว้ได้ การเมืองสามเส้าก็ถึงจุดแตกสลาย กลายเป็นการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างสองเส้าที่เหลือ
ภาพ: เหตุการณ์ที่จอมพลสฤษดิ์นำคณะนักศึกษาเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบรัฐบาล
ภายหลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500
ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม
การมอบให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นผู้บัญชาการทหาร ก็ทำให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์กลับมีบทบาทเพิ่มขึ้น และการที่จอมพลสฤษดิ์พยายามแสดงตนให้เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับความ “สกปรก” ครั้งนี้ โดยที่เมื่อนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประท้วงด้วยการลดลงครึ่งเสาและจัดการชุมนุมจอมพล สฤษดิ์ก็ปรากฏตัวปราศรัยกับบรรดานิสิตนักศึกษา และเมื่อมีการเดินขบวนในถนนราชดำเนิน (นำโดยจุฬาฯ และธรรมศาสตร์) จอมพลสฤษดิ์ก็ปล่อยให้มีการเดินขบวนโดยดี และในที่สุดก็กลายเป็น “ขวัญใจ” ของนิสิตนักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ และประชาชนโดยทั่วไป
เนื่องจาก พรรคเสรีมนังคศิลา ได้เสียงข้างมาก ดังนั้นจึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เป็น นายกรัฐมนตรี (21 มีนาคม) ซึ่งเป็นชุดที่ 26 และชุดสุดท้ายของคณะรัฐประหาร ในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ยังมี ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ‘จอมพล ผิน ชุณหะวัณ’ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ‘พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์’ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ‘พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร’ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ‘พลโทถนอม กิตติขจร’ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ ‘พลตรีประภาส จารุเสถียร’ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
รัฐบาลแถลงนโยบายเมื่อ 1 เมษายน ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรถึง 144 ต่อ 6 เสียง แต่ก็เป็นรัฐบาลที่ขาดความเชื่อถือและขาดเสถียรภาพยิ่ง ดังจะเห็นได้จากกรณีต่างๆ ที่เป็นกระแสคลื่นทางการเมืองกระหน่ำรัฐบาลเป็นระลอก ในช่วงระหว่าง 12-18 พฤษภาคม รัฐบาลได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษอย่างใหญ่โตทั่วพระราชอาณาจักร โครงการดังกล่าวได้วางมาแล้วตั้งแต่ปี 2497 โดยมีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์เป็นประธานกรรมการ แต่ก็เป็นโครงการที่จอมพล ป. พิบูลสงครามให้ความสนใจและติดตามด้วยตนเอง
น่าสังเกตว่าโครงการนี้คล้ายกับเป็นการนำโครงการเก่า “พุทธบุรีมณฑล” ที่จังหวัดสระบุรีซึ่งเป็นโครงการในปี 2487 ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เสนอต่อสภาฯ และก็กลายเป็นสาเหตุหนึ่งร่วมกับโครงการเมืองหลวงเพชรบูรณ์ ที่ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องแพ้การลงคะแนนเสียงในสภาฯ เป็นเหตุให้ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับโครงการฉลอง 25 พุทธศตวรรษนี้ แบ่งเป็นโครงการใหญ่ 3 ส่วน คือ
