“Bonjour Madame” (สวัสดีคุณสุภาพสตรี) ปลายกล่าวสวัสดีเป็นภาษาฝรั่งเศสที่เพิ่งเรียนมา
แม่ให้ปลายเรียนภาษาฝรั่งเศสกับมาดามโรเช เธอรูปร่างสูงใหญ่ ผมสีทอง จมูกโด่งและงุ้ม เสื้อสูทผ้าสักหลาดสีแดงที่สวมใส่ ทำให้เธอดูทะมัดทะแมงและคล่องแคล่ว เมื่อนั่งเรียนใกล้ๆ จะได้กลิ่นหอมกรุ่นของน้ำหอมตามแบบฉบับของสตรีชาวฝรั่งเศส
กลางฤดูใบไม้ผลิ ต้นชาแตญ หรือ บ้างก็เรียกว่าต้นมารอนิเย่ ต้นไม้ตระกูลเดียวกับต้นเกาลัด ที่ผลัดใบในฤดูหนาว บัดนี้ปกคลุมด้วยใบสีเขียวอ่อนเต็มต้น สวนสาธารณะเล็กๆ มุมถนนจัดแต่งด้วยดอกไม้สีสดนานาชนิด มีบางชนิดคล้ายผีเสื้อ บางชนิดคล้ายกระดิ่ง ดอกไม้หลายชนิดปลายไม่เคยเห็นมาก่อน
มาดามโรเชพาปลายเที่ยวชมกรุงปารีส เดี๋ยวขึ้นรถเมล์ เดี๋ยวลงรถไฟใต้ดิน สวนสัตว์คือปลายทางที่คุณครูตั้งใจพามา
เสือลายพาดกลอนจากเบงกอลวิ่งรอบๆ กรงเหล็ก
“Le Tigre” มาดามโรเชตื่นเต้นปานเด็กน้อยที่ได้เห็นสัตว์ตัวโปรด
“เลอ ติเกรอะ” ปลายเลียนเสียงบ้าง แต่อดมีสำเนียงภาษาไทยเจือปนอยู่ไม่ได้
วันนั้นนอกจากปลายได้รู้จักสิงสาราสัตว์เพิ่มขึ้นอีกหลายชนิดแล้ว ปลายยังพูดภาษาฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอีกหลายคำ
ขากลับบ้าน มาดามโรเช แวะซื้อช่อดอกมูเก้ต์มอบให้แม่ปลาย ดอกสีขาวเล็ก คล้ายกระดิ่ง กระจุ๋มกระจิ๋ม จะออกดอกในช่วงปลายเดือนเมษายน ต้นเดือนพฤษภาคม ผู้คนจะมอบดอกมูเก้ต์ให้กับคนที่เคารพและนับถือในฤดูกาลดอกไม้ผลิมาเยือน
ปลายชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเรือนในกรุงปารีส ถนนเก่าแก่ปูลาดด้วยหินสกัดสี่เหลี่ยมที่ไม่ค่อยเรียบนัก เห็นร่องรอยของล้อรถม้าที่แล่นผ่านไปและก็แล่นผ่านมาหลายร้อยปี บนท้องถนนสะอาดไม่มีขยะมูลฝอย พนักงานเทศบาลเปิดน้ำริมฟุตปาธให้ไหลระบายอยู่เสมอ และคอยกวาดสิ่งปฏิกูล
ถนนใหญ่น้อยมักจะมีวงเวียนหรือจัตุรัสเป็นศูนย์กลาง โดยมีอนุสาวรีย์บุคคลในประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ประติมากรรมของศิลปินมีชื่อเสียงตั้งอยู่เด่นสง่า ถนนถูกตัดเป็น 4 สาย 6 สาย อย่างเช่นรอบๆ ประตูชัย ถนนแยกไปต่างทิศต่างทางเหมือนดวงดาว 12 แฉก
เทศบาลกรุงปารีส กำหนดให้สิ่งก่อสร้างในเมืองสูงไม่เกิน 4-5 ชั้น ภายนอกอาคารประดับด้วยปูนปั้นคลาสสิคแบบยุโรป ความงดงามของลวดลายอันประณีตเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละอาคาร ซึ่งแต่ละอาคารมีประตูเข้าออกทางเดียว คนเฝ้าประตูอาศัยอยู่ชั้นล่างสุด มีหน้าที่ปัดกวาดสถานที่สาธารณะภายในอาคาร นัยว่ายังทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้ทางการตำรวจอีกด้วย บันไดและลิฟต์กึ่งไม้ ข้างฝาเป็นกระจกใส บานประตูลิฟต์ทำด้วยซี่เหล็กเลื่อนเปิดเลื่อนปิดได้ นำผู้พักอาศัยเข้าไปยังบ้านพักแต่ละชั้น
... ... ...
ครอบครัวของมาดามชีรารด์ เจ้าของบ้านที่พี่สาวปลายเช่าห้องพัก มีห้องชุดอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารหลังหนึ่งริมถนนปาซซี่ (Rue de Passy) ริมแม่น้ำแซนที่ไหลผ่านกลางกรุงปารีส จากชั้น 2 มองเห็นหอไอเฟล[1] หอเหล็กสูง 320 เมตร มีน้ำหนักถึง 9,000 ตัน อันเป็นสัญลักษณ์ของวิศวกรรมล้ำยุคแห่งศตวรรษที่ 19
ห้องชุดของมาดามชีรารด์ใหญ่โตเกินเจ้าของบ้านสองแม่ลูกพำนัก ดังนั้นจึงมีห้องว่างให้เช่า แม่กับปลายได้เช่าห้องในอพาร์ตเมนต์นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้พี่สาวปลายก็เช่าอยู่ห้องหนึ่งแล้ว
การได้พักอยู่ในบ้านชาวฝรั่งเศส ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวฝรั่งเศส
สมาชิกครอบครัวมาดามชีรารด์ร่วมโต๊ะอาหารมื้อเย็นกับผู้เช่าห้องพัก มาดามชีรารด์ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านนั่งหัวโต๊ะ แม่ของปลายได้รับเกียรตินั่งด้านขวามือ ตามด้วยพี่สาวของปลาย และปลาย ส่วนผู้เช่าคนอื่นนั่งด้านซ้ายมือ ลดหลั่นเรียงตามอาวุโส สุดท้ายจึงเป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัวนี้
เนื้ออบหอมกลิ่นเครื่องเทศเพิ่งออกจากเตาอบร้อนๆ หั่นเป็นชิ้น ตามจำนวนผู้นั่งโต๊ะ มีมันฝรั่งอบเป็นเครื่องเคียง เริ่มเสิร์ฟให้แม่ของปลายก่อน จานเนื้ออบรูปรีส่งต่อๆ กัน กว่าจะถึงปลาย เนื้ออบสีแดงกึ่งสุกกึ่งดิบเหลือเพียง 2 ชิ้นไม่ใหญ่นัก ในฐานะผู้เช่า ปลายได้เสิร์ฟก่อนมาดามชีรารด์ เป็นธรรมเนียมที่จะเสิร์ฟเจ้าของบ้านท้ายสุด
มาดามชีรารด์ใช้ภาษาฝรั่งเศสที่เข้าใจง่ายๆ อธิบายให้ปลายฟังว่า คนฝรั่งเศสนิยมดื่มเหล้าองุ่นแดงกับอาหารประเภทเนื้อสีแดง เหล้าองุ่นขาวดื่มควบคู่กับปลาและอาหารทะเล ส่วนเหล้าองุ่นสีชมพูกลีบกุหลาบแช่เย็นรสละมุนดื่มคู่กับอาหารทุกประเภท ดังนั้น บนโต๊ะอาหารจะมีเหยือกแก้วใส่เหล้าองุ่นต่างชนิด แล้วแต่มื้อนั้นรับประทานเนื้อสัตว์ประเภทใด ซึ่งมิได้เจาะจง ว่าต้องเป็นเหล้าองุ่นยี่ห้อเลอเลิศราคาแพง คนฝรั่งเศสถือว่าจิบเหล้าองุ่นวันละเล็กน้อย จะทำให้เลือดลมไหลเวียน ทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยไม่ขัดหลักคำสอนในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จึงต่างจากศีล 5 ในพุทธศาสนาที่ห้ามเสพสุราเมรัย
เมื่อว่างเว้นจากการเรียนกับมาดามโรเช แม่จะพาปลายไปเดินชมร้านค้าแถวถนนรีโวลี่ (Rue de Rivoli) แม่เดินไปไกลแล้ว แต่ปลายยังอ้อยอิ่งอยู่กับร้านขายของเล่น ชุดคุณหมอตรวจไข้ซึ่งมี stethoscope หรือเครื่องฟังการเต้นของหัวใจจำลองขนาดเล็ก หม้อข้าวหม้อแกงพร้อมเตาอบ และถ้วยโถโอชามทำด้วยเครื่องเคลือบสีขาวน่าใช้ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาในชุดเสื้อผ้างามตา ล้วนสะดุดตาสะดุดใจปลาย ปลายอยากเป็น “คุณหมอ” อยากเล่น “ขายหม้อข้าวหม้อแกง” อยากเล่นเป็น “พี่เลี้ยงเด็ก” ...แต่ ...แต่ ...ปลายไม่เคยขอให้แม่ซื้อของเหล่านี้ให้ เพราะรู้ว่าครอบครัวมิได้ร่ำรวย ต้องประหยัดมัธยัสถ์ ที่มาเดินเล่นในปารีสได้ ก็ต้องให้เช่าบ้านสีลมที่กรุงเทพฯ
จากถนนรีโวลี่ เดินผ่านจัตุรัสกงกอร์เดอ (Place de la Concorde) สถานที่บั่นพระศอพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อองตัวแนต ด้วยเครื่องตัดศีรษะ ‘กีโยตีน’ เมื่อครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ ในประเทศฝรั่งเศสในปีพุทธศักราช 2332 (ค.ศ. 1789)[2] แม่ของปลายเดินเร็วมาก จนปลายต้องกึ่งเดินกึ่งวิ่งจึงจะตามทัน
เดินต่อไป ก็ถึงถนนฌอง-เซลิเซส์ (Avenue des Champs-Élysées) ถนนกว้างที่สุดในปารีส ในวันชาติฝรั่งเศสจะมีการเดินขบวนสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ที่ถนนสายนี้เป็นประจำทุกปี
สองฟากถนนฌอง-เซลิเซส์ มีร้านรวงขายเสื้อผ้าอาภรณ์หรู มีสำนักงาน โรงภาพยนตร์ และร้านกาแฟ...
บนทางเท้าริมถนนแห่งนี้ เจ้าของร้านกาแฟนำโต๊ะเก้าอี้มาวางไว้สำหรับต้อนรับลูกค้า บางคนนั่งจิบกาแฟดำเข้มข้นถ้วยเล็ก พลางอ่านหนังสือพิมพ์ บางคนสั่งแซนด์วิชขนมปังท่อนยาวไส้แฮม ละเลียดกินทีละน้อย บางคนหลับตาเคลิบเคลิ้มกับเสียงไวโอลินที่บรรเลงโดยวณิพก บางคนนั่งดูผู้คนที่เดินขวักไขว่ไปมา หนุ่มสาวบางคู่นั่งตระกองกอดกันอย่างไม่อายฟ้าดิน จังหวะชีวิตดำเนินไปอย่างไม่รีบร้อน สบายๆ นี่คือชีวิตของชาวปารีเซียงหรือชาวปารีส
ชาวเอเชียผิวเหลืองปะปนในมหาสมุทรของชาวผิวขาว และคนผิวดำที่มีจำนวนไม่น้อย มีอยู่ครั้งหนึ่งปลายถูกทักว่าเป็นชาวเวียดนาม ปลายรีบเถียง
“Non, je suis Siamoise” มีความหมายว่า “ไม่ใช่ (ฉันไม่ใช่คนเวียดนาม) ฉันเป็นชาวสยาม”
สมัยนั้นชาวฝรั่งเศสเรียกคนไทยว่า “ชาวสยาม”
ยุคที่ฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีนเป็นเมืองขึ้น มีชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งดูถูกและเหยียดหยามชาวผิวเหลือง ชอบทึกทักชาวเอเชียว่าเป็นคนในสังกัด
ปลายภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย ภูมิใจที่เป็นลูกหลานอิสรชนบนแหลมทอง “เฌอ ซุย เซียมัวสึ” เป็นประโยคภาษาฝรั่งเศสที่ติดปากปลายอยู่เสมอ
พี่สาวปลายอธิบายให้ฟังว่า อันที่จริงแล้ว คนฝรั่งเศสก็เป็นคนรักอิสระ เป็นเจ้าของคำขวัญ “เสรีภาพ ภราดรภาพ และเสมอภาค” วีรกรรมบุกคุกบาสตีย์ (La Bastille) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2332 จารึกเป็นเกียรติไว้ในประวัติศาสตร์จนกลายมาเป็นวันชาติฝรั่งเศสในปัจจุบัน
คืนวันที่ 14 กรกฎาคม มีงานรื่นเริงฉลองวันแห่งชัยชนะของราษฎรฝรั่งเศสในการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จัตุรัสหน้าศาลาเทศบาลกรุงปารีสประดับประดาด้วยธงราวหลากสี ดอกไม้ไฟระเบิดกลางท้องฟ้าสีมืด แตกกระจายเป็นลูกไฟสีธงชาติฝรั่งเศส น้ำเงิน ขาว และแดง ดวงน้อยใหญ่ ระยิบระยับ
