ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ด้วยอาการหัวใจวาย ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะมีอายุราว 83 ปี ซึ่งอีกไม่ถึงสองสัปดาห์ก็จะถึงวันครบรอบวันเกิดของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 การอสัญกรรมของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีครั้งนี้ทางสำนักข่าว เอ.พี. ได้เผยแพร่ข่าวไปทั่วโลกโดยรายงานว่า ในตอนเช้าก่อนมรณกรรมนายปรีดี ยังมีสุขภาพแข็งแรง ยังเขียนจดหมาย อ่านตำรา แต่งหนังสือ และทำกิจวัตรประจำวันตามปกติกระทั่งเวลาดังกล่าวได้รู้สึกไม่สบายขึ้นแล้วมรณกรรมอย่างสงบ ท่ามกลางการปฐมพยาบาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และญาติๆ อย่างเต็มที่ ต่อมาได้มีพิธีฌาปนกิจศพศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ที่ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าคอมมูนปารีส สถานที่ประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก
เนื่องในวาระพฤษภาชาตกาล และการอสัญกรรมของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีทางสถาบันปรีดี พนมยงค์จึงขอนำเสนอเหตุการณ์และปฏิกิริยาทางสังคมต่อการเชิญอัฐิธาตุ ระหว่างวันที่ 6-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ไว้ดังนี้
ปฏิกิริยาทางสังคมจากปารีส
รายงานข่าวจากปารีส
“การกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนของรัฐบุรุษอาวุโส”
เช้าวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๙ อันเป็นวันครบรอบ ๓ ปี แห่งอสัญกรรมของนายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านพักชานกรุงปารีสของ ท่านรัฐบุรุษอาวุโส ได้มีพิธีทักษิณานุประทานอัฐิธาตุของนายปรีดีฯ นอกจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์และครอบครัวแล้วยังมีชาวไทย นักเรียนไทย และชาวธรรมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ตัวแทนของสามัคคีสมาคมในประเทศอังกฤษและตัวแทนชาวไทยในสหพันธรัฐเยอรมนีเข้าร่วมการทําบุญครั้งนี้ด้วย
ต่อมาในตอนบ่ายของวันที่ ๓ พฤษภาคม ชาวไทย นักเรียนไทย และชาวธรรมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ด้วยความร่วมมือของสมาคมนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส Association France-Thailande และมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ได้จัดงาน “เทอดเกียรติรัฐบุรุษอาวุโส” งานนี้เริ่มด้วยการฉายสไลด์ชีวประวัตินายปรีดี พนมยงค์ ผู้ไปร่วมงานหลายท่านหลั่งน้ำตาด้วยความอาลัยและศรัทธาในชีวิตและผลงานของ “คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ” จากนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ได้รับเชิญให้กล่าวคํารําลึกถึงนายปรีดีฯ ในฐานะที่เป็นภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากกันมาเป็นเวลากว่า ๕๕ ปี ท่านผู้หญิงพูนศขฯ กล่าวด้วยความตื้นตันใจว่าตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตร่วมกันนี้ นายปรีดีฯ ได้รับใช้ชาติและราษฎรไทยด้วยสติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มที่และด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และอบรมสั่งสอนให้ภรรยาและลูกหลานหมั่นศึกษาหาความรู้ต่อไปอยู่เสมอ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตนายปรีดีฯ เองก็ได้ติดตามศึกษาความรู้ใหม่ๆ ตลอด เวลา ในความอีกตอนหนึ่งท่านผู้หญิงพูนศุขฯ ได้กล่าวว่า แม้นายปรีดีฯ จะได้รับใช้และทําคุณงามความดีให้แก่ชาติบ้านเมืองอยู่ไม่น้อย แต่ที่สุดก็นอนสงบในโลงศพหยาบๆ และเงินบํานาญที่ได้ รับเพียงเดือนละสี่พันบาทเศษเท่านั้น