การจัดสร้างพุทธมณฑล 2500 ไร่ ให้เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา โดยสร้างพระพุทธรูปปางลีลาขนาดมหึมาสูง 2500 นิ้ว (แต่ต้องลดเหลือ 2500 กระเบียดนิ้ว) ออกแบบโดย ‘ศิลป์ พีระศรี’ รวมทั้งบรรดาอาคารต่างๆ ที่จะใช้ในกิจการพระศาสนา คงเป็นที่ทราบกันดีว่าพุทธมณฑลนี้ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเสร็จเพียงแค่การออกแบบ การเวนคืนที่ดิน การวางศิลาฤกษ์และสร้างฐานพระเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จวางศิลาฤกษ์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2498 (และเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามหมดอำนาจไป พุทธมณฑลก็ถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าอยู่ถึง 20 ปี ในช่วงของรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม จะมารื้อฟื้นทำใหม่ก็ในสมัยของนายกรัฐมนตรี ‘พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์’ เมื่อปี 2521 และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของนายกรัฐมนตรี ‘พลเอกเปรม ติณสูลานนท์’ ปี 2525)
อนึ่ง รัฐบาลยังได้ดำเนินการจัดสร้างวัดไทยที่พุทธคยา อินเดียอีกด้วย (ซึ่งเป็นสถานที่ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ไปบวชภายหลังการตกจากอำนาจ)
ในส่วนที่สอง ของโครงการก็คืองานด้านสาธารณูปโกล ซึ่งเป็นการเร่งสร้างถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปาให้ครบทั่วทุกจังหวัด ในส่วนนี้ก็เช่นเดียวกับส่วนแรกคือทำไปได้ไม่มากนัก ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม เช่น สะพานนนทบุรี สะพานกรุงธน และสะพานกรุงเทพฯ ตลอดจนการสร้างที่อยู่อาศัยในรูปของหมู่บ้านจัดสรรในนามของ “พิบูลฯ” ต่างๆ เช่นที่คลองประปาและพระโขนงในเขตกรุงเทพฯ
ในส่วนที่สาม ด้านศาสนาและวัฒนธรรม ได้มีการบูรณะโบราณสถานขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างจริงจัง แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการบูรณะที่ผิดหลักวิชา ทำให้การบูรณะที่อยุธยา สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ผิดพลาดหลายประการ โดยเฉพาะที่อยุธยาในกรณีมณฑปพระมงคลบพิตร และเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชร ส่วนที่สุโขทัยและศรีสัชนาลัยนั้นดำเนินการไปแค่การถางป่าและปรับปรุงพื้นที่
นอกจากนี้จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ยังจัดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับ 25 พุทธศตวรรษ หล่อพระพุทธรูปบูชา 25 พุทธศตวรรษ จัดทำหนังสือประวัติของทุกจังหวัด ฯลฯ
ในส่วนของการฉลองในพระนครนั้น ทำใหญ่โตที่ท้องสนามหลวง มีการบวชพระ 2,501 รูป มีการแห่ขบวนพุทธพยุหยาตราชลมารค โดยนำเรือพระราชพิธีซึ่งระงับใช้ไปถึง 25 ปีภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ออกมาแห่แหนให้ประชาชนชมเป็นครั้งแรก
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับงานพุทธบุรีมณฑล จังหวัดสระบุรี นั่นคือ “ญี่ปุ่นได้คิดจะเอาชนะเราในเรื่องนี้โดยจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่หลังแนวรบของกองทัพที่ 2 คือระหว่างลพบุรีและสระบุรี ผมจึงได้เอาพระเข้าช่วยโดยจัดการประกาศสร้างพุทธบุรีมณฑลในบริเวณนี้ทันที” และก็ดูเหมือนว่าในกรณีปี 2500 นั้น จอมพล ป. พิบูลสงครามก็คงจะนำ “พระเข้าช่วย” พร้อมๆ กับการนำ “ประชาธิปไตยมาช่วย” แต่ก็น่าสนใจว่าโครงการดังกล่าวซึ่งมีนัยยะทางการเมืองก็หา “ช่วย” ได้ไม่ เป็นที่น่าสังเกตว่างานฉลอง 25 พุทธศตวรรษถูกจัดเป็นงานของจอมพล ป. พิบูลสงครามโดยเฉพาะ และในวันที่ 12 พฤษกาคม ที่มีหมายกำหนดเปิดงานนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จ
ข่าวจากสำนักพระราชวังแจ้งว่าทรงประชวร พร้อมทั้งมีข่าวว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ไม่ไปร่วมงานก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบต่อรัฐบาลซึ่งเพิ่งประสบปัญหาจากการเลือกตั้ง “สกปรก” มาเพียง 2 เดือนก่อนหน้านี้
