ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การอภิวัฒน์สยาม 2475 : “ข้อมูลใหม่” เรื่องความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการของคณะราษฎร (ตอนที่ 2)

21
มิถุนายน
2565
หลัก 6 ประการ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ทศวรรษ 2480
หลัก 6 ประการ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ทศวรรษ 2480

 

เนื่องในวาระครบ 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างคุณูปการให้แก่สังคมไทยไว้หลายประการ[1] ประการหนึ่งที่สำคัญยิ่งและมีการอ้างอิงถึงกันมาก คือ “หลัก 6 ประการ” แต่ยังไม่เคยมีการกล่าวถึงความคิดและที่มา บทความนี้จึงจะเล่าถึงความเป็นมาของหลัก 6 ประการ จาก บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ ที่นำเสนอข้อมูลใหม่ของคณะราษฎรไว้อย่างแยบยล ผ่านการอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองของปรีดี พนมยงค์ เพื่อโต้แย้งหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดิน ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของ ประยูร ภมรมนตรี

 

ความหมายของหลัก 6 ประการ

ความหมายของหลัก 6 ประการ นั้น ปรีดีนิยามไว้ว่า “คำประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็เป็นปฏิญญาแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญของสยาม” สะท้อนให้เห็นความสำคัญของหลัก 6 ประการ[2] ว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเขียนถึงความสำคัญของหลัก 6 ประการ ไว้ในปีแรกของการอภิวัฒน์ว่า

 

“เมื่อยังไม่มีการปกครองแบบรัฐสภาก็ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องมีคณะพรรค แต่นั่นไม่แปลว่า การปกครองของเราไม่ใช่แบบประชาธิปไตย…

จริงอยู่ คณะราษฎรมีใจเป็นนักเลง จึ่งแจ้งว่าจะมีคณะพรรคอื่นเกิดขึ้นมา ก็ไม่รังเกียจ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า หลัก 6 ประการของคณะราษฎร เป็นหลักกว้างพอ สำหรับที่จะเป็นหลักของประชาชน...ทั้งประชาชาติได้ดี...[3]

 

จะเห็นได้ว่ามีเพียงนิยามสั้นๆ เรื่องหลัก 6 ประการ หากยังไม่เคยมีการกล่าวถึงแนวคิดปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรเรื่องความเป็นมาของหลัก 6 ประการ อย่างแน่ชัดมาก่อนซึ่งการค้นพบข้อมูลใหม่นี้สำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ที่สนใจเรื่องราวของคณะราษฎร ซึ่งติดตามได้ในหัวข้อถัดไปนี้

 

ความเป็นมาของหลัก 6 ประการในบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์

 

ความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการ ในบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์ ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
ความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการ ในบันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์
ที่มา : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ท่าวาสุกรี

 

ความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรนี้ ปรีดีกล่าวถึงครั้งแรกในบันทึกประกอบคำประท้วงที่จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการฟ้องคดีหนังสือ ชีวิต 5 แผ่นดิน ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2518 ของประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเบื้องหลังแนวคิดของปรีดี คือการย้อนกลับไปวิเคราะห์การบริหารราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อศึกษาหลักและวิธีคิดทางการปกครองของชนชั้นจนนำมาสู่การเสนอหลัก 6 ประการ ร่วมกันกับคณะราษฎร ดังนี้

 

“[ความเป็นมาแห่งหลัก 6 ประการของคณะราษฎร] เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่ข้าพเจ้ากับเพื่อนอีก 6 คน รวมทั้ง ร.ท. ประยูร จะได้ก่อตั้ง คณะราษฎร ขึ้นที่กรุงปารีสในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 (ปฏิทินไทยในขณะนั้น ยังเป็น 2469) นั้น  เราได้ตกลงกันก่อนแล้ว ที่จะอุทิศชีวิต เพื่อรับใช้ปวงชนชาวสยามในการเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มาเป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เป็นประชาธิปไตย

เพื่อนหลายคนนั้นได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ค้นคว้าทางทฤษฎีและทางปฏิบัติเพื่อการนั้น ข้าพเจ้าจึงได้แจ้งให้เพื่อนทราบว่า  ในสมัยสมบูรณาฯ  สยามก่อนที่รัชกาลที่ 5 ทรงปรับปรุงราชการบริหารนั้น  ได้มี “จตุสดมภ์” (จตุ แปลว่า “4”, สดมภ์ แปลว่า “เสาหลัก”) หมายถึง “หลัก 4 เสา” ซึ่งค้ำจุนระบบสมบูรณาฯ สยามโบราณนั้น  คือ เวียง, วัง, คลัง, นา  ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศสที่มาเยือนกรุงศรีอยุธยานั้น แปลคำ “จตุสดมภ์” ว่า 4 Colonnes Royales

ข้าพเจ้าได้เสนอแก่เพื่อนหลายคนว่า  ในการที่เราเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ มาเป็นระบบประชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญฯ ประชาธิปไตยนั้น ปวงชนชาวสยามได้คืนสิทธิ์เป็นเจ้าของประเทศโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามระบบประชาธิปไตย ฉะนั้น เราควรมี “หลัก” (Colonnes) ที่ค้ำจุนปวงชนชาวสยาม...”

