ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

‘ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม’ บทบาทสำคัญต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย

18
มกราคม
2567

Focus

  • ‘ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม’ (18 มกราคม พ.ศ. 2447 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510) หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรผู้เข้าร่วมการอภิวัฒน์สยาม 2475 ได้สร้างผลงานสำคัญๆไว้มากมาย ทั้งในงานการเมือง งานการฑูต และงานวิชาการ
  • ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยประเทศไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ความร่วมมือกับญี่ปุ่นนั้น นายดิเรกเป็นผู้ลงนามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในกรณีอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย
  • นายดิเรกมิได้เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยร่วมมือกับญี่ปุ่น จึงเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยที่นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า และต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างสองรัฐบาลที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมานายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านมีส่วนในการเจรจาต่อรองทางการทูตกับอังกฤษตามความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบในเรื่องการขายข้าว 1.5 ล้านตัน ให้แก่องค์การสหประชาชาชาติแทนการส่งมอบข้าวให้ฟรีเพื่อชำระหนี้สงคราม
  • ในบรรดาผลงานทางวิชาการหลายเรื่อง รวมทั้งการแสดงปาฐกถามากมาย นายดิเรกมีผลงานสำคัญที่โดดเด่น 3 ชิ้น คือ (1) ข้อเสนอระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2489 (2) การก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2492 และ (3) ปาฐกถาพุทธศาสนากับการปกครอง พ.ศ. 2499

 


ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม (18 มกราคม พ.ศ. 2447 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510)

 

‘ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม’ คือหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรที่เข้าร่วมการอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475 โดยเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และดำรงตำแหน่งคณบดีผู้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนบทบาททางการทูตยังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว กรุงลอนดอนแห่งสหราชอาณาจักร และกรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยบทบาท ผลงาน และแนวคิดสำคัญทางการเมือง การทูต และการศึกษาของท่านยังปรากฏคุณูปการอยู่ในสังคมไทยตราบจนปัจจุบัน

ในวาระ 119 ปี ชาตกาล ของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม จึงจะขอนำเสนอผลงานและแนวคิดสำคัญในแต่ละช่วงชีวิตดังต่อไปนี้และไม่ค่อยมีการกล่าวถึงมาก่อน อาทิ ข้อเสนอระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในรายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 วันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2489 บทบาทในการก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก พ.ศ. 2492 และปาฐกถาพุทธศาสนากับการปกครอง พ.ศ. 2499

 

ชีวประวัติย่อของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม

 


แถวหน้า ม.ล.ปุ๋ย กับ ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม, แถวหลังจากซ้าย เจษฎา, ชูศักดิ์, วัฒนา และวรพุทธิ์
บุตรชายทั้ง 4 คน เมื่อ พ.ศ. 2510

 

นายดิเรก ชัยนาม เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2447 ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรคนที่ 6 ของพระยาอภัยพิพากษา (เกลื่อน ชัยนาม) กับคุณหญิงจันทน์ ชัยนาม ด้านการศึกษา ศาสตราจารย์ดิเรกเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก แผนกภาษาอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษามัธยมปีที่ 6 และไปศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัยอีก 2 ปี ต่อมา พ.ศ. 2468 ได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมจนสำเร็จการศึกษาได้เป็นเนติบัณฑิตใน พ.ศ. 2471 ด้านครอบครัวศาสตราจารย์ ดิเรก ได้สมรสกับ ม.ล.ปุ๋ย นพวงศ์ บุตรีของพระยารามราชเดช (ม.ร.ว.ปาล นพวงศ์) กับคุณหญิงเนย รามราชเดช เมื่อ พ.ศ. 2468 มีบุตรชายด้วยกัน 4 คน คือ นายวัฒนา ชัยนาม นายชูศักดิ์ ชัยนาม นายเจษฎา ชัยนาม นายวรพุทธิ์ ชัยนาม โดยนรนิติ เศรษฐบุตร นักรัฐศาสตร์เคยกล่าวถึงศาสตราจารย์ดิเรกในช่วงต้นของชีวิตไว้ว่า

 

นายดิเรก เป็นผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษดี แม้จะเป็นนักเรียนในประเทศ แต่ท่านได้เรียนในโรงเรียนฝรั่ง คือโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก และต่อมาที่โรงเรียนราชวิทยาลัย จากนั้นได้เข้าเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และท่านก็ได้เริ่มทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรม คือตั้งแต่ปี 2467 โดยเป็นล่ามกฎหมายของกระทรวงและล่ามประจำศาลคดีต่างประเทศ

 

สังเขปบทบาทและผลงาน

ณ วันอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  ที่นายดิเรก ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรนั้น (นับจากนี้-ช่วงผลงานจะเรียกนามท่านว่า นายดิเรก) มีอายุเพียง 28 ปี หลังจากนั้นจึงได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก โดยเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวซึ่งทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ชุดแรก จำนวน 70 คน

1 ปีถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2476 สมัยที่พระยาศรีวิสารวาจาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดิเรกก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และในอีกสองปีถัดมาจึงได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่มีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ก่อการฯ สายทหารเรือเป็นเลขาธิการฯ แล้วก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการฯ

ล่วงมาถึง พ.ศ. 2481 จึงได้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิบดีกรมโฆษณาการโดยคุมงานด้านประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล กระทั่งช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงครามขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนธันวาคม นายดิเรกก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (ลอย) ให้ไปช่วยราชการที่กระทรวงการคลังที่มีนายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและยังได้ไปช่วยราชการที่กระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกด้วย

