ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ชีวิต-ครอบครัว

วาณีเล่าเรื่อง : วันวานในโลกกว้าง : “บ้านหลังใหม่” (ตอนที่ 9)

14
สิงหาคม
2566

 

ปลายไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้พบพ่อ 5 ปีกว่าแล้วที่ปลายรอคอยวันนี้ ปลายอยากอิงอกอันอบอุ่นของพ่อนานเท่านาน

“ไหน ให้พ่อดูหน่อยซิ ลูกพ่อสูงแค่ไหนแล้ว”

ควันขาวๆ พ่นออกมาจากปากพ่อ อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสถึง 30 องศา ลมหนาวจากไซบีเรียปะทะใบหน้าเหมือนดังคมมีดบาด ปลายจมูกพ่อช้ำแดง เกร็ดน้ำแข็งเกาะเหนือริมฝีปากทำให้หนวดพ่อเป็นสีดอกเลา

พ่อพาปลายขึ้นรถไฟต่อไปยังกรุงปักกิ่ง[1]

กำแพงเมืองสีเทา ก่อด้วยอิฐใหญ่สี่เหลี่ยม เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ รถยนต์แล่นไปช้าๆ บนถนนที่ตัดเป็นแนวตรง สักครู่ปลายแลเห็นสิ่งก่อสร้างหลังมหึมาตั้งอยู่ด้านเหนือของจัตุรัสกว้าง เสาไม้กลมใหญ่ฉาบด้วยสีแดง หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีเหลืองเหมือนเกล็ดปลาทอง เหนือประตูประดับด้วยภาพของชายวัยกลางคน

“สิงโต” ปลายอุทานอย่างตื่นเต้น นั่นเป็นสิงโตหินอ่อนสีขาวสองตัวหมอบนิ่งตรงเชิงสะพานข้ามคู

“เทียนอันเหมินหรือประตูศานติสวรรค์เป็นประตูสำคัญของพระราชวังโบราณ มีประวัติเก่าแก่ช้านาน” น้ำเสียงพ่อคล้ายครูวิชาประวัติศาสตร์

“เมื่อ 4 ปีก่อน ประธานเหมาเจ๋อตุ๊ง[2] ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐราษฎรจีนที่นี่ พ่อเป็นชาวต่างประเทศเพียงไม่กี่คนที่ร่วมเป็นสักขีพยาน” พ่อเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ประธานเหมาเจ๋อตุ๊งก็คือชายวัยกลางคนในภาพวาดบนประตูเทียนอันเหมินนั่นเอง วันเวลาผ่านไป ปลายจำใบหน้าอูมๆ ศีรษะเถิก และไฝสีดำตรงคางได้แม่นยำ สถานที่ราชการทุกหนทุกแห่งในประเทศจีน ในห้องเรียนของปลายเหนือกระดานดำ ภาพของท่านผู้นี้ติดอยู่บนผนังเห็นเด่นชัด

รถเลี้ยวไปทางซ้าย ถนนฉางอ๊านยาวเหยียดหลายกิโลเมตร ตัดผ่านเทียนอันเหมินเป็นแนวตรงจากตะวันออกจรดตะวันตก ถนนในกรุงปักกิ่งมีลักษณะเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ตัดตรงจากตะวันออกจรดตะวันตก ก็ตัดตรงจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ ในเวลาต่อมาปลายต้องฝึกเรียนรู้ทิศทางของกรุงปักกิ่ง โดยมีเทียนอันเหมินเป็นจุดศูนย์กลาง ด้านหน้าผินสู่ทิศใต้ ด้านหลังคือทิศเหนือ ซ้ายคือทิศตะวันออก ขวาคือทิศตะวันตก เวลาถามทางชาวปักกิ่ง คำตอบที่ได้รับมิใช่ไปทางซ้ายหรือขวา หากเป็นว่าไปทางทิศเหนือ ใต้ ออก ตก

“นี่คือพระราชวังจ๊งหนานไห่ เป็นทั้งที่ทำการรัฐบาลจีนและบ้านพักผู้นำ” พ่อของปลายทำหน้าที่มัคคุเทศก์

รถยนต์แล่นมาถึงสี่แยก ซุ้มประตูไม้เรียงด้วยเสา 4 ต้น ตั้งอยู่กลางถนน ลำต้นแต่งแต้มด้วยลวดลายสวยงามสีเขียวๆ แดงๆ ขลิบด้วยสีทอง ส่วนบนของประตูเป็นหลังคาแบบเก๋งจีน ตอนหลังเมื่อปลายขี่จักรยานชมเมืองปักกิ่ง จึงรู้ว่า ซุ้มประตูไม้แบบนี้มี 4 แห่งในสี่ทิศของนครหลวงเก่าแก่ของจีน อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลสำหรับผู้ที่สัญจรไปมา

บ้านเรือนสองฝั่งถนนซ่อนตัวมิดชิดภายในกำแพงสีเทาๆ ดำๆ สูงไม่เกิน 5 เมตร ปลายไม่ค่อยเห็นอาคารสูงหลายชั้นเลย

นานๆ ทีจึงจะเห็นรถยนต์แล่นสวนไปมา เห็นแต่จักรยาน เด็กสาวคนหนึ่งโพกผ้าชีฟองสีชมพู มีหน้ากากอนามัยปิดจมูก ขี่จักรยานอยู่ในหมู่นักปั่นจักรยานสมัครเล่น เธอเขยิบก้นสูง เหนืออานรถ ใช้เท้าขวาถีบที่วางเท้าอย่างสุดแรง จักรยานคันนั้นก็ต้านลมหนาวที่กรรโชกแรง เคลื่อนไปข้างหน้า จากนั้นสลับใช้เท้าซ้ายถีบที่วางเท้าอย่างสุดแรง เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่รู้กี่โมงกี่ยามจึงจะถึงปลายทาง

ปลายมัวแต่ดูสาวน้อยปั่นจักรยานเสียเพลิน รถยนต์ก็เลี้ยวเข้าหูถุง ตรอกเล็กๆ แคบๆ

“ถึงบ้านแล้ว” รถยนต์มาหยุดหน้าบ้านหลังหนึ่ง

ลักษณะของบ้านหลังนี้ไม่ต่างจากบ้านหลังอื่น เป็นบ้านที่ชาวปักกิ่ง เรียกว่า ซื่อเหอย่วน (ลานบ้านจตุรทิศ) ประตูไม้ทึบทาด้วยสีแดงเลือดหมู ปลายก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป ภายในมีเรือนกึ่งไม้กึ่งตึกชั้นเดียว 3 หลัง ทิศเหนือ 1 หลัง ทิศตะวันตก 1 หลัง และทิศตะวันออก 1 หลัง ตรงกลางเป็นลานโล่งปูด้วยหินสกัดสี่เหลี่ยม กระถางต้นไม้วางอยู่หน้าเรือนทิศใต้ ปลายไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไรบ้าง ความหนาวเย็นทำให้ต้นไม้ใบหญ้าในกระถางเหี่ยวเฉา ริมหน้าต่างเรือนทิศเหนือมีต้นไม้ใบโกร๋นโผล่ขึ้นมาโดดๆ บนดินผืนกระจิดริด

“เอาไว้หน้าร้อน ปลายจะได้กินผลไห่ถังต้นนี้ รับรองต้องติดใจรสชาติเปรี้ยวๆ หวานๆ คล้ายพุทรา” พ่อพูดอย่างรู้ใจ

 

ที่มา : ว.ณ. พนมยงค์, “บ้านหลังใหม่,” ใน “วันวานในโลกกว้าง,” ใน อนุสรณ์ วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2562), น. 242-245.

บทความที่เกี่ยวข้อง :


[1] ปักกิ่งเป็นนครหลวงที่มีประวัติยาวนานกว่า 700 ปี เมื่อพุทธศักราช 1984 สมัยราชวงศ์หมิงได้กำหนดให้เป็นราชธานี ในอดีต กรุงปักกิ่งเคยมีนามว่า Yànjīng และ Běipíng ปัจจุบันรัฐบาลกลางของจีนได้ขนานนามนครหลวงนี้ว่า Běijīng.

[2] เหมาเจ๋อตุ๊ง (Máo Zédōng) (พ.ศ. 2436-2519) ผู้นำการอภิวัฒน์จีนและประธานพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน.