ถึงคราวที่ปลายต้องไปโรงเรียนอีกแล้ว ปลายเข้าเป็นนักเรียนประจำของโรงเรียนสตรีเป่ยจิ๊งหนิ่วอิ๊จ๊ง[1]
จากชื่อเด็กหญิงปลายมาเป็นชื่อ ปู้หวา ที่ครูจิ้นตั้งให้ กลัวว่าปลายจะไม่เข้าใจ ครูจิ้นหยิบตุ๊กตาผ้ามาให้ปลายดู
“ปู้หวา” สำเนียงปักกิ่งแท้ของครูจิ้นไพเราะชวนฟัง ปลายเองพอจะเดาออกว่า ครูจิ้นหมายถึงตุ๊กตาผ้า
“ปู้หวา” นิ้วเล็กอวบอูมของครูจิ้นชี้มาที่ปลาย “เด็กหญิงตุ๊กตาผ้า” คือชื่อใหม่ของปลาย
“ปู้หวา หนีเห่ามะ” ครูจิ้นเริ่มบทสนทนา สายตาลอดแว่นอันหนาเตอะมองมาที่ปลาย
ปลายฟังแล้วได้แต่สั่นหน้า “หนี” ไปไหน “เห่า” ทำไม ปู้หวาคนนี้ไม่หนี ไม่เห่าทั้งนั้น
เพียงแค่ถามว่า “สบายดีหรือ” ปลายก็ปฏิเสธแล้ว
การเรียนในชั่วโมงแรกเกือบต้องหยุดชะงัก ทำอย่างไรจึงจะให้ศิษย์จอมกวนคนนี้ใหความร่วมมือ ครูจิ้นสวมวิญญาณของครูที่ดีเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ครูจิ้นเขียนตัวเลขอารบิก 1,2,3 แล้วเปลี่ยนมาเขียนเป็นภาษาจีน จากนั้นให้ปลายใช้ปากกาหมึกซึมเขียนตาม ปลายค่อยๆ ลากเส้นจากซ้ายมาขวา จากบนลงล่าง น้ำหนักของการลากเส้นมาหยุดเอาขั้นตอนสุดท้าย เขียนไม่ยาก แต่จะเขียนให้สวยไม่ง่าย วันแรกปลายสอบผ่านการท่องเลข 1 ถึง 20 เป็นภาษาจีน
ปลายบอกไม่ได้ว่า ตัวเองเรียนรู้ภาษาจีนได้อย่างไร จากวันแรกที่ปลายอยู่หอพักนักเรียนประจำ เพื่อนๆ ร่วมหอพักกรูกันมาเยี่ยมห้องนอนเล็กๆ ที่ตั้งเตียงคู่ 2 ชั้น จนดูแคบไปในทันที เด็กสาวส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวยังกับนกกระจอกแตกรัง เสียงเรียก “ปู้หวา” ดังขรม “ฌื้อฟ่านละเหมยโหย่ว?” “สีปู้สีกว้าน?” ประโยคแรกปลายเข้าใจ “ฌื้อฟ่าน” เป็นคำแรกที่ปลายหัดพูดภาษาจีน พวกเขาถามว่า “กินข้าวหรือยัง” แต่ “สีปู้สีกว้าน” คำนี้สิทั้งผู้พูดผู้ฟังต่างก็ไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ จนอีกนานเท่าไหร่ปลายก็จำไม่ได้ ปลายจึงเข้าใจความหมายของคำนี้
ฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง อากาศหนาวเย็น 4-5 เดือน ตามบ้านเรือนติดตั้งเตาถ่านหินเพื่อความอบอุ่น หอพักที่ปลายอยู่ก็เช่นกัน กลางห้องนอนตั้งเตาถ่านหินไว้ ท่อสังกะสีต่อออกไปข้างนอกหน้าต่างเพื่อระบายควัน ระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ นักเรียนที่อยู่ห้องนอนเดียวกันผลัดกันเป็นเวรเติมถ่านและโกยขี้เถ้าทิ้ง ปลายได้เพื่อนรุ่นพี่ช่วยเป็นพี่เลี้ยง ในวันแรกๆ ปลายดูไปพลาง ทำไปพลาง ใช้คีมเหล็กคีบถ่านหินใส่ลงเตาทีละก้อน ค่อยๆ เขี่ยก้อนที่ติดไฟแล้วให้หงายขึ้น พลางใช้กระดาษแข็งโบกพัดไปมา ลูกไฟเล็กปะทุแตก ส่งเสียงเปรี๊ยะๆ ปลายใส่ก้อนถ่านหินลงไปอีกแล้วจึงปิดฝาเตา กว่าจะก่อไฟเสร็จทำเอาปลายเหงื่อท่วมตัว ปลายออกไปรองน้ำใส่กะละมัง ลมหนาวปะทะเต็มหน้า สะท้านทั่วกาย ปลายบรรจงวางกะละมังที่มีน้ำเต็มปริ่มบนเตาถ่านหิน ไอระเหยจากน้ำช่วยไม่ให้อากาศในห้องร้อนแห้งจนแสบคอ
เรื่องทำงานบ้านนั้นปลายถูกฝึกมาตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่บ้านคุณยาย นอกจากมีหน้าที่ตำหมากและอ่านหัวข่าวหนังสือพิมพ์ให้คุณยายฟังแล้ว คุณยายยังสอนให้ปลายกวาดบ้าน ถูพื้น
“ผ้าต้องบิดให้แห้งหมาด ไม่งั้นพื้นจะเปรอะเลอะเทอะ”
คลานเข่าเคลื่อนจากมุมหนึ่งมายังอีกมุมหนึ่งของระเบียงตึกบ้านเพชรฎา ผ้าในมือเช็ดถูจนพื้นหินอ่อนเป็นเงามัน น่าลงนอนเกลือกกลิ้งบนพื้นเย็นลื่นและสะอาด
ปลายเป็นเด็กกินง่ายนอนง่าย เด็กนักเรียนจีนกินอะไร ปลายก็กินอย่างนั้น อาหารพื้นเมืองปักกิ่งออกจะมันเลี่ยนและรสเค็มจัด ปลายชำเลืองดูเพื่อนๆ ใช้ตะเกียบคีบกับข้าวเข้าปากพลางกัดหมานโถ่ว[2] คำโต ปลายลองใช้ตะเกียบบ้าง ตะเกียบไม้ข้างหนึ่งวางทาบบนนิ้วนาง อีกข้างหนึ่งขั้นกลางระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลาง มีนิ้วหัวแม่มือกำกับอยู่ กระดกขึ้นลงก็แต่ไม้ข้างนี้เท่านั้น ปลายคีบหมานโถ่วสีขาวขึ้นมา แรงกดของตะเกียบเป็นรอยบุ๋มยาวบนแป้งหมานโถ่วที่อ่อนนุ่ม
บางครั้งแป้งสาลีขาดแคลน อั๊วอั๊วโถวที่ทำจากแป้งข้าวโพดก็ขึ้นโต๊ะแทน รูปทรงคล้ายลูกสาลี่สีเหลือง เมล็ดหยาบๆ ยิ่งเคี้ยวยิ่งมัน แต่ย่อยยาก เล่ากันว่าเมื่อพระนางฌื่อสี่หรือซูสีไทเฮา[3] ทรงหลบหนีจากพระราชวังหลวง เมื่อคราวกองทัพกบฏบ๊อกเซอร์[4] ประชิดกรุงปักกิ่ง พระนางได้ลิ้มรสอั๊วอั๊วโถวที่บ้านชาวนา แล้วทรงติดพระทัย ครั้นกลับมาพระราชวังหลวง ทรงบัญชาให้ต้นเครื่องทำอั๊วอั๊วโถวถวาย แต่ครั้งนี้พระองค์มิทรงรู้สึกหอมหวานแล้ว...
บางวันซื้อหมานโถ่วกับอั๊วอั๊วโถวมาหลายลูก ปลายเอามาฝานเป็นชิ้นบางๆ วางไว้บนเตาถ่านหิน ตื่นเช้าขึ้นมาหมานโถ่วกับอั๊วอั๊วโถวกลายเป็นขนมปังกรอบคล้ายบสกิต
“เห่าฌื้อจี๋เลอะ” อร่อยจริงนะ ปลายบอกกับเพื่อนๆ ปลายไม่ลืมม้วนลิ้นแบบชาวปักกิ่งเมื่อเปล่งเสียง “ฌื้อ” ที่มีความหมายว่า “กิน”
ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ปู้หวา,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 246-251.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว
- ตอนที่ 2 - เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า
- ตอนที่ 3 - ไปโรงเรียน
- ตอนที่ 4 - จุดหักเห
- ตอนที่ 5 - นกน้อยในกรงเหล็ก
- ตอนที่ 6 - สู่โลกกว้าง
- ตอนที่ 7 - ฉันเป็นชาวสยาม
- ตอนที่ 8 - การเดินทาง 15,000 กิโลเมตร
- ตอนที่ 9 - บ้านหลังใหม่
[1] โรงเรียนสตรีหมายเลข 1 แห่งปักกิ่ง หรือ Beijing Girls Middle School No. 1 ซึ่งเป็นการเลียนแบบการขนานนามโรงเรียนเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียต.
[2] ก้อนแป้งนึ่งที่ทำจากแป้งสาลี ชาวจีนทางภาคเหนือรับประทานเหมือนข้าวสวยหรือขนมปัง.
[3] พระนางฌื่อสี่ (Cíxǐ) หรือพระนางซูสีไทเฮา (พ.ศ. 2378-2451) พระสนมเอกจักรพรรดิเสียนเฟิง แห่งราชวงศ์ชิ้ง.
[4] กบฏบ๊อกเซอร์หรือกบฏยี่เหอถวน เป็นขบวนการชาวนาจีนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกองทหาร 8 มหาประเทศ ที่รุกรานประเทศจีนใน พ.ศ. 2443.