เมื่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 ทางหลวงพิบูลสงครามจึงมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่งแล้วจึงให้นายดิเรกเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งงานกระทรวงต่างประเทศในตอนนั้นสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในสถานการณ์ขณะที่ยุโรปค่อนข้างตึงเครียด และเมืองไทยเองก็มีปัญหาทางด้านอินโดจีนของฝรั่งเศสต่อมาได้เกิดสงครามอินโดจีนเมื่อตอนต้น พ.ศ. 2484 หลวงพิบูลสงครามจึงให้นายดิเรกขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแทนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในช่วงเวลาคับขันด้วยกองทัพญี่ปุ่นใกล้บุกและขอเดินทัพผ่านประเทศไทย โดยวิเชียร วัฒนคุณ ผู้เคยเป็นศิษย์ของนายดิเรกได้ฟื้นความหลังครั้งนั้นไว้ว่า

 

“ท่านอาจารย์ได้รับมอบหมายในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นผู้ลงนาม ในข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศ รัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ตามความจำเป็น โดยญี่ปุ่นรับจะเคารพเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของไทย”

 


ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม คณะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว พ.ศ. 2485

 

จากนั้นหลวงพิบูลสงครามจึงให้นายดิเรก พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้วเดินทางไปเป็นอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2485 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 จึงเรียกตัวกลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง วิเชียร วัฒนคุณ นักการทูตเล่าเสริมว่า

 

“ในช่วงนี้เองที่ท่านอาจารย์ดิเรกได้ร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นเป็นหัวหน้า ในตอนท้ายๆของสงคราม ความร่วมมือระหว่างขบวนการเสรีไทยกับกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรก็ได้เพิ่มทวีขึ้น”

 

ขณะที่กษิดิศ พรหมรัตน์ นักศึกษารัฐศาสตร์ได้วิเคราะห์บทบาทช่วงนี้ของนายดิเรกไว้ว่า

 

เมื่อเวลาผ่านไปเพียงแค่ 5 วันหลังจากนั้น นายดิเรก ชัยนาม ก็ได้รับการทาบทามให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียว ในทีแรกนั้นนายดิเรกตอบปฏิเสธไปในทันที เนื่องจากว่าไม่เห็นด้วยที่ไทยร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่เมื่อได้ไปพูดคุยปรึกษาหารือกับนายปรีดี พนมยงค์แล้วนั้น นายดิเรกก็ได้ตอบรับการทาบทาม

เนื่องจากนายปรีดีได้ให้คำแนะนำว่า นายดิเรกนั้นจะเป็นผู้เดียวที่สามารถระมัดระวังไม่ให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้นมีความแน่นแฟ้นกัน จนอาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเอกราชได้ถ้าหากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ดังนั้น หากนายดิเรกไปเป็นทูตที่โตเกียวก็จะสามารถช่วยรักษาผลประโยชน์ของชาติได้เป็นอย่างมาก และจะได้มีโอกาสในการปฏิบัติภารกิจของขบวนการเสรีไทยอีกด้วย

เมื่อนายดิเรก ชัยนาม เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตได้ไม่นาน ก็ได้รับโทรเลขจากกรุงเทพฯ แจ้งมาว่า ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาแล้ว ซึ่งนายดิเรกได้กังวลเป็นอย่างมากเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้นายดิเรกได้ไปเจรจากับรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อขอเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะอย่างเป็นทางการ

นายดิเรกเห็นว่า ฝ่ายอักษะจะเป็นผู้ชนะเพียงแค่ช่วงต้นสงครามเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุดแล้วย่อมพ่ายแพ้อย่างแน่นอน ลำพังเพียงแค่เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรก็เป็นก้าวที่ผิดพลาดเสียแล้ว หากยังทำเรื่องขอเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะอย่างเอาจริงเอาจังก็คงจะเป็นการเดินดิ่งลงเหวเป็นแน่แท้

ดังนั้น นายดิเรกจึงได้เข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นในประเด็นนี้ และทางญี่ปุ่นก็ได้มีความเห็นว่า ไทยไม่มีความจำเป็นต้องเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เพียงแค่การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่เป็นชาติเอเชียด้วยกันนั้นก็เพียงพออยู่แล้ว เมื่อได้ยินเช่นนั้นแล้วนายดิเรกจึงได้รีบรายงาน และเสนอกลับไปยังรัฐบาลไทยว่า ควรระงับการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะเสีย ซึ่งทางจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้ให้ความเห็นชอบและระงับเรื่องนี้ไว้โดยทันที

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 นายดิเรก ชัยนามได้ขอลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยก็ได้ทุ่มเทให้กับปฏิบัติการของเสรีไทยอย่างเต็มที่ โดยได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปประชุมเกี่ยวกับความร่วมมือทางทหารระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับขบวนการเสรีไทยที่เมืองแคนดีในปี พ.ศ. 2488 ซึ่งได้สร้างความพึงพอใจให้แก่อังกฤษให้ระดับหนึ่ง ที่ขบวนการเสรีไทยให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับญี่ปุ่นด้วยความจริงใจ

 

นายดิเรกกลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามต่อมาจนกระทั่งหลวงพิบูลสงครามลาออก และนายควงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมาช่วงนี้เองที่นายดิเรกไม่ได้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองแต่ได้ทำงานการเมืองเนื่องจากเป็นหนึ่งในสมาชิกของขบวนการเสรีไทยที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศ คือนายปรีดีให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเดินทางไปปฏิบัติภารกิจยังเมืองแคนดี ประเทศศรีลังกา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 เพื่อเจรจากับทางอังกฤษถือเป็นงานที่ยากมากแม้ฝ่ายทหารอังกฤษจะค่อนข้างพอใจที่ขบวนการเสรีไทยได้ร่วมมือกับทางอังกฤษหากในด้านการเมือง อังกฤษยังไม่ลืมพฤติกรรมของไทยในช่วงต้นสงครามแปซิฟิค ซึ่งแสดงออกในลักษณะเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมในขณะที่อังกฤษกำลังจะเพลี้ยงพล้ำ