 

“หลัก” ในทรรศนะของปรีดีนั้นคำนึงถึงประโยชน์และความต้องการของประชาชนมาเป็นอันดับแรก

 

“...“หลัก” จะต้องช่วยกันพิจารณาว่ามีอะไรบ้างซึ่งเป็นความปรารถนาของประชาชนชาวสยาม…ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามระบอบประชาธิปไตย”

 

ท้ายที่สุด ปรีดีได้ให้เกียรติเพื่อนในคณะราษฎรว่าเป็นผู้ร่วมกันคิดหลัก 6 ประการขึ้น

 

“เมื่อเพื่อนหลายคน ช่วยกันคิดค้นแล้วจึงได้นำมาแสดงในที่ประชุมก่อตั้งคณะราษฎรตามวันดังกล่าว เมื่อได้อภิปรายกันแล้ว จึงเห็นพร้อมกันว่ามี “หลัก” สำคัญ 6 ประการคือ

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงมาก

3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะพยายามหางานให้ราษฎรทุกคนทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอกัน

5. จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร…”

 

คำปฏิญญานี้เป็นการยืนยันหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรที่ผู้ก่อตั้งคณะราษฎรได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่กรุงปารีส

 

ภาพของปรีดี พนมยงค์ และพระยาฤทธิอัคเนย์ ที่ตึกสาขาของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญประจำจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2479[4]
ภาพของปรีดี พนมยงค์ และพระยาฤทธิอัคเนย์
ที่ตึกสาขาของสมาคมคณะรัฐธรรมนูญประจำจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2479[4]

 

และปรีดียังได้เล่าถึงบันทึกของ พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของหลัก 6 ประการ และเหตุที่เข้าร่วมการอภิวัฒน์ 2475 ไว้ด้วยว่า

 

“เหตุที่ท่าน [พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์] ได้ตกลงใจเข้าร่วมกับคณะราษฎร ก็เพราะมีอุดมการณ์ต้องกัน กล่าวคือต้องการให้มีรัฐธรรมนูญปกครองให้ราษฎร...ได้มีสิทธิเสรีเท่าที่ควร...

หากเป็นเรื่องปรารถนาในความเจริญของชาติเพราะถ้ามีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ราษฎรย่อมมีสิทธิเสรี มีส่วนรู้เห็นในการดำเนินงานของรัฐ และคนที่สามารถย่อมมีโอกาสได้เข้ามาบริหารงานของรัฐ…จะนำให้มีการแก้ไข และปรับปรุงภาวะของบ้านเมืองให้ดีขึ้น อาทิ การศึกษาและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่สุดในบรรดาหลัก 6 ประการของคณะราษฎร...”

 

หลัก 6 ประการ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในทศวรรษ 2480
หลัก 6 ประการ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในทศวรรษ 2480

 

หลัก 6 ประการ เผยแพร่ครั้งแรกในประกาศคณะราษฎร และยังปรากฏทางด้านวัฒนธรรมในงานฉลองรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ระบอบรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน ปรีดีชี้ว่ามีหลัก 6 ประการ อยู่ในงานฉลองรัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2484

 

“ประชาชนไทยซึ่งเคยไปงานฉลองรัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงก่อนสงครามรุกรานจากญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2484  นั้น หลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันคงระลึกได้ว่าในงานนั้นได้มี “เสาหลัก 6 เสา” อันเป็นสัญลักษณ์แห่งหลัก 6 ประการของคณะราษฎร”[5]

 

ความเป็นมาของหลัก 6 ประการ ในบันทึกประกอบคำประท้วง สะท้อนแนวคิดอันแยบคายของปรีดี ที่ศึกษาหลักของระบอบใหม่จากวิธีการของระบอบเดิม การให้เกียรติเพื่อนที่ก่อตั้งคณะราษฎรว่าร่วมกันคิดและตัดสินใจ และแสดงถึงกุศโลบายทางวัฒนธรรมจากการเผยแพร่หลัก 6 ประการ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ[6]