รายงานต่อมาได้แก่กลอนสดุดีประกอบดนตรีไทยซึ่งบรรเลงโดยวงดนตรีไทยของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ในการนี้ ตัวแทนของนักเรียนและชาวไทยในเยอรมนี ฝรั่งเศส ได้สลับกันอ่านบทกลอนอันน่าประทับใจที่แสดงความเชื่อมั่นว่าคุณงามความดีอันเป็นสัจจะที่รัฐบุรุษอาวุโสได้เพียรทําไว้นั้นจักปรากฏเป็นจริง
“น้ำลดตอก็ผุด ใบบัวสุดปิดช้างสาร
เมื่อธรรมะชนะมาร รัฐบุรุษจักคืนมา”
นายปิแอร์ ฟิสติเย (Pierre FISTIE) ศาสตราจารย์ประจํา ฃสถาบันศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (CNRS) และผู้ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยไว้หลายเล่ม ได้กล่าวบรรยายถึงผลงานของนายปรีดีฯ ว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่เกิดก่อนกาล แม้ท่านจะมีความคิดริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าเทียมเท่านานาอารยประเทศ แต่เนื่องด้วยความคิดของท่านก้าวหน้าล้ำยุคจึงทําให้ต้องประสบชะตากรรมอันผันผวนจากแรงกดดันของสังคม นายฟิสติเยยังได้กล่าวว่า นายปรีดีฯ มีความคิดที่ก้าวหน้ากว่าคณะยังเตอร์กของมุสตาฟา เคมาล เพราะนายปรีดีฯ มุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมด้วย ส่วนความคิดเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นก็มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับความคิดสหกรณ์ของเหมาเจ๋อตุง แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่าใครลอกเลียนจากใคร เพราะแต่ละท่านย่อมมีความคิดริเริ่มที่เป็นตัวของตัวเอง
ในบรรดาแขกผู้มีเกียรติที่กล่าวคํารําลึกถึงรัฐบุรุษอาวุโส พ.ต.อ.เสฐียร สินธุเสน ตัวแทนของ ต.ม.ธ.ก ที่เดินทางมารับอัฐิธาตุของท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และนายสมบัติ เบญจศิริมงคลตัวแทนชาวไทยในสหพันธรัฐเยอรมนีต่างได้เล่าภาพประทับใจของนายปรีดีฯ ที่ทั้งสองเคยได้รับฯ และกล่าวเน้นว่านายปรีดีฯ มิเพียงแต่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวธรรมศาสตร์ หากเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวไทยทั้งมวลด้วย
อีกรายการหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้มาร่วมชุมนุมในวันนั้นคือ ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ที่นายปรีดีฯ เป็นผู้ประพันธ์เรื่องและอํานวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ จนถึงวันนี้เป็นเวลา ๔๖ ปี แล้ว แต่ความคิดที่เกี่ยวกับสงครามและสันติภาพของนายปรีดีฯ ก็ยังคงเหมาะสมกับความคิดปัจจุบัน ในเรื่องการรักษาเอกราชของชาติ และการป้องกันการรุกรานจากต่างชาติ
รายการนี้ได้สิ้นสุดลงด้วยการเปิดเทปคําขวัญของนายปรีดีฯ ที่มีถึง ด.ช. ฤทธิพัฒน์ และ ด.ช. ฤทธิพงศ์ เทียนดํา ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า “...ขอให้หลานทั้งสองช่วยงานคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยาย โดยต้องเข้าใจว่า แรงงานเป็นบ่อเกิดแห่งความไพบูลย์...”
อนึ่งในเวลาบ่ายวันที่ ๓ และ ๔ พฤษภาคม ได้เปิดโอกาสให้บุคคลต่างๆ เข้าแสดงความเคารพอัฐิธาตุของนายปรีดีฯ ณ บ้านพักของท่านที่อองโตนี ชานกรุงปารีส ในโอกาสนี้ ฯพณฯ ประชา คุณะเกษม เอกอัครราชทูตไทยประจํากรุงปารีสและภรรยา ฯพณฯ ทองไส โพธิสาน เอกอัครรัฐทูตสาธารณรัฐประชาชนลาวประจํากรุงปารีสและภรรยา อีกทั้งที่ปรึกษาประจําสถานเอกอัครรัฐทูตเวียดนามประจํากรุงปารีส นาย P.B. LAFONT ศาสตราจารย์ประจํา สถาบันค้นคว้าและวิจัยประวัติศาสตร์และอารยธรรมคาบสมุทรอินโดจีนแห่งมหาวิทยาลัยปารีส ชาวไทยและมิตรชาวต่างประเทศก็ได้มาแสดงความเคารพอัฐิธาตุของนายปรีดีฯ เป็นครั้งสุดท้าย
เช้าวันที่ ๖ พฤษภาคม อัฐิธาตุของนายปรีดีฯ ได้เคลื่อนจากบ้านพักอองโตนีมายังสนามบิน Roissy-Charles de Gaulle เป็นขบวนประกอบด้วยชาวไทย นักเรียนไทย และชาวธรรมศาสตร์ ในประเทศฝรั่งเศส ที่สนามบินมีผู้มารอส่งกันคับคั่ง ทั้งนี้นายรังสรรค์ พหลโยธิน อัครราชทูตที่ปรึกษาประจําสถานเอกอัครราชทูตไทยประจํากรุงปารีส นายชอง ซูเบรอนาต์ รองอธิบดีกรมเอเชียแห่งกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ร่วมในพิธีส่งอัฐิธาตุของรัฐบุรุษอาวุโสที่สนามบินด้วย
ก่อนที่จะนําอัฐิธาตุของรัฐบุรุษอาวุโสผู้พลัดถิ่นกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน ชาวไทยผู้หนึ่งได้ขอร้อง พ.ต.อ. เสฐียร สินธุเสให้นําน้ำทะเลในบริเวณที่ลอยอัฐิธาตุของนายปรีดีฯ มาฝากเขาและเพื่อนๆ เพื่อสักการะบูชาในสมองปัญญาและความสามารถของนายปรีดีฯ ซึ่งได้อุทิศต่อชาติและราษฎรไทยอันเป็นที่รักยิ่ง และแล้วเครื่องบินแห่งบริษัทการบินไทยเที่ยวบิน ทีจี ๙๓๕ ซึ่งมีกัปตันตฤตีย์ อํามฤต เป็นนักบินที่ ๑ ก็ได้นําอัฐิธาตุของนายปรีดีฯ พร้อมด้วยท่านผู้หญิงพูนศุขฯ กับครอบครัวและผู้ร่วมติดตามจากสนามบินปารีส Roissy-Charles de Gaulle เมื่อเวลา ๑๒.๒๕ น. (เวลาท้องถิ่น) มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ
นายปรีดีฯ ได้เดินทางมาปารีสเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ และได้พํานักอยู่ที่กรุงปารีสจวบจนวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ อันเป็นวันที่ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุ ๘๓ ปี และรวมเวลาพํานักในปารีส ๑๓ ปี หลังจากการจัดการฌาปนกิจ ณ สุสาน แปร์ลาแชสแล้ว อัฐิธาตุของท่านก็ยังคงอยู่ที่บ้านพักชานกรุงปารีสจนกระทั่งถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙
ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ชาวธรรมศาสตร์ และชาวไทยทั้งปวงที่ระลึกในคุณงามความดีของท่านจึงได้ตกลงใจพร้อมกันอัญเชิญอัฐิธาตุของท่านกลับสู่ประเทศไทย
ฤาไฉน แต่คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ ?