ครั้นเมื่อไทยประกาศสันติภาพหลังสงครามสิ้นสุดลงและนายควงได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรีแล้วมีรัฐบาลใหม่ขัดตาทัพโดยได้นายทวี บุณยเกตุมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทางนายดิเรกจึงกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรม

 


คณะนายทหารอังกฤษมาเยี่ยมศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ภายหลังการประกาศสันติภาพ
ณ บ้านซอยสันติสุข สุขุมวิท เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2488

 

จากนั้น ขณะที่มีการหาผู้เหมาะสมเพื่อจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อจากนายควงนั้น ทางนายปรีดีและฝ่ายการเมืองเคยเสนอให้นายดิเรกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายดิเรกกลับเสนอให้เชิญชวนหัวหน้าเสรีไทยสายสหรัฐอเมริกามาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะสมเหตุสมผลเพราะรัฐบาลไทยชุดหลังสงครามจะต้องเจรจาต่อรองทางการเมืองกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเข้มข้น โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตร

ในตอนนั้น เมื่อ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีช่วงปลาย พ.ศ. 2488 นายดิเรกได้เข้าร่วมรัฐบาล โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเมื่อ ม.ร.ว. เสนีย์ ยุบสภาฯ ทำให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1 ใหม่ และมีรัฐบาลใหม่คือ นายควงเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ทางนายดิเรกไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก เพราะนายควงได้เลือกพระยาศรีวิสารวาจาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ขณะเดียวกันนั้น นายควงก็ค่อยๆ แยกตัวออกจากคณะราษฎร ซึ่งในช่วงเวลานี้บทบาทสำคัญของนายดิเรกคือ การต่อรองทางการทูตเรื่องการเซ็นข้อตกลงสมบูรณ์แบบระหว่างไทยกับอังกฤษจนประสบผลโดยนายดิเรกเล่าไว้ว่า

 

“ข้าพเจ้าเข้ารับมอบงานในหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจาก ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ…ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2489…ข้าพเจ้าได้ออกต้อนรับนายจี เจอฟเฟรย์ ทอมป์สัน อัครราชทูตอังกฤษซึ่งข้าพเจ้ารู้จักและคุ้นเคยกันอยู่ก่อนแล้ว…ข้าพเจ้าได้กล่าวกับทูตว่า ข้าพเจ้าจะพยายามได้ความร่วมมืออย่างดียิ่งเพราะประเทศเราทั้งสองเป็นมิตรกันมาช้านาน และถ้าข้าพเจ้ามีอะไรซึ่งจะต้องพูดโดยจริงใจแล้วก็จะแจ้งให้ทูลทราบ เพราะการเปิดเผยจะเป็นทางนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างดียิ่ง

ทูตตอบว่าเขาเองก็เช่นเดียวกัน และเขามองถึงความร่วมมือในกาลข้างหน้า เรื่องที่ล่วงมาแล้วเป็นอันลืมเสียได้ในการร่วมร่วมมือในกาลข้างหน้าระหว่างไทยกับอังกฤษนี้ ทูตจะถือหลักการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกันและยินดีที่จะพบปะข้าพเจ้าเสมอ…”

 

ส่วนผลของความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบได้ทำให้ประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องส่งข้าวจำนวน 1.5 ล้านตันให้กับองค์การสหประชาชาชาตินั้นได้​สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากเพราะในขณะนั้นข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย โดยมูลค่าของข้าวในเวลานั้นตันละประมาณ 28 ปอนด์ (1 ปอนด์เท่ากับ 60 บาท) คิดเป็นเงิน 2,520 ล้านบาท ซึ่งปริมาณข้าว 1.5 ล้านตันนั้นเทียบได้กับข้าวที่ประเทศไทยส่งออกในรอบ 1 ปี และคิดเป็นมูลค่าได้เท่ากับร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดจากการส่งออกไปขายยังต่างประเทศของไทย

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะดำเนินการส่งข้าวให้กับสหประชาชาติโดยไม่มีมูลค่า ตามความตกลงสมบูรณ์แบบได้นั้น ย่อมเป็นเรื่องยากเพราะเป็นภาระของรัฐบาลไทยที่ต้องจัดหาข้าวตามความตกลงนี้ และจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนในการซื้อข้าวนั้นเอาไว้เองทั้งหมด ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของไทยหลังสงครามค่อนข้างย่ำแย่ ทางรัฐบาลจึงได้จัดตั้งสำนักงานข้าวขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานแก้ไขปัญหาข้าวส่งออกนอกประเทศโดยตรง อยู่ในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ผูกขาดการส่งข้าวออกกไปจำหน่ายนอกประเทศแต่ผู้เดียว และเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้ในความตกลงสัญญาสมบูรณ์แบบได้อย่างราบรื่น

และเพื่อให้รัฐบาลสามารถซื้อข้าวได้ในราคาถูก ประหยัดเงินทางรัฐบาลจึงต้องกดราคาข้าวในประเทศให้ต่ำกว่าราคาตลาด โดยใช้อำนาจกฎหมายในการแทรกแซงกลไกราคาข้าวด้วยการตราพระราชบัญญัติสำรวจและห้ามกักกันข้าว พ.ศ. 2489  เพื่อควบคุมการขนย้ายข้าวออกนอกเขต และป้องกันการกักตุนข้าวไม่ให้เกิดการกักตุนและเคลื่อนย้ายข้าว อันจะทำให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติตามพันธกรณี และรัฐบาลยังได้ตราพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ. 2489 เข้ามาควบคุมเกี่ยวกับผู้ประกอบการค้าข้าว การซื้อขายข้าว การเปลี่ยนแปลงสภาพข้าว และการกำหนดราคาสูงสุดของข้าว พันธกรณีการส่งข้าวให้กับสหประชาชาติสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2492

สรุปได้ว่าประเทศไทยส่งข้าวเกินจำนวนที่ต้องการจัดสรรและการจัดตั้งสำนักงานข้าวขึ้นเสมือนเป็นผลพลอยได้ในทางอ้อมที่ทำให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการค้าขายข้าวระหว่างประเทศ แม้ต่อมารัฐบาลจะได้เจรจาเพื่อแก้ไขความตกลงสมูบรณ์ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบข้าวให้กับสหประชาชาติโดยไม่คิดราคาแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังคงใช้สำนักงานข้าวในการผูกขาดการค้าข้าวต่อไป โดยเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเครื่องมือในการลดภาระด้านรายจ่ายของรัฐบาลมาเป็นเครื่องมือในการหารายได้ให้กับรัฐบาลเพราะสำนักงานข้าวจะทำหน้าที่เก็บภาษีจากการส่งออกข้าว และยังประกอบการค้าเอง

 


นายดิเรก ชัยนาม ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือพิมพ์ ณ กระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2489

 

เมื่อรัฐบาลของนายควงแพ้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับร่างกฎหมายติดป้ายราคาสินค้า และนายปรีดีก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงดึงนายดิเรก กลับเข้ามาร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมารัฐบาลของนายปรีดีได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ซึ่งมีพฤฒสภาขึ้นเป็นสภาสูงและให้สิทธิแก่ประชาชนเลือกตั้ง สส.ที่สังกัดพรรคการเมือง แล้วยกเลิกการมีสมาชิกประเภทที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการแต่งตั้ง

นายดิเรกก็ได้เป็นสมาชิกพฤฒสภาชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของประชาชนในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทำหน้าที่เลือก กระทั่งนายปรีดีลาออกจากนายกรัฐมนตรี และหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อในรัฐบาลใหม่นี้ ก็มีนายดิเรกดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่ง

 


รูปถ่ายกับคณะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไทย และครอบครัว ณ กรุงลอนดอน
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2490

 

การเมืองก็ได้มาถึงจุดพลิกผันในวันที่คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน นายดิเรกได้เปลี่ยนตำแหน่งเดินทางไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมที่กรุงลอนดอน ดังนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหาร และเปลี่ยนแปลงรัฐบาลขึ้นจึงขอลาจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตและเดินทางกลับประเทศไทย หลังมีรัฐบาลใหม่ใน พ.ศ. 2491 แล้วออกมามีชีวิตอยู่นอกการเมืองขณะที่มีอายุเพียง 44 ปี

จากนี้นายดิเรกจึงได้เว้นระยะทางการเมืองแล้วเข้ามาทำงานด้านการศึกษาที่สำคัญ คือเป็นผู้ (ได้รับมอบหมายให้) ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2492 นายดิเรก เล่าว่า

 

“ข้าพเจ้าได้รับเชิญจากนายกคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย (พลเอก มังกร พรหมโยธี) คณบดีมหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ ดร.เดือน บุนนาค) และเลขาธิการมหาวิทยาลัย (อาจารย์ วิจิตร ลุลิตานนท์). ในคณะนั้นให้ไปพบ นายกคณะกรรมการได้แจ้งกับข้าพเจ้าว่า คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้ลงมติให้ปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิยาลัยเสียใหม่ และจะให้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้น”

 

ณ ขณะนั้นท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย คือ นายปรีดีต้องหลบภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยทางนายดิเรกจึงได้ก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์เป็นเวลา 4 ปี

เชาวน์ สายเชื้อ อดีตเอกอัครราชทูต ผู้เป็นศิษย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุ่นแรกได้เขียนถึงนายดิเรกว่า

 

“ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพบท่าน ไม่ว่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัย หรือที่บ้าน ท่านจะให้คำแนะนำสั่งสอนอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเสมอ ท่านเป็นยอดอาจารย์แท้”

 

ส่วนเกร็ดประวัติศาสตร์หนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครทราบคือ เมื่อแรกเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น นายดิเรกเป็นผู้บรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญท่านแรกๆ และยังเขียนเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้ง กระทั่งได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ. 2497 และยังได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศให้ไปเป็นผู้บรรยายพิเศษในรายวิชาทั้งการเมืองและการทูตไทยในช่วงสั้นๆ อีกด้วย

 


[ภาพจากซ้ายไปขวา] ประธานาธิบดีทีโอดอร์ ฮอยส์, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม และนายโจเซฟ เสตราส์ รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี ในโอกาสที่ยื่นพระราชสาส์นตราตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศเยอรมนี
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2502

 


นายดิเรก ชัยนาม กำลังสนทนากับประธานาธิบดีไฮริช ลืบเก้ แห่งสหพันธรัฐเยอรมนี

 