 

ปรีดี พนมยงค์ กล่าวคำปฏิญาณหลัก 6 ประการ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ปรีดี พนมยงค์ กล่าวคำปฏิญาณหลัก 6 ประการ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1
เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475

 

ต่อมาหลัก 6 ประการ ได้กลายเป็นหลักสำคัญในการปกครองของรัฐบาลคณะราษฎร นับตั้งแต่ที่ปรีดี นำหลัก 6 ประการมาให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกกล่าวเป็นคำปฏิญาณ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475[7] และหลัก 6 ประการ ยังถูกนำมาประกาศในการเปิดประชุมสภาฯ และก่อนแถลงนโยบายของรัฐบาลระหว่าง พ.ศ. 2475-2490

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และต่อมามีรัฐบาลของควง อภัยวงศ์ ขึ้นมาบริหารประเทศ[8]ก็ไม่ปรากฏว่ามีการนำหลัก  6 ประการ มากล่าวถึงในสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป

 

ที่มาของภาพ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และห้องวิจัยประวัติศาสตร์

 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.)
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 1/2475 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1-14.

หนังสือภาษาอังกฤษ :

  • Arjun Subrahmanyan, Amnesia: a history of democratic idealism in modern Thailand, (NewYork: State University of New York,  2021)

หนังสือภาษาไทย :

  • กษิดิศ อนันทนาธร, บรรณาธิการ, ปรีดีบรรณานุสรณ์ 2565 : บางเรื่องเกี่ยวกับคณะราษฎร 2475, (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565)
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475, (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2553)
  • นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ๒๔๗๕ ราษฎรพลิกแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2564)
  • บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รัฐธรรมนูญสถาปนา : ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย, (กรุงเทพฯ: วิภาษาและสถาบันเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2549)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526)
  • ปรีดี พนมยงค์, คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน ความเป็นมาของศัพท์ไทย “ปฏิวัติ, รัฐประหาร, วิวัฒน์, อภิวัฒน์”, (กรุงเทพฯ มูลนิธิเด็ก, 2542)
  • ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2560). “งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร.” ศิลปวัฒนธรรม, 38(3) : 92-123.
  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย : การเมือง อำนาจ และทรงจำของคณะราษฎร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562)

วิทยานิพนธ์ :

  • ทิพวรรณ บุญทวี, “ความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ : ระยะเริ่มแรก (พ.ศ. 2443-2477),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2528)
  • สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร, “บทบาททางการเมืองของนายควง อภัยวงค์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึง 2491”, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2521)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

  • กษิดิศ อนันทนาธร. (6 มิถุนายน 2565). 6 เรื่องของคณะราษฎร ผ่านทัศนะของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://www.the101.world/6-story-siamese-revolution-pridi/
  • ปรีดี พนมยงค์. (22 กันยายน 2564). รัฐธรรมนูญเบื้องต้น. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/09/839 
  • อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (4 พฤษภาคม 2564). ล่องใต้ไปกับสองรัฐมนตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ พระยาฤทธิอัคเนย์. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2021/05/692

 


[1] กษิดิศ อนันทนาธร. (6 มิถุนายน 2565). 6 เรื่องของคณะราษฎร ผ่านทัศนะของปรีดี พนมยงค์. สืบค้นจาก https://www.the101.world/6-story-siamese-revolution-pridi/

[2] ปรีดี พนมยงค์. (22 กันยายน 2564). รัฐธรรมนูญเบื้องต้น. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2021/09/839  

[3] บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, รัฐธรรมนูญสถาปนา : ชีวิตและชะตากรรมของประชาธิปไตยในวัฒนธรรมไทย, (กรุงเทพฯ : วิภาษา และสถาบันเพื่อการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย, 2549),  หน้า 123.

[4] อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (4 พฤษภาคม 2564). ล่องใต้ไปกับสองรัฐมนตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ พระยาฤทธิอัคเนย์. สืบค้นจาก  https://pridi.or.th/th/content/2021/05/692

[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.), หน้า 37-38.

[6] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2560). “งานฉลองรัฐธรรมนูญ: มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร.” ศิลปวัฒนธรรม, 38(3): 92-123.

[7] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, บันทึกประกอบคำประท้วงของปรีดี พนมยงค์, (มปท., มปป.), หน้า 20. และ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) ครั้งที่ 1/2475 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 6-7.

[8] สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร, “บทบาททางการเมืองของนายควง อภัยวงค์ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ถึง 2491”, (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2521)