ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ทวี บุณยเกตุ กับ ปรีดี พนมยงค์​ ในการรักษาเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์

3
พฤศจิกายน
2565
นายทวี บุณยเกตุ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514)
นายทวี บุณยเกตุ
(10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514)

 

3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เป็นวันถึงแก่อสัญกรรมของ ทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีคนที่ 5 ของไทย บทบาททางการเมืองของทวีมีมากกว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 17 วันดังที่กล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย

ทวีมีบทบาทตั้งแต่ช่วงก่อการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 โดยมีฐานะเป็นสมาชิกประเภท ดี 1 คือ รุ่นแรกที่เข้าร่วมกับคณะราษฎรเมื่อครั้งยังศึกษาอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศส ทั้งร่วมคิด ร่วมชักชวนสมาชิกฯ ร่วมก่อการจนถึงร่วมรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญ

และผลงานที่น่าจดจำของทวี คือ เป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานสำคัญของขบวนการเสรีไทยซึ่งได้ทำงานใกล้ชิดกับ ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยภายในประเทศ กระทั่งหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ทวีก็ยังคงมีบทบาทพัฒนาประชาธิปไตยโดยร่วมผลักดันให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 เพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองเข้ามาบริหารงานในระบบรัฐสภาแทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ ความโดดเด่นของทวีคือการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ และประสานความร่วมมืออยู่เบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้า หากสิ่งสำคัญในทางอุดมคติคือ ทวีเป็นสมาชิกคณะราษฎรที่มั่นคงต่อการรักษาหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ไว้ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต[1]

 

สังเขปประวัติชีวิตและงานของทวี บุณยเกตุ

 

อนุสรณ์พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515
อนุสรณ์พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515

 

นายทวี บุณยเกตุ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447 ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นบุตรของ พระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) และ คุณหญิงรณชัยชาญยุทธ (ทับทิม บุณยเกตุ นามสกุลเดิมคือ ศรีเพ็ญ)

นายทวี บุณยเกตุ ได้รับการศึกษาเบื้องต้นในโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2456 ต่อมาได้ย้ายไปเป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนราชวิทยาลัย ช่วง พ.ศ. 2457-2460 กระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7

เมื่อสำเร็จการศึกษาในประเทศไทยแล้ว ทวีก็ได้เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ในระหว่าง พ.ศ. 2464-2466 โดยเริ่มแรกเข้าศึกษาที่ Ongar Grammar School (Essex) และ King’s College ประเทศอังกฤษ ต่อมา พ.ศ. 2466 ได้ย้ายไปศึกษาใน Ecole Superieure d’Agriculture et de Viticeelture d’Angers ประเทศฝรั่งเศส และเข้าศึกษาวิชากสิกรรม ใน Universitaire de l’ Guest ประเทศฝรั่งเศส จนสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2471

 

ทวี บุณยเกตุ ในวัยหนุ่ม
ทวี บุณยเกตุ ในวัยหนุ่ม

 

บทบาททางราชการของทวี บุณยเกตุ เริ่มต้นทันทีเมื่อเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส ใน พ.ศ. 2471 ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานบำรุงพันธุ์สัตว์ ชั้น 2 กรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ เพียงไม่นานใน พ.ศ. 2473 ได้เลื่อนขั้นเป็นพนักงานบำรุงพันธุ์สัตว์ ชั้น 1 ต่อมา พ.ศ. 2474 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการบำรุงพันธุ์สัตว์ อำเภอท่าพระ จังหวัดขอนแก่น และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าชั้น 1 กรมสหกรณ์ แล้ว พ.ศ. 2476 ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ สองปีถัดจากนั้นเมื่อ พ.ศ. 2478 เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมประมง

กระทั่งเริ่มต้นก้าวสู่ตำแหน่งทางการเมืองใน พ.ศ. 2482 โดยเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในปีเดียวกัน ถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2483 ทวีดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และใน พ.ศ. 2488 ทวีเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2[2]  ทวียังมีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่อง อาทิ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการในคณะรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์  และ พ.ศ. 2511 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ทวีสมรสกับอำภาศรี บุณยเกตุ ธิดาของพระยาวิทยาปรีชามาตย์ (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2476 มีบุตร-ธิดา ทั้งสิ้น 2 คน คือ วีระวัฒน์ บุณยเกตุ และภัทรฤดี บุณยเกตุ บั้นปลายชีวิตทวี บุณยเกตุ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เวลา 23.20 น. สิริรวมอายุ 67 ปี[3]

 

ทวี บุณยเกตุ กับ ปรีดี พนมยงค์​ ในการรักษาเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

ลายเซ็นในจดหมายราชการของปรีดี พนมยงค์ และทวี บุณยเกตุ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ลายเซ็นในจดหมายราชการของปรีดี พนมยงค์ และทวี บุณยเกตุ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ทวี บุณยเกตุ มีบทบาททางการเมืองในหน้าประวัติศาสตร์ไทย คือ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งเพียง 17 วัน ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพื่อประสานประโยชน์และรอเวลาให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้นๆ ของทวีนั้นกลับมีความสำคัญมากเพราะเป็นระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ และทวียังเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 กระทรวงใน 4 รัฐบาล ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลของควง อภัยวงศ์ รัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์

 

[จากซ้าย] ภาพทวี บุณยเกตุ ยืนคนแรกของแถวหน้าถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2488
[จากซ้าย] ภาพทวี บุณยเกตุ ยืนคนแรกของแถวหน้าถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2488

 

ส่วนบทบาทและภารกิจเพื่อชาติและราษฎรไทยของทวีที่ผู้เขียนจะหยิบยกมากล่าวถึง ณ ที่นี้คือ การรักษาเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์ ที่ได้ร่วมงานกับปรีดีและคณะราษฎร ได้แก่ ผลงานในสมัยคณะราษฎร และผลงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ผลงานในสมัยคณะราษฎร

 

การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นการเปลี่ยนระบอบการเมืองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญโดยทวี บุณยเกตุ ได้เข้าร่วมก่อการครั้งนี้กับคณะราษฎรตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังการอภิวัฒน์ทวีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลคณะราษฎร

จากบันทึกความทรงจำของทวี เล่าถึงก่อนการอภิวัฒน์ว่าทางนักเรียนนอกได้เกิดการตื่นตัวเรียกร้องความยุติธรรมจากความขัดแย้งระหว่างทูตไทยในฝรั่งเศสกับนักศึกษาที่ต่อมาได้นำไปสู่การจะเรียกตัวปรีดี พนมยงค์ กลับไทยแม้ปรีดีจะไม่ถูกเรียกตัวกลับแต่ความขัดแย้งในครั้งนี้ทำให้นักศึกษาไทยในยุโรปสนใจปัญหาสังคมการเมืองและชนชั้นจากความอยุติธรรมของฝ่ายบ้านเมืองประกอบกับการศึกษาในต่างประเทศทำให้ได้เห็นความเสมอภาค เสรีภาพ และสังคมที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

ทวีเล่าว่าตนได้ถูกชักชวนจากปรีดี พนมยงค์ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ และแนบ พหลโยธิน ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อการอภิวัฒน์ตั้งแต่ตอนที่ศึกษาในฝรั่งเศส โดยทวีสนิทสนมกับกลุ่มสมาชิกคณะราษฎรนี้โดยไปเที่ยวพักผ่อนด้วยกัน และขณะที่รอจะไปเรียนต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกานั้นทางแนบ พหลโยธิน  ประยูร ภมรมนตรี ได้ชวนทวีไปดื่มกาแฟที่ร้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในปารีส ทวีบันทึกไว้ว่า

 

“เมื่อเข้าไปในร้านนั้นก็พบกับนายปรีดี พนมยงค์ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ และนายทัศนัย มิตรภักดี จึงได้ร่วมสนทนาและกินกาแฟกัน เรื่องที่คุยกันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองตลอดเวลา ในที่สุด…ก็ถูกชักชวนให้เข้าร่วมทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่ง…ก็รับปากโดยทันทีโดยไม่ต้องตรึกตรอง…”

 

จากนั้นแนบ พหลโยธิน ก็ได้แนะนำและรับรองว่าทวี เป็นผู้มีอุดมคติสอดคล้องกันและเป็นผู้ที่เชื่อถือได้ ทุกคนจึงยินดีรับทวีเข้าเป็นสมาชิกคณะราษฎรและมีการกล่าวคำสาบานว่าจะต้องปฏิบัติตามอุดมคติ 10 ประการ ดังนี้

 

“1. ต้องให้มีพระเจ้าแผ่นดินตลอดไป
2. ต้องทำเพื่อประชาธิปไตย
3. ต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน
4. ต้องมีความเห็นอันเที่ยงตรง
5. ต้องทำเพื่อมุ่งจรรโลงประเทศให้ก้าวหน้า
6. ต้องไม่ทรยศต่อประเทศชาติ
7. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
8. ต้องไม่เย่อหยิ่งลืมตัว
9. ต้องมีความประพฤติดี
10. ต้องรักษาหน้าที่โดยเด็ดขาดและเที่ยงตรง”

*อุดมคติ 10 ประการนี้ มาจากบันทึกของนายทวี บุณยเกตุ โดยนายทวีบันทึกไว้ว่า เป็นอุดมคติของคณะราษฎร ช่วงแรกที่ให้หลักปฏิบัติแก่สมาชิกกลุ่มแรก ก่อนปี 2470 มิเกี่ยวข้องกับหลัก 6 ประการ อันเป็นนโยบายหลักที่ประกาศภายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475

ภารกิจสำคัญชิ้นแรกเมื่อทวีได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกฯ คือ ได้รับมอบหมายให้ศึกษาความคิดทางการเมืองของเรือโท สินธุ์ กมลนาวิน[4] ว่าเป็นอย่างไรและพอจะไว้ใจหรือชักชวนให้เข้าร่วมคณะราษฎรได้หรือไม่ โดยทวีใช้วิธีพาเรือโท สินธุ์ไปพักผ่อนและเดินทางร่วมกันที่ประเทศเยอรมนีกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์จนทวีสามารถชักชวนเรือโท สินธุ์ ให้เข้าร่วมกับคณะราษฎรได้สำเร็จด้วยการพูดคุยเรื่องลัทธิการปกครองแนวทางประชาธิปไตย และหลังจากทวีกลับมาไทยใน พ.ศ. 2471-2473 ยังชักชวนผู้เข้าร่วมคณะราษฎรได้อีกราว 10 คน เช่น จรูญ สืบแสง  วิลาศ โอสถานนท์ และเสงี่ยม สภานนท์ และคณะราษฎรยังเคยจัดประชุมฯ ที่บ้านของทวีเป็นครั้งคราวสลับกับบ้านของสมาชิกฯ ท่านอื่น

แม้ในช่วงเวลาใกล้จะถึงวันที่ 24 มิถุนายน ทวีต้องไปรับราชการอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่ก็ได้ให้ แนบ พหลโยธิน เป็นผู้แจ้งข่าวสารต่างๆ อยู่เป็นระยะ กระทั่งในช่วงการอภิวัฒน์ ทวีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมบุคคลสำคัญฝ่ายตรงข้าม โดยเมื่อถึงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ทวีได้รับมอบหมายให้ไปควบคุมตัว พระประยุทธอริยัน ผู้บัญชาการกองรถรบซึ่งมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีกำลังรบสูงคือ มีทั้งรถรบและรถเกราะ ถ้าไม่ควบคุมให้ดีอาจจะเกิดการนองเลือดและคณะราษฎรอาจทำการไม่สำเร็จได้[5] 

จากข้อมูลในบันทึกความทรงจำของทวีฉบับนี้แสดงให้เห็นบทบาทและการมีส่วนร่วมในการอภิวัฒน์สยาม ความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับผู้ก่อการท่านอื่นๆ อาทิ ปรีดี ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าที่เคยทราบกันในวงกว้างโดยเฉพาะในการชักชวนบุคคลต่างๆ ให้เข้ามาเป็นสมาชิกคณะราษฎรและร่วมสกัดบุคคลที่มีกำลังพลอานุภาพสูงไม่ให้เข้ามาปราบปรามในวันอภิวัฒน์

หลังจากนั้น คณะราษฎรได้มีการตั้งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายทวี บุณยเกตุ ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ทวี บุณยเกตุได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่สอง และในช่วง พ.ศ. 2485-2487  ทวีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีใน 4 กระทรวง

 

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งนายกรัฐมนตรี (นายทวี บุณยเกตุ) ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488
ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งนายกรัฐมนตรี (นายทวี บุณยเกตุ) ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488

 

ต่อมาเมื่อ ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. เดินทางกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นบุคคลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรไว้วางใจระหว่างนี้เองทาง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ประกาศแต่งตั้งให้ ทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งทวีได้แถลงนโยบายหลักต่อสภาผู้แทนราษฎรไว้ 4 ประการ ได้แก่

(1) ยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
(2) จะปฏิบัติตามพระบรมราชโองการประกาศสันติภาพ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488
(3) จะร่วมมือกับสหประชาชาติในทุกวิถีทาง และ
(4) รักษาความสงบเรียบร้อยภายใน

จากนโยบายฯ ของทวีเห็นได้ชัดว่ายังคงตั้งมั่นในหลักเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวทางของคณะราษฎร

 

ผลงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

สาเหตุที่ทำให้ทวีได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากประสบการณ์ในคณะรัฐมนตรีที่เชี่ยวชาญแล้วยังมีอีกหนึ่งเหตุผลคือเป็นที่ยอมรับในขบวนการเสรีไทยโดยในจดหมายส่วนตัวของปรีดี พนมยงค์ ถึง ศาสตราจารย์ วิจิตร ลุลิตานนท์ ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 ได้อธิบายเหตุผลที่ไม่เลือกควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 และเป็นสาเหตุที่ทวีได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ว่า

 

“...นายควง อภัยวงศ์นั้น…เป็นผู้ร่วมมือกับญี่ปุ่น ฉะนั้นเมื่อสัมพันธมิตรชนะแล้ว นายควงลาออกเราจึงไม่ควรสนับสนุนให้นายควง เป็นนายกรัฐมนตรี…”

 

ส่วนข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดปรีดีจึงไม่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนี้เสียเอง จากบทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ วิจิตร ลุลิตานนท์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 เปิดเผยว่า

 

“นายปรีดี พนมยงค์ มีความประสงค์จะให้มีผู้สามารถที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลายคน ไม่ต้องการให้ผู้ใดมาผูกขาดตำแหน่งนี้ และถ้าหากนายปรีดี จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียเอง ก็อาจจะเกรงข้อครหาที่ตนเองเป็นผู้นำคนหนึ่งในกลุ่มคณะราษฎรทำการล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[6]

 

บทบาทและผลงานของทวีในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 หรือการเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจาก พ.ศ. 2483-2486 ที่ทวีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในช่วงเวลาที่เกิดสงครามอินโดจีน และสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งไทยประสบปัญหาทั้งเศรษฐกิจและการเมืองทำให้ทวีในบทบาทของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องคอยประสานงานอย่างรอบด้าน กระทั่งต่อมาทวีเกิดความไม่ลงรอยกันกับจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ส่งผลให้ทวีไม่ได้รับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อตกอยู่ในห้วงยามสงครามทวีจึงได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยและถือเป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านฝ่ายอักษะและกองทัพญี่ปุ่นซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป.[7]

ทวีเรียกได้ว่าเป็นสมาชิกเสรีไทย ผู้ช่วยหมายเลข 1 ของปรีดี พนมยงค์[8] โดยบทบาทของทวีเพื่อชาติและราษฎรในขบวนการเสรีไทยนั้นเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นขึ้นบกในไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งปรีดีบันทึกเรื่องของทวีไว้ในหนังสือโมฆสงครามฯ ว่า

                              

“นายทวีเป็นผู้ส่งข่าวความเคลื่อนไหวของคณะรัฐมนตรี…”[9]

 

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488

 

หลังสงครามสิ้นสุดลงทวียังมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานให้การเจรจาข้อตกลงเป็นไปอย่างราบรื่นและให้การต้อนรับกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เดินทางเข้ามาสำรวจความเสียหายรวมถึงสานสัมพันธไมตรีให้ผ่านไปด้วยดี ท้ายที่สุดจากชีวประวัติและผลงานของทวีสะท้อนให้เห็นถึงอุดมคติและบทบาททางการเมืองของทวี บุณยเกตุ กับปรีดี พนมยงค์​ที่สอดรับตรงกันนับตั้งแต่หลักการแรกในการอภิวัฒน์สยามคือเพื่อชาติและราษฎรจนมาถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหลักการรักษาเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์

 

ภาพประกอบ : ราชกิจจานุเบกษา หนังสืออนุสรณ์งานศพทวี บุณยเกตุ คุณประวิตร สังข์มี และเพจเอื้ออารีย์สโตร์

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศตั้งนายกรัฐมนตรี (นายทวี บุณยเกตุ). ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488, น. 407-408.
  • ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี. ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2488, น. 1421.

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • อนุสรณ์พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. พระราชทานเพลิง ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (พระนคร : มปท., 2515)
  • อนุสรณ์ทวี บุณยเกตุ คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 8 มีนาคม พ.ศ. 2515, (พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2515)

 หนังสือ :

  • นรนิติ เศรษฐบุตร. เกิดมาเป็นนายก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554)
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558)
  • Ray, Jayanta Kumar, Portraits of Thai politics (New Delhi: Orient Longman, 1972)

บทความในวารสาร :

  • พีรยา มหากิตติคุณ. นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรี 17 วัน เพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย, ศิลปวัฒนธรรม (สิงหาคม 2561) : 122-145.

วิทยานิพนธ์ :

  • วิจิตร วิชัยสาร. รัฐบาลไทยสมัยนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี (31 สิงหาคม-16 กันยายน 2488). วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2516.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :


[1] อนุสรณ์พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. พระราชทานเพลิง ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (พระนคร: มปท., 2515) และพีรยา มหากิตติคุณ. นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรี 17 วัน เพื่อชาติ เพื่อประชาธิปไตย, ศิลปวัฒนธรรม (สิงหาคม 2561) : 122-124.

[2] ฐานข้อมูลบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ทวี บุณยเกตุ. เข้าถึงได้จาก http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p042.html

[3] อนุสรณ์พิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช.,ท.จ.ว.,ท.ม. พระราชทานเพลิง ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515. (พระนคร: มปท., 2515), ฐานข้อมูลบูรพาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ทวี บุณยเกตุ. เข้าถึงได้จาก http://archives.psd.ku.ac.th/kuout/p042.html, อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. ม.ป.ป. นายทวี บุณยเกตุ. ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นายทวี_บุณยเกตุ

[4] ตำแหน่ง ณ เวลานั้น

[5] วิจิตร วิชัยสาร. รัฐบาลไทยสมัยนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรี (31 สิงหาคม-16 กันยายน 2488). วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2516. น. 1-19.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 30-31.

[7] นรนิติ เศรษฐบุตร. เกิดมาเป็นนายก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554), น. 92-94. และอรรถสิทธิ์ พานแก้ว. ม.ป.ป. นายทวี บุณยเกตุ. ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงได้จาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=นายทวี_บุณยเกตุ

[8] กษิดิศ พรมรัตน์, (3 สิงหาคม 2563). ทวี บุณยเกตุ: เสรีไทย ผู้ช่วยหมายเลข 1 ของปรีดี พนมยงค์ จุดเชื่อมต่อ. ทวี บุณยเกตุ : เสรีไทย ผู้ช่วยหมายเลข 1 ของปรีดี พนมยงค์ | สถาบันปรีดี พนมยงค์ PRIDI BANOMYONG INSTITUTE : Pridi.or.th 

[9] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 284.