ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรจัดอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ ครั้งแรกสุด (ตอนที่ 1)

3
ตุลาคม
2565

สืบเนื่องจากรัฐบาลคณะราษฎรสมัย พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้มีการสำรวจสำมะโนครัวทั่วราชอาณาจักรและจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในปี พ.ศ. 2480 โดยจะใช้หลักการและวิธีการรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายขั้นตอน สอดคล้องกับกฎหมายพระราชบัญญัติการสำรวจสำมะโนครัว พ.ศ. 2479 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ที่เพิ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2479 

ยิ่งเฉพาะรายละเอียดว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของปี พ.ศ. 2480 (วันเลือกตั้งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน) อันถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ของไทยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น ย่อมแตกต่างจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกสุดเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ซึ่งอาศัยวิธีการแบบทางอ้อม 

กล่าวคือ รัฐบาลจะรับสมัครผู้แทนตำบล ประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกหน แต่สำหรับการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2480 จะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบทางตรง ประชาชนสามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ด้วยตนเอง

กระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นว่าเพื่อที่จะดำเนินการอย่างเรียบร้อยสมตามความประสงค์ของรัฐบาล จึงมอบหมายให้กรมมหาดไทยซึ่งรับผิดชอบดูแลด้านนี้ จัดการอบรมปลัดจังหวัดหรือนายอำเภอ โดยให้ทุกๆ จังหวัดส่งผู้มาร่วมอบรมจังหวัดละ 1 นาย ส่วนจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีให้ส่งนายอำเภอหรือผู้แทนมารับการอบรมทุกอำเภอ จุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อให้ผู้ที่มารับการอบรมกลับไปทำความเข้าใจแก่กรมการอำเภอและเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัดนั้นๆ นับเป็นการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งแรกสุดของเมืองไทยเลยทีเดียว

 

คำบรรยายการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ
คำบรรยายการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ

 

กรมมหาดไทยได้จัดการอบรมเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 จนสิ้นสุดลงวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480) รวมเวลา 12 วัน หยุดวันอาทิตย์ 1 วัน สถานที่อบรม คือ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ในการอบรมครั้งนี้ นอกเหนือจากการเน้นบรรยายเรื่องการสำรวจสำมะโนครัวและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ยังบรรยายความรู้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อีกหลายเรื่อง

กรรมการและอนุกรรมการของการจัดอบรม ประกอบด้วย

  1. พระยาสุนทรพิพิธ อธิบดีกรมมหาดไทย ประธานกรรมการ
  2. หลวงนรกิจบริหาร หัวหน้ากองพลำพัง กรรมการ
  3. หลวงประพันธ์ไพรัชชพากย์ หัวหน้ากองควบคุมเทศบาล กรรมการ
  4. นายทวี แรงขำ หัวหน้ากองทะเบียน กรรมการ
  5. นายชอบ ชัยประภา หัวหน้าแผนกสำมะโนครัว กองทะเบียน เลขานุการ
  6. ขุนสง่าบุรี ประจำแผนกสัตว์พาหนะ กองทะเบียน ผู้ช่วยเลขานุการ
  7. พระบรรณศาสน์สาทร ข้าหลวงตรวจการกรมมหาดไทย อนุกรรมการ
  8. หลวงอนุการนพกิจ ข้าหลวงตรวจการกรมมหาดไทย อนุกรรมการ
  9. หลวงอินทรรักษา ผู้ช่วยข้าหลวงตรวจการกรมมหาดไทย อนุกรรมการ
  10. นายถนอม วิบูลยมงคล ผู้ช่วยข้าหลวงตรวจการกรมมหาดไทย อนุกรรมการ
  11. นายประเสริฐ ธารีสวัสดิ์ หัวหน้าแผนกครอบครัว กองทะเบียน อนุกรรมการ

 

พระยาสุนทรพิพิธ
พระยาสุนทรพิพิธ

 

หลวงนรกิจบริหาร
หลวงนรกิจบริหาร

 

นายทวี แรงขำ
นายทวี แรงขำ

 

ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 94 คน เป็นปลัดจังหวัดและนายอำเภอแห่งจังหวัดชนบท 68 คน เป็นปลัดจังหวัด นายอำเภอ และผู้แทนแห่งจังหวัดพระนครและธนบุรี 26 คน ได้แก่

  1. นายประพันธ์ ณ พัทลุง นายอำเภอปากน้ำ จังหวัดกระบี่ 
  2. ขุนชาญธุรารักษ์ นายอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 
  3. ขุนกมลธุระราษฎร์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 
  4. หลวงศรีนครานุรักษ์ ปลัดจังหวัดขอนแก่น 
  5. ขุนอำนวยนิกรเกษม ปลัดจังหวัดขุขันธ์ 
  6. หลวงเดิมบางบริบาล ปลัดจังหวัดจันทบุรี 
  7. หลวงสรรค์ประศาสน์ ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา 
  8. ขุนไตรกิตยานุกูล ปลัดจังหวัดชลบุรี 
  9. ขุนปรีชาชนบาล ปลัดจังหวัดชัยนาท 
  10. ขุนเสลภูมิพิพัฒน์ นายอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ 
  11. ขุนสภาคประศาสน์ ปลัดจังหวัดชุมพร 
  12. หลวงศุภการบริรักษ์ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ 
  13. พระทวีประศาสน์ ปลัดจังหวัดเชียงราย 
  14. หลวงจันทรานนท์นัยวินิต ปลัดจังหวัดตรัง 
  15. นายแสวง ทิมทอง นายอำเภอบางพระ จังหวัดตราด 
  16. หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ นายอำเภอระแหง จังหวัดตาก 
  17. นายนวน มีชำนาญ ปลัดจังหวัดนครนายก 
  18. หลวงประสานประศาสน์ ปลัดจังหวัดนครปฐม 
  19. ขุนคำณวนวิจิตร์ ปลัดจังหวัดนครพนม 
  20. นายชื่น ไชยศิริ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา 
  21. พระกันทรารักษ์ ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช
  22. ขุนวรคุตต์คณารักษ์ ปลัดจังหวัดนครสวรรค์ 
  23. นายสุข ฉายาชวลิต ปลัดจังหวัดนนทบุรี 
  24. นายย้อย เปรมยิ่ง นายอำเภอยี่งอ จังหวัดนครศรีธรรมราช (ในหลักฐานน่าจะให้ข้อมูลผิด แท้แล้ว อำเภอยี่งอ อยู่ที่จังหวัดนราธิวาส) 
  25. นายผล แพงศร ปลัดจังหวัดน่าน 
  26. ขุนสุนทรเขตต์พิทักษ์ นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 
  27. ขุนสวัสดิ์ราษฎร์บริหาร ปลัดจังหวัดปทุมธานี 
  28. หลวงอนันต์ธุรการ นายอำเภอเกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 
  29. ขุนจารุวรพันธ์ ปลัดจังหวัดปราจีนบุรี
  30. หลวงคเชนทรามาตย์ ปลัดจังหวัดปัตตานี 
  31. หลวงเกษมประศาสน์ ปลัดจังหวัดพระนคร 
  32. หลวงอักษรศาสตร์สมบูรณ์ นายอำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร 
  33. พระพิเนตรสุขประชา นายอำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร 
  34. ขุนพิทักษ์ทะเบียนรัฐ นายอำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร 
  35. ขุนสำราญราษฎรบริรักษ์ นายอำเภอบ้านทะวาย จังหวัดพระนคร 
  36. นายสร่าง แต่งประณีต นายอำเภอป้อมปราบสัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร 
  37. นายอาจ ธูปถมพงศ์ นายอำเภอนางเลิ้ง จังหวัดพระนคร 
  38. นายเพิ่ม ศราทธทัต นายอำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร 
  39. นายครอง ทินบาล นายอำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร 
  40. นายบู๊ อุชชิน นายอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร 
  41. นายทองคำ บุษบรรณ์ นายอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร 
  42. ขุนสมานธุระชน นายอำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร 
  43. ขุนบวรประชานันท์ นายอำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร 
  44. นายหิรัญ สุวรรณรังสี นายอำเภอหนองจอก จังหวัดพระนคร 
  45. ขุนลักษณ์วิจารณ์ นายอำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร 
  46. ขุนกิจทวยพิทักษ์ นายอำเภอผู้ช่วยอำเภอบางซื่อ จังหวัดพระนคร 