๗ พฤษภาคม ๒๕๒๕
รายงานข่าวโดยผู้สื่อข่าวพิเศษจากปารีส
ปฏิกิริยาทางสังคมในไทย
นับจากเกมการเมืองที่ต่อรองกันอย่างเข้มข้นจนเกิดความขัดแย้งส่งผลให้ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีต้องเดินทางออกจากไทยไปจีนและเข้าสู่ปารีสโดยใช้ชีวิตยังต่างแดน หากในช่วง 36 ปีในการทำงานเพื่อชาติและราษฎรไทยของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีท่านได้สร้างคุณูปการทางความคิดและแรงบันดาลใจในต่างแดนทั้งการเผยแพร่ความคิดผ่านงานเขียนและการเผยแพร่ความรู้สู่การบรรยาย จากการได้พบปะสนทนากับนิสิตนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และมิตรผู้มาเยือนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตราบจนวาระสุดท้ายที่ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบงดงาม เมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ด้วยอาการหัวใจวายบนโต๊ะทำงาน ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะมีอายุราว 83 ปี และใกล้ครบรอบวันเกิด ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
3 ปี ภายหลังการอสัญกรรมของท่าน ในเช้าตรู่ของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 จึงมีการนำอัฐิธาตุศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีกลับสู่มาตุภูมิโดยท่านผู้หญิงพูนศุขให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดีไว้ว่า
“ครั้งแรกก็ตั้งใจว่าเมื่อสัจจะปรากฏก็จะเชิญกลับมา แต่คิดดูก็รู้สึกว่า สัจจะได้รับการยอมรับมากแล้ว เดี๋ยวนี้คนก็รู้เรื่องกันมากจะให้ยอมรับทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสำหรับคนที่ไม่ยอมรับต่อให้ศตวรรษเขาก็ไม่ยอมรับ ก็คิดว่าสมควรเชิญกลับมาประเทศได้แล้ว”
ขณะที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้กล่าวถึงมุมมองของบุตรศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีเรื่องการเชิญอัฐิธาตุกลับมายังประเทศไทยในปาฐกถาสารโกมลของตนซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของท่านผู้หญิงพูนศุขข้างต้นว่า
“เราเห็นกันว่าตอนนี้ สัจจะคุณพ่อได้ทำให้กับบ้านเมืองได้ปรากฏมากแล้ว คนรุ่นใหม่ได้รับรู้เรื่องราวที่ถูกต้องของท่านมากขึ้น แต่ที่จะให้ทุกคนยอมรับในสัจจะอันนี้ แล้วถึงเชิญกลับมานั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนที่ปิดหูปิดตาไม่ยอมรับนั้น แม้จะใช้เวลาอีกนานก็คงไม่ยอมรับ เราจึงเห็นว่าควรเชิญอัฐิธาตุคุณพ่อกลับประเทศไทยได้แล้ว”
การเชิญอัฐิธาตุของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสมาจากบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 และมาถึงสนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 พฤษภาคม จากนั้นได้มีงานต้อนรับอัฐิธาตุทั้งในกรุงเทพฯ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านเป็นผู้ประศาสน์การคนแรก และที่บ้านเกิดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์นั้นสมดังความปรารถนาที่ท่านได้เคยกล่าวกับนายสุภา ศิริมานนท์ มิตรทางความคิดและนักหนังสือพิมพ์อาวุโสไว้ว่า
“ตน(สุภา)เองเพิ่งเดินทางกลับจากปารีสเมื่อวันที่ 28 เมษายน และได้พูดคุยกับนายปรีดี ก่อนจะมรณกรรมไม่กี่วัน ท่านได้แสดงความห่วงใยประเทศไทย และประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างมาก ตัวท่านเองนั้นเคยสั่งเสียไว้ว่า เมื่อท่านมรณกรรม ให้เผาศพท่านที่ปารีส แล้วเก็บอัฐิกลับมาบรรจุไว้ที่วัดพนมยงค์ อยุธยา ซึ่งเป็นวัดต้นตระกูลของท่าน”
ภายในงานต้อนรับอัฐิธาตุของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการแสดงปาฐกถาธรรมโดยท่านปัญญานันทภิกขุ มีงานเสวนา มหรสพ การแสดงละคร และมีนิทรรศการชีวประวัติย่อของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานถึงศาสตราจารย์ ดร.ปรีดีอย่างเป็นทางการและได้เผยแพร่ภาพลักษณ์ของรัฐบุรุษอาวุโสเชิงบวกทางพื้นที่สาธารณะครั้งที่สองจากความคิดของคนรุ่นใหม่โดยครั้งแรกคือในการแปรอักษรของฟุตบอลประเพณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เมื่อ พ.ศ. 2526 งานต้อนรับอัฐิธาตุครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โดยมีกำหนดการบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุประทานอัฐิธาติ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของท่านต่อสังคมไทยและฐานะผู้ประศาสน์การคนแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กำหนดการบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุประทานอัฐิธาตุ
รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | เชิญอัฐิธาตุจากบ้านในประเทศฝรั่งเศส |
วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 |
06.50 น. อัฐิธาตุถึงสนามบินดอนเมือง (เที่ยวบิน ทีจี 93) 07.30 น. เชิญอัฐิธาตุขึ้นรถไปประดิษฐาน ณ เรือนไทย บริเวณอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จ. พระนครศรีอยุธยา เจ้าภาพทอดผ้ามหาบังสกุล 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล 14.00 น. ปาฐกถาธรรมแสดงโดยพระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) แสดงนิทรรศการ ฉายสไลด์ชีวิตและงานของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ณ เรือนไทย พิพิธภัณฑ์ 19.00 น. ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก |
วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 |
11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลพระวัดพนมยงค์ 16.30 น. สวดพระพุทธมนต์ 17.30 น. อภิปราย ณ บริเวณอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ โดยปรีชา สุวรรณทัต ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ธรรมเกียรติ กันอริ แล ดิลกวิทยรัตน์ 19.00 น. มหรสพฉลองอัฐิธาตุ |
วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 |
10.00 น. สมเด็จพระสังฆราช ทรงเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล 13.00 น. สมเด็จพระสังฆราช เสด็จนำขบวนเชิญอัฐิธาตุเข้ากรุงเทพฯ 15.00 น. เชิญอัฐิธาตุประดิษฐาน ณ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดีทอดผ้าบังสกุล |
วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | 16.00 น. ปาฐกถาธรรม แสดงโดยพระราชวรมุนี |
วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 |
08.30 น. วางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ 10.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล เสร็จแล้วบังสกุล 13.30 น. เชิญอัฐิธาตุขึ้นรถไปลอยที่อ่าวไทย |
หมายเหตุ : ระหว่างที่อัฐิธาตุประดิษฐานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดให้บุคคลทั่วไปเคารพอัฐิธาตุพร้อมทั้งมีนิทรรศการ ฉายสไลด์ชีวิตและงาน และภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกตลอดงาน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
เจ้าภาพ
การนำอัฐิธาตุของนายปรีดีกลับไทยได้ถูกเสนอข่าวในวงกว้างทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และรายการข่าวทางโทรทัศน์ว่ามีประชาชน และนิสิตนักศึกษามางานรับอัฐิธาตุของนายปรีดีอย่างล้นหลามสะท้อนถึงซึ่งสัจจะของสัตบุรุษที่ได้คืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสง่างาม
ภาคผนวก :
ภาพงานเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
หมายเหตุ:
- คงอักขรวิธีการสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ
- ภาพจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ และปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง
บรรณานุกรม
หนังสือภาษาไทย :
- โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526).
- ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535).
- ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552).
- ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555).
- สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2529).
- วาณี พนมยงค์ บรรณาธิการ, 101 ปี ปรีดี-90 ปี พูนศุข (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2545).
- ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).
- สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน เผชิญวิกฤติทางการเมือง, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516).
- สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516).
- สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดีหนี (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง สำนักพิมพ์ “จิรวรรณนุสรณ์”, 2527).
- ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563).
วิทยานิพนธ์ :
- ชวลิต ทรงกิตติ, “การต่อสู้ทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2475-2490),” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530).
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- นริศ จรัสจรรยาวงศ์, (12 เมษายน พ.ศ. 2564), ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๖.
- ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (7 พฤษภาคม 2566). 7 พฤษภาคม 2529 : ต้อนรับอัฐิธาตุ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ กลับไทย. https://pridi.or.th/th/content/2023/05/1519
- สถาบันปรีดี พนมยงค์, (2 พฤษภาคม 2563). เนื่องในวันมรณกรรมของปรีดี พนมยงค์ 2 พฤษภาคม 2526.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2 พฤษภาคม 2565). 2 พฤษภาคม 2526 รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม.