ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : พรรคประชาชนลาว - พรรคประชาชนปฏิวัติลาว

3
เมษายน
2565

ความเดิมตอนที่แล้ว : ศุขปรีดาเล่าเรื่อง : สงครามซีไอเอ

นับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา “ฝ่ายแนวลาวรักชาติ” เสนอให้มีการประชุมกับ “ฝ่ายเวียงจันทน์” ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพวกปะติกานฝ่ายขวา สำหรับฝ่ายเป็นกลางอย่างแท้จริงที่สนับสนุน เจ้าสุวันนะพูมา นั้นก็มีความเห็นชอบแนวนโยบายของฝ่ายแนวลาวรักชาติ และเข้าร่วมด้วย อาทิเช่น พันเอกเดือน สุนนะลาด เป็นต้น ซึ่งในเวลาต่อมาก็เข้าเป็นฝ่ายแนวลาวรักชาติเต็มตัว

การก้าวไปสู่ชัยชนะเด็ดขาดของฝ่ายแนวลาวรักชาติเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปีนี้ จากข้อเสนอของท่านสุพานุวงประธานแนวลาวรักชาติต่อรัฐบาลเจ้าสุวันนะพูมา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1970 กล่าวคือ

  1. อเมริกาต้องถอนตัวออกจากลาวโดยสิ้นเชิงและยุติบทบาททางทหารทั้งหมด
  2. เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาสงบศึกเจนีวา ค.ศ. 1962 ลาวต้องไม่เข้าเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศใด
  3. ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย
  4.  ในระหว่างที่ยังมิได้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้พรรคการเมืองต่างๆ ของลาว ร่วมประชุมปรึกษาหารือกันแล้วจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น
  5. การแก้ไขปัญหาของลาวจักต้องกระทำโดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

 

ท่านไกสอน พมวิหาน
ท่านไกสอน พมวิหาน

 

ท่านไกสอน กับ นักรบ
ท่านไกสอน กับ นักรบ

 

ถึงแม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงการแสวงหาทางออกของประเทศ ด้วยจิตใจที่รักชาติ รักสันติภาพ รักประชาชนของฝ่ายแนวลาวรักชาติ ทั้งๆ ที่ในการสู้รบฝ่ายแนวลาวรักชาติได้รับชัยชนะในหลายสมรภูมิ เรียกว่าได้เปรียบทางการทหารก็ยอมพักรบพูดคุยกัน แต่อเมริกาและฝ่ายขวาเวียงจันทน์ยังวาดหวังจะพลิกกลับสถานการณ์ให้เกิดผลดีแก่ฝ่ายตน ซึ่งความจริงแล้วไม่มีทางเป็นไปได้

จนกระทั่งสามารถลงนามได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973 ในสัญญาที่มีชื่อเป็นทางการว่า “สัญญาเกี่ยวกับการฟื้นฟูสันติภาพ และ ปฏิบัติความถูกต้องปรองดองชาติในลาว”

การเจรจาทั้งสองฝ่ายยืดเยื้อมาอีก จนวันที่ 5 เมยายน ค.ศ. 1974 รัฐบาลผสมชั่วคราวแห่งชาติ และ คณะมนตรีผสมการเมืองแห่งชาติ จึงจัดตั้งขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม จักรวรรดินิยมอเมริกาและลูกสมุนปะติกานลาวพยายามล้มล้างบ่อนทำลายการทำงานตลอดเวลา เพื่อช่วงชิงอำนาจกลับคืนมาอยู่ในมือพวกตน แต่ก็ไม่ได้รับความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน ตรงกันข้ามกลับถูกเปิดโปงโดยประชาชนผู้รักชาติมากยิ่งขึ้น

ผลการสู้รบในขณะนั้น กองกำลังปเทดลาวเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า สามารถปลดปล่อยเนื้อที่ถึง 4 ใน 5 ของประเทศ คงเหลือไว้แต่ตัวเมืองใหญ่ริมฝั่งโขงที่เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาและไม่มีความจำเป็นนัก เพราะอาจทำให้ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น

ทางศูนย์กลางพรรคประชาชนฯ จึงกำหนดแนวทางนโยบายในการปลดปล่อยประเทศตามลักษณะพิเศษที่มีความเหมาะสมของลาว โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 จนถึงปี ค.ศ. 1974 ได้ใช้นโยบายทางทหารเข้าโจมตีตลอดแนวเพื่อขยายเขตปลดปล่อย และทำให้ฝ่ายขวาเกิดความขยาดกลัวไม่กล้าเข้าต่อกรด้วย แต่หลังจากจัดตั้งรัฐบาลฯ และคณะมนตรีฯ ขึ้นแล้วจึงกำหนดให้ใช้นโยบายการเมืองนำหน้าการทหาร มีการปลุกจิตสำนึกประชาชนให้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ประณามและเปิดโปงความชั่วร้ายของพวกปะติกานฝ่ายขวา โดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออำนาจมืด

“แนวลาวรักชาติ” ส่งกองกำลังปเทดลาวเข้าประจำการที่เวียงจันทน์ 1,000 คน และที่หลวงพระบาง 500 คน ฝ่ายเวียงจันทน์มีกองกำลังเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ เพื่ออารักขาแกนนำแนวลาวรักชาติและให้ความคุ้มครองปกปักรักษาประชาชนผู้รักชาติ โดยกำหนดให้ทั้งเวียงจันทน์และหลวงพระบางอยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังทั้งสองฝ่าย ห้ามกองทหารของฝ่ายใดเข้ามาในตัวเมือง เพื่อป้องกันมิให้เกิดรัฐประหารขึ้นมาอีก ดังเช่น การรัฐประหารที่ล้มเหลวของพูมี หน่อสะหวัน, ท้าวมากับพวก ในกลางปี ค.ศ. 1973 อันเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของฝ่ายขวา ซึ่งแตกพ่ายไปในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน และเพื่อความไม่ประมาททั้งๆ ที่ฝ่ายขวาได้อ่อนเปลี้ยพ่ายแพ้ในทุกรูปแบบแล้วก็ตาม

การกำหนดให้มีคณะมนตรีฯ ปฏิบัติราชการที่หลวงพระบาง และรัฐบาลผสมฯ ปฏิบัติราชการที่เวียงจันทน์ ทำให้องค์กรทั้งสองแห่งปฏิบัติงานขนานกันไป โดยในด้านนโยบายคณะมนตรีผสมเป็นผู้กำหนด คณะบริหารเป็นผู้ดำเนินงานโดยมิได้มีความขัดแย้งกัน อีกทั้งเป็นการป้องกันการกลับมาชิงอำนาจของฝ่ายปะติกานสุดขัั้ว

บทบาทของ ท่านสุพานุวง ในฐานะประธานคณะมนตรีฯ สูงเด่นขึ้นอีก เกียรติภูมิของท่านในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาถูกกล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งจากประชาชนลาวเองและมวลชนผู้รักความเป็นธรรมทั่วโลก ควบคู่ไปกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการนำของท่าน พรรคประชาชนลาวซึ่งเป็นพรรคอภิวัฒน์ที่ได้แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนที่เวียดนาม, ลาว และเขมร ร่วมกันจัดตั้งขึ้นภายใต้การนำของประธานโฮจิมินห์

ในส่วนของเวียดนามก็มีชื่อว่า “พรรคลาวดง” (แปลว่า พรรคแรงงาน) กระทั่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม “พรรคประชาชนลาว” เองก็ได้เปลี่ยนชื่อจนมาถึงปัจจุบันว่า “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว”

หลังจากเข้าเป็นสมาชิกแห่งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ท่านก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาชนลาวตามที่ได้แยกตัวออกมา ท่านสุพานุวงได้ยกระดับจิตสำนึกทางการเมือง มีการศึกษาแนวทางแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน เพื่อนำมาประยุกต์สู่สภาพของลาว และท่านก็เป็นสมาชิกประจำแห่งศูนย์กลางพรรคฯ ซึ่งก็คือสมาชิกประจำแห่งกรมการเมืองของพรรคฯ ที่คนไทยบางส่วนเรียกว่า “โปลิตบิวโร” (Political Bureau)