1 ปี หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2501 เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. 2502 จึงได้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้วแต่งตั้งให้นายดิเรกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแต่ท่านก็เป็นสมาชิกฯ เพียงไม่นานก็กลับไปทำงานทางการทูตอีกครั้งโดยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเยอรมนีจากการเสนอของนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตชั้น 1 เป็นกรณีพิเศษ ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี จนถึงเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2508 และเมื่อพิจารณาผลงานอื่นนอกจากการทำงานทางด้านข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำยังพบว่า นายดิเรกมีผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์เผยแพร่รวม 29 เรื่อง และการแสดงปาฐกถาอีก 46 เรื่อง ถือได้ว่าเป็นผู้รักการศึกษาค้นคว้าและทำอย่างต่อเนื่องแม้จะเกษียณอายุราชการแล้วก็ตาม

 

ผลงานสำคัญและหายาก 3 ชิ้น

จากผลงานของศาสตราจารย์ดิเรกที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงชีวิตกว่า 60 เรื่อง ทั้งตำรา งานวิจัย งานวิชาการ ปาฐกถา และบทบาทสำคัญพบว่ามีจำนวน 3 ชิ้นที่ไม่ค่อยมีการเผยแพร่ในวงกว้างหรือกล่าวถึงมากนักและมีบางชิ้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใหม่ในยุคสงครามโลก ครั้งที่ 2 จึงขอนำมาเสนอเนื่องในวาระสำคัญนี้โดยไล่เรียงตามลำดับเวลานับตั้งแต่สมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 จนถึง พ.ศ. 2499

 

-1-

ข้อเสนอระงับกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในรายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 วันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2489

“คำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดิเรก ชัยนาม-ผู้เขียน)

คำแปล                   ข้อเสนอระงับระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสและรัฐบาลไทยตกลงที่จะระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ระหว่างกันโดยมูลฐาน ดั่งต่อไปนี้

๑. การรับสภาพการเป็นโมฆะของอนุสัญญาฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องประกาศว่าเป็นโมฆะ ฉะนั้นอาณาเขตอินโดจีนที่ไทยยึดครอง จะต้องโอนให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศส เพื่อส่งมอบให้แก่รัฐบาลเขมรและลาวต่อไป

๒. หลังจากการกลับคืนสถานะเดิม ซึ่งเลิกสถานะสงครามระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทยแล้ว ความสัมพันธ์ทางการทูตจะได้กลับสถาปนาโดยทันที และการสัมพันธ์ติดต่อระหว่างประเทศทั้งสองจะได้เป็นไปตามสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และข้อตกลงพาณิชย์และศุลกากร ฉบับวันที่ ๙ ธันวาคม

-

ค.ศ. ๑๙๓๗ ต่อไปอีก ประเทศไทยจะถอนคําร้องที่ได้เสนอไว้ต่อคณะมนตรีความมั่นคง ประเทศฝรั่งเศสจะไม่ขัดขวางการที่ประเทศไทยจะเข้าในองค์การสหประชาชาติอีกต่อไป

๓. ในทันทีที่รัฐบาลไทยจะได้ประกาศอนุสัญญา ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เป็นโมฆะ ประเทศฝรั่งเศสจะยอมรับว่า โดยอาศัยข้อ ๒๑ แห่งสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการประนีประนอม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนแห่งภาคีทั้งสองฝ่าย ๒ คน และผู้แทนของประเทศที่เป็นกลาง ๓ คน ตามตราสารทั่วไปแห่งเจนีวา ฉบับลงวันที่ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๑๙๒๘ ว่าด้วยการ “ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี” ซึ่งวางระเบียบการจัดตั้งและหน้าที่ของคณะกรรมาธิการไว้ คณะกรรมาธิการจะได้เริ่มงานทันทีหลังจากที่ได้ปฏิบัติการตามบทแห่งข้อหนึ่งของข้อเสนอระงับนี้แล้ว คณะกรรมาธิการนี้จะมีภาระตรวจพิจารณาข้อโต้เถียงต่าง ๆ ในทางเชื้อชาติ ทางภูมิ ศาสตร์และทางเศรษฐกิจของภาคี เพื่อการแก้ไข หรือยืนยันบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งยังคงใช้อยู่ตามความในข้อ ๒๒ แห่งสนธิสัญญา ฉบับวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ นั้น

๔. เมื่อได้มีการกลับสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว จะได้เปิดการเจรจาเพื่อสะสางบรรดาปัญหาต่าง ๆ ที่คั่งค้างอยู่ระหว่างประเทศทั้งสอง และเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อกําหนดค่าเสียหายที่รัฐบาลไทยจะต้องชำระให้เป็นค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดจากการกระทําของประเทศไทยต่อทรัพย์สินสทธิ และผลประโยชน์ของ ฝรั่งเศสหรืออินโดจีนนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง เพื่อกําหนดจํานวนเงินที่จะเป็นเครดิตของรัฐบาลไทยด้วย”

 

-2-

การก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวคิด ปณิธาน และมรดกที่ยังคงอยู่

ดังที่กล่าวแล้ว นายดิเรกเล่าถึงการก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2492 ตนได้รับเชิญจากพลเอก มังกร พรหมโยธี กรรมการมหาวิทยาลัย นายเดือน บุนนาค คณบดีมหาวิทยาลัย และนายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการมหาวิทยาลัย ให้เข้าพบแล้วแจ้งว่าได้มีการปรับปรุงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและจะก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ขึ้น โดยมีนโยบายที่จะให้นักศึกษาในคณะรัฐศาสตร์นั้นมีความรู้ และมีความชำนาญในวิชารัฐศาสตร์ (Political Science) อย่างประเทศนานาชาติโดยมุ่งให้สามารถไปรับราชการได้ในทุกแห่ง หรือปฏิบัติงานทั่วไปได้แม้ไม่เข้ารับราชการ ซึ่งทั้งสามท่านที่เชิญนั้นเห็นพ้องกันให้นายดิเรกเป็นผู้ดำเนินการวางหลักสูตรคณะรัฐศาสตร์ขึ้นตามแนวทางดังกล่าวเพื่อมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการผลิตนักรัฐศาสตร์ (Political Science) นายดิเรกจึงเป็นทั้งผู้ร่างหลักสูตรคนแรก และคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์นับตั้งแต่นั้น

การร่างหลักสูตรของนายดิเรกมาจากสองแนวทาง แนวทางแรกคือ ได้นำมาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย London School of Economics and Political Science และมหาวิทยาลัย Havard แห่งสหรัฐอเมริกาในหลักสูตรวิจัยในสาขารัฐศาสตร์ (Research of Political Science) ที่เมื่อผสมผสานกันแล้วจะตอบโจทย์ที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการผลิตบัณฑิตที่เป็นนักปกครอง และนักวิชาการ แนวทางที่สอง ได้พิจารณาจากรายงานของการประชุมนานาชาติ พ.ศ. 2491 ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติจัดทำขึ้นประกอบกัน

นอกจากนี้นายดิเรกยังได้รับคำแนะนำในการร่างหลักสูตรฯ จาก ม.จ. สกลวรรณากร วรวรรณ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระยาสุนทรพิพิธ ศาสตราจารย์ ดร. มาลัย หุวะนันทน์ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร และอาจารย์ประเสริฐ ปทุมานนท์ กระทั่งในที่สุดได้ร่างหลักสูตรฯ สำเร็จและสภามหาวิทยาลัยลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2492 และมีการแก้ไขปรับปรับปรุงอีกเล็กน้อยใน พ.ศ. 2493 นี่คือจุดตั้งต้น แนวคิดและปณิธาณในเบื้องแรกการก่อตั้งและวางหลักสูตรของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับผิดชอบโดยนายดิเรก ชัยนาม

 


มุมหนังสือส่วนตัวของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ที่บริจาคให้แก่ห้องสมุดดิเรก ชัยนาม
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

จากที่นายดิเรกคือผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งคณะรัฐศาสตร์ในทางปฏิบัติ และคณบดีคนแรก ทำให้นามของท่านยังปรากฏเป็นมรดกทางความคิดและความรู้อยู่คู่คณะรัฐศาสตร์จนถึงปัจจุบันทั้งนามของห้องสมุดคณะที่ใช้ชื่อว่า ห้องสมุดดิเรก ชัยนาม และศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม (Direk Jayanama Research Center) โดยในห้องสมุดนั้นยังมีมุมหนังสือส่วนตัวของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ที่บริจาคไว้ให้แก่ห้องสมุดจำนวนมากอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากหนังสือส่วนบุคคลของนายดิเรกก็พบว่าท่านอ่านตำราหลากหลายทั้งในด้านการต่างประเทศ การเมืองเปรียบเทียบ กฎหมาย และการเมืองการปกครองไทย

ขณะที่ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม (Direk Jayanama Research Center) ได้ใช้นามของนายดิเรกมาตั้งแต่ก่อตั้งในช่วงทศวรรษที่ 1990 โดยในวัตถุประสงค์ข้อแรกของศูนย์วิจัยคือ เพื่อเป็นหน่วยงานในการบริหารจัดการงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ และให้บริการด้านการทำวิจัยแก่บุคคลากรคณะรัฐศาสตร์ โดยการสนับสนุน ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยของคณะรัฐศาสตร์ให้มีจำนวนมากขึ้นและมีคุณภาพสูงในหัวข้อที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ ซึ่งประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศนี้ถือเป็นอุดมคติสำคัญของชีวิตนายดิเรกในการปฏิบัติงานเช่นเดียวกัน หากเมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาในตำราของนายดิเรกและคณาจารย์ในคณะรัฐศาสตร์และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับพบลักษณะพิเศษประการหนึ่งซึ่งนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ในช่วงที่เป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์เขียนถึงงานของนายดิเรกในวาระคณะรัฐศาสตร์ครบ 50 ปีไว้ว่า

 

วิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในบางกระบวนวิชามีเนื้อหาของเอกสารที่เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ โดยผ่านการค้นคว้าเรื่องราวที่เป็นไปในสังคมการเมืองของไทยอย่างมาก ตัวอย่างของงานเหล่านี้ เช่น งานเขียนของศาสตราจารย์ ร. แลงกาต์ ในกระบวนวิชา “ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย” คําบรรยายของหลวงวิจิตรวาทการ ผู้บรรยายในกระบวนวิชา “ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง" คำบรรยายของศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม เรื่อง “ประวัติศาสตร์การทูต” คําบรรยายของศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค และศาสตราจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม เรื่อง “กฎหมายรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง” คําบรรยายของดร. แอล ดูปลาต์ เรื่อง “กฎหมายแพ่งพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว” เป็นต้น…”

 

ดังนี้ การใช้เอกสารเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในการศึกษารัฐศาสตร์และการเมืองไทย จึงเป็นลักษณะเฉพาะหนึ่งของงานนายดิเรกและคณาจารย์บางส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้เมื่อได้อ่านตำราของนายดิเรกยังพบว่า มีลักษณะประนีประนอม และเป็นกลางต่อการวิเคราะห์เหตุการณ์รวมถึงตัวบุคคล โดยมักไม่ใส่อุดมคติส่วนตนลงไป อันเป็นข้อเด่นของงานวิชาการของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงต้นอีกด้วย ซึ่งการใช้นามของนายดิเรกที่ปรากฏเป็นมรดกทางสถานที่ ณ ปัจจุบัน ย่อมควรพิจารณาถึงการสืบทอดทางอุดมคติและวิธีการของท่านเป็นสำคัญ

 

-3-

ปาฐกถาพุทธศาสนากับการปกครอง พ.ศ. 2499

ปาฐกถาเรื่อง “พระพุทธศาสนากับการปกครอง” โดย ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ศกนี้ ณ ศาลาอเมริกัน ถนนพัฒน์พงศ์ ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม ได้แสดงปาฐกถาเรื่องพระพุทธศาสนากับการปกครอง มีคนไปฟังอย่างคับคั่ง

ศาสตราจารย์ ดิเรก ชัยนาม ในฐานะองค์ปาฐกได้กล่าวถึงการปกครองในประเทศไทยที่เริ่มแต่สมัยสุโขทัย พ.ศ. ๑๘๐๐ ว่า ครั้งนั้นเป็นแบบบิดาปกครองบุตร ตามศิลาจารึกของพ่อขุนรามกาแห่งก็ปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นนักรบ เป็นผู้รักษาความยุติธรรมของปวงชน ทรงเคารพบุพการี และทรงกตัญญู สิ่งเหล่านี้เป็นอิทธิพลของพระพุทธศาสนา และได้ตกทอดเป็นวัฒนธรรมของคนไทยมาจนทุกวันนี้

ในสมัยศรีอยุธยา ไทยได้รับถ่ายทอดความเชื่อถือของพวกขอมซึ่งรับมาจากอินเดีย คือการสมมติพระมหากษัตริย์เป็นดุจพระนารายณ์แบ่งภาคจุติลงมา ความเกี่ยวพันระหว่าง พระมหากษัตริย์กับราษฎร คล้ายนายกับบ่าว ในสมัยธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ก่อน พ.ศ. ๒๔๗๕ การปกครองเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น เพราะพระมหากษัตริย์ ไทยส่วนมากมิได้ทรงใช้พระราชอํานาจเด็ดขาด เนื่องจากอานุภาพของพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์จึงทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม และยังทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจทางศาสนาอยู่ตลอดมา ฉะนั้น ตามประวัติศาสตร์การปกครอง พระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนไทยนับแต่ประมุขของประเทศลงมา

ในการปกครองประเทศจําเป็นต้องมีกฎหมาย และในการสร้างกฎหมายศาสนาก็มี ส่วนด้วย กฎหมายไทยเป็นอันมากที่ตราขึ้นโดยคํานึงถึงหลักพระพุทธศาสนา มีการยึดหลักความ ปราศจากวิหิงสา และไม่กีดกันศาสนาอื่น

กฎหมายสมัยโบราณของไทย ส่วนมากมาจากคัมภีร์มนูสาราจารย์ และในเรื่องใดที่กฎหมายบัญญัติไปไม่ถึง พระมหากษัตริย์จะทรงกําหนดเป็นบทพระอัยการเพิ่มเติมเป็นกฎหมาย กฎหมายดังกล่าวจึงมีเพิ่มขึ้นโดยลําดับ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๘๑-พ.ศ. ๒๑๒๑ พระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงโปรดให้มีการชําระกฎหมายครั้งใหญ่ ครั้งถึงคราวเสียกรุง กฎหมายเหล่านี้ถูกทําลายไปราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงโปรดให้ตั้งกรรมการชําระกฎหมายขึ้น หลักใหญ่ก็ได้จากกฎหมายในสมัยพระเจ้าอู่ทองและพระบรม ไตรโลกนาถ โดยกรรมการผู้ชําระอาศัยความที่จดจํากันไว้ได้และกฎหมายที่ชําระครั้งนี้ก็ได้ใช้มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ เริ่มการปรับปรุงกฎหมายครั้งใหญ่โดยเอากฎหมายของประเทศตะวันตกมาเป็นหลัก และได้จ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาช่วย แต่ทั้งนี้เรามิได้ออกกฎหมายของประเทศใดมาโดยเฉพาะ เพียงแต่นำมาปรับให้เข้ากับประเพณีของเราและหลักความยุติธรรมโดยไม่ขัดกันกับหลักพระพุทธศาสนา

รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับมีข้อความรับรองว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามก และทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นๆ ทั่วไปด้วย นอกจากนั้นกฎหมายแพ่งและอาญาก็มีบทคุ้มครองแนวการปฏิบัติในทางศาสนาด้วย และเรายังมีกฎหมายที่ใช้สําหรับสงฆ์โดยเฉพาะ

สุดท้ายองค์ปาฐกได้ย้ำถึงความเป็นผู้มีคุณธรรมของชาวไทย ๓ ประการ คือ ๑. เอกราชของชาติ ๒. ปราศจากวิหิงสา ๓. ฉลาดในการประสานประโยชน์ ซึ่งล้วนแล้วแต่สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น.

 

บทสรุปชีวิตบั้นปลาย

 


นายดิเรก ชัยนาม ในทำเนียบเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ พ.ศ. 2508

 

นายดิเรก หรืออาจารย์ดิเรกของบรรดาลูกศิษย์ได้ใช้ชีวิตช่วงหลังนี้เขียนงานทางด้านวิชาการออกมาเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอ และยังได้เขียนปาฐกถาไว้ก่อนที่จะป่วยเพื่อส่งให้กระจายเสียงทางสถานีวิทยุ อ.ส. ตามที่ได้รับเชิญอยู่จำนวนหนึ่ง อาทิ เรื่องงานอดิเรกของท่านคือ การอ่านหนังสือ

 

“ถ้าข้าพเจ้ามีเวลาว่าง เป็นต้องอ่านหนังสือ…การอ่านหนังสือในยามว่างเป็นกิจกรรมซึ่งทำให้ชีวิตเราเพลิดเพลิน จิตใจดี ได้ความรู้ทางวิชาการทั้งหลาย และคิดประกอบแต่กุศลกรรม”

 

แต่ศาสตราจารย์ดิเรกกลับได้ทำงานอดิเรกเพียงไม่นานก็ถึงแก่อนิจกรรม โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้กล่าวถึงนายดิเรกที่แสดงถึงแนวคิดทางการเมืองของท่านไว้ว่า เป็นนักเสรีนิยมอย่างยิ่งผู้หนึ่ง...มิได้รักเสรีภาพสำหรับตัวท่านเอง แต่อยากให้ผู้อื่นได้รับและได้รักเสรีภาพด้วย

จากสังเขปประวัติ บทบาททางสังคมการเมือง และผลงานข้างต้นรวมทั้งความคิดของผู้ใกล้ชิดจะเห็นได้ว่านายดิเรกได้ใช้ความรู้ความสามารถ ความรอบคอบ และความซื่อสัตย์ในการรับใช้ประเทศชาติมิให้สูญเสียเอกราชและอำนาจอธิปไตยโดยเป็นนักการทูตผู้รักษาผลประโยชน์ของชาติคนสำคัญคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์สยามจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 สิริรวมอายุได้ 62 ปี 3 เดือน โดยได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสในวันที่ 11 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน

และบทสุดท้ายของชีวิตในหนังสืออนุสรณ์งานศพที่สะท้อนตัวตนของนายดิเรกได้ดีบทหนึ่งถูกเขียนขึ้นโดยนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายดิเรกในสามช่วงชีวิต ได้แก่ ช่วงแรกที่ปฏิบัติงานเสรีไทย ช่วงที่สอง เมื่อศาสตราจารย์ดิเรกเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนภายหลังสงคราม และช่วงที่สาม เมื่อนายดิเรกเป็นคณบดีคนแรกของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

นายป๋วยได้เล่าถึงเหตุการณ์ลาออกจากตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน เมื่อเกิดรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ในทันทีของนายดิเรกไว้ว่า

เหตุผลสำคัญที่อาจารย์ดิเรกยกขึ้นคัดค้านเหตุผลอื่นๆ ดังกล่าวมาข้างต้นที่ผมจำได้ติดหูคือ “สำคัญที่เกียรติ” เกียรติต้องมาก่อนอื่น เกียรติที่มีต่อรัฐบาลไทยหรือผู้ที่มีอำนาจในราชการครั้งนั้น เขาจะมีความไว้วางใจท่านเพียงใดหรือไม่ ถ้าไม่ไว้วางใจ เพียงแต่ปล่อยให้ดำรงตำแหน่งไปพลางก็เท่ากับอาจารย์ดิเรกด้านอยู่ในตำแหน่งเป็นการจัดกับหลักการเรื่องเกียรติ

เกียรติอีกด้านหนึ่งเป็นเกียรติที่วงราชการของอังกฤษยกย่องให้แก่อาจารย์ดิเรกเพียงใด ทั้งๆ ที่วงราชการอังกฤษทราบอยู่ดีว่า อาจารย์ดิเรกสังกัดพรรคที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล…ถ้าอังกฤษเห็นอาจารย์ดิเรกด้านอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่มีทางที่รัฐบาลไทยจะให้ความไว้วางใจแล้ว อังกฤษจะให้ความเชื่อถือแก่อาจารย์ดิเรกอย่างไรได้…ข้อคำนึงที่เกี่ยวกับเกียรติอีกข้อหนึ่งก็คือ อาจารย์ดิเรกได้ร่วมเป็นร่วมตายกับเพื่อนฝูงของท่านในสงครามซึ่งเสร็จสิ้นไปหยกๆ ในขณะที่เพื่อนฝูงตกอับไร้วาสนา แตกฉานซ่านเซ็น อาจารย์ดิเรกจะมาลอยนวลเป็นเอกอัครราชทูตอยู่ถือโอกาสเอาตัวรอด…จะอยู่ดูหน้ามิตรสหายทั้งหลายอย่างไรได้

อาจารย์ดิเรกสรุปข้อตัดสินใจของท่านเพียงสั้นๆ “สำคัญที่เกียรติ”

 

บรรณานุกรม

เอกสารชั้นต้น :

  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73254
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 วันที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/194496

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • จิตร แพร่พานิช, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ในทรรศนะของหนังสือพิมพ์ ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส พระนคร วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2510.
  • สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, นายดิเรก ชัยนาม ตามทัศนะของคนรู้จัก ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว., อ.ป.ร. 1. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2510.
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายดิเรก ชัยนาม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว.. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2510.

หนังสือภาษาไทย :

  • ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2510).
  • ดิเรก ชัยนาม, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เล่มที่ 2 พิมพ์ครั้งที่ 2, (พระนคร : แพร่พิทยา, 2510).
  • ดิเรก ชัยนาม, รวมปาฐกถาชุดล่าสุด ของนายดิเรก ชัยนาม, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2523).
  • ดิเรก ชัยนาม, อดีตของปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ: โอเพนบุ๊คส์, 2547)
  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2526).
  • ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558).
  • วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และคณะบรรณาธิการ, คือวิญญาณเสรี ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984), 2543).
  • เอนก เหล่าธรรมทัศน์ บรรณาธิการ, ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนามกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: วิภาษา, 2543).

หนังสือภาษาไทย :

  • รัฐสภาสาร ปีที่ 4 ฉบับที่ 25 (7 มิ.ย.2499).

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :