ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

อากรเพื่อราษฎร : แนวคิดภาษีอากรที่เป็นธรรมของปรีดี พนมยงค์ [ตอนที่ 2]

19
เมษายน
2565
ภาพการประชุมของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 9 ​พ.ศ.​ 2481
ภาพการประชุมของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 9 ​พ.ศ.​ 2481

 

นับจาก พ.ศ. 2475 ที่มีการปรับปรุงภาษีอากรครั้งแรกตามข้อเสนอของ 'หลวงประดิษฐ์มนูธรรม' และ 'รัฐบาลคณะราษฎร' อีก 6 ปี ถัดมาได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 หรือ ร่างประมวลรัษฎากรฉบับแรกของสยาม ขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 โดยหลวงประดิษฐ์ฯ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง[1] ขณะนั้นแถลงต่อสภาฯ ว่า

“รัฐบาลขอเสนอร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร การที่ได้เสนอขึ้นมานี้ก็ได้แถลงไว้โดยละเอียดในเหตุผลนั้นแล้ว

เนื่องจากรัฐบาลได้รับรองต่อสภาฯ ว่าจะปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมต่อสังคมโดยเร็วและถ้าสามารถเป็นไปในสมัยประชุมนี้ก็จะนำมาเสนอ และบัดนี้ก็ได้ทำมาเสร็จแล้ว จึงได้นำมาเสนอท่านสมาชิกทั้งหลาย

และในการที่เสนอร่างพระราชบัญญัติฉะบับนี้นั้น รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่จะกระทำการร่วมมือกับท่านสมาชิก เพราะในทางภาษีอากรนั้น ถ้าหากว่า ทั้งทางรัฐบาลและสมาชิกได้ร่วมมือเป็นอย่างดีแล้ว เราก็จะได้รู้จุดความประสงค์ของราษฎรอย่างแท้จริง

ความจริงในการที่ได้เตรียมร่างขึ้นมานั้น ถึงแม้ว่าเป็นกฎหมายที่เรียกเก็บเงินก็จริงแต่ว่าเป็นกฎหมายที่อาศัยหลักที่ขอร้องความเสียสละของราษฎร…”

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้ ดิเรก ชัยนาม อ่านหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฯ แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 16 ข้อ มีหัวข้อสำคัญคือ “หลักการเพื่อปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม

...

ข้อ 1 หลักทั่วไป

เนื่องจากหลักการที่รัฐบาลได้แถลงไว้ว่าจะปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคมนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการพิจารณาและเห็นสมควรที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมาสู่สภาฯ ได้

ในการปรับปรุงภาษีอากรนั้น รัฐบาลได้ถือหลักโดยคำนึงถึงความสามารถในการเสียภาษีของราษฎรตามส่วนซึ่งราษฎรจะเสียได้ หลักเรื่องความแน่นอน หลักความสะดวก และหลักประหยัดค่าใช้จ่าย และคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนในทางการเมือง เป็นสิ่งประกอบการพิจารณาด้วยความรู้สึกของประชาชนนั้นมิใช่จะคำนึงถึงความรู้สึกของคนชั้นเดียว ได้พยายามนึกถึงความรู้สึกของคนทุกชั้น

สิ่งใดที่จะคิดเก็บภาษีก็เป็นไปในทำนองซึ่งหวังว่า ผู้ซึ่งสามารถเสียภาษีได้นั้น คงจะเสียสละเพื่อความเจริญของท้องที่และของประเทศชาติ…”[2]

และระบุภาษีอากรที่ยกเลิกและปรับปรุงใหม่ไว้ 2 ประเภท ได้แก่

ภาษีที่ยกเลิกไปเลย

  1. ภาษีเงินรัชชูปการ
  2. อากรค่านา
  3. อากรสวน
  4. ภาษีไร่อ้อย
  5. ภาษีไร่ยาสูบ

ภาษีที่ยกเลิกโดยปรับปรุงแก้ไขใหม่

  1. ภาษีเงินได้
  2. ภาษีการค้า
  3. ภาษีธนาคาร
  4. อากรแสตมป์

 

ใบเสร็จเงินรัชชูปการ พ.ศ. 2481
ใบเสร็จเงินรัชชูปการ พ.ศ. 2481

 

ส่วนภาษีอากรที่หลวงประดิษฐ์ฯ และผู้ร่วมร่างประมวลรัษฎากร เสนอขึ้นมาใหม่และให้ความสำคัญมี 2 ประเภทคือ เงินช่วยบำรุงท้องที่ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายอำนาจและการพัฒนาสู่ท้องถิ่น และ เงินช่วยการประถมศึกษา ที่มีเจตนาเพื่อจัดสวัสดิการการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง

ประเภทที่ 1 เงินช่วยบำรุงท้องที่ เป็นการกระจายภาษีสู่ท้องถิ่นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยได้ร่างเรื่องเงินช่วยบำรุงท้องที่ (Local Improvement Contribution) ขึ้นมาและจัดเป็นลักษณะในประมวลรัษฎากร ซึ่งรัฐบาลมองว่า เมื่อท้องถิ่นใดมีเงินบำรุงท้องที่ก็ย่อมจะจัดการสาธารณประโยชน์ภายในเขตการปกครองของตนเองได้ และเพื่อบำรุงความสุขให้แก่ผู้ที่ชำระเงินโดยตรง เช่น นำไปใช้ในการสร้างทาง และการสาธารณสุข เป็นต้น[3]

ประเภทที่ 2 เงินช่วยการประถมศึกษา จากปัญหาในทศวรรษ 2470 ที่มีเด็กยังไม่ได้เข้าโรงเรียนอีกประมาณ 700,000 คน ทำให้รัฐบาลมีเป้าหมายจะส่งเสริมให้เด็กได้เข้าเรียนสมกับเป็นพลเมืองของชาติ จึงขอความเสียสละจากผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว คนละ 50 สตางค์[4] นอกจากนั้น ได้มีการแบ่งหมวดภาษีอากรและค่าธรรมเนียมฝ่ายออกเป็น 7 หมวด ให้เป็นระบบและชัดเจนขึ้นด้วย[5]

ในการประชุมสภาฯ ครั้งนี้ หลวงประดิษฐ์ฯ เสนอถึงหัวใจของการจัดทำประมวลรัษฎากรด้วยอุปมาคมคาย และยึดโยงกับหลักการของรัฐธรรมนูญไว้ว่า

“ในการเสนอร่างพระราชบัญญัติขึ้นมานี้ก็เปรียบประดุจว่าข้าพเจ้าได้นำแผ่นกระดาษขาวแผ่นหนึ่งมายื่นให้ท่านทั้งหลาย เมื่อท่านเห็นว่าจะปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคมแล้ว การที่จะเป็นธรรมแก่สังคมอย่างไร ท่านก็ควรจะเขียนลงไปในแผ่นกระดาษขาวนั้น ข้าพเจ้ายอมทั้งหมด

ขอให้ในเรื่องนี้เราได้ทำด้วยความเป็นธรรมจริง ไม่ใช่ว่าเราปล่อยปละละเลยตามใจ หาแต่พระคุณอย่างเดียว มีบางสิ่งบางอย่างจะต้องทำให้ราษฎรได้รู้สึกถึงหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญรู้สึกถึงความเสียสละ ให้รู้สึกรักประเทศชาติด้วย…”

แล้วสรุปหลักทั้ง 16 ข้อ ว่าเป็นการเสนอในหลักการอย่างกว้างๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงระบบภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคมโดยเร็ว ส่วนการลงรายละเอียดที่ว่า อย่างใดเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมนั้นขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอความคิดเห็นแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ในชั้นกรรมาธิการ[6]

ในช่วงท้ายของการประชุมสภาฯ จึงเปิดให้เสนอรายชื่อเพื่อจัดตั้งกรรมาธิการจัดทำประมวลรัษฎากรขึ้น 36 คน[7]แบ่งเป็น 18 คน ที่มาจากการเสนอของรัฐบาล และอีก 18 คน มาจากการเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นประธานกรรมาธิการ หากการประชุมร่างพระราชบัญญัติฯ ครั้งถัดไปของกรรมาธิการชุดนี้จะเป็นการประชุมลับ

ข้อถกเถียงเรื่องพระราชบัญญัติฯ ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตย ย่อมต้องมีข้อถกเถียง ความคิดเห็นต่าง และเปิดกว้างต่อเสียงข้างน้อย ในกรณีของการร่างฯ ประมวลรัษฎากรที่เกิดขึ้นในสมัยประชาธิปไตยจึงมีการถกถามอย่างเข้มข้นและมีคำถามสำคัญ 2 ประการ

คำถามแรก ถ้าบุคคลไม่มีความสามารถในการเสียภาษีอากร หรือ มีรายได้ไม่เพียงพอจะทำเช่นไร

หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบคำถามประการแรกว่า

“หลักของรัฐบาลนั้นเหมือนหลักที่ท่านสมาชิกได้กล่าว…คือ รัฐบาลได้คำนึงถึงความสามารถของบุคคลที่จะเสียภาษีได้ ถ้าบุคคลใดไม่สามารถจะเสียภาษีได้แล้ว รัฐบาลก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร แม้แต่เงินช่วยบำรุงท้องที่ก็ตาม

...

และอีกประการหนึ่ง ที่ท่านอ้างถึงผู้หญิงต้องเสียเงินช่วยการประถมศึกษานั้น ข้าพเจ้าใช้คำว่า บรรลุนิติภาวะ…กล่าวเป็นคำกลางๆ ขอให้ท่านวินิจฉัยเมื่อท่านเห็นควรอย่างไรก็ขอให้ท่านเสนอญัตติมา

ส่วนพวกมั่งมีนั้น ในครั้งที่เสนอพระราชบัญญัติภาษีรถยนต์ ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่า เราจะคำนึงถึงคนจนแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เราต้องคำนึงถึงคนทุกๆ ชั้น…”

คำถามที่ 2 รัฐบาลจะหารายได้จากที่ใด มาชดเชยรายได้ที่ขาดไปจากการยกเลิกภาษีอากร

หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบคำถามนี้ว่า

ข้าพเจ้าหาทางอ้อม ซึ่งไม่ทำให้เดือดร้อนหรือว่าจะขึ้นค่าธรรมเนียมบ้าง แต่ค่าธรรมเนียมต่างๆ นั้น ก็ไม่กระทบถึงความสามารถของการเสียภาษีเลย ค่าธรรมเนียมที่จะขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่สามารถจะเสียได้ด้วยกันทั้งนั้น…”[8]

และมีการหารายได้มาชดเชยภาษีอากรที่ขาดไปด้วยการเก็บภาษีอากรทางอ้อม หรือเก็บภาษีอากรทางตรงใหม่ เช่น อากรมหรสพ เป็นต้น

ภายหลังการประชุมลับของคณะกรรมาธิการทั้ง 36 คน เสร็จสิ้นจึงนำร่างพระราชบัญญัติฯ ประมวลรัษฎากรมาแปรญัตติ และแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2481[9] ผลสะท้อนการทำงานหนักปรากฏผ่านปากคำประวัติศาสตร์ของหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าคณะกรรมาธิการทำงานกัน “หามรุ่ง หามค่ำ”[10] กว่าจะตรากฎหมายออกมาเป็นประมวลรัษฎากรฉบับแรก ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ในชื่อ พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481

 

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481

 

ราษฎรและราชการภายหลังการประกาศใช้ประมวลรัษฎากร

ขั้นตอนแรกในการดำเนินงานของรัฐบาลหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ ประมวลรัษฎากร คือ ขอหลักฐานการประกอบธุรกิจ ข้อมูลการทำงาน และรายชื่อของผู้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด[11]

สำนักโฆษณาการเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปแสดงปาฐกถา เรื่อง นโยบายของรัฐบาล และประมวลรัษฎากรตามพื้นที่ห่างไกล เช่นไปยังคณะกรมการจังหวัดกาญจนบุรี[12] ส่วนในจังหวัดที่มีความพร้อมเช่น คณะกรมการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้จัดการอบรมข้าราชการให้เข้าใจในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรขึ้นเอง[13]หรือในจังหวัดปราจีนบุรี ก็มีการหารือข้อสงสัยเกี่ยวกับประมวลรัษฎากรฉบับนี้ เพื่อตอบข้อซักถามของราษฎรโดยข้าราชการประจำจังหวัด[14]

ในฝั่งราษฎรเมื่อพบความไม่ชอบธรรมทางภาษีอากรก็สามารถร้องเรียนต่อเทศบาล หรือหน่วยงานส่วนกลางได้ เช่น กรณีที่ข้าราชการในจังหวัดลพบุรี เข้าดูมหรสพโดยไม่ยอมเสียค่าเข้าชม ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรจึงมีการร้องเรียนมายังรัฐบาล และหน่วยงานส่วนกลางคือ กระทรวงมหาดไทย[15]

และมีการจัดทำคู่มือประมวลรัษฎากรจำหน่ายในราคาย่อมเยาที่สืบเนื่องมาจากกระทู้ถามของพระยาศรีธรรมราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ต่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เรื่องการจัดทำคู่มือฯ ดังกล่าว และถามเรื่องการตั้งคณะกรรมการชำระข้อบกพร่องของประมวลรัษฎากร

หลวงประดิษฐ์ฯ ตอบกระทู้ถามนี้ว่า

1. การทำสมุดคู่มืออธิบายประมวลรัษฎากรนั้น รัฐบาลได้กระทำและได้แจกไปยังราษฎรทั่วถึงกันมาครั้งหนึ่งแล้ว และต่อไปนี้กำลังจะทำสมุดคู่มือที่จะจำหน่ายแก่ประชาชนด้วยราคาอันย่อมเยาและหวังว่าสมุดคู่มือนี้ คงจะเสร็จภายในโอกาสอันสมควร

2. การสะสางพิจารณาแก้ไขประมวลรัษฎากรนั้น จะต้องค่อยทำค่อยไป ตามข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏในทางปฏิบัติในเวลานี้กระทรวงการคลังได้มอบให้กรมสรรพากรเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ และได้เชิญผู้แทนกระทรวงทบวงต่างๆ พร้อมทั้งได้หารือองค์การสาธารณะในบางแห่งเพื่อรับฟังความเห็นในเรื่องนี้

และบัดนี้ ก็ได้รวบรวมข้อซึ่งควรจะแก้ไขประมวลรัษฎากรได้บ้างแล้ว จะนำมาเสนอสภาฯ  ในเร็ววันนี้ ส่วนในกาลต่อไป…”[16]

จากรายงานการประชุมสภาฯ ข้างต้น พบว่าการยกเลิกภาษีอากรที่ไม่เป็นธรรมดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม และตั้งอยู่บนฐานคิดเพื่อประโยชน์ของราษฎรเป็นหลัก และให้ราษฎรที่มีกำลังทรัพย์คำนึงถึงการเสียสละต่อชาติบ้านเมืองเป็นสำคัญ

เมื่อตัดภาพกลับมายังปัจจุบันยังมีงานวิจัยเศรษฐศาสตร์ชิ้นใหม่ที่ย้อนกลับไปศึกษาความสำคัญของประมวลรัษฎากรฉบับแรกของสยาม แล้วประมาณการความเหลื่อมล้ำจากการปฏิรูปภาษีอากรหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481 ไว้ว่า ช่วยให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำดีขึ้นแม้จะไม่มากนัก หากประมวลรัษฎากรฉบับนี้เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะยกเลิกทั้งภาษีรัชชูปการ อากรค่านา และภาษีที่ดินอื่นๆ และรัฐบาลยังขยายฐานการจัดเก็บภาษีมรดก[17]อีกด้วย

ท้ายที่สุด แนวคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์ ในการปรับปรุงระบบภาษีอากรจากการสถาปนาประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 นี้ มีพื้นฐานมาจากหลักเศรษฐวิทยาที่ให้ความสำคัญกับการมีชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษย์ภายใต้หลักเศรษฐกิจที่เป็นธรรมแก่ทุกชนทุกชั้น โดยที่ภาษีอากรต้องไม่รีดรัดราษฎรผู้ยากจน ซึ่งปรากฏแนวคิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจนี้ขึ้นครั้งแรกในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

 

ที่มาภาพ : ปรีดี พนมยงค์, คือวิญญาณเสรี, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541) และห้องวิจัยประวัติศาสตร์

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13  มีนาคม 2481, เล่ม 55, ตอน ง, หน้า 1-3.
  • ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติให้ใช้บัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481,  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2482, เล่ม 56 หน้า 1-4.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 942-1043.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1826-1933.
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2482 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 529-531.
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) ศธ. 15/2 กล่อง 1 เอกสารสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ส่งหลักฐานที่ผู้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 (8 เมษายน 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.5.16.12/31 กล่อง 1 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การหารือสงสัยเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร จังหวัดปราจีนบุรี (พ.ศ. 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.2.2.5/6 กล่อง 1 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดกาญจนบุรี รายงานการรับรองเจ้าหน้าที่แห่งสำนักงานโฆษณาซึ่งออกไปแสดงปาฐกถา เรื่อง นโยบายของรัฐบาล และประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.1.1/1301 กล่อง 36 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ข้าราชการในจังหวัดลพบุรี เข้าดูมหรสพโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)
  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 2.2.5/93 กล่อง 4 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานการอบรมข้าราชการให้เข้าใจในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)

หนังสือภาษาอังกฤษ :

  • Akira, Suehiro, Capital Accumulation in Thailand 1855-1985, (Chiang Mai: Silkworm Book, 1996)

หนังสือภาษาไทย :

  • คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน, การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม, แปลโดย ซิม วีระไวทยะ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2525)
  • เจมส์ ซี. อินแกรม, การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970, แปลโดย ชูศรี มณีพฤกษ์ และเฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
  • ปรีดี พนมยงค์, คือวิญญาณเสรี, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541)
  • ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552)
  • ศราวุฒิ วิสาพรหม, เศรษฐกิจนอกกฎหมายกับความเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองไทย สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2, (มหาสารคาม : โครงการผลิตและเผยแพร่ตำราและผลงานวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2562)
  • สุริยานุวัตร, มหาอำมาตย์เอก พระยา, เศรษฐวิทยาชั้นต้น เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : โรงพิมพ์นิติสาส์น, 2474)
  • อภิชาต สถิตนิรามัย, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)

บทความในหนังสือและวารสาร :

  • ปรีดี พนมยงค์, “คำอธิบายเศรษฐวิทยา”, ใน นิติสาส์น 1:1, (พระนคร: นิติสาส์น, 2471), น. 50-66.
  • ปรีดี พนมยงค์, “การเรียนกฏหมายในประเทศฝรั่งเศสโดยย่อฯ”, ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และเพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ ชีวิต งาน และธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2529), น. 123-133.

วิทยานิพนธ์ :

  • ชวลิต วายุภักตร์, “การปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศไทย พ.ศ. 2475-2485,” (วิทยานิพนธ์เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2519)
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของการเปลี่ยนระบอบการปกครองสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2470-2480,” (อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2528)
  • ศราวุฒิ วิสาพรหม, “ประวัติศาสตร์สามัญชนในสังคมไทยสมัยแรกเริ่มรัฐประชาชาติ พ.ศ. 2475-2490,” (ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2557)
  • สมศักดิ์ มหาทรัพย์สกุล, “การเก็บเงินรัชชูปการและผลกระทบต่อสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ. 2444-2482,” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2534)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (8 พฤษภาคม 2563). ปรีดี พนมยงค์ กับธุรกิจโรงพิมพ์และหนังสือ “นิติสาส์น” สร้างแสงสว่างทางปัญญา. สืบค้นจาก https://thepeople.co/pridi-banomyong-and-his-printing-house/
  • เขมภัทร ทฤษฎิคุณ. (10 ตุลาคม 2563). ประมวลรัษฎากร: การปรับปรุงระบบภาษีอากรที่เป็นธรรม. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/10/450
  • วัลยา. (28 มีนาคม 2565). เอก (ราษฎร์) ราชในความใฝ่ฝัน และวิเทโศบายของปรีดี พนมยงค์ สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา. สืบค้นจาก https://www.pridi.or.th/th/content/2022/03/1030
  • ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล. (11 พฤษภาคม 2560). ปรีดี พนมยงค์ รัตนบุรุษสยาม. สืบค้นจาก https://www.the101.world/117-years-of-pridi-banomyong/
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (25 มิถุนายน 2564). สรุปประเด็นสำคัญจาก PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน”. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/06/746
  • สถาบันปรีดี พนมยงค์. (21 พฤศจิกายน 2563). 'โรงพิมพ์นิติสาส์น' สู่ 'บ้านพูนศุข'. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/11/508
  • อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ. (2 มิถุนายน 2563). ท่านปรีดีฯ กับการริเริ่มเสริมสร้างอำนาจทางการคลังของรัฐสภา. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/06/285
  • ห้องวิจัยประวัติศาสตร์. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/ห้องวิจัยประวัติศาสตร์-508693749269823

[1] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2481 จนถึงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ใน ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526), น. 25.

[2] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 946-948.

[3] เรื่องเดียวกัน, น. 950-952.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 956. ในการเสนอหลักการเรื่องเงินช่วยการประถมศึกษาครั้งแรก (ฉบับร่าง) ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 นี้ ระบุขอความเสียสละจากผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว 50 สตางค์ ต่อมาภายหลังเมื่อประกาศใช้จริง สภาฯ เห็นชอบให้เป็น 1 บาท

[5] หมวดที่ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป หมวดที่ 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมประเมิน หมวดที่ 3 ว่าด้วยภาษีเงินได้ หมวดที่ 4 ว่าด้วยภาษีโรงค้า หมวดที่ 5 ว่าด้วยภาษีการธนาคาร ฯลฯ หมวดที่ 6 ว่าด้วยอากรแสตมป์ และหมวดที่ 7 ว่าด้วยอากรมหรสพ ใน เรื่องเดียวกัน, น. 958.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 963.

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 13  มีนาคม 2481, เล่ม 55, ตอน ง, หน้า 1-3.

[8] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันอังคารที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 977-979.

[9] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพุธที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2481 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1826-1920.

[10] เรื่องเดียวกัน, น. 1929.

[11] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. (2) ศธ. 15/2 กล่อง 1 เอกสารสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้ส่งหลักฐานที่ผู้ที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 (8 เมษายน 2482)

[12] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.2.2.5/6 กล่อง 1 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดกาญจนบุรี รายงานการรับรองเจ้าหน้าที่แห่งสำนักงานโฆษณาซึ่งออกไปแสดงปาฐกถา เรื่อง นโยบายของรัฐบาล และประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)

[13] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 2.2.5/93 กล่อง 4 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คณะกรมการจังหวัดฉะเชิงเทรา รายงานการอบรมข้าราชการให้เข้าใจในบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)

[14] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท.5.16.12/31 กล่อง 1 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การหารือสงสัยเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร จังหวัดปราจีนบุรี (พ.ศ. 2482)

[15] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. มท 0201.1.1/1301 กล่อง 36 เอกสารกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ข้าราชการในจังหวัดลพบุรี เข้าดูมหรสพโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร (พ.ศ. 2482)

[16] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พุทธศักราช 2482 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 529-531.

[17] อภิชาต สถิตนิรามัย, ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564), น. 193-196.

 

อ่าน : อากรเพื่อราษฎร : แนวคิดภาษีอากรที่เป็นธรรมของปรีดี พนมยงค์ [ตอนที่ 1]