อีกไม่ถึงสองเดือนต่อมา สัญญาณของการแตกสลายของการเมืองสามเส้าก็ปรากฏชัด กล่าวคือได้มีการขอจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ขึ้นเมื่อ 2 กรกฎาคม คือ พรรคสหภูมิ ซึ่งมี ‘นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์’ (ส.ส.เชียงใหม่) เป็นหัวหน้าพรรค ‘นายสงวน จันทรสาขา’ (ส.ส.นครพนม เดิมอยู่พรรคเสรีมนังคศิลา) เป็นเลขาธิการ พรรคสหภูมิได้ดึง ส.ส. จากพรรคเสรีมนังคศิลามาร่วม 10 คน และดึง ส.ส. จากพรรคอื่นๆ และที่ไม่สังกัดพรรคมาร่วมได้อีก 20 คน
จากการที่นายสงวน จันทรสาขาซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นที่เด่นชัดว่าพรรคนี้เป็นฝ่ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็นการชี้ให้เห็นถึงการแยกตัวออกมาจากพรรครัฐบาล เดือนสิงหาคมถัดมาสถานการณ์ก็สุกงอม และคลื่นที่กระหน่ำต่อรัฐบาลก็ตามมาเป็นระลอกในเดือนนี้ คือ กรณีอีสานแล้ง กรณีป่าไม้เขื่อนภูมิพล กรณีการเปิดอภิปรายทั่วไปในสภาผู้แทนราษฎร กรณีการให้ข้าราชการการเมืองออกจากการทำธุรกิจ และการลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และคณะ
ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดตามลำดับดังต่อไปนี้ กล่าวคือ ในกลางปี 2500 ซึ่งตรงกับฤดูทำนานั้น ปรากฏว่าเกิดฝนแล้งขนาดหนักขึ้นในภาคอีสาน เมื่อทำนาไม่ได้ชาวอีสานก็หลั่งไหลเข้ามาหางานในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ถึงกับที่สถานีรถไฟหัวลำโพงแออัดยัดเยียด นิสิตนักศึกษาได้ตั้งหน่วยฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือ อีสานแล้งกลายเป็นเรื่องที่หนังสือพิมพ์และผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านให้ความสนใจอย่างมาก และได้นำมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลที่เพิกเฉยต่อปัญหา ซึ่งก็น่าสนใจว่ารัฐบาลกลับตอบโต้ด้วยการถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ
มีรายงานข่าวว่า จอมพล ผิน ชุณหะวัฒในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร กล่าวว่าการอพยพเข้าเมืองหลวงของชาวอีสานเป็นเรื่องธรรมดา และความยากจนที่ถึงกับต้องกินเขียดและกิ้งก่าก็มิใช่เรื่องผิดปกติของชาวอีสาน สร้างความไม่พอใจในหมู่มหาชนยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันหนังสือพิมพ์ เช่น สยามนิกร ก็รายงานว่าความแห้งแล้งในอีสานถูกซ้ำเติมด้วยการที่ตั๊กแตนลงกินข้าวเสียหายหนักในมหาสารคาม และบรรดา ส.ส. จากอีสานก็นำเรื่องนี้เปิดอภิปรายทั้งในสภาฯ และสนามหลวง เช่น ‘นายบุญคง บุญเพชร’ (พรรคเศรษฐการ ส.ส.มหาสารคาม) ประณามว่ารัฐบาลสนใจแต่เพียงคนร่ำรวยเพียงหยิบมือในเมืองหลวง และขู่ว่าชาวอีสานจะลุกฮือขึ้นหากไม่ได้รับความช่วยเหลือ พร้อมๆ กันนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็ร่วมในการโจมตีรัฐบาล และออกหาเงินช่วยเหลือชาวอีสาน ทำให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการบางประการ
วันที่ 10 สิงหาคม ได้ส่ง ‘พลตำรวจตรี ละม้าย อุทยานานนท์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ออกไปสำรวจสภาพความแห้งแล้ง แต่การสำรวจครั้งนี้ก็กลับเป็นผลร้ายต่อรัฐบาสอีก เพราะมีรายงานข่าวว่าสำรวจจากทางอากาศโดยใช้เฮลิคอปเตอร์และกลับมารายงานว่า “ไม่มีปัญหา”