ในช่วงแรกของการต่อสู้กับพวกฝ่ายขวาลาวนั้น พรรคประชาชนลาวมิได้มีการเปิดเผยตัวมาก มีแต่ขบวนการแนวลาวรักชาติซึ่งท่านสุพานุวงเป็นประธาน และมีกองกำลังปเทดลาวเป็นกองกำลังติดอาวุธ จึงทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านสูงเด่นกว่าสหายอื่นๆ แห่งพรรคประชาชนลาว ถึงกับฝ่ายตะวันตกให้ฉายาท่านว่า “เจ้าชายแดง”

 

เจ้าสุพานุวงเยี่ยมให้กำลังใจหน่วยผลิตอาวุธในถ้ำ
เจ้าสุพานุวงเยี่ยมให้กำลังใจหน่วยผลิตอาวุธในถ้ำ

 

กรณีไม่เปิดเผยตัว สหายไกสอน พมวิหาน เลขาธิการพรรคประชาชนลาว ผู้รับผิดชอบและผู้นำสูงสุดของพรรคฯ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นตัวจักรสำคัญในการก่อสร้างพรรคฯ จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ “ลาดซะวง” นำการปลดปล่อยแขวงหัวพันและแขวงพงสาลี กำหนดแนวนโยบาย ให้การศึกษาทางทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ ทำให้พรรคประชาชนลาวเป็นพรรคมาร์กซ์-เลนินที่เข้มแข็ง ก็เพราะพรรคฯ มีความเห็นว่า  ท่านสุพานุวง เหมาะสมเผชิญหน้ากับศัตรูในทุกรูปแบบ

ส่วน สหายไกสอน ต้องเป็นหลักปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตปลดปล่อย ทั้ง สหายสุพานุวง และ สหายไกสอน มีความสัมพันธ์สนิทสนมกันเป็นอย่างดี เพราะมีความเข้าใจดีว่าต่างก็ทำงานเพื่อรับใช้ชาติและประชาชนมาด้วยกัน การยกย่องบุคคลหนึ่งขึ้นเหนืออีกคนหนึ่งจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นับว่าผิดอย่างยิ่งและไม่ตรงกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง

การออกมติพรรคตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา อันเป็นระยะเวลาเริ่มต้นของการก้าวสู่ชัยชนะในการปลดปล่อยประเทศ สหายนำแห่งศูนย์กลางพรรคฯ โดยเฉพาะสหายสุพานุวง, สหายไกสอน, สหายหนูฮัก, สหายพูมี ฯลฯ ต่างร่วมกันมีมติต่อเนื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศ อันเป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่ความสำเร็จ และจะเห็นได้ว่าแกนนำพรรคฯ มีความสามัคดีเหนียวแน่นอยู่ในหลักการ อันอาจหาได้ยากในบรรดาพรรคการเมืองของหลายประเทศ

 

พิธีเซ็นสัญญาเวียงจันทน์ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973
พิธีเซ็นสัญญาเวียงจันทน์ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1973

 

ท่านพูมี วงวิจิด กลับคืนเวียงไชยและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากประธานสุพานุวง หลังเซ็นสัญญาเวียงจันทน์
ท่านพูมี วงวิจิด กลับคืนเวียงไชยและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากประธานสุพานุวง หลังเซ็นสัญญาเวียงจันทน์

 

มติของพรรคฯ ช่วงปี ค.ศ. 1972 - 1974 ได้ใช้การเมืองนำการทหาร ทั้งนี้ เนื่องจากการสู้รบกับฝ่ายขวาได้ลดน้อยลง จักรวรรดินิยมอเมริกากำลังพ่ายแพ้ในเวียดนาม และเตรียมถอนกำลังกลับ ปล่อยให้ฝ่ายขวาเวียดนามสู้รบไปเอง ในลาวก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน การใช้การเมืองนำหน้าการทหารจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินงานทางการเมืองที่ก้าวหน้า การจัดเดินขบวนเปิดโปงการฉ้อราษฎร์บังหลวงและใช้อำนาจไม่เป็นธรรมของพวกปะติกานเป็นไปอย่างคึกคัก ควบคู่กัน กองกำลังปเทดลาวทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้ปกป้องมิให้พวกศัตรูใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชน ทำให้ประชาชนมีความกล้า และมั่นใจในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขยายวงออกไปทั่วประเทศ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :