ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรจัดอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ ครั้งแรกสุด (ตอนจบ)

16
ตุลาคม
2565

ดังเขียนเล่าไปแล้วใน เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรจัดอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งแรกสุด ตอน 1 ว่า ความพิเศษอย่างยิ่งของการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งแรกของเมืองไทย ซึ่งทางกรมมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ช่วงระหว่างวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ถึงวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 (นับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 นั่นคือ ในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ได้มีการบรรยายจาก หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ  นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ในหอประชุมที่จัดการอบรมท่ามกลางปลัดจังหวัด นายอำเภอ หรือผู้แทนจำนวน 94 คน คณะผู้จัดการอบรม และบุคคลอื่นๆ ที่สนใจร่วมเข้าฟังนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่า

 

“ท่านปลัดจังหวัดและนายอำเภอ

ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาทำความวิสาสะกับท่านในวันนี้ ที่มีความยินดีนั้น ข้าพเจ้ามีเหตุ ๒ ประการ ประการหนึ่ง ท่านทั้งหลายเป็นผู้ซึ่งได้อยู่ใกล้ชิดติดต่อกับราษฎร และจะเป็นผู้บริหารงานสำคัญของชาติ คืองานที่จะช่วยกันสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ระบอบรัฐธรรมนูญที่ได้สถิตอยู่ ณ ประเทศสยามนั้น ได้เริ่มก้าวขึ้นมาทีละขั้น 

ขั้นต้นก็คือการพระราชทานให้มีระบอบรัฐธรรมนูญขึ้น ขั้นที่ ๒ ได้มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยสมาชิกซึ่งแต่งตั้งขึ้นประเภทเดียว ขั้นที่ ๓ ได้มีสมาชิก ๒ ประเภท ประเภทที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งประเภทหนึ่ง และประเภทที่ราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง ระบอบรัฐธรรมนูญจะต้องก้าวขึ้นไปอีกหลายขั้น จึ่งจะไปถึงซึ่งความสมบูรณ์ได้ ขั้นต่อไป คือขั้นที่ ๔ นับว่าเป็นภาระของท่านคือ ขั้นที่จะให้สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้รับการเลือกตั้งมาจากราษฎรโดยตรง ไม่ผ่านทางผู้แทนตำบลเหมือนครั้งที่แล้วมา ขั้นนี้ นับว่าเป็นขั้นที่สำคัญอันหนึ่งในการที่จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ แม้ว่าท่านทั้งหลายจะมิได้มีส่วนในการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญในขั้นแรกก็ดี แต่ความสำเร็จในขั้นที่ ๔ ซึ่งท่านจะได้ช่วยกันกระทำนั้น นับว่าท่านทั้งหลายจะเป็นผู้ที่ได้ร่วมและมีส่วนในการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญนี้ด้วย”

 

จะเห็นว่า นายปรีดี ในฐานะมันสมองของคณะราษฎร ผู้กระทำการ “อภิวัฒน์” เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พยายามเน้นย้ำถึงเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 2 อันจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2480 ที่จะให้ “...สมาชิกประเภทที่ ๑ ได้รับการเลือกตั้งมาจากราษฎรโดยตรง ไม่ผ่านทางผู้แทนตำบลเหมือนครั้งที่แล้วมา” โดยถือเป็นภารกิจในการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะสำเร็จลุล่วงก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากปลัดจังหวัดและนายอำเภอที่เป็นผู้ใกล้ชิดกับราษฎร

ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยยังแจกแจงต่อไปอีกว่า

 

“เหตุที่ข้าพเจ้ามีความยินดีอีกประการหนึ่งก็คือ ในการอบรมคราวนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ให้เกียรติยศแก่มหาวิทยาลัย คือใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยนี้เป็นที่อบรม ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นปลัดจังหวัดและนายอำเภอย่อมเป็นนักธรรมศาสตร์และการเมือง เท่ากับท่านได้กลับมาสู่สถานศึกษาเก่าของท่าน ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าเป็นนักธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ได้กล่าวเป็นคำรวม 

ท่านทั้งหลายซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นี้ จะสำเร็จวิชารัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ หรืออบรมวิชารัฐศาสตร์มาโดยความชำนาญก็ดี ความรู้ที่ท่านได้มีนั้น ก็คือวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่เดิมมา การศึกษาในทางรัฐศาสตร์ แยกออกจากทางนิติศาสตร์ แต่ความจริงวิชาทั้งสองนี้ หาอาจที่จะแยกออกจากกันได้ไม่ ผู้ที่จะเป็นนักรัฐศาสตร์ก็จำต้องรู้ทางนิติศาสตร์ ผู้ที่จะเป็นนักนิติศาสตร์ก็จำต้องรู้ในทางรัฐศาสตร์ 

หลักสูตรของการศึกษาวิชารัฐศาสตร์เดิมได้บรรจุวิชากฎหมายไว้เป็นส่วนมาก และหลักสูตรการศึกษานิติศาสตร์ก็ได้บรรจุกฎหมายปกครองเข้าไว้ ในหลายประเทศ การศึกษาทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ได้รวมกัน เพราะเป็นการศึกษาวิชาในแนวเดียวกัน เมื่อทางหลักและทางตัวอย่างมีอยู่เช่นนั้นแล้ว จึ่งได้รวมการศึกษารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ขึ้นในประเทศสยาม และตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้น มหาวิทยาลัยนี้จึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สืบเนื่องมาจากคณะรัฐศาสตร์และโรงเรียนกฎหมายเดิมนั่นเอง”

 

แล้วนายปรีดีก็เข้าสู่ประเด็นที่มุ่งหมายจะให้ปลัดจังหวัดและนายอำเภอนำไปดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในแต่ละท้องที่ซึ่งพวกตนดูแล

 

“การบรรยายวันนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ท่านทั้งหลายได้รับการอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการสำรวจสำมะโนครัว การเลือกตั้ง การเทศบาล มาแล้วทั้งในทางหลักวิชาและในแนวปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ในชั่วเวลาอันเล็กน้อยซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสมาวิสาสะกับท่านนั้น จะขอถือโอกาสเน้นความสำคัญในเรื่องหลักวิชาและในทางปฏิบัติ

หลักวิชานั้น เป็นสิ่งซึ่งท่านอาจจะได้พบอยู่ในคำสอน หนังสือ หรือตำราต่างๆซึ่งท่านสามารถที่จะค้นได้ แต่การที่จะนำหลักวิชาไปใช้ให้ได้ผลอันเป็นทางปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นข้อที่ลำบากอย่างยิ่ง เพราะหลักวิชาย่อมกล่าวถึงหลักทั่วๆ ไปที่ใช้แก่ทุกๆ คน หรือจะกล่าวข้อยกเว้นก็เป็นข้อยกเว้นใหญ่ๆ แต่ว่านิสสัยใจคอของคน กาละและเทศะ เหล่านี้ย่อมเกี่ยวแก่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะวิชาที่ท่านได้รับการอบรมมานั้น เมื่อท่านลงมือปฏิบัติ ท่านอาจจะประสพความยากลำบากในเรื่องที่ราษฎรบางคนจะยังไม่เข้าใจและซาบซึ้ง 

ดังนี้ ก็จะเป็นเหตุให้มีผู้กล่าวไปได้ว่าระบอบรัฐธรรมนูญยังไม่ถึงกาลสมัย ข้าพเจ้าขอเตือนท่านว่า อย่าได้มีความท้อใจในเรื่องนี้ เพราะเหตุว่า ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า เรายังจะต้องก้าวขึ้นไปอีกหลายขั้น ระบอบรัฐธรรมนูญจึ่งจะสมบูรณ์ ถ้าจะไม่มีการตั้งต้นกันเสียทีเดียวแล้ว เมื่อไหร่เล่าเราจึ่งจะนับว่าถึงกาลสมัย กิจการทุกอย่าง ในการที่ตั้งต้น ย่อมจะต้องขลุกขลักบ้างเป็นธรรมดา แต่อาศัยความอุตสาหะของท่านทั้งหลายที่จะช่วยกันชี้แจงให้เข้าใจยิ่งขึ้น ไม่ช้าระบอบรัฐธรรมนูญของเราก็จะสมบูรณ์”

 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ตระหนักรู้ว่า ในหลายท้องที่ของเมืองไทยนั้น ข้าราชการ พ่อค้า รวมถึงราษฎรยังมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อรัฐบาลคณะราษฎรและระบอบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องที่คนโจษขานทำนองคณะราษฎรช่วงชิงอำนาจการบริหารปกครองมาจากพระมหากษัตริย์ จึงอธิบาย

 

“ข้าพเจ้ากล่าวแล้วว่า การนำระบอบรัฐธรรมนูญเข้ามาสู่สยามนั้น เป็นการสมแก่กาลสมัยอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าการปกครองโดยบุคคลคนเดียวถ้าหากบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ประเสริฐหาที่ติเตียนไม่ได้ ดั่งเช่นในสยามที่เคยได้มีพระมหากษัตริย์บางพระองค์บริหารราชการโดยพระองค์เดียว ก็อาจนำประเทศไปสู่ความเจริญได้ แต่การที่เราจะหาบุคคลคนเดียวให้ดีประเสริฐเช่นนั้น ไม่ใช่เป็นของที่ง่ายนัก ถ้าเพลี่ยงพล้ำลงไป ประเทศชาติก็จะสาบศูนย์ เราจึงควรหาทางที่ปลอดภัยที่สุด คือยึดเอาระบอบที่ให้ได้มีการปรึกษาหารือกันหลายๆ คน ในการที่จะบริหารกิจการของประเทศ 

อีกประการหนึ่ง ประเทศชาติไม่ใช่เป็นของบุคคลคนเดียวหรือหมู่เดียว เป็นของคนไทยทุกๆ คน ไม่ควรที่จะให้บุคคลคนเดียวนำบุคคลตั้ง ๑๒ ล้านและอาณาเขตต์เกือบ ๖ แสนตารางกิโลเมตรไปเสี่ยงเล่น ระบอบรัฐธรรมนูญจึงเป็นระบอบที่ปลอดภัยอย่างยิ่ง แม้ว่าขณะนี้กิจการจะยังเดินไปไม่ได้รวดเร็วก็ตาม แต่ความก้าวหน้าของกิจการก็ได้เป็นมามิใช่น้อย 

การปกครองด้วยคนคนเดียว ประดุจการเล่นการพะนันซึ่งมีทางล่มจมมากกว่าทางที่จะรวย ส่วนการปกครองตามระบอบธรรมนูญนั้น เป็นการปกครองอย่างสัมมาชีวะ ไม่โลดโผน แต่ทางเพลี่ยงพล้ำมีน้อยกว่าทางที่จะได้มา ข้าพเจ้าขอให้ท่านทั้งหลายซึ่งเปรียบประดุจเป็นครูของราษฎร ได้ช่วยแนะนำและสั่งสอนให้ราษฎรได้มีความเข้าใจในระบอบรัฐธรรมนูญซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้ว”

 

ก่อนจะทิ้งท้าย

 

“ข้าพเจ้าขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความสำเร็จในการเลือกตั้งก็ดี ความสำเร็จในการเทศบาลก็ดี หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ความสำเร็จในขั้นต่อไปที่จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญให้มั่นคงและสมบูรณ์ขึ้นนั้น อยู่ในมือของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล ขอให้ช่วยกันโดยเต็มกำลังที่จะปฏิบัติกิจการนั้นให้เป็นผลสำเร็จ จะเป็นคุณความดีที่ท่านได้ทำไว้ให้แก่ประเทศชาติและบุคคลรุ่นหลัง

ข้าพเจ้าขอจบคำบรรยายพร้อมด้วยขออวยพรให้ท่านปลัดจังหวัดและนายอำเภอที่ได้มีโอกาสเข้ามาอบรมคราวนี้ จงประสพแต่ความสุขความเจริญทุกประการ”

 

เนื่องจากจะปิดการอบรมในวันรุ่งขึ้น ค่ำคืนวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ทางกรมมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยจึงจะจัดงานเลี้ยงรับประทานอาหารให้กับบรรดาปลัดจังหวัด นายอำเภอ หรือผู้แทน กรรมการและอนุกรรมการของการจัดอบรม ผู้บรรยาย พร้อมคณะบุคคลอื่นๆ ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาเป็นประธานในพิธี

ระหว่างงานเลี้ยงรอบค่ำ พระยาสุนทรพิพิธ (เชย สุนทรพิพิธ) อธิบดีกรมมหาดไทยได้เรียนเสนอรายงานผลของการจัดอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งแรกสุดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สรุปว่า ตลอดการอบรมคราวนี้ ผู้รับการอบรมได้เข้าฟังตามวันเวลาแทบทุกคน ไม่ค่อยมีผู้ใดขาด ทว่ามีผู้ร่วมอบรมล้มป่วย 2 คน คือ นายเปลี่ยน สิทธิเวช ปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน ป่วยจนขาดการอบรม 1 วัน และ ขุนพิทักษ์ทะเบียนรัฐ นายอำเภอบางรัก จังหวัดพระนครมาเข้ารับการอบรมได้เพียง 2 วันแล้วเกิดอาการป่วย จึงให้นายอำเภอผู้ช่วยมารับการอบรมแทนตนจนครบถ้วน อีกทั้งเนื้อความตอนหนึ่งยังกล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองและนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย

 

“อนึ่ง จะเว้นกล่าวเสียมิได้ว่า การอบรมครั้งนี้ที่มีความสำเร็จเรียบร้อยตลอดมา ก็โดยได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่งจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง นับแต่การให้อาศัยสถานที่ การอุปการะในสิ่งอุปกรณ์ทั้งปวง ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ด้วยประการต่างๆ ดั่งพยานที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ ยิ่งกว่านั้นท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยยังได้กรุณามาให้การอบรม เป็นการเพิ่มความรู้อีกส่วนหนึ่ง และมีการเลี้ยงน้ำชาให้เป็นเกียรติยศอีกด้วย ซึ่งทังนี้ขอได้รับความขอบพระคุณเป็นอย่างสูง”

 

ในวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์อันเป็นวันสิ้นสุดการอบรม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีปิด ความว่า

 

“บัดนี้ การอบรมได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะกลับภูมิลำเนาเพื่อปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย ข้าพเจ้าขอกล่าวถ้อยคำเพื่อทำความเข้าใจกันไว้อีกสักเล็กน้อย

กิจการที่ท่านได้มารับการอบรมเป็นความสำคัญอย่างไร เราได้ทำความเข้าใจกันแล้ว โดยฉะเพาะข้อนี้ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านอีกครั้งหนึ่งก็คือ การอบรมซึ่งสำเร็จลงด้วยดีนั้น เป็นเพียงความสำเร็จขั้นต้น แต่ผลสำเร็จในขั้นปลายนั้นเป็นความสำคัญยิ่ง ซึ่งพวกเราทุกคนจะต้องตั้งใจพยายามปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปจงได้ คือทั้งการสำรวจสำมะโนครัวและการเลือกตั้ง เมื่อถึงคราวทำจริงกิจการนั้นๆ ได้สำเร็จเรียบร้อยไปด้วยดีแล้ว นั่นแหละจึ่งจะนับว่าเราได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผลสมบูรณ์ดั่งความปรารถนา

อนึ่ง โดยหน้าที่ของท่านนั้น ท่านจะต้องกลับไปอบรมบรรดาเจ้าหน้าที่ในส่วนจังหวัดของท่านอีก ฉะนั้น เมื่อท่านกลับไปถึงภูมิลำเนาแล้ว ก็จะต้องเตรียมการและจัดการอบรมให้เสร็จตามเวลาที่กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดไว้ และเพราะเหตุกิจการทั้งสองประการนี้ต้องใช้พนักงานเจ้าหน้าที่มากด้วยกัน ดั่งนั้นการอบรมจึ่งไม่ควรทำเฉพาะในวงกรมการอำเภอเท่านั้น 

กรมการจังหวัดและข้าราชการอื่นๆ ซึ่งจะต้องร่วมมือช่วยเหลือตามที่ได้กะกำหนดไว้นั้น ควรต้องได้รับการอบรมด้วยทั่วกัน เพื่อเป็นความรู้ไว้ปฏิบัติการได้ถูกต้องในเมื่อได้รับหน้าที่ และในข้อนี้ ทางกระทรวงมหาดไทยจะได้ทำความตกลงกับข้าราชการส่วนอื่นๆ ต่อไป เพื่อการร่วมมือกันด้วยความพร้อมเพรียง

อีกประการหนึ่ง เรื่องสำคัญที่จะต้องจัดการอบรมให้ถ้วนถี่ทั่วถึงก่อนก็คือ เรื่องการสำรวจสำมะโนครัวเพราะมีเวลาเหลืออยู่ที่จะถึงกำหนดต้องทำจริงอีก ๒ เดือนเศษเท่านั้น ในส่วนเรื่องการเลือกตั้ง นับว่ายังมีเวลาเหลืออีกมากหน่อย จึ่งขอแนะนำว่าการอบรมฉเพาะเรื่องหลังนี้ควรจะได้ทบทวนในเมื่อใกล้เวลากำหนดอีกด้วย เพราะถ้าอบรมเพียงครั้งเดียวในระยะเวลาอันไกลเช่นนี้ อาจจะมีการหลงลืมเลอะเลือนกันบ้างได้

อีกข้อหนึ่งที่สมควรจะเตือน ก็คือตามที่ได้เคยกล่าวแล้วว่า การที่ท่านได้รับเลือกให้เข้ามารับการอบรมก็ด้วยทางการไว้วางใจและเล็งเห็นในความสามารถของท่าน ฉะนั้น ท่านจะต้องรู้สึกมีความรับผิดชอบในหน้าที่และมีความอุตสาหะพยายามปฏิบัติให้สมความไว้วางใจและให้สมความพากพูมที่ได้รับในครั้งนี้อันจะเป็นเครื่องส่งเสริมคุณงามความดีของท่านต่อไปด้วย ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าท่านทั้งหลายคงจะได้ระลึกและพยายามบำเพ็ญเพื่อเกียรติยศชื่อเสียงของตนทุกๆ คน และถ้าการอบรม การปฏิบัติครั้งนี้ ได้บังเกิดเป็นผลแก่ท่านภายหน้าในทางราชการจะเป็นในทางหนึ่งทางใดก็ตามอันเป็นบำเหน็จความดีความชอบเช่นนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็จะมีความยินดีกับท่านด้วยเป็นอย่างมาก

ในที่สุดข้าพเจ้าขอปิดการอบรมเพียงเท่านี้ และขออวยพรให้ทุกๆ ท่านที่มารับการอบรม ขอได้ประสพผลในความสำเร็จ และกลับไปด้วยดี พร้อมทั้งมีความเจริญสุขสวัสดีทั่วกัน”

 

ภายหลังการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอสิ้นสุดลง ทางกรมมหาดไทยเล็งเห็นว่าคำบรรยายของแต่ละบุคคลผู้ทรงความรู้ตลอดช่วงการอบรมนั้น ย่อมเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและคนทั่วไปที่มีโอกาสได้อ่าน จึงมอบหมายให้ นายชอบ ชัยประภา หัวหน้าแผนกสำมะโนครัว กองทะเบียน ซึ่งรั้งตำแหน่งเลขานุการอบรมครั้งนี้ รวบรวมคำบรรยายทั้งหมดจัดพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือเล่ม

 

คำบรรยาย การอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ พ.ศ. 2479 (ครั้งแรก) ณ มธก. โดย ชอบ ชัยประภา เลขานุการกรรมการอบรมปลัดจังหวัดนายอำเภอ

 

เรื่องราวของการจัดอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอครั้งแรกสุดของเมืองไทย ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปลายปี พ.ศ. 2479 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ต้นปี พ.ศ. 2480 เพราะก่อนปี พ.ศ. 2484 เมืองไทยจะเริ่มวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน) ดูเหมือนยังไม่ค่อยเป็นที่รับทราบกันแพร่หลาย และไม่ค่อยปรากฏผู้หยิบยกมาศึกษาเท่าใดนัก นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้ผมจงใจจะเปิดเผยข้อมูลนี้สู่สายตาคุณผู้อ่าน 

 

เอกสารอ้างอิง

  • ชอบ ชัยประภา (ผู้รวบรวม). คำบรรยายการอบรมปลัดจังหวัดและนายอำเภอ พุทธศักราช ๒๔๗๙ ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2479
  • ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (๒๔๗๕-๒๕๑๗). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517