หลังจากนั้นไม่นานจอมพล ผิน ชุณทะวัณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรก็ออกสำรวจอีก “โดยทางอากาศและกลับมารายงานว่า 40% ของที่นาในอีสานอยู่ในสภาพดีอีก 50% อยู่ในสภาพพอใช้ได้ และยังกล่าวว่า การที่มีข่าวแล้งและการที่คนอีสานอพยพเข้าเมืองหลวงนั้นมาจากการยุยงของคอมมิวนิสต์ ซึ่งสร้างความคั่งแค้นให้กับบรรดา ส.ส. อีสาน นักการเมืองฝ่ายค้าน นักหนังสือพิมพ์ และนิสิตนักศึกษาเพิ่มยิ่งขึ้น[5]
ในขณะที่เรื่องของอีสานแล้งยังไม่ทันจางหายไปดี ก็มีเรื่องอื้อฉาวสั่นคลอนรัฐบาลตามมาติดๆ นั่นคือเรื่องสัมปทานป่าไม้ภาคเหนือและการที่อธิบดีกรมป่าไม้ (นายเทียม คมกฤช) ถูกปลดโดยไม่มีสาเหตุแจ้งชัด
เรื่องนี้มีอยู่ว่าในระยะนี้รัฐบาลได้เงินกู้จากธนาคารโลกมา 66 ล้านเหรียญ เพื่อทำการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล (ยันฮี) ที่จังหวัดตาก เพื่อกั้นแม่น้ำปิง เขื่อนนี้มีความสูงประมาณ 500 เมตร และจะนำให้มีโรงงานไฟฟ้าแรงสูง 2 โรง โครงการก่อสร้างเสร็จภายใน 6 ปี (2506) เงินกู้นี้เสียดอกปีละ 5.57 % จ่ายคืนในระยะยาว 25 ปี ส.ส. ฝ่ายค้านไม่พอใจในเรื่องดอกเบี้ยซึ่งจะเสียถึงปีละ 72 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวก็ผ่านไปได้ และไม่มีการอภิปรายมากมายในสภาฯ แต่กรณีก็มาฉาวโฉ่จากการที่อธิบดีกรมป่าไม้ถูกปลดในข้อหาว่าขาดประสิทธิภาพ ‘นายเทียม คมกฤช’ นำเรื่องนี้ออกสู่มหาชนทางหนังสือพิมพ์โดยกล่าวว่าการที่ตนถูกปลดนั้นเพราะขัดผลประโยชน์ของจอมพล ผิน ชุณหะวัณ ซึ่งต้องการจะตั้งองค์การป่าไม้ โดยรวมบรรดาบริษัทป่าไม้ต่างๆ เข้าอยู่ในเครือของตน ทำการผูกขาดกิจการป่าไม้ทั้งหมด และที่สำคัญก็คือในการสร้างเขื่อนภูมิพล ก็จะต้องมีการตัดไม้ในบริเวณนั้นซึ่งเต็มไปด้วยไม้สักที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีมูลค่าถึง 1 พันล้านบาท
จอมพล ผิน ชุณหะวัณต้องการจะผูกขาดผลประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของตนเป็นฐานสำคัญ ดังนั้นเมื่อตนขัดขืนจึงถูกปลด ข่าวนี้ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างมาก และที่น่าสนใจก็คือ ฝ่ายของนายเทียม คมกฤชก็ได้วิ่งเข้าหาจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อขอความเป็นธรรมด้วย ทำให้การแตกแยกและระแวงสงสัยระหว่างเส้าทั้งสองยิ่งทวีขึ้น
น่าสังเกตว่าในวิกฤตการณ์และความตึงเครียดดังกล่าว จอมพล ป. พิบูลสงครามกลับหาทางแก้ด้วยการเรียกร้องให้ข้าราชการการเมืองเลิกยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะตัดฐานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (และอาจจะทั้งของฝ่ายซอยราชครู) วิธีการดังกล่าวในสถานการณ์ปกติก็คงเป็นเรื่องที่ต้องด้วยหลักการ ที่นักการเมืองจะไม่ใช่ตำแหน่งและอิทธิพลของตนแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ในสถานการณ์ของความขัดแย้งและตึงเครียดทางการเมืองนี้ ก็กลายเป็นมาตรการสุดท้ายที่ทำให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์แตกกลุ่มออกจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ตอบโต้ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและสมาชิกสภาฯประเภทสอง (20 สิงหาคม 2500) ซึ่งก็ทำให้กลุ่มทหารค่ายสี่เสาเทเวศร์ลาออกตามเป็นกระบวน คือ ถนอม-ประกาส พลอากาศโทเฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร พลจัตวา กฤษณ์ สีวะรา ออกจากตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคเสรีมนังศศิลา และสมาชิกประเภทสองในสายเดียวกันนี้ก็ลาออกตามมาอีก 46 คน
ดังนั้นในปลายเดือนสิงหาคม (วันที่ 29-30) พรรคฝ่ายค้าน 5 พรรค นำโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคสหภูมิก็ร่วมกันเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อที่จะลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลใน 9 ประเด็น คือ ความไม่สงบเรียบร้อยและการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การคลัง การต่างประเทศ การศึกษา การครองชีพของประชาชน การเศรษฐกิจ การป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่น การรักษาวาจาสัตย์
การอภิปรายทั่วไปดังกล่าวนี้ พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถจะหา ส.ส. มาสนับสนุนให้ลงมติไว้วางใจได้พอ และก็ไม่สามารถผลักดันให้มีการออกวิทยุกระจายเสียงได้ ดังนั้นจึงผ่านระเบียบวาระไป แต่อย่างไรก็ตามการอภิปรายทั่วไปนี้ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาลอย่างมหาศาล (อาจจะใกล้เคียงกับการที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเปิดอภิปรายทั่วไปโจมตีรัฐบาลพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์สมัยก่อนการรัฐประหาร 2490 ต่างกันที่ว่ารัฐบาลสมัยนั้นยอมให้มีการถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียง และเมื่อมีการลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ชนะ ทำให้ฝ่ายค้านต้องหันไปเล่นเกมการยึดอำนาจร่วมกับฝ่ายทหาร)
ในการอภิปรายดังกล่าว พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ตกเป็นเป้าของการโจมตีอย่างหนัก โดยเฉพาะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปล่อยให้หนังสือพิมพ์ที่ตนสนับสนุนอยู่ คือ ไทยเสรี พาดหัวข่าว เช่น “เจ้าผยอง” - “เจ้าล้างศาสนา” - “เจ้าจะตายโหง” หรือ เพิกเฉยให้มีการปล่อยข่าวว่าทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แสร้งทำป่วยไม่ไปงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ยังถูกโจมตีอีกว่านำทองคำแท่งและธนบัตรปลอมที่ได้มาจาก Sea Supply Corporation (องค์กรบังหน้าของ CLA) เข้ามาเป็นเงิน 400 ล้านบาท เพื่อใช้ซื้อเสียงและหาฐานสนับสนุนทางการเมืองและที่หนักหน่วงที่สุดก็คือการอภิปรายของ ‘นายพีร์ บุนนาค’ (ส.ส. สุพรรณบุรี พรรคสหภูมิ เดิมอยู่พรรดขบวนการไฮด์ปาร์ด) ซึ่งกล่าวหาพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ว่า หมิ่นพระบรมเดชานุกาพด้วยการที่เคยพูดว่าในหลวงให้เงินพรรคประชาธิปัตย์ 7 แสนบาท และว่าในหลวงควรจะถูกจับตั้งแต่ตอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว
นายพีร์ บุนนาคถูกให้ถอนคำพูด แต่ก็จะเห็นได้ว่าผลร้ายก็ตกอยู่กับฝ่ายรัฐบาลเสียแล้ว และก็เป็นที่น่าสังเกตเช่นกันว่ากรณีของการกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ถูกนำมาเป็นอาวุธทางการเมืองประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม ดังที่เคยเกิดมาก่อนหน้ากรณีนี้และจะเกิดตามมาหลังกรณีนี้อีกหลายครั้ง (2490, 2516, 2519, 2534 เป็นต้น)
อีกเกือบ 2 สัปดาห์ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารอีก 58 นาย ก็ยื่นหนังสือคำขาดให้รัฐบาลลาออกทันที ทั้งยังให้พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ลาออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจอีกด้วย ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและยืนยันไม่ลาออก ถือว่าการกระทำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นกบฏภายในพระราชอาณาจักร
ในคืนวันที่ 14 กันยายนในขณะที่นายทหารได้เตรียมการพร้อมไว้ รัฐบาลก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า
“บัดนี้ทางรัฐบาลได้พิจารณาข้อเรียกร้องของ ส.ส.ประเภท 2 ฝ่ายรัฐประหารที่จะให้ลาออกจากรัฐบาลไปทั้งคณะ เพราะในปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและเสียงเรียกร้องของประชาชนอยู่แล้ว อาทิเช่น ให้รัฐบาลถอนตัวออกจากการค้าซึ่งมีรัฐมนตรีถอนตัวออกไปแล้วถึง 5 คน นอกจากนี้ก็ยังได้มีมติให้แยกข้าราชการประจำออกเสียจากข้าราชการการเมืองตามวิถีแห่งประชาธิปไตยส่วนข้อเสนอที่จะให้ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ ออกจากตำแหน่งอธิบดีตำรวจนั้นก็ปรากฏว่า พล.ต.อ.เผ่า ก็ได้ลาออกไปแล้ว ข้อเสนอของคณะรัฐประหารเห็นว่าควรตกไปด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องทำให้คณะรัฐบาลจำเป็นจะต้องลาออกไปทั้งคณะ”[6]
ในวันที่ 15 กันยายน มีการเปิดไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงโจมตีจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และก็มีการเดินขบวนไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อแสดงความสนับสนุนต่อคำขาดของคณะนายทหาร เมื่อไม่พบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เดินขบวนก็เลยไปยังทำเนียบรัฐบาลซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก และพังประตูทำเนียบเข้าไป
ในวันที่ 16 กันยายน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ยึดอำนาจ กำลังของทหารได้แยกย้ายกันยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ในเมืองหลวงได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ได้มอบตัวและขอเดินทางไปลี้ภัยในสวิตเชอร์แลนด์ ถูกให้ออกไปภายใน 12 ชั่วโมง ส่วนจอมพล ป. พิบูลสงครามได้หลบหนีไปทางชายแดนจังหวัดตราด ข้ามพรมแดนไปลี้ภัยในกัมพูชา (เป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะไปพำนักอยู่ในญี่ปุ่นจนถึงอสัญกรรมในปื 2507)
การเมืองไทยสมัยของคณะรัฐประหารก็จบลง และเริ่มบทใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าด้วยยุคสมัยของคณะปฏิวัติ
ที่มา: ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475-2500, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2544), น. 484-505
หมายเหตุ:
- บทความนี้ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากผู้เขียนแล้ว
- ตั้งชื่อเรื่อง จัดการรูปแบบประโยค โดย บรรณาธิการ
เชิงอรรถ
[1] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526). หน้า 103-108
[2] Alfred W. McCoy, *The Politics of Heroin in Southeast Asia*, (New York: Harper and Row, 1972), pp. 136-145
[3] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526). หน้า 120-122
[4] ดู ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยใรีอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (กรุงเทพฯ : ช. ชุมนุมช่าง, 2517), หน้า 860-866
[5] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526). หน้า 143-145
[6] ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองของไทยนับตั้งแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน (พระนคร : โอเดียนสโตร์ม 2511). หน้า 287-288
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์
- ไฮด์ปาร์ค
- จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย
- รัฐประหาร 2490
- รัฐประหาร ๘ พ.ย.๒๔๙๐
- รัฐตำรวจ
- การเมืองไทย
- การเมืองสามเส้า
- ประชาธิปไตย
- รัฐบาล
- การเลือกตั้ง
- การเลือกตั้งสกปรก
- การจัดตั้งพรรคการเมือง
- ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
- สยามรัฐ
- พรรคเสรีมนังคศิลา
- พรรคเสรีประชาธิปไตย
- พรรคธรรมาธิปัตย์
- พรรคชาติประชาธิปไตย
- พรรคประชาธิปัตย์
- พรรคเศรษฐการ
- นโยบาย
- คณะรัฐประหาร
- คณะปฏิวัติ