  47. นายแฉล้ม ม่วงมากผล ปลัดอำเภอบางยี่เรือ จังหวัดธนบุรี 
  48. ขุนวลีฐะเบียนรัฐ นายอำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี 
  49. นายสว่าง พรมปฏิมา นายอำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี 
  50. ขุนวิจารณ์อักษรสิทธิ นายอำเภอราษฎรบูรณะ จังหวัดธนบุรี 
  51. นายสมุจย์ อมาตยกุล ปลัดอำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี 
  52. นายจันทร์ มหาศร นายอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี 
  53. นายเกื้อ คงโคภาส นายอำเภอผู้ช่วยอำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี 
  54. ขุนอาทรนรพรรค นายอำเภอผู้ช่วยอำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี 
  55. นายชุบ ณ นคร ปลัดอำเภอบุคคโล จังหวัดธนบุรี 
  56. นายวรรณ สว่างการ นายอำเภอผู้ช่วยอำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี 
  57. ขุนพิเศษนครกิจ ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
  58. ขุนวิจารณ์บรรณกิจ ปลัดจังหวัดพังงา 
  59. ขุนนราทรสุขกิจ นายอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 
  60. นายศิริ วรนาถ ปลัดจังหวัดพิจิตร
  61. ขุนผดุงแดนสวรรค์ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก 
  62. ขุนจรุงราษฎร์จำเริญสุข ปลัดจังหวัดเพ็ชรบูรณ์ 
  63. ขุนอารีประชารักษ์ ปลัดจังหวัดเพ็ชรบุรี 
  64. ขุนสนิทประชาราษฎร์ ปลัดจังหวัดแพร่ 
  65. หลวงเรืองฤทธิรักษาราษฎร์ ปลัดจังหวัดภูเก็ต 
  66. ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์ ปลัดจังหวัดมหาสารคาม 
  67. นายเปลี่ยน สิทธิเวช ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน 
  68. นายปรง พะหูชนม์ นายอำเภอสะเตง จังหวัดยะลา 
  69. ขุนระนองธานี นายอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง 
  70. ขุนองคราษฎร์บำรุง นายอำเภอท่าประดู่ จังหวัดระยอง 
  71. หลวงคงคณานุการ ปลัดจังหวัดร้อยเอ็ด 
  72. หลวงนิคมคณารักษ์ ปลัดจังหวัดราชบุรี 
  73. นายถนอม โฆษะโยธิน ปลัดจังหวัดลพบุรี 
  74. หลวงศรีนราศัย ปลัดจังหวัดลำปาง 
  75. หลวงสิทธิประศาสน์ นายอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน 
  76. หลวงพลานุกูล นายอำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย 
  77. นายเติม ศิลปี นายอำเภอธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร 
  78. หลวงสารักษรการ ปลัดจังหวัดสงขลา 
  79. ขุนราชฤทธิบริรักษ์ นายอำเภอมำบัง จังหวัดสตูล 
  80. ขุนนิพัทธ์พันธุมสุต ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ
  81. นายขำ ทูลศิริ นายอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 
  82. ขุนสรรพกิจโกศล ปลัดจังหวัดสมุทรสงคราม 
  83. ขุนระบือคดี นายอำเภอปากเพรียว จังหวัดสระบุรี 
  84. หม่อมเจ้าบุญฤทธิ เกษมสันต์ ปลัดจังหวัดสวรรคโลก 
  85. นายหลุย เคหนันท์ นายอำเภอบางพุทรา จังหวัดสิงห์บุรี 
  86. หลวงจรรยาประศาสน์ ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี 
  87. หลวงสุราษฎร์สารภิรมย์ ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี 
  88. ขุนบริรักษ์เกษมราษฎร์ นายอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ 
  89. หลวงวิจิตรนราภิบาล ปลัดจังหวัดหนองคาย 
  90. ขุนจรูญศักดิ์ประเสริฐ นายอำเภอบางแก้ว จังหวัดอ่างทอง 
  91. ขุนสาทกคดี ปลัดจังหวัดอุดรธานี 
  92. ขุนระดับคดี ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ 
  93. หลวงประจำจันทเขตต์ ปลัดจังหวัดอุทัยธานี
  94. หลวงอุบลศักดิ์ประชาบาล ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี

การอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอเริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิด ความว่า

 

“ท่านทั้งหลาย 

การอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้จัดให้มีขึ้นในทำนองคล้ายคลึงกับการประชุมข้าหลวงประจำจังหวัดที่เคยได้จัดให้มีขึ้นแล้วนั้น ความจริงกระทรวงมหาดไทยมีความประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะให้มีการอบรมข้าราชการในสังกัดทุกชั้นทุกเหล่า เพื่อเพิ่มพูนสมรรถภาพในราชการให้เข้มแข็งอยู่เสมอ โดยเหตุที่การบริหารราชการในระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จักต้องกระทำด้วยความรอบรู้กอร์ปด้วยระเบียบแบบแผนอันละเอียดละออ 

ฉะนั้น การศึกษาอบรมให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญอันเหมาะสมแก่กาลสมัย จึ่งเป็นสิ่งต้องประสงค์ยิ่งสำหรับความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ และโดยฉะเพาะอย่างยิ่งสำหรับข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ก็ยิ่งมีความจำเป็นในเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพราะตำแหน่งราชการดั่งกล่าวแล้วเป็นตำแหน่งซึ่งต้องติดต่ออยู่กับราษฎรโดยใกล้ชิด เป็นตำแหน่งซึ่งมีความรับผิดชอบและภาระการงานในหน้าที่อยู่โดยกว้างขวาง 

ทั้งเป็นตำแหน่งซึ่งได้รับความมอบหมายและไว้วางใจจากรัฐบาลในฐานเป็นหัวหน้าราชการส่วนภูมิภาค เหตุนี้กระทรวงมหาดไทยจึ่งได้จัดให้มีการประชุมข้าหลวงประจำจังหวัดขึ้นรวม ๒ คราวมาแล้ว และจัดให้มีการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอขึ้นในปีนี้เป็นครั้งแรก 

ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังไม่สามารถที่จะจัดให้มีการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอได้โดยพร้อมเพรียงกัน เนื่องด้วยนายอำเภอทุกคนต่างมีราชการสำคัญที่จะต้องประจำกระทำอยู่ ณ ท้องที่เป็นอันมาก ถ้าจะเรียกมาอบรมในคราวเดียวกันทั้งหมดแล้ว ย่อมจะเกิดการเสียหายแก่ราชการและเสียค่าใช้จ่ายในงบประมาณแผ่นดินมิใช่น้อย ด้วยเหตุนี้จึ่งต้องให้จังหวัดต่างๆ คัดเลือกผู้แทนส่งเข้ามารับการอบรมจังหวัดละหนึ่งนาย

การอบรมในครั้งนี้มีเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษอยู่ ๒ เรื่อง คือเรื่องการสำรวจสำมะโนครัวและการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ซึ่งจะได้กระทำในปีหน้า การสำรวจสำมะโนครัวและจัดการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในคราวหน้านี้ มีหลักการและวิธีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายประการ 

ดั่งท่านคงจะได้เห็นแล้วจากพระราชบัญญัติการสำรวจสำมะโนครัว พุทธศักราช ๒๔๗๙ และพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ นั้น ซึ่งถ้าจะปล่อยให้ต่างจังหวัดต่างหารือมายังกระทรวงและกระทรวงตอบชี้แจงไปตามปกติแล้ว จะทำความเข้าใจให้ไม่แจ่มแจ้งพอ แล้วต่างจังหวัดก็ต่างปฏิบัติไปตามความเข้าใจและความคิดของตน ความไม่เป็นระเบียบอันถูกต้องสม่ำเสมอและการเสียหายก็จะเกิดขึ้นแก่ราชการ จึ่งได้จัดให้มีการอบรมเรื่องทั้งสองนี้เป็นพิเศษในคราวนี้ การที่จังหวัดได้เลือกสรรส่งท่านเข้ามารับการอบรมนี้ ย่อมแสดงว่าจังหวัดได้ให้เกียรติยศและความไว้วางใจในตัวท่านเป็นอย่างสูง 

กระทรวงมหาดไทยมั่นใจว่าท่านคงจะพยายามเป็นอย่างมากในอันที่จะตั้งใจรับการอบรมและนำความรู้ที่ได้รับนี้กลับไปอบรมทำความเข้าใจให้แก่กรมการอำเภอและเจ้าหน้าที่ในจังหวัดของท่านให้เกิดประโยชน์สูงด้วยความมุ่งหมายของทางราชการทุกประการ 

ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีในการที่พวกท่านได้เดินทางมาถึงแล้วด้วยสวัสดิภาพ และขออวยพรให้ท่านจงเจริญด้วยจตุรพิธพรกอร์ปด้วยปฏิภาณคุณสารสมบัติเพื่อที่จะได้ช่วยกันดำเนินการอบรมนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

อนึ่ง ข้าพเจ้าขอขอบคุณท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กับเจ้าหน้าที่ที่ได้เอื้อเฟื้อให้ยืมสถานที่และอำนวยความสะดวกในการอบรมนี้เป็นอย่างดี กับขอแสดงความขอบใจท่านผู้ให้การอบรมตลอดจนผู้ที่ได้มีส่วนช่วยเหลืออย่างใดๆในการอบรมนี้โดยทั่วกัน

ข้าพเจ้าขอเปิดการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ ณ บัดนี้”

 

หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์

 

ในส่วนของเนื้อหาที่บรรยายนั้น ได้มีบุคคลผู้ทรงความรู้แต่ละด้านให้เกียรติมาบรรยาย ดังนี้

  • นายทวี แรงขำ หัวหน้ากองทะเบียน กรมมหาดไทย บรรยายเรื่อง “การสำรวจสำมะโนครัว”
  • หลวงนรกิจบริหาร (แดง กนิษฐสุต ) หัวหน้ากองพลำพัง กรมมหาดไทย บรรยายเรื่อง “เลือกตั้งผู้แทนราษฎร”
  • หลวงประพันธ์ไพรัชชพากย์ หัวหน้ากองควบคุมเทศบาล กรมมหาดไทย บรรยายเรื่อง “การเทศบาล”
  • ขุนวรกิจโกศล (ถวิล ระวังภัย) หัวหน้าแผนกในกองการต่างประเทศ กรมมหาดไทย บรรยายเรื่อง “สัญชาติและเชื้อชาติ”
  • นายบรรเจอด กาญจนนินทุ เจ้าหน้าที่แห่งสำนักงานโฆษณาการ บรรยายเรื่อง “สำนักงานโฆษณาการ”

ท่านอธิบดีกรมมหาดไทยคือ พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) ยังมาบรรยายด้วยตนเองเรื่อง “ลักษณะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง” โดยเริ่มบรรยายครั้งแรกวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ แล้วทยอยบรรยายต่ออีกหลายวัน ได้แก่ วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์, วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ และวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 

ความพิเศษสุดของการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งแรกอยู่ในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ นั่นเพราะ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้มาบรรยายด้วยตนเองเรื่อง “ข้อควรประพฤติของข้าราชการฝ่ายปกครอง”

ที่สำคัญ วันเดียวกันนี้ ยังมีการบรรยายจาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 

(โปรดติดตามต่อไปในตอนที่ 2)

 

เอกสารอ้างอิง

  • ชอบ ชัยประภา (ผู้รวบรวม). คำบรรยายการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2479
  • นรกิจอนุสรณ์. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ หลวงนรกิจบริหาร ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ. ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พุทธศักราช 2520. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง, 2520
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุนทรพิพิธ ม.ว.ม., ป.ช., ท.จ. (เชย สุนทรพิพิธ) ณ เมรุหน้าศาลาทักษิณาประดิษฐ์ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน 18 กันยายน 2516. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2516