ปลายมีโอกาสฉลองวันตรุษราษฎรด้วย ปลายเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คน คนเฒ่าคนแก่และหนุ่มสาวจับมือเต้นรำในจังหวะเพลงครึกครื้น เพลงแล้ว เพลงเล่า
หลังวันตรุษราษฎร 2 วัน ปลายมีอายุครบ 12 ขวบ ปลายเหมือนต้นหลิว กิ่งก้านลู่ไหวเมื่อต้องลม ไม่หักไม่งอ ต้นหลิวชนิดนี้ปลูกได้ทั้งในดินร่วนซุยและดินชุ่มชื้น ถ้ายิ่งปลูกไว้ริมน้ำ ต้นหลิวจะโน้มกิ่งลงไปหาผืนน้ำ ดูดซึมความชุ่มชื้น ลำต้นก็จะสูงขึ้นอีก
เสียงอึงมี่ของฝูงชนบนท้องถนน ปลายชะโงกหน้าต่างออกไปดู โอ้โฮ ผู้คนเยอะแยะเต็มไปหมด ไม่เพียงแต่มีผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็มี พ่อแม่บางคนเข็นรถลูกน้อยออกมาร่วมชุมนุมด้วย พี่สาวปลายบอกว่า ผู้คนประท้วงรัฐบาลอเมริกันที่ตัดสินประหารชีวิต Julius และ Ethel Rosenberg สองสามีภรรยานักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นจารชนให้สหภาพโซเวียต
“จะถูกนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าด้วย” พี่สาวปลายเสริม
ปลายลงไปซื้อหนังสือพิมพ์ให้แม่ เด็กสาวตาสีฟ้าคนหนึ่งรี่เข้ามาขอให้ปลายเซ็นชื่อประท้วงด้วย
“เขาสองคนบริสุทธิ์นะ แล้วยังมีลูกเล็กๆ อีก 2 คน” เด็กสาวคนนั้นบอกปลาย
ปลายเคยเซ็นชื่ออย่างนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ปลายจำได้ ครั้งนั้นพี่ชายคนโตบอกกับปลายว่า
“ใครรักสันติภาพ ใครไม่ต้องการสงคราม ก็ขอให้เซ็นชื่อด้วย”
พี่ของปลายบอกอีกว่า เปลวไฟแห่งสงครามในคาบสมุทรเกาหลีกำลังจะลุกลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 สงครามปรมาณูกำลังจะเกิดขึ้น บอกตามตรงว่า ปลายไม่ค่อยเข้าใจคำพูดของพี่นัก แต่ปลายรู้ว่าสงครามไม่ดีแน่ แม่ของปลายเล่าเสมอ เรื่องเมื่อเด็กๆ ปลายไม่มีนมผงกิน ปลายต้องหนีลูกระเบิดลงหลุมหลบภัย.....
ปลายเกลียดสงคราม
ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “ฉันเป็นชาวสยาม,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 228-235.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- ตอนที่ 1 - ปลายแถว
- ตอนที่ 2 - เด็กหญิงกล้วยน้ำว้า
- ตอนที่ 3 - ไปโรงเรียน
- ตอนที่ 4 - จุดหักเห
- ตอนที่ 5 - นกน้อยในกรงเหล็ก
- ตอนที่ 6 - สู่โลกกว้าง
[1] “หอไอเฟล” (la Tour Eiffel) สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์งานแสดงสินค้าโลกที่กรุงปารีส พ.ศ. 2432 ตั้งชื่อตาม Gustave Eiffel วิศวกรชาวฝรั่งเศส
[2] พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) ถูกปลงประชนม์เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2336 ส่วนพระนาง มารี อองตัวแนต (Marie Antoinette) ถูกปลงประชนม์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2336